ปราบดา หยุ่น: ฉีกขนบงานเขียนทดลองที่เปิดโลกทัศน์การอ่านของคนไทย

1222 views
8 mins
June 18, 2024

          ปราบดา หยุ่น น่าจะเป็นนักเขียนไทยที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์งานเขียนมากที่สุดคนหนึ่ง

          ปราบดาสนใจการอ่านมาตั้งแต่เด็ก ขีดเขียนเป็นงานอดิเรก หลังกลับจากเรียนหนังสือที่สหรัฐอเมริกามานานกว่า 11 ปี ในช่วงวัยยี่สิบต้น เขาเริ่มต้นงานเขียนคอลัมน์ลงในนิตยสาร หัวก้าวหน้าเล่มหนึ่ง แต่ก็ยังไม่มากถึงขั้นอยากเป็น ‘นักเขียน’

          ท่ามกลางบรรยากาศสังคมที่วัฒนธรรมอัลเทอร์เนทีฟและอินดี้เติบโต บวกกับวิธีคิดในงานเขียนที่มีความเป็นศิลปะ เน้นความคิดสร้างสรรค์ในการเล่าเรื่อง และเล่นกับภาษามากกว่า งานเขียนของปราบดาจึงถูกเรียกว่าเป็น ‘งานทดลอง’ ที่ฉีกขนบแวดวงวรรณกรรมในเวลานั้น โดยเฉพาะ รูปแบบของการใช้ภาษา และการเล่นคำ ซึ่งทำให้งานเขียนของเขามีเอกลักษณ์โดดเด่น

          กระทั่งมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในการคว้ารางวัลซีไรต์ ในปี 2545 กับผลงานเรื่องสั้น ความน่าจะเป็น ที่สร้างแรงกระเพื่อมอย่างมากในแวดวงวรรณกรรม และถูกวิจารณ์อย่างหนักในข้อหา ‘ทำภาษาวิบัติ’ รวมไปถึงการวิจารณ์ว่าเป็นงานเขียนที่ไม่สะท้อนปัญหาของสังคม ในยุคที่เป้าหมายของวรรณกรรมไทยคือการเขียนวิพากษ์วิจารณ์สังคม ความเหลื่อมล้ำ และความยากจน

          แต่ในทางหนึ่งมันได้สร้างคุณูปการบางอย่าง ทำให้ทัศนคติของนักเขียนหน้าใหม่ที่มีต่องานวรรณกรรมในยุคนั้นมีทางเลือกเพิ่มขึ้น ทั้งยังเป็นการกรุยทางให้บรรดานักอ่านนักเขียนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบ ‘นักเขียนที่มีภาพลักษณ์แบบคนเมืองปกติ’ อย่างปราบดาได้มีต้นแบบในการเขียนหนังสือ ยังไม่นับการเป็นนักเขียนไทยเพียงไม่กี่คนที่มีโอกาสพิมพ์หนังสือและเผยแพร่ในประเทศญี่ปุ่น ทั้งคอลัมน์ในนิตยสาร งานเขียน และงานศิลปะ เปิดประตูให้คนญี่ปุ่นได้รู้จักงานเขียนของคนไทยมากขึ้น

          ด้วยอายุล่วงเข้าวัยกลางคน ตกผลึกทางความคิด บวกกับบุคลิกตัวตนที่ยังชัดเจนไม่เปลี่ยนแปลง วันนี้เราชวนปราบดามานั่งสนทนาถึงเบื้องหลัง ‘วิธีคิด’ และ ‘วิธีเขียน’ ของเขาว่ามันได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวงการวรรณกรรมไทยอย่างไรบ้าง

ปราบดา หยุ่น: ฉีกขนบงานเขียนทดลองที่เปิดโลกทัศน์การอ่านของคนไทย

ตอนไปเรียนที่อเมริกา ช่วงนั้นได้ติดตามแวดวงการอ่านของคนไทยบ้างไหม

          เราไปอเมริกาตอนอายุแค่ 14-15 ปี ภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ดีมาก ช่วงแรกก็ยังเขียนจดหมายหาเพื่อนที่เมืองไทยอยู่บ้าง แต่พอเริ่มเรียนหนัก แล้วไปเจอวิชาวิทยาศาสตร์ สังคม ซึ่งเราไม่รู้เรื่องเลย ก็ต้องทุ่มเทให้กับการเรียนมากขึ้น เลยขาดการติดต่อกับเมืองไทยไป เราอยู่อเมริกา 11 ปี ที่บ้านก็ส่งหนังสือมาให้เราอ่านบ้าง แต่ไม่ได้รับรู้วิวัฒนาการของแวดวงวรรณกรรม ไม่รู้ว่าเขาอ่านอะไรกันที่เมืองไทย

          ที่อเมริกา บางเมืองมีร้านขายของชำไทย เขาก็จะมีเทป มีหนังสือขายหลายชนิด นิดๆ หน่อยๆ จำได้ว่าจะมีร้านไทยแถวไชน่าทาวน์ ที่เอานิตยสารไทยหรือพ็อกเกตบุ๊กไทยมาขาย ส่วนใหญ่เป็นของที่กำลังดังในเมืองไทย ตอนนั้นมีหนังสือของ พี่โน้ส อุดม คนไทยที่อยู่อเมริกาก็อยากรู้เรื่อง เขาก็ต้องขวนขวายหามาอ่าน

แล้วหลังจากกลับเมืองไทย ได้ติดตามมากขึ้นไหม

          พอกลับมาก็ได้ติดตามบ้าง แต่ความสนใจเราก็เปลี่ยนไปแล้ว ถึงเราจะกลับไปตามบ้าง ก็ไม่ได้ตามแบบผูกพัน เหมือนตามแค่อยากรู้ว่าคนนี้ที่เราเคยอ่าน ตอนนี้เขาเขียนอะไร หรือเพลงที่เราเคยฟัง ตอนนี้มีอัลบั้มใหม่หรือยัง เป็นลักษณะนั้นมากกว่า

          ตอนนั้นนิตยสารเป็นสนามของการส่งงานเขียน แล้วงานเขียนแรกๆ ที่เราเขียนตอนกลับมา คือในนิตยสาร แพรวสุดสัปดาห์ ซึ่งถือว่ามีภาพลักษณ์ของความทันสมัย นำเสนอเรื่องที่ร่วมสมัย คนที่ทำในนั้นก็เป็นคนหนุ่มสาวที่มีชื่อเสียงเรื่องเทรนด์ แฟชั่น ในหมู่นิตยสารสำหรับคนหนุ่มสาวด้วยกัน แพรวฯ ก็ถือว่าค่อนข้างหัวก้าวหน้า ตอนนั้นก็เริ่มมี Alternative Writer คนเริ่มทำหนังสือทำมือกันเยอะ เป็นยุคที่ยังมีความเชื่อมโยงมาจากกระแสอัลเทอร์เนทีฟ ช่วงอินดี้ ช่วงเด็กแนวกำลังบูม ก่อนจะมีนิตยสาร a day เล่มแรก

งานเขียนของคนหนุ่มสาวในยุคนั้นมีเยอะไหม

          ไม่เยอะ เมื่อเทียบกับกระแสหลัก แต่ความเล็กของมันก็มีสีสัน มีความน่าสนใจ มีรสชาติฉูดฉาด หลากหลาย คนเลยพูดถึงเยอะ สื่อที่นำเสนอเรื่องพวกนี้ก็เยอะ ตอนนั้นมีนิตยสารเพื่อรองรับความเป็นอินดี้เยอะมาก มี a day, Summer, สารกระตุ้น, DNA แล้วทุกคนก็เหมือนมาจากแหล่งเดียวกัน

ปราบดา หยุ่น: ฉีกขนบงานเขียนทดลองที่เปิดโลกทัศน์การอ่านของคนไทย

ช่วงเริ่มต้น คุณเขียนเรื่องอะไร เป็นสิ่งที่คุณสนใจหรือเปล่า

          ไม่เลย ต้องบอกว่าเป็นความต่อเนื่องตั้งแต่วัยเด็ก

          ก่อนไปอเมริกา เราทำวารสารของโรงเรียนเทพศิรินทร์ ชื่อ ‘รั้วรำเพย’ เราเป็นคนเขียนเรื่องแทบทั้งหมด ทำสัมภาษณ์ เขียนเรื่องสั้น เขียนบทบรรณาธิการ ทำอาร์ตเวิร์ก เป็นช่วงที่เรียนรู้ขั้นตอนการทำนิตยสารแทบทั้งหมด เราเป็นคนชอบเขียน ว่างก็เขียน แต่ไม่ได้เขียนโดยคิดว่าจะเป็นนักเขียน หรือเขียนเพื่อส่งไปนิตยสาร เพราะตอนนั้นยังเด็กมันมีระยะห่างค่อนข้างสูงระหว่างเรากับสื่อ เวลาคิดว่าจะทำความรู้จักกับคนที่ทำนิตยสารสักเล่ม มีวิธีเดียวคือเขียนจดหมาย เราก็ไม่เคยคิดว่าจะไปเกี่ยวข้อง ก็เขียนเล่นๆ ด้วยความชอบ แต่ก็เคยได้ตีพิมพ์บ้าง

          ทีนี้ตอนอยู่อเมริกาไม่ค่อยมีเวลา บางทีนึกเบื่อๆ ก็เขียนเก็บไว้ เขียนส่งมาให้แม่อ่าน ก็อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ไม่ลืมภาษาไทย พอกลับมา ก็ยังเขียนเพราะว่าไม่มีอะไรทำ เราไปเกณฑ์ทหาร 6 เดือน พอเป็นทหารเสร็จ ก็อยู่ในช่วงเวลาทบทวนตัวเองว่า อยากสมัครงานที่ไหน อยากทำอะไร อยากอยู่เมืองไทยต่อไปไหม ถ้าไม่อยากต้องทำอย่างไร คือเขียนในช่วงเวลาที่ยังสับสนกับชีวิต เพราะฉะนั้นการเขียนมันก็เหมือนบำบัดเรา และเป็นการฆ่าเวลาไปด้วย เพราะเราเป็นคนชอบทำงานศิลปะ วาดรูป เขียนหนังสือ มันรู้สึกเป็นธรรมชาติ

คุณมีต้นแบบในการเขียนไหม

          ตอนเด็กๆ เราชอบงานของ ครูอบ ไชยวสุ นามปากกา ‘ฮิวเมอริสต์’ และอ่านงานที่เรียกว่าเพื่อชีวิต เช่น งานของ จำลอง ฝั่งชลจิตร ดังนั้นเวลาที่เราเขียนก็อยากเขียนให้ได้แบบเขา ไม่ได้เรียกว่าก๊อบปี้เนื้อหา แต่เป็นความรู้สึกว่าอ่านจบแล้วอยากให้เหมือนเราอ่านงานของคนนั้นคนนี้ หรืองานของ ประภาส ชลศรานนท์ เราก็ชอบ แต่เริ่มชอบจากวงดนตรีเฉลียง มันก็มีรูปแบบอย่างนั้นในตอนเด็ก

          แต่หลังจากกลับมาเมืองไทย เราก็ไม่ค่อยได้อ่านงานพวกนั้นแล้ว ความสนใจไปอยู่กับงานเขียนที่มีความเป็นศิลปะมากกว่า ตอนนั้นเลยมีมุมมองว่า การทำงานเขียนของเราไม่ใช่วรรณกรรมแบบดั้งเดิม หรือในแบบธรรมเนียม แต่เป็นงานวรรณกรรมที่เป็นงานศิลปะ หมายความว่าอ่านแล้วไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องราวที่มีความชัดเจนว่ามันคือตัวละคร หรือมันคือเรื่องอะไร แต่มองเป็นเหมือนประติมากรรมที่ทำด้วยตัวหนังสือ วิธีคิดเราเป็นแบบนั้น เราเลยไม่ได้มีต้นแบบที่เป็นนักเขียน แต่มีต้นแบบที่เป็นงานปรัชญา หรือศิลปิน หรือกวียุคโมเดิร์น ซึ่งเขามีการทดลองกับภาษาในรูปแบบของงานศิลปะมากกว่า

ถือเป็นข้อดีไหม ที่ทำให้งานเขียนหรือวิธีคิดของคุณแตกต่างจากนักเขียนคนอื่นในเวลานั้น

          เป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือเราไม่ได้รู้สึกว่ากำลังทำงานในสกุลอะไร หรือเราไม่รู้สึกว่าถูกจำกัดอยู่ในกลุ่มไหน แต่ข้อเสียคือ มันค่อนข้างโดดเดี่ยว เวลาใครถามแล้วเราอธิบายไป เขาก็ไม่เข้าใจว่าเราพูดถึงอะไร อีกอย่างการรับรู้ของสังคมไทยยุคนั้นเกี่ยวกับงานศิลปะก็ยังไม่กว้างเท่าทุกวันนี้ มันมีความเป็นจารีตพอสมควร สิ่งที่เราคุย สิ่งที่พยายามจะสื่อมันก็ถูกตีความ ถูกมองไปอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่จุดประสงค์ ไม่ใช่ความตั้งใจของเรา แต่เรื่องพวกนั้นห้ามไม่ได้อยู่แล้ว จะบังคับให้คนอ่านคิดเหมือนเราไม่ได้ เราเลยไม่ได้สนใจมาก

สิ่งที่คนอ่านได้เห็นในงานเขียนของคุณคือ ชอบวิพากษ์สังคม สังเกตพฤติกรรมมนุษย์ ใช้อารมณ์ขันเสียดสี มุมมองเหล่านี้มาจากไหน

          โดยพื้นฐานเราเป็นคนชอบอารมณ์ขัน ตัวเองอาจไม่ใช่คนตลก เวลาอยู่กับใครก็ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นคนตลก แต่สิ่งที่ชอบจริงๆ คือเรื่องตลก ชอบดูหนังตลก รายการตลก หรือสแตนด์อัปคอมเมดี้ เราคิดว่าเปอร์เซ็นต์ส่วนใหญ่ของสิ่งที่เสพในชีวิตเป็นเรื่องอารมณ์ขันมากกว่าเรื่องอื่นๆ มันก็เลยอยู่ในตัวเราอยู่แล้ว

          ทีนี้เวลาเขียนเราเป็นพวกชอบอารมณ์ขันที่มีด้านมืดหน่อยๆ  ไม่ใช่ขำแบบตลกอย่างเดียว แต่ขำเพราะมันล้อเลียนอะไรบางอย่าง ซึ่งบางทีการล้อเลียนทำให้เห็นความจริงบางอย่างที่คนไม่กล้าพูด แต่ใช้อารมณ์ขันเพื่อทำให้การวิจารณ์เบาลง แต่มันก็พูดถึงความจริงด้วยเหมือนกัน เช่น เวลาคนล้อเรื่องการเมือง ล้อบุคคลในสังคม ถ้าเราใช้วิธีล้อให้ขำ มันก็ไม่รุนแรงเท่าการด่า เราชอบอารมณ์ขันแบบนั้น เวลาเขียนมันก็เลยออกมาโดยอัตโนมัติ

          การเสียดสีของเราไม่ได้มีความซีเรียสจริงจังกับเรื่องระเบียบวินัยขนาดนั้น เราไม่ได้คิดว่าภาษาเป็นเรื่องตายตัวที่คุณเขียนแบบนี้ในช่วงยุคนี้ แล้วคุณจะต้องทำแบบนี้ไปตลอด บางคนจะมีความเคร่งครัดแบบนั้น แต่สำหรับเราความน่าสนใจคือภาษามันเปลี่ยน กลายพันธุ์ ผสมผสานกับภาษานอกแล้วกลายเป็นอีกคนหนึ่ง เราสนใจภาษาในลักษณะที่มันมีวิวัฒนาการ มีความเปลี่ยนแปลง มากกว่าที่มันจะถูกแช่เอาไว้

ปราบดา หยุ่น: ฉีกขนบงานเขียนทดลองที่เปิดโลกทัศน์การอ่านของคนไทย

รวมเรื่องสั้นรางวัลซีไรต์ ความน่าจะเป็น ของคุณโดนวิจารณ์อย่างมากในเรื่องความแปลกใหม่ โดยเฉพาะรูปแบบการใช้ภาษา ตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

          สิ่งที่เขาวิจารณ์มีหลายรูปแบบมาก ทั้งรูปแบบการใช้ภาษา ซึ่งถ้าเป็นมุมของคนที่มีความอนุรักษนิยมเกี่ยวกับจารีตประเพณี เขาก็จะคิดว่าเราทำภาษาวิบัติ เพราะเราเล่นกับคำไปเรื่อยโดยไม่มีความเคารพต่อความหมายของมัน ซึ่งคำวิจารณ์อันนี้ เราก็รับได้ครึ่งหนึ่ง บางส่วนมันก็เป็นการเล่นกับภาษา บางส่วนเราก็ความรู้น้อยจริงๆ หมายถึงเราเล่นกับคำโดยที่เรามีความรู้เกี่ยวกับมันไม่มากพอ อันนี้ก็เป็นประโยชน์ให้เราได้กลับไปศึกษาว่าสิ่งที่เขาพูดจริงเท็จแค่ไหน ทำให้เราได้สำรวจตัวเองด้วย

          นอกจากนี้ยังถูกวิจารณ์ว่าเป็นงานเขียนที่ไม่สะท้อนปัญหาของสังคม คือยุควรรณกรรมไทยที่ค่อนข้างจะเข้มแข็งมากๆ คือยุคเพื่อชีวิต เป้าหมายก็คือการเขียนวิพากษ์วิจารณ์สังคม ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ซึ่งเขามองว่างานรูปแบบของเราไม่มีการสะท้อนแบบนั้น ซึ่งข้อนี้บางเรื่องที่เขียนเราก็ไม่ได้มีการวิจารณ์สังคม แต่ในขณะเดียวกัน เวลาเขียนก็รู้สึกว่าเราวิพากษ์วิจารณ์อีกแบบหนึ่ง อาจเป็นการวิพากษ์วิจารณ์แบบคนที่อยู่ในเมือง ซึ่งเมื่อก่อนคำว่าเมืองมันถูกมองด้วยภาพลบ ชนบทดีกว่าเมือง ชนบทถูกเมืองกดขี่ แต่ในความเป็นจริงคือ ทุกคนก็เข้ามาในเมืองกันหมด คนต่างจังหวัดก็อยู่ในเมือง เมืองเป็นศูนย์รวมของทุกอย่าง ทั้งความรวย ความจน คนทุกรูปแบบอยู่ในสังคมเมือง แล้วเราวิจารณ์สังคมในมุมของคนที่อยู่ข้างใน ไม่ใช่มองมาจากภายนอก เพราะฉะนั้นมันย่อมมีความรู้สึกทั้งที่เป็นส่วนหนึ่งของเมือง ทั้งชอบและไม่ชอบเมือง ทั้งความจำเป็นที่จะต้องอยู่ในเมือง มีหลายมิติของคนที่อยู่ในเมือง ไม่จำเป็นว่าคุณอยู่ในเมือง เป็นคนชนชั้นกลาง เป็นคนมีฐานะ แล้วคุณต้องชอบสิ่งที่คุณเป็น เรารู้สึกว่าวิธีเขียนเรามันก็วิพากษ์วิจารณ์รูปแบบทุกอย่าง

          ความจริงตอนที่ได้รางวัล ก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะได้ เพราะเวลาที่เขียนงาน ก็ไม่เคยคิดว่างานเราจะเป็นลักษณะงานที่ได้รางวัล เวลาคนถามเราก็บอกด้วยซ้ำไปว่าเขียนงานบ้าๆ บอๆ เอาสนุก ไม่ได้จริงจังว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงสังคม หรือเขียนเพื่อความยิ่งใหญ่อะไร เราไม่ได้มองงานศิลปะหรืองานเขียนเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ มันเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์แบบหนึ่งในสังคม

คิดอย่างไรที่มีคนพูดว่า ถ้าไม่เขียนงานเพื่อชีวิตหรือไม่รับใช้สังคม ถือเป็นงานที่ไม่ดี

          เราไม่ได้มีอคติอะไรกับงานเพื่อชีวิต ความจริงเราคิดว่าเป็นงานที่จำเป็นต้องมี ตอนเด็กเราก็ชอบอ่าน แต่แค่รู้สึกว่าถ้าคำว่างานวรรณกรรมถูกจำกัดอยู่ในกรอบว่าจะต้องเขียนเกี่ยวกับอะไร มันเหมือนมีความเป็นเผด็จการทางความคิดว่างานศิลปะด้านการเขียนต้องเป็นงานเกี่ยวกับอะไร ซึ่งจริงๆ แล้วตามประวัติศาสตร์มันก็มาจากระบอบสังคมนิยม ระบอบคอมมิวนิสต์ที่เขารู้สึกว่าสิ่งฟุ่มเฟือยของชีวิต เป็นสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในสังคม หรือเป็นสิ่งที่เป็นแค่ความสนใจของชนชั้นกลาง ของกระฎุมพี ของนายทุน ไม่ใช่สิ่งที่จะเอื้อให้สังคมมีความเท่าเทียมกัน ซึ่งอันนี้ก็เป็นเหตุผลที่รับฟังได้ เพียงแต่เรารู้สึกว่า ถ้ามองงานเขียนว่าเป็นการสะท้อนภาพชีวิตของมนุษย์ มันก็ย่อมต้องเขียนเกี่ยวกับอะไรก็ได้ การเขียนไม่ได้แปลว่าคุณกำลังชี้นำสังคมให้ไปในทางไหนเป็นพิเศษ บางทีการเขียนมันคือการทำให้เราได้ศึกษา เรียนรู้มิติต่างๆ ของความเป็นมนุษย์ได้ลึกซึ้งขึ้น

          สมมติว่าบางคนชอบเขียนโดยอิงประวัติชีวิตตัวเอง ซึ่งประวัติชีวิตเขาอาจเข้มข้นมาก หรือเขาอาจมีปัญหาทางจิตใจ ปัญหาสุขภาพ หรือเคยผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองที่มันสุ่มเสี่ยง แหลมคม เมื่อเขาเขียนออกมา เราก็อาจมองได้ว่ามันเป็นแค่ชีวิตของคนคนหนึ่ง ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับคนอื่น แต่ถ้าเราเอารายละเอียดในชีวิตเขามาคิดทบทวน หรือประยุกต์ใช้กับเราได้ มันก็มีประโยชน์ เราถึงได้มองว่าเขียนเกี่ยวกับอะไรก็ได้ งานเขียนมันไม่ควรถูกจำกัดอยู่ว่าเนื้อหาควรจะเกี่ยวกับอะไร มันอยู่ที่ว่าคุณนำเสนอออกมาแล้ว คนอ่านได้อะไรจากสิ่งที่คุณเขียนมากกว่า

          เพราะฉะนั้น สมมติว่าเราเป็นคนที่เกิดมาในชนชั้นแบบนี้ เกิดมาเป็นลูกสุทธิชัย หยุ่น เรียนจบจากต่างประเทศ แปลว่าเราไม่มีสิทธิ์เขียนหนังสือเหรอ ทุกคนก็ควรมีสิทธิ์ที่จะเขียนหนังสือได้ เพียงแต่ว่าการเขียนหนังสือ การทำงานศิลปะอะไรก็ตาม มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเราว่ามีประโยชน์หรือไม่มี ถ้าไม่มีใครอ่านก็ไม่มีประโยชน์อะไร แต่ถ้ามีคนอ่าน เราก็ต้องไปถามคนอ่านว่าได้ประโยชน์อะไรจากงานของเราหรือเปล่า ซึ่งเรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่เราบังคับไม่ได้อยู่แล้ว ก็เลยมองว่า การที่มีคนพยายามมาจำกัดหรือนิยามวรรณกรรมว่าควรจะเป็นอะไร เกี่ยวกับอะไร มันเป็นเรื่องไร้สาระ

การได้รางวัลซีไรต์จาก ความน่าจะเป็น นอกจากการถูกวิจารณ์ มันสร้างความตื่นตัวอะไรกับแวดวงการอ่านในเวลานั้นบ้างไหม

          จากสิ่งที่ได้รับรู้มันมีผลอยู่เยอะ เพราะช่วงนั้น จู่ๆ ก็มีคนอยากเป็นนักเขียนขึ้นมาเยอะแยะ คงเหมือนเวลามีวงดนตรีเกิดขึ้นมาแล้วทำให้คนอยากเป็นนักดนตรี คือมันมีแบบอย่างที่เขารู้สึกว่ามันน่าสนใจ แล้วบังเอิญว่าตอนนั้นเราก็ยังอายุน้อย ซึ่งเมื่อก่อนจะมีภาพจำของนักเขียนว่าจะต้องแต่งตัวแบบนี้ พันผ้าขาวม้า ซึ่งภาพลักษณ์เราไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย เราก็ดูเป็นคนเมืองปกติ แต่งตัวตามสมัยนิยม

          ธรรมชาติของวัยรุ่นเขาก็จะชอบหาต้นแบบหรือไอดอลในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรี ดารา นักร้อง หรืออะไรก็ตาม เราก็คงกลายเป็นต้นแบบหนึ่งของคนที่สนใจการอ่านการเขียน หลายคนที่เราได้เจอหลังจากนั้นก็มาบอกว่า หนังสือของเราเป็นหนังสือเล่มแรกในชีวิตที่อ่าน ในมุมนั้นเราก็คงมีส่วนทำให้ทัศนคติเกี่ยวกับงานวรรณกรรมของคนไทยในยุคนั้นมีทางเลือกเพิ่มขึ้น ทำให้เขารู้สึกว่า ชีวิตแบบฉันก็เขียนหนังสือได้ ไม่จำเป็นต้องมาจากต่างจังหวัด ไม่จำเป็นต้องเขียนแต่เรื่องความเหลื่อมล้ำ อะไรๆ ก็เขียนเป็นวรรณกรรมได้ คิดว่าเราคงมีส่วนในการเปิดโลกทัศน์ให้กับคนในยุคนั้นอยู่บ้าง

ปราบดา หยุ่น: ฉีกขนบงานเขียนทดลองที่เปิดโลกทัศน์การอ่านของคนไทย

ด้วยพื้นฐานวิธีคิดของคุณที่สะท้อนผ่านงานเขียน มันทำให้คนนิยามงานเขียนคุณว่าเป็น ‘งานเชิงทดลอง’ คุณมองคำนี้อย่างไร

          ถ้าเป็นยุคแรกๆ ที่เขียนหนังสือ ก็อาจจะใช้คำนั้นได้ เพราะเราก็มองว่ามันไม่ใช่งานเขียนที่เป็นวรรณกรรมเพียวๆ แต่มีความผสมผสานของความเป็นงานศิลปะอยู่ อย่างที่บอกว่า เราสนใจศิลปะ สนใจงานประติมากรรม สนใจงานเพนติ้ง (painting) เวลาเราเขียนก็จะมีคอนเซปต์อยู่ในหัวว่างานนี้เราต้องการที่จะทำให้มีภาพลักษณะไหนด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องเกี่ยวกับอะไร คือเรื่องแทบจะไม่สำคัญเท่าไรในตอนนั้น

          ฉะนั้น ถ้ามองในมุมนั้นก็เรียกว่าเป็นงานทดลองได้ เพราะมันก็เป็นงานที่ไม่ได้เป็นตามขนบของการเขียนวรรณกรรมเท่าไร แต่ว่าโดยส่วนตัวก็เป็นคนชอบงานวรรณกรรมปกติทั่วไป แล้วเรามีความรู้สึกว่างานวรรณกรรมที่ประสบความสำเร็จคืองานที่คนอ่านรู้สึกมีส่วนร่วม เสมือนว่าได้เข้าไปอยู่ในเรื่องนั้น ได้สัมผัสกับตัวละคร รู้สึกร่วมกับตัวละคร ลุ้นไปกับตัวละคร ถ้าเขียนแบบนั้นได้ เราก็จะรู้สึกประสบความสำเร็จในอีกแบบหนึ่ง ก็เลยพยายามเขียนแบบนั้นในช่วงหลัง พยายามทำงานวรรณกรรมให้เป็นงานวรรณกรรม มากกว่าจะเป็นงานทดลองแบบกึ่งงานศิลปะเหมือนในช่วงแรก

ถ้าให้วิจารณ์ผลงานตัวเอง จากวันนั้นถึงวันนี้เปลี่ยนไปเยอะไหม

          เปลี่ยนไปเยอะเหมือนกัน ทุกวันนี้รู้สึกเครียดขึ้น (หัวเราะ) ความจริงแล้วถ้าในฐานะคนอ่าน ก็จะมีบางช่วงที่เราไม่อ่านงานเก่าเลย เพราะรู้สึกว่าเป็นช่วงที่เราเด็ก บางเรื่องเราเขียนเอาสนุก มันไม่มีเหตุผล ไม่มีสาระ แต่พอถึงวัยนี้พอกลับไปอ่านบางอย่าง ก็รู้สึกว่า ในวัยหนึ่งมันก็ควรเป็นแบบนั้น มันควรเป็นวัยที่ไม่ต้องคิดมากว่าคุณต้องทำงานที่มีคุณค่าหรือเปล่า เป็นวัยทดลอง ซึ่งพลังของการทดลองเป็นสิ่งที่จับต้องยาก แต่เรารู้สึกว่ามันมีรสชาติที่เข้มข้นกว่าการทำงานในแบบที่เรารู้อยู่แล้วว่าจะทำอะไร มันมีพลังผลักบางอย่างที่เราชอบ เหมือนเวลาฟังเพลงบางครั้งเราก็ชอบฟังเพลงพังก์ร็อกที่เสียงดัง รุนแรง แต่ฟังไม่รู้เรื่องหรอกว่าเขาร้องอะไร มีแต่ความแรงของดนตรี แต่ในนั้นมันมีพลังที่เราชอบ มันไม่ใช่สิ่งที่ฟังได้ตลอดเวลา แต่พอฟังแล้วก็จะรู้สึกว่าได้เติมพลังอะไรบางอย่าง ซึ่งในวัยหนึ่งคนเราได้ทำอะไรแบบนั้นมันก็ดีแล้ว

          มาถึงตอนนี้รู้สึกว่าอาจจะคิดมากไปหน่อย เวลาเขียนอะไรก็ต้องแฝงวาระ หรือมีสัญลักษณ์ที่เราต้องการจะสื่ออยู่มากกว่าสมัยก่อน ซึ่งก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ไม่ได้ดีหรือแย่กว่ากัน เพียงแต่ว่าเราก็สนใจอีกแบบไปแล้ว

คุณเป็นนักเขียนไทยที่งานมีโอกาสไปตีพิมพ์ที่ญี่ปุ่น อยากรู้ว่านักอ่านญี่ปุ่นเขามองนักเขียนไทยอย่างไร

          ในยุคหนึ่ง คนญี่ปุ่นให้ความสนใจต่อสังคมไทยเยอะ เพราะเขามองว่าเมืองไทยเป็นที่ที่ชีวิตเรียบง่ายกว่าญี่ปุ่น ญี่ปุ่นมีความเครียดสูง แข่งขันสูง ก็จะมีคนญี่ปุ่นบางกลุ่มที่นิยมมาอยู่ในสังคมแบบเมืองไทยที่ทุกอย่างเคลื่อนตัวช้ากว่า สโลว์ไลฟ์กว่า คนที่มีทัศนคติแบบนั้น ก็จะเริ่มสนใจวัฒนธรรมไทย ฟังเพลงไทย อ่านวรรณกรรมไทย ซึ่งเราก็โชคดีที่งานของเราเป็นหนึ่งในไม่กี่งานของคนไทยที่ได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น แต่เราคิดว่าค่านิยมของคนญี่ปุ่นก็ยังคล้ายๆ กับที่อื่นในโลก คือยังให้ความสนใจกับตะวันตกมากกว่า เพราะฉะนั้นงานแปลตะวันตกก็ยังเป็นที่สนใจมากกว่าอยู่ดี ความเป็นนักเขียนไทยถือว่าเป็นวัฒนธรรมรองมาก ต้องเป็นคนที่สนใจจริงๆ ถึงจะรู้จัก

          ทุกวันนี้ความสนใจเกี่ยวกับประเทศไทยของเขาจะถูกแบ่งเป็นกลุ่มๆ อย่างซีรีส์วายเป็นที่นิยมมากในญี่ปุ่น แต่ก็เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้หญิงที่อาจจะเรียกว่ากลุ่มแม่บ้าน ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็มีน้อยที่จะสนใจมาอ่านวรรณกรรม แล้วก็ยังมีกลุ่มคนฟังเพลงอินดี้ของไทย กลุ่มคนชอบดูหนังไทย กระจัดกระจายไป

ปราบดา หยุ่น: ฉีกขนบงานเขียนทดลองที่เปิดโลกทัศน์การอ่านของคนไทย

บรรยากาศการทำงานกับคนญี่ปุ่น ทั้งนักเขียนและสำนักพิมพ์ แตกต่างจากไทยมากน้อยแค่ไหน

          ในช่วงแรกที่ไปรู้สึกต่างมากแบบฟ้ากับเหว หมายถึงความจริงจังของคนญี่ปุ่นในการปฏิบัติกับเรา หรือเรื่องการผลิตงานของเรา มันเป็นขั้นเป็นตอนที่ละเอียดมาก มีการเชิญคนออกแบบปกมาคุยกับเรา มีบทสนทนาแบบจริงจังในหลักการของการออกแบบว่าเราต้องการอะไร เขาต้องการอะไร

          สังคมญี่ปุ่นมีความเคารพต่อคนที่ทำงานด้านวัฒนธรรมมาก เพราะฉะนั้นคนที่ทำงานศิลปะใดๆ ก็ตาม จะถูกจัดอยู่ในอีกระดับชนชั้นหนึ่งของสังคม อาจเรียกว่าชนชั้นปัญญาชน ทุกคนจะถูกเรียกว่า ‘อาจารย์’ หรือ ‘เซนเซ’ หมด เราก็กลายเป็น ‘เซนเซ’ (หัวเราะ) แล้วก็ได้รับการต้อนรับที่ดีมาก เขามองว่าคนทำงานศิลปวัฒนธรรมคือผู้ให้จิตวิญญาณกับสังคม ถูกจัดอยู่ในกลุ่มคนพิเศษไปเลย มีอภิสิทธิ์ในแง่ความเป็นปัญญาชน

          แม้แต่เรื่องค่าตอบแทนก็สูงกว่าเมืองไทยสองสามเท่า ทั้งการพิมพ์ ค่าเรื่อง ค่าพิมพ์ ค่าลิขสิทธิ์ เรียกว่ามีมาตรฐานที่เป็นสากล อาจจะเทียบได้กับอเมริกา อังกฤษ เราก็ประทับใจ รู้สึกว่ามันมีความจริงจัง เป็นมืออาชีพกว่าที่เมืองไทยเยอะ

คนญี่ปุ่นมองหางานเขียนของคนไทยอย่างมีนัยสำคัญอย่างไรบ้างไหม

          ก็คล้ายกับเมื่อก่อน เขายังโหยหาชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ต้องแข่งขันสูง แต่เราคิดว่ายังไม่มีคนไทยเขียนงานที่ตั้งใจให้คนญี่ปุ่นอ่าน ก็เลยไม่รู้ว่าถ้าสมมติเราทำแบบนั้น เขาจะสนใจมากน้อยแค่ไหน เราก็ไม่เคยเขียนงานที่คนญี่ปุ่นมาอยู่เชียงใหม่อ่านอะไรแบบนั้น ซึ่งมันเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมหนึ่งก็ได้ เพราะเชียงใหม่เป็นที่รู้จักของคนญี่ปุ่นมากกว่ากรุงเทพฯ เสียอีก มีคนไปปักหลักอยู่ที่นั่นเยอะ น่าจะมีคนลองเขียนวรรณกรรมอะไรที่เกี่ยวกับคนญี่ปุ่นในเมืองไทยดูนะ เขาอาจสนใจก็ได้ เพราะคนญี่ปุ่นเคยบอกเราว่า ‘คนญี่ปุ่นชอบอ่านอะไรที่เกี่ยวกับคนญี่ปุ่นด้วยกัน’

มีความคาดหวังไหมว่างานของนักเขียนไทยจะได้ตีพิมพ์ในต่างประเทศเยอะๆ

          ทุกวันนี้มีโอกาสมากขึ้นกว่าเดิม เราก็มีงานแปลเป็นภาษาอังกฤษ และพิมพ์ที่สำนักพิมพ์อังกฤษ ซึ่งสำนักพิมพ์เดียวกันนี้ก็กำลังจะพิมพ์งานของ ภู กระดาษ ก็ถือเป็นงานเขียนของไทยลำดับที่สาม เพราะเขาเคยพิมพ์งานของ เดือนวาด พิมวนา ไปแล้ว เราคิดว่าภาษาอังกฤษน่าจะมีโอกาสมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าคนไทยยังผลิตงานออกมาเรื่อยๆ อย่าง อุทิศ เหมะมูล หรือ วีรพร นิติประภา ก็จะได้พิมพ์ภาษาอังกฤษเหมือนกัน

          สำหรับนักเขียนไทยร่วมสมัย ถ้าผลิตงานที่เข้มข้นเกี่ยวกับสังคมหรือมีมุมมองที่ต่างออกไปจากตะวันตก เราเชื่อว่ามันจะง่ายขึ้นในการหาช่องทางไปพิมพ์ต่างประเทศ เพราะว่าโลกมันแคบลง แล้วคนก็สนใจมุมมองของคนต่างวัฒนธรรมมากขึ้น แต่ญี่ปุ่นอาจจะยากหน่อย เขาไม่ได้พิมพ์งานแปลเยอะ ถ้าจะพิมพ์งานแปลเขาก็จะเลือกตะวันตก เพราะฉะนั้นถ้าจะมาถึงไทย มันก็ต้องมีเหตุผลอะไรบางอย่าง หรือมีจุดเด่นอะไร

ปราบดา หยุ่น: ฉีกขนบงานเขียนทดลองที่เปิดโลกทัศน์การอ่านของคนไทย


เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Readtopia ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศการอ่านของไทย’ (2566)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก