ไม่ใช่แค่พื้นที่ แต่ต้องมีเสรีภาพในการคิด : คุยเรื่องเมกเกอร์สเปซ กับ พัทน์ ภัทรนุธาพร ผู้ก่อตั้ง Freak Lab ประเทศไทย

817 views
9 mins
July 4, 2022

หลายต่อหลายครั้งที่ ‘ความสร้างสรรค์’ ถูกหยิบมาใช้พูดคุยว่าเป็นทักษะที่แสนจำเป็น อีกทั้งยังเป็นทักษะแห่งโลกอนาคต แต่พื้นที่ที่ควรจะได้เติมเต็มทักษะสร้างสรรค์ ดันมีแต่กฎระเบียบมากมายจนจะคิดอะไรก็ชนกรอบไปเสียหมด

แม้แต่พื้นที่ เมกเกอร์สเปซ (Maker Space) ที่เริ่มเห็นกันมากขึ้น หรือแม้แต่โครงการสร้างเมกเกอร์สเปซในโรงเรียนที่มีการพยายามนำร่องสร้างพื้นที่นักประดิษฐ์ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดบางอย่าง กฎระเบียบบางข้อที่ทำให้เด็กๆ ไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างเต็มที่

ทั้งที่ไอเดียของเมกเกอร์สเปซ หรือ FabLab ซึ่งเกิดจาก MIT กับ Stanford เป็นไอเดียที่อยากให้ทุกคนสามารถสร้างสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “เครื่องมือการแปรรูป” (Fabrication tool) ที่ทำให้คนเปลี่ยนจากผู้ใช้ไปเป็นผู้สร้าง โดยไม่ติดข้อจำกัด เช่น ไม่ต้องเข้าไปทำในโรงงาน หรือต้องใช้เงินตัวเองที่อาจเข้าถึงได้ยาก

หมายความว่า เมกเกอร์สเปซตั้งต้นจากการเป็นพื้นที่ของทุกคน และไม่ควรมีกฎเกณฑ์อะไรที่มากีดกันความคิดสร้างสรรค์หรือเปล่า?

จากคำถามข้างบน ทำให้นึกไปถึง Freak Lab  พื้นที่ทดลองและออกแบบเพื่ออนาคต ที่พาศาสตร์ต่างๆ ไม่ว่าจะสายเทคโนโลยี สายวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่สังคมศาสตร์ มาร่วมคุย ร่วมถก ร่วมออกแบบสิ่งใหม่ๆ ที่อาจเป็นไปได้จริงในวันข้างหน้า ซึ่งก่อตั้งอยู่ในไทยนี่เอง โดยมี พีพี – พัทน์ ภัทรนุธาพร เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง แถมพ่วงมากับสถานะนักศึกษา MIT Media Lab

พีพีเป็นเด็กที่เติบโตมาจากปัตตานี แถมยังเติบโตมาในรั้วมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีจากการที่แม่เป็นอาจารย์อยู่ที่นั่น ส่วนพ่อก็เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มักพาเขาไปเดินเล่นสวนสัตว์และเล่าเรื่องราวต่างๆ พ่อและแม่จึงเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้เขาได้เรียนรู้และสรรค์สร้างสิ่งต่างๆ โดยไม่มีกรอบมากำหนด 

ช่วงเวลาที่ยังเรียนในไทย พีพีถูกแวดล้อมด้วยบรรยากาศการเรียนที่สนุกและไม่เคยโดยจำกัดกรอบ จนบอกว่าตัวเองโชคดีที่ไม่ได้เจออำนาจนิยมในโรงเรียนมากนัก เป็นบทสรุปเล็กๆ ว่าหากโรงเรียนและสภาพแวดล้อมรวมไปถึงสังคมไม่สร้างกรอบให้เด็กเกินไป พวกเขาก็จะเติบโตมาด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์เต็มเปี่ยม และพร้อมขับเคลื่อนโลกใบนี้

แต่สุดท้ายแล้วบรรยากาศความสร้างสรรค์ จะเกิดขึ้นกับเด็กไทยได้มากน้อยแค่ไหนกัน?

ประเทศไทยดูไม่ค่อยเหมาะกับ เมกเกอร์สเปซ หรือเปล่า พีพีคิดอย่างไร?

จริงๆ แล้ว วัฒนธรรมไทยของเราก็มีความเป็นเมกเกอร์อยู่แล้ว เราแก้ปัญหาต่างๆ ตลอดเวลา ลองนึกถึงเวลาที่ไปร้านกับข้าวก็จะมีมอเตอร์ติดกับถุงพลาสติกที่หมุนไปเรื่อยๆ เพื่อไล่แมลงวัน หรือว่าเอาซีดีมาแขวน นี่ก็เป็นตัวอย่างของการที่คนพยายามจะ “แฮ็ก” โดยเอาอะไรรอบตัวมาแก้ปัญหา ความจริงแล้ววัฒนธรรมนักลงมือทำ (Maker Culture) มันมีอยู่แล้วในสังคมไทย เพียงแต่มันอาจจะต่างกับวิธีการหรือมุมมองของต่างประเทศ เพราะในไทยมันคือการแก้ปัญหาเรื่องปากท้อง ในขณะที่ต่างประเทศมองเรื่อง วัฒนธรรมนักลงมือทำ  เป็นเรื่องของการแสดงออกถึงตัวตนหรือว่าอัตลักษณ์ เพราะว่าสําหรับต่างประเทศ ปัญหาปากท้องอาจจะถูกแก้โดยรัฐบาลหรือแก้โดยองค์กรต่างๆ ไปในระดับหนึ่งแล้ว แต่ในไทยเราอาจจะยังไม่ได้มีโครงสร้างพื้นฐานที่มาช่วยเหลือหลายๆ ปัญหา ก็เลยต้อง D.I.Y ขึ้นมาเอง

ทั้งๆ ที่ก็ดูเหมือนว่าจะมีวัฒนธรรมนักลงมือทำอยู่ แต่ทำไมเมกเกอร์สเปซในประเทศไทยถึงไม่ค่อยคึกคักเลย

คิดว่าน่าจะมีอยู่ประมาณสามเหตุผล ข้อที่หนึ่ง มีเพื่อนที่ทําโครงการเกี่ยวกับ เมกเกอร์สเปซ หรือว่ารุ่นพี่ที่ MIT ซึ่งตอนนี้เปิด Fab Cafe อยู่ แล้วก็ยังมีโครงการของรัฐบาลที่ทํา ‘หนึ่งโรงเรียน หนึ่ง เมกเกอร์สเปซ’ อีกด้วย เราก็จะเห็นว่ามีความพยายามที่จะทําให้เกิดวัฒนธรรมนักลงมือทำมากขึ้น แต่ปัญหาหลักก็คือ หลายครั้งความเป็นราชการ หรือ ‘ความเป็นระเบียบเรียบร้อย’ ซึ่งเป็นคําที่ประเทศของเราชอบมาก ทำให้เราต้องการเด็กเรียบร้อย เด็กมีวินัย เด็กมีระเบียบ ซึ่งมันตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมนักลงมือทำ  เพราะถ้าเราจะสร้างอะไรบางอย่าง บางทีเราก็ไม่ได้สนใจว่าจะต้องสะอาดเรียบร้อยตั้งแต่แรก มันอาจจะวุ่นวาย สกปรก แล้วค่อยมาเก็บกวาดทีหลังก็ได้ ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาสําคัญอันหนึ่ง

แต่ปัญหานี้ก็เกิดขึ้นในสิงคโปร์ด้วย ไม่ใช่แค่ในไทย สิงคโปร์เป็นประเทศที่พยายามจะใช้เทคโนโลยี มีความก้าวหน้า แต่ว่าด้วยความเป็นเอเชีย ทำให้มีความรู้สึกว่าทุกอย่างต้องเป็นระเบียบเรียบร้อยตลอดเวลา หรือผิดพลาดไม่ได้ ตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมนักลงมือทำ 

ประเด็นที่สองที่สําคัญเหมือนกันก็คือ เวลาเราพูดถึงวัฒนธรรมนักลงมือทำ เราจะพูดถึงการแสดงออกถึงอัตลักษณ์เชิงบวกส่วนบุคคล เราจะเห็นคนที่สร้างในสิ่งที่ตัวเองชอบ ในสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของตัวเอง เช่น สร้างเสื้อผ้าของตัวเอง สร้างเครื่องประดับ สร้างเทคโนโลยีที่ทําให้ตัวเองแตกต่างกับคนอื่น แต่ว่าในไทยเราอาจจะยังไม่ได้เคารพในความหลากหลายมากขนาดนั้น เด็กๆ ยังต้องใส่ชุดเหมือนกัน เราต้องแต่งชุดแบบเดียวกัน มีกรอบให้ทุกคนคิดแบบเดียวกันอยู่ ดังนั้นการชวนให้เขามาสร้างอะไรบางอย่างก็ไม่ได้ทําให้เขาตื่นเต้นขนาดนั้น เพราะสุดท้ายแล้วเขาก็ต้องกลับไปอยู่ในสังคมแบบเดิม 

มันไม่มีพื้นที่ให้จินตนาการว่าพวกเขาสามารถจะแต่งตัวยังไงก็ได้ แบบถ้ามีห้องเมกเกอร์สเปซที่ทําให้เขาสามารถพูดได้ว่า “ฉันอยากเป็นไดโนเสาร์” แล้วก็สร้างชุดไดโนเสาร์เพื่อใส่ไปโรงเรียนได้ หรือว่าอยากเป็นนักบินอวกาศก็ทําหมวกนักบินอวกาศได้ การผลักดันให้คนมีความแตกต่างก็เลยเป็นสิ่งสำคัญกับวัฒนธรรมนักลงมือทำมาก 

สุดท้ายเป็นเรื่องของเทคโนโลยี การจะลงมือสร้างได้ คุณจําเป็นจะต้องมีทักษะในการใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีในระดับหนึ่ง แต่ว่าการเรียนการสอนของไทยอาจจะไม่ได้โฟกัสขนาดนั้น มีหลักสูตรใหม่ๆ ที่พยายามให้มีชั่วโมงที่เกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องมือ การเขียนโปรแกรมมากขึ้น แต่ว่าก็ยังโฟกัสอยู่ที่ต้องเป็นไปตามหลักสูตรพื้นฐาน เด็กๆ ก็เลยไม่ได้ทําในสิ่งที่เขาสนใจเท่าไหร่

พีพี – พัทน์ ภัทรนุธาพร

เพราะในบ้านเรา มักไม่เปิดโอกาสให้กับความผิดพลาดใช่ไหม

อันนี้สําคัญมาก เพราะว่าเรานิยมข้อสอบแบบตัวเลือก ก ข ค ง ซึ่งมันก็จะมีคําตอบที่ถูกต้องเพียงคําตอบเดียว แต่การมีเมกเกอร์สเปซ คือการบอกว่าคําตอบไม่มีถูกผิดหรอก ขึ้นอยู่กับว่าคุณอยากจะสร้างหรือทําอะไรขึ้นมา มันคือการทําให้สังคมเปิดกว้างทางความคิด 

มีประเด็นหนึ่งที่บอกว่า เวลาที่เราอยากจะทําให้คนมีความคิดสร้างสรรค์ เป็นนักคิด หรือว่าเป็นนักประดิษฐ์ ต้องประกอบไปด้วย 4P  นี่เป็นไอเดียที่ MIT Media Lab คิดขึ้นมา

4P ประกอบด้วย Play,  Project, Passion และ Peers ทุกคนควรจะมาอยู่ในบรรยากาศที่เป็นการเล่นสนุก เหมือนกับการต่อเลโก้ ไม่มีผิดไม่มีถูก ทุกคนสามารถเล่นด้วยกันได้ พอ Play ก็จะนําไปสู่ Project คือพอเขาได้เล่นปุ๊บ เขาจะคิดว่า เฮ้ย อยากจะต่อเลโก้ไปเป็นไดโนเสาร์ ไปเป็นหุ่นยนต์ อยากจะสร้างโปรเจกต์ ทําให้คนมีสิ่งที่อยากทำเมื่อมาที่เมกเกอร์สเปซ จนเกิดความเป็นเจ้าของ นำไปสู่ความหลงใหลอะไรบางอย่าง มีอะไรบางอย่างที่ทําให้เขารู้สึกว่าอยากทําต่อ แม้ว่าจะเจออุปสรรคก็ยังอยากจะไปต่อ ไม่ว่าจะไปค้นหาในอินเทอร์เน็ต หาวิธีการแก้ปัญหานั้น ไปคุยกับคนอื่น จนทําให้เกิด Passion สุดท้ายก็จะเกิดความรู้สึกอยากส่งต่อ อยากสอน อยากคุยกับคนอื่น ไม่ว่าจะกับเพื่อน หรือกับทีม การเรียนรู้ก็จะยิ่งขยายผลขึ้นไปอีก เรียกได้ว่า 4P เป็นส่วนประกอบพื้นฐานในการทําให้เกิดวัฒนธรรมนักลงมือทำที่จะสร้างสรรค์อะไรต่างๆ ได้

บรรยากาศ เมกเกอร์สเปซ ที่อเมริกาเป็นยังไงบ้าง

ในอเมริกาไม่ต้องขออนุญาตก่อนทำอะไรสักอย่าง แต่ว่าทุกคนจะช่วยเหลือกันและกัน รวมถึงช่วยแนะนำให้คนใหม่ที่เข้ามาด้วยว่าเครื่องมือนี้ใช้ยังไง แล้วก็มีวัฒนธรรม มีกติการ่วมกันของคนที่ทํางานอยู่ข้างในนั้น ช่วยระวังไม่ให้มีใครได้รับอันตรายหรือเกิดอุบัติเหตุ เป็นการกระจายอำนาจให้ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน  ซึ่งเป็นสิ่งที่สําคัญมาก 

ในขณะที่ในประเทศไทยเราไม่เกิดการกระจายอำนาจ (Decentralized) มันโยงกลับไปสู่รากของวัฒนธรรมเลยว่าเราเป็นวัฒนธรรมที่เข้าใจกัน หรือว่าเป็นวัฒนธรรมที่เชื่อว่าผู้ใหญ่เท่านั้นรู้ดีที่สุด ซึ่งมันสะท้อนอยู่ในหลายๆ อย่าง เช่น การที่เราไม่เชื่อว่าเด็กจะแต่งตัวได้เอง เราเลยต้องมียูนิฟอร์ม เราไม่เชื่อว่าแต่ละโรงเรียนจะมีหลักสูตรได้เอง เลยต้องมีหลักสูตรส่วนกลาง มีการประเมินส่วนกลาง เราไม่เชื่อว่าเวลาเด็กๆ ใช้เครื่องมือ เขาจะสามารถใช้ได้อย่างถูกต้อง ต้องมีครูคอยอนุญาตตลอดเวลา ซึ่งในอเมริกาแทบไม่มีตําแหน่งครูฝ่ายปกครองเลย แต่ว่าในไทย เราเน้นกับสิ่งนี้มากๆ ซึ่งมันก็สะท้อนถึงความเป็นอํานาจนิยมในไทยที่เชื่อว่า อํานาจจะทําให้เราควบคุมอะไรต่างๆ ได้ 

พีพี – พัทน์ ภัทรนุธาพร

ในฐานะผู้ก่อตั้ง Freak Lab เล่าให้ฟังหน่อยว่ากำลังตั้งใจสร้างอะไรกันอยู่

Freak Lab เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project – JSTP) โครงการนี้เป็นโครงการที่สร้างเด็กเก่งๆ ออกมาเยอะมาก อยู่กันหลากหลายที่ Freak Lab ก็เลยวางตัวเป็นสนามเด็กเล่น ให้เด็กๆ JSTP แล้วก็คนอื่นๆ มาจอยกันทําโปรเจกต์ที่ส่งอิทธิพลต่ออนาคต ไม่ได้แค่โฟกัสการตอบโจทย์ปัจจุบัน มองหาความท้าทายใหม่ๆ ในอนาคตว่าคืออะไรได้บ้าง 

สิ่งที่ Freak Lab ให้ความสําคัญมากคือ เป็นพื้นที่เพื่อคนที่มีความหลากหลาย ทั้งช่วงอายุ คนทํางานในภาครัฐ ภาคเอกชน คนในสายศิลปะ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม แม้แต่สายสังคม ละครเวที ดนตรี ทุกคนเข้าร่วมได้หมด เพราะว่ายิ่งเรามีความหลากหลาย โปรเจกต์นั้นก็จะยิ่งน่าสนใจ นี่คือวัฒนธรรมที่เราพยายามสร้าง 

แปลว่า วัฒนธรรมนักลงมือทำ ไม่ได้เป็นแค่พื้นที่เฉพาะสำหรับสายเทคโนโลยีใช่ไหม

เราเห็นการสร้างสรรค์ในทุกวงการนะ แต่ละสาขาใช้เมกเกอร์สเปซได้อลังการมาก เดี๋ยวนี้คนที่ทําแฟชั่นก็ใช้เครื่องปรินต์สามมิติออกแบบชุดของตัวเองในคอมพิวเตอร์ หรือยังขยายไปสู่ดิจิทัลแฟชั่นด้วย หรือเดี๋ยวนี้เราเห็นศิลปินหลายคนใช้หุ่นยนต์มาทํางานศิลปะ ใช้ AI มาทํางานศิลปะ คนสายดนตรีก็ใช้ AI มาแต่งเพลง ทำเครื่องดนตรีจากเครื่องตัดเลเซอร์ คนทางสายวิทยาศาสตร์ก็อาจจะเอางานวิจัยของตัวเองไปปฏิสัมพันธ์ผ่านงานศิลปะหรือชุมชนได้

การเดินทางข้ามสาขาเลยเป็นเรื่องปกติมากในยุคนี้ เพราะสุดท้ายการเป็น Maker มันคือดีเอ็นเอของมนุษย์ ก่อนที่เราจะรู้ว่าการเรียนรู้มีสาขาอะไรบ้าง เราก็เป็นนักสร้างเครื่องมือมาก่อน นี่คือสิ่งที่ทําให้เราแตกต่างจากสัตว์ประเภทอื่นๆ สําคัญมากๆ เราจะต้องไม่จํากัดให้วัฒนธรรมนักลงมือทำเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง

อะไรคือสิ่งที่ Freak Lab อยากสื่อสารที่สุด

มีประโยคหนึ่งที่ชอบมากจากผู้อำนวยการของ MIT เขาเขียนไว้บนกำแพงว่า “Culture eats strategy for breakfast.”  คือในไทยจะชอบพูดกันว่า โอ้ เรามีกลยุทธ์เอาเครื่องปรินต์สามมิติไปแจกในโรงเรียน เรามีกลยุทธ์ในการปฏิรูปนู่นนี่นั่น แต่ว่าเราไม่ได้สร้างวัฒนธรรมขึ้นมา ทั้งที่วัฒนธรรมนั้นสําคัญ แล้วก็มีพลังกว่ากลยุทธ์อีก 

ที่ Freak Lab เลยพยายามสร้างวัฒนธรรม โดยประกาศตัวเองตั้งแต่ต้นแล้ว ว่าเราไม่ได้ทําอะไรที่ธรรมดาๆ แต่เราทําอะไรเพี้ยนๆ ประหลาดๆ ซึ่งมันคือการคิดนอกกรอบเหมือนที่บริษัทแอปเปิลบอกว่านี่เป็นการเดินไปสู่พรมแดนใหม่ๆ ดังนั้นสิ่งที่เราทําคือเรากำลังพยายามสร้างและเก็บเกี่ยววัฒนธรรมเพี้ยนๆ เหล่านี้แหละ

สร้างวัฒนธรรม ฟังดูเป็นเรื่องยาก

หนึ่งเลย คนทําต้องเชื่อในวัฒนธรรม แล้วก็ต้องใช้ชีวิตกับวัฒนธรรมนั้นๆ ก่อน คนที่พยายามจะสร้างวัฒนธรรมด้วยกลยุทธ์ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่มองแบบจากบนลงล่าง แต่ไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่จะสร้างนี้คืออะไร โดยนโยบายเข้าไปบังคับเอาไว้ก่อน เหมือนเอาสิ่งที่ตัวเองเห็น สิ่งที่ตัวเองไปทัศนศึกษา ไปดูงานมาสร้างนโยบายหรือว่ามาสร้างกลยุทธ์ แต่ว่าไม่ได้เข้าใจหรือไม่ได้ใช้ชีวิตแบบนั้นจริงๆ 

คนที่จะสร้างวัฒนธรรมได้จริงๆ คุณต้องเชื่อในสิ่งนั้น คุณต้องใช้ชีวิตแบบนั้น คุณต้องดื่มด่ำอยู่กับสิ่งนั้น คุณอยากจะสร้างวัฒนธรรมนักลงมือทำ คุณก็ต้องเป็น Maker ก่อน คุณก็ต้องอยู่กับการสร้างสรรค์อะไรต่างๆ มาก่อน ไม่ใช่ว่าเป็นคนที่นั่งอยู่ในออฟฟิศ หรือนั่งอยู่ในโต๊ะผู้บริหารแล้วมาบอกว่าต้องการจะสร้าง

กลับกัน เราจะชอบหยิบคําศัพท์  Buzzword เช่น AI 4.0 หรือแม้แต่ เมกเกอร์สเปซ พยายามเอาป้ายไปแปะในพื้นที่ แต่ว่าเราไม่ได้สร้างสิ่งนั้นขึ้นมาจริง สิ่งที่ควรระวังก็คือ พอเราสร้างแบบผิดๆ เช่น สร้างห้องฝ่ายปกครองแต่แปะป้าย เมกเกอร์สเปซ ขึ้นมา มันจะทําให้เราไม่มีคําศัพท์ในการเรียกเมกเกอร์สเปซของจริงแล้ว เพราะคนที่เห็นเมกเกอร์สเปซจากประสบการณ์ก่อนหน้าก็จะนึกถึงภาพห้องที่ครูคอยคุมไม่ให้ใครใช้  หรือเห็นว่านี่คือห้องที่ไม่เปิดโอกาสให้เราทําอะไรเลย มีแค่อุปกรณ์ตั้งสวยๆ ซึ่งจะทําให้เกิดปัญหาในระยะยาว ว่าเราก็จะไม่มีเมกเกอร์สเปซจริงๆ

หลายๆ ครั้ง โรงเรียนจะใช้สิ่งนี้เป็นแบบประเมินว่าโรงเรียนเรามีเมกเกอร์สเปซนะ เครื่องมือสวยงาม มันวาว ไม่มีเลอะเทอะ แต่นี่ไม่เอื้อให้เกิดวัฒนธรรมนักลงมือทำเลย 

สุดท้ายก็กลับไปที่ “ผู้บริหาร” สามารถช่วยสร้างวัฒนธรรมได้นะ โดยการไปสำรวจว่าใครที่กําลังสร้างวัฒนธรรมนี้อยู่ ไปดูว่าเขาทํายังไง เขาเรียนรู้อะไร แล้วเอาทรัพยากรไปให้เขา เพื่อให้คนที่เขาทําได้ดีอยู่แล้วเติบโตขึ้น ไม่ใช่ไปทําแทนเขา หรือว่าไปสร้างกติกาแทนเขา แล้วก็ให้หน่วยงานที่ไม่เข้าใจมารับผิดชอบ 

พีพี – พัทน์ ภัทรนุธาพร

ถ้าอยากเริ่มสร้างเมกเกอร์สเปซ ต้องเตรียมตัวยังไง

เมกเกอร์สเปซจะเป็นอะไรก็ได้ อาจจะเป็นห้องธรรมดาที่ไม่มีอุปกรณ์อะไรเลยก็ได้ แต่ว่ามีคนที่มีวัฒนธรรมของการเป็นเมกเกอร์มาอยู่ด้วยกันแล้วเอาขยะ เอาของรอบตัวมาสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น เผลอๆ จะดีกว่าห้องที่มีเครื่องมือครบแต่ว่าไม่มีใครอนุญาตให้ใช้เสียด้วยซ้ำ เพราะเมกเกอร์สเปซควรจะมีชีวิต มีความเคลื่อนไหวของคนที่เข้าไปใช้งาน ไม่ว่าจะเขาจะสร้างอะไรก็ตาม

สุดท้ายแล้วการมี เมกเกอร์สเปซ ให้อะไรกับสังคม

มีอยู่สองประเด็นที่สําคัญ อย่างที่หนึ่งก็คือ การที่คุณไปอยู่ในเมกเกอร์สเปซจะทําให้เกิดการเรียนรู้ที่มีหลายมิติ เรียนรู้ที่จะเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่าอะไรคือสิ่งที่ชอบอะไรคือสิ่งที่ไม่ชอบ หรือเรียนรู้ตามหาความหมายในการดํารงอยู่ของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งสําคัญมากมากในยุคดิจิทัล ที่เรามีข้อมูลคอย disruption มีโซเชียลมีเดีย จนหลายๆ คนอาจจะเครียด ซึมเศร้า จนตั้งคำถามกับความหมายในการดํารงชีวิตของเรา ผ่านการเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น 

ดังนั้นการให้คนคนหนึ่งได้สร้างบางสิ่งขึ้นมามันช่วยให้รู้สึกว่าชีวิตมีความหมาย หรืออาจจะเข้าใจตัวเองผ่านการเรียนรู้บางอย่าง นี่คือพื้นที่หนึ่งที่จะทําให้เกิดการเรียนรู้แล้วก็สร้างแรงบันดาลใจ

อย่างที่สองก็คือ มันนํามาสู่การเข้าใจเทคโนโลยีใหม่ๆ เพราะในเมกเกอร์สเปซมีเทคโนโลยี มีอุปกรณ์ มองเห็นผู้คน ใช้เทคโนโลยีไม่เหมือนกันก็เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นแล้ว การได้เห็นคนอื่นๆ ว่าเขาใช้เทคโนโลยีกันอย่างไร เช่น คนหนึ่งใช้เครื่องปรินต์สามมิติทำชุดไดโนเสาร์ อีกคนใช้เครื่องปรินต์สามมิติทำงานแฟชั่น ช่วยเปิดโลกเปิดพรมแดนของเราเหมือนกัน ซึ่งทักษะในการใช้เทคโนโลยี การเรียนรู้เครื่องมือจากการเห็นคนอื่นใช้เป็นสิ่งที่สําคัญมากในยุคดิจิทัล 

ถ้าอย่างนั้น การจะสร้างวัฒนธรรมนักสร้างสรรค์ ควรสร้างความเข้าใจก่อน หรือสร้างพื้นที่ให้เข้าถึงก่อน

ถ้าคนที่มีส่วนร่วมเป็นคนที่มาจากวัฒนธรรมนี้อยู่แล้ว จะทําแบบไหนก่อนก็ได้ เพียงแต่ว่าหลายๆ ครั้ง หน่วยงานที่ไม่เข้าใจพยายามจะสร้างเมกเกอร์สเปซขึ้นมา เขาจะชอบโฟกัสไปที่ตัวพื้นที่ก่อน โดยไม่ได้สนใจว่ามันจําเป็นจะต้องมีคนที่เข้าใจแนวคิดก่อน เช่นเวลาที่เขาเอาเครื่องมือไปแจกจ่ายกับโรงเรียนบอกว่าให้สร้าง Maker Room ขึ้นมาแล้วก็เอาครูฝ่ายปกครองมาคุมว่าใครจะเข้าไปใช้ ต้องเขียนจดหมายมาถึงโรงเรียนว่าเธอจะใช้ทําอะไร แบบนี้เด็กๆ ก็ไม่มีใครอยากใช้ มันก็จะไม่เกิดอะไรขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ถ้ามีคนที่เข้าใจแนวคิด สมมติว่าอบรมครูให้เข้าใจ หรือเอาครูที่มีประสบการณ์มารวมตัวกัน ต่อให้ไม่มี Maker Room เขาก็อาจจะใช้อุปกรณ์อื่นมาทําให้เด็กมีวัฒนธรรมนักสร้างสรรค์ได้ สร้างอะไรต่างๆ ที่มหัศจรรย์ และน่าสนใจขึ้นมาได้

เครื่องมือเป็นสิ่งที่ดี เพราะว่าเครื่องมือทำให้คนทําอะไรต่างๆ ได้ แต่สิ่งที่สําคัญที่สุดในการสร้างวัฒนธรรมคือ “คน” ถ้าจะพัฒนาเมกเกอร์สเปซจริงๆ เวลาเกิดปัญหา คนก็ยังสามารถหาวิธีแก้ปัญหาได้ แต่การมีเครื่องมือเฉยๆ แต่คนไม่ได้ใช้ มันไม่สามารถทําให้เกิดวัฒนธรรมขึ้นมาได้ 

พีพี – พัทน์ ภัทรนุธาพร

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก