จงบอก ‘คำที่เป็นสุข’ มาสามคำ
คิดถึงนะ
แมว
ลูกหมา
อาหารเช้า
เข้าใจ
ไม่เป็นไร
บ้าน
อ่าน
หนังสือ
บ้าน, อ่าน, หนังสือ
สามคำที่ไม่เพียงฟังแล้วเป็นสุข หากอยู่ใกล้ ได้ทำแล้วสบายใจ สามคำที่เชื่อว่าเมื่อใครต่อใครรู้สึกต้องการพักผ่อนกายใจย่อมนึกถึงหนึ่งในสาม หรือทั้งสามคำนี้ สามคำที่ประกอบสร้างเป็น ‘บ้านอ่านหนังสือ’ ในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
‘บ้านอ่านหนังสือ’ บ้านไม้เก่าสองชั้นขนาดหนึ่งคนอยู่สบาย หนึ่งครอบครัวอยู่ร่วมกันได้ มองออกไปเห็นดอยหลวงเชียงดาว มีหนังสือเรียงรายทั่วบ้านราวพันกว่าเล่ม
‘บ้านอ่านหนังสือ’ คือฝีมือของ ‘ธนัช เพชรทองสิน’ ศิลปินผู้รักการเดินทางและการ ‘ซื้อหนังสือ’ ที่มีมากเกินกว่าจะเก็บไว้เชยชมแต่เพียงผู้เดียว จึงได้เปิดบ้านไม้หลังเก่าที่เขาปรับปรุงใหม่เพื่อเปิดให้ผู้คนได้มาพักผ่อนหย่อนกาย สบายใจไปกับการอ่านหนังสือในบ้านไม้กลางป่าใหญ่แห่งนี้
รักแรกพบ
ธนัช ไม่ได้ตอบเราว่าเขาเป็น ‘คนที่ไหน’ เขาบอกว่าเขารักการเดินทาง แบกเป้เที่ยวป่าเขา ทะเลทั้งในและต่างประเทศไปทั่ว และสายรักการเดินป่าย่อมไม่พลาดจะมาเยือนดอยหลวงเชียงดาว ที่ทำให้เขาตกหลุมรักตั้งแต่แรกพบ ประกอบกับเคยมีคนรักเป็นชาวญี่ปุ่นที่ก็ชอบเชียงดาวเหมือนกัน มาร่วมกิจกรรมเทศกาลที่จัดขึ้นในเชียงดาวอยู่หลายหน เลยเริ่มหาที่ทางเพื่อให้ได้มาอยู่มากกว่าแค่มาแวะ ดูอยู่หลายที่ เกือบจะตกลงปลงใจหลายครั้ง แต่จังหวะไม่ลงตัวจนกระทั่งได้มาเจอบ้านไม้หลังเก่าแห่งนี้
“บ้านหลังนี้มีทุกอย่างที่เราชอบทั้งความเป็นธรรมชาติ และความสงบ ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะทำเป็นธุรกิจอะไร แค่อยากทำบ้านที่เรารัก”
ความรักในศิลปะ เพื่อนฝูง หนังสือ และตนเอง ทำให้ธนัชลองมองต้นทุนเดิมที่มี นั่นคือหนังสือที่เขาเล่าติดตลกว่า “ชอบซื้อมากกว่าชอบอ่าน” ประกอบกับเพื่อนของคนรักในขณะนั้นเพิ่งปิดร้านหนังสือไป เขาเลยได้หนังสือมาอีกจำนวนมาก เพื่อนหลายคนจึงมีความเห็นว่าควรทำบ้านที่เปิดให้คนเข้ามาอ่านหนังสือได้ แทนที่จะเก็บไว้ชื่นชมอยู่คนเดียว
แต่ธรรมชาติของความรักนั้นเป็นเช่นนั้น ความรักย่อมดึงดูดความรัก กลายเป็นว่าธุรกิจที่ไม่ได้ตั้งต้นจากการคิดเยอะอะไรกลับได้รับการตอบรับดีเกินคาด ตั้งแต่วันเปิดบ้านครั้งแรกในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2565 ที่ใครต่อใครที่ได้มาเยือนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าหลงรักที่นี่ตั้งแต่แรกพบเช่นกัน
“ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเขารักที่นี่ อยากกลับมาอีก เราว่าไม่ใช่เพราะมันดีงามสมบูรณ์แบบ แต่เราว่าเป็นเพราะคนที่เขามานี่แหละที่ชอบอะไรบางอย่างคล้ายกัน และที่นี่ตอบโจทย์ความชอบ ความต้องการของเขาได้ ทั้งที่คนที่มานี่หลากหลายมากนะ มีตั้งแต่ครอบครัว มากับเพื่อน มากับแฟน หรือมาคนเดียวก็เยอะ”
พื้นที่พักใจ
ความต้องการของผู้คนหลากหลายที่มีบางอย่างคล้ายกันที่ธนัชสังเกตจากคำตอบของผู้คนว่าคือ ‘ความสบายใจ’ ของการได้อยู่ในบ้านที่ขนาดไม่ใหญ่เกินกว่าจะไม่คุยกัน ดอยหลวงเชียงดาวที่ตั้งตระหง่านเห็นได้ทั้งวันผ่านหน้าต่างห้องนอน หนังสือทั้งเก่าและใหม่ที่วางกระจายอยู่ทุกมุมบ้าน จักรยานฟรีให้ขี่เล่นถ้าอยากชมเมือง
“คำว่าบ้านหนังสือมันฟังแล้วอบอุ่น ถ้าแม่ถามว่าไปไหน ลองบอกแม่สิว่าไปบ้านหนังสือ แม่ฟังก็คงสบายใจ คิดว่าเราไม่ได้ไปเถลไถลที่ไหน” ธนัชเล่าพลางหัวเราะ และอธิบายต่อถึงข้อสังเกตที่เขาไม่ได้ตั้งใจแต่เพิ่งเข้าใจว่า ‘ความสบายใจ’ คือสิ่งที่ดึงดูดผู้คนให้มาบ้านหลังนี้ การได้มาอยู่ใน ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ทั้งในเชิงกายภาพที่มีรั้วรอบขอบชิดชัดเจน มีแสงสว่างจากชุมชนพอแต่ไม่มากไป มีหนังสือที่พร้อมให้หยิบอ่านหากมาคนเดียว ครั้นมากันหลายคนก็มีสารพัดกิจกรรมให้ทำร่วมกัน – หรืออย่างน้อยที่สุด ได้อยู่ในบ้านเดียวกันก็พอใจ
“จริงๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านหลังนี้มันเรียบง่ายมากเลยนะ ตื่นมาพร้อมแสงอาทิตย์ อยากทำงานก็มีมุมสงบ ง่วงก็พักอ่านหนังสือ บ้านก็ไม่ใหญ่พอเกินกว่าจะคุยกับคนในบ้าน ที่ตั้งก็อยู่ไม่ห่างจากชุมชน แต่วิถีสมัยใหม่มันทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป พอเราซับซ้อนมากขึ้น เราก็โหยหาความธรรมดา ความเรียบง่ายกลายเป็นสิ่งที่มีค่า”
“เราไม่ได้ตั้งใจออกแบบว่าจะให้ที่นี่เป็นอะไร แต่เราค่อยๆ เห็นว่าที่นี่มันไม่ใช่แค่บ้านพัก แต่มันคือที่พักใจ หลายคนบอกว่ามาที่นี่แล้วฮีลใจมาก เรื่องบางเรื่องไม่ได้คุยกับคนใกล้ตัว มาอยู่ที่นี่แล้วได้เปิดใจคุยกัน เล่นไพ่แล้วหัวเราะกัน ได้ใช้เวลาร่วมกัน หรือแม้แต่อกหักก็ได้มาให้เวลาดูแลใจตัวเอง”
ความต้องการที่พักใจของคนสมัยใหม่ ทำให้เขาตั้งใจจะคืนกำไรแก่สังคมโดยการเปิดบ้านสองวันในแต่ละเดือนให้ผู้ป่วยและผู้ติดตามมาพักวันไหนก็ได้
“เราเคยรู้จักผู้ป่วยมะเร็งที่เข้มแข็งมากทั้งที่เขาจะจากไปเมื่อไรก็ได้ เราคิดว่าคนที่ป่วยไม่ว่าจะด้วยโรคอะไรก็ตามแต่มันมีความทุกข์อยู่ รวมทั้งผู้ที่คอยดูแลด้วย เราเลยอยากให้เขาได้มีที่พักใจ เหมือนที่หลายคนบอกว่าบ้านนี้เป็นที่ฮีลใจ”
หนังสือคือไทม์แมชชีน
แม้จะมีหนังสือจำนวนร่วมสองพันเล่มอยู่ในบ้าน ส่วนหนึ่งจากคลังสะสมส่วนตัว จากร้านหนังสือของเพื่อนคนรักที่ปิดตัวไป และอีกส่วนจากผู้มาเยือนที่นำหนังสือมาแลกส่วนลดตามนโยบายเข้าพัก แต่ธนัชยอมรับว่าเขา “ซื้อมากกว่าอ่าน” ซึ่งเขามองว่าไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร ความชอบของคนเราหลากหลายต่างกันไป เห็นได้จากหนังสือที่ลูกค้ารีเควสมามีตั้งแต่หนังสือจิตวิทยาพัฒนาตนเอง นิยาย การ์ตูน ไปจนกระทั่งหนังสือพระเครื่อง ที่บางคนอาจมองว่ากระจัดกระจาย แต่เขาบอกว่าความหลากหลายนั่นแหละคือความน่าสนใจ
“บางคนไม่ได้ตั้งใจจะอ่านเล่มไหนเลย แต่ด้วยความที่หนังสือมันวางอยู่ทั่วบ้าน มันต้องมีสักเล่มที่ดึงดูดเขา เช่น น้องพลอย (Pigkaploy) ที่มาทำคลิปรีวิวเองจนคนรู้จักเรากันเพิ่มขึ้น เขาก็ดูตื่นเต้นมากตอนเจอหนังสือตาหวาน หลายคนก็บอกว่ามาที่นี่เหมือนย้อนอดีตได้เจอหนังสือที่ลืมไปแล้วว่าอยากอ่าน หรือเคยอ่าน”
ธนัชมองว่าไม่ว่าคนเราจะชอบหนังสือแนวไหน ชอบ ‘ซื้อมากกว่าอ่าน’ อย่างเขา หรือชอบอ่านมากกว่าซื้ออย่างบางคนที่กลับมาที่พักเพราะอยากอ่านเล่มอื่นต่อ แต่หนังสือล้วนทำหน้าที่คล้ายคลังความทรงจำ บางครั้งเราอาจลืมไปแล้วว่าเคยอ่านเล่มนี้ จนกระทั่งได้เห็นอีกทีแล้วนึกถึงความสนใจในวัยนั้นได้ ธนัชอธิบายว่าเวลาเราอ่านหนังสือเราไม่ได้อยู่กับแค่ตัวอักษร แต่เราอยู่กับสัมผัส สถานที่ คนข้างๆ และเขาก็หวังว่าหนังสือบางเล่มที่ผู้คนได้อ่านผ่านบ้านหลังนี้จะบรรจุความทรงจำของที่นี่ติดตัวไปด้วยเช่นกัน
เชียงดาวชุมชนติดเขาที่เสน่ห์คือความเป็น ‘เรา’
ด้วยความที่เป็นคนเดินทาง อยู่ไม่ติดที่ ตัวเขาเองก็มีบ้านอยู่หลายหลัง แต่เขาก็บอกว่าหลงเสน่ห์เชียงดาวเข้าอย่างจัง จริงอยู่ที่ความชอบเกิดจากภาพของดอยหลวงเชียงดาว แต่กลับเป็นผู้คน ชุมชนในเชียงดาวที่เป็นเสน่ห์ที่ทำให้เขารักเมืองนี้
เช่น ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ธนัชเห็นกิจกรรม ‘เมษาพาม่วน’ กิจกรรมการเรียนรู้ชุมชนนำโดยกลุ่มมะขามป้อมที่เขาบอกว่า “เห็นแล้วหัวใจพองโต เห็นทางที่จะทำอะไรร่วมกันได้ เห็นทิศทางว่าจะต่อยอดยังไง เช่น เรามีหนังสือ มีพื้นที่ ก็คุยกันว่าเอาหนังสือของเราไปให้คนอ่านไหม เหมือนทุกคนเป็นพันธมิตรสนับสนุนกัน”
ธนัชมองว่าไม่ใช่ความบังเอิญที่ทำให้เชียงดาวเป็นเมืองรุ่มรวยด้วยกิจกรรม และผู้คนที่สนใจทำกิจการบางอย่างเพื่อสังคม เขาไม่อาจตัดสินว่าเป็นเพราะปัจจัยใด แต่อาจเป็นได้ที่ความสงบ สง่างามของดอยหลวงดึงดูดผู้คนประเภทเดียวกัน มีความสนใจเดียวกันให้มาอยู่ในพื้นที่นี้ คนมาใหม่ไม่ทำตัวแปลกแยก อีกทั้งคนท้องถิ่นก็ต้อนรับผู้มาเยือน และย้ายมาอยู่
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกอย่างจะงดงามไปเสียหมด ในช่วงฤดูร้อนที่ค่าฝุ่นขึ้นสีแดงแตะขีดอันตราย ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เชียงใหม่เป็นเมืองน่าอยู่ยกเว้น ‘หน้าฝุ่น’”
“ตอนนี้เรามีคนจองช่วงปลายปีแล้ว หน้าหนาวนี่เต็มแทบตลอด แต่หน้าร้อนนี่ไม่ต้องพูดถึง กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วที่หน้าร้อน หน้าฝุ่นคนจะย้ายไปอยู่ แต่ถึงจะไม่สะดวกอยู่บ้าง เราเองยังหนีไปอยู่ที่อื่นได้ แต่ที่น่าเห็นใจสุดคือคนในพื้นที่ หรือแม้แต่สัตว์ที่หนีไปไหนไม่ได้ มันเป็นเรื่องใหญ่มากนะ ตอนนี้ใครเผาอะไรนิดหน่อยกลายเป็นความผิดร้ายแรงมากนะ ชุมชนเขาพยายามจัดการตัวเองกันมาก แต่ไม่เห็นภาครัฐเข้ามาจัดการอะไร คงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่สถานที่ดีๆ ต้นทุนธรรมชาติพร้อม ชุมชนเข้มแข็งขนาดนี้ จะกลายเป็นพื้นที่อันตรายเพียงเพราะผู้มีอำนาจไม่ใส่ใจ ไม่ใช่แค่เชียงดาวนะ แต่ทั้งประเทศเลย”
คงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่บ้าน พื้นที่ปลอดภัย พื้นที่พักใจ ที่มาจากความสร้างสรรค์ ความฝัน ความตั้งใจ จะไม่ปลอดภัยและอันตรายเพียงเพราะความไม่ใส่ใจของผู้มีอำนาจสั่งการ