พัฒนาเมือง ด้วยห้องสมุดมีชีวิต ภูมิทัศน์การพัฒนาแนวใหม่ จากวิสัยทัศน์ผู้บริหารท้องถิ่น

562 views
ึ7 mins
January 4, 2021

ใครที่คิดว่าห้องสมุดทันสมัยมีอยู่เพียงแค่เฉพาะในกรุงเทพฯ… คงจะต้องคิดใหม่ และเปลี่ยนความเข้าใจ !

          กล่าวได้ว่า ในรอบสิบปีที่ผ่านมา แนวคิดห้องสมุดมีชีวิตได้แพร่หลายกระจายไปทั่วสังคมไทย ส่งผลกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของห้องสมุดทั่วประเทศ องค์กรปกครองท้องถิ่นหลายแห่งลุกขึ้นมาปรับปรุงห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้กันขนานใหญ่ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคนและคุณภาพการศึกษาการเรียนรู้ จนปัจจุบันปรากฏห้องสมุดรูปแบบใหม่อันน่าตื่นตาในหลายจังหวัด

          แต่ทว่า “ห้องสมุด” นั้นไม่อาจดำรงอยู่ได้ตามลำพังอย่างโดดๆ โดยปราศจากบริบทแวดล้อมรองรับ การเกิดขึ้นและคงอยู่ของห้องสมุดรูปแบบใหม่ ย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้บริหารท้องถิ่นและผู้เกี่ยวข้องในการทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมการแสวงหาความรู้และความต้องการของผู้ใช้บริการในพื้นที่ ตลอดจนวิสัยทัศน์ในการมองเห็นถึงบทบาทความสำคัญและแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับห้องสมุดในโลกยุคใหม่

          องค์กรปกครองท้องถิ่นของไทยจำนวนไม่น้อยเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจและน่าจับตามอง เนื่องจากได้วางบทบาทของห้องสมุดไว้เคียงคู่ไปกับการพัฒนาเมือง เพราะการพัฒนาสู่เมืองสมัยใหม่ จำเป็นต้องมีพลเมืองซึ่งมีทักษะความสามารถในการเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ อันเกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ ที่จะส่งผลกระทบมาสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับท้องถิ่น ห้องสมุดหรือแหล่งเรียนรู้ต่างๆ จึงต้องทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางความรู้และประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลายและเท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงให้แก่พลเมืองในท้องถิ่น

          เวลานี้ ภูมิทัศน์การพัฒนาเมืองกำลังเปลี่ยนไป จากเดิมที่มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ อย่างเช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา มาสู่แนวคิดใหม่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา โดยใช้ “ห้องสมุดเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง” เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้และสร้างสรรค์ หรือเมืองยุคใหม่ของศตวรรษที่ 21

TK Park ยะลา พื้นที่สันติภาพและแหล่งค้นหาคุณค่าของท้องถิ่น

          แนวคิดในการสร้าง TK Park ยะลา ให้เป็นห้องสมุดมีชีวิตต้นแบบระดับภูมิภาคเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2548 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ปะทุขึ้นอย่างเด่นชัด และผู้คนต่างวัฒนธรรมเกิดความไม่ไว้วางใจกันและกัน ห้องสมุดแห่งนี้เปิดให้บริการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2550 นอกจากจะเป็นแหล่งแสวงหาความรู้และพื้นที่ส่งเสริมการอ่านแล้ว ยังมีบทบาทในการเป็นพื้นที่สันติภาพเพื่อการก้าวข้ามความรู้สึกแปลกแยกที่เกิดขึ้นในจิตใจ

          “TK Park ยะลา ได้เข้ามาในจังหวะที่มีวิกฤตการณ์ และกลายมาเป็นสะพานเชื่อมความแตกต่างให้เข้ามาอยู่ด้วยกัน ทำให้คนสองวัฒนธรรมสามารถเดินไปมาหาสู่กันได้ เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้อิงกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นพื้นที่กลางสำหรับการเรียนรู้ของทุกคน และที่นี่ยังเป็นพื้นที่ของการให้โอกาส ให้ความรู้ และให้แรงบันดาลใจ ทุกคนสามารถเข้ามาค้นหาตัวเองจากกิจกรรมที่ห้องสมุดจัดขึ้น คนในภาคใต้มักรู้สึกว่าเขาไม่ทัดเทียมกับคนที่อื่น เพราะเป็นพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีใครเข้ามาดูแล แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาหาตัวเองเจอว่าเขาเป็นคนมีความสามารถ มันจะเป็นแรงผลักดันให้เขาเห็นว่าเขาทัดเทียมกับคนอื่น”  พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลากล่าวถึงบทบาทของห้องสมุด TK Park ยะลา ที่เปิดให้บริการมาแล้วเป็นปีที่ 8 1

          มาถึงวันนี้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดยะลามีความคลี่คลายลง เทศบาลเมืองยะลาก็เริ่มมองบทบาทของ TK park ยะลา ขยับไปสู่การวางรากฐานด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เนื่องจากเศรษฐกิจของยะลามีอัตราการเติบโตที่ลดลงอย่างต่อเนื่องด้วยหลายปัจจัย ทั้งปัญหาความไม่สงบและราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ โดยจะใช้แนวทาง 3R ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเมืองยะลา ได้แก่ การปรับโครงสร้างเมือง (Restructure) ทั้งทางเศรษฐกิจ การศึกษา การเชื่อมโยงกัน และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่เป้าหมายใหม่ (Repositioning) ก็คือการทำให้ยะลาเป็น Harmonize City ซึ่งหมายถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม และการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ (Reimage) ด้วยการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างผู้คนในสังคม

          “ยะลามีทุนเดิมเรื่องความสะอาด เป็นเมืองที่สะอาดที่สุดในประเทศไทย มีทุนเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทุนด้านสิ่งแวดล้อม ทุนด้านวัฒนธรรม ทุนด้านการศึกษา ในอดีตยะลาคือตักศิลาของภาคใต้ TK Park ยะลา จะต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้าใจว่าอะไรคือลมหายใจของเมือง ให้คนค้นหาคุณค่าของท้องถิ่นให้เจอ ให้เขาเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับบ้านเมือง และมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเมืองยะลาร่วมกัน” นายกเทศมนตรีกล่าว

          พื้นที่ TK Park ยะลา ประกอบด้วยอาคาร 2 หลัง อาคารแรกเป็นโซนห้องสมุดมีชีวิตที่ออกแบบตกแต่งให้ดูน่าใช้บริการ ตรงจากประตูทางเข้าเป็นพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการหมุนเวียน ด้านในสุดของอาคารเป็นมุมกาแฟที่สามารถนั่งอ่านหนังสือในบรรยากาศสบายๆ ไปพร้อมกับทานขนมและกาแฟ มีห้องเงียบสำหรับผู้ที่ต้องการอ่านหนังสืออย่างมีสมาธิ มีโซนให้บริการคอมพิวเตอร์พร้อมเกมและสื่อการเรียนรู้สร้างสรรค์ และด้านข้างของอาคารเดียวกันเป็นห้องชมภาพยนตร์ที่เปิดฉายทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ส่วนอาคารอีกหลังหนึ่งเป็นห้องสมุดสำหรับเด็ก ซึ่งน้องๆ สามารถอ่านหนังสือหรือเล่นสนุกได้โดยไม่รบกวนผู้ที่เข้ามาอ่านหนังสือ ระหว่างอาคารทั้ง 2 หลังเป็นลานกิจกรรมขึงด้วยหลังคาผ้าใบสูงโปร่ง สามารถใช้เป็นเวทีเพื่อให้เยาวชนได้แสดงออก และจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านต่างๆ             

          TK Park ยะลาให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการศึกษาความต้องการด้านการเรียนรู้ของชาวยะลา เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางจัดกิจกรรมให้สอดคล้องเหมาะสม ทุกๆ ปีจะมีการระดมความเห็นกลุ่มเยาวชนและผู้ใช้บริการไม่ต่ำกว่า 4-6 ครั้ง อาทิ การให้ผู้บริการสะท้อนความพึงพอใจในการใช้งานห้องสมุด หรือการให้น้องๆ จากสภาเยาวชน และนักเรียนที่มาช่วยงานเทศบาลในช่วงปิดเทอม ได้แสดงความเห็นเรื่องการออกแบบเมือง การออกแบบห้องสมุด และการออกแบบกิจกรรมตามที่เขาต้องการ

          กิจกรรมที่ผู้ใช้บริการให้ความสนใจเข้าร่วมจนเต็มเกือบทุกครั้ง ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมประเภทเวิร์คช็อป ซึ่ง TK Park ยะลาได้นำเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวมาออกแบบเป็นกระบวนการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง (Learning by Doing) มีทั้งกิจกรรมสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ทุกสัปดาห์ เช่น การอบรมคอมพิวเตอร์ การทำร้านกาแฟ การทำไอศกรีม งานประดิษฐ์ การออกแบบลายผ้า และศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวิร์คช็อปเกี่ยวกับการประกอบอาชีพและการสร้างรายได้ และห้องสมุดยังได้จัดหาหนังสือที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับกิจกรรมเพื่อการค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยตนเองอีกด้วย

          วัชรี ถ้วนถวิล ผู้จัดการ TK Park ยะลา กล่าวถึงผลสำเร็จของห้องสมุดที่เกิดขึ้นกับเยาวชนยะลาว่า

“เด็กที่มาที่นี่ชีวิตเขาไปได้สวย เขาได้เป็นสิ่งที่เขาต้องการ เราอาจไม่ใช่ผู้สร้างเขาทั้งหมดแต่ก็คงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยจุดประกายให้กับเขา  เด็กบางคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนเสี่ยง ทุกวันเสาร์อาทิตย์ผู้ปกครองจะพามาไว้ที่นี่ เราพาเขาเข้าโครงการส่งเสริมการอ่าน คนที่ชอบละครเราก็พาเข้าโครงการ reader theater หรือละครส่งเสริมการอ่าน เด็กที่เล่านิทานเก่งเราก็ส่งเสริมให้ประกวดจนชนะเลิศระดับจังหวัด บางคนอยากเล่นอูคูเลเล่เราก็ตั้งโครงการโดยดึงผู้ปกครองมาเป็นอาสาสมัครสอนให้ ตอนนี้เขาขึ้นชั้นมัธยมเขาก็ยังเล่นดนตรีต่อ ได้เข้าวงออเคสตร้า เด็กบางคนที่เคยมาใช้พื้นที่เราเต้นแร็พเต้นบีบอย ตอนนี้เขาได้ออกอัลบั้มของตัวเอง แล้วเขาก็กลับมาสอนน้องๆ ต่อกันไปเป็นรุ่นๆ”

          เพื่อให้ชาวเมืองยะลามีโอกาสในการเข้าถึงห้องสมุดเพิ่มมากขึ้น ในปี 2559 TK Park ยะลา กำลังขยายสาขาห้องสมุดมีชีวิตออกไปยัง 4 มุมเมือง โดยใช้พื้นที่ของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครยะลา 4 แห่ง เปิดให้บริการตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า ซึ่งเป็นเวลาที่ห้องสมุดโรงเรียนยังไม่เปิดให้บริการ และปิดช่วงค่ำเพื่อรองรับประชาชนทั่วไปที่จะมาใช้บริการหลังเลิกงาน โดยจะเป็นระบบการให้บริการแบบ one stop service ซึ่งมีบริการจัดส่งและหมุนเวียนหนังสือระหว่างสาขา

          ปัจจุบันเทศบาลนครยะลา กำลังดำเนินการรื้อถอนอาคารอเนกประสงค์ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลาหลังเดิม เพื่อก่อสร้างอาคาร 5 ชั้น เป็นอุทยานการเรียนรู้แห่งใหม่ ใช้จัดกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งเป็นสถานที่ทำการของชมรมกีฬาและนันทนาการต่างๆ ของเทศบาล คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จต้นปี 2563

วีดิทัศน์แนะนำ ทีเคพาร์คยะลา

KCC บริการเชิงรุกมุ่งสู่ “เมืองการอ่าน”

          KCC หรือศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทราเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคตะวันออก แรกเริ่มเดิมที KCC มีแนวคิดที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัยเหมือนกับ TK Park ห้องสมุดมีชีวิตต้นแบบที่กรุงเทพฯ แต่หลังจากเปิดให้บริการมาเป็นปีที่ 2 (พ.ศ.2558) ได้ลองผิดลองถูกและวิเคราะห์บริบทของกลุ่มเป้าหมาย ก็ค้นพบแนวทางการดำเนินงานที่เป็นตัวของตัวเอง จึงไม่น่าแปลกใจหากในความรับรู้ของชาวแปดริ้ว KCC จะ “ไม่ใช่ห้องสมุด” อย่างที่พวกเขาเคยเข้าใจมาก่อนหน้านี้

          กลุ่มผู้ใช้บริการหลักของ KCC คือเด็กและเยาวชน ในขณะเดียวกันก็มีเป้าหมายที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกกลุ่ม วิโรจน์ ศรีโภคา 2 กล่าวถึงทิศทางของ KCC ว่า

“ศูนย์การเรียนรู้ฉะเชิงเทราจะต้องเป็น Life Center หรือศูนย์แห่งชีวิต นอกเหนือไปจากสถาบันหลักก็คือบ้าน วัด โรงเรียน ศูนย์การเรียนรู้นี้จะต้องมีพลวัตด้วยกิจกรรมที่ตอบสนองความต้องการของคนทุกเพศทุกวัยได้ตลอดชีวิต และทันต่อการเปลี่ยนแปลง ในอนาคต KCC จะต้องเป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญของเมือง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ให้ความเจริญงอกงามทางปัญญา”

          นอกเหนือจากการให้บริการภายในอาคารศูนย์การเรียนรู้แล้ว KCC จะเป็นกลไกสำคัญของเทศบาลเมืองฉะเชิงเทราในการทำงานเชิงรุกไปยังสถานศึกษาและชุมชน ในปี 2559 เทศบาลได้จัดแคมเปญ “เมืองแห่งการอ่าน” โดยลงนามความร่วมมือด้านการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้กับสถานศึกษาเมืองฉะเชิงเทรา 14 แห่ง ครอบคลุมเยาวชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายกว่า 3 หมื่นคน ทั้งอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา

          ในช่วง 3 ปีแรกของการรณรงค์ “เมืองแห่งการอ่าน” เน้นด้านการสร้างความรับรู้ถึงความสำคัญของการอ่านและการเข้ามาใช้บริการ KCC หลังจากนั้นเน้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้กับชุมชน และตั้งเป้าหมายที่จะขยายความร่วมมือออกไปเชื่อมต่อกับหน่วยงานที่ทำงานส่งเสริมการอ่านระดับจังหวัด กิจกรรมน่าสนใจที่กำลังจะเกิดขึ้น อาทิ การสร้าง “ตู้หนังสือสาธารณะ” ตามชุมชนควบคู่กับ “ยุวทูตการอ่าน” ที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้คนในชุมชนสนใจการอ่านหนังสือ โดยมีบรรณารักษ์ช่วยหมุนเวียนหนังสือและทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านเป็นระยะๆ โครงการ “ครอบครัวการอ่าน” เพื่อปลูกฝังวัฒนธรรมการอ่านให้ลงไปสู่สถาบันครอบครัว และ “โครงการถนนการอ่าน” เป็นต้น

          อาคาร KCC ได้รับการออกแบบอย่างทันสมัย รูปทรงดูเหมือนหนังสือที่วางซ้อนกัน 4 เล่ม ภายในศูนย์การเรียนรู้มีเนื้อหาสาระที่ผสมผสานกัน ทั้งด้านความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การแสวงหาความรู้ใหม่ๆ และด้านที่เป็นรากเหง้าของท้องถิ่น เมื่อก้าวผ่านประตูเข้ามา ผู้ใช้บริการจะได้พบกับ “หอประวัติเมือง” นิทรรศการถาวรที่นำเสนอคุณค่าสำคัญของฉะเชิงเทรา 4 ประการ นั่นก็คือ “แม่น้ำบางปะกงแหล่งชีวิต พระศักดิ์สิทธิ์หลวงพ่อโสธร พระยาศรีสุนทรปราชญ์ภาษาไทย อ่างฤาไนป่าสมบูรณ์” ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์ผ่านเกมและสื่อมัลติมีเดีย

          KCC มีพื้นที่ใช้สอย 7,000 ตารางเมตร เป็นอาคาร 4 ชั้น บริเวณกลางโถงชั้น 1 เป็นลานอเนกประสงค์สำหรับจัดกิจกรรม บางครั้งหลังเลิกเรียนก็จะมีนักเรียนมาใช้ซ้อมนาฏศิลป์หรือการแสดง ส่วนหลังเคาน์เตอร์เป็นพื้นที่อ่านหนังสือบรรยากาศสบาย มีห้องวารสารและร้านขนม ซึ่งเป็นมุมโปรดที่ผู้สูงอายุมานั่งอ่านหนังสือพิมพ์จิบกาแฟคุยกัน หรือเป็นที่นั่งทำการบ้านตอนเย็นๆ ของเด็กนักเรียน ส่วนชั้น 2 เป็นพื้นที่ห้องสมุดมีชีวิต มุมไอที สตูดิโอที่สามารถใช้เรียนรู้และฝึกซ้อมดนตรี และห้องมินิเธียเตอร์ที่ทันสมัย

          ชั้น 3 เป็นพื้นที่สำหรับอ่านหนังสือ ส่วนชั้น 4 จัดทำเป็นห้องประชุม ทั้งห้องย่อยและห้องขนาดใหญ่ที่จุได้ถึง 400 คน เพื่อรองรับกิจกรรมที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพบปะ การทำงาน หรือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเป็นกลุ่มตามความสนใจ ซึ่งเป็นความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทุกวันนี้มีผู้เข้ามาใช้บริการ KCC กว่า 2 แสนครั้งต่อปี ในวันเสาร์และอาทิตย์มีลูกค้านับพันคนต่อวัน         

          ดนย์ ทักศินาวรรณ ผู้จัดการ KCC วิเคราะห์ถึงพฤติกรรมการอ่านของผู้ใช้บริการห้องสมุดในต่างจังหวัดว่าอาจไม่สูงเท่ากับคนกรุงเทพฯ ดังนั้นหากศูนย์การเรียนรู้มุ่งเน้นแต่เรื่องการอ่านหนังสือ ก็จะตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้เพียงบางกลุ่มเท่านั้น โดยเฉพาะชนชั้นกลางขึ้นไป ในขณะที่การทำให้ห้องสมุดมีกฎระเบียบน้อยลง เปิดกว้างให้เด็กเข้ามาเล่นหรือทำกิจกรรมสนุกๆ ได้ จะช่วยดึงเด็กให้เข้ามาเติบโตในพื้นที่สีขาวได้ง่ายขึ้น ลดความเสี่ยงที่จะไปมั่วสุมในพื้นที่อบายมุข

          KCC จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยเปลี่ยนหัวข้อทุกๆ เดือน บรรยากาศของศูนย์การเรียนรู้คล้ายกับดินแดนจินตนาการ ที่ทุกคนสามารถเข้ามาค้นหาและแสดงออกในสิ่งที่เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ และแสวงหาความรู้ได้อย่างไม่มีวันเบื่อ ห้องสมุดมีบทบาทในการเสริมพลังให้ผู้ใช้บริการเกิดความมั่นใจในตัวเอง รวมทั้งคอยจัดหาทรัพยากรเพื่อให้ผู้ใช้มีทักษะในการแสวงหาและต่อยอดความรู้ได้ต่อไป เช่น การจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการ์ตูน ก็จะนำเสนอเรื่องราวของผู้ที่ประสบความสำเร็จในวงการการ์ตูน เปิดเวทีให้เยาวชนได้แสดงออกตามที่ตนเองสนใจ และเชื่อมโยงกิจกรรมกับหนังสือเกี่ยวกับการวาดรูปหรือการวาดการ์ตูน เป็นต้น

วีดิทัศน์รายการ BCC CHANNEL Unseen แปดริ้ว ตอน KCC ศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทรา

LK park เชื่อมต่อเติมเต็มแหล่งเรียนรู้ของเมืองประวัติศาสตร์

          จังหวัดลำปางมีความโดดเด่นด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นผ่านวิถีชีวิตของผู้คน วัดวาอาราม และบ้านเรือนแบบโบราณ เขตตัวเมืองลำปางเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสาธารณสุข จึงมีประชากรเข้ามาอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ประเด็นเรื่องคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ได้กลายเป็นโจทย์สำคัญของเมือง และเป็นที่มาของแนวคิดในการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้นอกระบบโรงเรียนให้มีคุณภาพทัดเทียมกับการศึกษาในระบบโรงเรียน

          กิตติภูมิ นามวงศ์ นายกเทศมนตรีนครลำปาง กล่าวว่า เทศบาลนครลำปางมียุทธศาสตร์ที่จะเชื่อมร้อยแหล่งเรียนรู้ทั้งหมดที่มีอยู่ในเมืองลำปางเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้แหล่งเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนลำปาง และคนลำปางเกิดจิตสำนึกรักการเรียนรู้ตลอดชีวิต

“นครลำปางจะเป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งเมือง ตอนนี้มีทีมปั่นจักรยานออกไปสำรวจเมือง เพื่อบันทึกต้นไม้โบราณและบ้านเก่าๆ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงเข้ากับคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เพื่อให้เมืองทั้งเมืองเป็นอุทยานการเรียนรู้อย่างแท้จริง โดยมีห้องสมุด LK park เป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญระหว่างแหล่งเรียนรู้ต่างๆ”

          แหล่งเรียนรู้ของเมืองลำปางที่เกิดขึ้นภายใต้การผลักดันของเทศบาลนครลำปาง ได้แก่ หอปูมละกอน  ตั้งอยู่บริเวณหอนาฬิกา เป็นพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าความเป็นมาของนครลำปางซึ่งเผชิญความเปลี่ยนแปลงแต่ละยุคสมัย ด้วยการนำเสนอที่แปลกใหม่ มิวเซียมลำปางหรือพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ลำปาง เป็นการดัดแปลงศาลาว่าการจังหวัดหลังเดิมให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ทันสมัย ด้วยแนวคิด “คน-เมือง-ลำปาง” ภายในจัดแสดงวัตถุโบราณ สำเนาภาพประวัติศาสตร์ และสื่อการเรียนรู้แบบ interactive รวมทั้งมีห้องประชุมและห้องสมุดประวัติศาสตร์ ข่วงผญ๋า บริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับการแสดงออกด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนารวมทั้งห้องสมุด LK park ซึ่งเกิดจากการปรับปรุงอาคารเดิมของห้องสมุดประชาชนเทศบาลนครลำปาง ให้มีบรรยากาศการเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวา และเพิ่มเติมการให้บริการใหม่ๆ ที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของชาวลำปางในอนาคต

          เทศบาลนครลำปางวางแผนขยายสาขาห้องสมุด LK park ออกไปยังอาคารของมิวเซียมลำปาง โดยเน้นให้บริการหนังสือด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา เพื่อเติมเต็มมิติด้านการแสวงหาความรู้จากการอ่านให้กับพิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีแนวทางให้ LK park เป็นต้นแบบองค์ความรู้ด้านห้องสมุดมีชีวิต เพื่อการพัฒนาปรับปรุงห้องสมุดของโรงเรียน 6 แห่งในสังกัดเทศบาลนครลำปาง ทั้งด้านกายภาพ วิธีคิด และการจัดการห้องสมุด

          ตั้งแต่วันแรกที่ห้องสมุด LK park เปิดให้บริการ ห้องสมุดก็มีบรรยากาศที่คึกคักเพราะมีปริมาณผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รั้วสีสันสะดุดตาของห้องสมุด LK park ดึงดูดเด็กๆ ให้ไม่กลัวที่จะเดินเข้ามาอ่านหนังสือและเล่นในห้องสมุด อีกทั้งยังชักชวนให้พ่อแม่พามาอ่านนิทานให้ฟัง เกิดเป็นพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมของครอบครัวอย่างอบอุ่น

          ลูกค้ากลุ่มเดิมที่เคยมานั่งอ่านหนังสือพิมพ์ภายหลังจากออกกำลังกายตอนเช้าที่สวนสาธารณะเขลางค์นครก็ยังคงมาใช้บริการที่ LK Park แต่อ่านหนังสือนานขึ้นและสนใจเนื้อหาหลากหลายประเภทมากขึ้น ผู้สูงอายุค่อยๆ เรียนรู้ระบบการให้บริการแบบใหม่ เช่น การสืบค้นหนังสือด้วยคอมพิวเตอร์ หรือการจองหนังสือที่ต้องการอ่าน ห้องสมุดเปิดให้บริการถึงหนึ่งทุ่ม เพื่อรองรับกลุ่มนักเรียนเข้ามาทำการบ้านหรือรอผู้ปกครองมารับ

          โครงสร้างอาคารเดิมถูกตกแต่งให้ดูทันสมัย มีการจัดแบ่งพื้นที่ให้บริการออกเป็นสัดส่วน ชั้น 1 เป็นโถงสำหรับนั่งอ่านหนังสือ มีที่นั่งทั้งแบบกลุ่มและแบบเดี่ยว มีทั้งโต๊ะทำงาน และโซฟาน่าสบาย ด้านในเป็นห้องเด็ก ซึ่งสามารถนอนเอกเขนกอ่านนิทานหรือขอยืมเกมมาเล่นด้วยกัน หลังเคาน์เตอร์บรรณารักษ์เป็นห้องหนังสือทั่วไป บรรยากาศโปร่งตาเพราะรับแสงจากภายนอกผ่านผนังกระจก ส่วนชั้น 2 มีโซนคอมพิวเตอร์และห้องศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชน โซนหนังสืออ้างอิงและหนังสือประวัติศาสตร์ลำปาง รวมทั้งห้องอเนกประสงค์ที่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นห้องประชุม ทำกิจกรรม จัดเวิร์คช็อป หรือจัดนิทรรศการขนาดย่อม ด้านนอกอาคารมีพื้นที่โล่งที่สามารถจัดกิจกรรมกลางแจ้งได้

          LK park เริ่มจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านอย่างเต็มรูปแบบในปีงบประมาณ 2559 โดยมีการทบทวนผลของการจัดกิจกรรมที่ผ่านมาเพื่อนำมาพัฒนาให้มีความน่าสนใจยิ่งขึ้น มีทั้งกิจกรรมตามวาระสำคัญต่างๆ บริการห้องสมุดเคลื่อนที่ การอบรมคอมพิวเตอร์ เวิร์คช็อปงานประดิษฐ์ การสอนภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน การเรียนรู้เรื่องอาเซียน การสอนศิลปะ ฯลฯ โดยมีน้องๆ จากสภาเยาวชนจังหวัดลำปางมาร่วมเสนอแนะแนวทางการจัดกิจกรรม

          สิริรัตนา เสโลห์ นักวิชาการ สำนักงานเทศบาลนครลำปาง ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ใช้บริการในปัจจุบันมีความต้องการใช้พื้นที่ห้องสมุดที่หลากหลายขึ้น เช่น มีกลุ่มผู้ประกอบการขอใช้ห้องอเนกประสงค์เพื่อประชุมพูดคุยงานด้านธุรกิจ และในช่วงใกล้สอบน้องๆ นักเรียนจะใช้พื้นที่ห้องสมุดเป็น “จุดนัดพบ” เพื่อติวหนังสือ โดยมีการจัดสรรพื้นที่กันเองว่า กลุ่มโรงเรียนไหนจะรวมตัวอยู่มุมไหนของห้องสมุด อาจเป็นไปได้ว่าปรากฏการณ์นี้จะเป็นโจทย์สำคัญสำหรับการปรับเปลี่ยนพื้นที่และการให้บริการของห้องสมุดในอนาคตข้างหน้า

วีดิทัศน์แนะนำอุทยานการเรียนรู้นครลำปาง

เชิงอรรถ

[1] สัมภาษณ์เมื่อปี 2558

[2] ให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2558 ในฐานะรองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทรา


ขอขอบคุณ

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา

กิตติภูมิ นามวงศ์ นายกเทศมนตรีนครลำปาง

วิโรจน์ ศรีโภคา ที่ปรึกษาศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทรา

วัชรี ถ้วนถวิล ผู้จัดการ TK Park ยะลา

สิริรัตนา เสโลห์ นักวิชาการ สำนักงานเทศบาลนครลำปาง

ดนย์ ทักศินาวรรณ ผู้จัดการศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทรา


เผยแพร่ครั้งแรก พฤศจิกายน 2562 (ปรับปรุงแก้ไขจากเนื้อหาในหนังสือ)
พิมพ์รวมเล่มในหนังสือ คิดทันโลก (2558)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก