ซากทัศนะเก่าในวรรณกรรมเยาวชน

2,264 views
12 mins
July 9, 2021

          เหตุการณ์เสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ชายชาวแอฟริกัน-อเมริกัน จากการขาดอากาศหายใจ เนื่องจากการเข้าควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2020 ได้ปลุกกระแสต่อต้านการเหยียดผิว และการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อคนผิวสีทั่วโลกให้ปะทุขึ้นอีกครั้ง

          ไม่เฉพาะคนผิวสีเท่านั้น แต่ชาวเอเชียก็เช่นเดียวกัน เหตุการณ์ชายชาวไทยวัย 84 ปีที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา ถูกชายผิวขาวคนหนึ่งจู่โจมทำร้ายอย่างรุนแรงในวันที่ 28 มกราคม 2021 และเสียชีวิตลงในอีก 2 วันต่อมา ปลุกกระแสการรณรงค์ต่อต้านการทำร้ายชาวเอเชีย ผู้คนในโลกออนไลน์พร้อมใจกันติดแฮชแท็ก #AsianAreHuman

          การเหยียดผิวและเชื้อชาติ (racism) เป็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่ฝังรากลึกมายาวนาน แม้ในยุคหนึ่งจะไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ทัศนคติและพฤติกรรมที่สะท้อนการเหยียดเพื่อนมนุษย์ที่มีความแตกต่างหลากหลาย กลายเป็นสิ่งที่สังคมไม่อาจยอมรับได้

          สิ่งที่น่าสนใจคือ สื่อในอดีตจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรือภาพยนตร์ เมื่อนำกลับมาดูหรืออ่านใหม่ในเวลานี้ กลับมีเนื้อหาที่ขัดแย้งกับค่านิยมของยุคสมัย            ไม่เว้นกระทั่งในวรรณกรรมเยาวชน ซึ่งเป็นประตูบานแรกๆ มีช่วยบ่มเพาะความคิดและตัวตนของเด็กๆ

จาก ‘บ้านเล็กในป่าใหญ่’ สู่การระงับการตีพิมพ์ ‘ดร.ซูสส์’

          เมื่อช่วงต้นปี 2021 ที่ผ่านมา บริษัท ดร.ซูสส์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ (Dr. Suess Enterprise) ได้ประกาศหยุดตีพิมพ์หนังสือชุด ‘ดร.ซูสส์’ (Dr.Seuss) ของ ธีโอดอร์ ซูสส์ ไกเซล (Theodore Seuss Geisel) นักเขียนการ์ตูนชื่อดังชาวอเมริกันผู้ล่วงลับ จำนวน 6 เล่ม เนื่องจากมีเนื้อหาที่แสดงถึงการเหยียดผิวและเชื้อชาติ

          หนังสือชุด ดร.ซูสส์ เป็นหนึ่งในหนังสือภาพการ์ตูนสำหรับเด็กที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน มีการแปลและตีพิมพ์ในหลายประเทศทั่วโลก ด้วยเรื่องราวที่สนุกสนาน ตัวการ์ตูนที่มีเอกลักษณ์ และการใช้คำคล้องจองที่ทำให้อ่านตามและจดจำได้ง่าย

          ตัวอย่างของเนื้อหาและภาพประกอบ ซึ่งนำไปสู่การพิจารณาและระงับการตีพิมพ์ เช่นเรื่อง ‘And to think that I saw it on Mulberry Street’ มีภาพวาดคนเอเชียสวมหมวกทรงแหลม ถือตะเกียบ และรับประทานอาหารจากชาม ส่วนในเรื่อง ‘If I Ran the Zoo’ มีภาพวาดชายชาวแอฟริกันเท้าเปล่าสองคน สวมกระโปรงที่ทำด้วยหญ้าและผูกผมไว้เหนือศีรษะ

          บริษัท ดร.ซูสส์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ ผู้ดูแลผลงานดังกล่าว ให้ความเห็นว่า “การเลิกตีพิมพ์ และขายหนังสือเป็นเพียงส่วนหนึ่งในความมุ่งมั่นของเรา เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัท ดร.ซูสส์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จะเป็นบริษัทที่เคียงข้างและสนับสนุนทุกครอบครัว ทุกชุมชน ที่มีความหลากหลายแตกต่างกัน”

ตัวอย่างของหนังสือในชุด ‘ดร.ซูสส์’ (Dr.Seuss) ที่ถูกระงับการตีพิมพ์
ตัวอย่างของหนังสือในชุด ‘ดร.ซูสส์’ (Dr.Seuss) ที่ถูกระงับการตีพิมพ์
Photo: And to think that I saw it on Mulberry Street , If I Ran the Zoo

          ประเด็นของเนื้อหาเกี่ยวกับการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติในหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งถูกหยิบยกมาพูดคุย และกรณีของ ดร.ซูสส์ ก็ไม่ใช่กรณีแรกที่เกิดขึ้น เพราะหากย้อนไปในปี 2018 สมาคมห้องสมุดอเมริกัน (American Library Association: ALA) มีมติเป็นเอกฉันท์ จากการโหวตโดยคณะกรรมการสมาคมด้านวรรณกรรมเยาวชน (ALSC) ให้เปลี่ยนชื่อรางวัลเหรียญลอรา อิงกัลส์ ไวลเดอร์ (Laura Ingalls Wilder Award) ซึ่งมอบแก่วรรณกรรมเด็กและเยาวชนมาตั้งแต่ปี 1954 เป็นรางวัลมรดกวรรณกรรมสำหรับเด็ก (Children’s Literature Legacy Award) โดยอ้างถึงทัศนคติทางวัฒนธรรมที่ล้าสมัยต่อชนพื้นเมืองและคนผิวสี ในผลงานของเธอ

          ลอรา อิงกัลส์ ไวลเดอร์ (Laura Ingalls Wilder) คือเจ้าของผลงานเขียนชุด ‘บ้านเล็กในป่าใหญ่’ (Little House in the Big Woods) เรื่องราวของเด็กหญิงที่ชื่อลอราและครอบครัวของเธอ ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนกับภัยธรรมชาติ และแสดงถึงวิถีชีวิต สังคม ความรักในครอบครัว ท่ามกลางยุคการบุกเบิกดินแดนตะวันตกของอเมริกา มีการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในเวลาต่อมา และเป็นหนึ่งในวรรณกรรมเยาวชนที่ครองใจนักอ่านทั่วโลก

หนังสือ ‘บ้านเล็กในป่าใหญ่’ ของลอรา อิงกัลส์ ไวลเดอร์ หนึ่งในวรรณกรรมเยาวชนขวัญใจนักอ่านทั่วโลก
หนังสือ ‘บ้านเล็กในป่าใหญ่’ ของลอรา อิงกัลส์ ไวลเดอร์ หนึ่งในวรรณกรรมเยาวชนขวัญใจนักอ่านทั่วโลก
Photo: HarperCollins Publishers

          ในหนังสือเล่มนี้ มีเนื้อหาหลายจุดที่สะท้อนทัศนคติเหยียดผิวและเชื้อชาติ เช่น ประโยคที่ว่า “อินเดียนแดงที่ดี มีแต่อินเดียนแดงที่ตายแล้วเท่านั้น” หรือประโยคตอนต้นของหนังสือที่บรรยายถึงพื้นที่ที่ลอราอาศัยอยู่ว่า “ไม่มีบ้าน ไม่มีถนน ไม่มีผู้คน มีเพียงอินเดียนแดงเท่านั้น” โดยในภายหลังมีการเปลี่ยนคำว่า “ผู้คน” (People) เป็น “ผู้ตั้งถิ่นฐาน” (Settles)

          แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนชื่อรางวัล มาจากการสำรวจความคิดเห็นของบรรณารักษ์ที่เป็นสมาชิกของสมาคม ซึ่งมีกว่า 300 คนที่ลงความเห็นว่าควรเปลี่ยนชื่อ และมีราว 150 คนที่เห็นว่าไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน เพราะมองว่าเป็นการตัดสินคนจากอดีต โดยใช้บรรทัดฐานของปัจจุบันซึ่งอาจไม่ยุติธรรมนัก

          ALSC กล่าวในถ้อยแถลงสั้นๆ หลังจากการลงคะแนนว่า “การตัดสินใจนี้พิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ผลงานของไวลเดอร์ มีเนื้องานที่แสดงออกถึงทัศนคติแบบเหมารวม ซึ่งไม่สอดคล้องกับค่านิยมหลักของ ALSC ในเรื่องการไม่แบ่งแยก คุณธรรม ความเคารพ และการตอบสนองต่อสังคม” โดยก่อนหน้านี้ ALSC ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกชี้แจง ที่ระบุว่างานเขียนของไวลเดอร์ มีเนื้อหาที่ส่งผลให้มีความรู้สึกต่อต้านชาวพื้นเมืองและคนผิวดำ

          อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนในครั้งนี้เป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อรางวัลเท่านั้น ไม่ได้เป็นความพยายามกีดกันหนังสือเล่มดังกล่าวแต่อย่างใด พวกเขาเข้าใจว่าหนังสือชุดนี้มีความหมายที่ลึกซึ้งต่อผู้อ่าน เช่นเดียวกับความเห็นของนักวิชาการที่ศึกษางานเขียนของไวลเดอร์ ซึ่งมองว่า งานเขียนชุดดังกล่าวไม่ควรถูกมองข้าม แต่ควรได้รับการกลั่นกรอง และถือเป็นโอกาสแจ้งให้เด็กๆ ทราบถึงบริบทของเรื่องราวที่เกิดขึ้น

          สอดคล้องกับที่ The Laura Ingalls Wilder Legacy and Research Association ออกมาแถลงว่า “เราเชื่อว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อวงการวรรณกรรมที่จะกวาดล้างชื่อของเธอ ราวกับว่ามุมมองในหนังสือของเธอไม่เคยมีอยู่จริง มุมมองเหล่านั้นสะท้อนให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ว่าอดีตเป็นอย่างไร และเราในฐานะสังคม ต้องก้าวไปข้างหน้าด้วยมุมมองที่ครอบคลุมและหลากหลายมากขึ้น”

          นอกจากกรณีที่ว่ามา ยังมีหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชนอีกหลายเล่มที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีเนื้อหาสื่อถึงการเหยียดเชื้อชาติและสีผิว เช่น ในสวนลับ (The Secret Garden) ดร.ดูลิตเติ้ล (Doctor Dolittle) โรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์ (Charlie and the Chocolate Factory) รวมถึงปีเตอร์แพน

หนังสือ ‘ในสวนลับ’ (The Secret Garden) โดย ฟรานเซส ฮอดจ์สัน เบอร์เนทท์ แต่งขึ้นในปี 1911
หนังสือ ‘ในสวนลับ’ (The Secret Garden) โดย ฟรานเซส ฮอดจ์สัน เบอร์เนทท์ แต่งขึ้นในปี 1911
Photo: Houghton Library
หนังสือ ‘โรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์’ (Charlie and the Chocolate Factory) ผลงานของ โรอัลด์ ดาห์ล ซึ่งได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในเวลาต่อมา
หนังสือ ‘โรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์’ (Charlie and the Chocolate Factory) ผลงานของ โรอัลด์ ดาห์ล ซึ่งได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในเวลาต่อมา Photo: www.bookdepository.com

          แม้กระทั่งเรื่อง การผจญภัยของฮัคเกิลเบอร์รี ฟินน์ (The Adventures of Huckleberry Finn) บทประพันธ์ของมาร์ค ทเวน (Mark Twain) เรื่องราวการผจญภัยของเพื่อนรักต่างวัยและสีผิว ก็ยังถูกโจมตีว่ามีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ในปี 2016 โรงเรียนบางแห่งในรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ได้พิจารณาให้ระงับการสอนวรรณกรรมดังกล่าว หลังจากมีผู้ปกครองร้องเรียนว่าเนื้อหาในหนังสือมีการใช้คำพูดเชิงเหยียดเชื้อชาติ แต่อีกมุมหนึ่งก็มีคนที่มองว่า แทนที่จะนำหนังสือดังกล่าวออกจากชั้นเรียน ทำไมไม่ลองใช้โอกาสนี้ในการอภิปรายหรือถกเถียงกันในประเด็นดังกล่าว เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่นักเรียนแทน

หนังสือ ‘การผจญภัยของฮัคเกิลเบอร์รี ฟินน์’ (The Adventures of Huckleberry Finn) และ ตัวอย่างภาพประกอบที่มีปัญหา วาดโดย E.W.Kemble ในหนังสือฉบับตีพิมพ์ปี 1884
หนังสือ ‘การผจญภัยของฮัคเกิลเบอร์รี ฟินน์’ (The Adventures of Huckleberry Finn) Photo: E. W. Kemble (1861–1933) – illustrator
และ ตัวอย่างภาพประกอบที่มีปัญหา วาดโดย E.W.Kemble ในหนังสือฉบับตีพิมพ์ปี 1884 Photo: Edward Winsor Kemble

เมื่อการปิดกั้น ไม่ได้ทำให้ปัญหานั้นหายไป

          นาเช โจนส์ (Nashae Jones) จาก HuffPost เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “ฉันเป็นแม่และนักการศึกษาผิวดำ นี่คือเหตุผลที่ฉันปล่อยให้ลูกๆ อ่านหนังสือเหยียดเชื้อชาติ” เธอเล่าถึงการอ่านหนังสือเหล่านี้ร่วมกับลูกๆ ของเธอ ระหว่างอ่าน เธอจะหยุดและพูดคุย ซักถามถึงประเด็นในหนังสือ ซึ่งเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการให้เด็กๆ คิดอย่างมีวิจารณญาณเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาอ่าน “การเหยียดเชื้อชาติไม่ได้หายไปเพราะเราหลับตา และแสร้งทำเป็นว่าไม่มีอยู่จริง เราต้องติดอาวุธให้ลูกหลานของเราด้วยเครื่องมือในการสังเกต แล้วต่อสู้กับมัน”

          ในทำนองเดียวกัน ลินด์เซย์ แพทริค (Lindsey Patrick) บรรณารักษ์ของห้องสมุดประชาชนแนชวิลล์ (Nashville Public Library) อ่านเรื่องบ้านเล็กในป่าใหญ่ ร่วมกับลูกสาวตัวน้อยของเธอ ก่อนจะชวนคุยว่าการเล่าถึงชนพื้นเมืองในหนังสือของไวลเดอร์นั้นไม่ถูกต้องอย่างไร เธอเขียนในบล็อกของห้องสมุดว่า ลูกของเธอตระหนักดีว่าหนังสือเล่มนี้มีทัศนคติแบบเหมารวม ‘อินเดียนแดง’ ในเชิงที่น่ารังเกียจมากกว่าตัวละครผิวขาว

          “บางทีลูกสาวของฉันอาจไม่ได้ก้าวผ่านความเข้าใจเรื่องสิทธิพิเศษของคนผิวขาวอย่างถ่องแท้ แต่ตอนนี้เธอสามารถระบุได้ดีขึ้น เมื่อมีคนกำลังทำเรื่องไม่ดีต่อบุคคลอื่น อันเนื่องมาจากความแตกต่างทางเชื้อชาติหรือวัฒนธรรม” ลินด์เซย์บอกว่าวิธีการแบบนี้ ทำให้ลูกสาวของเธอมีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อชาวพื้นเมืองในประเทศด้วย

          จะเห็นได้ว่า กลไกสำคัญอย่างหนึ่งในการจัดการกับหนังสือเด็กและเยาวชนที่อาจมีเนื้อหาไม่เหมาะสม คือการมีผู้ใหญ่คอยช่วยชี้แนะ ชวนอภิปรายและเรียนรู้ไปพร้อมกัน ซึ่งช่วยให้เด็กๆ ได้ทำความเข้าใจและฝึกใช้วิจารณญาณในการวิเคราะห์ว่าอะไรถูกหรือผิดด้วยตัวเอง

          ในส่วนของการจัดการหนังสือเหล่านี้ในห้องสมุด มีวิธีคิดและแนวทางที่น่าสนใจเช่นกัน เดโบราห์ คาลด์เวลล์ สโตน (Deborah Caldwell Stone) ผู้อำนวยการสมาคมห้องสมุดอเมริกันเพื่อเสรีภาพทางปัญญา (American Library Association’s Office for Intellectual Freedom) มองว่าการจัดเก็บหนังสือของห้องสมุดนั้นมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทว่าในมุมของเธอ เป็นการยากที่จะจินตนาการถึงหมวดหมู่หนังสือสำหรับเด็กและเยาวชนที่ไม่มีรายชื่อหนังสือยอดนิยมเหล่านั้น

          “เราอาจทำการประเมินหนังสือเหล่านั้นใหม่ รวมถึงการจัดอันดับในรายการหนังสือแนะนำ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ผู้คนควรหยุดอ่านหรือโละหนังสือเหล่านี้ออกไปจากคอลเลกชัน”

          เธอยังเสริมอีกว่า การอภิปรายเกี่ยวกับหนังสือ ดร.ซูสส์ รวมถึงหนังสือคลาสสิกยอดนิยมอื่นๆ เป็นโอกาสสำหรับบรรณารักษ์ในการประเมินหนังสือที่อยู่ในรายการหนังสือแนะนำสำหรับเด็กและเยาวชน “ฉันไม่คิดว่าหนังสือเก่าควรจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ขณะที่รายการหนังสือแนะนำ ควรมีการขยายขอบเขตออกไปเพื่อให้ครอบคลุมเนื้อหาของคนอเมริกันผิวสี รวมถึงกลุ่มที่เป็นคนชายขอบ” สโตนกล่าว พร้อมย้ำว่า ห้องสมุดมีหน้าที่ส่งเสริมความเข้าใจในวัฒนธรรม และควรเป็นที่หลบภัยสำหรับผู้อ่านที่มีภูมิหลังแตกต่างกันทุกคน

          ด้านสมาคมห้องสมุดอเมริกัน มองว่าแทนที่จะเอาหนังสือเหล่านั้นออกไปจากห้องสมุด บรรณารักษ์ควรมีวิธีนำเสนอเนื้อหาที่สร้างสรรค์ ขณะที่ห้องสมุดบางแห่งอาจย้ายหนังสือที่ไม่เหมาะสมไปอยู่ในหมวดหมู่หนังสือสำหรับผู้ใหญ่ หรือเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ ในฐานะ ‘วัตถุทางประวัติศาสตร์’ ที่สะท้อนเรื่องราวและทัศนคติในช่วงเวลาที่หนังสือเหล่านั้นตีพิมพ์

          “หนังสือเหล่านั้นจะยังอยู่ในห้องสมุดหรือไม่ ขึ้นอยู่ความต้องการของผู้อ่าน ว่าหนังสือได้สื่อสารและยังคงเป็นที่นิยมของชุมชนหรือไม่ และหากบรรณารักษ์ตัดสินใจว่าหนังสือเล่มนั้น ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนอีกต่อไปแล้ว ก็อาจถูกนำออกจากการให้บริการของห้องสมุด”

          เคตลิน ฟลิกค์ (Kaitlin Frick) บรรณารักษ์เยาวชนแห่งห้องสมุดดาเรียน (Darien Library) เสนอความเห็นไว้ในบล็อกของ ALSC ว่า จากกรณีของ ดร.ซูสส์ ไม่ได้แปลว่าห้องสมุดจะต้องดึงหนังสือเหล่านี้ออกจากชั้นทั้งหมด แต่มองว่าบรรณารักษ์ในฐานะคนที่มีบทบาทสำคัญในการแนะนำหนังสือ ต้องมีความระมัดระวังและตระหนักถึงประเด็นเหล่านี้มากขึ้น

          เธอมองว่า ถ้าหนังสือคลาสสิคเล่มนั้นๆ ไม่ตอบโจทย์ยุคสมัยอย่างที่มันเคยเป็น หรือดูไม่เข้ากับเล่มอื่นๆ ในคอลเลกชัน แปลว่ามันอาจหมดสิ้นอายุขัยแล้ว ในทางกลับกัน ถ้าบรรณารักษ์เห็นว่าหนังสือเล่มนั้นยังมีประโยชน์หรือคุณค่าพอให้เรียนรู้ อาจทำเป็นคู่มือหรือไกด์ไลน์สำหรับนักอ่าน เพื่อช่วยแนะแนวทางการพูดคุยเกี่ยวกับการเหยียดเชื้อชาติที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเหล่านี้

เนื้อหาที่ปลูกฝังความแตกต่างหลากหลาย

          แม้วรรณกรรมเยาวชนหลายเล่มจะมีปัญหาดังที่กล่าวมา แต่ในมุมกลับกัน ก็มีผลงานอีกจำนวนหนึ่งที่ส่งเสริมความเข้าใจในความแตกต่างหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ ‘เซซามี สตรีท’ (Sesame Street) รายการโทรทัศน์ที่มีตัวละครหลักเป็นตัวการ์ตูนหุ่นเชิด ก่อนจะผลิตเป็นหนังสือการ์ตูนสำหรับเด็กในเวลาต่อมา ตัวละครหลักอย่าง เอลโม่ (Elmo) และเพื่อนๆ ของเขา แสดงให้เห็นว่าถึงแม้ภายนอกเราอาจดูแตกต่างกัน แต่ภายในนั้นไม่ต่าง เราทุกคนล้วนมีความต้องการ ความรู้สึก และความปรารถนาเหมือนกัน 

          เช่นเดียวกับนิทานภาพเรื่อง ‘The Journey’ ผลงานของฟรานเชสกา แซนนา (Francesca Sanna) ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ ‘รอนแรม’ ถ่ายทอดเรื่องราวของผู้ลี้ภัย ผ่านความสัมพันธ์อันอบอุ่นระหว่างแม่ลูกคู่หนึ่งที่ต้องรอนแรมอย่างไร้จุดหมาย ชวนให้ขบคิดถึงความหมายของคำว่า ‘บ้าน’ และสิทธิในการมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย อันเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน

คลิปวิดีโอเล่านิทานภาพเรื่อง ‘The Journey’

          อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือเรื่อง ‘Little Leaders: Bold Women in Black History’ หนังสือประกอบภาพที่นำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงผิวสี 40 คนในประวัติศาสตร์อเมริกา ผู้เป็นตัวแทนของผู้หญิงที่มีความกล้าหาญ เป็นตัวของตัวเอง และสร้างคุณค่าบางอย่างแก่สังคม นอกจากเนื้อหาที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ทำให้ตระหนักในพลังและคุณค่าของตัวเองแล้ว ยังสะท้อนประเด็นความเท่าเทียมทางเพศได้อย่างแหลมคมอีกด้วย

          ท้ายที่สุดแล้ว แม้การส่งเสริมให้เด็กอ่านหนังสือจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ใช่ว่าหนังสือทุกเล่มจะมีเนื้อหาที่เหมาะสมกับเด็กทุกคนเสมอไป การเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้อ่าน ตั้งคำถาม และทำความเข้าใจ โดยมีผู้ใหญ่เป็นคนชวนสนทนาแลกเปลี่ยนอย่างมีเหตุผล น่าจะเป็นประโยชน์ต่อพวกเขามากกว่าการปิดกั้น และนำไปสู่การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน


ที่มา

ALSC Blog. Talking with Young Children (0-5) about Race. [Online]

ALSC Blog. The Problem with Classic Literature. [Online]

Ayren Jackson-Cannady. Warning: These Classic Books Have Major Racial Stereotypes. [Online]

Danika Ellis. RACIST KIDS’ BOOKS RAISE RACIST KIDS: READING ISN’T NEUTRAL. [Online]

Gabby Cullen. 29 Books for Kids About Racism, Inequality & Injustice in America. [Online]

Kat Chow. Little House On The Controversy: Laura Ingalls Wilder’s Name Removed From Book Award. [Online]

Merva Hinton. Little House, Big Problem: What To Do with “Classic” Books That Are Also Racist. [Online]

Moriah Balingit. School district weighs ban of ‘Mockingbird,’ ‘Huckleberry Finn’ after complaint. [Online]

Nashae Jones. I’m A Black Mother And Educator. Here’s Why I Let My Kids Read Racist Books. [Online]

Scottie Andrew, CNN. Libraries oppose censorship. So they’re getting creative when it comes to offensive kids’ books. [Online]

The Guardian. Laura Ingalls Wilder’s name removed from book award over racism concerns. [Online]

The Washington Post. Many classic children’s books have troubling themes or language. Should we read them anyway? [Online]

วจนา วรรลยางกูร. ‘รอนแรม’ สัมผัสหัวใจผู้ลี้ภัยผ่านนิทาน. [Online]

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก