“เมื่อก่อนผมเลี้ยงโป๊ยเซียน ไม่ได้เลี้ยงแมว”
อาจารย์พรเทพ ชูศักดิ์ธนาเดช ประธานชมรมอนุรักษ์แมวโคราชเมืองพิมายคนปัจจุบัน เล่าถึงการเข้าสู่วงการแมว “พอมีโอกาสไปเยี่ยมบ้านรองประธานชมรมฯ ในตอนนั้นเขาเลี้ยงแมวโคราชเอาไว้ 7-8 ตัว ปล่อยให้แมวเดินเล่นอยู่ในสนามหญ้าหน้าบ้าน มีทั้งตัวเล็ก ตัวใหญ่ ขนเป็นสีเทาเงินอมฟ้าเสมอกันไปหมดทั้งตัว พอเห็นแบบนั้นผมก็รู้สึกว่ามันสวยมากเลย”
นั่นคือที่มาของการ ‘โดนแมวตก’ ไม่ใช่แมวธรรมดา…แต่เป็น แมวโคราช หรือที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในชื่อ แมวสีสวาด แมวมงคลนำโชคขนสั้นแต่ละเอียดมันลื่นเป็นเงา ที่ผู้คนสมัยก่อนนิยมมอบให้กันเป็นของขวัญ
ฟาร์มแมวสีสวาดของอาจารย์พรเทพ ตั้งอยู่ที่อำเภอพิมาย นอกเหนือจากการพัฒนาพันธุ์แมวโคราช ที่นั่นยังเป็นแหล่งให้ความรู้เกี่ยวกับแมวไทยด้วย แม้ว่าแมวแต่ละตัวจะมีสีคล้ายๆ กัน แต่เจ้าของก็ยังพอจะจำแนกได้ว่าตัวไหนชื่ออะไร เพราะมีเคล็ดลับ “เราเน้นเลือกชื่อไทยๆ ตั้งชื่อตามลักษณะน้องแมว ตัวที่ชื่อสอดคล้องกันเป็นครอกเดียวกันครับ” แล้วอาจารย์พรเทพก็ยกตัวอย่างชื่อแมวเพศผู้ “โชค, มะม่วง, ทองเเสด, เมฆ, เพชร” ตามด้วยชื่อของแมวเพศเมีย “ทองกวาว, ฝ้าย, แพร, พราว, แพรเงิน, ใบตอง, ใบเตย, ใบเงิน, ใบทอง”
“ตอนเข้าร่วมชมรมใหม่ๆ ผมรับหน้าที่เป็นเลขานุการ มีหน้าที่รับผิดชอบจัดงานประกวดแมว ก็เลยได้เรียนรู้เรื่องลักษณะแมวไทยจากคณะกรรมการอาวุโส ซึมซับองค์ความรู้เหล่านั้นมา” เมื่อรวมกับความสนอกสนใจเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นพิเศษ อาจารย์พรเทพก็กลายเป็นหนึ่งในผู้รู้เรื่องแมวแห่งเมืองโคราช ที่ทำหน้าที่ส่งต่อความรู้ให้กับลูกศิษย์ตัวเล็กๆ และคนที่สนใจเรื่องแมว
“ด้วยความที่ผมเป็นครู ตอนสอนเด็กๆ ผมก็แทรกความรู้และทัศนคติเรื่องแมวลงไปด้วย ให้เยาวชนเขารู้ว่าแมวสีสวาดหรือแมวโคราชมีลักษณะเป็นอย่างไร มีความสำคัญในฐานะมรดกวัฒนธรรมอย่างไร เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและความเชื่ออย่างไร ส่วนผู้ใหญ่ที่สนใจเรื่องแมว หรือเวลามีนักท่องเที่ยวแวะมาหาที่ฟาร์ม ผมก็จะคอยให้ความรู้ หรือถ้าใครจะทักมาขอคำปรึกษาเรื่องแมวไทยทางเพจก็ได้”
นับจากแรกเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2538 จวบจนถึงวันนี้ อาจารย์พรเทพและเพื่อนๆ ในชมรมฯ พยายามพัฒนาพันธุ์แมวอย่างไม่ท้อถอย “บางครั้งแมวธรรมดาๆ ก็ออกลูกมาเป็นแมวโคราช แปลว่าบรรพบุรุษของมันก็คงจะเคยเป็นแมวโคราชแท้ๆ ก่อนจะมาผสมกับแมวพันธุ์อื่น ช่วงแรกๆ ลักษณะของแมวโคราชที่เลี้ยงกันก็ไม่ค่อยถูกต้องตรงตามตำราแมวจากสมุดข่อยโบราณนัก เราคัดเลือกและพัฒนาพันธุ์มาเรื่อยๆ”
หลักการขยายพันธุ์แมวของชมรมฯ คือเพาะพันธุ์แมวที่ตรงตามลักษณะในตำราโบราณที่กล่าวไว้ว่า
วิลามาเลศพื้น………………พรรณราย
ขนดังดอกเลาราย…………..เรียบร้อย
โคนขนเมฆมอปลาย………..ปลอมเศวต
ตาดังน้ำค้างย้อย……………..หยาดต้อง สัตบง
“ตามตำรา สีของเขาจะเป็นสีเมฆอ่อนๆ หางยาวเสมอไหล่ (เมื่อพับหางเข้ามา ปลายหางจะยาวเทียบเท่ากับหัวไหล่ของแมวพอดี – ผู้เขียน) ดวงตาสีเหลืองอมเขียวแวววาว ที่ชมรมเราจะแบ่งแมวออกเป็น 3 กลุ่ม แมวสีเทาเงิน สีนี้ดีที่สุด สวยที่สุด เพราะมันจะเหลือบแสงแวววาว อยู่ในที่มืดก็อีกแบบ ออกแดดก็สีเปลี่ยนเป็นอีกแบบ รองลงมาคือสีเทานาก แล้วก็สีเทาดำ” น้ำเสียงของพรเทพที่เล่าถึงแมวโคราชฟังดูมีความสุข
นอกจากจะพัฒนาพันธุ์แมวแล้ว ชมรมฯ ยังจัดประกวดแมวโคราชเป็นประจำทุกปี ไม่ใช่เพียงเพื่อแข่งขันประชันโฉมแมวสวยงาม แต่เพื่อผลักดันให้แมวโคราชเป็นที่รู้จัก และส่งต่อความรู้เกี่ยวกับแมวไทยสู่คนรุ่นใหม่อีกด้วย
“จากวันแรกถึงวันนี้ ก็ถือว่าชมรมฯ ทำสำเร็จนะ คนรู้จักแมวสีสวาดหรือแมวโคราชกันมากขึ้น มีคนติดตามเพจเยอะขึ้น มีคนจากภูมิภาคอื่นๆ มารับแมวไปเลี้ยงมากขึ้น มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาสอบถามและพูดคุยกันมากขึ้น ที่สำคัญคือมีแมวที่ได้รับการพัฒนาพันธุ์ให้มีลักษณะตรงตามตำราโบราณ”
อีกหนี่งเป้าหมายที่พรเทพยังคิดฝัน อยากขยับขยายจากสิ่งที่ทำอยู่หากมีทุนรอนเพียงพอ คือการก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์และให้ความรู้เกี่ยวกับแมวโคราชอย่างเป็นทางการ ทุกวันนี้มีคนแวะเวียนมาหาที่ฟาร์มแมวอยู่เรื่อยๆ ทั้งมาเที่ยวเล่น ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับแมวไทย คงจะเป็นการดีถ้ามีจุดให้ความรู้หรือนิทรรศการเกี่ยวกับแมวเป็นกิจจะลักษณะ มีคาเฟ่แมวตามสมัยนิยมเพื่อดึงดูดให้คนหันมาสนใจและทำความรู้จักแมวโคราชให้มากยิ่งขึ้นไปอีก
