หากเดินเข้าไปในโรงหนังต่างจังหวัด ยิ่งในจังหวัดเล็กๆ ที่ถูกนิยามให้เป็นเมืองรองอย่างพะเยา อาจได้เห็นโปรแกรมหนังที่แทบไม่มีความหลากหลาย นอกจากหนังกระแสหลักที่หาดูได้ทั่วไป
น่าเสียดายแทนวัยรุ่นพะเยา แม้จะใช้ชีวิตอยู่ในเมืองที่มีมหาวิทยาลัย ซึ่งสีสันของวัยรุ่นน่าจะได้ฉายแสงและเรียนรู้จากกิจกรรมที่หลากหลาย แต่ในพะเยากลับไม่มีพื้นที่สร้างสรรค์ให้พวกเขาเลย จน โป้ง – ปวินท์ ระมิงค์วงศ์ อดีตคนที่เคยคลุกคลีกับวงการมาร์เก็ตติ้ง ผู้โยกย้ายมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่นี่ เห็นว่าเขาต้องลุกขึ้นมาสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ให้วัยรุ่นเมืองนี้สักที
จากความรักในการดูหนังของตัวเอง บวกกับความตั้งใจอยากมีสถานที่ให้ลูกศิษย์ของเขาได้เรียนรู้อย่างหลากหลาย โป้งจึงเริ่มสร้างพื้นที่ทางศิลปะที่มีชื่อแสบๆ ว่า ‘อย่าเห็นแก่ตัวสถาน’ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก่อนจะย้ายมาปักหลักในตึกแถวขนาด 2 คูหาที่รายล้อมด้วยโรงเรียนและสถาบันกวดวิชา ปลุกปั้น PYE Space ให้เป็นพื้นที่ฉายหนังนอกกระแสและจัดนิทรรศการศิลปะในตัวเมืองพะเยา จนกลายเป็นขวัญใจของนักเรียนนักศึกษา
ความทะเยอทะยานของอาจารย์หนุ่มจากเชียงใหม่ ยังพาให้เขาสู้ต่อกับภารกิจพาหนังนอกกระแสไปหาชุมชน โดยนำไปฉายที่โรงหนังเก่าอีก 2 แห่งที่ถูกทิ้งร้างอย่างพะเยารามาและเมืองทองรามา
ถามว่าทำไปทำไม ทำแล้วชุมชนเข้าใจไหม มีรายได้เท่าไหร่ อาจไม่สำคัญเท่าความเชื่อของโป้งที่ว่า การฉายหนังเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่ทรงพลังได้นั่นเอง
พื้นที่ฉายหนังก็ต้องการอิสระ และความหลากหลาย
จุดเริ่มต้นของการฉายหนังอิสระที่ PYE Space เกิดจากความชอบส่วนตัวของโป้งที่เป็นนักดูหนังตัวยง ที่พอมาอาศัยอยู่ในจังหวัดพะเยา กลับพบว่าที่พะเยามีโรงหนังน้อยมาก และหนังที่นำเข้ามาฉายก็ไม่หลากหลายพอ ทำให้บางครั้งเขาต้องขับรถ 3 ชั่วโมงเพื่อไปดูหนังที่เชียงใหม่แทน
เมื่อได้สร้าง PYE Space ที่แรกเริ่มเดิมทีเป็นพื้นที่จัดนิทรรศการศิลปะของนักศึกษามหาวิทยาลัยพะเยา จึงอยากเติมการเป็นพื้นที่ดูหนังไปด้วย เพื่อเติมความหลากหลายให้คนพะเยา โดยเฉพาะหนังแนวสารคดี โดยหนังที่นำมาฉายก็จะเป็นทั้งหนังจาก Documentary Club หรือเทศกาลภาพยนตร์จากหลายๆ ประเทศ ทั้งไต้หวัน ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ที่คงไม่ได้เห็นในโรงภาพยนตร์ทั่วไป ยิ่งในต่างจังหวัดด้วยแล้ว
ความสำคัญของการฉายหนังที่หลากหลาย คือการเปิดโลกทัศน์และบทสนทนาที่หลากหลายตามไปด้วย นอกจากคนดูจะได้มีทางเลือกและได้เห็นเรื่องราวใหม่ๆ มากขึ้น นักเรียน นักศึกษา หรือคนที่สนใจวงการภาพยนตร์ก็ได้เห็นภาพว่าหนังไม่จำเป็นต้องเล่าถึงแค่เรื่องความรัก เรื่องตลก เรื่องผี แต่ยังเล่าเรื่องชีวิต วิทยาศาสตร์ ความอดอยาก หรือแม้แต่เรื่องสิ่งแวดล้อม
เพราะสังคมที่ความหลากหลายของภาพยนตร์หายไป อาจทำให้จินตนาการคับแคบตาม
หนังที่คนทั่วไปคิดว่ายาก ยิ่งสร้างให้เกิด ‘บทสนทนา’
เพราะรู้ดีว่าสารคดีหรือภาพยนตร์ที่หยิบมาฉายนั้นเป็นสิ่งแปลกใหม่ของคนในพื้นที่ ทั้งประเด็นที่หนักและเคี้ยวยาก ทั้งกลวิธีการเล่าเรื่องที่อาจแตกต่างจากความคุ้นชินของคนทั่วไป ทำให้ PYE Space เห็นว่าการคุยต่อหลังหนังจบลงก็เป็นส่วนสำคัญ
วิธีการที่ PYE Space ใช้เพื่อให้ภาพยนตร์สารคดีที่นำเข้ามาฉายซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าดูยาก เข้าใจยาก มาทำให้เป็นเรื่องใกล้ตัว คือการวางแผนชวนผู้กำกับหรือคนที่เกี่ยวข้องกับหนังเรื่องนั้นๆ มาพูดคุยกัน ซึ่งโป้งจะวางแผนหลังรู้ว่าจะได้นำหนังเรื่องไหนมาฉาย เช่น ชวนคนในสายโปรดักชันที่กลับมาทำงานที่พะเยามาคุยเรื่องเบื้องหลังวิธีการทำหนัง หรือหนังที่มีความเป็นการเมืองมากๆ ก็จะเชิญอาจารย์สายการเมืองมาพูดคุยกัน หรือบางทีก็พาหนังซึ่งเป็นผลงานทีสิสของนักศึกษาในจังหวัดอื่นๆ มาฉายแล้วชวนนักศึกษาเจ้าของหนังมาพูดคุยที่พะเยาพร้อมออกค่าใช้จ่ายให้ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกัน
ซึ่งแม้บางครั้งจะมีคนดูอยู่เพียงน้อยนิด แต่บทสนทนาที่ได้มาก็คุ้มค่าและสร้างแรงบันดาลใจให้ PYE Space ยังดำเนินต่อไปได้
จาก PYE Space สู่พื้นที่ฉายหนังอิสระทั่วเมืองพะเยา
การเดินทางเพื่อนำภาพยนตร์นอกกระแสไปหาผู้คนไม่ได้จบแค่ที่ PYE Space เท่านั้น แต่ยังเดินทางไปฉายในพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้เข้าถึงคนหลายๆ กลุ่มมากขึ้น เพราะโป้งเข้าใจถึงข้อจำกัดของ PYE Space ที่ดูเป็นพื้นที่ส่วนตัวเกินไป จนเคยเกิดเหตุการณ์มีคนถามว่า จะเข้าไปในพื้นที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือเปล่า
ภารกิจฉายภาพยนตร์ในพะเยาจึงค่อยๆ ขยับขยายไปที่โรงภาพยนตร์เก่าของพะเยาทั้งสองแห่งซึ่งถูกทิ้งร้าง ทั้งพะเยารามา และเมืองทองรามา ซึ่งอยู่ไม่ไกลจาก PYE Space มากนัก และยังเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนเดินเข้าหาได้แบบไม่เคอะเขิน ทำให้การฉายหนังนอกกระแสนั้นขยับเข้าใกล้ชุมชนอีกนิด จนเกิดเป็นภาพยายจูงหลานมาดู หรือครอบครัวยกขบวนมานั่งชมด้วยกัน
โดยการฉายหนังที่ขยับขยายมายังพื้นที่นอก PYE Space ก็จะมีทั้งแบบฉายฟรี หรือเก็บเงินในราคาย่อมเยา นอกจากนี้แต่ละสถานที่ก็มีผลต่อการฉายหนัง ถ้าเป็นหนังที่ต้องใช้สมาธิหรือความคิด ก็เน้นไปยังที่ที่เป็นส่วนตัว เช่นใน PYE Space แต่ถ้าเป็นหนังแอ็กชัน หรือบรรยากาศการดูร่วมกันมีผลต่ออารมณ์ของเรื่อง ก็ขยับขยายไปฉายในที่โล่งกว้างอย่างเมืองทองรามา
เพราะนี่คือการสร้างคอมมูนิตี้ให้หนังนอกกระแสสามารถเข้าถึงทุกคนได้ การโยกย้ายตัวเองไปอยู่ในพื้นที่หลากหลายก็ทำให้เข้าถึงคนได้มากขึ้นนั่นเอง
ถ้าขับเคลื่อนด้วยกำไรมันยาก ลองขับเคลื่อนด้วยความสนุกได้ไหม
เป็นเวลากว่า 10 ปีที่โป้งพยายามสร้างชุมชนศิลปะทั้งจัดนิทรรศการ ทำเทศกาลศิลปะ และที่สำคัญคือการนำหนังนอกกระแสมาฉายที่พะเยา ซึ่งมีต้นทุนที่กลายเป็นบทเรียนสำคัญในชีวิต
หลังจากเปิด-ปิดพื้นที่ไปกว่า 4 ครั้ง จากปัญหาเงินทุนที่เขาต้องแบ่งเงินเดือนจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมาใช้สร้างพื้นที่ ไหนจะช่วงเวลาที่ขอถอยจากวงการปั้นสเปซไปสองปี เพราะหมดไฟจากความรู้สึกที่ทำไปมีแต่ขาดทุน สุดท้ายเขาจึงค่อยๆ ตกตะกอนว่าต้องหล่อเลี้ยงความสนุกไว้ให้ได้ โดยไม่ต้องสนเรื่องต้นทุนกำไรมากนัก แต่ให้พออยู่ได้
“เรากลับมาเปิดพื้นที่ได้อีกครั้งก็เริ่มต้นที่ความสนุก ก็เลยทำทุกอย่างที่เรายังรู้สึกสนุก มันอาจไม่ได้กำไร เรารู้อยู่แล้ว แต่ให้ฝืนไปทำสิ่งที่ไม่สนุกแต่ได้กำไร ก็มีแต่แย่ เราเลยเลือกที่จะขับเคลื่อนด้วยความสนุกดีกว่า”
การฉายหนังนอกกระแสในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นความท้าทาย ที่คนทำต้องหล่อเลี้ยงหัวใจของตัวเอง เพื่อรอคอยวันที่คอมมูนิตี้เล็กๆ จะค่อยๆ เติบโตตามกาลเวลา
Tiny Space, Big Learning โดย ili.U คอนเทนต์ซีรีส์จากเพจที่สนใจ Conscious Lifestyle ชวนไปสำรวจพื้นที่การเรียนรู้ขนาดเล็กที่เกิดจากคนตัวเล็กๆ ทั่วประเทศ ใส่ใจเรื่องการศึกษาในแบบฉบับของตัวเอง และพยายามขยายขอบเขตการเรียนรู้ไปจากห้องเรียนที่เคยชิน พื้นที่เหล่านี้มีอะไรให้เรียนรู้ แล้วคนทำได้บทเรียนก้อนใหญ่อะไรจากการสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียน พบกันได้ทุกวันพฤหัสที่ 2 และ 4 ของเดือน