ทุกๆ ฤดูร้อน ดอกไม้ใน ‘Reading Garden’ ของเด็กๆ ผู้แวะเวียนมาอ่านหนังสือที่ห้องสมุดปักกิ่งจะเบ่งบาน โดยทุกๆ เล่มที่หนูน้อยอ่านจบ ดอกไม้ดอกใหม่จะเติบโตขึ้นมาในสวนดิจิทัลของเขา และยิ่งเด็กๆ เหล่านั้นเข้าร่วมกิจกรรมที่หลากหลายเท่าไหร่ ดอกไม้ที่ปรากฏในสวนก็จะยิ่งหลากสีสัน ชูช่อสวยงาม ประหนึ่งทุ่งดอกไม้ในโลกแห่งจินตนาการ
สวนดอกไม้ดิจิทัล คือรูปแบบหนึ่งของการชักชวนเยาวชนมาอ่านหนังสือ นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของกิจกรรมที่ทำให้ ห้องสมุดปักกิ่ง (Beijing Library) ประเทศจีน กลายเป็นที่รักของนักอ่าน นอกจากนี้ยังมีบริการที่สร้างสรรค์และทันสมัยอีกหลากหลายรูปแบบ เช่น ห้องเมตาเวิร์สที่ผู้ใช้สามารถสร้าง avatar แทนตัวเอง แล้วเข้าไปพบปะกับ AI Librarian ใน Digital Twin ของห้องสมุด
นับตั้งแต่เปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2566 ใช้เวลาเพียงไม่ถึง 3 เดือน ก็มีผู้ใช้งานเกิน 1 ล้านคน และกลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ พบปะพูดคุย พักผ่อนหย่อนใจที่สำคัญของเมือง จนกระทั่งได้รับรางวัล ‘ห้องสมุดประชาชนแห่งปี2024’ (Public Library of the Year 2024) จาก สหพันธ์นานาชาติแห่งสถาบันและสมาคมห้องสมุด (IFLA) ในวันที่ 7 ตุลาคม 2567 เฉือนชนะผู้เข้ารอบชิงรางวัลอีก 3 แห่งไป
ห้องสมุดปักกิ่งมีความโดดเด่นในด้านการหลอมรวมเทคโนโลยีและวัฒนธรรมอย่างกลมกลืน เทคโนโลยีทันสมัยเอื้อให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกสบายอีกทั้งยังเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง มีชั้นวางหนังสืออัจฉริยะที่จุหนังสือได้กว่า 7 ล้านเล่ม พร้อมแขนกลคอยหยิบหนังสือจากชั้นส่งตรงถึงมือผู้ยืมอย่างรวดเร็วทันใจ หุ่นยนต์บรรณารักษ์สามารถจัดส่งหนังสือให้กับผู้สูงอายุถึงโต๊ะได้ภายใน 5 นาที และคอยเดินไปมาให้บริการยืม-คืนหนังสือบริเวณลานกว้างหน้าตัวอาคาร มีตู้คีออส Smart Desktop ไว้ให้บริการครอบคลุมทุกด้าน ทั้งค้นหาหนังสือ จองพื้นที่ใช้งาน แปลคำศัพท์จีน-อังกฤษ และมีระบบ Intelligent Counselling สำหรับให้คำปรึกษา
หนึ่งในจุดเด่นของห้องสมุดคือห้องอ่านหนังสือขนาดใหญ่ ที่ได้รับการออกแบบให้เชื่อมโยงหนังสือ ผู้คน กับธรรมชาติ เสาเรียงรายกับเพดานที่ลดหลั่นต่างระดับได้รับแรงบันดาลใจมาจากป่าต้นเกาลัด ที่นั่งแบบขั้นบันไดใจกลางห้องให้ความรู้สึกเหมือนกับเป็นเนินเขาเล็กๆ โอบล้อมด้วยแม่น้ำที่สะท้อนในเงาของกระจก
การจัดสรรพื้นที่มุ่งรองรับฟังก์ชันหลากหลาย ทั้งห้องเก็บหนังสือโบราณ ห้องนิทรรศการ ห้องประชุม และยังมีความโดดเด่นในเรื่องการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า บนหลังคามีโซลาร์เซลล์ช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้า รวมถึงติดตั้งเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแสงสว่าง หรือการเก็บกักน้ำฝน
นอกจากบริการหลัก ที่นี่ยังมีพื้นที่เรียนรู้อีก 4 ส่วน คือ ห้องสมุดเด็ก ห้องสมุดหนังสือหายาก ส่วนจัดแสดงงานศิลปะ และส่วนจัดแสดงวัฒนธรรมพื้นถิ่นและมรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญา (Intangible Cultural Heritage) รวมถึงจุดให้บริการพิเศษอีกกว่า 20 จุด
นโยบายสำคัญคือส่งเสริมการอ่านอย่างทั่วถึง โดยห้องสมุดมีสโลแกนคือ ‘Reading from Age Zero’ ผู้ปกครองสามารถลงทะเบียนรับชุดหนังสือสำหรับเด็กเล็กพร้อมคู่มือการอ่านหนังสือให้เด็กฟังแบบไม่มีค่าใช้จ่าย กิจกรรมการเรียนรู้อื่นๆ มีหลากหลายสอดรับความสนใจของคนทุกเพศทุกวัย ทั้งเวิร์กชอปงานศิลปะ กิจกรรมถ่ายทอดภูมิปัญญาจีนโบราณ การอนุรักษ์โบราณวัตถุ การฉายภาพยนตร์ และคอนเสิร์ตดนตรีสากล เรียกได้ว่าเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้เรื่องการอ่าน การเขียน ศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ สามารถซึมซับองค์ความรู้ของเอเชียและองค์ความรู้แบบสากลได้ครบจบในที่เดียว สมกับที่เรียกขานตัวเองว่า ‘มหาวิทยาลัยไร้กำแพง’ (University without Wall)
“ไม่ว่าใครก็ตามที่แวะมาเยือนห้องสมุดปักกิ่ง ต้องได้อะไรบางอย่างที่มีคุณค่าและความหมายกลับไป ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ความประทับใจในการแสดงทางวัฒนธรรม หรือเพื่อนใหม่” นี่คือสารที่ผู้อำนวยการห้องสมุดฝากเอาไว้










สำหรับห้องสมุดที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบสุดท้ายอีก 3 แห่ง ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน
🏛️ห้องสมุดเซินเจิ้นเหนือ (The Shenzhen Library North), ประเทศจีน
ตั้งอยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑ์ศิลปะเซินเจิ้น และหอจดหมายเหตุของเมือง ตัวอาคารมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นอลังการดุจวิหารแห่งหนังสือและการอ่าน ทำให้กลุ่มอาคารเหล่านั้นเป็นเหมือนแลนมาร์คทางวัฒนธรรมของเมือง ด้านหน้าของอาคารห้องสมุดเป็นแบบสามมิติ เปิดช่องว่างให้แสงสว่างเข้าถึงในเวลากลางวัน และกระจายแสงสว่างสู่รอบๆ บริเวณในเวลากลางคืน มุมยอดนิยมของห้องสมุดคือ กำแพงหนังสือ ที่สวยงามอลังการโอบล้อมห้องโถงกลางเอาไว้
ห้องสมุดแห่งนี้มีชั้นวางหนังสืออัจฉริยะที่สามารถจุหนังสือได้ถึง 4 ล้านเล่ม เมื่อผู้ใช้งานจองหนังสือในระบบ หนังสือเล่มที่ต้องการจะเดินทางมาถึงมือภายใน 10 นาที นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ให้บริการอื่นๆ เช่น ห้องอเนกประสงค์ ห้องนิทรรศการ ห้องแล็บดิจิทัล ห้องวิจัยสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านห้องสมุด และพื้นที่ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์อีกหลากหลายแบบ อีกทั้งยังมีบรรยายพิเศษ สัมมนา หรือเวิร์กชอปเป็นประจำด้วย




🏛️ห้องสมุดเยลลามันดิ (Yellamundie Library and Gallery), ประเทศออสเตรเลีย
เยลลามันดิ (Yellamundie) แปลตรงตัวได้ว่า นักเล่าเรื่อง ความสร้างสรรค์และน่าตื่นตาตื่นใจของสถาปัตยกรรมอาคาร ก็ซ่อนเรื่องราวหลากหลายเอาไว้ด้วยเช่นกัน หลังจากอาคารเดิมถูกไฟไหม้ อาคารหลังใหม่ก็ถูกสร้างขึ้น โดยมีชั้นหนังสือที่ยาวถึง 2 กิโลเมตร รวบรวมหนังสือกว่า 85,000 เล่ม แกลเลอรี พื้นที่ทำงาน พื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็ก และ ‘Create Space’ ศูนย์รวมเทคโนโลยีซึ่งเอื้อต่อการเรียนรู้ด้าน STEM อีกทั้งเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ถ่ายทำวิดีโอและพอดแคสต์สำหรับนักสร้างคอนเทนต์ด้วย
ตัวอาคารมีรูปร่างโค้งมน เป็นสัญลักษณ์แทนแม่น้ำจอร์จ แม่น้ำสำคัญของเมือง หน้าต่างกลมๆ รอบตัวอาคาร เปิดให้แสงสว่างส่องเข้ามายังห้องอ่านหนังสือ เสริมสร้างบรรยากาศเป็นมิตร ภายในมีสวนตกแต่งที่ให้บรรยากาศคล้ายกับเอาต์ดอร์ เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานห้องสมุดสัมผัสกับความสดชื่นของพื้นที่สีเขียวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจและอ่านหนังสือ




🏛️ห้องสมุดประชาชนเขตคอนาส (Public Body Kaunas County Public Library), ประเทศลิทัวเนีย
ห้องสมุดอยู่กลางสวนสาธารณะ ตัวอาคารทันสมัยเชื่อมต่อกับอาคารดั้งเดิมที่สร้างขึ้นในปี 1989 อย่างกลมกลืน หากก้าวเดินเข้าไปจะรู้สึกเหมือนเดินทางข้ามกาลเวลา จากความเข้มขลังของอาคารเก่า สู่บรรยากาศอบอุ่น สบาย ของอาคารร่วมสมัย
แทนที่จะสร้างอาคารหลังใหม่แทนอาคารเดิม ห้องสมุดใช้วิธีต่อเติมจนกลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่ทันสมัย พื้นที่บริการยึดหลัก Universal Design ที่รองรับความต้องการของผู้ใช้ทุกกลุ่ม และรองรับกิจกรรมหลากหลาย ทั้งเมกเกอร์สเปซ ห้องจัดแสดงคอนเสิร์ต และห้องนิทรรศการ การตกแต่งภายในเน้นบรรยากาศที่สะท้อนความเป็นธรรมชาติโดยได้แรงบันดาลใจจากป่าต้นโอ๊กขนาดใหญ่ในเมือง





📣ทุกๆ ปี สหพันธ์นานาชาติแห่งสถาบันและสมาคมห้องสมุด (IFLA) จะมอบรางวัลอันทรงเกียรตินี้ให้กับห้องสมุดที่เพิ่งก่อตั้งหรือต่อเติมใหม่ โดยเกณฑ์การให้คะแนนคือ มีบริการด้าน IT ที่สร้างสรรค์ ตัวอาคารและระบบพลังงานออกแบบมาอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีกิจกรรมที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับวัฒนธรรมท้องถิ่น ดังที่จาคอบ ลาร์เกอร์ (Jakob Lærkes) ประธานกรรมการตัดสินในปีนี้ได้กล่าวไว้ว่า
“รางวัลห้องสมุดประชาชนแห่งปี คือการยกย่องห้องสมุดที่เป็นแบบอย่าง ห้องสมุดทั้ง 4 แห่งที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลมีความโดดเด่นสมกับเป็น ‘ห้องสมุดแห่งอนาคต’ น่าประทับใจมากที่ได้เห็นความพยายามของห้องสมุดแต่ละแห่งในการสนองตอบความต้องการของผู้ใช้ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อสร้างพื้นที่การอ่านการเรียนรู้ที่เป็นมิตรกับชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความยั่งยืน ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในปัจจุบัน.…”
ที่มา
บทความ “Four impressive libraries nominated for the IFLA/Baker & Taylor Public Library of the Year Award 2024” จาก ifla.org (Online)
บทความ “Beijing Library presents a ‘forest of knowledge’ to residents” จาก globaltimes.cn (Online)
วิดีโอ “Internacional Library Conference” จาก youtube.com (Online)
Cover Photo: Yumeng Zhu/ Snøhetta