เรียนปรัชญาแต่ยังเล็ก สอนเด็กๆ ให้รู้คิดและเข้าใจโลก

600 views
9 mins
April 15, 2024


          เราเกิดมาเพื่ออะไร…

          ท้องฟ้าสิ้นสุดที่ไหน…

          ความฝันมีจริงหรือเปล่า…

          นี่เป็นตัวอย่างคำถามที่สะท้อนความช่างสงสัยของเด็กวัยไร้เดียงสา แต่หากลองพิจารณาดีๆ บางทีคำถามเหล่านี้ก็มีความคล้ายคลึงกับคำถามเชิงนามธรรมจากนักปรัชญาอย่างไม่ได้ตั้งใจ 

          เด็ก 6 ขวบคนหนึ่งอาจถามว่า “มันยุติธรรมเหรอ ที่เด็กคนนั้นได้ลูกอม 3 เม็ด แต่หนูได้แค่ 1 เม็ด”

ในขณะที่นักปรัชญาอาจตั้งคำถามว่า “ความยุติธรรมคืออะไร”

          เด็กๆ มักจะสงสัย และถามว่า “ทำไม…” อยู่บ่อยครั้ง แต่ผู้ปกครองและครูอาจารย์ก็อาจเผลอตัดบท ไม่ได้เปิดโอกาสให้เด็กค้นหาคำตอบไปพร้อมกัน หรือชวนถกประเด็นต่ออย่างลึกซึ้ง เพราะอาจไม่ทันฉุกคิดว่านี่คือธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความใคร่รู้แต่กำเนิด และนี่เป็นวิธีการเรียนรู้โลกของเด็ก

          เมื่อความสงสัยถูกตัดจบ ต่อไปเด็กก็จะไม่กล้าคิด ไม่กล้าแสดงออกอีก ทั้งที่มันอาจจะเป็นพื้นฐานของการตั้งคำถามในบริบทที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ หากได้รับการส่งเสริมที่เหมาะสมจากผู้ปกครองและผู้สอน เด็กจะสามารถคิด วิเคราะห์ ใช้เหตุผลในการพูดคุย และสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ นำไปสู่การจัดการความรู้สึกและชีวิตของตนเองได้ดีขึ้น 

          การสอนปรัชญา ซึ่งกระตุ้นให้ตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคม จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยพัฒนากระบวนการคิดและการสื่อสารของเด็ก เพื่อให้มีหลักในการคิดที่เข้มแข็ง เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่กระตือรือร้นและมีความคิดสร้างสรรค์ 

          บทความนี้จะพาไปรู้จักแนวคิดเบื้องหลังการสอนปรัชญาในเยาวชน ที่จะรักษาความสงสัยใคร่รู้ และความกระตือรือร้นในการค้นหาคำตอบให้ติดตัวไป และคงอยู่เหมือนในวัยเด็กเสมอ

เรียนปรัชญาแต่ยังเล็ก สอนเด็กๆ ให้รู้คิดและเข้าใจโลก
Photo: Loris.viezzer, CC BY-SA 4.0, via Wikimedia Commons

Why? ทำไมถึงควรเรียนปรัชญาตั้งแต่ยังเด็ก 

          หากพูดถึง ‘ปรัชญา’ หลายคนอาจคิดว่า นี่คือศาสตร์หรือหลักสูตรในระดับมหาวิทยาลัยที่ผู้เรียนสายมนุษยศาสตร์หรือสังคมศาสตร์เท่านั้นจะมีโอกาสได้เรียน ในหลายประเทศวิชาปรัชญาไม่ได้อยู่ในการศึกษาภาคบังคับเสียด้วยซ้ำ ในขณะที่บางประเทศ เด็กๆ อาจมีโอกาสได้เรียนปรัชญาในช่วงมัธยมศึกษา 

          แต่ในปัจจุบัน สถาบัน องค์กร เครือข่ายการเรียนรู้ หรือแพลตฟอร์มหลายแห่งให้ความสำคัญกับการเรียนรู้วิชาปรัชญาตั้งแต่ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย อีกทั้งออกแบบหลักสูตร เครื่องมือ หรือกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการสอนปรัชญาให้กับเด็กๆ เพราะองค์กรเหล่านี้เชื่อว่ากระบวนการคิดแบบปรัชญาจะทำให้เด็กๆ พัฒนาทักษะทางปัญญา (Cognitive Skills) และทักษะด้านการสื่อสาร (Communicative Skills) เตรียมความพร้อมให้พวกเขากลายเป็นผู้ที่มีศักยภาพในการเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ รวมถึงรู้จักตนเองและผู้คนรอบข้าง นำเสนอความคิดเห็นของตนเองให้ผู้อื่นรับฟังได้อย่างชัดเจน

          มีงานวิจัยหลายชิ้นที่กล่าวถึงประโยชน์ของการสอนวิชาปรัชญาให้กับเด็ก หนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญที่ถูกอ้างถึงบ่อยครั้งคือ บทความวิจัยโดย คีธ ทอปปิง (Keith Topping) และ สตีฟ ทริกกี (Steve Trickey) Collaborative philosophical enquiry for school children: Cognitive effects at 10–12 years เล่าถึงการทดลองสอนปรัชญากับกลุ่มเด็กอายุ 10 – 12 ปี จำนวน 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นเวลานานถึง 16 เดือน โดยมีการสอบวัดผลก่อนและหลังการทดลอง ผลวิจัยบ่งชี้ว่าหลังจากผ่านกระบวนการสอน เด็กกลุ่มนี้มีพัฒนาการด้านทักษะทางปัญญาและการใช้ตรรกะดีกว่าเด็กกลุ่มอื่นอย่างเห็นได้ชัด 

          นอกจากงานวิจัยชิ้นนี้ ทอปปิง และ ทริกกี ยังเคยประมวลผลงานวิจัยอื่นอีกหลายชิ้น (Systemic review) นอกจากนี้ยังเขียนหนังสือ A Teacher’s Guide to Philosophy for Children ซึ่งกล่าวถึงประโยชน์ของการสอนปรัชญาให้กับเด็กๆ 

          หากกล่าวโดยสรุป การเรียนปรัชญาทำให้เด็กๆ พัฒนาทักษะในหลายๆ ด้าน เช่น

  • พัฒนาทักษะการฟัง อ่าน เขียน และแก้ปัญหา
  • ฝึกให้คิดวิเคราะห์ประเด็นเกี่ยวกับความเชื่อและคุณค่าที่ยึดถือ
  • ตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่
  • สร้างประเด็นถกเถียงที่สร้างสรรค์และมีเหตุผล
  • คิดเชิงวิพากษ์และประเมินข้อมูลข่าวสาร
  • เห็นความสำคัญของประเด็นที่มีความซับซ้อน
  • สามารถแสดงความคิดเห็นได้ดีขึ้น 
  • ยอมรับว่าสังคมเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย และมนุษย์ทั่วไปมีอคติเป็นพื้นฐาน จึงตีความสิ่งต่างๆ ในโลกใบนี้ไม่เหมือนกัน

          งานวิจัยทั้งหลายเหล่านั้น จึงมักจะสนับสนุนให้มีการสอนปรัชญาในเยาวชน เพื่อเตรียมความพร้อมและทักษะก่อนที่จะเติบโต แต่การสอนปรัชญาแบบไหนถึงจะกระตุ้นให้เด็กๆ พัฒนาทักษะทางปัญญาดังที่กล่าวมา คงจะไม่ใช่การสอนประวัตินักปรัชญาคนสำคัญ หรือการท่องจำแนวคิดที่ซับซ้อนของปรัชญาตะวันตก และปรัชญาตะวันออกจนขึ้นใจแน่ๆ หากเป็นการนำแนวคิดและวิธีการของนักปรัชญามาปรับใช้

          ถ้ายังนึกไม่ออกว่าวิธีการของนักปรัชญาเป็นอย่างไร ลองนึกถึงภาพนักปราชญ์ในอดีตล้อมวงคุยกัน ถกถาม และให้เหตุผลสนับสนุนข้อโต้แย้งของตนเองในประเด็นที่เป็นนามธรรม อย่างความงาม ความดี และความจริง แบบนี้…น่าจะเป็นภาพที่ใกล้เคียงกับกระบวนการสอนที่จะถูกกล่าวถึงในบทความนี้ที่สุด

How? สอนปรัชญาอย่างไรเพื่อให้รู้คิด ติดอาวุธทักษะเชิงปัญญา

          แนวทางการสอนปรัชญามีหลากหลาย แต่หนึ่งในแนวคิดที่แพร่หลาย คือ Philosophy for Children (P4C) ที่หลายๆ องค์กรนำไปประยุกต์ใช้กับการสอนเด็กในวัยประถมศึกษาและมัธยมศึกษา P4C ส่งเสริมให้ใช้กระบวนการตั้งคำถามเพื่อฝึกทักษะการใช้เหตุผลและสร้างข้อโต้แย้ง (Reasoning and Argumentative Skills) 

          จุดเริ่มต้นของ P4C คือ ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960s แมทธิว ลิปแมน (Matthew Lipman) ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา เริ่มสังเกตเห็นว่าระบบการศึกษาสร้างผู้เรียนให้เป็น ‘Passive Learner’ หรือเรียนรู้แบบตั้งรับ ที่มักจะซึมซับข้อมูลและเชื่อตามที่ผู้สอนบอกกล่าวมากกว่าที่จะสร้างสรรค์องค์ความรู้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่เขาพบเจอในชั้นเรียน ซึ่งลิปแมนมองว่าอาจทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินชีวิตต่อไปได้ จึงก่อตั้งโครงการสอนปรัชญาให้กับเยาวชนในวัยก่อนเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อเตรียมความพร้อม


          สำหรับลิปแมน ปรัชญาเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพในการส่งเสริมการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่กระบวนการคิดที่เป็นระบบ เพราะหลักการสำคัญคือการตั้งคำถามและการคิดเชิงวิพากษ์ มีเครื่องมือและแนวทางการสอนที่พัฒนาผ่านระยะเวลายาวนานจนเกิดเป็นสำนักปรัชญาต่างๆ ดังนั้น นอกจากเด็กที่เรียนปรัชญาจะได้ฝึกทักษะการคิดแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะเข้าใจชีวิตและเข้าอกเข้าใจผู้ที่คิดต่างจากตนได้อีกด้วย 

เรียนปรัชญาแต่ยังเล็ก สอนเด็กๆ ให้รู้คิดและเข้าใจโลก
แมทธิว ลิปแมน
Photo: Institute for the Advancement of Philosophy for Children (IAPC)

          แม้จะมีการตั้งคำถามว่าประเด็นเหล่านั้นยากเกินไปสำหรับเด็กหรือไม่ เพราะ P4C ถูกออกแบบเพื่อเด็กเล็ก แต่ลิปแมนกลับเชื่อว่า การได้เรียนปรัชญาจะช่วยให้เกิดบทสนทนาระหว่างเด็กและผู้ใหญ่อย่างลึกซึ้ง นำไปสู่การพัฒนาทักษะทางปัญญาได้ดีกว่า

          โดยหลักแล้วแก่นของการเรียนรู้ปรัชญาในห้องเรียนก็คือ ‘Philosophise with Children’ หรือการตั้งวงสนทนาที่มีทั้งผู้ใหญ่และเด็ก เพื่อพูดคุยกันในประเด็นที่กำหนด แต่ละคนต้องแสดงออกซึ่งความเชื่อ แนวทางการปฏิบัติ และคุณค่าที่ตนเองยึดถือ แลกเปลี่ยนกันในวงอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม หัวข้อที่พูดคุยอาจจะแตกต่างกันไปตามแต่บริบทของห้องเรียนและโอกาส เช่น ความรัก ความยุติธรรม ประชาธิปไตย โลกาภิวัตน์ ความจริง จินตนาการ ความรู้ ความงาม ศรัทธา ศิลปะ บทบาท หน้าที่ เสรีภาพ ฯลฯ

วิดีโอที่อธิบายว่า P4C คืออะไร

          ในวงนี้ ผู้ใหญ่จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยกระตุ้นให้เด็กๆ อธิบายความรู้สึก และความคิดเห็น ให้มากที่สุด คอยเติมคำศัพท์ที่จำเป็นในการถ่ายทอดความคิด และทำให้เด็กๆ ดูเป็นตัวอย่างว่าควรใช้หลักเหตุและผลในการสนับสนุนความคิดเห็นของตนเองอย่างไร

          วงสนทนาแบบนี้คือสิ่งที่ ลิปแมน เรียกว่า Community of Inquiry ที่ผู้เข้าร่วมวงต้องสัญญาว่าจะเคารพและสร้างความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกันเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยน ตั้งคำถาม ดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ที่ทุกคนรู้สึกว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย สามารถเปิดอกแสดงความคิดเห็นได้ 

          นอกจาก Community of Inquiry ลิปแมนยังออกแบบกระบวนการช่วยสอน โดยเริ่มจากการเขียนนิยายแนวปรัชญา (philosophical novel) เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับผู้สอน ว่าบทสนทนาในลักษณะนี้จะนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทักษะทางปัญญาได้อย่างไร นิยายเชิงปรัชญาเรื่องแรกที่เขาเขียนขึ้นและตีพิมพ์ในปี 1969 คือ Harry Stottlemeier’s Discovery เรื่องราวขของตัวละครเกิดขึ้นในห้องเรียน เมื่อ แฮร์รี่ ตัวละครหลักไม่ได้ตั้งใจฟังผู้สอนในคลาสเรียนวิทยาศาสตร์ จนเข้าใจว่าดาวหางก็คือดาวเคราะห์ประเภทหนึ่ง เพราะดาวหางก็โคจรรอบดวงอาทิตย์เช่นกันกับดาวเคราะห์ดวงอื่น  

          บทสนทนาระหว่างแฮร์รี่ กับเพื่อนๆ และคุณครู ที่ตามมาในบทต่อๆ ไป เป็นตัวอย่างของการใช้กระบวนการร่วมกันตั้งคำถามและค้นหาคำตอบว่าดาวหางคืออะไรกันแน่ โดยลิปแมนหวังว่านี่จะเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะแสดงให้ผู้สอนได้เห็นว่ากระบวนการสอนปรัชญาให้กับเด็กๆ ควรทำอย่างไร ผลงานชิ้นนี้ของลิปแมนได้รับแรงบันดาลใจมาจากกระบวนการสอนของเพลโตที่มักจะประกอบด้วยบทสนทนาและการถกถามอย่างลึกซึ้ง

          ต่อมา ลิปแมนได้ย้ายไปสอนที่มหาวิทยาลัยมอนต์แคลร์สเตต (Montclaire State University) และก่อตั้งสถาบันเพื่อพัฒนาการสอนปรัชญาในเด็ก (Institute for the Advancement of Philosophy for Children: IAPC) ขึ้นในปี 1974 เขาร่วมกับนักวิจัยท่านอื่น เช่น แอนน์ มาร์กาเร็ต ชาร์ป (Ann Margaret Sharp) ศาสตราจารย์ด้านการศึกษา ออกแบบกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้เชิงปรัชญาในเด็กจนได้ชุดเครื่องมือสำหรับการสอนปรัชญาให้กับเด็กอายุตั้งแต่ 4-16 ปี เขียนนิยายแนวปรัชญาเพิ่มเติมอีกหลายเล่ม และออกแบบกิจกรรมต่างๆ ที่ผู้ใหญ่สามารถใช้ในวงสนทนากับเด็กได้ ข้อมูลเหล่านั้นถูกรวบรวมเป็นหลักสูตรที่ผู้สอนสามารถนำไปทดลองไปปรับใช้ตามบริบทของตนเอง

          ในปัจจุบัน P4C เผยแพร่ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก วิธีการสอนมีหลากหลายทั้งการใช้รูปภาพเพื่อกระตุ้นการคิด การเล่านิทานหรือนิยายให้ฟัง หรือแม้กระทั่งหยิบยกประเด็นทางสังคมมาเป็นหัวข้อในการสนทนา

เมื่อ Philosophy for Children แทรกซึมไปในหลายพื้นที่ 

          ปัจจุบันมีสถาบัน องค์กร หรือสมาคมหลายแห่งในกว่า 60 ประเทศที่ดำเนินการเพื่อส่งเสริมการนำหลัก P4C ไปใช้ IAPC แห่งมหาวิทยาลัยมอนต์แคลร์สเตต ถือเป็นสถาบันแรกและสถาบันหลัก ที่ส่งเสริมการสอนปรัชญาในเด็กเล็ก เริ่มต้นจากงานวิจัยในรั้วมหาวิทยาลัย ขยายออกไปเชื่อมโยงกับเครือข่ายโรงเรียนต่างๆ เว็บไซต์ของ IAPC มีทรัพยากรการเรียนรู้ให้ครูผู้สอนในระดับประถม-มัธยมศึกษา นำไปลองปรับใช้ และยังมีโปรแกรมช่วยฝึกสอนครูทั้งแบบออนไลน์ ออนไซต์ โดย IAPC สามารถจัดการอบรมแบบ tailor-made หรือปรับให้เข้ากับสถานการณ์ของแต่ละโรงเรียนได้

          นอกจาก IAPC แล้ว ยังมีสถาบันการเรียนการสอนปรัชญา (Philosophy Learning and Teaching Organization: PLATO) ที่มีบทบาทคล้ายๆ กัน คือวิจัยเกี่ยวกับการสอนปรัชญาในเด็ก ออกแบบกิจกรรมและหลักสูตรให้กับผู้สอน โดยเป็นการรวมตัวของ 2 องค์กร คือ American Philosophical Association (APA) และ Center for Philosophy for Children 

          ในเว็บไซต์ของ PLATO มีคู่มือการสอนปรัชญาที่รวบรวมหลักการสำคัญ ตัวอย่างกิจกรรมพร้อมวัตถุประสงค์การเรียนรู้ หรือแม้กระทั่งหัวข้อที่สามารถหยิบไปใช้สนทนาในห้องเรียนได้ เช่น ความหวัง ความรัก และการค้าทาส มีหนังสือหรือบทความที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้นๆ สามารถเข้าถึงได้แบบไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างกิจกรรมการสอนปรัชญาในโรงเรียนสำหรับทุกระดับ รวมถึงโปรแกรมสอนครู และผู้ปกครอง ที่ต้องการเป็น Facilitator ให้กับเด็กๆ 

          อีกฟากฝั่งของโลกอย่างสหราชอาณาจักร ก็นำ P4C มาใช้ในการเรียนการสอนอย่างแพร่หลายไม่แพ้กันในนาม SAPERE P4C ซึ่งเป็นองค์กรการกุศล SAPERE ย่อมาจาก Society for the Advancement of Philosophical Enquiry and Reflection in Education เป็นชุมชนของเหล่าคุณครูที่นำปรัชญาและแนวคิด P4C มาใช้ในการสอน แรกเริ่มเป็นการรวมตัวอย่างอิสระ ต่อมาจึงได้รับเงินทุนสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เว็บไซต์ p4c.com ที่ได้รับการสนับสนุนจาก SAPERE มีข้อมูลตั้งต้นสำหรับผู้ที่สนใจจะนำไปใช้ในห้องเรียน ตั้งแต่ ที่มาของ P4C หลักการสำคัญ รวมถึงตัวอย่างแบบฝึกหัด วิธีการสร้างวงสนทนา และเครื่องมือต่างๆ 

          ยังมีอีกหลายประเทศที่นำ P4C มาใช้ในห้องเรียน ทางฟากฝั่งเอเชีย ประเทศญี่ปุ่นเองก็มีกลุ่มผู้สนใจนำ P4C ไปปรับใช้ โดยเริ่มจากกลุ่ม p4c – japan ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของครู ที่ต้องการนำหลักปรัชญามาใช้กับเด็กๆ ต่อมาได้ปรับการทำงานเป็น P4E (Philosophy for Everyone) คือขยายขอบข่ายครอบคลุมกลุ่มผู้ใหญ่ด้วย สมาชิกส่วนหนึ่งจึงแยกออกมาตั้งกลุ่ม P4C in Schools – KANSAI JAPAN เพื่อดำเนินกิจกรรมการสอนปรัชญาในโรงเรียนโดยเฉพาะ ในประเทศไทยเองก็เคยมีผู้สนใจนำมาทดลองใช้ แสดงให้เห็นว่ากระบวนการนี้ สามารถนำไปใช้ได้ในหลากหลายสิ่งแวดล้อม และปรับให้เข้ากับกระบวนการสอนโดยทั่วไปได้จริง 

บรรยากาศห้องเรียนเป็นอย่างไร เมื่อใช้ P4C

          หากยังนึกไม่ออกว่าจะเริ่มสอนปรัชญาในห้องเรียนอย่างไร เว็บไซต์ p4c.com มีตัวอย่างของกิจกรรมการเรียนการสอน ทั้งหัวข้อสนทนา และหนังสือแนะนำ (แต่ทรัพยากรการสอนโดยส่วนมากต้องลงทะเบียนเป็นสมาชิกก่อนถึงจะสามารถเข้าใช้งานได้) เว็บไซต์ PLATO ก็มีทั้งตัวอย่างบทเรียน หนังสือ บทความ หัวข้อที่สามารถตั้งวงสนทนาเชิงปรัชญา และกิจกรรม หากสนใจจะอ่านบทความของผู้ใช้งานจริงก็อาจลองแวะไปอ่านในส่วนของ Blog ที่ชื่อว่า Wondering Aloud ซึ่งผู้สอน ผู้เรียน เข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากห้องเรียนปรัชญากันอย่างคับคั่ง 

          คุณครูท่านหนึ่งมาแบ่งปันประสบการณ์ในห้องเรียน ว่าด้วยการอ่านหนังสือเรื่อง ‘ฉันเป็นสุนัข’ (I am the dog) ของแดเนียล พิงค์วอเตอร์ (Daniel Pinkwater) ให้เด็กอนุบาล 3 กลุ่มฟัง เป็นเรื่องราวของเด็กผู้ชายที่ชื่อ เจคอบ กับสุนัขของเขาที่ชื่อ แม็กซ์ ทั้งคู่ตัดสินใจสลับบทบาทเพื่อทดลองใช้ชีวิตในแบบของกันและกัน เช่น เจคอบนอนบนพื้นพรม กินอาหารจากถ้วยที่วางอยู่บนพื้น ส่วนแม็กซ์ต้องไปโรงเรียนและทำการบ้านแทนเจคอบ ในตอนจบของหนังสือ ทั้งคู่ลงความเห็นว่า ชีวิตของสุนัขนั้นดีกว่า

เรียนปรัชญาแต่ยังเล็ก สอนเด็กๆ ให้รู้คิดและเข้าใจโลก
Photo: HarperCollins Publishers


          หลังจากอ่านจบ คุณครูเริ่มต้นด้วยการชวนเด็กๆ มาตั้งวงสนทนาในหัวข้อที่ว่า “เป็นสุนัขดีกว่าเป็นคนจริงหรือไม่” สมาชิกวงสนทนาที่เชื่อว่าสุนัขมีชีวิตที่อิสรเสรี ต่างยกมือแสดงความคิดเห็นพร้อมกับให้เหตุผลสนับสนุน เด็กคนหนึ่งตอบว่า “เป็นสุนัขดีกว่า เพราะว่ามีโอกาสได้วิ่งเล่นในสวนสาธารณะ” คุณครูจึงตั้งคำถามเป็นการสะท้อนความคิด “แล้วเป็นมนุษย์ วิ่งเล่นที่สวนสาธารณะไม่ได้หรือ” วงสนทนาเกิดเสียงฮือฮา และนำไปสู่การตั้งข้อสังเกตว่า นี่ไม่ใช่เหตุผลที่ใช้ชีวิตแบบสุนัขดีกว่า แล้วเหตุผลที่แท้จริงคืออะไร

          เด็กน้อยอีกคนหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า “สุนัขทำท่าทางต่างๆ ในแบบที่มนุษย์ทำไม่ได้” ผู้สอนและสมาชิกในวงต่างร่วมกันแสดงความคิดเห็น เช่น สุนัขของคุณครูไม่มีความสามารถพิเศษแบบนั้น และมนุษย์หลายคนก็เป็นนักยิมนาสติก นักกีฬา มีความสามารถที่จะใช้ร่างกายในแบบต่างๆ มากมาย บทสนทนาดำเนินไปแบบนี้ มีคนเสนอความคิดเห็นเริ่มต้น และสมาชิกต่างก็มาช่วยกันถกถาม แสดงเหตุผล จนกระทั่งเด็กคนหนึ่งบอกว่า 

          “บางที การเป็นมนุษย์ก็เหนื่อยล้าเกินไป…” มีเสียงตอบรับเห็นด้วยมากมาย จากนั้นวงสนทนาก็เริ่มสำรวจว่า ทำไมการเป็นมนุษย์ถึงเป็นเรื่องยาก มีคำตอบดีๆ หลายประเด็น เช่น มนุษย์ต้องทำงานและเรียน มนุษย์ไม่สามารถทำตามใจตนเองได้ มนุษย์อาจต้องพรากจากคนที่รัก ดังที่คุณพ่อของนักเรียนคนหนึ่งต้องเดินทางไปทำงานไกลถึงแอฟริกา แม้ว่ามนุษย์จะสามารถรับประทานอาหารที่หลากหลาย แต่ก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง เด็กๆ พากันพูดถึงข้อดี ข้อเสียของการเป็นมนุษย์อย่างทะลุปรุโปร่ง 

          ในอีกวงสนทนา เด็กคนหนึ่งตอบว่า “เป็นมนุษย์ดีกว่า เพราะคนอื่นๆ ไม่ได้บอกเราว่าควรจะต้องทำอะไรตลอดเวลา” แต่คุณครูก็ตั้งคำถามกลับว่า “แต่ระหว่างที่นั่งอยู่ตรงนี้ มีแต่คนบอกให้หนูทำอย่างนั้น อย่างนี้ ตลอดเวลา” เด็กคนนั้นนิ่งไป และเริ่มคิดใหม่ว่า หรือการเป็นสุนัขจะดีกว่า

          ความคิดเห็นของเด็กคนหนึ่งที่สะกิดใจครูผู้สอน คือ “เป็นมนุษย์ดีกว่า ถ้าเป็นสุนัขแล้วหลงทาง เราจะต้องอยู่คนเดียว ไม่มีใครคอยดูแล ถ้าเราเป็นสุนัขพันธุ์บูลด็อก เราก็จะหนาวเพราะไม่มีขน ถ้าฝนตกเราก็จะเปียก แวะไปที่บ้านไหน ก็คงจะไม่มีใครต้อนรับ สุนัขพูดไม่ได้ คงไม่มีใครรู้ว่าเราต้องการความช่วยเหลือ ถ้าเราเป็นมนุษย์เขาอาจจะฟังเรา มันคงแย่มากถ้าไม่สามารถร้องขอความช่วยเหลือได้”

          เด็กคนนี้ โดยปกติเป็นคนที่พูดเก่งมาก แต่ในวงสนทนา เธอกลับนั่งนิ่ง ฟังเพื่อนๆ แสดงความคิดเห็นอย่างสงบอยู่นานสองนาน ในตอนแรกผู้สอนคิดว่าประเด็นนี้อาจจะไม่ใช่ประเด็นที่เธอสนใจ แต่จากการแสดงความคิดเห็นเป็นคนท้ายๆ และเก็บตกประเด็นที่เพื่อนในวงพูดจนหมด ทำให้รู้ว่าเธอตั้งใจฟัง และใส่ใจในทุกรายละเอียด และทุกถ้อยคำของเพื่อนๆ

          ผู้สอนจึงได้เรียนรู้ว่า ความเงียบมีหลากหลายความหมาย ความเงียบไม่ได้แปลว่าไม่รู้หรือไม่สนใจ เมื่อเด็กคนนี้แสดงความคิดเห็นจึงพบว่า เธอคือคนที่สามารถเก็บเกี่ยวสิ่งที่ผู้สอนตั้งใจเอาไว้ได้ทุกประการ มีความเข้าใจในความเสี่ยงและความเปราะบางของสัตว์เลี้ยง มีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมโลก เมื่อแสดงความคิดเห็นจบลง เพื่อนนักเรียนในวงกล่าวว่า “ผมจะให้สุนัขเร่ร่อนเข้าบ้านแน่ๆ ถ้ามันเดินมาที่บ้านผม”นั่นแปลว่าความเห็นอกเห็นใจได้เกิดขึ้นในวงแล้ว

          นี่เป็นเพียงตัวอย่างง่ายๆ ของการตั้งวง ‘Community of Inquiry’ ในห้องเรียน หากการสอนแบบนี้เกิดขึ้นในหลากหลายหัวข้อ หลากหลายวิชา ยกระดับความยากและความลึกซึ้งขึ้นตามวัย ก็เป็นไปได้ว่าเด็กๆ จะซึมซับความช่างสงสัย ทักษะในการใช้เหตุและผลสนับสนุนข้อคิดเห็น มีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น คงความกระตือรือร้นในการค้นหาคำตอบตลอดไป กลายเป็นคนที่รักในการเรียนรู้จนตลอดชีวิต

เรียนปรัชญาแต่ยังเล็ก สอนเด็กๆ ให้รู้คิดและเข้าใจโลก


ที่มา

เว็บไซต์ plato-philosophy.org (Online)

บทความ “History of P4C” จาก p4c.com (Online

บทความ “Philosophy for Children” จาก hundred.org (Online)

บทความ “The case for teaching kids philosophy” จาก imagine5.com (Online)

บทความ “Philosophy for Children”จาก plato.stanford.edu (Online)

บทความ “P4C in Schools KANSAI – JAPAN” จาก Kansai.p4c-japan.com (Online)

บทความ “P4C case studies” จาก sapere.org.uk (Online)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก