ปรัชวิชญ์ บุญยะวันตัง : นักอ่าน นักเขียน กวี และเจ้าของร้านหนังสือนกนางแอ่น

811 views
5 mins
March 5, 2024

          นักอ่านหลายคนคงเคยมีความหลงใหลใฝ่ฝันถึงการเป็นนักเขียนหรือเปิดร้านหนังสือ ด้วยว่าโลกของหนังสือนั้นเป็นโลกที่เข้าแล้วออกได้ยาก-เมื่อได้ลงใจชอบอ่านเข้าแล้ว พลังของหนังสือมักจะดึงเราเข้าไปหาด้านอื่นในโลกของหนังสือด้วยเสมอ ทว่า คนส่วนใหญ่มักเลือกจบความฝันนั้นไว้ให้เป็นเพียงความฝัน แต่ไม่ใช่กับ แด๊กซ์-ปรัชวิชญ์ บุญยะวันตัง นักอ่านผู้ตัดสินใจว่าจะเป็นทั้งนักเขียน กวี และเจ้าของร้านหนังสือในคนเดียวกัน 

          ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ใครต่อใครที่อยู่ในแวดวงการประกวดในทุกเวทีอ่านเขียน คงพอได้ผ่านตาชื่อ ‘ปรัชวิชญ์ บุญยะวันตัง’ มาบ้าง ด้วยว่ามันเป็นขวบปีที่เขาเขียน เขียน และเขียนอย่างหนัก เขาไม่อวดอ้างว่าตนเองมีพรสวรรค์หรือเก่งกาจ แต่ความสม่ำเสมอย่อมสร้างผลงานมาตรฐานขึ้นได้ในวันหนึ่ง นวนิยาย ปูเลา สองเรา ปีนัง และ คล้ายว่าน่าน เพิ่งพ้นผ่านไม่นานนัก จากปลายปากกาของเขาจึงคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากหมวดนวนิยายขนาดสั้น ในเวทีเซเว่นบุ๊คอวอร์ดได้ถึง 2 ปีติด (ครั้งที่ 16 และ ครั้งที่ 17) 

          ยังไม่รวมถึงสิ่งพิมพ์ชื่ออื่น ๆ อย่าง ต่วย’ตูน พอกเก็ตแมกกาซีน, นิตยสาร ประกายรุ้ง, ชายคาเรื่องสั้น, มติชนสุดสัปดาห์ หรือกระทั่งการ์ตูนขายหัวเราะ ที่ล้วนมีผลงานของปรัชวิชญ์ตีพิมพ์แล้วอย่างน้อยหนึ่งหน

          เหนือไปจากเส้นทางของร้อยแก้ว ปรัชวิชญ์พาตัวเองเข้าสู่โลกของบทกวีจนได้เข้าร่วมงานอ่านบทกวี มีผลงานเผยแพร่ และมีหนังสือรวมเล่มบทกวีตีพิมพ์เป็นเล่มแรกในชื่อ ‘การเดินอากาศบางประการ’ ในปี 2564 ที่ผ่านมา ก่อนที่เขาจะเงียบหายไปพักใหญ่ แล้วกลับมาในฐานะเจ้าของร้านหนังสือ Swiftlet Bookshop & Coffee ร้านหนังสืออิสระเล็ก ๆ ในเมืองรองซึ่งเป็นบ้านเกิดอย่างจังหวัดพัทลุง

          เป็นเรื่องน่ายินดีที่เรายังได้เห็นการเติบโตจากนักอ่านสู่นักเขียนอยู่ใน พ.ศ. นี้ เราจึงขอบันทึกการเดินทางของนักอ่าน ผู้เป็นทั้งนักเขียน กวี และเจ้าของร้านหนังสือไว้ในบทสนทนา

ปรัชวิชญ์ บุญยะวันตัง : นักอ่าน นักเขียน กวี และเจ้าของร้านหนังสือนกนางแอ่น
Photo : Dax Bhratchawit

ก่อนจะเป็นนักอ่าน

          ก็น่าจะเป็นช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยนี่แหละ เรียนสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ ที่รามคำแหง พอเราเรียนมหาวิทยาลัยเปิด มันก็จะต่างจากเรียนมหาวิทยาลัยปิด มีเวลามากกว่า เราก็เอาเวลาไปอ่านหนังสือที่ห้องสมุด

          ห้องสมุดในรามฯ จะมีวรรณกรรมไทยที่ชั้น 3 มีทั้งเก่าทั้งใหม่ ช่วงแรกก็อ่านงานไทย งานเพื่อชีวิต เริ่มจากกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ แล้วก็มีชาติ กอบจิตติ หลัง ๆ ก็ชอบงานของอนุสรณ์ ติปยานนท์ แล้วก็อุทิศ เหมะมูลด้วย โดยเฉพาะงานที่ตัวละครเป็นวัยมหาวิทยาลัย เราก็จะอิน 

          ช่วงหลังก็เริ่มมาอ่านงานแปล อ่านมักซิม กอร์กี หรือว่าจอห์น สไตน์เบ็ก อ่านผลพวงแห่งความคับแค้น หรือว่า แม่ หรือ อัลแบรต์ กามูส์ ก็เริ่มจากงานวรรณกรรมคลาสสิก ไม่ได้มีใครมาคอยแนะให้ว่าควรอ่านอันนี้ไปอันนี้ ดังนั้นส่วนใหญ่จะอ่านจากชื่อนักเขียน เหมือนเราอ่านจากนักเขียนคนนี้แล้วเราชอบ เราว่าเล่มต่อไปมันก็ต้องโดน งานของเฮอร์มันน์ เฮสเส เราชอบทุกเล่ม ชอบเรื่องธรรมชาติและภาวะจิตใจ

          แล้วช่วงเรียนก็ได้เจอเพื่อนที่อ่านหนังสือเหมือนกัน เราก็เลยอ่านตามเพื่อน เพื่อนบอกว่าเล่มไหนดีก็อ่าน ถ้ารู้สึกว่าไม่ใช่ก็เปลี่ยนแนว ตอนนั้นเลยได้รวมกลุ่มกันเล็ก ๆ 3-4 คน เวลาว่างก็จะนัดคุยเรื่องวรรณกรรม ชวนกันไปร้านหนังสืออิสระ ทำ Book Club กัน

ปรัชวิชญ์ บุญยะวันตัง : นักอ่าน นักเขียน กวี และเจ้าของร้านหนังสือนกนางแอ่น
Photo : Dax Bhratchawit

กว่าจะเป็นนักเขียน

          ในกลุ่มเราก็จะมีทั้งคนชอบอ่าน คนชอบเขียน และมีคนที่ชอบทั้งอ่านละเขียนแบบเรา ก็เลยได้แลกเปลี่ยนกัน เหมือนอ่านงานหนึ่งใน มติชนสุดสัปดาห์ แล้วก็พูดกับเพื่อนเล่น ๆ ว่า ‘จริง ๆ งานแบบนี้กูก็เขียนได้’ เพื่อนเลยท้าว่าแน่จริงก็ลองเขียนส่งไปดู เราก็ส่งไปเรื่อย ๆ ประมาณครึ่งปีเหมือนกันนะ กว่าจะได้ลง (หัวเราะ) มันก็เป็นครั้งแรกเลยที่ได้ตีพิมพ์ ก็เลยได้รู้ว่า อ๋อ เรื่องสั้นมันเป็นอย่างนี้นี่เอง 

          พอเราชอบงานเขียนเราก็เริ่มเขียนให้เพื่อนอ่าน เพื่อนก็อ่านบ้างไม่อ่านบ้าง แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้จริงจังนะ  หมายความว่าไม่คิดว่ามันจะเป็นอาชีพได้ แม้ลึก ๆ แล้วจะอยากเป็นนักเขียนอยู่เหมือนกัน แล้วก็เขียนต่อมาเรื่อย ๆ จนมันกลายเป็นอาชีพจริง ๆ

          ช่วงที่เรียนก็จะเขียนแนวสะท้อนสังคม เพื่อชีวิต เขียนเสียดสีสังคม พอเรียนมานุษยวิทยามา ก็เลยสนใจชีวิตคนมากขึ้น เราอยากเล่าเรื่องที่เราถนัดมากกว่า และก็คิดว่ามีคนเล่าเรื่องภาพใหญ่เยอะแล้ว อยากเล่าเรื่องสิ่งเล็ก ๆ บ้าง เลยเขียนเพื่อคนตัวเล็ก ๆ มากกว่า 

          งานชิ้นแรกที่ได้ลงมติชนก็เป็นเรื่องแบบนี้ ชื่อเรื่องว่า คืนวันศุกร์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของผู้คนสองศาสนาที่อยู่ริมคลองแสนแสบ แล้วก็เป็นความรักที่เกิดขึ้นในช่วงเผด็จการ ในช่วงนั้นมันจะมีเคอร์ฟิวที่ว่าต้องรีบกลับบ้านกัน แล้วเมืองก็ไม่โรแมนติก

บรรณาธิการคนแรกของตัวเอง

          ถ้าพูดถึงงานเขียนในช่วงมหาวิทยาลัย พอย้อนกลับไปอ่านเราก็ไม่ได้ชอบเท่าไรนะ ตอนนั้นโลกของเราก็ไม่ได้กว้าง เราอยู่แค่กรุงเทพฯ เขียนเรื่องฝุ่น PM2.5 บ้างก็มี มันเริ่มเข้าที่เข้าทางตอนเรียนจบมากกว่า บางงานได้รางวัล แต่ก็ดีแล้วที่ไม่ได้ตีพิมพ์ (หัวเราะ)

          เราดีใจนะที่มันได้รางวัล แต่ก็พอใจเหมือนกันที่มันเป็นได้แค่ต้นฉบับ เพราะนึกภาพตอนตีพิมพ์ไม่ออก มันเป็นบันทึก เป็นงานเยาวชนมาก ๆ คือเหมาะที่จะได้รางวัลแต่ไม่เหมาะที่จะเอาไปตีพิมพ์ ทุกวันนี้ย้อนกลับไปอ่านแล้วก็ยังเฉย ๆ ช่วงเริ่มเขียนมันก็จะเห็นความเป็นมือใหม่ เห็นความเชยของเนื้อหา ในตอนแรกเรายังไม่ได้เป็น บก. งานตัวเองนึกออกไหม

          เรานึกถึงสมัยเรียน ที่เราต้องซื้อหนังสือเอง เวลาซื้อก็ต้องคิดว่ามันดีไหม ถ้าอ่านแล้วเฉย ๆ ก็เสียดายเงิน ก็เลยต้องคิดว่าจะซื้อหนังสือเล่มที่ดีจริง ๆ มีช่วงหนึ่งที่เราหยุดเขียนเรื่องสั้นไปเลย เพราะเบื่อ เบื่อที่เขียนกันเองอวยกันเอง เราเป็นคนไม่ค่อยมีพวก (หัวเราะ) แล้วก็เบื่อที่งานเชย ๆ มันได้รางวัล 

          ช่วงที่พักเขียนเรื่องสั้นก็เริ่มไปเขียนกวี แล้วก็ชอบนะ บทกวีมันเหมือนมีดดาบ เหมือนมีดสั้น ฉับเดียวเลย แล้วเราชอบงานของพี่อุเทนอยู่แล้ว (อุเทน มหามิตร ผู้ก่อตั้งเหล็กหมาดการพิมพ์-ผู้สัมภาษณ์) วันหนึ่งเราก็ไปบอกแกเล่น ๆ ว่าเรารวมต้นฉบับไว้อยู่ พอส่งให้แกดูแกก็บอกว่างั้นมาทำหนังสือกัน ก็เลยได้มาเป็นหนังสือ การเดินอากาศบางประการ แต่มันก็ไม่ได้ง่ายเหมือนที่พูดนะ เพราะมันต้องแก้ แล้ว บก.ก็ขอเพิ่มทีละ 10-20 บท เพราะบทที่ส่งไปมันใช้ไม่ได้ 

          หลัง ๆ ก็เลยเขียนแต่บทกวี ไม่ค่อยได้เขียนเรื่องสั้น ยกเว้นว่าจะเขียนเป็นวาระ เช่นว่า เราอยากส่งเวทีนี้ ก็จะเขียน แต่ถ้าเป็นบทกวีเราเขียนได้ทุกวันเลยโดยไม่ได้รู้สึกว่ามันคือการเคี่ยวเข็ญ พอเป็นการเขียนสำหรับเรามันเหมือนงานประจำอีกอย่าง ก็เลยทำทุกวัน เขียนทุกวัน

          การเขียนทุกวันมันก็เห็นการเติบโตว่าเราเขียนได้มากขึ้น พองานเริ่มได้ตีพิมพ์มากขึ้น เราก็จะเห็นว่า ตรงนี้มันควรตัด ตรงนี้มันควรเพิ่ม มันเหมือนกับว่าเราทำงานละเอียดมากขึ้น เอาจริงมันก็ยังเลี้ยงชีพไม่ได้หรอก แต่พอที่บ้านไม่ได้ว่าอะไร เราก็ได้เขียนเต็มที่

ปรัชวิชญ์ บุญยะวันตัง : นักอ่าน นักเขียน กวี และเจ้าของร้านหนังสือนกนางแอ่น
หนังสือ การเดินอากาศบางประการ
Photo : Dax Bhratchawit

กรุงเทพ-เชียงใหม่-พัทลุง การออกเดินทางเพื่อกลับบ้าน

          ช่วงที่เราคิดว่าจะหยุดเขียนเรื่องสั้น เราไปอยู่เชียงใหม่มาด้วย ไปทำงานร้านกาแฟ 2 ร้าน ช่วงสั้น ๆ ได้ไปเจอร้านที่ใช้กาแฟของไทย ใช้กาแฟที่เขา process กันเอง ไม่ใส่สารเคมี มันดีที่ได้รู้ว่าเราดื่มอะไร และบังเอิญว่าได้ไปอยู่กับเพื่อนที่เป็นนักกิจกรรม เราเลยได้ตามเพื่อนไปขายกาแฟในม็อบ เป็นช่วงที่เริ่มรู้ตัวว่าเราชอบทำกาแฟให้คนอื่นดื่ม และอยากเรียนรู้เกี่ยวกับกาแฟให้ได้มากกว่านี้ 

          แล้วช่วงที่บอกว่าขี้เกียจเขียนหนังสือ ตั้งใจว่าจะไม่เขียนหนังสือ งานเก่า ๆ ที่เคยส่งไปที่โน่นที่นี่ก็ดันได้ลงหมดเลยก็เลยกลับมาคิดเรื่องเขียนหนังสืออีก (หัวเราะ) แต่เราต้องทำเป็นอาชีพรองนะ 

          ตอนอยู่กรุงเทพเราก็จะมีวันที่เราตั้งใจจะไปร้านหนังสืออิสระ ก็ไปเลย วันหนึ่งไป 2-3 ร้าน แล้วเราก็ชอบช่วงเวลาที่ได้ไป มันรู้สึกว่าอย่างน้อยก็มีที่ที่ชอบ แต่พอนึกภาพย้อนมาตอนเราเป็นเด็กมัธยม เมืองนี้มันไม่ได้มีอะไร ถึงจุดหนึ่งเราก็เลยอยากทำร้านหนังสือนั่นแหละ แต่คิดว่าเราทำกาแฟไปด้วยได้ มันคงจะช่วยเรื่องรายได้ร้านได้บ้าง ก็เลยกลับบ้าน กลับพัทลุงมาเปิดร้านหนังสือ

ปรัชวิชญ์ บุญยะวันตัง : นักอ่าน นักเขียน กวี และเจ้าของร้านหนังสือนกนางแอ่น
Photo : Dax Bhratchawit

Swiftlet Bookshop & Coffee-ร้านหนังสือนกนางแอ่น

          ความตั้งใจคือ เราอยากให้ร้านหนังสือนกนางแอ่นเป็นพื้นที่ที่คนมาคุย มาอ่าน มาเขียน นักเรียนมาทำงานก็ได้ อยากเป็นสเปซ ตอนอยู่กรุงเทพเราชอบไปงานเสวนาด้วย ก็เลยอยากจัด talk จะเรียกว่าเป็นความคับแค้นด้วยก็ได้ เพราะว่าเวลามีกิจกรรมอะไร มันก็จะไม่ค่อยมาที่นี่หรอก เขาก็จะไปสงขลา ไปตรังกันมากกว่า ตอนนี้ก็กำลังคิดอยู่ว่าอยากจะลองฉายหนัง หนังแบบที่เราชอบ ซึ่งปกติถ้าอยู่กรุงเทพเราเดินไปซื้อตั๋วดูได้ง่าย ๆ หวังว่าจะทำได้นะ พื้นที่เราแค่เล็ก ๆ เราขายตั๋วให้ได้ซัก 40 ใบเราก็พอใจแล้ว 

          ตอนนี้เปิดมาได้เดือนกว่า เราไม่ได้ซีเรียสแล้วว่าเราจะต้องเป็นร้านหนังสือ ร้านกาแฟ หรืออะไร เราเป็นได้ทุกอย่าง ตอนนี้ก็ขายแกงกะหรี่อยู่ด้วย (หัวเราะ) เพราะร้านหนังสืออิสระมันควรเป็นมิตรมากกว่าร้านหนังสือในห้างไง

          เราเพิ่งเปิดร้านได้ไม่นาน แต่ตอนนี้ค่อนข้างพอใจเลย เพราะร้านอยู่ใกล้กับโรงเรียนด้วย เด็ก ๆ ก็มานั่งทำงานได้ เพราะตอนน้องมานั่งทำงาน เราก็นั่งทำงานของเราเหมือนกัน นั่งแก้ต้นฉบับ ทั้งของตัวเองและของคนอื่น เพราะตอนนี้เขียนนิยายเล่มใหม่อยู่ แล้วก็เป็น บก. ของ GLISS อยู่ด้วย ข้อดีของร้านหนังสือก็อาจจะเป็นตรงนี้ ที่ว่ามันต้องมาเฝ้าขนาดนั้น

          พอเราทำร้าน ก็มีเด็ก ๆ เข้ามา มาบอกว่าชอบที่มีร้านแบบนี้ มีผู้ใหญ่ที่ลูกเขาไปเรียนมหาวิทยาลัยหมดแล้ว เขามานั่งที่ร้านแล้วบอกว่าเขาก็เคยอยากเป็นนักเขียน แต่ที่บ้านให้ไปเป็นหมอ พอมีร้านนี้มันก็เหมือนได้เติมความฝันของเขาด้วยเหมือนกัน

          เคยคุยกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง เขามาถามว่าถ้าเขาจะทำร้านหนังสือด้วย จะได้ไหม เราก็บอกว่า ก็เปิดสิ เมืองที่ดีมันควรมีร้านหนังสือเยอะ ๆ ร้านหนังสือไม่ใช่ร้านชำ เราว่าการเปิดร้านหนังสือแข่งกันมันดีต่อเมืองมากกว่า เราไม่ได้คิดว่าเราเป็นคนต้นแบบ หรือเป็นแม่เหล็กอะไรแบบนั้นนะ แต่เรารู้สึกว่าคนที่ชอบอ่านชอบเขียน ถ้ามีร้านหนังสืออยู่ในเมือง วันหนึ่งเขาก็จะมาคอนเนกต์กันเอง

ปรัชวิชญ์ บุญยะวันตัง : นักอ่าน นักเขียน กวี และเจ้าของร้านหนังสือนกนางแอ่น
Photo: Swiftlet Bookshop & Coffee

ปรัชวิชญ์ บุญยะวันตัง : นักอ่าน นักเขียน กวี และเจ้าของร้านหนังสือนกนางแอ่น
Photo : Dax Bhratchawit

ชีวิตของนักเขียน และเจ้าของร้านหนังสือ

          ดีใจนะที่มาทำร้านหนังสือ เพราะเวลาบอกใครว่าเป็นนักเขียน มันต้องอธิบายเยอะ (หัวเราะ) เวลาไปหาหมอ เขาถามว่าทำงานอะไรก็จะบอกว่าเป็นฟรีแลนซ์ตลอด ตอนนี้งานประจำเราคงเป็นร้านหนังสือแหละมั้ง งานเขียนหนังสือก็คงเป็นงานอดิเรกไปแล้ว 

          ขนาดของร้านเราก็พอใจแค่นี้แล้ว เพราะกว้างกว่านี้ก็อาจจะเหนื่อย เรามองว่าเราทำร้านให้คนมีหนังสืออ่าน เหมือนเราทำร้านข้าวนั่นแหละ แค่มีของ มีลูกค้าทุกวันก็น่าจะโอเคแล้ว แล้วมันก็เป็นงานที่ทำคนเดียวได้ ไม่ต้องสุงสิงกับใคร แต่มันต้องเอาใจใส่คนเยอะเหมือนกันนะ แล้วมันก็คงจะมีปัญหาจุกจิกมาให้แก้เรื่อย ๆ เพราะเราก็ไม่ได้ศึกษาอะไรมาเลย 

          สำนักพิมพ์ทั้งหมดเราเป็นคนติดต่อไปเอง แล้วก็ขอหนังสือมาวางทีละน้อย ๆ เหมือนเขาแค่ต้องการความชัดเจนว่าเราเป็นร้านหนังสือจริง ๆ ใช่ไหม พอเขารู้ว่ามันขายได้ สำนักพิมพ์ก็โอเค ส่วนหนังสือฝากขายก็แจ้งยอดรายเดือน ที่เหลือก็อยู่ในช่วงเรียนรู้เหมือนกัน

          ถ้ามีคนเดินมาที่ร้าน มาดูหนังสือ ไม่ได้สั่งอะไร เราก็จะเข้าใจแล้วว่าโอเคเขามาดูหนังสือ เราก็จะแค่ทักทาย แต่ไม่ได้ถามว่าจะดื่มอะไร เพราะเราไม่ใช่ร้านอาหาร เราเป็นร้านหนังสือ เขาไม่ต้องดื่มอะไรก็ได้ ตอนเราเป็นลูกค้าเราก็ชอบไปร้านที่เขาปล่อยให้เราเอ็นจอยเวลาของเราไปเหมือนกัน มันก็โอเคนะ ก็ได้เรียนรู้วัฒนธรรมจากผู้คนในจังหวัด จนถึงวันนี้ก็ยังไม่เจอเรื่องปวดหัวเลย 

          แต่กับงานเขียนเราไม่ตามใจคนอ่านนะ อยากเขียนอะไรเราก็เขียน เราต้องตามใจเรา ให้คนอ่านบอกเองว่าเขาชอบหรือไม่ชอบ ถ้าเราตามใจคนอื่นงานเราก็จะไม่มีจุดยืน ถ้าแมสแล้วแต่ไม่เชื่อในสิ่งที่ตัวเองเขียน ก็ไม่แมสดีกว่า (หัวเราะ)

          พอมาทำร้านหนังสือ ก็อยากลองมีคอลัมน์ อยากเขียนเล่าจากร้านหนังสือของเรา สัปดาห์ละครั้ง เราอยากเขียนในมุมมองคนอื่นบ้าง คือเวลาเขียนที่ผ่าน ๆ มาเราจะเป็นสรรพนามบุรุษที่ 1 ตลอด แต่ตอนนี้อยากลองเขียนเป็นคนที่มาร้าน อยากเล่าในมุมมองของเขาดู อีกอย่างคือ อยากเขียนถึงเมือง เขียนถึงละแวกนี้ หลังร้านที่มีภูเขา มีลิงที่มาคุ้ยถังขยะทุกเย็น เขียนเป็นลิงมาเดินเที่ยว เป็นร้านหนังสือที่มีลิง ก็น่าสนุกดี

ปรัชวิชญ์ บุญยะวันตัง : นักอ่าน นักเขียน กวี และเจ้าของร้านหนังสือนกนางแอ่น
Photo: Swiftlet Bookshop & Coffee

ปรัชวิชญ์ บุญยะวันตัง : นักอ่าน นักเขียน กวี และเจ้าของร้านหนังสือนกนางแอ่น
Photo: Swiftlet Bookshop & Coffee

ติดตามกิจกรรมต่าง ๆ ของร้านหนังสือนกนางแอ่นได้ที่
Facebook : Swiftlet Bookshop & Coffee
Instagram : swiftlet.bookshop_coffee

ที่มา

Cover Photo : Dax Bhratchawit

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก