“ผมมีความเชื่อมั่นว่า พนักงานเป็นสมบัติที่มีค่าที่สุดขององค์กร ภายหลังที่ผมเกษียณอายุแล้ว ผมจึงมีความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า เด็กไทยเป็นสมบัติที่มีค่าที่สุดของประเทศไทย จึงได้ตั้งปณิธานไว้ว่า จะอุทิศชีวิตบั้นปลายให้กับการพัฒนาการศึกษาของไทย เพื่อพัฒนาเด็กไทยให้สู้ได้ในโลกยุคใหม่ ที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รุนแรง และกว้างขวาง”
คำกล่าวนี้คือจุดเริ่มต้นของภารกิจตลอดชีวิตของอาจารย์พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา อดีตผู้บริหารระดับสูงแห่งปูนซิเมนต์ไทย ผู้เปลี่ยนบทบาทจากภาคเอกชนมาสู่การเป็นนักปฏิรูปการศึกษาเต็มตัว ภายใต้ความเชื่อที่ชัดเจนว่า หากเด็กคือสมบัติของชาติ การลงทุนเพื่ออนาคตย่อมต้องเริ่มจากการศึกษา
ย้อนกลับไปในปี 2539 ช่วงเวลาที่สังคมไทยเริ่มขยับเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ เทคโนโลยีสารสนเทศเริ่มมีบทบาท และเสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจเกี่ยวกับปัญหาการศึกษาเริ่มชัดขึ้น หนึ่งในวงเสวนาที่รวมตัวนักคิด นักวิชาการ และนักบริหาร ได้ตั้งคำถามถึงระบบการเรียนรู้ไทย ที่ผลิตนักเรียนซึ่งไม่กล้าถาม ไม่กล้าแสดงออก และขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ อาจารย์พารณ และคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา จึงริเริ่มนำแนวคิดการศึกษาแนวใหม่เข้ามาเปิดโลก
การเชิญศาสตราจารย์ซีมัวร์ แพเพิร์ต ผู้บุกเบิกนำทฤษฎี Constructionism จาก MIT มายังประเทศไทย คือจุดเปลี่ยนสำคัญ อาจารย์พารณพาศาสตราจารย์แพเพิร์ตไปเยี่ยมชมโรงเรียนหลายแห่ง หนึ่งในคำวิจารณ์ที่ศาสตราจารย์แพเพิร์ตให้ไว้คือ หลักสูตรของไทยเปรียบเสมือนเสื้อรัดตัว หรือ straight jacket ที่จำกัดอิสระของครูและนักเรียน ทำให้การเรียนรู้กลายเป็นเพียงการท่องจำ ไม่ได้จุดประกายให้เด็กคิดอย่างมีวิจารณญาณ

อาจารย์พารณในวัยเกษียณตอนนั้น ไม่ได้พักผ่อนตามธรรมเนียม หากแต่เลือกลงมือทำทันที เขาระดมเงินทุน นำทีมศาสตราจารย์แพเพิร์ตและคณะจาก MIT เดินทางไปยังศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเชียงราย เพื่อทดลองใช้แนวคิด Constructionism กับครูไทย ในยุคนั้นอินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย อาจารย์พารณจึงลงทุนติดตั้งจานดาวเทียมเพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปได้จริง พร้อมทั้งนำโปรแกรม MicroWorlds มาใช้เป็นครั้งแรก
อาจารย์พารณเปรียบเทียบแนวคิด Constructionism กับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะแนวทางแห่งการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผ่านการปฏิบัติ ไม่ใช่แค่ฟังหรือท่องจำ เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ผ่านประสบการณ์ตรง ไม่ใช่จากการนั่งฟังใครสอน ความรู้ที่ยั่งยืนจึงต้องเกิดจากการลงมือและการสะท้อนกลับของผู้เรียนเอง
ผลลัพธ์คือผู้สอนชื่นชอบและสนุกกับการเรียนรู้ แต่เมื่อนำแนวทางไปขยายผล กลับติดปัญหาจากโครงสร้างของระบบที่ไม่เปิดรับการเปลี่ยนแปลง อาจารย์พารณจึงเรียนรู้บทสรุปสำคัญว่า หากต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง CEO หรือผู้บริหารสูงสุดขององค์กรต้องมีวิสัยทัศน์และร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน มิฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงย่อมไม่เกิด
จากบทเรียนครั้งนั้น อาจารย์พารณตัดสินใจก่อตั้งโรงเรียนของตัวเอง โรงเรียนที่ไม่มีกรอบเก่าให้ต้องแหวก โรงเรียนที่เปิดกว้างสำหรับแนวคิดใหม่ และเชื่อมั่นในพลังของการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ร่วมกับคุณบางกอก เชาว์ขวัญยืน ก่อตั้ง ‘โรงเรียนดรุณสิกขาลัย’ ขึ้นภายใต้การสนับสนุนของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
แนวคิดการเรียนรู้แบบ Constructionism ถูกบูรณาการเป็นหัวใจของหลักสูตร เด็กๆ เรียนผ่านการทำโครงงานจริง โดยอาศัยการบูรณาการหลากหลายศาสตร์ ทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปะ ภาษา วัฒนธรรม และจริยธรรม เด็กแต่ละคนมีสิทธิเลือกสิ่งที่สนใจได้เอง โดยเฉพาะในระดับมัธยม ดรุณสิกขาลัยไม่ได้แบ่งชั้นเรียนแบบดั้งเดิม แต่ใช้ระบบ ‘บ้านเรียน’ แทน เช่น บ้านเรียนวิศวกรรม บ้านเรียนโขน บ้านเรียนวิชาชีพต่างๆ เพื่อให้เด็กได้ใช้เวลาเรียนรู้ในสิ่งที่รัก และเติบโตบนเส้นทางที่ตนเลือก
เมื่อบูรณาการวิธีการ Constructionism กับแนวคิด Learning Organization ที่ทำให้โรงเรียนเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ คณะครูก็ได้ถอดกระบวนการการเรียนรู้ของดรุณสิกขาลัย ออกมาเป็น 8 ขั้นตอน คือ
1. การเรียนการสอนเริ่มจากสิ่งที่เด็กสนใจ โดยก่อนเปิดเทอม เด็กๆ จะมาร่วมกันคิดว่าจะจัดทำโครงงานใดบ้าง
2. ครูจะศึกษาหัวข้อต่างๆ ที่เด็กสนใจเหล่านั้นพร้อมกับเตรียมข้อมูล ตลอดจนเตรียมเชิญผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้ และนำเด็กไปทัศนศึกษาตามแหล่งความรู้ต่างๆ
3. ครูและเด็กจะวางแผนการเรียนรู้ร่วมกันว่า จะจัดให้มีกิจกรรมใดบ้างในแต่ละวัน ทำให้เด็กๆ มีภาพแผนงานของตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบโครงการ ครูทำหน้าที่ผู้สร้างบรรยากาศให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ (Facilitator) ส่วนนักเรียนต้องสามารถเขียนภาพความคิด (Mind Map) ในหัวข้อที่ต้องเรียนรู้และทำตารางเวลาเรียนรู้แต่ละเรื่องเป็นแผนการทำงาน
4. เรียนรู้ด้วยการลงมือทำจริง โดยการตั้งคำถามของครูจากสิ่งที่นักเรียนสนใจ แล้วให้นักเรียนลงมือหาคำตอบอย่างจริงจัง ทั้งการหาข้อมูล การทดลอง การสร้างชิ้นงาน หรือการพบปะเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญและสถานที่จริง นักเรียนจะได้สัมผัสและเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงการเรียนรู้ตามทฤษฎีเท่านั้น หลังจากนั้นนักเรียนต้องร่วมวิพากษ์ ถกประเด็น ตั้งคำถาม และถอดบทเรียนให้ครูและเพื่อนฟัง เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะการเขียน การใช้ภาษา ภาษาอังกฤษ ตลอดจนการนำเสนออย่างถูกต้อง
5. สรุปความรู้ และเก็บบันทึกผลงานในรูปแบบของบทความ สมุดรวบรวมผลงาน(Portfolio) และแผนภาพความคิด (Mind Map) ซึ่งเป็นการให้นักเรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ขึ้นได้ด้วยตัวเอง และจะช่วยให้จดจำได้
6. จัดเตรียม Presentation ผลงานจากการเรียนรู้ แล้วนำเสนอผลงานให้ผู้ปกครองและผู้ที่สนใจเข้าชมในงาน Exhibition ซึ่งจะมีทุกๆครั้งที่จบโครงงาน โดยขั้นตอนนี้นักเรียนจะเป็นผู้คิดวิธีการนำเสนอเอง นอกจากผู้ปกครองจะได้รับความรู้แล้ว ยังได้ชื่นชมกับประสบการณ์ของนักเรียนในทุกกระบวนการ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลงานสุดท้ายด้วย
7. วิเคราะห์และประเมินผลโดยแบ่งออกเป็นสองส่วนคือส่วนแรกเป็นการประเมินตามสภาพจริง (Authentic Assessment) ทางด้านความรู้ทักษะพฤติกรรมผ่านแบบทดสอบชิ้นงานกิจกรรม ตามผลงานแบบบันทึกพฤติกรรมทั้งระหว่างเรียนและสิ้นสุดการเรียนรู้ ซึ่งประเมินโดยครูหรือเปิดโอกาสให้นักเรียนมีโอกาสได้ประเมินผลงานของตนเอง (Self Assessment) และเพื่อนในกลุ่ม และส่วนที่สองเป็นการประเมินตนเองโดยที่นักเรียนจะได้รับ Feedback จากเพื่อนครูผู้ปกครอง รวมทั้งได้ประเมินตนเองในทุกสัปดาห์ เพื่อการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
8. สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำโครงงานนั้นมาใช้เพื่อพัฒนาตนเองไปสู่การทำโครงงานถัดไปที่ใหญ่ขึ้นลึกขึ้น หรือแม้กระทั่งเรื่องใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อนได้
หลักสูตรของดรุณสิกขาลัยถือเป็นตัวอย่างของการศึกษาก้าวหน้า ที่ปรับตัวให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ความรู้ไม่ถูกยัดใส่ แต่ถูกสร้างขึ้นจากการลงมือทำ ความคิดไม่ถูกจำกัด แต่ได้รับการหล่อหลอมจากการตั้งคำถามและหาคำตอบร่วมกัน

ในปี 2566 โรงเรียนดรุณสิกขาลัยได้จัดตั้ง FabLearn Lab ขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย และในระดับภูมิภาคเอเชีย FabLearn Lab คือพื้นที่สร้างสรรค์ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้แปลงความฝันให้เป็นจริง ผ่านเครื่องมือดิจิทัลและอุปกรณ์เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น เครื่องพิมพ์สามมิติ เครื่องพิมพ์เลเซอร์ เครื่องตัดไวนิล ไปจนถึงเครื่องมือช่างและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การเรียนรู้ในห้องแล็บนี้ช่วยให้เด็กเข้าใจโลกของวิศวกรรมและนวัตกรรมอย่างจับต้องได้ และยังฝึกกระบวนการคิดแบบ Design Thinking ตั้งแต่ยังเยาว์วัย
แม้ดรุณสิกขาลัยจะเป็นโรงเรียนเอกชนขนาดไม่ใหญ่ แต่แนวคิดที่โรงเรียนนี้ส่งออกไปได้จุดประกายให้โรงเรียนอีกมากมายกล้าปรับเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับการเรียนการสอน โดยเฉพาะการมองเห็นศักยภาพของเด็กแต่ละคน ว่าไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน และการศึกษาที่ดีไม่ควรบังคับให้ทุกคนเดินบนเส้นทางเดียว
เมื่อถูกถามว่า อะไรคือผลงานที่ภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต คำตอบของอาจารย์พารณคือ โรงเรียนดรุณสิกขาลัย โรงเรียนที่ไม่ใช่เพียงสถาบันการศึกษา แต่เป็นพื้นที่ทดลองและเรียนรู้สำหรับทั้งครูและนักเรียน โรงเรียนที่พิสูจน์ให้เห็นว่า การศึกษาที่แท้จริง คือการปลดปล่อยศักยภาพในตัวเด็ก ไม่ใช่การตีกรอบด้วยหลักสูตร
ในโลกที่หมุนเร็วขึ้นทุกวัน การศึกษายิ่งต้องปรับตัวเร็วขึ้นตาม แต่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ไม่อาจเกิดจากการสั่งการลงมาข้างบน หากแต่ต้องเริ่มจากคนที่เชื่อมั่นในพลังของการเรียนรู้ และพร้อมจะสร้างพื้นที่ให้ผู้เรียนทุกคนได้ลองผิดลองถูก ล้มแล้วลุก และค้นพบเส้นทางของตนเอง
จากบทบาทของอาจารย์พารณ ที่ไม่เพียงเป็นผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ แต่คือครูในความหมายที่แท้จริง ผู้ที่สอนโดยการสร้างโอกาสให้เด็กได้ลงมือทำ หากจะนิยาม ‘การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา’ ให้เป็นภาพที่ชัดเจนที่สุด ภาพของโรงเรียนดรุณสิกขาลัยย่อมเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่พูดแทนทุกถ้อยคำได้ดียิ่งกว่าคำบรรยายใดๆ และภาพของอาจารย์พารณในห้องเรียนเล็กๆ ห้องหนึ่ง ยังคงยืนอยู่ข้างเด็กไทย พร้อมพาไปสู่โลกที่กว้างกว่าเดิมเสมอ
ที่มา
Senge, P. M. (2000). Schools That Learn: A Fifth Discipline Fieldbook for Educators, Parents, and Everyone Who Cares About Education. New York: Doubleday.
Worlddidac Foundation. (2561). Darunsikkhalai School for Innovative Learning – Education Innovation in Thailand. สืบค้นจากhttps://worlddidac.org/project/darunsikkhalai-school-for-innovative-learning
พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา. (2566). เรื่องเล่า 96 จาก พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
บทความ “โรงเรียนแห่งการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง” (Online)
บทความ “โรงเรียนดรุณสิกขาลัย: ตัวอย่างการศึกษานอกกรอบ ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง”(Online)
บทความ “ดรุณสิกขาลัยกับแนวคิดการเรียนรู้แบบ Constructionism” (Online)
บทความ “Situating Constructionism. MIT Media Lab” (Online)