ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับรายได้ของคนทำงานที่แทบจะไม่ขยับ ส่งผลให้อัตราการครอบครองที่อยู่อาศัยน้อยลงมากเมื่อเทียบกับผู้คนจากหลายๆ ทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อปัญหาการครอบครองที่ดินยิ่งเพิ่มขึ้น ความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งทะยานจนเกิดชุมชนแออัดกระจายไปตามชานเมืองได้
ในฝั่งยุโรปและประเทศสิงคโปร์ มีความพยายามแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยด้วยโมเดลที่อยู่อาศัยซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ก่อสร้างอย่าง ‘เคหะสาธารณะ’ (Public Housing) และ ‘เคหะชุมชน’ (Social Housing) ซึ่งเกิดจากพื้นฐานแนวคิดที่อยู่อาศัยในราคาที่จ่ายได้ (affordable housing) ที่ต้องการประกันสิทธิในการครอบครองที่อยู่อาศัยของทุกคน ไม่ว่าจะรายได้น้อยหรือสูง
ในสิงคโปร์ มีประชากรมากถึง 82% ที่อาศัยอยู่ในเคหะสาธารณะ โดยโครงการรัฐเหล่านี้มีการวางแปลนให้เชื่อมต่อกับส่วนอื่นๆ ของเมืองโดยง่าย และมีบริการสาธารณะทั่วถึง ทั้งห้างสรรพสินค้า โรงเรียน แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ หรือขนส่งสาธารณะ มีทั้งโรงยิมและสระว่ายน้ำในตัวอาคาร ไม่ต่างจากคอนโดมิเนียมที่สร้างโดยเอกชน เช่นเดียวกับกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ที่ประชากรราว 2 ใน 3 อาศัยอยู่ในโครงการบ้านสงเคราะห์หรือเคหะสาธารณะ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียบพร้อม ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนเด็กโต สวนสาธารณะ ขนส่งมวลชน โรงยิม สระว่ายน้ำ ห้องสมุด และร้านค้าครบวงจร กล่าวได้ว่าผู้อยู่อาศัยแทบไม่ต้องออกไปจากย่านของตนเลย
แต่ในสหรัฐอเมริกา มุมมองของผู้คนต่อเคหะสถานรูปแบบนี้คล้ายคลึงกันมาก โครงการ ‘เคหะสาธารณะ’ โดยเฉพาะอาคารในลักษณะแฟลต ถูกมองเป็นสัญลักษณ์ของที่อยู่อาศัยคุณภาพชีวิตต่ำ ถูกก่อสร้างเป็นรูปทรงแข็งทื่อราวกับกล่องกระดาษ ดูอัปลักษณ์ ไม่มีความปลอดภัย แถมยังไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ ไม่มีการขนส่งสาธารณะ บริการต่างๆ หรือสาธารณูปโภคที่เหมาะสม เหมือนถูกสาปให้กลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรมไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักที่ชาวอเมริกันจำนวนมากจะมองเคหะสาธารณะด้วยสายตาที่ไม่ได้ออกไปในทางชื่นชม
แม้แต่ในประวัติศาสตร์อเมริกาเอง ก็มีการทุบทำลายแฟลตที่กลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรมไปหลายครั้ง โดยในเมืองชิคาโก มีกรณีรื้อถอนอาคารแฟลตสาธารณะที่โด่งดังอยู่สองครั้ง ได้แก่ โครงการโรเบิร์ต เทย์เลอร์ และโครงการคาบรินี-กรีน ซึ่งทั้งคู่ได้ชื่อว่าเป็นชุมชนที่อันตรายที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ทั้งอัตราการเกิดอาชญากรรม เป็นแหล่งซ่องสุม และมีการปะทะกันของแก๊งอันธพาลไม่เว้นวัน โดยโครงการโรเบิร์ต เทย์เลอร์ รื้อถอนเสร็จสิ้นในปี 2007 ส่วนโครงการคาบรินี-กรีน รื้อถอนสำเร็จไปเมื่อปี 2011 แต่ชื่อเสียงของเคหะสาธารณะยังคงหลอกหลอนสาธารณชนในอเมริกาไปอีกนาน
สร้างสรรค์ใหม่จากบทเรียนของความผิดพลาดเก่า
ในยุคปัจจุบันที่เศรษฐกิจฝืดเคือง สืบเนื่องมาตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ช่วงปี 2007-2008 นครชิคาโกต้องรับมือกับปัญหาการถือครองที่อยู่อาศัยอย่างเร่งด่วน ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามจนพื้นที่ต่างๆ กลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรม แม้ว่าภาพหลอนจากความล้มเหลวในอดีตยังไม่ดับสนิท แต่เมื่อถึงคราววิกฤต นโยบายนี้ก็ถูกนำมาทบทวนอีกครั้ง
หน่วยงานที่อยู่อาศัยชิคาโก (Chicago Housing Authority) ที่เคยสร้างอาคารฉาวโฉ่ทั้งสองที่ถูกทำลายไป ได้บทเรียนจากการ ‘สร้างไปเท่านั้น’ ซึ่งเป็นการสร้างแบบประหยัดงบให้มากที่สุด ตัวอาคารไม่ได้มีการวางผังให้อยู่ในจุดที่ดี และมีจุดประสงค์เพียงเพื่อไม่ให้ภาวะคนไร้บ้านขยายตัว แต่ไม่ได้มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานหรือสาธารณูปโภคมารองรับ และอาคารเหล่านี้มักตั้งอยู่ในเขตชานเมือง ทำให้ยิ่งเข้าถึงบริการต่างๆ ได้ยากขึ้น จนกลายเป็นแหล่มเสื่อมโทรมและเกิดวังวนอาชญากรรมขึ้น
ราห์ม เอมานูเอล (Rahm Emanuel) นายกเทศมนตรีของชิคาโกคนปัจจุบัน ที่เป็นผู้ผลักดันโครงการเคหะสาธารณะครั้งใหม่ แสดงความเห็นว่าย่านที่พักอาศัยที่ดี ไม่ได้มีเพียงแค่บ้านเท่านั้น แต่ยังต้องมีการขนส่งสาธารณะที่ดี ร้านค้า จุดพักผ่อนหย่อนใจ สนามเด็กเล่น รวมไปถึงห้องสมุดสาธารณะ และเริ่มดำเนินการคัดเลือกบริษัทสถาปนิกมากำกับโครงการในปี 2016
แนวคิดการใช้พื้นที่ร่วมกัน (Co-location) ถูกนำมาปรับใช้กับโครงการใหม่อย่างจริงจัง โดยตัวอาคารอะพาร์ตเมนต์ราคาเข้าถึงได้ จะถูกสร้างด้วยสถาปัตยกรรมโมเดิร์น ดูสวยงาม น่าพักอาศัย เพื่อรื้อฟื้นภาพลักษณ์ของเคหะสาธารณะขึ้นมาใหม่ ภายในตัวอาคารแต่ละโครงการยังมีห้องสมุดสาธารณะอยู่ในตัว และห้องสมุดเหล่านี้ไม่ได้หลบซ่อนอยู่ภายในตัวอาคาร แต่จะถูกนำเสนอให้เป็นจุดเด่นของอะพาร์ตเมนต์ก็ว่าได้ โดยส่วนที่เป็นห้องสมุดประจำโครงการมักจะหันหน้าออกมาจากตัวอาคารหรือหันเข้าสู่ถนนศูนย์กลางชุมชน และมีทางเข้าแยกจากตัวอะพาร์ตเมนต์ ประหนึ่งกำลังเชื้อเชิญให้ผู้คนในย่านเข้ามาพักผ่อนหาความรู้ มิหนำซ้ำยังดูเป็นแลนด์มาร์กไปในตัว
ตัวอย่างที่เด่นชัดคือ อะพาร์ตเมนต์ราคาเข้าถึงได้ นอร์ธทาวน์และห้องสมุดสาธารณะ (The Northtown Affordable Apartments and Public Library) ตัวอาคารสี่ชั้นแห่งนี้สร้างแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์น มีลักษณะโค้งงอเหมือนงูกำลังขดตัว ห้องพักแต่ละห้องมีบานกระจกที่สูงจากพื้นห้องถึงเพดานถึง ทำให้ดูสว่างไสว ด้านหลังของอะพาร์ตเมนต์คือสวนหย่อมให้ผู้พักอาศัยได้ผ่อนคลายยามว่าง แต่ที่แปลกตาคือชั้นล่างสุด เป็นห้องสมุดที่ล้อมรอบด้วยกระจกโปร่งใส ดูเหมือนล็อบบี้รับรองแขกขนาดใหญ่ ตัวห้องสมุดมีพื้นที่มากถึง 16,000 ตารางฟุต ภายในดูโอ่โถง ได้รับการตกแต่งเป็นอย่างดี และมีบริการต่างๆ ครบถ้วน ทั้งอินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ บริการยืมภาพยนตร์ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องจำเป็นมาก เพราะชาวเมืองชิคาโกถึง 1 ใน 3 ไม่อาจเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้
อีกโปรเจกต์ที่น่าสนใจคือ ห้องสมุดอินดีเพนเดนซ์และอะพาร์ตเมนต์ (Independence Library and Apartments) ตั้งอยู่ในย่านเออร์วิงพาร์ค (Irving Park) โครงการยังคงยึดตามโมเดลการใช้พื้นที่ร่วมกัน ตัวอะพาร์ตเมนต์หกชั้นเป็นสถาปัตยกรรมโมเดิร์น ชั้นล่างสุดเป็นพื้นที่ของห้องสมุดขนาดใหญ่ ซึ่งแบ่งย่อยเป็น 2 ชั้นด้วยกัน มีลักษณะยื่นออกมาจากตัวอาคารไปสู่ถนน ออกแบบให้มีกระจกรอบด้านเพื่อให้แสงสว่างเข้าถึง โครงเหล็กที่ยึดกระจกเป็นระยะยังช่วยกระจายความร้อนเข้าสู่อาคารในฤดูหนาวได้ ในห้องสมุดมีมุมเล็กๆ ที่เป็นสตูดิโอ มีพื้นที่เวิร์คช็อปสำหรับเรียนรู้งานช่างต่างๆ ผลคือห้องสมุดแห่งนี้สามารถดึงดูดชาวชุมชนในช่วงที่สภาพอากาศไม่เป็นใจต่อการเดินทางได้เป็นอย่างดี
โครงการสุดท้ายที่น่าจับตามองและมีอายุน้อยสุดในลิสต์นี้คือ ห้องสมุดสาธารณะชิคาโก สาขาลิตเติลอิตาลี (Little Italy Branch, Chicago Public Library) ตั้งอยู่กลางย่านชุมชนชาวอิตาลีเก่าแก่ โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่าง ห้องสมุดสาธารณะชิคาโก (Chicago Public Library) และหน่วยงานที่อยู่อาศัยชิคาโก เป็นอาคารที่รวมห้องสมุดและอะพาร์ตเมนต์สาธารณะไว้ด้วยกัน เพิ่งสร้างเสร็จในปี 2019 โครงการนี้ชูจุดเด่นเป็นห้องสมุดที่ทันสมัย ยื่นออกมาด้านนอกอะพาร์ตเมนต์โมเดิร์นสีน้ำตาลเชสนัท ห้องสมุดมีกำแพงกระจกล้อมรอบเช่นเคย แต่จุดเด่นของห้องสมุดนี้คือลักษณะอาคารที่ดูลดหลั่นเหมือนขั้นบันได ภายในห้องสมุดมีจุดบริการอินเทอร์เน็ตไวไฟและคอมพิวเตอร์ฟรี มีบริการให้ยืมสื่อสารสนเทศต่างๆ เช่นห้องสมุดทั่วไป มีพื้นที่สำหรับการเรียนรู้แบบกลุ่ม และยังมีโซนสำหรับเด็กที่เพียบพร้อมด้วยของเล่นและหนังสือเด็กมากมาย รวมถึงปริศนาตัวต่อที่ติดอยู่ตามผนังให้เด็กๆ ได้ฝึกการแก้ปัญหา นอกจากนี้ ในห้องสมุดยังมีการจัดพื้นที่ให้นั่งอ่านเป็นโซนต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักอ่านหลากสไตล์ ตั้งแต่พื้นที่สำหรับกลุ่ม ไปจนถึงที่นั่งเดียวในตู้หนังสือสำหรับผู้ที่ต้องการปลีกวิเวก
แม้แนวคิดการสร้างเคหะสาธารณะแบบครบวงจรจะเป็นเรื่องใหม่ในสหรัฐอเมริกา และยังไม่สมบูรณ์ครบวงจรแบบฝั่งยุโรป แต่หากโครงการเคหะสาธารณะในชิคาโกประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาท้องถิ่นได้ดี นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ที่อยู่อาศัยและความเหลื่อมล้ำแบบยั่งยืนในภายภาคหน้าได้
ที่มา
Chicago Finds a Way to Improve Public Housing: Libraries [online]
How European-Style Public Housing Could Help Solve The Affordability Crisis [online]
Chicago Public Library: Little Italy Branch [online]
Taylor Street Apartments and Little Italy Branch Library [online]
SOM: Taylor Street Apartments and Little Italy Branch Library [online]
Cover Photo : Tom Harris, Studio J9.com