แม้ผู้คนในยุคดิจิทัลจะสามารถเข้าถึงความรู้และสารสนเทศได้ด้วยตนเอง แต่ห้องสมุดเยอรมันยังคงได้รับความนิยมอย่างไม่เสื่อมคลาย มีคนหลั่งไหลเข้าห้องสมุดราว 205 ล้านคน-ครั้งต่อปี มากเสียยิ่งกว่ายอดผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ โรงภาพยนตร์ หรือแม้แต่สนามฟุตบอลบุนเดสลีกา (Bundesliga)
ห้องสมุดเยอรมันเป็นหน่วยงานทางวัฒนธรรมที่ครองใจคนทุกเพศทุกวัย และหยั่งรากเรื่องการส่งเสริมการเรียนรู้ทั่วทุกหัวระแหง ทั้งๆ ที่ไม่มีกฎหมายและหน่วยงานกลางในระดับชาติที่ทำหน้าที่วางแผนหรือกำกับดูแลงานห้องสมุด สวนทางกับแนวทางการบริหารระบบห้องสมุดของหลายๆ ประเทศ
เยอรมนีมีห้องสมุดนับหมื่นแห่ง ทั้งห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดวิชาการ ห้องสมุดโรงเรียน และห้องสมุดเคลื่อนที่ ซึ่งล้วนแล้วแต่อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองท้องถิ่น อันเนื่องมาจากระบบการปกครองแบบสหพันธรัฐ ส่วนห้องสมุดแห่งชาติเพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2006 ที่แฟรงก์เฟิร์ต (Frankfurt) ภายหลังการพังทลายของกำแพงเบอร์ลินเมื่อปี 1990 ห้องสมุดแห่งชาติมีหน้าที่เก็บรวบรวมและทำสำเนาสื่อสิ่งพิมพ์ภาษาเยอรมันทั้งในและนอกประเทศ แต่มิได้มีบทบาทเชิงนโยบายแต่อย่างใด หลังจากนั้นจึงมีการก่อตั้งห้องสมุดแห่งชาติเฉพาะด้านอีก 3 แห่ง ที่บริหารงานโดยส่วนกลาง
การกระจายอำนาจงานด้านการศึกษาและวัฒนธรรมไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้การดำเนินงานห้องสมุดเป็นไปอย่างอิสระ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม สอดคล้องกับบริบทของแต่ละชุมชนซึ่งมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เป็นของตนเอง และผู้คนมีความต้องการและความสนใจที่แตกต่างกัน ในขณะเดียวกัน องค์ความรู้ด้านการออกแบบและพัฒนาห้องสมุดสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วยุโรป ก็ยิ่งกระตุ้นให้ห้องสมุดเยอรมันพัฒนาไปสู่พื้นที่การเรียนรู้สร้างสรรค์ที่หลากหลาย มีสีสัน ทันสมัย และน่าใช้บริการ
บทความนี้ทดลองนำเสนอกรอบการมองทิศทางการพัฒนาของห้องสมุดในประเทศเยอรมนี ผ่านมิติการพัฒนา 4 ด้าน อันได้แก่ การส่งเสริมอัตลักษณ์ของเมือง การเข้าถึงผู้อ่าน การสร้างเสริมพลเมืองตื่นรู้ และการสนับสนุนการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะทำให้เห็นความแตกต่างหลากหลายและจุดร่วมสำคัญบางประการที่น่าสนใจ
ห้องสมุดกับอัตลักษณ์ของเมือง
แม้ว่าสหพันธรัฐเยอรมนีเพิ่งก่อตั้งขึ้นมาได้เพียงไม่กี่ทศวรรษ แต่ดินแดนแห่งนี้มีประวัติศาสตร์เก่าแก่มายาวนาน ดังเช่นเมืองอูลม์ (Ulm)ซึ่งรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยยุคกลาง สถาปัตยกรรมที่วิจิตรงดงามส่วนใหญ่ในยุคนั้นถูกทำลายโดยกองกำลังทางอากาศในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง การสร้างอาคารห้องสมุดกลางอูลม์ (Central Library Ulm)ในปี 2004 จึงพยายามสะท้อนแนวคิดในการฟื้นฟูประวัติศาสตร์เมืองแห่งพาณิชยกรรมไปพร้อมกับการมุ่งสู่อนาคต สถาปัตยกรรมรูปทรงพีระมิดชวนให้นึกถึงความรุ่งเรืองของโลกยุคเก่า ขณะเดียวกันก็นำเทคโนโลยีทันสมัยในปัจจุบันมาใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการให้บริการ
ศตวรรษที่ 19-20 เป็นยุครุ่งโรจน์ของอุตสาหกรรมในเยอรมนี ย่านลุคเคนวาลเดอ (Luckenwalde) รัฐบรันเดนบูร์ก (Brandenburg) ในเยอรมันตะวันออกมีโรงงานสิ่งทอตั้งอยู่อย่างหนาแน่น แต่วันนี้กลับกลายเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ ที่มีอาคารเก่าแก่รอการบูรณะจำนวนมาก อีกทั้งยังประสบปัญหาจำนวนประชากรลดลงและอัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น องค์กรปกครองท้องถิ่นจึงริเริ่มโครงการพัฒนาเมืองให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง หนึ่งในโปรเจกต์สำคัญคือการปรับปรุงสถานีรถไฟให้เป็นห้องสมุดประชาชน
ห้องสมุดในสถานีรถไฟลุคเคนวาลเดอ (Library in Luckenwalde Railway Station) มุ่งเน้นการเก็บรักษามรดกดั้งเดิมให้ยังคงอยู่ และออกแบบห้องสมุดให้กลมกลืนกับบรรยากาศของอาคารเก่า มีการต่อเติมอาคารหลังใหม่เพื่อให้บริการแก่เด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ แต่ส่วนต่อขยายนั้นให้ความรู้สึกตรงกันข้ามเพราะต้องการท้าทายผู้คนให้ตระหนักถึงศักยภาพในการขับเคลื่อนเมืองไปข้างหน้า และเชิญชวนให้คนรุ่นใหม่เข้ามาใช้บริการห้องสมุดที่มีชีวิตชีวาและทันสมัย
ส่วนเมืองมูสซิงเงน (Mössingen) ก็มีแนวคิดในการอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมในยุคอุตสาหกรรมเช่นกัน องค์กรปกครองท้องถิ่นได้บูรณะโรงพิมพ์ลายสิ่งทอเก่าให้กลายเป็นห้องสมุดประชาชนแห่งมูสซิงเงน (Public Library of Mössingen) หรือห้องสมุด ‘โถงถังเบียร์’ ผู้คนเรียกชื่อเช่นนี้เพราะโครงสร้างหลังคาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะคล้ายกับถังเบียร์ที่เรียงรายต่อกัน 9 ถัง แม้ว่าโครงสร้างหลักของอาคารจะสร้างมาตั้งแต่ปี 1950-1951 แต่การออกแบบตกแต่งภายในให้ดูทันสมัยและเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีสีสัน ก็ทำให้ห้องสมุดแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่คนรุ่นใหม่อยากเข้ามาใช้บริการ โดยมีความท้าทายในการออกแบบอยู่ตรงที่จะทำอย่างไรให้ผู้ใช้บริการอยากเดินสำรวจพื้นที่ที่มีความยาวมากถึง 80 เมตร
ห้องสมุดกับการเข้าถึงผู้อ่าน
เมื่อปี 2005 ผู้คนในคลิงมูห์ล (Klingmühl) หมู่บ้านเล็กๆ ในแคว้นเอลเบอ-เอลชเตอร์ (Elber-Elster) ได้อภิปรายถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงห้องสมุดซึ่งตั้งอยู่ห่างจากชุมชน จนในที่สุดนำไปสู่การให้บริการรถห้องสมุดเคลื่อนที่อย่างสม่ำเสมอและเป็นระบบภายในแคว้น
เส้นทางและเวลาเดินรถถูกกำหนดไว้แบบตายตัว รถจะจอดแวะตามจุดต่างๆ ทั้งในชุมชนและโรงเรียน โดยจะวนกลับมาที่เดิมทุกๆ 3 สัปดาห์ ผู้ใช้บริการจึงสามารถจดในปฏิทินไว้ล่วงหน้าว่าห้องสมุดจะมาหาพวกเขาเมื่อใด
รถห้องสมุดเคลื่อนที่มีเจ้าหน้าที่ผู้หญิง 2 คนเป็นคนขับรถและให้บริการยืมคืนหนังสือ รถมีขนาดใหญ่และสีสันสวยงาม ภายในตกแต่งโดยให้ความรู้สึกสบายๆ เหมือนเดินเข้าไปห้องนั่งเล่นที่บ้าน หนังสือถูกจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ต่างๆ เช่น ชั้นหนังสือสำหรับเด็ก วัยรุ่น หนังสือความรู้ และวรรณกรรม ในห้องสมุดเคลื่อนที่ยังมีเกมและเครื่องเล่นซีดีซึ่งสามารถยืมออกไปใช้นอกห้องสมุดได้
ปัจจุบันแคว้นเอลเบอ-เอลชเตอร์ มีรถห้องสมุดเคลื่อนที่ 2 คัน ให้บริการหมุนเวียน 145 จุด ใน 3 สัปดาห์ มียอดผู้ใช้บริการ 21,000 คนต่อปี และยอดการยืมคืน 80,000 รายการต่อปี แม้การคมนาคมจะสะดวกมากขึ้น แต่ห้องสมุดเคลื่อนที่ก็ยังได้รับความนิยมเพราะช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงหนังสือ ผู้ใช้บริการสามารถสืบค้นหนังสือผ่านฐานข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต แล้วสั่งจองหนังสือที่ต้องการอ่านล่วงหน้า จากนั้นก็รอคอยรถห้องสมุดนำหนังสือแวะมาตามวันเวลาที่กำหนด
ห้องสมุดกับการสร้างเสริมพลเมืองตื่นรู้
ในช่วงระหว่างการรวมประเทศเยอรมนีเมื่อปี 1989-1990 สตรีนักเคลื่อนไหวทางสังคมได้ผลักดันให้เกิดห้องสมุดจากชนชั้นรากหญ้าเพื่อสนับสนุนความรู้แก่คนหนุ่มสาวที่สนใจด้านสิทธิสตรีและต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม ห้องสมุดสตรีนิยมโมนาลิซา (The Monaliesa Feminist Library) ได้รวบรวมหนังสือวิชาการ วรรณกรรม รวมทั้งนิตยสารและภาพยนตร์ ที่ว่าด้วยเรื่องเพศสภาพ สิทธิสตรี ความเคลื่อนไหวของผู้หญิง รวมทั้ง ‘วรรณกรรมสีเทา’ ซึ่งเป็นจดหมายเหตุความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้หญิงในเยอรมนีตะวันออกที่ไม่เคยถูกเปิดเผยมาก่อน
ห้องสมุดสตรีนิยมโมนาลิซามิได้เป็นเพียงสถานที่สำหรับอ่านหรือยืมหนังสือ แต่เน้นการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสานสัมพันธ์เครือข่ายผู้คนหลากหลาย ห้องสมุดจัดกิจกรรมการอ่าน การบรรยาย นิทรรศการ และทัศนศึกษา นอกจากนี้เหล่านักอ่านยังได้รวมตัวกันจัดตั้งชมรมเพื่อร่วมกันอ่านผลงานของนักเขียนสตรีและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีสมาชิกทั้งหญิงชาย อายุตั้งแต่ 20 กว่าไปจนถึง 75 ปี กล่าวได้ว่าห้องสมุดแห่งนี้ก้าวข้ามจากพื้นที่ให้บริการสารสนเทศไปสู่พื้นที่ทางการเมือง ซึ่งพลเมืองได้รวมกลุ่มพบปะและมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะต่างๆ
ในยุคดิจิทัล ห้องสมุดจำเป็นต้องมีบทบาททางสังคมและการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในด้านหนึ่งห้องสมุดมุ่งสนับสนุนให้ผู้คนเข้าถึงสารสนเทศได้อย่างไม่มีอุปสรรคหรือข้อจำกัด ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องยกระดับผู้คนให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของโลกไซเบอร์ ดังนั้นประเด็นที่เยอรมนีกำลังให้ความสำคัญในขณะนี้คือทักษะในการวิเคราะห์และประเมินคุณค่าของสารสนเทศ
ปี 2018 ห้องสมุดกลางชเลสวิก-โฮลชไตน์ (Central Library of Schleswig-Holstein) ได้พัฒนาเกมบทบาทสมมุติเพื่อให้เยาวชนตั้งแต่เกรด 7 ขึ้นไปฝึกแยกแยะข่าวสารจากอินเทอร์เน็ตและตระหนักถึงผลกระทบจากข่าวปลอม ในขณะที่ห้องสมุดเมืองมิวนิก (The Munich Municipal Library) มองว่าในความเป็นจริงแล้วผู้ใหญ่มีทักษะทางเทคโนโลยีน้อยกว่าคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการจำแนกข้อเท็จจริงออกจากข่าวปลอม ห้องสมุดจึงริเริ่มกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองมาตั้งแต่ปี 2017
ห้องสมุดกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
ห้องสมุดเยอรมันกำลังเริ่มต้นให้บริการพื้นที่สร้างสรรค์แบบเปิด (open creative space) เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ เมกเกอร์สเปซแห่งแรกในเยอรมนีเกิดขึ้นเมื่อปี 2013 ที่ห้องสมุดกลางแห่งเมืองโคโลญ (Central Library of the City of Cologne) ซึ่งเต็มไปด้วยเครื่องมือการเรียนรู้ที่ทันสมัย เช่น เครื่องสแกนและเครื่องพิมพ์สามมิติ ไอแพด กีตาร์ อุปกรณ์ควบคุมซอฟต์แวร์ดนตรี แว่นตาเสมือนจริง เปียโนไฟฟ้า และจักรเย็บผ้าประสิทธิภาพสูง ฯลฯ ผู้ใช้บริการสามารถอัดรายการพอดแคสต์ ผลิตสื่อดิจิทัลหรือสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ห้องสมุดมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำในการใช้อุปกรณ์ต่างๆ การให้บริการที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ทำให้ห้องสมุดแห่งนี้ได้รับการโหวตให้เป็นสุดยอดห้องสมุดเยอรมันแห่งปี 2015
ส่วนห้องสมุดวิชาการแห่งแรกในเยอรมนีที่ให้บริการเมกเกอร์สเปซคือ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยรัฐซัคเซิน เมืองเดรสเดน (Saxon State and University Library Dresden) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างห้องสมุด คณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัย และ Fablab Dresden เพื่อร่วมกันจัดกิจกรรมการเรียนรู้แนวไฮเทคตั้งแต่ปี 2014 รวมทั้งยังสร้างเครือข่ายกับสถาบันการศึกษาแห่งอื่นเพื่อเข้ามาเรียนรู้และทำโครงงานร่วมกัน
การให้บริการพื้นที่การเรียนรู้สร้างสรรค์ซึ่งคำนึงถึงทักษะที่จำเป็นในอนาคตสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของห้องสมุดเยอรมันที่กำลังมุ่งสู่ทิศทางใหม่ ห้องสมุดกลายเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ พื้นที่แห่งปฏิสัมพันธ์ และพื้นที่แห่งการมีส่วนร่วม พลิกบทบาทจากแพลตฟอร์มที่เก็บรักษาความรู้ ไปเป็นแพลตฟอร์มที่สนับสนุนให้ผู้คนนำความรู้มาประยุกต์ใช้และสร้างความรู้ใหม่
ที่มา
The Library Landscape in Germany: An Overview [Online]
Report on the State of Libraries in Germany 2017/2018 [Online]
Central Library Ulm [Online]
Bibliothek Luckenwalde by FF Architekten and Martina Wronna [Online]
Makerspaces in Libraries THE CREATIVE WORKSHOPS OF THE 21ST CENTURY [Online]
Do-it-yourself Culture HACKATHONS AND MAKERSPACES [Online]
The Library Bus in Brandenburg “SOMETIMES WE FOLLOW THE BUS TO THE NEXT VILLAGE” [Online]
The Monaliesa Library in Leipzig “A POLITICAL PLACE” [Online]
Cover Photo : Klaus Franke