การแก้ไขปัญหาหรือการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าต้องใช้ “ปัญญา” เป็นสำคัญ แต่การจะได้มาซึ่งปัญญาด้วยการรอผลจากการวิจัยหรือใช้ทฤษฎีที่มีอยู่ก็อาจไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เร็วและแรงมากดังเช่นในปัจจุบัน เราจึงต้องอาศัยการถอดบทเรียนและการจัดการความรู้เข้ามาช่วย นั่นคือการเรียนรู้จากความรู้ที่เรามีอยู่เดิมหรือเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต และนำเอาการเรียนรู้นั้นมาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาหรือปรับปรุงการทำงานให้ดียิ่งขึ้น
การถอดบทเรียนและการจัดการความรู้เป็นเสมือน 2 หน้าของเหรียญเดียวกัน เราจึงจำเป็นต้องเข้าใจนิยามความหมาย ขั้นตอนกระบวนการ วงจรโครงการกับการเรียนรู้เพื่อถอดบทเรียน และวิธีวิทยาในการถอดบทเรียน 4 รูปแบบ
มีคนจำนวนไม่น้อยที่พร่ำพูด “คำ” ซึ่งดูเหมือนจะช่วยเสริมส่งให้ผู้พูดดูดีมีสมอง แต่กลับไม่มีความเข้าใจและมิได้ใส่ใจจริงจังกับความรู้และการถอดบทเรียน สุดท้ายก็ไปไม่ถึงผลลัพธ์ของการจัดการความรู้ สูญเสียทั้งเวลาและทรัพยากรไปโดยเปล่าประโยชน์ ดังนั้น หากได้ทำความเข้าใจเรื่องนี้โดยกระจ่างแล้ว จะได้เลิกถอดบทเรียนกันแบบพร่ำเพรื่อ ตะพึดตะพือ หลงทิศผิดทาง เพราะการตระหนักถึงการถอดบทเรียนและการจัดการความรู้ด้วยความเข้าใจและอย่างมีความรับผิดชอบนั้น ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งกับตนเอง ทีมงาน องค์กร ภาคีเครือข่าย และสังคมส่วนรวม