ตามการคาดการณ์ขององค์การสหประชาชาติ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ศตวรรษที่เรากำลังอาศัยอยู่นี้ คือ ‘ศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ’ อย่างแท้จริง ข้อมูลบ่งชี้ว่าจำนวนประชากรโลกที่อายุมากกว่า 65 ปี มีจำนวนประมาณร้อยละ 10 ส่วนประเทศไทยนั้นได้แซงหน้าค่าเฉลี่ยไปอยู่ที่ร้อยละ 15 เรียบร้อยแล้ว และจากการคาดการณ์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ภายในปี พ.ศ. 2573 ประชากรผู้สูงวัยกลุ่มที่อายุมากกว่า 60 ปี จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25.1
สังคมมีแนวโน้มจะเกิดการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับประชากรที่อาศัยอยู่เป็นแน่ ซึ่งในปัจจุบันถ้าลองหันมองรอบๆ เราจะพบเห็นความใส่ใจผู้สูงวัยมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ อย่างนโยบายรัฐ ไปจนถึงเรื่องในระดับบุคคลอย่างสถานที่ในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นห้องสมุด
จากการประชุมวิชาการระดับชาติ PULINET ครั้งที่ 13 ที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อบรรยายที่หลากหลาย ปรากฏหนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง นั่นคือหัวข้อ ‘ห้องสมุดกับสังคมผู้สูงวัย’ โดย รศ.ดร.ภญ.รัตติมา จีนาพงษา ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร
อาจารย์รัตติมา คือผู้ตั้งต้นไอเดียให้ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยวางแผนปรับห้องสมุดให้พร้อมสำหรับผู้สูงวัย ผ่านหลักการตามหลักสากลและความตั้งใจที่เต็มเปี่ยม แต่รายละเอียดเบื้องหลังคืออะไรบ้าง นั่นคือคำถามที่เราสงสัย จนนำมาสู่การพูดคุยกัน
ห้องสมุดสำหรับผู้สูงวัยสำคัญอย่างไร และทำไมเราถึงควรหันมาสนใจเรื่องนี้ วันนี้เราจะมาหาคำตอบไปพร้อมกัน
จุดเริ่มต้นของการสร้างห้องสมุดเพื่อผู้สูงวัยนั้นเกิดขึ้นตอนไหน
ถ้าตอบตามหลักการ หลายคนน่าจะทราบอยู่แล้วว่า ประเทศไทยและสังคมโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย แต่ถ้าตอบตามมุมมองส่วนตัว ดิฉันคิดว่าความพยายามในการออกไอเดียสร้างห้องสมุดเพื่อผู้สูงวัยเกิดจากการสังเกตตัวเองและคนรอบข้างด้วย ดังนั้น พอเห็นความสำคัญและเริ่มมีไอเดียตรงนี้ บวกกับหน้าที่การงานที่ดิฉันรับผิดชอบดูแลห้องสมุดอยู่แล้ว ไอเดียการทำห้องสมุดสำหรับผู้สูงวัยจึงเกิดขึ้น
ในมุมมองของดิฉัน ห้องสมุดควรเข้ามามีบทบาทสำคัญกับชีวิตของผู้สูงอายุ เพราะถ้ามองคนวัยทำงานที่อายุ 60 ปี เมื่อเกษียณแล้ว หลังจากนั้นจะทำอะไรกันต่อ?
นี่เป็นคำถามที่ดิฉันพูดคุยกับคนรอบตัวจนได้พบว่า หลายคนมากที่ยังไม่มีแผน ทั้งที่ถ้าดูจากความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบัน มนุษย์สามารถมีอายุยืนยาวได้ถึง 100 ปี ดังนั้นแล้วอีก 40 ปีที่เหลือ ผู้สูงอายุที่ยังไม่มีแผนจะทำยังไงกันดีท่ามกลางความเสื่อมและโรคภัยไข้เจ็บที่กำลังเข้ามาเมื่ออายุมากขึ้น ช่องว่างตรงนี้เองที่ดิฉันคิดว่าห้องสมุดสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้
เพราะในมุมมองของดิฉัน ห้องสมุดไม่ใช่แค่สถานที่ที่คนจะมายืมหนังสือเพียงอย่างเดียวอีกแล้ว แต่ห้องสมุดจะเป็นศูนย์บริการสารสนเทศที่คนสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหนห้องสมุดสามารถต้อนรับได้ทั้งนั้น เพียงแต่ในกรณีนี้ ที่เราสนใจกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้นเป็นพิเศษ เพราะการเรียนรู้ของผู้สูงอายุก็จะไม่เหมือนกับกลุ่มคนวัยอื่นทั่วไป ห้องสมุดจึงต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของพวกเขาตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
ในกรณีผู้สูงอายุ การเรียนรู้หรือกิจกรรมที่ห้องสมุดมีให้จะไม่ใช่การเรียนรู้เชิงวิชาการเพื่อนำไปประกอบอาชีพในระยะยาวเหมือนวัยรุ่นอีกแล้ว แต่จะเป็นการเรียนรู้ที่เน้นให้ในแต่ละวันมีกิจกรรมที่เสริมสุขภาพกาย ใจ และสมองไม่ให้เสื่อมตามกาลเวลา รวมถึงการฝึกทักษะพื้นฐานด้านเทคโนโลยีเพื่อการใช้ชีวิตประจำวันและสามารถปรับตัวให้ทันกับโลกยุคใหม่ได้ โดยถ้าทำได้สำเร็จ ดิฉันคิดว่าห้องสมุดจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางของการช่วยเหลือสังคมทางอ้อมได้ด้วย เพราะหากเราช่วยยืดระยะเวลาให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่แข็งแรงออกไปได้นานเท่าไร เราก็สามารถช่วยลดภาระและปัญหาที่จะเกิดขึ้นในแต่ละครอบครัว รวมไปถึงภาระค่าใช้จ่ายด้านการสาธารณสุขของประเทศได้มากขึ้นเท่านั้น
ทุกประเด็นที่เกี่ยวกับสังคมผู้สูงวัยจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลต่อภาพรวมของสังคมทั้งหมด เพราะจำนวนประชากรในกลุ่มนี้นับวันจะมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จุดเริ่มต้นและความตั้งใจของดิฉันในการทำห้องสมุดให้เป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุจึงตั้งต้นมาจากจุดนี้
ก่อนไปถึงไอเดียว่าทำอย่างไรได้บ้าง อยากให้อาจารย์ช่วยลงลึกถึงประเด็นสังคมผู้สูงวัยในไทยให้ฟังหน่อย
ถ้ายึดตัวเลขตามหลักวิชาการ นิยามคำว่า ‘สูงวัย’ ปัจจุบัน ในประเทศไทยจะหมายถึง ‘คนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี’ โดยคำที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ตามหน้าสื่ออย่าง ‘สังคมสูงอายุ (Aged Society)’ จะหมายถึงสังคมที่มีอายุประชากร 60 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 10 หรือสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมด
แต่รู้ไหมว่าในประเทศไทย จริงๆแล้วเราอยู่เลย ‘สังคมสูงอายุ (Aged Society)’ ไปแล้ว แต่เรากำลังจะเป็น ‘สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Completely Aged Society)’ หรือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 20 หรือสังคมที่มีอายุประชากร 65 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 14 ของประชากร โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติบอกว่าเรามีผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณกว่าร้อยละ 18 แล้ว และมีแนวโน้มจะมากขึ้นไปอีกในอนาคต
ดังนั้น ด้วยเทรนด์ของสังคมที่กำลังก้าวไปทางนี้ นี่จึงเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมจะต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคต ตั้งแต่นโยบายรัฐที่ต้องเอื้อประโยชน์แก่ผู้สูงอายุมากขึ้น ไปจนถึงเรื่องปัจจัยแวดล้อมในชีวิตประจำวันอย่างห้องสมุด เป็นต้น
โดยส่วนตัวอาจารย์พบเหตุการณ์ที่เป็นแรงบันดาลใจในความพยายามปรับเปลี่ยนครั้งนี้ไหม
ด้วยความที่จริงๆ แล้วดิฉันเป็นอาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ ทำให้ได้ใกล้ชิดกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สุขภาพเป็นประจำอยู่แล้ว จึงพอจะเห็นภาพชัดเจนว่า ความชราสามารถทำให้สุขภาพของคนหนึ่งคนค่อยๆ เสื่อมถอยลงไปได้ยังไงบ้าง รวมถึงผลกระทบต่อคนรอบข้าง ยกตัวอย่างเช่น คนที่เกษียณอายุราชการหากไม่มีกิจกรรมใดๆ เลย เราจะเห็นความเสื่อมของร่างกายอย่างชัดเจนภายในเวลาเพียง 1 ปี และการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกายที่จะเสื่อมตามมาหรือเกิดคู่ขนานกันคือ ความเสื่อมของระบบหัวใจและหลอดเลือด ทางเดินอาหาร กล้ามเนื้อ และสมอง ดังนั้น การทำให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง จะช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกายได้ ดังนั้น ดิฉันจึงคิดว่าเราต้องเริ่มลงมือช่วยเหลือสังคมในเรื่องนี้อย่างจริงจัง
จากประสบการณ์ที่อาจารย์ได้ศึกษามา ได้เกิดเป็นแผนงานห้องสมุดอย่างไรบ้าง
กลุ่มเป้าหมายตามที่แผนงานของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวรได้วางไว้ คือ ผู้สูงอายุที่อายุระหว่าง 60 – 80 ปี เพราะเรามองว่ายังเป็นวัยที่สามารถออกมาเรียนรู้และทำกิจกรรมใหม่ๆ ได้ โดยที่ยังไม่มีปัญหาสุขภาพที่ส่งผลด้านกายภาพของร่างกาย ซึ่งเมื่อพิจารณาจากช่วงวัยแล้ว เราสามารถแบ่งแนวทางการปรับปรุงห้องสมุดเพื่อผู้สูงวัยเป็น 2 ด้านใหญ่ๆ ตามลักษณะและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายคือ ลักษณะทางกายภาพ และลักษณะทางการบริการ
โดยเราต้องตั้งต้นจากความเข้าใจก่อนว่า ผู้สูงอายุนั้นต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างไร ตั้งแต่เรื่องของสายตา การได้ยิน การเคลื่อนไหว ประสาทสัมผัสไปจนถึงการที่ระบบต่างๆ ภายในร่างกายที่ทั้งหมดจะเสื่อมถอยลงตามอายุที่มากขึ้น ดังนั้นในแง่ของลักษณะทางกายภาพของห้องสมุด เราจึงต้องออกแบบหรือปรับปรุงให้สอดคล้องกับเรื่องนี้
อย่างในกรณีของสถานที่ ดิฉันคิดว่าองค์ความรู้ด้าน Universal Design นั้นตอบโจทย์ กล่าวคือเป็นการดัดแปลงห้องสมุดให้รองรับกับความเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของผู้สูงอายุ เช่น ปัญหาด้านสายตาเราต้องปรับป้ายประกาศต่างๆ ให้มีขนาดตัวหนังสือและใช้สีที่ผู้สูงอายุมองเห็นได้ชัดเจน การจัดให้มีราวจับ และทางลาดคู่กับบันได หรือปุ่ม SOS ในห้องน้ำและในบริเวณที่ผู้สูงอายุจะเข้าไปใช้บริการ รวมไปถึงความพร้อมของบุคลากรด้านทักษะการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแก่ผู้สูงอายุกรณีที่เกิดการเจ็บป่วยหรือมีอาการจากโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ และแนวปฏิบัติด้านการส่งต่อไปยังสถานบริการใกล้เคียง เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราตั้งใจทำเพื่อให้พร้อมต่อการให้บริการผู้สูงอายุ
ส่วนในแง่ของการบริการ ในส่วนนี้ทางห้องสมุดสามารถสร้างระบบที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้สูงอายุได้หลากหลายวิธี อย่างในเรื่องของสายตาของผู้สูงอายุ การปรับห้องสมุดให้บริเวณนั่งอ่านมีแสงสว่างมากขึ้นเป็นพิเศษก็สามารถช่วยได้ หรือการสั่งซื้อหนังสือที่มีขนาดตัวอักษรใหญ่ หนังสือเสียง ไปจนถึงบริการแว่นขยายก็สามารถทำได้เช่นกัน
หรืออย่างในกรณีของการเข้าถึง การปรับเปลี่ยนห้องสมุดให้เหมาะสมกับผู้สูงวัยก็ไม่ได้จำเป็นต้องจบแค่ในห้องสมุดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เราสามารถสร้างระบบให้ผู้สูงอายุเข้าถึงห้องสมุดได้ผ่านปัจจัยภายนอก เช่น การทำงานร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างจุดรถรับ-ส่ง หรือ บริการรถรับ-ส่งให้สามารถเดินทางมาที่ห้องสมุดได้โดยอย่างสะดวกสบาย หรือการทำบริการ Book Delivery ส่งหนังสือให้ถึงบ้านแก่ผู้สูงวัยที่ไม่สามารถออกจากบ้านได้จริงๆ เป็นต้น
มีอีกอย่างหนึ่งที่ห้องสมุดมีความพร้อมและทำได้ทันทีคือ การสร้างทักษะด้านไอทีที่จำเป็นขั้นพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตประจำวันให้แก่ผู้สูงอายุ เนื่องจากสังคมไทยมีแนวโน้มจะเป็นสังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ การซื้อสินค้า หรือการให้บริการสาธารณะต่างๆ อยู่ในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น ดังนั้น หากผู้สูงอายุเข้าถึงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ไม่แตกต่างจากคนหนุ่มสาว ก็จะช่วยให้ท่านยังรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและไม่ได้ถูกทอดทิ้งแต่อย่างใด
มีขั้นตอนไหนที่อาจารย์มองว่าเป็นความยากในการเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า
จริงๆ แล้วในแง่ของการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพอย่างที่กล่าวไปไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด เพราะแค่มีแผนงาน ปรับงบประมาณที่เหมาะสม และบุคลากรทุกคนในองค์กรมุ่งให้บริการไปในทิศทางเดียวกันก็สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ แต่สิ่งที่ดิฉันมองว่ายากที่สุด คือ การสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นกับตัวผู้สูงอายุเองมากกว่า
เพราะไม่ว่าเราจะจัดสถานที่ กิจกรรม หรือบริการได้ดีแค่ไหน ทั้งหมดนี้ไม่มีใครที่สามารถเอาไปยัดเยียดให้กับผู้สูงอายุได้ หากท่านไม่ประสงค์จะรับ การเรียนรู้หรือการเข้ามารับบริการทั้งหมดล้วนต้องเกิดขึ้นจากพวกท่านเป็นพื้นฐาน ต้องเกิดจากความตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลสุขภาพหลังเกษียณอายุจากวัยทำงาน ในส่วนของห้องสมุด เราก็จะทำงานเชิงรุกในการรณรงค์ให้ผู้สูงอายุเห็นความสำคัญและตระหนักในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อที่ท่านจะได้ทราบว่า ห้องสมุดสามารถเป็นช่องทางหนึ่งที่เข้าไปมีส่วนช่วยในเรื่องการดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงยังเป็นพื้นที่กิจกรรมที่ให้ผู้สูงอายุสามารถมาพบปะผู้คนและแลกเปลี่ยนความคิดได้ด้วย
พื้นที่กิจกรรมและแลกเปลี่ยนความคิดที่ว่านั้นสำคัญอย่างไร
เหมือนที่หลายคนทราบว่า หนึ่งในสิ่งที่เสื่อมถอยลงไปตามวัยคือ การทำงานของสมอง ซึ่งในแง่หนึ่ง การอ่านหนังสือนั้นสามารถช่วยชะลอความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ได้อยู่แล้ว แต่อีกแง่หนึ่งที่เราคิดว่ามีประโยชน์มากๆ คือ ไอเดียการชวนผู้สูงอายุมาเรียนรู้สิ่งต่างๆ หรือแบ่งปันประสบการณ์ผ่านกิจกรรมร่วมกัน
เพราะนอกจากจะได้ฝึกสมองตามกิจกรรมที่ได้ออกแบบ การร่วมกิจกรรมยังส่งผลดีในแง่อื่นกับผู้สูงอายุด้วย อย่างการที่ผู้สูงอายุมีจุดเด่นอยู่ที่ประสบการณ์อันมีค่าที่มีอยู่ในตัวอยู่แล้ว การให้แต่ละคนมาแบ่งปันเรื่องราวระหว่างกัน หรือถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้แก่เด็กรุ่นหลังย่อมทำให้เขายังคงรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองด้วย นำมาซึ่งความมีชีวิตชีวาที่ยังคงอยู่ไม่หายไปไหน
แต่ถ้าลองนึกตามดูในมุมกลับกัน หลายคนอาจจะเคยเห็นผู้สูงอายุที่พอเกษียณแล้วจะไม่ออกไปไหน ไม่พบปะผู้คน จนการรับรู้ถึงคุณค่าในตัวเองค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ จากคนที่เคยเป็นหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชา กลายเป็นคนที่ด้อยคุณค่า ดังนั้น การพาตัวเองออกมาร่วมกิจกรรมเพื่อป้องกันความรู้สึกตรงนี้จึงเป็นอีกหนึ่งข้อสำคัญ เพื่อไม่ให้รู้สึกเหี่ยวเฉาหลังเกษียณมากเกินไป
เหมือนกิจกรรมทำให้เกิดสังคม สังคมทำให้ผู้สูงอายุมีชีวิตชีวาขึ้น
ว่าอย่างนั้นก็ได้ คงเหมือนกับผู้สูงอายุหลายคนที่พอเกษียณแล้วก็จะพาตัวเองไปเจอเพื่อนฝูง เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองหม่นหรือเหี่ยวเฉา การที่ห้องสมุดหรือสถานที่อื่นๆ จะมีบริการที่ช่วยตรงจุดนี้จึงเป็นไอเดียที่ดีไม่น้อยเลย ผู้สูงอายุจะได้รู้สึกถึงตัวตนและคุณค่าในตัวเองที่ยังคงอยู่
ถ้ามีห้องสมุดไหนที่อยากทำตาม อาจารย์มีอะไรอยากฝากถึงพวกเขาไหม
(นิ่งคิด) ขั้นตอนแรกที่อาจารย์คิดว่าสำคัญมาก คือ ห้องสมุดควรเริ่มจากการตระหนักก่อนว่าเราคือ พื้นที่ในการส่งเสริมการเรียนรู้กับคนทุกเพศทุกวัย เมื่อเราตระหนักตรงจุดนี้ได้แล้ว เราจะเข้าใจและเห็นความสำคัญไปเองว่าทำไมเราต้องปรับปรุงห้องสมุดเพื่อให้สอดคล้องกับสังคมผู้สูงวัยที่กำลังเกิดขึ้น
หลังจากนั้นก็จะเป็นเรื่องของการหาความรู้และกลั่นกรองออกมาเป็นวิธีการแล้ว ซึ่งดิฉันคิดว่าในแต่ละที่ก็จะมีความต้องการหรือธรรมชาติที่ต่างกัน แต่ดิฉันก็เข้าใจว่าไม่ใช่ทุกห้องสมุดที่สามารถปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงบริการได้ทั้งหมดในเร็ววัน อย่างกรณีของดิฉันเองหลายอย่างที่อยากทำก็ยังอยู่ในแผนดำเนินการ แต่ก็อยากบอกว่าอย่างน้อยการที่พวกเราเริ่มคิดถึงสังคมผู้สูงอายุและพยายามเปลี่ยนแปลง แค่นั้นถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีแล้ว ในเมื่อประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ ดิฉันเชื่อว่าการเริ่มต้นจะไม่เสียเปล่า ในวันหนึ่งห้องสมุดของทุกคนจะเปลี่ยนแปลงไปให้เหมาะกับทุกคนได้แน่ๆ
เพราะสำหรับดิฉัน ผู้สูงอายุก็เปรียบดั่งหนังสือที่มีชีวิตและทรงคุณค่า พวกเขาล้วนผ่านประสบการณ์ชีวิตด้านต่างๆ มา ดังนั้นการจะปล่อยให้หนังสือนี้ค่อยๆ หายไป หรือปล่อยให้องค์ความรู้เหล่านั้นหล่นหาย ดิฉันมองว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย เหมือนกับการที่ปล่อยให้ห้องสมุดสามารถเข้าถึงได้โดยกลุ่มคนแค่เพียงบางกลุ่ม
ดังนั้น ในเมื่อมองไปที่อนาคตแล้วเห็นดังนี้แล้ว ดิฉันจึงอยากเชิญชวนให้ชาวห้องสมุดมาปรับเปลี่ยนและเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้สูงอายุกัน ให้ห้องสมุดและหนังสือได้กลับมามีชีวิตด้วยชีวิตที่ควรค่าแก่การรักษาไว้
แล้วในภาพใหญ่ล่ะ คนทั่วไปควรตระหนักถึงสังคมผู้สูงอายุอย่างไรบ้าง
เนื่องจากสังคมผู้สูงอายุมีผลกระทบต่อทุกมิติในสังคม ดิฉันเลยมองว่าไม่ใช่แค่ห้องสมุดหรอกที่สามารถทำเรื่องนี้ได้ จริงๆ ถ้ามาลองคิดดูดีๆ ทุกๆ สถานที่และทุกๆ งานที่ทุกคนทำ มันมีมุมที่สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดรับเข้ากับสังคมผู้สูงอายุได้ไม่มากก็น้อย ทุกคนสามารถสร้างประโยชน์ได้ หรือต่อให้ยังไม่เจอแนวทาง การหันไปสนใจผู้สูงอายุรอบตัวและช่วยให้เขาตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพก็เป็นหนึ่งอย่างที่ทุกคนสามารถทำได้แล้ว
หรือถ้านึกวิธีการไม่ออกจริงๆ ก็พากันมาที่ห้องสมุดก็ได้ พื้นที่แห่งนี้พร้อมต้อนรับคนทุกเพศทุกวัย ห้องสมุดคือส่วนหนึ่งของสังคมอยู่แล้ว (ยิ้ม)