‘พูด’ เรื่องยากให้ฟังง่าย การสื่อสารความรู้ที่เริ่มต้นจากความสงสัยและการตั้งคำถาม

1,319 views
12 mins
August 17, 2022

          ปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกออนไลน์ยุคปัจจุบัน คลิปวิดีโอคือวิธีการยอดนิยมในการสื่อสารเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นจากสื่อกระแสหลัก หรือแม้กระทั่งจากมือสมัครเล่น ผู้ชมคลิปวิดีโอผ่านสื่อก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ บทความ “55+ Video Marketing Facts, Stats & Trends in 2022” ได้กล่าวถึงสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับคลิปวิดิโอ เช่น งานวิจัยของ wyzowl ประมาณการไว้ว่าคลิปวิดีโอจะครอบครอง 82% ของทราฟฟิกในโลกออนไลน์ในปี 2022 การสำรวจของ Renderforest พบว่ากลุ่มที่ใช้เวลาดูคลิปวิดีโอนานกว่า 1 ชั่วโมงขึ้นไปมีจำนวน 23% และตัวเลขนี้ก็ได้เพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี หากความสำเร็จของการใช้คลิปวิดีโอวัดได้จากยอดแชร์ คลิปวิดีโอถูกแชร์บ่อยครั้งกว่าข้อความและภาพนิ่งถึง 1,200% ตัวเลขนี้จึงเป็นหลักฐานยืนยันว่าคลิปวิดีโอกลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในโลกโซเชียลมีเดีย และผลักดันให้เกิดอาชีพที่เรียกกันว่า VDO Content Creator หรือ นักสร้างสรรค์วิดีโอ

          ทีมสร้างสรรค์วิดีโอที่กำลังมาแรงในบ้านเราคือ เพจ ‘พูด’ (Pūd) ด้วยยอดผู้ติดตามเพจมากกว่า 800,000 คน หลังจากเปิดเพจได้เพียงปีกว่า ทีมพูดตั้งใจสื่อสารเรื่องยากซับซ้อนให้เข้าใจได้ในไม่กี่นาทีด้วยการเล่าผ่านวิดีโอที่มีสไตล์ภาพแบบขาดๆ  เกินๆ พร้อมเสียงบรรยายกวนๆ ชวนปวดหัว องค์ประกอบทั้งหมดกลายเป็นเอกลักษณ์ที่ผู้ชมตั้งตาคอยว่า พูดจะเล่าเรื่องอะไรให้ฟังอีก หลายตอนมีเนื้อหาซับซ้อน ตั้งแต่ประเด็นการเมือง ประวัติศาสตร์ยาวนานเป็นพันๆ ปี แนวคิดหรือศัพท์วิชาการที่เข้าใจยาก รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายระดับชาติที่หลายคนหลงลืมไปว่าต้องเข้าไปร่วมกำหนดนโยบายในฐานะพลเมือง ทีมพูดดึงประเด็นเหล่านี้ให้กลับเข้ามาอยู่ในความสนใจของผู้คนในช่วงที่สังคมกำลังเต็มไปด้วยความไม่เข้าใจและความขัดแย้งทางการเมือง พูดจับมือและจูงเราออกเดินทางไปในความสงสัยใคร่รู้ เปิดประตูด้วยการตั้งคำถามและพูดคุยกันฉันเพื่อนเพื่อหาคำตอบไปด้วยกัน เราจึงตั้งใจนัดคุยกับพูดถึงวิธีทำงานสื่อสารความรู้ในแบบฉบับของพวกเขา ณ บ่ายวันหนึ่งของต้นฤดูฝน

ขอทุนคือธงแรก แม้ล้มเหลวแต่ไม่เลิกรา

          ทีมพูดประกอบไปด้วย น่อม เอมี่ แชมป์ ภาณุ และภาวิชช ทั้งหมดรู้จักกันตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย นอกจากภาวิชชที่เป็นน้องของภาณุอยู่แล้วและเรียนจบทางด้านบัญชี เมื่อเรียนจบก็แยกย้ายจนกระทั่งกลับมารวมตัวกันอีกครั้งในนาม พูด (Pūd) ทีมสร้างสรรค์วิดีโอซึ่งเล่าเรื่องยากๆ ให้สั้น กระชับ ด้วยภาษาพูดเหมือนกำลังนั่งคุยกับเพื่อน ตั้งคำถามและตอบภายใน 1-2 ประโยคแรกของการเปิดคลิป จากนั้นจึงตามด้วยการอธิบายและเชื่อมร้อยแต่ละหน่วยความรู้ ร้อยเรียงจนกลายเป็นภาพใหญ่ ลดทอนความฟูมฟายในเนื้อหาและวิธีสื่อสาร จนกลายเป็นคลิปวิดีโอที่มียอดผู้ติดตามหลายแสนคน

          “ช่วงแรกทำกันเอง 2 คน คือ ภาณุกับน่อม แล้วเพิ่มเป็น 4 คน คือ แชมป์กับเอมี่ ตอนแรกคิดว่าจะหาทุนสนับสนุนจากกองทุนที่รัฐบาลเจียดงบประมาณมาให้ หลังจากไม่ได้ทุนก็ยังเดินหน้าทำต่อเพราะกระแสตอบรับดีและเสียดายยอดผู้เข้าชม คลิปแรกเปิดตัวช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 ยอดคนดู 7 หมื่นวิวในหนึ่งอาทิตย์ เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ศิลป์เกี่ยวกับโมเนต์ (Claude Monet, 1840-1926) และอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism) ซึ่งเป็นหัวขบวนของศิลปะสมัยใหม่ หรือ Modern Art ที่ต่อสู้กับศิลปะจารีตที่ปกคลุมยุโรปมาอย่างยาวนาน

          ดูเผินๆ เป็นคลิปที่พูดถึงประวัติศิลปินเอกของโลก แต่ใจความระหว่างบรรทัดกลับชักชวนให้คนมีความหวังในการปรับเปลี่ยนระบอบที่แน่นหนาคร่ำครึ และ “ผู้มาก่อน” แม้จะสื่อสารผ่านเนื้อหาที่มาจากสายศิลปะ แต่ผู้ชมเข้าใจ “สารที่ซ่อนอยู่” จนได้รับการตอบรับจากผู้ชมที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับแวดวงศิลปะจำนวนมาก

          “คลิปถัดมาเป็นเรื่อง ไวรัส (และทำไมเราถึงออกลูกเป็นตัว?) ยอดผู้ชม 200,000  ครั้ง หลังปล่อยคลิปไม่กี่วัน ซึ่งปีนั้นเริ่มพบผู้ติดเชื้อโควิดตั้งแต่ต้นปี จนมาหนักช่วงปลายปี ส่วนคลิปที่คนดูลดลงมาก็ยังอยู่ในระดับหลักหมื่น ทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 หลังจากไม่ได้ทุน ทีมพูดคุยกันว่าจะลองควักทุนตัวเองทำกันไปก่อน จึงให้ภาวิชชมาช่วยดูแลเรื่องเงินที่ต้องการคนช่วยมองและวิเคราะห์สถานะทางการเงินของทีมในช่วงกลางปี 2564 ซึ่งนอกจากดูเรื่องบัญชียังช่วยภาณุเขียนบทด้วยเพราะกลางปี 2564 เป็นช่วงที่ภาณุงานเยอะจนเขียนบทไม่ทัน ระหว่างทางมีข้อเสนอแนะจากในเพจเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการพัฒนางาน ซึ่งทีมเห็นตรงกันว่าหัวใจของการเล่าเรื่องคือ “เส้นเรื่อง” หรือ Storyline หากเส้นเรื่องที่หยิบมาเล่าสื่อสารได้ตรงกับความกระหายอยากรู้ของสังคม ยอดผู้ชมจะค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันการให้ข้อมูลต้องไม่ล้นเกินจนผู้ชมสำลัก บางเรื่องคนรู้มาแล้ว แต่ถ้าหยิบมาเล่าในแบบพูดอาจช่วยเพิ่มความน่าสนใจ”

          ทีมพูดทำงานต่อจากปลายปี 63 อีกประมาณ 6 เดือน ระหว่างทางมีผู้สนับสนุนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาตลอด มีทำสัญญากันเป็นระยะ จนเจอผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่ทำให้ไฟในการทำงานโดยเฉพาะอุดมการณ์เรื่องการเปลี่ยนโครงสร้างสังคมด้วยความรู้ลุกโชนแรงขึ้น

‘พูด’ (Pūd) เรื่องยากให้ฟังดูง่าย เสียงจากคนรุ่นใหม่ที่อยากให้สังคมรับฟัง

จับมือกับ Common School

          หลังจากพลาดทุนของภาครัฐก็ยังปล่อยคลิปวิดีโอออกมาต่อเนื่อง เริ่มมีรายได้เข้ามาประปรายจากการทำคลิปวิดีโอให้หน่วยงานที่ติดต่อเข้ามา ระหว่างทำคลิปวิดีโอเผยแพร่ไปทั้งที่ยังไม่รู้อนาคตการทำงาน ราวกลางปี 2564 ก็ได้รับการติดต่อจากทีม Common School ให้ทีมพูดทำวิดีโอ โดยเห็นผลงานจากคลิปวิดีโอเป็นคลิปว่าด้วยเรื่อง รัฐชาติ ที่นำเสนอแบบง่ายๆ แต่ช่วยให้คนดูเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องรัฐชาติในระดับลึกซึ้ง คนที่ไม่มีพื้นฐานทางการเมืองการปกครองก็เข้าใจได้ จึงร่วมงานกับทีม Common School  โดยทีมพูดรับโจทย์จาก Common School แล้วนำมาย่อยและถ่ายทอดเป็นวิดีโอ เผยแพร่ทั้งสองทางคือ เพจ Common School และ เพจพูด ทำให้ยอดผู้เข้าชมเพจ Common School สูงขึ้น และเพจพูดเป็นที่รู้จักมากขึ้น เป็นการทำงานร่วมกับกลุ่มที่มีอุดมการณ์เดียวกันในลักษณะพาร์ทเนอร์ร่วมอุดมการณ์ซึ่งสำคัญมากกว่ารายได้ที่ได้รับจากการทำงานเพียงอย่างเดียว

          “การร่วมงานกับ Common School เป็นช่วงเวลาที่คนจำพูดได้มากขึ้น เป็นช่วงพีคของพูด ได้ทำคลิปวิดีโอประเด็นร้อนแรงในการเมืองไทยมากขึ้นตามโจทย์ของ Common School จำนวน 2 เรื่องต่อเดือน ซึ่งเป็นจำนวนที่กำลังดีสำหรับเรา แม้ว่าก่อนหน้านั้นเราทำประเด็นการเมืองอยู่บ้าง แต่ก็เป็นประเด็นที่เราสนใจหรืออินในทีม เช่น ประท้วงยังไงให้ชนะ? : หลัง 14 ตุลาโมเดล / ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่ได้เลือกตั้ง! / แกนนำ 6 ตุลา ถูกปล่อยตัวได้ยังไง? / “คนดี” ก็แก้ปัญหาคอร์รัปชันไม่ได้ป้ะ? / ประเทศที่คนแก้รัฐธรรมนูญได้? / ประเทศที่ไม่มีตำรวจ หรือแม้แต่ประมุข!? 6 เดือนที่ทำงานร่วมกันเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ถ้าทำงานร่วมกันนานกว่านี้ พูดอาจจะเอาแต่ใจได้น้อยลง แต่ไม่ได้ทำให้เสียความเป็นพูด คือต่อให้ทำเรื่องการเมือง 2 เรื่องต่อเดือนก็ยังคงเป็นสไตล์ของพูด

          แม้ไม่ได้ร่วมงานกันแล้วก็ยังติดต่อกันเสมอ เพราะทาง Common School ทำงานด้านนโยบายมีแหล่งข้อมูลเยอะ บางทีทางพูดก็ไปถามหรือขอข้อมูล อย่างเรื่องกฎหมาย ข้อมูลจากภาคสนาม หรือเชิญมาเป็นแขกใน พูดมากพอดแคสต์ ก่อนร่วมงานกับ Common School  ทีมพูดก็รับทำวิดีโอให้ TUMS (Thammasat University Marxism Studies) เป็นคลิปวิดีโอที่อธิบายว่า ทำไมดอกกุหลาบสีแดงจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับเผด็จการ ซึ่งจุดเริ่มต้นเกิดจากนักศึกษาธรรมศาสตร์รณรงค์ใช้ดอกกุหลาบสีแดงมอบให้กันในงานรับปริญญา ทีมพูดไปค้นคว้าที่มาของสัญลักษณ์กุหลาบแดง ระหว่างค้นก็พบว่าเนื้อหามันลึกมาก ทีมพูดมีหน้าที่ถ่ายทอดเป็นวิดีโอให้สนุก จนกลายเป็นเกณฑ์ในการเลือกรับงานในช่วงต่อมา”

เคมีตรงกันชวนให้ออกแบบวิธีทำงานที่สนุก

          “ปัจจุบันยอดผู้ติดตามเพจพูดอยู่ที่ 800,000 กว่าคน ยอดผู้ติดตามใน YouTube ประมาณ 2 แสนกว่า ยังไม่นับรวมยอดติดตามจากพอดแคสต์ ซึ่งจะมีเนื้อหาพิเศษ หรือ Exclusive Content ให้กับสมาชิกที่สนับสนุนพูดผ่านเงินค่าสมัครสมาชิก แม้รายได้จากค่าสมาชิกยังไม่สูงมากนัก แต่รายได้จากการจ้างทำคลิปวิดีโอของหน่วยงานที่ซื้อวิธีนำเสนอแบบพูดถือว่าพอเลี้ยงทีมได้ แว็บแรกของการเริ่มทำงานร่วมกันจึงกลายเป็นเรื่องของการเลือกกันมาแล้วระหว่างคนจ่ายเงินกับทีมพูด ถ้าจะจ้างพูดก็ต้องรู้จักแนวของพูดเป็นตัวกรองขั้นแรก ถ้าชะตาต้องกันจึงนำมาสู่การพัฒนาบทวิดีโอให้กับสินค้า เพราะถ้าเราทำวิดีโอแล้วสินค้าของลูกค้าขายไม่ได้ เขาก็คงไม่ยินดีที่จะจ่ายเงิน หรือหน่วยงานไหนที่ไม่แน่ใจว่าทีมพูดจะพัฒนางานสร้างสรรค์ให้ได้หรือไม่ ลองหอบงานมาคุยกับทางทีมก่อนได้ คือจะพิจารณาว่ามันทำให้งานสนุกได้มั้ยเป็นหลัก ไม่ได้ปิดตัวเองอยู่กับความสนใจของทีมพูดอย่างเดียว”

ตั้งแต่ทำมามีคลิปวิดีโอชิ้นไหนที่คิดว่าทำออกมาได้ดี?

          “บทวิดีโอดีที่สุดคงเป็นเรื่อง ทำไม อังกฤษ บาลี สันสกฤต มาจากภาษาเดียวกัน?  ซึ่งแน่นอนว่าเกิดจากความอยากรู้ของทีมพูด ที่ทำให้เรารู้จักภาษาโพรโตอินโดยูโรเปียน (Proto-Indo-European) ข้อต่อสำคัญของการอธิบายว่าภาษากรีก ละติน ซึ่งเป็นต้นทางของภาษาอังกฤษ และภาษาสันสกฤต มาเชื่อมต่อจนกลายเป็นภาพใหญ่ได้อย่างไร”

          อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจรู้สึกสงสัยเกี่ยวกับการทำงานของทีมพูด ว่าทำไมหัวข้อที่เลือกทำถึงได้โลดโผนขนาดนี้ เราจึงชวนคุยถึงวิธีคิดเกี่ยวกับการทำงานและการออกแบบกระบวนการทำงาน

ทำเนื้อหาให้เข้าใจง่าย ด้วยการ Mapping ที่รัดกุม

          “ช่วงแรกที่เริ่มทำพูด เราเลือกหัวข้อจากความชอบและความสนใจของทีมเป็นหลัก คือมันไม่มีปัจจัยอื่นนอกเหนือจากความกระหายอยากรู้ส่วนตัว พอคิดเรื่องทำเป็นอาชีพและมองเรื่องรายได้จริงจัง นอกจากความสนุกของเรื่องที่เลือก ทีมเริ่มคิดมากขึ้นว่าคนดูอยากดูอะไร เพราะนั่นหมายถึงยอดเข้าชมและข้อเสนอแนะว่าอยากให้พูดทำเรื่องอะไร เช่น อยากให้เล่าเรื่องวิวัฒนาการ เรื่องการเมือง คือพอทำมาสักพักจะเริ่มรู้ว่าลูกเพจชอบแบบไหน หรือชื่อเรื่องแบบไหนที่คนสนใจ ถัดมาเป็นช่วงเอาแต่ใจอีกรอบซึ่งสามารถทำได้ เพราะเพจปังหนักชนิดที่ว่าทำอะไรออกมาคนก็สนใจดูหมด เราเลยสลับไปมาระหว่างเอาแต่ใจกับคนดูอยากดูอะไร”

          “นอกจากนี้เป็นเรื่องความเป็นเจ้าของร่วม หรือความเป็นประชาธิปไตยในที่ทำงาน ที่ทุกคนเท่ากัน (Cooperative Worker) คล้ายสหกรณ์ ทำให้มีวิธีเลือกเรื่อง วิธีเลือกร่วมงานกับลูกค้า และวิธีการทำงานที่เฉพาะตัว เช่น การให้เงินเดือน ขอบเขตการทำงานของแต่ละคน อันที่ต้องถามความเห็นกันก็ถาม อันไหนที่ต้องโหวตก็โหวต มันนำไปสู่วิธีการทำงานใหม่ๆ อย่างเช่นวิธีการตัดต่อแบบ Pūd Mini เกิดจากการทดลองที่เปิดกว้าง ความเป็นประชาธิปไตยในที่ทำงานที่ทุกคนมี 1 เสียง และการประชุมคุยกันตลอดเวลา ถ้าเป็นบริษัทปกติก็จะทำงานแบบตามกรอบ ไม่สามารถทำอะไรนอกเส้นได้ พูดมินิจึงเป็นชื่อที่ใช้สื่อสารในการทำงาน ลักษณะเป็นวิดีโอที่ตัดหยาบๆ หน้าจอเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสคล้ายการแสดงผลของคอมพิวเตอร์สมัยก่อน”

          “สัดส่วนการแบ่งเวลาทำงาน ทีมพูดให้ความสำคัญกับการค้นคว้าทำการบ้านหรือ Pre-Production ก่อนมาคุยกันประมาณ 3-4 วัน รวมทั้งดูด้วยว่าเรื่องนั้นเคยมีคนทำหรือยัง ทำไปในแนวไหน แล้วเราจะทำไปในแนวไหน จากนั้นจึงเขียนโครงและทำแผนภูมิความคิด หรือ Mind Map เรื่องที่ไปค้น ใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน ที่เหลือเขียนบท ลงเสียง จากนั้นค่อยเข้าสู่กระบวนการทำวิดีโอที่ใช้เวลานานที่สุด

          แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดเป็นขั้นตอนการทำโครงเรื่อง แม้จะใช้เวลา 1-2 วัน แต่ค่อนข้างจริงจัง คือทุกคนไปทำการบ้านแล้วเจออะไรมาบ้างต้องเอามากองรวมกันแล้วถอดความรู้ออกมา ภาณุกับภาวิชชค้นข้อมูลทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ส่วนแชมป์ดูภาษาไทยคนเดียวโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย หรือประวัติศาสตร์ไทย ส่วนเพื่อนอีก 2 คน น่อมกับเอมี่จะทำงานตัดต่อวิดีโอล้วนๆ ทีมที่เหลือจะช่วยดูงานวิจัยและแหล่งข้อมูลทางฝั่งไทย ถ้ามีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ทำแล้วต้องไปสอบถามข้อมูลเชิงลึกก็จะชวนกันไป เคยเจอเรื่องการจัดสรรงบประมาณในภาครัฐซึ่งเป็นเรื่องที่หินมาก เรียกว่ายากสุดของทุกคลิปที่เคยทำมา ก็ต้องไปนั่งฟังผู้รู้อธิบายให้ฟังทั้งทีม ถึงจะเข้าใจวิธีคิดแล้วมาคิดงานต่อได้ วิธีจัดเรียงข้อมูลที่ใช้บ่อยที่สุดคือ Mind Map เพื่อที่จะมานั่งดูกันว่าความรู้ในแต่ละฐานมีอะไรบ้าง ฐานไหนที่ยังไม่แน่น จะเริ่มลากเส้นเรื่องอย่างไรและสรุปจบเรื่องยังไง ตอนไหนของการนำเสนอ และทำไม ซึ่งตอนเริ่มทำพูดต้องนั่งคุยกันบนกระดาษฟลิปชาร์ตแต่พอชำนาญขึ้นตอนนี้สามารถคุยกันในวงแล้วเคาะได้เลย”

เคล็ดลับที่ทำให้คลิปของพูดเข้าใจง่าย แม้เป็นเรื่องหิน

          “การทำให้ง่ายก็จะดูจากการวางโครงเช่นกัน ส่วนไหนที่ยาก ฟังแล้วไม่เข้าใจ ไม่มีเครื่องมืออะไรนอกจากความรู้สึกที่ต้องไวกับความยาก ความไม่เข้าใจ ความยืดเยื้อ ไม่เข้าประเด็น ทีมก็ต้องช่วยกันเหลาให้คม” 

มีเรื่องไหนที่ทำแล้วไม่ได้เผยแพร่บ้างมั้ย เพราะเห็นทำเรื่องการเมืองหนักๆ ตลอด

          “ไม่มี ส่วนใหญ่จะเป็นแค่ระดับพูดไม่หมด หรือให้คนดูไปเชื่อมโยงเอง เรารู้ข้อเท็จจริงเพียงแต่ข้อเท็จจริงนั้นไม่สามารถพิสูจน์ในชั้นศาลได้ ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้หาข้อเท็จจริงหรือไม่ให้เวลากับมัน แต่พูดไปแล้วจะโดนฟ้อง ในสังคมไทยบริษัทใหญ่ยังเที่ยวไล่ฟ้องคนตัวเล็กตัวน้อยที่นำเสนอข้อเท็จจริงอยู่ ขณะที่พูดแค่อยากให้สังคมช่วยกัน เอ๊ะ กับประเด็นที่นำเสนอ ส่วนตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้นเป็นข้อมูลที่ทุกคนไปสืบสาวกันเองได้ถ้าอยากรู้ต่อ”

คลิปวิดีโอกับหนังสือ สองวิธีสื่อสารความรู้ที่อยู่คู่กันได้

          “อยากให้พื้นที่การเรียนรู้แบบเพจพูดเพิ่มขึ้น เพราะในต่างประเทศเพจที่ผลิตความรู้สั้นๆ มีเยอะ ในขณะที่สังคมไทยมีน้อย ทำให้ผู้ชมขาดตัวเลือก เวลาค้นหาคำภาษาไทยบางเรื่องยังไม่มีคนทำ แต่ถ้าค้นเป็นภาษาอังกฤษทุกเรื่องจะมีคนตั้งคำถามและทำวิดีโอแล้วอย่างน้อย 3 ชิ้น ซึ่งการทำวิดีโอในทุกคำถามที่คิดได้บนโลกนี้ทำให้เกิดการแข่งขัน มันกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นและอยากเล่าของคน ถ้าคนนี้อธิบายไม่ดี ผู้ชมก็สามารถไปหาช่องทางอื่นที่อธิบายได้ดีกว่า แต่ละทีมผลิตคลิปวิดีโอมีความยาวไม่เท่ากัน บางช่องมีความยาวเท่าพูดคือ 5 นาที บางช่องยาวเป็นชั่วโมงเลยมีให้เลือกหลายระดับ รู้สึกว่าตลาดนี้ยังไม่อิ่มตัวในไทย นี่อาจเป็นสาเหตุว่าทำไมพูดโตเร็ว เพราะตลาดเพิ่งมา ยังมีพื้นที่อีกเยอะให้วิดีโอแบบนี้  คุณอาจจะมีวิดีโอที่อธิบายละเอียดกว่าพูดก็ได้  เราไม่ได้บอกว่าเราจะมาเป็นคำตอบ เราก็ทำวิดีโอของเรา จริงๆ ควรมีคนทำวิดีโอหัวข้อเดียวกันหลายๆ คนให้ผู้บริโภคเลือกด้วยว่าอยากดูคำอธิบายชุดไหน สไตล์ไหน ละเอียดแค่ไหน”

หากมีคนทำคลิปวิดีโอเยอะๆ จะทำให้คนอ่านหนังสือน้อยลงมั้ย?

          “ขึ้นอยู่กับความชอบเสพของคน คนที่ชอบหนังสือ ถึงจะดูคลิปวิดีโอมากขึ้นแต่สุดท้ายเขาจะยังกลับไปอ่านหนังสือ โดยเฉพาะการให้ความรู้ที่ต้องการคำอธิบายอย่างยืดยาว มันมีอรรถรสบางอย่างที่วิดีโอไม่มี หนังสือยังเป็นแหล่งค้นคว้าหลัก และให้ความรู้ได้เยอะกว่า ขณะที่วิดีโอจะเข้าใจแบบเร็วๆ  แต่ก็มีความบันเทิงในแบบที่หนังสือไม่มี ข้อดีข้อเสียต่างกัน ซึ่งจำเป็นทั้งคู่ ดังนั้นการนำเสนอแบบพูดไม่ได้ทำให้คนอ่านหนังสือมากขึ้นหรือน้อยลง แต่เป็นผลดีต่อการสร้างองค์ความรู้ด้วยซ้ำ ช่วยให้ความรับรู้ของคนที่เหลื่อมล้ำกันมากๆ ลงมาอยู่ในระนาบเดียวกันและสร้างขบวนได้ อย่างกรณีวัฒนธรรมการอ่านหรือพื้นที่การเรียนรู้จากทั่วทุกมุมโลกก็เป็นเรื่องที่ทีมพูดกำลังสนใจ ใครที่อยากให้ทีมพูดนำเสนอเรื่องพื้นที่การเรียนรู้ วัฒนธรรมหนังสือ วัฒนธรรมการอ่าน จากทั่วทุกมุมโลกลองมาคุยกับทีมพูดได้”

‘พูด’ (Pūd) เรื่องยากให้ฟังดูง่าย เสียงจากคนรุ่นใหม่ที่อยากให้สังคมรับฟัง

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก