ใครที่ได้ดูหนัง Ex Libris: The New York Public Library รอบพิเศษในงาน TK Forum 2019 หรือรอบปกติที่หอศิลป์ กทม. คงจะรู้สึกไม่ต่างกันนักว่า..
หนังยาวเกินไปและไม่สนุก!
เฟรเดอริก ไวส์แมน เหมารับหน้าที่ทั้งผู้กำกับ ผู้อำนวยการสร้าง ตัดต่อและควบคุมเสียง ทำหนังยาวสามชั่วโมงเศษๆ ออกมาตามสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของเขา ไม่ตัดสิน ไม่ให้ข้อสรุป ไม่ทำตัวเป็นผู้เสนอสัจธรรม แค่ถ่ายทอดเรื่องราวออกมาเป็นภาพตามที่มันเป็นจริง แล้วปล่อยให้ผู้ดูไปคิดกันเอาเอง
ดังนั้น กิจกรรมที่ต้องมีเมื่อหนังจบคือการพูดคุยเสวนากัน ซึ่งนั่นทำให้เราได้พบว่าหนังที่ยืดยาวและเรื่องราวที่ไม่น่าสนุก กลับซุกซ่อนแง่คิดมุมมองที่น่าสนใจมากมาย
ทำไมจึงไม่มีการขึ้นชื่อเสียงเรียงนามของผู้พูดหรือคนที่ปรากฏตัวในหนัง ทั้งที่หลายคนเป็นนักคิดนักเขียนชื่อดัง?
ทำไมจึงเห็นหนังสือหรือนักอ่านอยู่ในหนังน้อยมาก ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับห้องสมุด?
สถานที่อย่างห้องสมุดควรเป็นเรื่องของหนังสือหรือผู้คน?
ในหนัง เราจะเห็นแต่ภาพของผู้คนที่วุ่นวายอยู่กับการให้และใช้บริการสารพัด ไม่ว่าจะเป็นการจัดเสวนา อภิปราย เล็กเชอร์ ตอบคำถาม การประชุมผู้บริหาร จัดงานเลี้ยงหาทุน คอนเสิร์ต เต้นรำ สอนอ่านอักษรเบรล ยืมพ็อคเก็ตไวไฟ เป็นสถานที่หางาน และเวิร์คช็อปสร้างหุ่นยนต์
ประชา สุวีรานนท์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ บอกว่าชื่อหนังดูเหมือนจะเป็นการเล่นคำ คือจะแปลความหมายแบบตรงๆ ว่า from the library of ก็ได้ แต่น่าจะแปลว่า “ไร้หนังสือ” (หรือ “ไม่เอาหนังสือ”) เสียมากกว่า เพราะบางคนเรียกหนังสือที่ห้องสมุดไม่เอาเพราะใช้จนเก่าแล้วว่า ex-library book ดังนั้นชื่อ Ex Libris (ที่ใช้เป็นชื่อของหนังเรื่องนี้) จึงน่าจะหมายถึง ห้องสมุดยุคหลังหนังสือ
คลิกเพื่อชมคลิปเสวนา
และอ่าน www.matichonweekly.com/culture/article_188107
www.matichonweekly.com/column/article_190316
หมายเหตุ แก้ไขข้อมูลที่พูดในรายการว่าห้องสมุดประชาชนนิวยอร์กให้บริการในสามเขต (Borough) คือ แมนฮัตตัน สแตตันไอส์แลนด์ และควีนส์ ที่ถูกต้องคือ แมนฮัตตัน สแตตันไอส์แลนด์ และเดอะบรองซ์ ทีมงานขออภัยในความผิดพลาดมา ณ ที่นี้