ปรากฏการณ์และความเปลี่ยนแปลงของแวดวงการอ่านในรอบ 10 ปี คือผลกระทบของ Technology Disruption โดยแท้ การล้มหายตายจากของนิตยสารไทยหลายสิบหัว ไม่ว่าจะอยู่ยงคงกระพันบนแผงมานานเพียงใด ต่างก็เดินทางมาถึงห้วงเวลาของการจากลา พร้อมกับการผุดขึ้นของเว็บไซต์ข่าวสารและสื่อออนไลน์ที่เข้ามาแทนที่ ในขณะเดียวกันหนังสือกระดาษก็ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบอยู่บ้าง แต่ก็ไม่รุนแรงอย่างที่ใครต่อใครคาดการณ์มาก่อนหน้า ตลาดอีบุ๊คเติบโตอย่างเงียบๆ ส่วนร้านหนังสือที่ปรับตัวไม่ทันจำต้องพบจุดจบเช่นเดียวกับนิตยสาร
สิบปีที่ผ่านมา พื้นที่การอ่านรูปแบบใหม่เกิดขึ้นมาอย่างโดดเด่น มีสีสันและหลากหลาย บีบให้ห้องสมุดต้องปรับตัวไปในแนวทางเดียวกันกับพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องสมุด คนไทยเริ่มคุ้นชินกับห้องสมุดที่มีบรรยากาศผ่อนคลาย มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น แม้จะไม่ถึงขั้นแปลงโฉมใหม่หรือเกิดการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ แต่ในอนาคตข้างหน้าเราคงได้เห็นห้องสมุดที่ตอบสนองพฤติกรรมผู้คนมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีต
ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คือผลสะท้อนที่ลึกลงไปถึงระดับปรัชญาความคิดความเชื่อที่มีต่อความรู้และกระบวนการเรียนรู้ของผู้คนในสังคมไทยที่กำลังเปลี่ยนไป
ทิ้งท้ายทศวรรษแห่งการอ่าน (พ.ศ.2552-2561) ด้วยข้อสังเกต 4 ประเด็นให้ช่วยกันคิดและติดตาม ได้แก่ นิเวศการเรียนรู้ เทคโนโลยี คุณภาพการศึกษา และปัญญาของฝูงชน (Wisdom of the Crowd) ซึ่งยืนยันข้อสรุปที่ว่า “เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน พฤติกรรมการอ่านและการเรียนรู้ของคนไทยได้เปลี่ยนไปแล้วจากสิบปีก่อนอย่างไม่มีวันหวนกลับ”