‘เมืองหนังสือพาจู’ พาไปดูวิธีสร้างระบบนิเวศการอ่านของแดนโสม

1,352 views
8 mins
August 24, 2021

          เมืองหนังสือพาจู (Paju Book City) ประเทศเกาหลีใต้ เป็นเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีอาณาเขตราว 875,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ติดกับชายแดนเกาหลีเหนือ ในจังหวัดคยองกี เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของภาครัฐในการฟื้นฟูพื้นที่นอกกรุงโซล จากพื้นที่ทางทหารที่ตึงเครียด สู่การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมของภูมิภาคอย่างได้น่าทึ่ง

          เมืองแห่งนี้ได้รับการออกแบบให้มีสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านอย่างเป็นระบบ เป็นศูนย์รวมอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ของเกาหลีใต้แบบครบวงจร ตั้งแต่สำนักพิมพ์ โรงพิมพ์ บริษัทผลิตกระดาษ ร้านหนังสือ ห้องสมุด แกลเลอรี รวมถึงพิพิธภัณฑ์ กล่าวได้ว่านี่คือจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการผลักดัน soft power ของเกาหลีในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงให้เป็นยอมรับในระดับโลก

          ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา เกาหลีใต้มีนโยบายที่มุ่งเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ จากเดิมที่เน้นอุตสาหกรรมการผลิต มาสู่อุตสาหกรรมด้านวัฒนธรรม โดยขับเคลื่อนผ่านกลไกของรัฐ อาทิ การจัดตั้งหน่วยงาน Korea Culture and Content Agency (KOCCA) เพื่อสนับสนุนทุกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเกาหลี สถาบันการแปลวรรณกรรมแห่งเกาหลีใต้ (Literature Translation Institute of Korea) เพื่อส่งเสริมการแปลวรรณกรรมเกาหลี ผลักดันโครงการแลกเปลี่ยนและสร้างเครือข่ายสำหรับผู้จัดพิมพ์ร่วมกับประเทศต่างๆ เพื่อเสริมสร้างฐานการส่งออกสำหรับวรรณกรรม ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการถ่ายทอด ‘ความเป็นเกาหลี’ (Korea Content) สู่เวทีสากล

ชุมชนสำนักพิมพ์สามัคคี

          แนวคิดของเมืองหนังสือพาจูเกิดขึ้นในปี 1989 จากการริเริ่มของกลุ่มสำนักพิมพ์ที่ต้องการสร้างหมู่บ้านต้นแบบที่ผลิตหนังสือจากหัวใจ มุ่งมั่นให้สมาชิกทุกคนคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเหนือผลประโยชน์ส่วนตน โดยตั้งใจให้เป็นพื้นที่ที่หลอมรวมหนังสือ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และธรรมชาติไว้ด้วยกันอย่างลงตัว ภายใต้หลักคิด ‘การทำหนังสือดีๆ ในพื้นที่ดีๆ’

          การพัฒนาเกิดขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเต็มที่ โดยถือเป็นหนึ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมระดับชาติที่สำคัญของเกาหลีใต้ จุดที่น่าสนใจคือการพัฒนาครั้งนี้ ไม่ใช่การพัฒนาแบบบนลงล่าง แต่เป็นการเติบโตด้วยการสร้างฐานรากให้แข็งแรง ผ่านนโยบายต่างๆ ของภาครัฐ เช่น การที่รัฐขายที่ดินในราคาพิเศษ ออกทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่ของเมือง เสนอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้เช่าพื้นที่ ยกเว้นภาษีห้าปี ฯลฯ โดยมีข้อกำหนดว่า สำนักพิมพ์ที่มาเปิดทำการจะต้องออกหนังสือไม่น้อยกว่า 5 เล่มต่อปี

          กระบวนการก่อสร้างอย่างเป็นทางการ เริ่มขึ้นในปี 2001 แบ่งการพัฒนาเป็น 2 ระยะ ระยะแรกมีอาคารมากกว่า 100 แห่ง ประกอบด้วยสำนักพิมพ์ โรงพิมพ์ ห้องสมุด ร้านหนังสือ ส่วนการพัฒนาในระยะ 2 มีการเพิ่มธุรกิจสื่อแขนงใหม่ๆ ที่ส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ มากขึ้น เช่น ศูนย์ศิลปะและโรงเรียนภาพยนตร์ พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ เพื่อมุ่งสู่การเป็น ‘เมืองมัลติมีเดียแบบบูรณาการ’

          ปัจจุบันเมืองหนังสือพาจู เป็นเมืองที่ครอบคลุมทุกกระบวนการผลิตหนังสืออย่างครบวงจร มีกิจการต่างๆตั้งอยู่กว่า 400 แห่ง

‘เมืองหนังสือพาจู’ พาไปดูวิธีสร้างระบบนิเวศการอ่านของแดนโสม
เมืองหนังสือ หรือเมืองแห่งสำนักพิมพ์พาจู เป็นเมืองที่ถูกโอบล้อมด้วยแม่น้ำและภูเขา
Photo: Pajubookcity Center

ศูนย์กลางวัฒนธรรมและข้อมูลสิ่งพิมพ์แห่งเอเชีย

          นอกจากการเป็นเมืองหนังสือสำหรับเกาหลีใต้ เมืองพาจูมุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางสิ่งพิมพ์แห่งเอเชีย สะท้อนผ่านการตั้งศูนย์วัฒนธรรมและข้อมูลสิ่งพิมพ์แห่งเอเชีย (Asia Publication Culture & Information Center) ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้

          อาคารที่เป็นเสมือนหัวใจของเมืองหนังสือแห่งนี้ มีพื้นที่รวมกว่า 18,600 ตารางเมตร ภายนอกอาคารเลือกใช้วัสดุที่ทนแดดและฝนอย่างแผ่นเหล็กสีแดง คอนกรีต และไม้ เพื่อให้เกิดความงามตามฤดูกาล โดยใช้ลำธารมาเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการออกแบบได้อย่างลงตัว

          ภายในอาคารประกอบด้วยพื้นที่หลายส่วนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น Multipurpose Hall หรือห้องโถงอเนกประสงค์, Event Hall พื้นที่สำหรับจัดแสดงนิทรรศการต่างๆ, ห้องประชุมขนาดใหญ่ซึ่งมีความจุ 250 ที่นั่ง, ที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวและแขกที่มาเยี่ยมเยียน รวมถึงห้องสมุด ‘Forest of Wisdom’ ที่เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของเมืองหนังสือแห่งนี้

          บริเวณภายนอกอาคาร ประกอบด้วยลานกว้างสำหรับทำกิจกรรม สวนน้ำที่สามารถปรับเป็นโรงละครกลางแจ้ง คาเฟ่หนังสือ ร้านหนังสือเก่า รวมถึงร้านอาหารและธนาคาร

          เป้าหมายสำคัญอีกประการของเมืองหนังสือพาจู คือการเป็นพื้นที่วัฒนธรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถือเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของการผสมผสานแนวคิดที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม กับความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมได้อย่างลงตัว

          ภูมิทัศน์ที่สวยงามของเมืองได้รับการจัดการอย่างรอบคอบและเป็นระบบ แม้เจ้าของอาคารแต่ละหลังจะเป็นผู้รับผิดชอบการออกแบบด้วยตนเอง แต่ก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด เช่น อาคารสูงไม่เกินสี่ชั้น ไม่มีกำแพงกั้นระหว่างเขตอาคาร การออกแบบที่ใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อม ทำให้ภาพรวมของเมืองไปในทิศทางเดียวกัน มีความกลมกลืนระหว่างสิ่งปลูกสร้างกับธรรมชาติที่อยู่รายรอบ

ศูนย์วัฒนธรรมและข้อมูลสิ่งพิมพ์แห่งเอเชีย (Asia Publication Culture & Information Center)
Photo: http://www.bookcity.or.kr/

ป่าแห่งปัญญา

          ห้องสมุดป่าแห่งปัญญา (The Forest of Wisdom) มีจุดตั้งต้นจากแนวคิดที่ว่า ‘ต้นไม้กลายเป็นหนังสือ หนังสือกลายเป็นปัญญา’ ตั้งอยู่ที่ชั้น 1 ของศูนย์วัฒนธรรมและข้อมูลสิ่งพิมพ์แห่งเอเชีย เป็นพื้นที่รวบรวมหนังสือกว่า 50,000 เล่ม โดดเด่นด้วยชั้นหนังสือสูง 8 เมตร ความยาวรวมกว่า 3.1 กิโลเมตร ที่สำคัญคือหนังสือทุกเล่มภายในห้องสมุดแห่งนี้ ล้วนเป็นหนังสือจากการบริจาค

          พื้นที่ภายในห้องสมุดแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 เป็นพื้นที่เก็บหนังสือที่นักวิชาการ ปัญญาชน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญและผู้มีชื่อเสียงจากแวดวงต่างๆ ร่วมกันบริจาคเข้ามา แบ่งเป็นหมวดหมู่หลากหลาย ตั้งแต่วรรณคดี ประวัติศาสตร์ ปรัชญา สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ศิลปะ รวมไปถึงหนังสือภาษาต่างประเทศ

‘เมืองหนังสือพาจู’ พาไปดูวิธีสร้างระบบนิเวศการอ่านของแดนโสม
ชั้นหนังสือขนาดใหญ่คือเอกลักษณ์อันเป็นที่จดจำของ ห้องสมุดป่าแห่งปัญญาแห่งนี้ Photo: Pajubookcity Center

          Lee Gahee ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของห้องสมุด อธิบายว่า นักศึกษาสาขามนุษยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโซล ตั้งใจมาที่นี่เพื่อดูหนังสือของอาจารย์เก่าๆ พวกเขาจะตื่นตาตื่นใจกับหนังสือต่างประเทศจำนวนมากที่เป็นเสมือนของสะสมของอาจารย์คนนั้นๆ โดยชั้นหนังสือส่วนนี้จะจัดวางเรียงตามชื่อเรื่อง และเข้าของหนังสือ แยกเป็นสาขาวิชาและหัวข้อต่างๆ เปิดโอกาสให้ผู้เยี่ยมชมได้สัมผัสกับหนังสือที่หายากและหลากหลาย

          สำหรับส่วนที่ 2 และ 3 เป็นพื้นที่สำหรับหนังสือที่ได้รับการบริจาคจากสำนักพิมพ์ต่างๆ โดยแยกหมวดหมู่ตามสำนักพิมพ์แต่ละแห่ง พร้อมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของสำนักพิมพ์นั้นๆ วิธีการจัดวางเช่นนี้ ช่วยให้ผู้อ่านได้มองเห็นลักษณะเฉพาะของหนังสือจากสำนักพิมพ์แต่ละแห่ง ถือเป็นการโฆษณาสำนักพิมพ์ไปในตัว หากผู้เข้าชมต้องการความช่วยเหลือในการหาหนังสือ ทางห้องสมุดก็มีเจ้าหน้าที่ที่เป็น Book Advisors คอยให้คำปรึกษาอยู่ตลอดเวลา

          นอกจากส่วนที่จัดแสดงหนังสือของสำนักพิมพ์แล้ว พื้นที่ส่วนที่ 3 ยังเป็นส่วนโถงต้อนรับของโรงแรม Jijihyang ซึ่งตั้งอยู่ในอาคารเดียวกันด้วย

          นิยามของสถานที่แห่งนี้ ไม่ใช่ทั้งร้านหนังสือหรือห้องสมุด เพราะไม่มีทั้งหนังสือที่ขายหรือให้ยืม แต่สามารถนำไปนั่งอ่านในพื้นที่ได้ สถานที่แห่งนี้จึงเปรียบได้กับห้องอ่านหนังสือขนาดใหญ่ ดังที่ Lee Hojin ผู้จัดการฝ่ายวางแผนและประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า “ที่แห่งนี้คือพื้นที่เพื่อส่งเสริมศักยภาพ คุณอาจจะมีหนังสือมากมายบนชั้นหนังสือที่บ้าน แต่การออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตนเองและสำรวจชั้นหนังสือของคนอื่นนั้น ช่วยเพิ่มทั้งความสามารถและประสบการณ์ในการอ่านของคุณ ป่าแห่งปัญญาคือสถานที่ที่คุณจะได้ผัสกับประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร”

พื้นที่ส่วนที่ 3 ของห้องสมุดป่าแห่งปัญญา ซึ่งทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของโรงแรม Jijihyang ซึ่งผู้เข้าพักสามารถมาใช้บริการนั่งอ่านหนังสือได้ตลอด 24 ชั่วโมง
พื้นที่ส่วนที่ 3 ของห้องสมุดป่าแห่งปัญญา ซึ่งทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของโรงแรม Jijihyang ซึ่งผู้เข้าพักสามารถมาใช้บริการนั่งอ่านหนังสือได้ตลอด 24 ชั่วโมง
Photo: http://www.bookcity.or.kr/

พื้นที่ส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน

          ในเมืองหนังสือพาจู ยังมีสถาบันส่งเสริมความรู้ด้านการพิมพ์ เช่น สถาบันการออกแบบสิ่งพิมพ์ (Paju Typography Institute: PaTI) แกลลอรีกระดาษ ศูนย์การเรียนรู้การพิมพ์ รวมถึง Paju Editor School ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจศึกษาด้านนี้เฉพาะ

          ไม่เพียงเท่านั้น ภายในเมืองยังมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านมากมายตลอดทั้งปี ทั้งที่จัดขึ้นเองโดยสำนักพิมพ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบรรยายเชิงวิชาการ กิจกรรมพบปะนักเขียน ค่ายนักอ่านเยาวชน รวมถึงงานเทศกาลส่งเสริมการอ่านประจำปี เช่น Children’s Book Fest ที่นำเสนอผลงานของตัวแทนนักเขียนและนักวาดภาพประกอบวรรณกรรมสำหรับเยาวชนของประเทศ, งาน Paju Booksori ที่จัดขึ้นด้วยความร่วมมือจากผู้จัดพิมพ์ และองค์กรทางวัฒนธรรมต่างๆ กว่า 100 ราย รวมถึงงานสัมมนา Asian Publishers Fellowship Program in Seoul เพื่อสร้างเครือข่ายสำนักพิมพ์ในระดับนานาชาติ

กิจกรรมเวิร์กชอป (Publishing City Type Workshop) เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์การพิมพ์ของเกาหลีใต้ ที่มา: pajubookcity
กิจกรรมเวิร์กชอป (Publishing City Type Workshop) เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์การพิมพ์ของเกาหลีใต้
Photo: Pajubookcity Center

          อีกจุดที่น่าสนใจคือ ภายในสำนักพิมพ์หลายแห่ง นอกจากจะมีพื้นที่ที่เป็นสำนักงานแล้ว ยังมีการแบ่งพื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการหรือแกลลอรีของตนเอง บางแห่งมีร้านหนังสือหรือคาเฟ่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวในหนังสือเล่มโปรด

          เมื่อพิจารณาในภาพรวม จะเห็นได้ว่า เมืองหนังสือพาจูไม่ใช่เพียงสถานที่สำหรับการผลิตหนังสือเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ที่ผู้มาเยือนทุกคนจะได้ซึมซับวัฒนธรรมแห่งการอ่าน จากกิจกรรมและบรรยากาศที่ผ่านการคิดและออกแบบมาอย่างดี ขณะเดียวกันก็มีส่วนในการส่งเสริมวัฒนธรรมเกาหลีใต้ได้อย่างแยบยล

          จากจุดเริ่มต้นของกลุ่มผู้ผลิตหนังสือที่มีเป้าหมายเล็กๆ สู่โปรเจกต์ใหญ่ที่มีการวางแผนระยะยาว และมีภาครัฐคอยสนับสนุน ส่งผลให้วัฒนธรรมการอ่านกลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างทั้งคุณค่าและมูลค่ามากมายให้ประเทศเกาหลีใต้

          ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากกลไกสำคัญอย่างภาครัฐขาดวิสัยทัศน์ หรือมองไม่เห็นคุณค่าของศิลปะวัฒนธรรมตั้งแต่ต้น


ที่มา

BLARB-BLOG. Paju Book City, the Korean Town All About Reading (and Publishing, Printing, Browsing, Buying…) [Online].

Hankyoren. Paju set to become film town, in addition to being book hub. [Online]

Khing Amatyakul. Paju Book City : the house of Korean publishers and avid readers. [Online]

Korea Joong Ang Daily. Literature comes alive in Paju Book City. [Online]

Korean Literature Now. Forest of Wisdom. [Online]

Korea.net. Forest of Wisdom builds new reading paradigm. [Online]

Paju Book City. [Online]

Places journal, Shannon Mattern. Paju Bookcity: The Next Chapter. [Online]

The Architectural Review, Dirk Somers. Brought to book: the Paju Book City story. [Online]

A day, ปวรพล รุ่งรจนา. Paju Book City : เมืองหนังสือ ขุมทรัพย์ปัญญาแห่งเกาหลีใต้. [Online]

Amarinbooks podcast, Line, Relation. Paju Book City เมืองหนังสือของเกาหลีใต้. [Online]

ปิติ ศรีแสงนาม. บทเรียนจากความสำเร็จของกระแสนิยมวัฒนธรรมเกาหลี. [Online]

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก