นิยามการงานแห่งชีวิตของนักแปลเลื่องชื่ออย่าง ภัควดี วีระภาสพงษ์ คือการถ่ายทอดความหมายจากภาษาหนึ่งไปยังภาษาปลายทางให้ได้มากที่สุด
ถ้าหากว่าการแปลเป็นหนึ่งในการแสดงภาษา นักแปลคือผู้ใช้วรรณศิลป์ทุกอย่างเพื่อแปรเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ข้างหน้าให้เป็นตัวอักษร เปรียบดั่งนักแสดงไร้เวที หรือผู้แสดงที่อาจไม่มีสปอตไลต์ฉายส่องมาเลยก็ตาม
วรรณกรรมต่างประเทศที่นักอ่านไทยคุ้นเคยอย่าง สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ (The Name of the Rose) ของ อุมแบร์โต เอโก (Umberto Eco) เกือบได้ชื่อเป็นภาษาไทยว่า ‘นามาภิไธยแห่งดอกกุหลาบ’ หากสำนักพิมพ์ไม่ขอให้เปลี่ยน ขณะที่ ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต (The Unbearable Lightness of Being) ของ มิลาน คุนเดอรา (Milan Kundera) ผู้แปลบอกไว้ว่าควรจะชื่อ ‘ความเบาหวิวเหลือทนของภาวะการดำรงอยู่’ เพราะคำว่า being มีความหมายว่า การดำรงอยู่ แต่ด้วยการต่อรองทางภาษา ชื่อแรกที่คุ้นกว่าจึงสมควรได้รับการตีพิมพ์
ส่วนนิยามการงานแห่งชีวิต ภัควดี วีระภาสพงษ์ ผู้แปลหนังสือทั้งสองเล่ม เล่าว่า การแปลคือการถ่ายทอดความหมายจากภาษาหนึ่งไปยังภาษาปลายทางให้ได้มากที่สุด และบางครั้งการแปลคือ การถอดรหัสภาษาให้ใกล้เคียงต้นฉบับแบบ 100 เปอร์เซ็นต์มากที่สุด และอาจต่อรองได้ด้วยการเพิ่มบางจุดที่สามารถชดเชยส่วนที่หายไปจากอีกจุดหนึ่ง
“การที่สังคมได้รับแนวคิดแตกต่างไปจากกระแสหลักจนเปิดความคิดไปสู่ทางเลือกอื่นๆ ทำให้สังคมนั้นๆ มีทางเลือกมากขึ้น แล้วมันก็อาจจะเปลี่ยนเส้นทางไปทางอื่นได้” ภัควดีให้ความเห็นต่อคุณค่าของการแปลไว้เช่นนี้
นับแต่นวนิยายเล่มแรก ซาฮาโตโพล์ค เทพเจ้าจอมมายา (Zahatopolk) ของ เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ (Bertrand Russell) ก็นับร่วม 30 ปีแล้ว ที่นามของ ภัควดี วีระภาสพงษ์ ปรากฏในฐานะนักแปลทั้งวรรณกรรมและงานวิชาการ ยิ่งกับผลงานแปล สามัญสำนึก (Common Sense) ของ โธมัส เพน (Thomas Paine) หนังสือเล่มเล็กสุดทรงพลังที่วิพากษ์ระบอบการปกครองของทรราช ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง สอดรับไปกับขบวนการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทยที่กำลังเป็นกระแสแห่งยุคสมัย นักแปลเปรยว่า นั่นเป็นวาระซ่อนเร้นที่คาดหวังอยากให้เกิด ด้วยวันหนึ่งอาจช่วงชิงความเป็นใหญ่ทางความคิดด้วยการแปล

คุณเติบโตมากับการอ่านแบบไหนจึงมาเป็นนักแปลได้
เป็นคนชอบภาษาโบราณ จริงๆ แนวคิดอาจจะไม่ได้รับอะไรมาเลย แต่ชอบภาษาตั้งแต่ ขุนช้างขุนแผน ชอบภาษาร้อยแก้วของรัชกาลที่ 6 หรืองานของ แสงทอง (หลวงบุณยมานพพาณิชย์) ส่วนอีกคนที่ชื่นชอบคือ พระยาอนุมานราชธน
ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย เราสนใจอ่านนิตยสาร โลกหนังสือ และ ปาจารยสาร สำหรับ โลกหนังสือ โดยบรรณาธิการ สุชาติ สวัสดิ์ศรี จะเปิดมุมมองใหม่ๆ เขาลงบทความที่อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมอย่างเดียว มีเรื่องเชิงสังคมด้วย ส่วนปาจารยสารก็ไม่ได้ลงเรื่องทางสายพุทธอย่างเดียว ยุคนั้นมีงานที่ประทับใจเป็นพิเศษคืองานของ อาจารย์สุวินัย ภรณวลัย เขียนเรื่องทฤษฎีทางสังคมนิยมทั้งเรื่องวัตถุนิยมวิภาษวิธี
ดูเหมือนว่าบรรยากาศตอนเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งผลต่อความคิดความอ่านของคุณอยู่ไม่น้อย
เราเรียนสาขาวิชาปรัชญา เลือกวิชาโทวรรณคดีอังกฤษ บรรยากาศตอนเข้าปีหนึ่ง เมื่อปี 2525 เป็นช่วงที่ผ่านเหตุการณ์ตุลาคม 2519 มาไม่นานมาก แล้วก็ผ่านเหตุการณ์นโยบาย 66/2523 สมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ที่ผลักดันนักศึกษาออกจากป่า มาไม่นานเช่นกัน ตอนนั้นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ก็เริ่มหมดอิทธิพลไป แต่แนวคิดด้านสังคมนิยมในแวดวงนักศึกษาก็คล้ายว่ายังหลงเหลืออยู่
ช่วงนั้นนักศึกษาที่ภายหลังกลายมาเป็นนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ในประเทศอย่าง อาจารย์เกษียร เตชะพีระ กลับจากป่ามาเข้าเรียนแล้วกำลังจะไปเรียนต่อต่างประเทศ อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล กับ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กำลังรอเรียนต่อที่ต่างประเทศ อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กลับมาจากต่างประเทศได้สัก 2-3 ปีก็มีวิธีสอนที่แปลกใหม่เป็นที่ฮือฮา มีนักศึกษาจัดงานเสวนาพูดคุยกับคนเหล่านี้อยู่ตลอด พอช่วงที่ใกล้จบ อาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา กลับมาพร้อมแนวคิดที่แปลกไปอีกแบบหนึ่ง
ความสนใจในตอนนั้นมีเรื่องอะไรบ้างจึงเริ่มมาทำงานแปล
กับวิชาปรัชญา เราสนใจนักคิดกรีกอย่าง โสกราตีส และสนใจวรรณกรรมที่สั่งสมจากการอ่าน มองไปถึงตัวเองหลังจากเรียนจบว่าน่าจะทำงานในวงการหนังสือ จุดเริ่มต้นนี้ก็ตลกดี คือตอนแรกไม่เคยคิดเรื่องจะทำงานแปลหนังสือมาก่อน แล้วมีเพื่อนมาชวนว่ามีโปรเจกต์งานแปลมาจากสำนักพิมพ์ใหญ่แห่งหนึ่ง เราก็โอเครับงานเพราะอยากมีรายได้ พอทำก็ค้นพบว่าเราได้ทำในสิ่งที่เราชอบ ตั้งแต่นั้นก็ทำมาตลอด ใช้ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยที่มีหนังสือทั้งภาษาอังกฤษและวารสารด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองเป็นแหล่งข้อมูล และเราก็สั่งซื้อจากสำนักพิมพ์หรือร้านหนังสือที่ขายเฉพาะหนังสือจากต่างประเทศ ส่วนงานแปลเล่มแรก ซาฮาโตโพล์ค เทพเจ้าจอมมายา ของ เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ ซึ่งมาจากโปรเจกต์สมัยเรียนที่ถูกพักไว้ ก่อนจะได้มาตีพิมพ์ภายหลังกับสำนักพิมพ์ ประพันธ์สาส์น ในปี 2533

สำหรับคนอยากเป็นนักแปล คุณคิดว่าควรเริ่มจากอะไร
คนที่อยากเป็นนักแปลต้องเริ่มจากการลองแปล เพราะมีหลายคนที่อยากทำงานแปล แต่พอทำไปแล้วพบว่าตัวเองไม่ชอบ เพราะเป็นงานที่น่าเบื่อ ใช้เวลานาน ค่าตอบแทนไม่มาก และชื่อเสียงก็น้อย เหมือนนักแสดงไร้เวที หลายคนก็เลยไม่ค่อยชอบ ทั้งที่เขาอาจจะไม่ได้ต้องการเรื่องชื่อเสียง เพียงแต่ว่าในกระบวนการทำงานมันทำให้หลายคนรู้สึกเบื่อ เช่น การแปลต้องอ่านหลายรอบ อ่านก่อนแปล 1 รอบ ระหว่างแปลก็อ่านซ้ำอีกรอบ จากนั้นก็อ่านรอบที่ 3 หลังแปลเสร็จ หรือบางทีมากกว่า 3 รอบด้วยซ้ำ อย่างเรื่อง สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ เราอ่านหลายรอบ แก้หลายรอบ
หนังสือแปลในไทยส่วนใหญ่แปลมาจากภาษาอังกฤษ การเก่งหรือไม่เก่งภาษาอังกฤษมีผลต่อการเป็นนักแปลไหม
การแปลไม่ใช่คนที่เก่งภาษาอังกฤษอยากจะแปลทุกคน เพราะการถ่ายทอดภาษาไทยก็ต้องทำให้ตรง ส่วนถ้าจะเปิดพจนานุกรมแปล ก็สามารถทำได้ระดับหนึ่ง ซึ่งก็ต้องค่อยๆ พัฒนาความรู้ทางภาษาของเราไปเรื่อยๆ เพราะการเปิดพจนานุกรมไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้เราเข้าใจภาษา เนื่องจากยังมีเรื่องโทน เรื่องมู้ดอีก ดังนั้น การแปลจะต้องพัฒนาเรื่องความเข้าใจภาษาอังกฤษด้วยการอ่านหนังสือเยอะๆ อ่านภาษาอังกฤษ ดูหนัง หรือติดตาม forum ที่เขาคุยกันว่า สำนวนนี้แปลหรือหมายความว่าอะไร
ครั้งหนึ่งตอนแปลนิยายของ เรย์มอนด์ แชนด์เลอร์ (Raymond Chandler) เราติดอยู่คำหนึ่ง ก็เลยไปถามใน forum เขาก็บอกว่ามันคือเมืองของอเมริกา ที่ทั้งเมืองมีถนนเส้นเดียวแล้วก็มีปั๊มน้ำมัน คือเข้าไปถามได้ แต่เราจะต้องอธิบายบริบทเพิ่มเติม
ผลงานของคุณส่วนมากแปลจากอังกฤษเป็นไทย แล้วมีที่แปลไทยเป็นอังกฤษบ้างไหม
ไม่เคยทำ ไม่ถนัดทำ คือไม่ว่าเราแปลอะไร ภาษาปลายทางเราต้องดีกว่าภาษาต้นทาง ทีนี้ถ้าให้แปลไทยเป็นอังกฤษ เราไม่ใช่คนที่ภาษาปลายทางดี ไม่ใช่คนที่เก่งภาษาอังกฤษมาก ในลักษณะที่เขียนหรือพูดก็ไม่ใช่คนที่ถูกต้องขนาดนั้น มีบางคนเก่งมากที่แปลไปกลับได้ แต่เราไม่ใช่เลย จริงๆ แล้วเราถนัดภาษาไทย ไม่ใช่คนที่เขียนหรือพูดภาษาอังกฤษเก่ง
‘นักแปลคือนักแสดงไร้เวที’ คำนี้มีที่มาอย่างไร
ได้มาจากคนที่เขียนเรื่องทฤษฎีการแปลของต่างประเทศ เขานิยามว่า ‘นักแปลคือนักแสดงไร้เวที’ หมายความว่า ถ้าการแปลเป็น performance ทางภาษา เหมือนนักแสดง performance ต่อภาษา แต่นักเขียนมีเวที เพราะเขาอยู่บนเวที มีคนรู้จัก ขณะที่นักแปลก็ต้องทำ performance ทางภาษาทางวรรณศิลป์ทุกอย่าง แต่ไม่ได้อยู่บนเวที ถ้าตามหลักไม่น่าจะเป็นคนที่มีคนรู้จัก แต่ส่วนตัวเราใช้ชื่อจริงนามสกุลจริงในการแปลทั้งวรรณกรรมและงานวิชาการ เพราะคิดนามปากกาไม่ออก แต่มีครั้งหนึ่งที่ใช้ ‘ภัควดี ไม่มีนามสกุล’ อันนั้นไม่ใช่ฉายา แต่ตอนนั้นมีการเมืองค่อนข้างรุนแรง แล้วคนในครอบครัวก็ขอร้องว่าอย่าใช้นามสกุล ทำให้ช่วงหนึ่งเราก็ไม่ใส่นามสกุล แต่ตอนนี้ก็กลับมาใช้เหมือนเดิมแล้ว

คุณเคยบอกว่า การแปลคือการต่อรอง ช่วยขยายความให้ฟังอีกทีได้ไหม
เป็นแนวคิดของเอโก คือมันมีทฤษฎีการแปลหลายแบบ เอโกเขาก็เขียนทฤษฎีการแปล แล้วก็บอกว่าการแปลเป็นการต่อรอง ก็คือคุณทำยังไงให้มันใกล้เคียงที่สุดแต่มันไม่มีทางเป็นไปได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าหากว่าตรงจุดนี้คุณทำได้ 50-60 เปอร์เซ็นต์ แต่คุณอาจจะต่อรองด้วยการเพิ่มบางจุดที่มันสามารถเล่นได้ ที่คนแปลสามารถทำให้มาชดเชยในส่วนที่หายไปตรงอีกจุดหนึ่ง มันเป็นลักษณะนี้ที่เอโกบอก
การช่วงชิงและครองความเป็นใหญ่ทางความคิดได้ด้วยการแปล มันเป็นอย่างไร
คือสังคมไทยเราก็รู้กันอยู่ว่าแวดวงการอ่านค่อนข้างจำกัด คนไทยเองก็มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษจำกัด แล้วหนังสือในเมืองไทยก็มีการแปลน้อย ทีนี้สมมติว่าถ้าเราเลือกแปลงานของฝ่ายสังคมนิยม ฝ่ายซ้าย คนไทยก็จะได้อ่านก่อนไง มันเหมือนกับว่าเป็นการสร้างอิทธิพลทางความคิดกับคนได้ หรืออย่างเช่น เคยมีคนเสนอให้เราแปลงานของ แซมมวล ฮันติงตัน (Samuel Huntington) หรือ อดัม สมิธ (Adam Smith) ที่เป็นนักคิดสายเสรีนิยม เราก็จะไม่แปล คนที่อยู่สายเสรีนิยมก็ไปแปลเองสิ เราจะเลือกงานสายสังคมนิยม อย่าง เดวิด ฮาร์วีย์ (David Harvey) คาร์ล โปลานยี (Karl Polanyi) หรือว่า เอริค ฮ็อบส์บอม (Eric Hobsbawm) มากกว่า จริงๆ ชื่อที่เอ่ยมาก็เป็นฝ่ายซ้ายหมดเลย เป็นมาร์กซิสต์หมด ยกเว้น คาร์ล โปลานยี เราก็เลยคิดว่าพอมันมีหนังสือที่อ่านเป็นภาษาไทยได้อยู่ในสังคมไทย มันก็ถูกใช้ในแวดวงการศึกษาใช่ไหม คือหนังสือของเรามันก็ไปอยู่ในหนังสือแนะนำหรือหนังสือที่อาจารย์แนะนำให้นักศึกษาอ่าน นักศึกษาก็ได้อ่าน ทีนี้เขาก็อาจจะได้รับอิทธิพลทางความคิดไปบ้าง หรืออย่างน้อยก็มีทางเลือกที่จะได้สนใจงานชิ้นนี้ ที่จะได้อ่านได้รับรู้งานประเภทนี้
มีงานประเภทไหนบ้างไหมที่คิดว่าจะไม่แปลแน่ๆ
อย่างที่เอ่ยไปแล้วก็คือถ้าเป็นงานวิชาการงานสายเสรีนิยม ก็รู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้องแปล หมายถึงคนที่เชื่อในสายเสรีนิยมก็ควรไปแปลเอง แล้วก็มีหนังสือที่ไม่แปลอีกประเภทก็คืองานวรรณกรรมประเภทกระแสสำนึก เพราะไม่ใช่แนวทาง หรืองานวรรณกรรมก็ยอมรับว่าแปลน้อยลงเยอะ เคยคิดด้วยซ้ำว่าจะไม่แปลแล้ว เพราะว่ามาแปลงานวิชาการเยอะจนมีความรู้สึกว่าเดี๋ยวนี้เวลาแปลงานวิชาการจะรู้สึกเซฟโซน รู้สึกสบาย คุ้นชินต่อมัน พอจะต้องกลับไปทำงานวรรณกรรมระยะหลัง ก็รู้สึกไม่มั่นใจตัวเอง รู้สึกว่าคลังภาษาในเชิงวรรณกรรมพอเราไม่ได้ใช้งาน มันก็ลืมไปเยอะ
เวลามีหนังสือแปลสักเล่ม สำหรับคุณ สำนักพิมพ์ หรือ นักแปล เป็นผู้เลือก
มีทั้ง 2 แบบคือ หนึ่ง สำนักพิมพ์เสนอ และสอง เราอยากแปลเอง อย่างงานวรรณกรรมของ มิลาน คุนเดอรา เราอยากแปลเอง ส่วนงานที่สำนักพิมพ์เสนอ เช่น โครงการจัดพิมพ์คบไฟ อยากให้แปลงานชุด The Buru Quartet (จตุรภาคเกาะบูรู) ของ ปราโมทยา อนันตา ตูร์ (Pramoedya Ananta Toer) ที่เล่าถึงการต่อสู้ทางการเมืองในอินโดนีเซีย หรืองานวิชาการอย่าง The Great Transformation (เมื่อโลกพลิกผัน) ของ คาร์ล โปลานยี คือเราอยากแปลแล้วคุยกับสำนักพิมพ์เอง
การเลือกแปลก็มาจากการได้อ่านก่อนแล้วอยากนำเสนอ ระยะหลัง ตั้งแต่อายุเยอะขึ้น เราอ่านน้อยลงเยอะ ยอมรับว่าที่อ่านน้อยลงก็เพราะว่าการเมืองปัจจุบันทำให้เราเหนื่อยที่จะอ่านหนังสือ ทุกวันนั่งอ่านเรื่องราวคดีความก็เหนื่อยแล้ว

พอจะเลือกแปลวรรณกรรม ทำไมต้องเป็นงานของ มิลาน คุนเดอรา
นิยายของเขาไม่ค่อยเน้นในเรื่องอารมณ์มาก คล้ายว่าเขาค่อนข้างจะใช้เหตุผล แต่จริงๆ มันมีอารมณ์ที่ซับซ้อนแฝงอยู่ แล้วมันจะไปผูกกับเรื่องบริบททางสังคมเยอะ ซึ่งเราจะชอบงานลักษณะอย่างนี้มากกว่า โดยส่วนตัวจะไม่ชอบงานที่พูดถึงอารมณ์ส่วนลึกของปัจเจกบุคคลที่เป็นเรื่องของคนคนเดียว แต่จะชอบเรื่องคล้ายๆ ภาวะของมนุษย์ที่อยู่ในบริบทสังคมแล้วถูกกระแสสังคมพัดพาไปทางใดทางหนึ่ง แล้วตัวละครมีการตัดสินใจเลือกในช่วงบริบทของสังคมแบบนั้น ซึ่งงานคุนเดอราก็จะพูดถึงภาวะของมนุษย์ในลักษณะสังคมแบบต่างๆ
อย่างสังคมเผด็จการ ประสบการณ์ชีวิตคุนเดอราจะอยู่ในช่วงที่เช็กเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วตอนหลังประเทศเขาพยายามที่จะให้ประชาชนเรียกร้องเสรีภาพมากขึ้น จนถูกสหภาพโซเวียตบุกยึดครอง แล้วคนอย่างคุนเดอราก็ถูกกวาดล้างจนต้องลี้ภัยไปฝรั่งเศส ในนิยายเรื่อง ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต หรืออย่าง เรื่องตลก (The Joke) ของคุนเดอราก็จะพูดถึงสังคมคอมมิวนิสต์ที่เป็นเผด็จการ แต่ถ้าเป็นงานยุคใหม่กว่านั้นอย่างเช่น อมตะ (Immortality) หรือ ความเขลา (Ignorance) ก็จะพูดชัดเจนถึงสังคมประชาธิปไตย เสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งมันก็มีบริบทอีกแบบหนึ่ง
นิยายคุนเดอราจะมีข้อแปลกอย่างหนึ่งที่คนมักจะเข้าใจผิดไป ว่าเป็นนิยายที่ถูกพูดถึงเยอะ แต่จริงๆ ไม่ได้ขายได้เยอะ คืออาจจะเป็นเพราะมันได้รับการพูดถึงเยอะ เพราะคนที่พูดถึงก็เป็นคนในแวดวงวรรณกรรมเอง นักเขียนไทยอ่านวรรณกรรมของคุนเดอราเยอะ ก็เลยเหมือนกับมีกระแสเยอะ แต่ถามว่าคนทั่วไปอ่านหนังสือขายดีไหม ไม่ใช่ หนังสือนิยายมันไม่ได้ขายดีถึงขนาดนั้น
อีกหนึ่งงานวรรณกรรมที่เลือกแปล สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ มีที่มาอย่างไร
ส่วนตัวเป็นคนสนใจศาสนาคริสต์ตั้งแต่เด็ก เคยอ่านไบเบิลพระคัมภีร์ใหม่ แล้วชอบอ่าน เชอร์ล็อก โฮมส์ ชอบอ่านนิยายสืบสวน ก็เป็นความสนใจสองอย่างนี้ แล้วเราก็ชอบอะไรโบราณๆ หน่อย งาน อุมแบร์โต เอโก อาจจะตอบโจทย์ตรงนี้ หลายเรื่องพูดถึงเรื่องปรัชญา สัญวิทยา ตรรกวิทยา เทววิทยา พูดถึงบริบทสังคม ขณะเดียวกันมันอ่านสนุก มีความเป็นป๊อปคัลเจอร์อยู่ในนั้น แล้วก็มีแนวคิดวิชาการเยอะ อันนี้ก็เลยเป็นสิ่งที่ทำให้อ่านแล้วชอบ ซึ่งปกติเราเป็นคนที่ชอบอ่านวรรณกรรมไทยหรือวรรณคดีไทยเก่าๆ ก็เลยเป็นโอกาสที่เราอยากจะลองใช้ภาษาแบบนั้นกับงานแปล
เดิมที สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ มีชื่อว่า นามาภิไธยแห่งดอกกุหลาบ แต่สำนักพิมพ์บอกว่าไม่ได้ เพราะมันเหมือนล้อเลียน แต่ตอนนั้นเราไม่ได้คิดอะไร แค่อยากตั้งชื่อให้มันตรงกับภาษาอังกฤษ แต่พอเปลี่ยนเป็นสมัญญากลายเป็นว่ามันต้องแปลไทยซ้ำอีก จริงๆ อาจจะเกินจากชื่อต้นฉบับนิดนึง เพราะชื่อต้นฉบับ The Name of the Rose เป็นคำธรรมดา แต่เราจะไปแปลว่า ‘ชื่อดอกกุหลาบ’ ก็ไม่ได้ มันแปลก
ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต นิยายแปลที่ชื่อติดหูนักอ่าน ได้ชื่อนี้มาอย่างไร
มาจาก The Unbearable Lightness of Being ใช่ไหม light ก็คือความเบา ถูกไหม ทีนี้พอเบาแล้วมัน unbearable คือแทบจะทนไม่ได้ มันจะต้องเบามาก เบาแบบเบาหวิวเลย ทีนี้ unbearable ก็คือเหลือทน ส่วน being ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่แปลยาก ไม่รู้จะแปลว่าอะไร แม้แต่คุนเดอราเองก็บอกว่า ความหมายของ being ของเขาคือชีวิต ก็แปลว่าชีวิตอื่นๆ โดยส่วนตัวเราก็รู้ว่าแปลไม่ตรงเสียทีเดียว จริงๆ ถ้าจะให้ตรงที่สุดคือ ‘ความเบาหวิวเหลือทนของภาวะการดำรงอยู่’ แต่นอกจากยาวแล้วในทางภาษาบางทีมันก็ใช้ไม่ได้ มันแปลก สุดท้ายก็เลยตัดสินใจใช้คำว่า ชีวิต แต่ถ้าแปลในเล่มก็จะใช้ว่าการดำรงอยู่ ถ้าเจอคำว่า being ก็จะแปลว่า ‘การดำรงอยู่’ ไม่ได้แปลว่า ‘ชีวิต’
นี่คือการต่อรองทางภาษาอาจจะพร่องไปเป็น 50-60 เปอร์เซ็นต์ของต้นทาง เราก็พยายามที่จะไปชดเชยข้างในเล่ม ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต คนอื่นบอกว่าเป็นคำสวย ติดหู ติดตา บางคนแค่เห็นชื่อยังไม่ได้อ่านนิยาย ก็รู้สึกว่าอยากหยิบอ่าน
ถ้าพูดถึงชื่อที่ภูมิใจที่สุด คือหนังสือเรื่อง Blessed Unrest ของสำนักพิมพ์ มูลนิธิโกมลคีมทอง ชื่อนี้แปลออกมาว่า ‘ไม่สงบจึงประเสริฐ’ ซึ่งตอนนั้นสำนักพิมพ์เขาก็ติว่าเหมือนเราไปล้อเลียนศาสนาพุทธ แต่เราไม่ได้มีเจตนา เราแปลคำว่า blessed ว่า พระเจ้าอำนวยพร ส่วน unrest คือความไม่สงบ แล้วมันก็ตรงกับเนื้อความในหนังสือ ไม่สงบจึงประเสริฐ เราแปลออกมาแล้วภูมิใจมาก

จากแปลวรรณกรรมมาสู่การแปลหนังสือสังคมการเมือง มันเริ่มจากอะไร
เราเป็นคนที่สนใจเรื่องสังคมการเมืองอยู่แล้ว แต่มามีแรงบันดาลใจอีกครั้งหนึ่งในสงครามอิรัก ปี 2546 ตอนนั้นสื่อเมืองไทยกระแสหลักก็จะเอาข่าวจาก CNN มานำเสนอ ซึ่งข่าวจาก CNN ก็จะพูดถึงแสนยานุภาพของสหรัฐอเมริกา พูดเรื่องอานุภาพทำลายล้าง กระแสข่าวมาทางนี้หมด
พอดีกับเราสนใจสังคมการเมืองอยู่แล้ว และอ่านงานของอีกฝ่ายหนึ่งอยู่แล้ว นั่นคือฝ่ายซ้าย อย่าง เอ็ดเวิร์ด ซาอิด (Edward Said) พอเราอ่านก็มีการไปเถียงกับคนในอินเทอร์เน็ต สมัยนั้นมันมีเว็บบอร์ด เราก็ไปเถียงกับคนอื่น เถียงกันไปเถียงกันมาก็เลยคิดว่าอยากแปลบทความพวกนี้ออกมาเผยแพร่ จากนั้นพอเผยแพร่แล้วก็มีสื่อกระแสหลักบางแห่งเขาก็ดึงไปลงในวารสารรายสัปดาห์ของเขา ซึ่งมันก็เป็นมุมมองที่ตรงข้ามกับกระแสหลัก เราก็เลยคิดว่าจริงๆ การแปลมันสามารถโต้แย้งหรือว่านำทางแนวคิดของคนได้เหมือนกันในหลายๆ ประเด็น จากแต่เดิมที่ชอบแปลงานวรรณกรรมด้วยความสุขส่วนตัว ก็เริ่มเปลี่ยนมาคิดว่างานแปลพวกนี้มันสามารถที่จะชี้นำความคิดคนได้ในระดับหนึ่ง หรืออย่างน้อยก็เป็นการโต้แย้งแนวคิดกระแสหลักได้ ทำให้คนมีทางเลือกในการคิดมากขึ้น ตั้งแต่นั้นมาเราก็เลยมี agenda ในใจว่าจะเลือกงานที่มันสนับสนุนแนวคิดที่เราต้องการเผยแพร่
หนังสือเล่มสำคัญมากอย่าง สามัญสำนึก มีที่มาที่ไปอย่างไร
สำนักพิมพ์ Bookscape เขาสนใจอยากจะแปลซีรีส์เกี่ยวกับหนังสือที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ๆ ของโลก แล้วการปฏิวัติมันก็จะมีปฏิวัติอเมริกาจากที่เคยเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ
Common Sense ของ โธมัส เพน สมัยนั้นเขาเขียนลงจุลสารแล้วคนได้รับอิทธิพลมาก มันก็มีข้อถกเถียงว่า หนึ่ง จะไปประนีประนอมกับอังกฤษ ประนีประนอมกับบริเตนแล้วก็คล้ายๆ ว่าขอเงื่อนไขที่ดีขึ้นดีไหม หรือสอง จะประกาศเอกราชแยกตัวออกมา แต่ถ้าประกาศเอกราชแยกตัวออกมาแล้วจะเอาระบอบกษัตริย์ไหม หรือสาม ที่ โธมัส เพน เสนอว่าให้ประกาศเอกราชออกมาแต่อย่าใช้ระบอบกษัตริย์ปกครอง
สามัญสำนึก เป็นหนังสือที่มีคนอ่านเยอะ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ๆ เพราะมีการวิจารณ์เรื่องระบอบกษัตริย์อยู่พอสมควร สอดรับกันพอดีกับกระแสม็อบปี 2563-2564 เลยมีคนเอาไปโควตเยอะ
โดยเฉพาะประโยคข้อความที่ว่า ‘เราจงทุบทำลายมงกุฎให้แตกสลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยในพิธีปิดงานฉลอง แล้วโปรยเศษซากแจกจ่ายแก่ประชาชนผู้ทรงสิทธิ์ที่แท้จริง’
เคยคิดไหมว่า วันหนึ่งสังคมไทยจะมาถึงจุดที่งานแปลมีอิทธิพลในช่วงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ถูกกดมานาน
แต่ละสังคมก็จะมีทางเดินของตัวเอง แต่คิดว่าการที่สังคมมันได้รับแนวคิดใหม่ๆ ที่แตกต่างออกไปจากกระแสหลัก ได้เปิดความคิดไปสู่ทางเลือกอื่น อันนี้จะทำให้ในสังคมนั้นๆ มีทางเลือกมากขึ้น แล้วมันก็อาจจะเปลี่ยนเส้นทางไปทางอื่นได้ ซึ่งงานแปลมันช่วยตรงนี้ การถ่ายทอดแนวคิดข้ามภาษามันมีอิทธิพลต่อคน ทำให้คนมีกรอบความคิดกว้างขึ้น ให้ความรู้สึกเหมือนเส้นทางเดินมีทางเลือกมากขึ้น
ตอนนี้งานที่อยากแปลเป็นเรื่องเกี่ยวกับอนาคิสต์ (Anarchist) อยากทำให้เป็นเรื่องเป็นราว มันเป็นความสนใจส่วนตัวมานานแล้ว และระยะหลังคนสนใจมากขึ้น คนชอบเข้ามาคุยมาถามเรื่องนี้ คือสังคมมันกระหายต้องการความรู้อื่นๆ ความรู้ใหม่ๆ นักแปลก็ต้องทำงานออกมาเยอะๆ เพื่อช่วยเติมความสงสัยใคร่รู้ของคนในสังคม

สิ่งที่ท้าทายในฐานะนักแปลคืออะไร
หนึ่งคือ แปลไม่ออก สองคือ ไม่รู้ แปลผิดโดยไม่รู้ ก็แก้ได้ด้วยการมีบรรณาธิการที่ดี ซึ่งบรรณาธิการที่ทำงานละเอียด เขาก็จะทักมา บรรณาธิการที่ดีเขาจะอ่านจากภาษาอังกฤษด้วย เขาจะเทียบประโยคต่อประโยคเลย ส่วนเรื่องแปลไม่ออก ทางแก้ก็คือเราจะพยายามค้น ที่เราแปลไม่ออกก็เพราะไม่เข้าใจบางอย่างในประโยคที่เราไม่เข้าใจมันจริงๆ ค้นไปจนสุดท้ายก็คือไปถามเอาเลย ไปถามตาม forum ในโซเชียลมีเดียที่มีการพูดคุยเรื่องนั้น อีกความท้าทายคือ ทำยังไงถึงจะถ่ายทอดความหมายดั้งเดิมออกมาให้มากที่สุด ให้มันตรงกับต้นฉบับมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งมันก็ไม่มีทาง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เราก็หวังว่ามันจะใกล้เคียงที่สุด
ค่านิยมใหม่ๆ ที่เห็นจากการแปลทุกวันนี้ น่าจะเป็นการแปลตัวบทจากภาษาต้นทาง
ต้องย้อนเล่าว่าตอนแปล The Name of the Rose ต้นฉบับเป็นภาษาอิตาเลียนแปลเป็นภาษาอังกฤษ แล้วเราก็แปลจากอังกฤษมา ซึ่งถ้าพูดถึงสมัยนิยมของยุคนี้ถือเป็นสิ่งที่นักอ่านไทยไม่นิยมแล้ว เดี๋ยวนี้คนอ่านมีข้อเรียกร้องว่าอยากให้แปลจากภาษาต้นทาง ซึ่งอันนี้ก็เป็นอีกเรื่องคล้ายๆ เรื่องลิขสิทธิ์ที่โดยส่วนตัวคิดว่าเราก็ไม่วิจารณ์คนอ่าน เพราะนี่คือค่านิยม คือความนิยม
สิ่งที่เราควรจะทำคือ ก็ต้องเป็นไปตามที่คนอ่านต้องการ ยกเว้นบางกรณีอย่างงานของคุนเดอราที่แปลจากอังกฤษ คือบางเล่มเขาอนุญาตเองว่าแปลจากอังกฤษได้ เขาตรวจแล้วมันก็พอโอเค เพราะฉะนั้นบางทีมันก็มีความจำเป็นที่ว่าเดี๋ยวนี้คนอ่านเขาไม่นิยมอ่านการแปลหลายทอด ก็เป็นเรื่องของความนิยม เพราะฉะนั้นอย่างงานที่เราแปลเล่ม ฐานันดรที่สามคืออะไร? (What Is the Third Estate?) ของ เอ็มมานูแอล โจเซฟ ซิแยส (Emmanuel Joseph Sieyès) เขาถึงต้องให้คนรู้ภาษาฝรั่งเศส อย่าง อาจารย์สายัณห์ แดงกลม มาเป็นบรรณาธิการ แล้วไปเทียบกับภาษาฝรั่งเศสอีกทีหนึ่ง
คุณมองสถานการณ์เรื่องลิขสิทธิ์ในงานแปลของวงการหนังสือเมืองไทยอย่างไรบ้าง
มันเป็นเรื่องของยุคสมัย ปัจจุบันนอกจากมีกฎหมายควบคุม เดี๋ยวนี้คนเขาไม่ได้มองลิขสิทธิ์เป็นแค่กฎหมาย แต่เขามองเป็นเรื่องจริยธรรมผสมเข้าไปด้วย ซึ่งอาจจะถูกหรืออาจจะผิดก็ได้ อันที่จริงเราก็ว่ามันถูกครึ่งผิดครึ่ง แต่เนื่องจากมันเป็นสมัยนิยม ถ้าคุณจะทำงานร่วมกับคนหมู่มาก หมายความว่าเพราะงานของเรามันจะเป็นสาธารณะออกไป ก็จำเป็นต้องคำนึงเรื่องสมัยนิยม
ยกตัวอย่างเมื่อก่อน กรณี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เอางานของคนอื่นมาเขียน เอานิยายคนอื่นมาเขียนในงานตัวเอง เช่น กาเหว่าที่บางเพลง ถ้าย้อนไปดูในต่างประเทศ ฝรั่งก็ทำแบบนี้ เชกสเปียร์ ที่เขียนบทละครดังๆ อย่าง แฮมเล็ต ก็ไปเอาโครงเรื่องมาจากคนอื่นจากประเทศอื่นทั้งนั้น เมื่อก่อนมันเป็นเรื่องปกติเป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าคึกฤทธิ์แกมีปัญหาตรงที่แกอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยแล้วก็ยังทำแบบเดิม ก็เลยต้องถูกวิจารณ์เป็นเรื่องปกติ ยิ่งตอนนี้คนสนใจกันมาก ทั้งเรื่อง originality ความเป็นต้นแบบ แล้วก็ต้นฉบับที่แท้จริง เป็นงานที่ไม่ลอก ต้องบอกว่าแนวคิดประเภทนี้สมัยก่อนมันไม่มี อย่าง เชกสเปียร์ นี่บอกเลยว่ามันไม่มีอะไรใหม่ใต้ดวงอาทิตย์นี้ สมัยก่อนเขาไม่ถือสากัน เป็นเรื่องธรรมดามาก เปรียบเหมือนเพลงร้อยเนื้อทำนองเดียว

แล้วในฐานะนักแปลที่อยู่ตรงกลางระหว่างสำนักพิมพ์กับผู้อ่าน คุณคิดเห็นอย่างไร
ลิขสิทธิ์ในแง่หนึ่งมันเป็นกฎหมายที่เกิดมาจากระบบทุนนิยม ที่คนสร้างอะไรขึ้นมาแล้วบอกว่าคุณเป็นเจ้าของสิ่งนั้นไปตลอด เราก็ไม่เห็นด้วย แต่ขณะเดียวกันเนื่องจากโลกมันเปลี่ยนไปเยอะ ถามว่าถ้าจะคุ้มครองต้นแบบบางสิ่งบางอย่างไว้บ้างไหม โอเค มันก็ควรจะมี โดยส่วนตัวเราคิดว่า ระบบกรรมสิทธิ์มันควรจะมีการบาลานซ์ระหว่างกรรมสิทธิ์เอกชน กรรมสิทธิ์สังคม สมบัติสาธารณะให้มันสมดุลมากกว่านี้ เพราะฉะนั้นระบบลิขสิทธิ์รวมไปถึงระบบสิทธิบัตรนี่มันก็สร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจและสังคมโลกพอสมควร เราไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเรื่องจริยธรรม เพียงแต่ว่าเราก็ต้องเข้าใจด้วยว่าค่านิยมมันเปลี่ยน ในเมื่อเราทำงานตรงจุดนี้ เราทำงานตามสำนักพิมพ์ที่เราทำด้วย เขาก็ต้องการทำให้มันถูก
อย่าง สำนักพิมพ์ ฟ้าเดียวกัน เขาก็ขอลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง และจ่ายเงินเยอะด้วย ถ้าเขาไม่ได้ทำตามระบบลิขสิทธิ์เขาก็ต้องถูกวิจารณ์ อย่างเรื่องกรณีลิขสิทธิ์ระหว่างสำนักพิมพ์บทจร กับสำนักพิมพ์ สามัญชน โดยกฎหมายแล้ว สามัญชนก็ยังไม่ได้แพ้คดี ถูกไหม มันก็เป็นเรื่องของกฎหมาย แต่ทีนี้ค่านิยมของคนทั่วไปที่เขามองมาก็มองแบบหนึ่ง สำหรับเราในเมื่อทำงานยุคปัจจุบันที่มันมีกฎหมายครอบอยู่ แล้วก็มีค่านิยมของคนครอบอยู่ บางครั้งเราก็จำเป็นต้องปรับตัวให้เป็นไปตามนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเท่านั้นเอง เพราะจริงๆ แล้ว หนังสือบางเล่มมันก็ถูกแปลมานานแล้วในเมืองไทย เพียงแต่ถ้าจะทำขึ้นใหม่ก็ต้องทำให้มันถูกต้องหรือเปล่า
หนังสือแปลในเมืองไทย คิดว่าประเภทไหนที่เยอะเกินไปหรือน้อยเกินไป
ไม่มีเยอะเกินไป มีเยอะเท่าไรยิ่งดี ถ้าน้อยเกินไปก็มีหลายๆ ด้านพวกงานปรัชญาก็มีคนแปลน้อย แม้แต่วรรณกรรมก็ยังไม่เยอะ เพราะวรรณกรรมของโลกมันก็มีหลากหลายเล่มที่พ้นไปจากความสนใจคนไทย แปลบทกวีก็ไม่ค่อยมี ซึ่งก็ยากอยู่แล้วสำหรับงานบทกวี งานวิชาการก็ขาดเยอะ เอาง่ายๆ อย่างงานเศรษฐศาสตร์คลาสสิกแบบ อดัม สมิธ ก็ยังไม่ได้ถูกแปล
ทราบว่าคุณเคยปฏิเสธไปรับรางวัลสุรินทราชา ทุกวันนี้มองเรื่องรางวัลอย่างไร
ก็ยังปฏิเสธเหมือนเดิม แต่เราก็เข้าใจนะว่ามันก็อาจจะมีคนในวงการหนังสือจำนวนหนึ่งที่รู้สึกว่ารางวัลเป็นสิ่งที่ดี เป็นการให้กำลังใจ เป็นแรงกระตุ้น แต่สำหรับเราคิดว่ารางวัลเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เรารู้สึกว่าการทำงานหนังสือมันไม่ใช่การที่มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มหนึ่งมาบอกว่าผลงานเราดีหรือไม่ดี เราต้องการจากคนที่อ่านงานทั่วไปมากกว่า
ตราบใดที่งานที่เราทำยังพอขายได้ มีคนพูดถึง หรือมีคนด่าก็ได้ ถ้าด่าอย่างมีเหตุผล และยังคงมีสำนักพิมพ์พิมพ์งานใหม่ๆ ของเราไปเรื่อยๆ แบบนี้เราถือว่าคือรางวัลแล้ว ในแง่หนึ่งเราไม่ได้แปลงานที่ขายได้ เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังมีสำนักพิมพ์ยอมเสี่ยงกับเรา เราก็รู้สึกว่านี่คือรางวัลชีวิตแล้ว
นักแปลในเมืองไทยมีการพูดคุยกัน หรือมีสมาคมเหมือนนักเขียนไหม
ต้องยอมรับว่าเป็นข้อเสียของตัวเองคือ บางทีไม่ค่อยได้เจอใคร นักแปลในเมืองไทยที่ทำงานคงเส้นคงวาก็มีเยอะ ที่เข้าๆ ออกๆ ก็เยอะ มันก็เลยไม่ค่อยได้พูดคุยกันเท่าไร ส่วนการอ่านงานของนักแปลด้วยกัน ก็คิดจะทำอยู่ ตั้งเป้ามาตั้งนานแล้วว่าจะมานั่งอ่านงานของ อาจารย์ประมูล อุณหธูป ที่แปลซ้ำเหมือนกัน เรื่อง The Long Goodbye (ลาลับ) ของ เรย์มอนด์ แชนด์เลอร์ เอามาตั้งไว้ที่หัวเตียงนานแล้ว แต่ยังไม่ได้อ่านสักที
สำหรับ ภัควดี วีระภาสพงษ์ การเป็นนักแปลอย่างเดียวในเวลานี้เพียงพอไหม หรือว่ามันต้องขับเคลื่อนสังคมไปด้วยกัน
สำหรับเราก็คงต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะมีอุดมคติของตัวเองว่า อยากเปลี่ยนแปลงโลกโดยไม่ต้องออกจากบ้าน เช่นทำงานแปล คือเปลี่ยนแปลงโลกจากหน้าจอ แต่ในแง่หนึ่งปัญหาสังคมบ้านเมืองทุกวันนี้ มันก็ทำให้ต้องออกจากบ้านมาร่วมในขบวนการต่อสู้บ้าง
