UNESCO Global Network of Learning Cities เป็นโครงการขององค์การยูเนสโกที่มุ่งหวังให้เมืองต่างๆ ในโลกเติบโตอย่างมีทิศทางและพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงจัดตั้งเครือข่ายระดับโลกขึ้นมาเพื่อช่วยรัฐบาลท้องถิ่น (เมือง) ในการพัฒนากลยุทธ์ที่เป็นรูปธรรมในการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้
การวางกฎเกณฑ์ที่รัดกุมเข้มงวดแต่เปิดกว้างและให้โอกาสเต็มที่กับรัฐบาลท้องถิ่นทุกประเทศ คือเสน่ห์สำคัญของโครงการนี้ เพราะเมืองที่เข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้จะมั่นใจได้ว่าภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้หากทำได้ครบถ้วนจะนำไปสู่มาตรฐานของการพัฒนา ในขณะเดียวกันก็เปิดกว้างให้กับการแสดงเจตจำนงและความมุ่งมั่นที่จะลงมือทำงาน “ยากๆ” ให้สำเร็จ ซึ่งมีโอกาสที่สองให้กับผู้ตั้งใจอย่างแท้จริงเสมอ
ในกรณีของไทย กลยุทธ์กำกับทิศทางการพัฒนาเมืองอีกรูปแบบหนึ่งคือการเชิดชูจุดเด่นของเมือง ตัวอย่างเช่นการที่กระทรวงวัฒนธรรมคัดเลือกและประกาศให้จังหวัดนำร่อง 3 แห่งเป็น ‘เมืองศิลปะ’ ได้แก่ กระบี่ โคราช และเชียงราย ตามมาด้วยกระบวนการสนับสนุนกิจกรรมในพื้นที่อย่างต่อเนื่องทั้งเล็กและใหญ่ โดยอาศัยเครือข่ายความร่วมมือของผู้คนและองค์กรในจังหวัดนั้นๆ นับเป็นกระบวนการกระตุ้นส่งเสริมการมีส่วนร่วมที่เกิดการพัฒนามาจากฐานล่าง โดยมีส่วนบนเป็นแค่ผู้จุดประกายและให้การสนับสนุน
เชียงราย เป็นจังหวัดเดียวของไทยที่ได้รับเลือกจากยูเนสโกให้เข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ (โดยเทศบาลนครเชียงราย) และได้รับเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรมให้เป็นเมืองศิลปะ ดังที่กล่าวแล้ว