การส่งเสริมการอ่าน การรู้หนังสือ และอ่านออกเขียนได้ เป็นภารกิจของรัฐที่ต้องทำหน้าที่จัดให้มีระบบการศึกษา ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการอ่านออกเขียนได้และการรู้หนังสือให้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึง
กล่าวเฉพาะคำว่า ส่งเสริมการอ่าน ก็มีขอบเขตกว้างขวางไม่เฉพาะเพียงการศึกษาในระบบหรือตามโรงเรียนเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงการศึกษานอกระบบและการเรียนรู้ตามอัธยาศัยด้วย ดังนั้น ภารกิจในส่วนนี้จึงเป็นงานหลักที่สำคัญของ กศน. หรือ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนอีกหลายแห่ง ต่างจัดทำโครงการส่งเสริมการอ่านกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ครอบคลุมทั่วประเทศ บางพื้นที่อาจทำงานแยกส่วนเป็นเอกเทศ ขณะที่บางพื้นที่มีการบูรณาการความร่วมมือการทำงาน เกิดผลลัพธ์รูปธรรมเป็นที่น่าพอใจ ดังกรณีตัวอย่างของ 4 จังหวัดอันได้แก่ ฉะเชิงเทรา ลำปาง กระบี่ และเชียงใหม่ มีความโดดเด่นและเป็นแบบอย่างของกระบวนการทำงานเชิงพื้นที่ (Area-based) ที่น่าจะนำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่นๆ ได้
งานเขียนชิ้นนี้มาจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเมื่อปลายปี 2558 และตีพิมพ์เป็นบทหนึ่งในหนังสือ “คิดทันโลก” จัดพิมพ์โดยสถาบันอุทยานการเรียนรู้ ทีมงาน The KOMMON เห็นว่ามีหลายประเด็นที่ยังคงเป็นประโยชน์ จึงนำมาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
หนังสือมีขา เดินไปหาคนอ่าน ที่ฉะเชิงเทรา
ปี 2553 จังหวัดฉะเชิงเทราได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 5 จังหวัด “นครแห่งการอ่าน” จึงเป็นโอกาสที่ กศน. จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้จัดกระบวนทัพเพื่อแก้ไขปัญหาการอ่านออกเขียนได้ ส่งเสริมการอ่านเพื่อนำไปใช้ในการทำงานและชีวิตประจำวัน และเพิ่มแหล่งการอ่านในพื้นที่ กลไกที่เป็นหัวใจหลักก็คือแหล่งเรียนรู้และบุคลากรด้านการศึกษาของ กศน. ที่ทำงานเชื่อมโยงกันตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และชุมชน
จังหวัดฉะเชิงเทรามีห้องสมุดอยู่ทุกตำบล ซึ่งได้รับหนังสือที่หมุนเวียนมาจากห้องสมุดประชาชนอำเภอ โดยครู กศน. ตำบลเป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดหนังสือและกิจกรรมให้ลงไปถึงระดับหมู่บ้าน ด้วยแนวคิด “ทุกที่ที่มีคน จะต้องมีหนังสือ” มีการสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสม เช่น บ้านผู้นำชุมชน ร้านค้า โรงพยาบาล สถานประกอบการ ฯลฯ เพื่อจัดทำเป็น “บ้านหนังสือ” จนครอบคลุมพื้นที่ทุกหมู่บ้าน แต่ละแห่งมีหนังสือให้บริการไม่น้อยกว่า 50 เล่มรวมถึงหนังสือพิมพ์รายวัน นิตยสารรายสัปดาห์ และรายปักษ์ หนังสือจะถูกหมุนเวียนระหว่างบ้านหนังสือเป็นประจำทุกเดือน เพื่อให้ชาวบ้านได้อ่านหนังสือเรื่องใหม่โดยไม่ต้องใช้งบประมาณจัดซื้อเพิ่มเติม
ตัวอย่างเช่น “มุมหนังสือเยาวชนอัจฉริยะ” ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม ซึ่งเน้นให้บริการหนังสือสำหรับเด็ก นิตยสาร และหนังสือพิมพ์รายวัน มีสื่อการเรียนรู้จำลองเกี่ยวกับอาหารประเภทต่างๆ เพื่อให้ความรู้ด้านโภชนาการแบบง่ายๆ ไม่น่าเบื่อ บัตรคิวของโรงพยาบาลแห่งนี้ ไม่ใช่เศษกระดาษใบเล็กๆ แต่เป็นใบความรู้แผ่นโตสีสันสวยงาม เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความรู้ในการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงไม่เจ็บป่วย
แหล่งอ่านหนังสือระดับชุมชนเกิดขึ้นควบคู่ไปกับ “เครือข่ายอาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน” ซึ่งเป็นการทำงานด้วยจิตอาสาของผู้ที่สนใจงานด้านการอ่านและอยู่ใกล้ชิดกับชุมชน อาทิ เจ้าของบ้านหนังสือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ครู ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล ฯลฯ โดยอาสาสมัครจะได้เรียนรู้เทคนิคการส่งเสริมการอ่าน และการเก็บข้อมูลความต้องการด้านการอ่านของชาวบ้านเพื่อส่งต่อไปยัง กศน. ตำบล
จะเห็นได้ว่า กรณีของฉะเชิงเทรา สังคมการอ่านนั้นเริ่มต้นง่ายๆ โดยการสร้างบรรยากาศการอ่านให้เกิดขึ้นทุกที่ เมื่อหนังสือถูกนำไปไว้ใกล้มือ อุปสรรคในการเข้าถึงหนังสือก็ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงเด็กและคนชรา ที่ไม่สามารถเดินทางไปยังห้องสมุดด้วยตนเอง นอกจากนั้นภาวะขาดแคลนหนังสือในชนบทยังคงเป็นปัญหาสำคัญ ดังนั้นการมีระบบจัดการที่ดี เช่น การหมุนเวียนหนังสือจากห้องสมุดระดับอำเภอลงไปสู่ตำบลและหมู่บ้าน การหมุนเวียนหนังสือระหว่างบ้านหนังสือ ก็ช่วยกระจายโอกาสการเข้าถึงหนังสือได้มากขึ้นภายใต้งบประมาณที่มีอยู่จำกัด
ประสบการณ์ของจังหวัดฉะเชิงเทรา แนวคิด ‘นำหนังสือไปให้ถึงมือคน’ มีองค์ประกอบสามขาหยั่งที่เป็นเงื่อนไขของความสำเร็จ ได้แก่ บ้านหนังสือชุมชน ระบบการหมุนเวียนหนังสือ และห้องสมุดเคลื่อนที่ ซึ่งเมื่อใช้กลไกส่งเสริมการอ่านที่เป็นตัวบุคคลกระจายลงลึกถึงระดับตำบลและชุมชน เช่น ครูสังกัด กศน.ตำบล และเจ้าหน้าที่ อสม. ก็ส่งผลให้หนังสือและกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน หยั่งรากลึกถึงตัวผู้อ่านได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม
แจ้ห่มโมเดล บทเรียนจากอำเภอวิกฤต สู่ต้นแบบ “นครการอ่าน” ลำปาง
ผลการสำรวจของจังหวัดลำปางระบุว่า อำเภอแจ้ห่มเป็นพื้นที่ที่เด็กมีระดับความฉลาดทางปัญญาหรือไอคิวต่ำกว่าพื้นที่อื่น เมื่อวิเคราะห์ถึงปัจจัยแวดล้อมทางสังคมก็พบว่า เด็กและครูมีอัตราการอ่านหนังสือต่ำ ผู้ปกครองใช้เวลาว่างในการดูทีวีและมักปล่อยให้เด็กอยู่กับเกมตามลำพัง เด็กไม่สนใจการอ่านและอ่านหนังสือไม่ออก ทางด้านชุมชนก็ขาดแหล่งเรียนรู้และพื้นที่อ่านหนังสือ ในศูนย์เด็กเล็กไม่มีหนังสือนิทานหรือหนังสือสำหรับเด็ก
จากวิกฤตได้กลายมาเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลง หลายหน่วยงานทั้งสถานศึกษา โรงพยาบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม ได้ร่วมกันเข้าไปแก้ไขปัญหาดังกล่าว ปลายปี 2554 ศูนย์เรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็ง ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะครอบครัวในอำเภอแจ้ห่ม ได้ริเริ่มเวทีประชาคมเพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้นำของหน่วยงานต่างๆ ถึงปัญหาเด็กและเยาวชนที่อำเภอแจ้ห่มกำลังเผชิญอยู่ จนกระทั่งมีการตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินงานร่วมกัน
การทำงานส่งเสริมการอ่านในพื้นที่อำเภอแจ้ห่ม ได้รับการถอดบทเรียนจนกลายมาเป็น “แจ้ห่มโมเดล” ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบส่งเสริมการอ่านในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของท้องถิ่น โดยการขับเคลื่อนอย่างมีส่วนร่วมของหน่วยงานในพื้นที่ เช่น สถานศึกษาทั้งในและนอกระบบโรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อกลุ่มเป้าหมายคือเด็กปฐมวัย
หลักคิดในการสร้างสังคมที่มีวัฒนธรรมการอ่านของแจ้ห่มโมเดลก็คือ จะต้องมีพื้นที่กายภาพที่เอื้อต่อนิสัยรักการอ่าน มีทรัพยากรการอ่านที่เพียงพอ มีกลไกขับเคลื่อนกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และมีการถ่ายทอดคุณค่าการอ่านจากรุ่นสู่รุ่น กระบวนการทำงานจึงมีทั้งการเพิ่มพื้นที่การอ่าน การจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถประยุกต์การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านได้ด้วยตนเองเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่
ตัวอย่างที่ชัดเจนเช่น บ้านหนังสือชุมชนบ้านสบฟ้า ของพรทิพย์ มีมานะ ซึ่งเป็นผู้ที่รักการแสวงหาความรู้จากการอ่าน การสอบถามจากผู้รู้ และลองผิดลองถูก จนกระทั่งประสบความสำเร็จในการทำการเกษตร อีกทั้ง น้องใหม่ ลูกชายของพรทิพย์ก็เป็นเด็กที่ชอบอ่านหนังสือเช่นกัน จึงนำไปสู่การแบ่งปันพื้นที่และทรัพยากรการอ่านให้กับเด็กๆ ในชุมชน ปี 2558 พรทิพย์ มีมานะ ได้รับโล่รางวัลพื้นที่สร้างสรรค์อันดับ 1 เพื่อพัฒนาเด็กเยาวชนและครอบครัว สาขาสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
จังหวัดลำปาง ได้รับการคัดเลือกให้เป็น “นครแห่งการอ่าน” ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี 2553 และอีกครั้งหนึ่งในปี 2558 ในครั้งหลังนี้มีการปรับคณะกรรมการส่งเสริมการอ่าน โดยประธานคณะกรรมการมาจากมูลนิธิโยนกซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชน ทำงานร่วมกับภาคีทั้งภาครัฐ ส่วนท้องถิ่น และเอกชนอีกหลายแห่ง ทิศทางในการทำงานส่งเสริมการอ่านร่วมกันก็คือ “รักลูก รักครอบครัว รักลำปาง รักการอ่าน” โดยมี “แจ้ห่มโมเดล” เป็นต้นแบบของการทำงานระดับพื้นที่ด้านการส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัย
ปัจจุบันจังหวัดลำปางมีห้องสมุดประชาชนจำนวน 14 แห่ง มีอาสาสมัครส่งเสริมการอ่านในทุกตำบลจำนวนกว่า 1,000 คน มีบ้านหนังสือชุมชนกว่า 400 แห่ง คิดเป็นประมาณร้อยละ 50 ของจำนวนหมู่บ้านที่มีทั้งหมด
เงื่อนไขความสำเร็จประการสำคัญของการส่งเสริมการอ่านในจังหวัดลำปางอยู่ที่องค์กรภาคสังคมซึ่งทำงานเกาะติดพื้นที่อย่างยาวนาน จนสามารถสังเคราะห์และถอดบทเรียนออกมาเป็นแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) แล้วนำไปผลักดันผ่านโครงสร้างการทำงานแบบทางการในระดับจังหวัด ดังตัวอย่างกรณีองค์กรปกครองท้องถิ่น 7 พื้นที่ของอำเภอแจ้ห่ม นำ ‘การอ่าน’ มาบรรจุไว้ใน ‘เทศบัญญัติ’ เพื่อพัฒนาคุณภาพประชาชน และต่อมาจึงสามารถขยายผลการส่งเสริมการอ่านจากพื้นที่อำเภอยกระดับสู่การขับเคลื่อนงานครอบคลุมทั้งจังหวัด
การทำงานในรูปของภาคีเครือข่ายของลำปางมีจุดเด่นอยู่ที่ ‘ความไว้วางใจกัน’ ซึ่งอยู่เหนือศักดิ์ศรีขนบพิธี เห็นได้จากกลไกความร่วมมือแบบสามประสาน (รัฐ เอกชน และประชาสังคม) ได้แก่ คณะกรรมการส่งเสริมการอ่านระดับจังหวัดซึ่งแต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น ผู้ดำรงตำแหน่งประธานมาจากองค์กรภาคเอกชน มิใช่ผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ ดังที่มักจะเห็นกันจนเคยชิน
กระบี่ เมืองแห่งการเรียนรู้และสร้างสรรค์
จังหวัดกระบี่ได้กำหนดวิสัยทัศน์ 2020 เพื่อที่จะเป็น “เมืองท่องเที่ยวคุณภาพระดับนานาชาติ เกษตรอุตสาหกรรมยั่งยืน สังคมน่าอยู่ และปรับตัวเท่าทันต่อบริบทการเปลี่ยนแปลง” โดยได้วางแนวทางการดำเนินงานออกเป็น “12 วาระกระบี่” ซึ่งหนึ่งในนั้นมีวาระที่ว่าด้วย “กระบี่…เมืองแห่งการเรียนรู้และสร้างสรรค์”
ดังนั้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากระบี่จึงมีกิจกรรมส่งเสริมการอ่านควบคู่ไปกับการสร้างแหล่งเรียนรู้ใหม่ๆ หลายแห่ง ทั้งห้องสมุด แหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมอันดามัน แหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมทั้งแบบโบราณและร่วมสมัย ก่อตั้งโดยเทศบาลเมืองกระบี่ ซึ่งมีทั้งอาคารพิพิธภัณฑ์ลูกปัดและหอศิลปะ การดัดแปลงเรือรบหลวงลันตาที่เสียหายจากเพลิงไหม้ให้กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่ทันสมัยสำหรับเยาวชนกระบี่ ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ว่าด้วยประวัติเรือและประวัติศาสตร์เมืองกระบี่ และแหล่งเรียนรู้ที่เน้นให้เยาวชนมีพื้นที่ในการแสดงออก รวมทั้งการจัดสร้าง TK Park กระบี่ หรืออุทยานการเรียนรู้กระบี่ เพื่อเป็นส่วนเติมเต็มการเรียนรู้ด้วยตนเองของเยาวชนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ด้วยการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมจากห้องสมุด อินเทอร์เน็ต และสื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัย นอกจากนี้ทั่วเมืองกระบี่ยังมี ประติมากรรมสาธารณะ ประดับอยู่ตามสี่แยก ริมฟุตบาท และจุดท่องเที่ยวสำคัญ ซึ่งนอกจากจะสร้างความสุนทรียะแล้วยังสื่อความหมายถึงสิ่งที่มีคุณค่าของจังหวัดให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้
ปัจจุบัน องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่อยู่ระหว่างการสร้างความรับรู้แก่เยาวชน ชาวกระบี่ และนักท่องเที่ยว เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์เรือรบหลวงลันตาที่กำลังจะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้ และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาห้องสมุด TK Park ซึ่งกำลังเริ่มก่อสร้าง ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เพราะจังหวัดใกล้เคียงยังขาดพื้นที่การเรียนรู้ที่ทันสมัย
ในปี 2558 จังหวัดกระบี่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น “นครแห่งการอ่าน” บรรยากาศการเรียนรู้ของกระบี่จึงมีความคึกคักยิ่งขึ้น และเป็นโอกาสที่ภาคส่วนต่างๆ ที่ทำงานด้านการส่งเสริมการอ่านอยู่แล้วได้ร่วมมือกันอย่างบูรณาการ ทั้ง กศน. โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก สาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
การส่งเสริมการอ่านของจังหวัดกระบี่เน้นการปลูกฝังวัฒนธรรมการอ่านให้กับเด็กเล็ก มีโครงการ “แรกเกิดเริ่มอ่าน” ซึ่งจัดอบรมความรู้ด้านการสร้างนิสัยการอ่านให้กับแม่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และครูศูนย์เด็กเล็ก โดยมีอุทยานการเรียนรู้กระบี่ ที่กำลังจัดตั้งจะช่วยเข้ามาอุดช่องว่างด้านการส่งเสริมการอ่านและทักษะในการค้นคว้าข้อมูลให้กับกลุ่มวัยรุ่น
ในส่วนของ กศน. จังหวัดกระบี่ มีโครงการสำคัญคือการนำรถบัสห้องสมุดเคลื่อนที่ออกไปจัดกิจกรรมร่วมกับครู กศน. ตำบล ในปีงบประมาณ 2559 กระบี่จะมีรถโมบายเพิ่มอีก 9 คัน ซึ่งจะสามารถรองรับโครงการ “คาราวานส่งเสริมการอ่านเคลื่อนที่สู่ชุมชนทั้ง 8 อำเภอ” เพื่อกระจายโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรการอ่านและกิจกรรมที่สร้างสรรค์
ความโดดเด่นของการส่งเสริมการอ่านของจังหวัดกระบี่ เกิดจากองค์ประกอบที่มาบรรจบพร้อมกันสามประการ ได้แก่ 1. วิสัยทัศน์และทิศทางที่ชัดเจนของจังหวัด 2. ผู้นำทุกระดับมีเป้าหมายในการทำงานที่สอดคล้องกัน มุ่งสู่วิสัยทัศน์และทิศทางเดียวกัน 3. ภาคีสนับสนุนที่เข้มแข็งและเอาจริงเอาจัง ซึ่งการบรรลุถึงเงื่อนไขทั้งสามประการพร้อมกันไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายนัก นับเป็นจุดแข็งของจังหวัดกระบี่ในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ต่อไปข้างหน้า
“เชียงใหม่อ่าน” เมื่อพลเมืองไม่รอรัฐ ลุกขึ้นปฏิบัติการ ‘อ่าน’
การขับเคลื่อนงานส่งเสริมการอ่านของจังหวัดเชียงใหม่ แตกต่างจากความสำเร็จของพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ตรงที่ไม่ได้เป็นการริเริ่มโดยกลไกของหน่วยงานรัฐ แต่เป็นการลุกขึ้นมาจับมือกันของภาคีภาคประชาชน ที่มองเห็นปัญหาการอ่านของคนเชียงใหม่ เช่น คนรุ่นใหม่เริ่มหันไปใช้เทคโนโลยีมากขึ้นจนละเลยการอ่านซึ่งเป็นพื้นฐานของการแสวงหาความรู้ ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลยังขาดโอกาสและเข้าไม่ถึงทรัพยากรการอ่าน พื้นที่การอ่านที่มีอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ไร้ชีวิตชีวา และขาดหนังสือน่าอ่านสำหรับเด็กและเยาวชน
เมื่อปลายปี 2556 องค์กรในเชียงใหม่ทั้งรัฐ เอกชน และภาคประชาชนกว่า 70 แห่งได้หารือและกลั่นกรองกระบวนการทำงานร่วมกัน จนในที่สุดมีองค์กร 11 แห่งที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนงาน ได้แก่ กลุ่มบ้านเรียน โรงเรียนชุมชนมอวาคี ชุมชนสมเด็จย่า โรงเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า ห้องสมุดฟื้นบ้านย่านเวียง เชียงใหม่เขียวสวยหอม โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา TISM สโมสรนักเขียนเชียงใหม่ กลุ่มบ้านใหม่สามัคคี และร้านเล่า โดยมีหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์เข้ามาเป็นแนวร่วมด้านการประชาสัมพันธ์
เป้าหมายโครงการเชียงใหม่อ่านก็คือการทำให้เชียงใหม่เป็น “นครแห่งการอ่าน” เกิดพื้นที่ส่งเสริมการอ่านและมีกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่หลากหลายตั้งแต่ระดับจังหวัด ชุมชน โรงเรียน และครอบครัว เกิดแกนนำส่งเสริมการอ่าน รวมทั้งกระตุ้นให้คนเชียงใหม่เกิดวัฒนธรรมการอ่าน เพื่อผลลัพธ์ปลายทางในการสร้างสังคมที่เป็นสุขจากการอ่าน คือ เด็กมีแรงบันดาลใจและสามารถต่อยอดความรู้จากการอ่าน ครอบครัวได้สานสัมพันธ์กันด้วยกิจกรรมการอ่านและการเรียนรู้ร่วมกัน โรงเรียนมีห้องสมุดมีชีวิตที่ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ และชุมชนมีส่วนร่วมด้านการส่งเสริมการอ่านที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมของท้องถิ่น
โครงการส่งเสริมการอ่านของภาคีเครือข่าย 11 องค์กร ซึ่งกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วเชียงใหม่ มีลักษณะที่แตกต่างกันมาก เพราะแต่ละแห่งมีบริบททางสังคมที่ต่างกัน ทั้งในพื้นที่เมือง พื้นที่ชนบท และพื้นที่ชนเผ่า ภายหลังจากดำเนินงานไปแล้ว 1 ปี จึงได้ร่วมกันถอดบทเรียนการทำงานจนได้ข้อสรุปเป็นนวัตกรรมส่งเสริมการอ่าน 4 รูปแบบ คือ การเสริมสร้างพื้นที่น่าอ่าน ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่ในห้องสมุด เน้นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงหนังสือได้ง่าย สะดวก ทั่วถึง เป็นพื้นที่การอ่านที่มีชีวิต มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการอ่านและการเรียนรู้ การส่งเสริมการอ่านผ่านการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิทานท้องถิ่น ซึ่งสามารถนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้โดยการฟัง เล่า เขียน และพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งช่วยปลูกฝังความรักและภูมิใจในชุมชน การส่งเสริมการอ่านผ่านการเล่า เป็นการพบปะระหว่างนักเขียนและนักอ่าน ซึ่งได้ร่วมกันบอกเล่าและเขียนเพื่อกระตุ้นให้คนทั่วไปเกิดความสนใจในการอ่าน การส่งเสริมการอ่านในบ้าน โดยทำให้หนังสือเป็นสภาพแวดล้อมรอบตัวตั้งแต่ยังเด็ก และมีพ่อแม่เป็นแบบอย่างในการอ่าน
ในการทำงาน“เชียงใหม่อ่าน”ปีที่ 2 มีพันธมิตรเข้าร่วมเครือข่ายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ทำงานในพื้นที่ต่างอำเภอ เช่น ร้านหนังสือเชียงดาว (ปัจจุบันปิดตัวแล้ว) และกลุ่มมะขามป้อม อำเภอเชียงดาว ห้องสมุดรังไหม อำเภอพร้าว กลุ่มคนวัยใส อำเภอสารภี โรงเรียนแม่แจ่มวิทยา อำเภอแม่แจ่ม ฯลฯ รวมทั้งได้มีการเชื่อมต่อกับเครือข่ายภาคประชาชนที่อยู่ในจังหวัดเชียงราย ซึ่งกำลังพยายามรวมตัวกันเพื่อให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการอ่าน ดังเช่นที่ได้เกิดขึ้นในเชียงใหม่
ภาพรวมของการทำงาน “เชียงใหม่อ่าน” มีแนวโน้มที่จะขยายพื้นที่กว้างขวางออกไปตามปัจจัยของภาคีที่เข้าร่วม และเป็นที่รับรู้ของคนเชียงใหม่มากขึ้น อย่างไรก็ตามการทำงานของภาคประชาชนที่มีลักษณะการรวมตัวอย่างหลวมๆ ซึ่งต่างจากหน่วยงานรัฐที่มีโครงสร้างและงบประมาณที่แน่นอน ก็ย่อมจะมีจุดอ่อนที่ภาคีเครือข่ายต้องช่วยกันแก้ไขต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต่อเนื่องของการร่วมกันจัดกิจกรรม การให้ความสำคัญกับการสื่อสารระหว่างกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการสื่อสารไปสู่สาธารณะ
“ปฏิบัติการเชียงใหม่อ่าน” อาจไม่ได้ชี้ให้เห็นอย่างเป็นระบบมากนักถึงลักษณะการเชื่อมร้อยภาคี เนื่องจากใช้หลักความสมัครใจ แต่จุดเด่นนั้นอยู่ที่การทำงานและสรุปบทเรียนถอดองค์ความรู้จากการปฏิบัติ มีการจัดการความรู้จนกระทั่งสังเคราะห์ออกมาเป็นนวัตกรรมส่งเสริมการอ่านได้ถึง 4 รูปแบบซึ่งสอดคล้องตามบริบทแวดล้อมของจังหวัดเชียงใหม่ ดังนั้น เมื่อการดำเนินโครงการยังคงมีความต่อเนื่องต่อไป ก็เชื่อได้ว่าด้วยกระบวนการทำงานเช่นนี้จะนำมาสู่องค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่หลากหลายยิ่งขึ้นในอนาคต