เรไรกับประชา Papa You’re A Writer!

691 views
July 9, 2024

          เรไร กับ ประชา สุวีรานนท์ เดินเข้ามาในร้าน Home Stew Cafe ตามเวลานัดหลังเรไรเลิกเรียน เธอเปลี่ยนจากชุดนักเรียน สวมเสื้อเชิ้ตสีชมพูพาสเทลจับคู่กับกางเกงขายาวตัวหลวมสีอ่อน ทำให้ดูโตเป็นวัยรุ่น แต่ลายมือในสมุดบันทึกของเรไรตรึงความทรงจำให้ระลึกถึงเด็กหญิงวัย 6 ขวบ วัยเยาว์เป็นนิรันดร์ก็แต่ในความทรงจำ

          ประชาสวมเสื้อสีเนวีบลู เลือกกาแฟดำ ส่วนลูกสาวเลือกโอรีโอปั่น ผมมองเห็นเด็กหนุ่มคนที่ออกแบบหน้าปกหนังสือ ศึก ฉบับปี 2517 ในบันทึกประจำวันบางบทของเด็กหญิงเรไร เพราะการเติบโตไปในอนาคตของเด็กหญิงทำให้นึกถึงวัยเยาว์ของผู้เป็นพ่อ

          ในเดือนพฤศจิกายนนี้ เรไรจะมีอายุครบ 15 ปี เป็นเวลา 8 ปีแล้วที่เธอเขียนบันทึกประจำวันเผยแพร่ลงในเพจ เรไรรายวัน จากจุดเริ่มต้นที่แม่ได้รับข้อความในกลุ่มไลน์ผู้ปกครอง ชวนเด็กหญิงเข้าร่วมโครงการ ‘สมุดบันทึกวัยเยาว์’ โครงการของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยมี มกุฏ อรฤดี เป็นผู้ดำเนินโครงการ รณรงค์ให้เด็กรักการเขียนและอ่าน

เรไรกับประชา Papa You're A Writer!
เรไร สุวีรานนท์

          แม่ถามเรไร อยากเขียนบันทึกไหม เธอไม่เข้าใจนัก การเขียนบันทึกประจำวันคืออะไร แต่ก็ตอบตกลง

          แม่เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ “หลังจากได้สมุดบันทึก มีหน้าหนึ่งให้เขียนสัญญาว่าจะเขียนบันทึกทุกวัน เขาอ่านเสร็จก็เซ็นชื่อ เรไร สุวีรานนท์ ก็เหมือนเป็นการผูกมัดตัวเอง เราก็ยังตกใจ ยังถามเขาเลยว่าลงชื่อน่ะคิดหรือยังว่าเขียนได้เหรอ เขาก็บอกว่าได้ ก็เริ่มเขียน”

          จากวันนั้นถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 8 ปีแล้วที่เรไรเขียนบันทึกทุกวัน มีหนังสือ เรไรรายวัน รวมบันทึกประจำวัน ตีพิมพ์ออกมา 2 เล่ม

          “เมื่อก่อนบันทึกของหนูเป็นข้อเขียนที่ใครอ่านก็รู้ว่าเด็กเขียน แต่พอโตขึ้น มุมมองก็เปลี่ยนไป เรื่องที่หนูเอามาเขียนในแต่ละวันค่อยๆ เปลี่ยน เมื่อก่อนจะเขียนเรื่องครอบครัว เขียนถึงสมาชิกในครอบครัว แต่พอโตขึ้นเรื่องที่เอามาเขียนจะเป็นเรื่องของเพื่อนมากขึ้น เพราะหนูใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อนมากขึ้น มีเรื่องราวอื่นๆ เข้ามาในชีวิตเยอะขึ้น” เรไร บอก ในใจผมนึกถึงพ่อที่กำลังนั่งฟังเธอเล่าถึงความเปลี่ยนแปลง

          ก่อนหน้านี้หนึ่งวัน เรไรเขียนบันทึกลงในเพจ เรไรรายวัน ว่า เธอพาน้องแฝดของเธอ เด็กชายก้อนเมฆและเด็กชายสายลมไปออกรายการโทรทัศน์ “วันนี้ฉันทำหน้าที่คล้ายกับแม่ที่เคยทำ ฉันเล่าให้น้องฟังว่าวันนี้ต้องทำอะไรบ้าง ชวนให้อ่านสคริปต์รายการเพื่อเตรียมตอบคำถาม ทั้งคู่ติดขัดตรงไหนฉันก็ช่วยเสริม และก็โล่งใจปนภูมิใจเมื่อเห็นน้องๆ โต้ตอบพิธีกรได้อย่างคล่องแคล่วจนจบรายการ” (บันทึกเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566)

          ในบันทึกประจำวันบนเพจ เรไรรายวัน มีบันทึกของน้องแฝดสลับกับบันทึกของพี่สาวของพวกเขา เด็กชายฝาแฝดเขียนบันทึกจากความรู้สึก เล่าเรื่องราวใกล้ตัวเหมือนครั้งหนึ่งที่พี่สาวเคยทำ เช่น ‘บางทีความโชคดีกับโชคร้ายก็มาด้วยกัน 1. โชคร้ายจังแม่หกล้ม 2. โชคดีจังแม่ยังไม่ตาย’

          “หนูเป็นคนเริ่มชวนให้น้องเขียน ตอนเด็กหนูอยากให้น้องมาเขียนด้วยกัน หนูอยากมีเพื่อนเขียน แต่ไม่ได้คิดว่าน้องแฝดจะจริงจัง น้องก็เห็นหนูเขียนบันทึกมาตั้งแต่พวกเขายังเด็ก แม่ก็ฝึกให้น้องคิดแล้วเล่าปากเปล่าก่อน จากนั้นค่อยๆ เขียนประโยคสั้นๆ ต่อมาประโยคก็ยาวขึ้น” เรไร เล่าถึงนักเขียนหน้าใหม่ในเพจ เรไรรายวัน

          ผมถามเธอว่าได้กลับไปอ่านบันทึกเก่าๆ ของตัวเองบ้างไหม

          “บางครั้งค่ะ ส่วนใหญ่จะเปิดอ่านจากหนังสือ ในห้องนอนของหนูจะมีหนังสือ เรไรรายวัน บางครั้งไม่มีอะไรทำก็เปิดอ่านเฉยเลย บางทีคุณแม่เอาบันทึกเก่ามารีโพสต์ หนูก็ได้อ่านว่าวันนี้ของปีที่แล้วหนูคิดอะไร”

          “นึกไม่ถึง…” พ่อของเธอกล่าวแทรกขึ้นมา “บางเรื่องเราก็ลืมไปแล้ว ถ้าไม่เขียนไว้ก็คงลืมไปแล้ว ใช่ไหม”

เรไรกับประชา Papa You're A Writer!
ประชา สุวีรานนท์

          “หนูมองเห็นชีวิตตัวเองว่าเมื่อก่อนเคยคิดแบบนี้ เคยรู้สึกแบบนี้” เรไร เล่าต่อ “แต่ตอนนี้เราอาจจะเปลี่ยนไปแล้ว ก็ทำให้รู้ว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับเราอยู่ตลอด”

          ผมถามเธอว่า เขียนบันทึกทุกวันมาเป็นเวลา 8 ปี เบื่อไหม    

          “ก็มีบ้าง แต่ถ้ามองในแง่หนึ่ง หนูทำมาขนาดนี้ ก็เหมือนหนูต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น เพราะมีคนรออ่าน มีคนติดตามเรามาตั้งแต่แรก แล้วชื่อเพจคือ เรไรรายวัน เราต้องพยายามทำให้ได้ตามที่ตั้งใจไว้ ตอนนั้นหนูเด็กมาก เหมือนเราเคยสัญญาไว้กับสมุดเล่มหนึ่ง มันเป็นสมุดเล่มหนึ่งที่เขาให้เขียนว่า สัญญาว่าจะเขียนบันทึกทุกวัน เล่าสิ่งต่างๆ ลงในสมุดบันทึก” เรไร หมายถึง ‘สมุดบันทึกวัยเยาว์’ โครงการของคุณตา มกุฏ

          “ตั้งแต่เด็ก หนูรู้สึกว่าต้องทำตามสัญญา ก็ทำมาตลอด แต่หนูก็คิดว่าอีกหน่อยมันอาจไม่ได้เป็นการเขียนที่ยาวขนาดนี้ อาจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ถ้าหนูสามารถเขียนภาษาอื่นได้ ก็อาจจะลองเขียนเป็นภาษาอื่นดูบ้าง”

          “ให้เวลากับมัน 1 ชั่วโมง วันละ 1 ชั่วโมง” ประชาบอกกับผม แต่ประโยคถัดมาเขาบอกลูกสาว “เหมือนกับออกกำลังกาย”

          ผมถามอีกครั้ง กดดันไหม “ก็ต้องมีนะ ความกดดัน” ประชาตอบผม แต่มองไปที่ลูกสาว

          “แต่พอทำทุกวันก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นงาน” เรไร บอก “มันเป็นกิจวัตร ถ้าเราลืมทำ จะรู้สึกไม่ได้แล้ว ต้องทำให้เสร็จ”

          เรไร เคยฝันอยากเป็นสถาปนิก แต่หลังจากพบว่าเส้นทางของการเรียนคณะสถาปัตยกรรม ข้องเกี่ยวกับตัวเลข เธอจึงเริ่มเปลี่ยนความคิด เพราะคณิตศาสตร์คือศัตรูของเด็กหญิง

          “หนูชอบสถาปนิก แต่ถ้ามองปัจจัยที่ต้องเก่งเลข หนูก็ทำไม่ได้ เลยคิดว่ามันอาจจะไม่เหมาะกับเรา เราก็ชอบนะ รู้สึกดีที่เราได้ลองทำ”

          “เหรอ ไม่ชอบสถาปนิกแล้วเหรอ” พ่อหัวเราะ “พ่อนึกว่ายังชอบอยู่”

          “ตอนแรกหนูคิดว่าไม่ต้องเก่งเลขขนาดนั้น นึกว่าแค่วาดรูปเก่งก็โอเคแล้ว”

          “ไม่ต้องห่วง เราจัดการได้ แค่คณิตศาสตร์” เหมือนพ่อหวังให้เธอไปต่อ

          “เลขนี่ไม่ไหว” เรไรบอก จึงหันเหความสนใจไปที่ภาษาเยอรมัน ภาษาจีน และอีกหลายภาษา

เรไรกับประชา Papa You're A Writer!

          วันหนึ่งในห้องเรียนวิชาสังคมศึกษา ครูเล่าประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทย ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 จนมาถึงประวัติศาสตร์แสนเศร้าในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อครูเล่ามาถึงตรงนี้ เรไรคลับคล้ายคลับคลา ได้ยินเรื่องนี้จากที่ไหน     

          “หนูรู้สึกคุ้นๆ มีคนหนีเข้าป่า นักศึกษาหนีเข้าป่า หนูก็เหมือนเคยได้ยินเรื่องนี้มาจากที่ไหน นึกไปนึกมา เรื่องของพ่อเรานี่นา เพราะปกติพ่อแม่เพื่อนๆ จะอายุประมาณ 30-40 แต่พ่อหนูจะอายุ 60 แล้ว เพื่อนหนูก็จะเฉยๆ เพราะพ่อแม่เขาอาจจะเกิดไม่ทันหรือยังเด็กอยู่ แต่หนูก็นึกใจ นี่พ่อช้าน”

          ประชาถาม “วิชาอะไรนะ”

          เรไรตอบ “สังคมศึกษา”

          “เวลาจะสอบ หนูจะให้พ่อติวให้ ปีนี้เป็นปีแรกที่ได้เรียนเกี่ยวกับการปกครอง รู้สึกว่าเนื้อหาหลากหลายขึ้น ปีนี้เป็นปีแรกที่หนูได้เรียนประวัติศาสตร์ประเทศอื่น เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ครูบอกว่าได้ไปประเทศอื่นแล้ว ก่อนหน้านี้เรียนแต่ประวัติศาสตร์ไทย”

          ผมถามประชาว่า เขาจัดการอย่างไรเวลาที่ต้องติววิชาประวัติศาสตร์ให้ลูกสาว เพราะงานเขียนของเขาค้นคว้าและเผยให้เห็นความสัมพันธ์ของงานออกแบบที่ผูกพ่วงกับระบบคิดทางสังคมวัฒนธรรมและการเมือง

          “ก็ลำบากเหมือนกัน เพราะคำตอบของเขามีจำกัดมาก เป็นตัวเลือกที่เด็กต้องตอบแบบนี้เท่านั้น” ประชาตอบ

          “เวลาเจอสิ่งที่ไม่สามารถตอบแบบสำเร็จรูปได้ คุณประชาบอกลูกสาวอย่างไรครับ”

          “ผมบอกตรงๆ …” ประชาตอบ แต่เรไรแทรกขึ้นมาว่า “บางทีหนูก็บอกว่า ประชาไม่ใช่แล้ว ประชาได้อ่านหรือเปล่านี่ บางทีก็อาจจะมีถูกบ้างผิดบ้าง”

          “หมายถึงความคิดพ่อเหรอ” ผมแซว ทั้งสองหัวเราะ

          “เขาจะแอบไปหาแม่” ประชาบอก

          “พ่อก็ไปหาแม่ ไปฟ้องแม่” เรไรไม่ยอม

          “แม่จะแก้ปัญหา ด้วยการบอกว่าให้ตอบแบบนี้สิ” สุดท้ายก็ต้องให้แม่เป็นคนกลาง

          “เคยฟังเรื่องราวของพ่อตอนเขาเป็นวัยรุ่นไหม” ผมถามเรไร เธอยิ้มก่อนจะส่ายหน้า

          “หนูเพิ่งรู้เมื่อไม่นานมานี้ว่าพ่อทำงานอะไร วันนั้นหนูเดินเข้าไปในห้องทำงาน เห็นพ่อกำลังออกแบบปกหนังสือ หนูก็เลย ฮะ! นี่พ่อทำเหรอ พ่อทำได้ยังไง ปกติจะเห็นพ่อเปิดคอมฯ นั่งอ่านบทความ ไม่เคยเห็นพ่อทำงาน”

เรไรกับประชา Papa You're A Writer!

          ปกหนังสือที่เรไรเห็นพ่อกำลังออกแบบ คือหนังสือ ที่นี่…สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แสงดาว เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ช่วงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยยังคงทำงานมวลชน ผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียง

          “เพิ่งรู้เหรอว่าพ่อทำงานได้” ประชาถามลูกสาว

          “รู้ว่าพ่อออกแบบ แต่ไม่คิดว่าพ่อจะวาดหรือทำให้มันเป็นงานออกแบบแบบนั้น ก่อนหน้านี้หนูรู้ว่าพ่อเป็นนักเขียน เห็นหนังสือพ่ออยู่ในบ้านเยอะ แต่รู้สึกว่าไม่ค่อยได้เห็นเวลาพ่อทำงาน”

          ผมบอกเรไรว่า สมัยก่อนจะมีคำที่เขาพูดกันว่า “แม้กระทั่งตอนที่เขานั่งเหม่อมองออกไปนอกหน้าต่าง นั่นก็คือการทำงานของนักเขียน เคยได้ยินคำนี้ไหม”

          เธอหัวเราะ “แต่จริงๆ หนูไม่เคยเห็นประชานั่งทำงานจริงๆ จังๆ ไม่รู้เขาแอบทำหรือยังไง เวลาอยู่บ้านก็ไม่ค่อยได้เข้าไปนั่งกับพ่อในห้องทำงานเท่าไหร่ เวลาพ่ออ่านบทความ หนูก็มองว่าเป็นการอ่านหาความรู้ พ่อเป็นคนชอบเล่า ก็ไม่รู้ว่าทำงานหรือเปล่า”

          นอกจากเป็นพ่อของนักเขียน (เด็ก) ประชาเป็นนักเขียน, บรรณาธิการ, นักวิจารณ์ภาพยนตร์, นักออกแบบ และการ์ตูนนิสต์

          เขาเป็นผู้หนึ่งที่ริเริ่มงานเขียนวิจารณ์งานออกแบบร่วมสมัยในบริบทของสังคมไทย งานเขียนชิ้นสำคัญของเขาปรากฏในคอลัมน์ ‘ดีไซน์คัลเจอร์’ เผยแพร่ในนิตยสาร มติชนสุดสัปดาห์ ก่อนที่ผลงานเหล่านี้ถูกรวบรวมไว้ในหนังสือ 3 เล่มคือ ดีไซน์+คัลเจอร์ เล่ม 1-3 และงานชิ้นสำคัญอีกเล่ม อัตลักษณ์ไทย: จากไทยสู่ไทยๆ งานกลุ่มนี้ถือได้ว่าเป็นการริเริ่มแนวทางการวิจารณ์ ด้วยทฤษฎีแนวสัญศาสตร์โครงสร้าง

เรไรกับประชา Papa You're A Writer!

          นอกจากนี้ ประชายังเป็นการ์ตูนนิสต์ เจ้าของผลงานการ์ตูนที่มีน้ำเสียงเฉพาะ ชุด เรณู ปัญญาดี
การ์ตูนชุดนี้เปิดมิติของงานเขียนวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและวัฒนธรรม ทั้งในแง่รูปแบบและเนื้อหา ส่วนหนึ่งของงานเหล่านี้ถูกรวบรวมไว้ในหนังสือชื่อ เรณู ปัญญาดี เล่ม 1-3

          ในตอนที่ประชาเป็นอดีตสาราณียกร หนังสือ ศึก’17 เขามีอายุมากกว่าลูกสาวในตอนนี้ 2 ปี หนังสืออนุสรณ์โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ปี 2517 มีเนื้อหาอื้อฉาว วิพากษ์ขุดรากระบบการศึกษา จนนำมาซึ่งจุดจบที่การประท้วงโยนหนังสือใส่กองเพลิง รุมทำร้าย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ประธานนักเรียน และนักเรียนอีกหลายคน

          “ตอนนั้นเนื้อหาของหนังสือวิพากษ์ระบบการศึกษาค่อนข้างแรง เป็นการรวบรวมบทความจากที่ต่างๆ บางคนก็เขียนใหม่ ศึก’17 เป็นหนังสืออนุสรณ์ รู้จักไหม” ประชาหันไปถามลูกสาวที่กำลังตั้งใจฟังเรื่องราวของพ่อ เธอส่ายหน้า ก่อนที่เขาจะหันมาบอกผม “ผมไม่เคยให้เขาดูเลย”

          “ตอนนั้นหนังสือถูกเผา ประธานนักเรียนถูกเตะ” ประชาหันไปเล่าให้ลูกสาวฟัง

          “พ่อทำออกมาได้ไง” เรไรถามพ่อ “หมายถึงพ่อพิมพ์เองเหรอ”

          “พ่อก็หาเงินมาพิมพ์”

          “แล้วพ่อพิมพ์ขายเหรอ”

          “ใช่ เขาจ่ายเงินให้ก่อนด้วย”

          “พ่อเล่าเรื่องในป่าให้ฟังบ้างไหม” ผมถามเธอบ้าง

          “มีเรื่องหนึ่งที่พ่อเคยเล่า” ลูกสาวหันไปยิ้มให้พ่อ เหมือนเล่นเกมทวนความจำ เมื่อเห็นพ่อจำไม่ได้ เธอจึงเฉลย “ใบไม้”

          “อ๋อ” พ่อร้องลั่น “จำได้ด้วย พ่อลืมแล้ว ใบไม้เช็ดก้น”

          “พ่อเล่าว่าเข้าไปใช้ชีวิตในป่ายังไง แต่ส่วนมากแม่จะบอกมากกว่า”

          “ตอนนั้นผมต้องเด็ดใบไม้ก่อนเข้าห้องส้วม” ประชาหันมาบอกผม ในฐานะที่ไม่เคยฟังเรื่องเล่านี้พร้อมคนอื่น “เขามีห้องส้วมนะ แต่ต้องเด็ดใบไม้เตรียมไปด้วย”

          “ลำบากจัง” เรไร จินตนาการ

          “ตอนอายุ 19-20 เราสามารถทำอะไรก็ได้” ประชา บอก และย้ำประโยคเดิม “เราสามารถทำอะไรก็ได้จริงๆ ตอนอายุ 19”

เรไรกับประชา Papa You're A Writer!

          ผมชอบคำตอบนี้ของเขา ด้วยเหตุผล 2 ข้อ หนึ่ง มันเปี่ยมพลังของวัยหนุ่มสาว สอง แต่ก็เป็นคำตอบแสนเศร้า เพราะคนเรามีช่วงเวลาที่สามารถทำอะไรก็ได้อย่างจำกัด แต่คิดอีกที ก็ไม่เสมอไป

          ผม: ถ้าถามพ่อได้หนึ่งคำถาม มีอะไรอยากถามพ่อไหม

          เรไร: อยากรู้ว่าจริงๆ แล้วพ่อมีอาชีพในฝันไหม ฝันสูงสุด

          ประชา: ออกแบบบ้าน สถาปนิกไง

          เรไร: จริงเหรอ แล้วทำไมพ่อถึงไม่ทำ

          ประชา: เพราะพ่อทำหนังสือไง ไต่เต้ามาทางนั้น

          ผม: คำถามของเรไรทำให้พี่รู้สึกว่าตอนนี้เรไรกำลังค้นหาอาชีพในอนาคตให้ตัวเอง

          เรไร: หนูไม่รู้ว่าจะเป็นอะไรเลย หนูลองถามเพื่อน ยังไม่มีใครรู้ว่าอยากเป็นอะไร แต่ตอนเด็กๆ หนูอยากเป็นช่างทำผม เพราะช่วงนั้นหนูไปร้านเสริมสวยบ่อย ช่างใช้ไดร์เป่าผมคล่องแคล่ว มันดูน่าสนุก

          ผม: เป็นตัวของตัวเองมาก ที่อยากเป็นช่างทำผม

          เรไร: ตอนอนุบาล 3 ในหนังสือรุ่น เขาจะถามว่าแต่ละคนอยากเป็นอะไร ทุกคนอยากเป็นหมอ พยาบาล ทหาร ตำรวจ มีคนเดียวอยากเป็นช่างทำผม

          ผม: พี่เคยอ่านบทสัมภาษณ์ของเรไร เรไรเคยอยากเป็นหมอด้วย

          เรไร: หนูว่าเป็นเพราะเคยได้ยินมา แต่พอโตขึ้น เราก็รู้ว่าหมอต้องเรียนอะไรบ้าง เรียนหนัก เราก็ไม่ได้รู้สึกอยากเป็นขนาดนั้นแล้ว

          หนึ่งวันหลังจากที่เรานัดสัมภาษณ์กัน เรไรเขียนบันทึกลงในเพจ เรไรรายวัน ในบันทึกสั้นๆ ประจำวัน เธอเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวาน เธอได้ออกงานคู่กับพ่อ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยๆ เรไรย้อนกลับไปในความทรงจำวัยเด็ก ในวันที่เธอกับพ่อไปงานแต่งงาน วันนั้น “ฉันแต่งตัวสวย พ่อแต่งตัวหล่อ เมื่อไม่นานมานี้รูปคู่ที่ไปงานแต่งงานที่ว่าก็เด้งเตือนความทรงจำขึ้นมาในเฟซบุ๊กของแม่”

          เรไรเขียนเล่าอีกว่า หลังจากหมดคาบเรียนสุดท้าย เธอรีบเก็บสมุดหนังสือและเครื่องเขียนใส่เป้ วันนี้เธอกับพ่อมีนัดให้สัมภาษณ์คู่กันในฐานะนักเขียน

          “พี่จาก TK Park อุทยานการเรียนรู้ เป็นคนมาชวนเราสองคนพูดคุย คำถามส่วนใหญ่ก็เกี่ยวกับการอ่านการเขียน ตอนเด็กเท่าฉันพ่อทำอะไรบ้าง และให้ฉันถามอะไรพ่อก็ได้ 1 คำถามที่อยากถาม นับเป็นอีกวันที่สนุกมาก”

เรไรกับประชา Papa You're A Writer!


เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Readtopia ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศการอ่านของไทย’ (2566)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก