มองโคราชในมุมของคนทำหนังไทยที่ไปไกลถึงเวทีโลก ใหม่ – พสธร วัชรพาณิชย์

32 views
February 13, 2025

ชาวอีสานคงคุ้นเคยกับตำนานท้องถิ่นลุ่มแม่น้ำมูล ‘ท้าวปาจิตกับนางอรพิม’ ไม่มากก็น้อย เพราะตำนานนี้มีอิทธิพลต่อการตั้งชื่อบ้านนามเมืองแถบอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา แต่การเล่าเรื่องเวอร์ชันที่ ‘ปัง’ จนโด่งดังข้ามทวีป เห็นจะเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘มันดาลา’ หรือ ‘Rivulet of Universe’ เขียนบทและกำกับโดย ใหม่ – พสธร วัชรพาณิชย์ ที่นำตำนานมาตีความและดัดแปลงให้เป็นภาพยนตร์ร่วมสมัย ชวนคนดูมาทำความเข้าใจอัตลักษณ์ของความเป็นมนุษย์ผ่านตัวละครสองยุค

มันดาลา ได้รับคัดเลือกให้ผ่านเข้ารอบไปฉายในโปรแกรม Bright Future ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติร็อตเทอร์ดัม ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์ และยังมีโอกาสได้ไปฉายต่อในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปักกิ่ง ก่อนที่จะกลับมาเยือนถิ่นต้นกำเนิดในงานเทศกาลศิลปะ ‘พิมายฬองวีค’ ที่ใหม่ร่วมกับเพื่อนๆ กลุ่ม ‘อัดสะจัน’ เปลี่ยนพื้นที่รอบปราสาทหินพิมายให้กลายเป็นลานศิลปะร่วมสมัยเชิงทดลอง

นอกจากจะเป็นผู้กำกับหนังไฟแรง ใหม่ยังร่วมมือกับเพื่อนศิลปินผลักดันให้เกิด PoonPin อาร์ตสเปซในพิมาย ที่เจ้าตัวเองก็ไม่แน่ใจว่าจะจัดตัวเองให้อยู่ในตำแหน่งภัณฑารักษ์ได้หรือไม่ เพราะบทบาทครอบคลุมตั้งแต่คิดไอเดีย เรียบเรียงเนื้อหา จัดหาวัสดุอุปกรณ์มาทำนิทรรศการ และประชาสัมพันธ์ เรียกได้ว่าเป็นทุกอย่างให้กับ PoonPin แล้ว

หากเล่าประวัติของใหม่เพียงเท่านี้ คงฟังดูเหมือนเส้นทางศิลปินของเขาจะราบรื่นและมีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่เชื่อหรือไม่ว่า…มันไม่ได้ตรงไปตรงมาขนาดนั้น

“ผมสนใจภาพยนตร์มาตั้งแต่เด็กๆ แต่ศิลปะที่เราเข้าถึงได้ตอนนั้นมันก็มีแค่การวาดภาพ ระบายสี ประกวดสีน้ำ ซึ่งก็สารภาพว่าไม่ได้เก่งอะไร จะให้วาดภาพระบายสีแข่งกับคนอื่น เรารู้สึกว่าเราทำไม่ได้ ผมไม่รู้ว่าศิลปะคืออะไร รู้แค่ว่าศิลปะคือการทำงานส่งประกวดให้สวย ใครวาดสวยคือดี ความเข้าใจศิลปะของผมมันมีอยู่แค่นี้เองในบริบทตอนนั้น”

ด้วยความที่เมืองพิมายในเวลานั้นไม่ได้มีแหล่งเรียนรู้ที่จะช่วยให้ค้นหาตัวตนได้ เขาจึงเลือกเรียนสายวิทย์-คณิต เพื่อประกอบอาชีพตามค่านิยมของสังคม และค้นพบในภายหลังว่าสายงานด้านวิทยาศาสตร์คงไม่ใช่แนวของตัวเอง “บังเอิญว่าการเรียนภาพยนตร์มันเป็นครึ่งๆ ของการใช้เทคโนโลยีกับการเล่าเรื่อง เราก็เลยเข้าไปเรียนแล้วก็เริ่มเข้าใจศิลปะมากขึ้น ส่วนหนึ่งของภาพยนตร์มันก็คือศิลปะนั่นแหละ พอได้ทำหนังก็เริ่มเข้าใจว่าหนังเป็นหนึ่งในแขนงของศิลปะยุคใหม่ และบันทึกศิลปะทั้งเจ็ดแขนงไว้อย่างไร”

ด้วยระยะเวลาเกือบ 5 ปี เพื่อเคี่ยวกรำ มันดาลา ผู้กำกับคนนี้ได้ปลดปล่อยศักยภาพ และเติบโตจากประสบการณ์ที่ได้รับ “ผมทำเรื่องนี้ประมาณ 4-5 ปี เป็นกระบวนการที่นานมากสำหรับการผลิตอะไรสักอย่าง มันเป็นเหมือนการเดินทางของความสนใจ หรือการค้นหาตัวเองในช่วงวัยนั้นด้วย ผมโตมากับเมืองที่มีปราสาทหินอยู่ตรงกลาง แล้วก็ไม่ได้คิดว่ามันจะมีคุณค่าอะไร เห็นว่าเป็นของโบราณ รู้สึกว่ามันเชยด้วยซ้ำ ร้อน ไม่เห็นมีห้างแอร์เย็นๆ ให้เราไปเดิน จนเราได้เข้าไปเรียนภาพยนตร์แล้วรู้สึกว่า เราไม่ได้มีความทรงจำหรือความรู้สึกที่อยากจะเล่าเกี่ยวกับกรุงเทพฯ

ที่อำเภอพิมายบ้านเกิดนี่เอง ใหม่ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจนกลายเป็นความรู้และทักษะติดตัว “พอกลับมาที่บ้าน เราก็รู้สึกว่าถ้าเราจะหาจุดที่มันแตกต่างจากเรื่องเล่าเกี่ยวกับกรุงเทพฯ ทางหนึ่งก็คือการกลับมาค้นหาอะไรสักอย่างในพื้นที่ที่เรามีความทรงจำ เราก็เลยรีเสิร์ชค่อนข้างหนักเกี่ยวกับบ้านเกิดตัวเอง การทำหนังมันช่วยค้นหาหรือทำความเข้าใจกับหลายๆ สิ่ง เหมือนเป็นยานพาหนะที่พาเราไปสำรวจ ทั้งเรื่องที่เป็นความรู้และเรื่องที่ช่วยพาให้หัวจิตหัวใจเราเติบโตในเชิงจิตวิญญาณ นอกจากนี้การทำหนังต้องดีลกับคนเยอะมาก ถ้ามองว่ามันเป็นงานศิลปะ ก็เป็นงานศิลปะที่ไม่เหมือนการวาดภาพที่เราสามารถอยู่คนเดียวได้ตลอดงานชิ้นนี้ มันต้องดีลกับคน ต้องคุยกับคน เราก็เลยได้เรียนรู้ทักษะการจัดการ การบริหาร มาด้วย มุมมองผมเติบโตขึ้นมาจากการทำหนัง”

เมื่อถามถึงภาพของพิมายเปลี่ยนแปลงไปจากในความทรงจำมากน้อยแค่ไหน เจ้าตัวตอบเอาไว้ได้น่าสนใจ “เรารู้สึกว่าพื้นที่มันก็คล้ายเดิม อาจจะเปลี่ยนไปในเชิงกายภาพแต่ก็ไม่มาก ที่เปลี่ยนไปเราว่าคือคน กายภาพมันก็ส่วนหนึ่ง ความเป็นตึก ความเป็นสถาปัตยกรรม แต่ถ้าเมืองมันจะเปลี่ยน มันจะเปลี่ยนที่คน คนต้องรู้สึกว่ามีความหวังทั้งในเชิงจิตใจแล้วก็เศรษฐกิจ ถ้ามีความหวังในจิตใจแต่เศรษฐกิจไม่เอื้อมันก็ไปไม่ได้ ถ้ามีแค่เศรษฐกิจอย่างเดียว ไม่มีจิตใจ ไม่มีคุณค่าในเชิงศิลปะ มันก็อาจจะไปได้ แต่ก็ไปด้วยความแห้งแล้ง ไม่มีอัตลักษณ์ ผมรู้สึกว่ามันต้องไปคู่กัน”

ประสบการณ์ของตนเองในวัยเด็ก ทำให้เขาเห็นความสำคัญเรื่องการชี้แนะแนวทางต่อเยาวชน “ช่วงนี้ผมกำลังพยายามสร้างกลุ่มเล็กๆ ในอำเภอพิมาย เรารู้สึกว่าตอนเราเป็นเด็กเราไม่มีโอกาสรู้จักการทำหนังหรือทำอะไรแบบนี้ ก็เลยร่วมมือกับโรงเรียนตั้งชุมนุมภาพยนตร์กับน้องๆ ม.5 – ม.6 ทำหนังสั้นกับเด็ก แชร์อุปกรณ์ แชร์ความรู้ เด็กๆ ได้รางวัล ได้ไปต่างประเทศ ได้ที่เรียน เราก็รู้สึกว่ามันไปได้จริงๆ ผมรู้สึกว่ามีความสุขกว่าการได้ไปเนเธอร์แลนด์อีก เพราะสิ่งที่เราทำมันทำให้คนมีโอกาสมากขึ้น มีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น สำหรับผมมันเป็นความสุขที่ยั่งยืนกว่า”

ถึงจะเป็นหนึ่งในกลุ่มนักสร้างสรรค์เมืองพิมายที่ผลักดันให้เกิดกิจกรรมซึ่งต่างไปจากเดิม แต่ใหม่ก็บอกว่า “ผมไม่ได้คาดหวังว่าผมจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ขนาดนั้น เราทำในสิ่งที่เรารู้สึกสนุก ในอีกแง่หนึ่งคืออยากจะจุดประกายคนอื่นๆ อย่างงานพิมายฬองวีคที่ได้รับทุนมาจากกระทรวงวัฒนธรรม เราอยากจุดประกายให้คนลองมอง ‘ความมี ความไม่มี ความเชย ความห่างไกล’ ในอีกแง่มุมหนึ่ง มันอยู่ที่มุมมองต่างหาก ถ้ามีคนที่พร้อมจะสร้างอะไรจากสิ่งที่มันอาจจะดูเชยในตอนนี้ มันอาจจะมีคุณค่าขึ้นมา กลายเป็นสินทรัพย์ที่เพิ่มพูนมูลค่าได้ เราอยากจุดประกาย อยากอยู่ให้ได้ และถ้าเราอยู่ได้จริงๆ ลงหลักปักฐานได้จริงๆ ก็น่าจะเป็นตัวชี้วัดว่ามันเกิดขึ้นได้ ถ้าคุณมีความสามารถ มีความรู้ และได้รับโอกาสที่เหมาะสม มีระบบนิเวศของมัน”

ก่อนจะทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “ตอนนี้มันเหมือนกับมีประกายไฟขึ้นมาในจุดเล็กๆ ของผม ด้วยความเป็นโคราชพื้นที่ใหญ่ มีคนหลายกลุ่มก้อน ผมอยากเป็นไฟดวงหนึ่งที่สามารถเอามาจุดต่อกันได้ เชื่อมสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกัน ทำให้เห็นว่าจริงๆ โคราชก็มีคนทำงานแบบนี้อยู่เหมือนกัน”


Facebook Post Click

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก