การคิดค้นนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมควรจะเริ่มต้นอย่างไร? งาน Hackathon ในแต่ละปีมีจำนวนไม่น้อย แต่จะทำอย่างไรให้ต้นแบบใช้งานได้จริง และมีแผนธุรกิจรองรับ?
Re-Fill City นวัตกรรมที่ช่วยให้ผู้ใช้งานพบกับจุดเติมน้ำดื่มสะอาดได้ฟรี เพื่อบรรเทาปัญหาขยะพลาสติกล้นเมือง อาจพอจะเป็นกรณีศึกษาที่ช่วยตอบคำถามนี้ได้ หลังจากคว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันรายการ Presidential Hackathon International Track 2023 ซึ่งจัดโดยกระทรวงดิจิทัลแห่งไต้หวัน โดยสามารถเอาชนะผู้แข่งขันกว่า 60 ทีม จาก 30 ประเทศทั่วโลก และกำลังอยู่ในระหว่างทดสอบต้นแบบในพื้นที่ อีกทั้งยังมีโครงการจะขยายผลสู่การใช้งานในพื้นที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง
The KOMMON มีโอกาสได้คุยกับ ดร.นน อัครประเสริฐกุล ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) หนึ่งในทีมคิดค้น ถึงรายละเอียดและกระบวนการสร้างสรรค์แพลตฟอร์ม ความสำคัญของการคิดเชิงนวัตกรรม และความน่าสนใจของการแข่งขัน Hackathon ที่มักถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อค้นหาแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ ในสังคม
เบื้องหลังกว่าจะมาเป็น Re-Fill City
ในระหว่างที่ร่วมงาน Smart City Expo ในไต้หวัน ดร.นน บังเอิญได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับงาน Presidential Hackathon International Track 2023 ภายใต้แนวคิด ‘Free the Future: Open, Digital and Green’ ซึ่งถือเป็นรายการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลระดับนานาชาติที่มีชื่อเสียงในไต้หวัน เขารู้สึกสนใจจนถึงกับต้องถือรายละเอียดกลับประเทศมาด้วย
“หัวข้อของการแข่งขันมี 3 เรื่องคือ เปิดข้อมูลให้คนมีส่วนร่วม ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกับความตั้งใจของดีป้า สมัยก่อนเรามักตัดสินใจด้วยความเชื่อ แต่ตอนนี้ต้องตัดสินใจด้วยข้อมูล และเราอยากจะสนับสนุนให้เมืองเก็บข้อมูล ให้คนในเมืองได้มีส่วนร่วม ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมก็สำคัญ เพราะหนึ่งใน 7 ด้านของการเป็น Smart City (เมืองอัจฉริยะ) คือ Smart environment (สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ) ซึ่งสําคัญที่สุดเพราะเราเชื่อมั่นว่า เมืองต่อให้จีดีพีสูงยังไงถ้าคนหายใจไม่ออกก็ไม่มีประโยชน์”
ดร.นน กล่าวถึงเหตุผลที่ให้ความสนใจกับเวทีแข่งขันดังกล่าว ก่อนที่จะนำข้อมูลมาปรึกษากับ ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการ กลุ่มงานโครงการพิเศษและศูนย์พัฒนาดิจิทัลและนวัตกรรม ดีป้า และเริ่มก่อตั้งทีมด้วยการมองหาพาร์ตเนอร์ โดยเริ่มจากภาคเอกชนผู้มีประสบการณ์ ซึ่งได้แก่ พรชัย เอี่ยมสุกใส และ สถาพร จุลศิลป์ จากบริษัทสยามอินโนซิตี้ จำกัด สตาร์ตอัปที่ให้บริการระบบ Smart City On Line OA ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาร่วมโครงการ เสริมทัพด้วยภาคการศึกษา ผศ. ดร.รัชนี กุลยานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง
การแข่งขันครั้งนี้ จัดในรูปแบบออนไลน์เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีระยะเวลา 3 เดือน ทีมงานทุกคนต้องมาร่วมระดมความคิด เพื่อเตรียมข้อมูลสำหรับการ Benchmark Meeting ออนไลน์ ร่วมกับโค้ชจากไต้หวันซึ่งจะคอยมาให้คำแนะนำเพื่อการพัฒนาไอเดียทุกครึ่งเดือน
“เรามานั่งคิดกันเรื่องกำจัดขยะ ซึ่งบางประเทศใช้ระบบจัดการขยะที่ปลายน้ำ คือมีระบบการเปลี่ยนขยะ นำมาเผาให้กลายเป็นพลังงาน อันนี้ดีแต่แพง หรือถ้าจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น ที่ไต้หวันเขาจะไปเคาะประตูบ้านคุณและสอนทุกคนเรื่องวิธีการแยกขยะ ส่วนวิธีที่เราคิดกันว่าน่าจะเหมาะก็มามองที่กลางน้ำ ทํายังไงดีให้ขยะมันลดน้อยลง
การวิเคราะห์จากข้อมูลวิจัยบอกเราว่า ขยะส่วนใหญ่ที่มีคือขวดน้ำพลาสติก สมมติเราดื่มน้ำวันละ 2 ลิตร เท่ากับว่าคนคนหนึ่งสร้างขยะแล้ว 4-5 ขวดต่อวัน น้ำขวดหนึ่ง 5 บาท หรือ 10 บาท อาจดูไม่แพงแต่วันหนึ่ง 5 ขวด ก็ 50 บาทแล้วนะ ทีนี้ ถ้าเราจะลดจำนวนขวดน้ำ ลองคิดง่ายๆ ว่าถ้ามีจุดเติมน้ำดื่มสะอาด คนก็สามารถประหยัดเงินได้ และไม่สร้างขยะเพิ่ม”
อีกแรงบันดาลใจสำคัญของ Re-Fill-City มาจากโครงการรณรงค์ของโรงเรียนเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เด็กชั้นประถมศึกษานำกระบอกน้ำมาเติมน้ำที่โรงเรียนแทนการซื้อน้ำขวด จนสามารถเก็บข้อมูลทางสถิติได้ว่า ในหนึ่งวันสามารถลดปริมาณขยะได้ถึง 5,000 ขวด
จากโจทย์ในพื้นที่ ขยายผลกลายเป็นโจทย์ในงาน Hackathon ระดับนานาชาติ เมื่อผ่านกระบวนการระดมสมอง วางแผน และร่วมกันออกแบบ ผลผลิตที่ได้คือต้นแบบแพลตฟอร์ม Re-Fill City ที่ไม่ได้มุ่งหวังแค่ใช้เทคโนโลยีช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี (Smart Environment) เท่านั้น แต่ยังมุ่งเก็บข้อมูลการบริโภคของผู้ใช้เพื่อนำไปสู่สุขภาวะที่ดีอีกด้วย (Smart Living)
ดังนั้น Re-Fill City ที่พัฒนาเต็มรูปแบบจะมีฐานข้อมูลที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถค้นหาตำแหน่งจุดเติมน้ำดื่มสะอาดฟรี รวมถึงระบุร้านค้าที่ขายเครื่องดื่มน้ำตาลน้อย ระบบหลังบ้านเก็บข้อมูลการบริโภคเพื่อนำไปวิเคราะห์ ผู้ใช้บริการและห้างร้านต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับคะแนนซึ่งสามารถนำไปแลกสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากหน่วยงานรัฐและองค์กรพันธมิตร
หลังจากได้รับรางวัลในเดือนกันยายนปี 2566 ทีมงานใช้เวลาพัฒนาต้นแบบและนำโครงการนี้ไปทดสอบที่เทศบาลนครนครศรีธรรมราชตั้งแต่ต้นปี 2567
การคิดเชิงนวัตกรรม คิดใหม่เพื่อชีวิตที่ดีกว่า
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมได้จริง จำเป็นต้องใช้ ‘การคิดเชิงนวัตกรรม’ (Innovative Thinking)
“สิ่งที่เป็นนวัตกรรมคือ ออกใหม่ และต้องเวิร์กใน 3 มิติ หนึ่ง คนต้องการใช้งานเพราะถ้าคนไม่ใช้ หรือทำแล้วเราใช้ได้คนเดียวอันนี้เป็นสิ่งประดิษฐ์ สอง เลือกใช้เทคโนโลยีเหมาะสม ไม่เข้าถึงยากเกินไป สาม เรื่องของธุรกิจ ต้องขายได้ ไม่แพง และต้องเข้าใจ Pain Point ซึ่งสำหรับผมแปลว่าจุดที่เจ็บจนชิน ไม่ใช่แค่เจ็บธรรมดานะ แต่เจ็บจนชินชา เพราะว่าไม่เคยมีการแก้ไข เช่น ถามว่าคนอยากจะซื้อน้ำขวดไหม อาจจะไม่อยาก…ถ้าเขาสามารถหาน้ำสะอาดดื่มที่ไหนก็ได้ แต่ว่าพอไม่มี เขาก็เลยต้องซื้อ ดังนั้นเราจึงต้องหาทางออก”
หลักการคิดเชิงนวัตกรรม อาจแบ่งวิธีคิดออกได้เป็น 2 รูปแบบหลัก คือ หนึ่ง มองเห็นปัญหาต่างๆ จากนั้นพยายามหาวิธีการแก้ไขใหม่ที่ประหยัดเวลา ลดค่าใช้จ่าย และรวดเร็วกว่าวิธีการเดิม อีกรูปแบบหนึ่งคือการมองภาพรวมทั้งหมดและคิดถึงความเป็นไปได้ใหม่
“ถ้าเราเห็นปัญหาและลองดูวิธีการแก้ไขอื่นๆ เพื่อให้ดีขึ้น ตอบโจทย์มากกว่าเดิม นี่คือวิธีที่คนส่วนใหญ่ใช้กัน แต่ก็จะมีอีกวิธีหนึ่งคือ วิธีแบบอีลอน มัสก์ เป็นการมองภาพใหญ่ เช่น ถ้าเกิดว่ามีรถไฟฟ้าใช้กันทั่วไป โลกก็จะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง หรือถ้ามีดาวเทียมมากขึ้น เราก็จะสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น”
เมื่อพิจารณาในรายละเอียด Re-Fill City จึงไม่ได้มีแค่ความคิดริเริ่มที่ดีเท่านั้น แต่ยังประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบสำคัญสำหรับการสร้างนวัตกรรม “อันแรกซอฟต์แวร์ คือมิติเชิงเทคโนโลยี ซึ่งในส่วนนี้ได้ทางคุณพรชัย คุณสถาพร และอาจารย์รัชนีช่วยดู ส่วนที่สองคือเรื่องของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ส่วนนี้เป็น ดร.ภาสกร กับผม ทํายังไงให้คนมีแรงจูงใจที่จะทําสิ่งดีๆ โดยที่เขาไม่รู้สึกว่าต้องทำเพิ่มขึ้นจากเดิม และสามคือธุรกิจ สยามอินโนซิตี้เป็นฝ่ายดูแล เพราะเราไม่อยากให้เป็นโครงการที่มีพิธีเปิด ถ่ายภาพ ตัดริบบิ้นและจบไป แต่ต้องต่อยอดและเกิดความยั่งยืน”
Hackathon แฮกให้เร็ว ดี และตอบโจทย์สูงสุด
“จุดเด่นของ Hackathon คือการแข่งขันที่เริ่มต้นด้วยปัญหา นำมาวิเคราะห์ มองในมุมต่างๆ คิดและทำอย่างสม่ำเสมอ รวดเดียวจบ สำคัญคือถ้าเริ่มแล้วต้องจบให้ได้ คําว่าแฮกเนี่ย คือการโกง มันไม่ใช่การแข่งขันที่ว่าใครมีไอเดียดีที่สุด ไอเดียที่ชนะอาจเป็นไอเดียธรรมดาๆ ก็ได้ แต่คนมีไอเดียโกงให้เกิดความสําเร็จได้เร็วที่สุด โดยใช้เงินน้อยที่สุด”
ดร.นน เล่าถึงจุดเด่นของกระบวนการ Hackathon ก่อนจะยกตัวอย่างในกรณีของ Re-Fill City
“จุดเติมน้ำ 1 จุด ไม่ถูกนะ จุดละเป็นแสน พอเราไม่มีเงิน ดังนั้นเราก็ต้องลองคิดแบบแฮกว่า จุดเติมน้ำแพงเพราะต้องไปตั้งใหม่ ถ้าเราใช้จุดที่มีอยู่เดิมก็จะไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งก็ได้แก่ร้านอาหารต่างๆ ถ้าเราเปลี่ยนร้านอาหารทั่วเมืองให้กลายเป็นจุดเติมน้ำได้เราจะเสียเงินศูนย์บาท แต่ว่ามีจุดเติมน้ำเพิ่มขึ้นมาทันทีเท่ากับจํานวนร้านอาหารที่เขายินยอมมาร่วมโครงการ แต่แน่นอนในแง่ธุรกิจไม่มีใครอยากเติมน้ำให้ฟรีๆ เราต้องสร้างแรงจูงใจทั้งฝั่งอุปสงค์และอุปทาน ให้คนอยากเอาขวดมาเติมน้ำ ขณะเดียวกันร้านค้าก็อยากจะบริการประชาชน”
แนวคิดดังกล่าว พัฒนาเป็นระบบสะสมแต้มเพื่อแลกรับสิทธิประโยชน์ ซึ่งแปลงมาจากค่าบริหารจัดการขยะที่ลดลง “กว่าจะมาเป็นขวดน้ำพลาสติก ย่อมต้องมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) และพอใช้แล้วก็เป็นขยะ การลดปริมาณขวดน้ำ จึงเป็นการเพิ่มคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) อีกทั้งประหยัดงบประมาณการจัดการขยะของเมือง ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เอามาคำนวณตีออกมาเป็นผลตอบแทนในรูปแบบต่างๆ คืนสู่ผู้เข้าร่วมโครงการ”
ดร.นน ยังได้กล่าวถึงความน่าสนใจของ Hackathon ว่านอกเหนือจากการได้โซลูชันใหม่มาแก้ไขปัญหาและอุปสรรค ผลพลอยได้คือความสนุก ได้เรียนรู้ และพบเจอผู้คนมากหน้าหลายตา อีกทั้งเป็นช่องทางที่องค์กรใช้ตามหาคนเก่งๆ มาร่วมงานกัน
“เราได้ลับสมอง ได้เห็นอะไรแปลกใหม่ซึ่งเราอาจจะเอาไปใช้กับงานได้ ผมคิดว่าหน่วยงานภาครัฐ หรือองค์กรขนาดใหญ่ซึ่งมักมีภาพการรับรู้ของคนทั่วไปว่า ทำงานไปวันๆ ไม่มีของใหม่ ผมอยากให้เขาได้ลองเอากระบวนการ หรือเอาวิธีคิดแบบ Hackathon ไปปรับใช้ ซึ่งจะทำให้ได้พัฒนาทั้งตนเอง และเป็นการกระตุ้นในภาพรวมที่ใหญ่ขึ้นว่าหน่วยงานภาครัฐเองก็เป็นผู้นําเชิงความคิดได้”
นอกจากนี้ กระบวนการดังกล่าวยังใช้งบประมาณต่ำ ในส่วนของผลลัพธ์ ดร.นน อธิบายว่า อยู่ที่การตั้งเป้าหมายและกำหนดตัวชี้วัดของโครงการ “บางครั้ง ตัวชี้วัดอาจเป็นแค่สิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับใครก็ได้ไหม ผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่จำเป็นจะต้องไปต่อยอดเป็นโครงการจริงก็ได้ เช่น การแข่งขันของเด็กมหาวิทยาลัย เราอาจจะเห็นผลจากสิ่งที่เขาทำในอีก 10 ปีข้างหน้า ตอนที่เขาเอาวิธีคิดไปปรับใช้จริง เป็นต้น อีกประเด็นคือ ถ้าต้องการหาแนวทางเพื่อตอบโจทย์ปัญหาจริงก็อาจต้องดูที่รายละเอียดอื่นๆ ประกอบด้วยว่า โค้ชที่มีอยู่ในการแข่งขันสามารถให้คำแนะนำผู้เข้าร่วมได้จริงไหม มีพื้นที่และอุปกรณ์อำนวยความสะดวก พร้อมทั้งงบประมาณสำหรับการทดลองต้นแบบมากน้อยแค่ไหน”
ถอดสูตรปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมโครงการเชิงนวัตกรรมสู่สังคม
“สําคัญที่สุดเลยคือโครงการนั้นต้องมีคนลงทุนต่อให้เราได้ เพราะกว่าร้อยละ 80-90 คนที่มีไอเดียกับคนที่มีเงินมักจะเป็นคนละคนกัน ถ้าเรามีไอเดียอยากพัฒนาต่อ แต่ว่าไม่น่าสนใจเพียงพอที่จะดึงดูดคนมาลงทุน โครงการเราก็จะจบอยู่แค่นั้น
และกระบวนการที่สําคัญอีกขั้นตอนหนึ่ง คือการนําเสนอหรือที่เราเรียกว่า Pitching อุปมาถึงการ Pitching ในกีฬาเบสบอล นักกีฬาต้องขว้างลูกให้ตรง พุ่งเร็ว และไม่ถูกตี นั่นคือ ข้อมูลต้องคม เข้าเป้าที่สุดเพื่อให้นักลงทุนอยากที่จะมาลงทุนด้วย บางไอเดียมักพลาดตรงนี้ แนวคิดดีแต่ Pitching ไม่เป็น สุดท้ายคนฟังเลยรู้สึกว่าไม่น่าสนใจ”
ดร.นน กล่าวเมื่อเราถามถึงปัญหาที่ว่าทำไมบางครั้งแนวคิดที่ดูดีมักไม่ได้รับการสานต่อ พร้อมทั้งเน้นย้ำว่าสิ่งสำคัญของการผลักดันจากแนวคิดเชิงนวัตกรรมมาสู่การปฏิบัติคือ ตอบโจทย์ปัญหา เข้าถึง และขายได้
“เรานำ Re-Fill City ไปทดสอบนำร่องที่เทศบาลนครนครศรีธรรมราช เมืองนี้เป็น Smart City ระดับโลก เคยได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย เขาเป็นเมืองที่มีส่วนผสมกลมกล่อม ภาครัฐอย่างเทศบาลนครฯ มีความตั้งใจมากชาวบ้านรักกัน และพร้อมจะทดลองโครงการใหม่ๆ ที่จะมาช่วยแก้ปัญหา”
จากแอปพลิเคชัน Re-Fill City ในการ Pitching สู่การปรับใช้ในพื้นที่จริง ขณะนี้โครงการ Re-Fill City เริ่มต้นทดสอบด้วยการติดตั้งตู้เติมน้ำอัจฉริยะที่อุทยานการเรียนรู้นครศรีธรรมราช (CLP) ซึ่งแตกต่างจากตู้น้ำหยอดเหรียญทั่วไปตรงที่ ผู้ลงทะเบียนใช้งานกับ Line OA ของ Re-Fill City สามารถกดเติมน้ำได้ฟรีตามโควตา ส่วนพื้นที่ก็สามารถเก็บข้อมูลผู้ใช้งานเพื่อนำไปวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคและศักยภาพในการลดปริมาณขยะต่อไป ดร.นน เชื่อว่า นี่เป็นก้าวแรกที่สำคัญ เพราะการนำเสนอให้เห็นผลลัพธ์ที่ดี จะทำให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านอาหารและร้านโรตีที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ให้ความสนใจและเข้ามาเป็นแนวร่วมในอนาคตอันใกล้
“การเติมน้ำดื่ม นอกจากจะเป็นการลดปริมาณขยะพลาสติก ทีมงานยังมองไปถึงแนวทางส่งเสริมเครื่องดื่มน้ำตาลต่ำเพื่อสุขภาพ เช่น เติมชานมแบบหวานน้อยจะได้แต้มเพิ่ม และเมืองนครศรีธรรมราชนี่มีร้านโรตีเยอะมาก ดังนั้น การมีขวดน้ำที่เอาไปเติมได้ก็มีประโยชน์หลายอย่าง ทั้งลดขยะ ลดไมโครพลาสติก ส่งเสริมสุขภาพ ร้านโรตีก็ได้ช่องทางโปรโมตตัวเองด้วย”
นั่นคือภาพที่เราอาจจะได้เห็นในระยะต่อไป ในขณะเดียวกันทีมงานและเทศบาลนครฯ ก็กำลังพิจารณาที่จะต่อยอดความร่วมมือกับองค์กรของรัฐในภาคส่วนต่างๆ เช่น กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ที่จะมาช่วยทำแคมเปญเกี่ยวกับการรณรงค์ไม่กินหวาน รวมถึงภาคเอกชน เช่น หอการค้าจังหวัด เป็นต้น
ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Re-Fill City Line OA และตู้เติมน้ำอัจฉริยะก็เปิดตัวไปในงาน KMITL Innovation Expo 2024 มีผู้ให้ความสนใจไม่น้อย เช่น บริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง สนใจจะนำนวัตกรรมไปใช้ในย่านเมืองเก่าภูเก็ต นอกจากนี้ยังมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี เทศบาลนครรังสิตร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เทศบาลเมืองตาคลี องค์การบริหารส่วนตำบลวัดไทรย์ จังหวัดนครสวรรค์ และเทศบาลตำบลเทพราช จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่สนใจจะนำ Re-Fill City ไปใช้ในพื้นที่
อีกไม่นานเราคงมีโอกาสจะได้เห็นว่าจากต้นแบบในงาน Hackathon นวัตกรรม Re-Fill City ถูกนำมาปรับใช้ในแต่ละพื้นที่อย่างไร
ดร.นน ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ไอเดียของ Re-Fill City ไม่มีการจดสิทธิบัตร ผู้สนใจสามารถติดต่อเพื่อขอคำแนะนำ หรือนำไปปรับใช้ได้เลย เนื่องจากในแต่ละพื้นที่ก็อาจมีรายละเอียดหรือความต้องการเชิงเทคนิคที่ต่างกันออกไป เพราะอย่างน้อยหากนวัตกรรมดังกล่าวได้เป็นที่รู้จัก มีการต่อยอด และคนเข้าถึงได้ในวงกว้างมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของผู้คน เมือง และโลกของเราให้น่าอยู่มากขึ้นกว่าเดิม