วาทกรรม “คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด” กระทบความรู้สึกและสร้างความจดจำให้ผู้คนจำนวนมาก ทั้งๆที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีที่มาที่ไปไม่ได้อ้างอิงผลการสำรวจหรือการวิจัยทางวิชาการใดๆ แต่มันได้ตอกย้ำให้ผู้รับสารตระหนักว่า คนไทยอ่านหนังสือน้อย
ข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติซึ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุก 2-3 ปี ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 55,000 ครัวเรือน ทั้งในและนอกเขตเทศบาลทั่วประเทศมีความถูกต้องน่าเชื่อถือตามหลักวิชาการทางด้านสถิติโดยแบ่งชุดข้อมูลเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี (เด็กอ่านเองหรือผู้ใหญ่อ่านให้ฟัง) กลุ่มวัยรุ่น อายุ 15-24 ปี และภาพรวมการอ่านของประชากรอายุ ตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไป
การสำรวจนับตั้งแต่ปี 2546 จนถึงครั้งล่าสุด (พ.ศ 2558) รวม 6 ครั้ง ชี้ให้เห็นว่าคนไทยอ่านหนังสือกันไม่น้อย จำนวนผู้อ่านที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ส่งผลกระทบแตกต่างกันไป การสำรวจครั้งล่าสุดยังพบว่าถึงแม้ผู้อ่านมากกว่าครึ่งหนึ่งจะอ่านผ่านสื่อออนไลน์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์แต่สื่อหนังสือรูปแบบกระดาษก็ยังคงครองความนิยมถึงกว่า 96 %
จากนี้ไปเราคงจะต้องเลิกพูดว่าคนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัดกันได้แล้ว แต่ทว่าสิ่งที่การสำรวจนี้ไม่สามารถให้คำตอบได้และเป็นประเด็นที่ควรกังวลมากยิ่งกว่าการอ่านมากอ่านน้อยได้แก่รื่อง ความเหลื่อมล้ำและโอกาสในการเข้าถึงหนังสือหรือข้อมูลสารสนเทศ เสรีภาพที่จะอ่าน การเปิดกว่างและความหลากหลายของเนื้อหาสาระที่อ่าน การส่งเสริมการอ่านเพื่อฝึกคิดวิเคราะห์ นี่เป็นสิ่งที่คงต้องช่วยกันขบคิดและค้นหาวิธีการแก้ไขผลักดันหรือรณรงค์ส่งเสริมต่อไป