Read Write Learn: อ่าน เขียน เรียนรู้ประชาธิปไตย โครงการของเยาวชน โดยเยาวชน เพื่อเยาวชน

414 views
5 mins
October 6, 2022

          บนโลกใบนี้มีวิธีการเรียนรู้ “ประชาธิปไตย” อยู่มากมายหลายวิธีเท่าที่ความสามารถแห่งการสรรค์สร้างและรับสารของมนุษย์จะทำได้ ครูหรืออาจารย์อาจช่วยให้นักเรียนเข้าใจประชาธิปไตยผ่านการเรียนการสอนในห้องเรียน นักประพันธ์บทละครอาจสอดแทรกเนื้อหาที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยลงไปในบางฉาก กระบวนกรที่จัดกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยอาจออกแบบการเรียนรู้ผ่านบอร์ดเกมและกิจกรรมกลุ่ม หรือแม้กระทั่งการถ่ายทอดสดการถกอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผ่านโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีการของการส่งเสริมการเรียนรู้ประชาธิปไตย

          สำหรับ “Demopens” กลุ่มเยาวชนอายุ 19 – 23 ปี ที่ก่อตัวขึ้นด้วยอุดมการณ์และเป้าประสงค์ “ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างสังคมประชาธิปไตย” เลือกที่จะหยิบใช้ “วรรณกรรม” เป็นสื่อขับเคลื่อนการเรียนรู้ประชาธิปไตย ด้วยการจุดประกายไอเดียเป็นโครงการ Read Write Learn: อ่าน เขียน เรียนรู้ประชาธิปไตย โดยมีเยาวชนที่กำลังศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 35 คน เป็นกลุ่มเป้าหมาย อันเป็นพื้นที่บ้านเกิดของสมาชิกกลุ่ม Demopens เอง

          ความปรารถนาร่วมกันที่จะส่งเสริมเยาวชนให้ได้เรียนรู้และเข้าใจประชาธิปไตยนั้น เกิดจากการสํารวจพบสภาพปัญหาในพื้นที่ผ่าน 2 กระบวนการ ได้แก่ หนึ่ง สํารวจผ่านแบบทดสอบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตย โดยใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นเยาวชนในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กําลังศึกษาอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 จํานวน 100 คน และ สอง สํารวจผ่านการสังเกตพฤติกรรมในการใช้สื่อออนไลน์ของเยาวชนในพื้นที่ที่เกี่ยวกับการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง โดยพบว่าเยาวชนจํานวนไม่น้อยมีความเข้าใจประชาธิปไตยที่คลาดเคลื่อน ยึดความคิดเห็นของตนและไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีการเหมารวมผู้ที่เห็นต่างและบ้างก็ใช้ถ้อยคําเสียดสีหยาบคายในการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง

          ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการริเริ่มดำเนินการจัดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม 3 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมแรก “DemoClassroom 101 ห้องเรียนประชาธิปไตยพื้นฐาน” เป็นการจัดกิจกรรมห้องเรียนประชาธิปไตยพื้นฐาน ผ่านช่องทางออนไลน์ จำนวน 4 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง 30 นาที โดยแต่ละครั้งจะมีวิทยากรที่หลากหลายมาร่วมบรรยาย ถ่ายทอดประสบการณ์ และถามตอบข้อสงสัยแก่เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการในประเด็นที่แตกต่างกัน ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 “สิทธิของเราหน้าที่ใคร” เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องของสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองไทยตามวิถีประชาธิปไตย ครั้งที่ 2 หัวข้อ “Demos+Kratos: อย่างไรหรือคือประชาธิปไตยแท้” เนื้อหาเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานของประชาธิปไตยและพัฒนาการประชาธิปไตยของไทย ครั้งที่ 3 หัวข้อ “พละกำลังเมืองในเรื่องสั้นและบทกวี” เนื้อหาเกี่ยวกับการถอดบทเรียนวรรณกรรมการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้า เพื่อฉายชัดให้เยาวชนเห็นถึงความเป็นประชาธิปไตยและหน้าที่พลเมืองไทยที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรรม รวมทั้งการถ่ายทอดกลวิธีในการสร้างสรรค์งานเขียนที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย และครั้งที่ 4 หัวข้อ “คิดเขียนเป็นเรื่อง ร้อยเรียงอย่างไรให้สัมผัสใจ” เนื้อหาเกี่ยวกับการแนะนำศาสตร์และศิลป์ในการเขียนเรื่องสั้น บทกวี และเรียงความ

          กิจกรรมต่อมา “Read & Share กิจกรรมอ่านวรรณกรรมการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้า” ลักษณะของกิจกรรมคือ ให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการเลือกอ่านเรื่องสั้นและบทกวีจากหนังสือวรรณกรรมการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้า จากนั้นจึงให้วิเคราะห์ว่ามีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย หรือหน้าที่พลเมืองอย่างไรบ้าง และให้ถ่ายทอดสิ่งที่ได้รับผ่านวิดีโอ ความยาว 2-3 นาที โดยคลิปวิดีโอที่ได้รับการโหวตมากที่สุดจะถูกนำไปเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กเพจของโครงการ

          กิจกรรมสุดท้ายWrite for Democracy กิจกรรมสร้างสรรค์งานเขียนส่งเสริมประชาธิปไตย” ลักษณะกิจกรรมคือกำหนดให้เยาวชนสร้างสรรค์งานเขียนที่เกี่ยวกับการเป็นพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย โดยสามารถเลือกรูปแบบงานเขียนได้ 3 ประเภท ตามความสนใจ คือ เรื่องสั้น บทกวี และเรียงความ ทั้งนี้งานเขียนของเยาวชนนั้นถูกนำเผยแพร่แก่สาธารณชนผ่านเพจเฟซบุ๊กของโครงการ

          กิจกรรมทั้งสามมีความโดดเด่นร่วมกันอย่างน้อยสามประการ ได้แก่ ประการแรก เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ประชาธิปไตยผ่านแก่นสาร (Substance) และกระบวนการ (Process) กล่าวคือแก่นสารสาระที่โครงการมุ่งถ่ายทอดให้แก่เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการนั้นเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยและการเป็นพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตยโดยตรง ขณะที่กระบวนการของโครงการตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดเน้นการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นเป็นหลัก

          ประการที่สอง มีการบูรณาการ “ความรู้” และบูรณาการ “คน” อย่างหลากหลาย ได้แก่ (1) บูรณาการความรู้ระหว่างศาสตร์เรื่องประชาธิปไตยกับศาสตร์ด้านวรรณศิลป์ โดยศาสตร์เรื่องประชาธิปไตยจะถ่ายทอดจากอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านประชาธิปไตยและนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับประชาธิปไตยแก่เยาวชน ส่วนศาสตร์ด้านวรรณศิลป์จะถ่ายทอดโดยนักเขียนที่มากประสบการณ์ กล่าวได้ว่าการบูรณาการกันระหว่างศาสตร์ทั้งสองช่วยให้การเรียนรู้ประชาธิปไตยมีรูปแบบที่แปลกใหม่ น่าสนใจ และคลายความน่าเบื่อแก่เยาวชนได้มากขึ้น (2) บูรณาการคนที่มีความหลากหลายให้เข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการทั้งทางตรงและทางอ้อม เริ่มตั้งแต่สมาชิกผู้ดำเนินโครงการซึ่งเป็นนักศึกษาจากหลากสาขา หลายสถาบัน ได้แก่ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ครุศาสตร์ และนักศึกษาพยาบาล ทั้งจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ส่วนที่ปรึกษาโครงการก็มีทั้งนักวิชาการ ครู นักกิจกรรม และนักเขียน โดยมุ่งเน้นพึ่งพาทรัพยากรบุคคลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดประโยชน์เป็นหลัก ทั้งนี้การบูรณาการคนช่วยให้เกิดการระดมความคิดและเสนอแนวทางที่หลากหลายสำหรับดำเนินการโครงการ

          ประการที่สาม มีความโดดเด่นในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และรับมือกับวิถีชีวิตใหม่ได้อย่างดี กล่าวคือ การดำเนินกิจกรรมและถ่ายทอดความรู้ได้ปรับใช้เทคโนโลยีให้เป็นช่องทางหลัก โดยจัดกิจกรรมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถพูดคุยและพบหน้ากับเยาวชนได้ อีกทั้งยังใช้เพจเฟซบุ๊กมาเป็นช่องทางในการเผยแพร่ผลงานการเขียนของเยาวชนสู่สาธารณชน จึงนับว่าเป็นนวัตกรรมที่ประยุกต์ใช้ทักษะดิจิทัลอย่างครบด้าน ซึ่งช่วยให้เยาวชนและผู้คนเข้าถึงองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น

          กล่าวได้ว่าภายในระยะเวลาสามเดือนของการจัดกิจกรรมภายใต้โครงการนี้ มีทั้งผลสำเร็จและอุปสรรคให้ทีม Demopens ต้องตั้งรับปรับตัวอยู่อย่างต่อเนื่อง สำหรับผลสำเร็จของโครงการอาจแบ่งพิจารณาได้เป็นสามส่วน ได้แก่ ส่วนแรก ผลที่เกิดแก่เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการ อาทิ เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยและหน้าที่พลเมืองไทยมากยิ่งขึ้น ช่วยส่งเสริมให้เยาวชนมีความกล้าหาญในการแสดงความคิดเห็น ปลดปล่อยตัวเองจากความกลัว และกล้าที่จะสร้างสรรค์งานเขียนด้วยความคิดความอ่านของตนเอง ขณะเดียวกันโครงการก็ได้มอบทักษะการเขียนเป็นเครื่องมือแก่พวกเขา เป็นต้น

          ส่วนที่สอง ผลที่เกิดแก่สมาชิกทีม Demopens และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ โครงการได้สร้างพื้นที่การเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของทรัพยากรบุคคลที่หลากหลายทั้งจากในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้และนอกพื้นที่ ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และการผนึกกําลังกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ในฐานะพละกําลังของประเทศ โดยไม่กีดกันหรือแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และเพศ สังเกตได้จากวิทยากรในกิจกรรม DemoClassroom เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งสมาชิกผู้ดําเนินโครงการเองต่างมีความหลากหลาย

          และส่วนสุดท้าย ผลจากการยอมรับของหน่วยงานภายนอก โดยโครงการนี้ได้รับคัดเลือกจากสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นหนึ่งในนวัตกรรมประชาธิปไตย รางวัลชมเชย นับว่าได้รับการรับรองและเผยแพร่เป็นต้นแบบแก่กลุ่มเยาวชนหรือกิจกรรมที่ทำงานขับเคลื่อนส่งเสริมการเรียนรู้ด้านต่างๆ

          ด้านอุปสรรคซึ่งถึงที่สุดแล้วได้กลั่นกรองกลายมาเป็นบทเรียนแก่สมาชิกทีม Demopens ก็มีอยู่หลายประการ ที่สำคัญ อาทิ การจัดกิจกรรมห้องเรียนออนไลน์มีอุปสรรคบางประการในเบื้องต้น เนื่องจากเป็นรูปแบบใหม่ที่เยาวชนเพิ่งได้สัมผัส ทั้งนี้ทางโครงการได้แก้ปัญหาโดยการสํารวจความพร้อมในเรื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของเยาวชนก่อนในเบื้องต้น จากนั้นจึงหาแอปพลิเคชันสําหรับการเรียนออนไลน์ที่เยาวชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ การใช้ “วรรณกรรมการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้า” มาเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตย ช่วยสร้างความน่าสนใจ สนุกและคลายความเบื่อหน่ายของเยาวชนในการศึกษาประชาธิปไตยได้มาก

          กล่าวโดยสรุป โครงการ Read Write Learn: อ่าน เขียน เรียนรู้ประชาธิปไตย เป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ที่ช่วยส่งเสริมความเข้าใจ สร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ประชาธิปไตยและพลเมืองที่ดีให้เกิดขึ้นในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วยสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างทรัพยากรบุคคลในพื้นที่และนอกพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ในการระดมความคิดแก้ปัญหา สร้างสรรค์ ถ่ายทอดประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่อง “ศาสตร์ประชาธิปไตย” กับ “ศิลปะด้านการเขียน” พร้อมกันนั้นยังช่วยพลิกวิกฤติภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ให้เป็นโอกาส ด้วยการเปลี่ยนเวลาว่างช่วงที่โรงเรียนยังปิดการเรียนการสอนมาเป็นการเรียนรู้ในลักษณะ “Learn from Home” แทน

Read Write Learn: อ่าน เขียน เรียนรู้ประชาธิปไตย โครงการของเยาวชน โดยเยาวชน เพื่อเยาวชน

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก