วิทยากร โสวัตร : วรรณกรรมลุ่มน้ำของ จิตวิญญาณอีสาน และร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย

1,900 views
8 mins
July 16, 2021

          เสน่ห์ของร้านหนังสืออิสระอยู่ที่เอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไปตามตัวตนของเจ้าของร้าน สะท้อนผ่านการดีไซน์ บรรยากาศ ประเภทหนังสือ และกิจกรรมต่างๆ

          ในยุคที่อุตสาหกรรมหนังสือกำลังเผชิญมรสุมใหญ่ หนึ่งในร้านหนังสืออิสระที่สามารถยืนระยะได้อย่างน่าชื่นชม คือร้าน ‘ฟิลาเดลเฟีย’ จังหวัดอุบลราชธานี

          หากสัมผัสอย่างผิวเผิน ฟิลาเดลเฟียเป็นร้านหนังสือเล็กๆ ที่มีบรรยากาศรื่นรมย์ โดดเด่นด้วยอาคารที่ออกแบบเป็นรูปทรงดินสอสีเหลืองสะดุดตา ห้อมล้อมด้วยทุ่งนาและดอกไม้หลากสี แต่หากได้สัมผัสอย่างจริงจัง จะพบว่าที่นี่เป็นร้านหนังสือที่เต็มไปด้วยขุมทรัพย์ทางวรรณกรรม

          ผู้อ่านสามารถถามหาหนังสือที่มีเนื้อหาหนักๆ ด้านสังคม ประวัติศาสตร์ การเมือง วัฒนธรรม ที่แม้แต่ห้องสมุดบางแห่งยังไม่มี ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์ จัดกิจกรรมเสวนาเกี่ยวกับศิลปะและวรรณกรรมตามวาระต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ

          ที่สำคัญคือตัวเจ้าของร้าน เจี๊ยบ-วิทยากร โสวัตร ซึ่งเป็นเสมือนห้องสมุดมีชีวิต พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้มาเยือนทุกเพศทุกวัย และหากสนทนาลื่นไหลจนลืมวันลืมคืน บริเวณชั้นบนของร้านก็มีห้องพักที่เตรียมไว้ เปิดให้นักอ่านและมิตรสหายพักแรมได้อย่างไม่ขัดเขิน

          ในวาระที่ไปเยือนจังหวัดอุบลราชธานี The KOMMON มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมร้าน พร้อมสนทนาสารพัดเรื่องกับคุณเจี๊ยบ ตั้งแต่อัตลักษณ์ของผู้คนและวรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ไปจนถึงต้นกำเนิดและแรงบันดาลใจในการเปิดร้านฟิลาเดลเฟีย

ย้อนไปช่วงปี 2561 มีการก่อตั้ง ‘สมาพันธ์วรรณกรรมแม่น้ำของ’ ซึ่งคุณเป็นหนึ่งในกรรมการดำเนินงานด้วย  ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าความเป็นมาและจุดประสงค์ของสมาพันธ์คืออะไร

          สมาพันธ์นี้มาจากแนวคิดของคุณชัชวาลย์ โคตรสงคราม นักเขียนรุ่นใหญ่ที่มีความสำนึกความเป็นลาวค่อนข้างสูง เขาไม่ได้ยึดแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นศูนย์กลาง แต่ยึดแม่น้ำโขงเป็นศูนย์กลาง ทั้งในเชิงสังคม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม จึงอยากสร้างกลุ่มนักคิด นักเขียน ที่เป็นประชาชนในลุ่มน้ำโขงทั้งสองฝั่ง เพื่อทำให้อัตลักษณ์ของคนลาว-อีสานโดดเด่นขึ้นมา ขณะเดียวกันก็เป็นการปฏิเสธการครอบงำทางวัฒนธรรมจากส่วนกลางด้วย

          ในกลุ่มมีทั้งนักเขียนที่มีชื่อและไม่มีชื่อ รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานร่วมกัน หลายคนเป็นครู ทำให้มีเราช่องทางในการสนับสนุน ทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านแก่เด็กนักเรียน ส่วนกิจกรรมหลักในช่วงที่ผ่านมา คือการมอบรางวัลอุรังคธาตุ มาจากชื่อพระธาตุที่ประดิษฐานอยู่ที่พระธาตุพนม ศูนย์รวมความศรัทธาของคนลาวทั้งสองฝั่ง

อัตลักษณ์ความเป็นลาวในงานวรรณกรรม มีความสำคัญอย่างไร

          ในความคิดส่วนตัวของผม ผมเป็นลาว หลังจากที่แม่น้ำโขงถูกฉีกเป็นสองประเทศ มันเหมือนอีสานไม่มีประวัติศาสตร์ ครั้นจะเรียกว่าเป็นไทยก็ยังมีความลักลั่น จริงๆ แล้วตัวหนังสือที่เราใช้ในทางศาสนา วรรณคดี จารีต ทุกอย่างเป็นลาวหมด

          แล้วถ้าเทียบในแง่วรรณคดี เรามีมหากาพย์เป็นของตัวเองคือ ‘สินไซ’ เปรียบได้กับมหากาพย์โอดิสซี เทียบกันได้บรรทัดต่อบรรทัดเลย สิ่งที่ผมจะบอกคือประเทศที่มีมหากาพย์เป็นของตัวเอง จะสามารถต่อยอดในเชิงวรรณกรรมได้ เพราะมีรากแก้วที่หยั่งลึก แต่ประเทศไทยกลับไม่มีมหากาพย์เลย ในแง่นี้ลาวจึงเหนือกว่า ปัญหาคือส่วนกลางหรือรัฐไทย จะตีค่าว่าเป็น ‘วรรณกรรมท้องถิ่น’ ทำให้คนลาวอีสานไม่กล้าบอกว่านี่เป็น ‘วรรณคดีลาว’

วิทยากร โสวัตร : วรรณกรรมลุ่มน้ำของ จิตวิญญาณอีสาน และร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย

วิธีคิดแบบนี้ แง่หนึ่งเป็นความตั้งใจแบ่งแยกความเป็นลาว-ความเป็นไทยให้ชัดเจนขึ้นหรือเปล่า

          เราไม่ได้ต้องการแบ่งแยกนะ อันนี้ชัดเจนมาก เพียงแต่เราต้องการให้เกิดการยอมรับความหลากหลายของอัตลักษณ์พื้นถิ่น อาจคล้ายกรณีสามจังหวัดชายแดนใต้ คือมีความคุกรุ่นอยู่ข้างใน แต่ของคนอีสานไม่ได้รุนแรงเท่า จะเป็นสำนึกที่เรารู้สึกอยู่ข้างในเสียมากกว่า

เพราะอะไรถึงเป็นแบบนั้น

          ถ้ามองในแง่ภาษา อาจเพราะภาษาไทยกับลาวมันใกล้เคียงกัน ทำให้กลืนเข้าหากันได้ง่ายกว่า ไม่เหมือนภาษามลายูที่ต่างกันชัดเจน   

          แต่ถ้ามองในบริบทปัจจุบัน จุดแปรผันหนึ่งที่สำคัญคือรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ทำให้คนลาวอีสานหรือภาคอีสานทั้งหมด เกิดความรู้สึกสำนึกได้ว่าตัวเองมีพลังทางการเมือง มีสิทธิความเป็นคนที่เท่าเทียม มีสิทธิ์ที่จะแชร์ผลประโยชน์ชาติ ฉะนั้นความรู้สึกต่างๆ ที่ปะทุอยู่ข้างในจึงไม่ได้รุนแรงหรือปรากฏออกมาอย่างชัดเจน

ในมุมมองของคนท้องถิ่นอีสาน การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องของวรรณกรรม เรื่องการศึกษา รวมถึงความเป็นไทยลาวไทยอีสาน ได้อย่างไร

          ผมขอเล่าจากประสบการณ์ตัวเองแล้วกัน ผมเข้าโรงเรียนปี 2526-2527 พี่ชายผมชอบกีตาร์มาก แต่เขาไม่มีเงินซื้อ ตอนนั้นข้าวเกวียนละสองพันกว่าบาท ถ้าแม่ซื้อกีต้าร์ให้พี่ชาย จะเหลือเงินอยู่แค่ไม่กี่ร้อยสำหรับลูก 7 คน แล้วยังมีหลานอีก ตอนเด็กผมเป็นคนเรียนเก่ง แต่ผมกินข้าวกับอะไรรู้ไหม ผมกินข้าวเหนียวกับกับข้าวอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งสารอาหารไม่เพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของสมองหรอก พอบ้านยากจน ผมก็ต้องไปบวชเพื่อจะได้เรียนมัธยม ได้กินข้าวแค่มื้อเดียว บิณฑบาตไม่ได้เพราะอีสานมันยากจน

          แต่พอผมใกล้เรียนจบช่วงปี 2544-2545 เวลาผมกลับบ้าน ผมเห็นหลานได้กินอาหารเต็มสาด (เสื่อ) มีอาหารเต็มตู้เย็น อยากกินตอนไหนก็ได้กิน ผมรู้สึกขนลุกน้ำตาซึมเลยนะ เขามีโอกาสมากกว่าผม สารอาหารจะช่วยพัฒนาสมองเขาอย่างมาก

          ตลอดชีวิตการเป็นนักศึกษาของผม ผมทำกิจกรรมทางการเมืองและวัฒนธรรมมากมาย แต่ผมไม่สามารถทำให้คนบ้านผมที่กาฬสินธุ์ กระทั่งครอบครัวพี่น้องคุยกันเรื่องการเมืองได้เลย จนเมื่อปี 2553 เวลาผมกลับบ้าน ผมเห็นชาวบ้านตื่นตัวคุยเรื่องการเมืองกันในวัด วันศีลวันพระก็คุย งานศพก็คุย พระก็คุย เวลาใครถกเถียงเรื่องการเมืองกันแล้วไม่เจอจุดลงตัว เขาก็จะเรียกผมไปหาไปอธิบายให้ฟัง คนที่บ้านผมจะเกรงใจคนที่เคยบวชเรียน เป็น ‘มหา’ ที่จบปริญญาตรี จุดพลิกมันอยู่ที่ปากท้องของคนบ้านเรา เราได้เห็นว่ามันมีประชาธิปไตยที่กินได้ แต่วันนี้มันกินไม่ได้

          ผมคิดว่าถ้าการเมืองเปิด การอภิปรายต่างๆ ที่เป็นปัญหาปากท้องเป็นไปได้อย่างอิสระ ความอยากเรียนรู้ อยากแสวงหาความรู้ จะเกิดขึ้นได้มากกว่าการเมืองแบบปิด

วิทยากร โสวัตร : วรรณกรรมลุ่มน้ำของ จิตวิญญาณอีสาน และร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย

ช่วงหลังปี 2540 เป็นช่วงที่การเมืองเริ่มเปิดมากขึ้น มันส่งผลกระทบกับคุณในแง่ไหนบ้าง

          พอนึกย้อนไป เรื่องหนึ่งที่ส่งผลชัดมากคือการทำงานวรรณกรรม จากที่ก่อนหน้านั้นผมจะมีความไม่มั่นใจว่าเราจะใช้คำลาวในการเขียนวรรณกรรมได้ไหม แต่พอการเมืองเปิด ทุกอย่างมันเปิดตาม ความไม่มั่นใจแบบนั้นมันหายไป เหมือนเรามีอิสระมากขึ้น ทำให้เรากล้าเปิดเผยความคิดและตัวตนมากขึ้น

          ช่วงนั้นผมกลับไปค้นคว้าภูมิปัญญาเก่าๆ เยอะมาก ผมกลับมาสนใจเรื่องวรรณกรรมท้องถิ่น วรรณกรรมลาว สนใจลึกซึ้งจนเชื่อมโยงได้หมด ผมสามารถเปรียบเทียบผาแดงนางไอ่ กับโรมิโอและจูเลียตได้ เอาสินไซมาเทียบกับโอดิสซีได้ เทียบกับรามายณะได้ ภาวะแบบนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น เป็นจังหวะที่ประหลาดดี สุดท้ายแล้วเรื่องปากท้อง ความเป็นอยู่ที่ดี มันหนุนเนื่องกับสิ่งเหล่านี้โดยที่เราไม่รู้ตัว

แล้วความเป็นนักกิจกรรม สนใจเหตุบ้านการเมือง สุดท้ายมันมาบรรจบกับการทำร้านหนังสือได้อย่างไร

          จริงๆ แล้วการทำร้านหนังสือเป็นความฝันของผู้หญิงที่ผมรัก ส่วนผมเป็นแค่คนที่ชอบอ่านหนังสือและอยากเขียนหนังสือ ตอนนั้นเป็นจังหวะที่ลูกเพิ่งเกิด ผมรู้สึกว่าหนังสือมันแพงจัง อย่างเช่นเรื่อง ‘ความสุขแห่งชีวิต’ ของ William Saroyan เล่มละ 380 บาท ผมให้เงินลูกไปโรงเรียนวันละ 20 บาท นั่นหมายความว่าผมต้องให้เขาอดข้าวอดขนมประมาณ 4 อาทิตย์เพื่อที่จะได้หนังสือเล่มหนึ่ง

          ผมประเมินแล้วว่า ผมไม่สามารถซื้อหนังสือทุกเล่มที่ลูกอยากอ่านและผมอยากให้ลูกอ่านได้ ถ้างั้นเปิดร้านหนังสือก็ดี จะได้เอาหนังสือที่ขายมาอ่านซะเลย

สังเกตว่าฟิลาเดลเฟียไม่ใช่แค่ร้านขายหนังสือ แต่ยังเป็นสถานที่พบปะแลกเปลี่ยนพูดคุย ทำไมคุณจึงอยากให้ร้านมีพื้นที่และบรรยากาศแบบนี้

          ผมมี จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นฮีโร่ เขาเขียนงานวิชาการก็ดี อธิบายกับคนอื่นก็ดี เขาไม่คร้านที่จะให้โอกาสคนมาสนทนากับเขา

          ถ้าเราเป็นนักกิจกรรม เราจะเข้าใจว่าการคุยกันในวงย่อย ไม่ใช่แค่มานั่งฟังคนที่ดูเหมือนจะมีความรู้อยู่ฝ่ายเดียว แต่เป็นการมานั่งแชร์กัน ความเป็นมนุษย์มันจะเคลื่อนเข้าหากัน ความคุ้นเคยเหล่านี้มันช่วยทำลายกำแพงของชนชั้น ทำให้เกิดความรู้ใหม่ เหมือนเหล้าตำจอก ทำให้เราอยากเมามายต่อ อยากไปอ่านหนังสือเพิ่ม ไปคุยกับคนอื่นเพิ่ม อยากจะแชร์อีก

          เชื่อไหมว่าตลอด 30 ปี ผมไปงานอภิปรายนักเขียนที่ไหน ผู้สัมภาษณ์มักจะถามคำถามเดิมๆ ทำนองว่า “มีแรงบันดาลใจอะไรถึงเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา” พอผมทำร้านหนังสือ ผมไม่เอาแบบนี้ ผมเอาประเด็นปัญหาการเมืองสังคมมาชู แล้วไปเชิญศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ หรือผู้เชี่ยวชาญมาพูด ซึ่งเขาพูดถึงวรรณกรรม งานวิชาการ และหนังสือหนักๆ ทั้งนั้น กลายเป็นว่าทุกคนที่มาฟังซื้อหนังสือร้านผมเกลี้ยงเลย แสดงว่าบรรยากาศของการเรียนรู้มันช่วยสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของคนที่มาร่วมเสวนา ผมว่าตัวตนของฟิลาเดลเฟียมันเป็นแบบนี้แหละ

จากการทำร้านหนังสือมาหลายปี มีผลตอบรับยังไงบ้าง

          ผมอ้างถึงคำที่คนอื่นพูดถึงน่าจะดีกว่า พวกเขารู้สึกว่าที่นี่ไม่เหมือนร้านหนังสือ แต่เหมือนเข้ามาในบ้านที่มีชั้นหนังสืออยู่เต็มผนัง พอถอดรองเท้าเข้ามา จะนั่งจะนอนตรงไหนก็ได้ มาคุยกับเราเหมือนเราเป็นพี่เป็นเพื่อน ข้างบนมีห้องนอนนะ แต่ผมไม่กล้าคิดเงิน ผมคิดไม่เป็นหรอก บางคนก็ซ่อนเงินไว้เพราะรู้ว่าถึงให้ผมก็ไม่เอา

          มันเหมือนบ้านคนลาวสมัยก่อน บ้านผมเปิดตลอด ไม่มีรั้ว ใช้ใจเป็นรั้ว พ่อผมต้องทำปลาแดกไว้เป็นสิบๆ ไห ทุกคนมาก็จกปลาแดกมาทำกินกัน อยู่อย่างนี้ทั้งปี พ่อก็จะสอนพี่ๆ ว่า “เงินฝากมันอยู่กับเพื่อน” หมายถึงว่า ถ้าเราดีกับเพื่อน ทุกคนก็จะหยิบยื่นให้เราเหมือนกัน ผมโตมาแบบนั้น เลยทำให้บุคลิกของผมเป็นแบบนี้ แล้วบังเอิญว่าคนรักของผมเขาเป็นคนที่เทคแคร์คนอื่นมากกว่าผม หลายคนที่ได้รู้จักกันจะรักเธอมากกว่าผม ผมว่าเสน่ห์ของร้านหนังสือก็คือคนส่วนใหญ่ที่เขามาคุยกับเรา

วิทยากร โสวัตร : วรรณกรรมลุ่มน้ำของ จิตวิญญาณอีสาน และร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย

เมื่อได้เปิดร้านหนังสือแล้ว ได้สนับสนุนให้ลูกอ่านหนังสืออย่างที่ตั้งใจไว้ไหม

          ผมให้ความสำคัญกับการรักการเรียนรู้ ก่อนที่จะรักการอ่าน ผมเชื่อว่าเด็กทุกคนมีธรรมชาติของนักปรัชญา คือเป็นคนที่รักในความรู้ เพียงแต่เราจะทำอย่างไรให้ตาน้ำในการเรียนรู้เปิดออก ถ้าเปิดได้ ทุกอย่างจะพรั่งพรูออกมาเอง  

          พวกเราอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในท้อง อ่านเรื่อง ‘พระจันทร์เสี้ยว’ ของ รพินทรนาถ ฐากุร ตอน เวยา ลูกสาวคนโตเกิด เราไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ต ไม่มีโทรศัพท์ แล้วในบ้านก็ไม่มีโทรทัศน์ นี่เป็นเรื่องประหลาดมาก พอเขาเริ่มรู้ความ ก็เห็นพ่อแม่อ่านหนังสือตลอด จนวันหนึ่งเขาก็หยิบเอามาเปิดๆ ขอให้เราอ่านให้ฟัง

          เวยาเคยทำสถิติอ่านหนังสือวันหนึ่ง 5 เล่ม เขาอ่านเร็วเหมือนแม่ แต่อ่านละเอียดเหมือนผม อ่านหนังสือของ ธงชัย วินิจจะกูล อ่าน ‘โลกของโซฟี’ ตั้งแต่อยู่ ป.6 เขาชอบเอาหนังสือใส่กระเป๋าไปโรงเรียนทีละหลายเล่ม ผมมารู้ทีหลังว่าเขาเอาไปอ่านให้เพื่อนฟัง ส่วน นรัญ ลูกสาวคนเล็กอาจจะอ่านได้ช้ากว่า แต่ผมก็ไม่เร่งเขานะ เขาเกิดมาในยุคที่เราใช้มือถือขายของ แต่เขาเป็นคนชอบคุย เขาสามารถคุยและดูแลทุกคนที่มาที่ร้านตั้งแต่เด็กจนถึงด็อกเตอร์

          หลายคนถามผมว่า ทำยังไงให้ลูกอ่านหนังสือ คำถามคือแล้วคุณอ่านไหมล่ะ ถ้าไม่เริ่มต้นที่เราอ่าน ลูกที่ไหนจะอ่าน มันเป็นทฤษฎีกระจกเงา เด็กนี่นะ ช่วงหนึ่งที่เราด่ามัน มันด่าเราคืน เราตีมัน มันตีเราคืน ผมเลยตกลงกับคนรักเลยว่า ถ้าถึงวัยนี้เรามาอ่านหนังสือให้มากขึ้นนะ

อยากรู้ว่าคุณมีมุมมองหรือวิธีคิดอย่างไร ในการสนับสนุนให้คนอ่านทั่วไปสามารถเข้าถึงหนังสือได้มากขึ้น

          จากประสบการณ์ของผม ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับระบบห้องสมุด ถ้าถามประสบการณ์ผม ผมชอบเข้าห้องสมุด แต่ห้องสมุดส่วนใหญ่เป็นของรัฐและมันไม่เวิร์ค มันไม่มีใครอยากเข้าหรอกครับ ผมอยากให้เอาห้องสมุดไปอยู่ในมือประชาชน เอาหนังสือไปให้เขาเลย ทำให้บ้านทุกหลังมีชั้นหนังสือ แล้วก็สร้างกลไกที่ทำให้ทุกคนสามารถซื้อหนังสือได้ในราคาถูก

          ปัจจุบันยังมีหลายคนที่เข้าไม่ถึงหนังสือ คุณอยู่กรุงเทพฯ ผมอยู่กาฬสินธุ์ เราเป็นมนุษย์เหมือนกัน เกิดมาพร้อมกัน คุณมีเงินซื้อหนังสือ ซื้อแล้วอาจจะอ่านหรือไม่อ่านก็ได้ แต่ผมไม่มีเงิน ไม่มีหนังสือในมือ โอกาสในการอ่านเป็นศูนย์นะครับ สิ่งที่ผมพยายามทำคือ ถ้าคุณมีหนังสือแล้วไม่ได้อ่าน คุณเอาไปฝากคนอื่นไว้ หนังสือจะทำหน้าที่ของมันเองถ้าได้ไปอยู่ที่มือของคนที่ต้องการ

          ผมเห็นนักศึกษาที่ยากจน มีคนงานก่อสร้างที่ทิ้งลูกไว้ที่นี่ตอนปิดเทอม เขาอยากได้หนังสือแต่เงินไม่พอ สิ่งที่ร้านผมทำคือ ถ้าคุณซื้อหนังสือ 300 บาท แล้วคุณให้เงินมา 500 บาท แต่ไม่เอาเงินทอน เอาไว้ที่นี่ 200 บาท ผมจะมีกล่องไว้ให้ใส่ ปีที่แล้วมีคนให้มารวมๆ แล้วเป็นหมื่นนะครับ ผมก็จะนำเงินส่วนนี้ไปเติมให้กับคนที่มีไม่พอ

          สิ่งที่ผมกำลังทำอยู่ตอนนี้ ปีละ 2-4 ครั้ง คือเอาหนังสือที่ล้นสต๊อก หนังสือที่เพื่อนหรือหลายคนให้มา หรือหนังสือที่ผมดีลกับมูลนิธิกระจกเงา นำไปขายเล่มละบาท หรือบางทีก็ 5 บาท เพื่อให้เขารู้สึกว่ามันไม่ได้ฟรี ราคาก็เป็นเรื่องหนึ่ง และต้องเป็นหนังสือที่คนเขาอยากอ่านด้วย ยังไม่ต้องพูดถึงหนังสือดี

          สิ่งที่จำเป็นอันดับแรกคือเราต้องสร้างนิสัยรักการอ่าน เมื่ออ่านไปได้ระดับหนึ่ง ผมเชื่อว่าสติปัญญาและสมองของมนุษย์ จะสามารถจำแนกแยกแยะได้ว่าหนังสือเล่มไหนดีหรือไม่ดี

วิทยากร โสวัตร : วรรณกรรมลุ่มน้ำของ จิตวิญญาณอีสาน และร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย

เผยแพร่ครั้งแรก ทาง TK Podcast สิงหาคม 2562

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก