นิยามของสวนสาธารณะในใจแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน เพราะต่างคนต่างมีความต้องการใช้พื้นที่สาธารณะด้วยแรงบันดาลใจและเหตุผลที่หลากหลาย แต่ไม่จำเป็นที่ความหลากหลายเหล่านั้นจะสร้างสวนสาธารณะ ‘ร่วมกัน’ ไม่ได้ แม้จะเป็นสวนในพื้นที่เล็กๆ (Pocket Park) ก็ตาม
เมืองที่จะถ่ายทอดความรู้สึกว่าพลเมืองมีความสำคัญและได้รับการใส่ใจ สังเกตได้ง่ายๆ ผ่านสวนที่คนในชุมชนมีส่วนและสิทธิที่จะออกความเห็นว่า “ผม ฉัน ป้า ลุง อยากจะได้สวนแบบนี้”
นั่นทำให้ we!park เกิดขึ้นในฐานะแพลตฟอร์มที่เชื่อมร้อยความเห็นเล็กน้อยมหาศาลของคนในชุมชนต่างๆ และไปประสานต่อจุดกับภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคีใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องและอยากศึกษาพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้ในเมืองไปด้วยกัน
ปัจจุบันโครงการของ we!park มี 4 พื้นที่คือ สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ สวนป่าเอกมัย สวนชุมชนโชฎึก และสวนสานธารณะ โดยมีผู้ก่อตั้งโครงการคือ ยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิก กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉมา จำกัด
เบื้องหลังของการสร้างสวนทั้งสี่ พื้นที่ประกอบความฝันของคนในชุมชนและคนนอกพื้นที่มีทั้งกระบวนการทางกายภาพ ตั้งแต่เคลียร์พื้นที่เพื่อจัดการขยะ เพิ่มความสว่างตามทางเดิน สร้างเส้นทางวิ่ง ใส่เครื่องออกกำลังกาย และกระบวนการทางการร่วมใจ ไม่ว่าะชวนชุมชนลงความเห็น ติ๊กถูกติ๊กผิด ทำไมลานโยคะต้องมี ทำไมห้องสมุดชุมชนต้องมา ทั้งชุมชนและหลากหลายองค์กรร่วมระดมสมองกันอย่างไร
ชวนเที่ยวท่องไปตามไอเดียของ we!park และแนวคิดกระบวนการการมีส่วนร่วมที่สานความหมายของสวนและสังคมเข้าไว้ด้วยกัน โครงการทั้งสี่ของ we!park จะคลี่ความเป็นไปได้ให้เราเห็นว่า แม้แต่นักศึกษาออกแบบ ชาวเน็ตที่อยากเรียนรู้เรื่องเมือง คุณป้าข้างบ้าน ไปจนถึงบริษัทเอกชนที่พร้อมลงทุนเพื่อความยั่งยืนในย่านที่เขามีธุรกิจอยู่ ก็เรียนรู้ควบคู่กันไปได้ระหว่างเพิ่มพื้นที่สาธารณะ และต่างฝ่ายต่างได้ผลประโยชน์
ที่สำคัญที่สุดคือ ผลลัพธ์ที่เห็นอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของสวนสีเขียวที่ปลอดโปร่งเหมาะแก่การสวมรองเท้าวิ่ง หรือที่พักพิงในนิยามความหมายของชุมชนแต่ละพื้นที่ เราอาจจะมี Pocket Park ดีๆ อีกหลายแห่งเพิ่มขึ้นมาในอนาคตอันใกล้
สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ แขวงสี่พระยา เขตบางรัก พื้นที่ 1,000 ตร.ม.
พื้นที่แรกของโครงการ we!park ปักหมุดหมายจากกระบวนการมีส่วนร่วมไว้ที่ชุมชนเมืองบริเวณวัดหัวลำโพง มีภาคีที่ประกอบไปด้วยนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาคภูมิสถาปนิก จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ที่ออกมากางแบบนอกห้องเรียนไปกับคนในชุมชนหลายต่อหลายครั้ง เทใจดอทคอม องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ให้ทุนกับโครงการเพื่อชุมชนและสังคม มาช่วยเป็นแพลตฟอร์มในการระดมทุน สนับสนุนเครื่องเล่นในสวน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาช่วยให้ทุนด้านกระบวนการ กรุงเทพมหานคร และที่ดินบริจาคจากภาคเอกชน
เมื่อปักธงครั้งแรกก็ได้เห็นว่านักศึกษาออกแบบโลดแล่นได้จากหลักสูตรนอกห้องเรียน และชุมชนเองก็เข้มแข็งได้ผ่านการกระจายอำนาจ พื้นที่ในย่านเมืองและศูนย์กลางธุรกิจใจกลาง กทม. ที่ปลายทางสามารถแปลงเป็นศาลากิจกรรม ลานสุขภาพ ที่มีเส้นทางวิ่งพร้อมป้ายให้ความรู้ และเครื่องออกกำลังกาย
“พอทำ กระบวนการกลุ่ม (Focus Group) แล้วทำให้เห็นความต้องการในการใช้งานชัดเจน คือเขาต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้สูงอายุในละแวกมาก ดังนั้นทางเดินยืดเหยียด หรือมุมที่ต้องใช้การออกแบบ Universal Design (หลักการออกแบบสภาพแวดล้อมให้กับคนทุกกลุ่ม) สำคัญมากจริงๆ เพราะเมื่อก่อนคนในชุมชนขาดพื้นที่ตรงนี้
ในอีกมุมหนึ่งคือ เมื่อทำ Focus Group กับกลุ่มเยาวชน ก็พบว่ามีความต้องการที่แตกต่างออกไป แต่เมื่อสองกลุ่มมาประนีประนอมกัน ด้วยการออกแบบ ก็จัดสรรพื้นที่ได้ ความต้องการของทุกคนอยู่ครบ ซึ่งตอนแรกเราก็ลังเลว่าสวนขนาดเล็กจะใส่ทุกอย่างได้ไหม” ยศพลอธิบาย
จากการพูดคุยแลกเปลี่ยน ทำให้คนในชุมชนค่อยๆ ได้ทำความรู้จักกันผ่านกระบวนการนี้ นักออกแบบมืออาชีพที่มาต่อยอดก็เรียนรู้ว่าแนวคิดของตัวเองอาจจะไม่ได้ถูกต้องเสมอไป และนี่คือการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ เมื่อมีการออกแบบให้เกิดการสนทนาซึ่งกันและกัน
สวนป่าเอกมัย แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา พื้นที่ 9,636 ตร.ม. (อยู่ระหว่างการพัฒนา)
แม้จะถือว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานคร เป็นส่วนหนึ่งของย่านสร้างสรรค์ ทองหล่อ-เอกมัย แต่อีกหนึ่งนิยามของสวนป่าเอกมัยเดิมคือเป็น ‘พื้นที่เศษเหลือ’ จากการตัดข้ามสะพานยกระดับที่ยังขาดการบูรณาการศักยภาพของชุมชนและพื้นที่
“การเดินสำรวจน่าสนใจตรงที่ว่า คนที่มาเดินกับเรามีความสนใจและอยากจะเรียนรู้เรื่องพื้นที่สาธารณะในเมืองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และเห็นว่ามันมีพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อยู่ เราเองก็ทำงานที่เอกมัย ไม่เคยรู้ว่ามีสวนสาธารณะที่มีคนมาใช้บ้าง แต่ไม่ได้ใช้เต็มศักยภาพ มีสำนักงานเขต มีสวนผักอยู่แล้ว พอมาเจอก็พบว่าสวนมีศักยภาพที่เป็นได้มากกว่านั้น” ยศพลเล่าถึงที่มาแรกของสวนป่าเอกมัย
ความแตกต่างที่พัฒนามาจากบทเรียนในสวนป่าเอกมัยคือ การลองโยนไอเดียในการจัดประกวดออกแบบพื้นที่ we!park Competition 2020: Ekkamai Pocket Park ให้กับบุคคลที่สนใจ ไม่ได้จำกัดไว้อยู่ในแค่วงของนักศึกษา ชุมชน และนักออกแบบมืออาชีพอีกต่อไป คณะกรรมการตัดสินซึ่งปกติแล้วจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ก็พลิกแพลงให้เจ๋งและมีประสิทธิภาพ คือให้ชุมชนเป็นคนตัดสินใจ รวมถึงเปิดโหวตออนไลน์ด้วย ต่อให้แค่กดไลก์ก็ช่วยสนับสนุนพื้นที่ได้
“เราคืนอำนาจให้กับชุมชน และรักษาสปิริตของการทำไปด้วยกัน ทีมที่ชนะก็ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่ว่าต้องทำงานกับชุมชนต่อนะ ไม่ใช่ว่าชนะแล้วไปเลย ต้องทำกระบวนการรับฟังชุมชนกี่ครั้งก็ว่าไป”
ผู้ที่มาร่วมลงประกวดมีถึง 30-40 กลุ่มจากหลากหลายวงการ จุดเด่นของสวนป่าเอกมัยที่ค้นพบโดยเหล่าหน่วยสำรวจ Green Finder คือสวนที่ตอบโจทย์ทุกกลุ่ม ทุกเวลา
มีตลาดนัด ลานโยคะ สนามฟุตบอล ลานหญ้ากิจกรรม ห้องสมุดชุมชน มีศูนย์บริการชุมชน และพยายามเปิดพื้นที่กับคลอง เชื่อมโครงข่ายไปยังขนส่งสาธารณะใกล้พื้นที่ด้วย
“พอคนเห็นโอกาส เราก็สามารถใส่โปรแกรมได้เยอะและดี เรายังมีข้อเสนออื่นๆ เช่น เรื่องการกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้รดน้ำต้นไม้ เริ่มมองในมุมของการรักษาการใช้งานจากสวนผักที่เป็นการขยายผลจากทุนเดิม”
สวนชุมชนโชฎึก แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ พื้นที่ 410 ตร.ม.
410 ตารางเมตร… นับว่าเป็นพื้นที่ขนาดจิ๋วมากหากเทียบกับสองโครงการแรก
แต่! แน่นอนว่าจิ๋วแต่แจ๋ว เพราะชุมชนโชฎึกเป็นชุมชนในพื้นที่ริมคลองทางประวัติศาสตร์ที่กลุ่มสถาปนิกปั้นเมืองในย่านตลาดน้อยทำงานฟื้นฟูพื้นที่มาราว 3 ปีแล้ว ฉะนั้นความเข้มแข็งของชุมชนและเครือข่ายเป็นฐานที่พร้อม แต่จุดอ่อนคือยังขาดพื้นที่สาธารณะอยู่
พื้นที่ขนาดจิ๋วที่ได้มาจึงเป็นพื้นที่ร้างริมคลองที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุในการออกกำลังกาย แต่เดิมพื้นที่ในแถบคลองผดุงกรุงเกษมเป็นพื้นที่รกร้างมาก่อนเนื่องจากการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างโครงการแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงลาดหญ้า-มหาพฤฒาราม และโครงการรถไฟสายสีแดง ซึ่งหลังจากที่กลุ่มปั้นเมืองตั้งใจ ‘ปั้น’ มาจนถึงปัจจุบันนี้ ชุมชนโชฎึกก็ทวงคืนอัตลักษณ์ของย่าน และสานฝันเพื่อที่จะเป็นพื้นที่สีเขียวได้ไม่ยาก
แทนที่จะเป็นเวิร์กชอปกับมหาวิทยาลัยเดียว หรือการประกวดแบบเหมือนครั้งก่อน ในเมื่อชุมชนเข้มแข็งและมีภาคีเอกชนอย่างนิตยสาร อาร์ตโฟดี (Art4d) มาร่วมลุยด้วยแล้ว we!park เลยอยากได้กระบวนการที่เข้มข้นกว่านั้น จึงจัดเป็นเวิร์กชอปของนักศึกษา คนรุ่นใหม่มาคู่กับมืออาชีพ และร่วมกระบวนการก่อสร้างไปด้วยกันเลย โดยมีชุมชนให้ความเห็นและปรับปรุงแบบไปมาจนสำเร็จ
“บทบาทของ we!park เป็นการจัดเรื่องการเชื่อมฝั่ง CSR แต่เราบอกว่าเราจะไม่ทำแค่เอาเงินเอกชนมาสร้าง เราต้องทำภายใต้การมีส่วนร่วม มันเลยเกิดข้อเสนอในการทำสนามเด็กเล่น ศาลา ศูนย์ออกกำลังกาย จนนำไปสู่การก่อสร้าง โดยมีปูนซีเมนต์ไทย (SCG) เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างและสร้างสรรค์กิจกรรมที่มีกระบวนการการมีส่วนร่วม
“เพียงแต่ว่า พอทำหนึ่งจุด เราก็เห็นศักยภาพของจุดอื่นๆ ในพื้นที่เพราะต้องการกระตุ้นการเดิน โดยใช้นักออกแบบมืออาชีพทำงานกับนักศึกษาและชุมชน” ยศพลเสริม
410 ตารางเมตร เคยเป็นหน่วยวัดพื้นที่จอดรถในย่านมาก่อน วันนี้มันเป็นหน่วยวัดของพื้นที่ในการเรียนรู้และเล่นสนุกเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ของคนในชุมชน เป็น ‘พื้นที่เล่นและเรียนรู้ของคนต่างวัยริมคลองประวัติศาสตร์’ ของทั้งผู้สูงอายุและคนหนุ่มสาวไปเรียบร้อยแล้ว
สวนสานธารณะ แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน พื้นที่ 3,658 ตร.ม. (อยู่ระหว่างการพัฒนา)
พื้นที่ย่านคลองสานเป็นพื้นที่ริมน้ำสวยงาม และมีคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม แต่ก็มีโจทย์ที่ถือว่าท้าทายคือ
หนึ่ง เป็นพื้นที่ที่เอกชนมอบให้ชั่วคราว
สอง เป็นพื้นที่ทรุดโทรม มีปัญหาขยะและความปลอดภัย
we!park แก้ไขโจทย์ดังกล่าวผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมได้เหมือนเดิม แต่ออกแบบเป็นระยะเพื่อขับเคลื่อนให้เป็นไปได้จริง เริ่มจากการรวมเครือข่ายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดผ่านวงเสวนาหลายระดับ สู่การสร้างพื้นที่จากข้อมูลที่ได้ในวงเสวนาระยะแรก บวกกับฐานข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ชุมชน เปิดพื้นที่กลางให้ทุกคนได้ลงความเห็นและเข้าร่วมทดลองใช้งานทางกายภาพ ไปสู่ขั้นตอนสุดท้าย คือการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย โดยรวบรวมข้อมูลจากสองขั้นตอนแรกมาถอดบทเรียน
“กว่าจะเห็นสวนฯ ต้องใช้เวลาราว 2 ปี ถ้าอย่างนั้นเราสร้างให้เป็นรูปเป็นร่างเลยดีกว่า จะเรียกว่าเนรมิตเลยก็ได้ เรียกกลุ่มยังธน ชุมชน ร้านค้า ICONSIAM มาร่วมกัน เอาทุนมาเคลียร์ขยะ จัดกิจกรรมที่เป็นความต้องการในชุมชน มีการจัดนิทรรศการภาพเก่าของย่าน มีการเดินสำรวจย่าน มีดนตรีจากคนในย่าน เอาสิ่งที่เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่เขามีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าไม่มีพื้นที่ปล่อยของ มาทำให้เห็นว่าที่รกร้างนี้มีโอกาสนะ ไม่ใช่แค่สวน แต่พูดถึงทั้งย่าน”
สถานการณ์โควิดทำให้กิจกรรมและการดำเนินการเว้นระยะไป 1-2 ปี ยศพลเล่าว่าสถานการณ์ในช่วงนั้นไม่ได้สวยงามนักเพราะยังไม่เกิดการเซ็นสัญญาที่ดิน แม้คนนอกจะสนใจและอยากร่วมเรียนรู้ มาท่องเที่ยวในย่าน แต่คนในชุมชนยังรู้สึกคลุมเครืออยู่ ปัจจุบันจึงอยู่ในระยะเวลาของการฟื้นฟูทำให้สวนสานฯ เบิกบานอีกครั้ง
จากบทสนทนา การแก้แบบ การลงพื้นที่ การเสนอภาครัฐว่าความลงตัวพอดีของทุกฝ่ายต้องกระจายอำนาจอย่างไร ล้วนเป็น ‘ระหว่างทาง’ ที่น่าเรียนรู้
นอกจากนี้งบประมาณในการจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน รวมไปถึงการตีโจทย์ว่าชุมชนใดมีลักษณะทางกายภาพอย่างไร ความต้องการทางใจของคนในชุมชนคืออะไรก็ยังคงเป็นอีกคีย์เวิร์ดแห่งการสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
แม้จะยังมีข้อท้าทายในการสร้างสวนใดๆ ก็ตาม เกี่ยวกับการบริหารจัดการดูแลต่อให้ยั่งยืน เมื่อการให้ใจกับชุมชนมาพร้อมกับความรับผิดชอบของแต่ละภาคีด้วย สวนสาธารณะจะเป็นรูปเป็นร่างได้มากหรือน้อยตามเป้าหมาย ต้องอาศัยทั้งเวลาและการเอาใจใส่ของทุกคน
we!park สร้างข้อสังเกตน่าสนใจที่ว่า สวนสาธารณะที่ชุมชนได้ช่วยกันลงความเห็นตั้งแต่แรก และภาคีทั้งในและนอกพื้นที่ ให้การสนับสนุน อาจจะไม่ได้นำไปสู่แค่การมีสวนที่ดี แต่อาจเป็น ‘ย่าน’ หรือ ‘เมือง’ ที่มีชีวิต กระตุ้นการออกมาเดินเพื่อเรียนรู้ความหลากหลายในสังคมได้อย่างแท้จริง
อ่านรายละเอียดของแต่ละพื้นที่เพิ่มเติมได้ที่ https://wepark.co/parks