ห้องสมุดกลางแจ้ง (Outdoor Library) เกิดขึ้นด้วยหลากหลายวัตถุประสงค์ เช่น เปิดโอกาสให้นักอ่านได้สัมผัสอากาศ แสงแดด ท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงามซึ่งส่งผลดีต่อจิตใจและสุขภาพร่างกาย ขยายขอบเขตการอ่านออกมาจากตัวอาคารไปสู่การเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีชีวิตชีวา พาหนังสือออกไปหาผู้อ่านอย่างเป็นมิตรเพื่อกระตุ้นความสนใจและสร้างปฏิสัมพันธ์ และช่วยให้คนในชุมชนและพื้นที่ขาดแคลนเข้าถึงทรัพยากรการเรียนรู้
‘ห้องสมุดกลางแจ้ง’ มีรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่น นิทรรศการชั่วคราวเพื่อสร้างความตระหนักให้ผู้คนเห็นคุณค่าการอ่าน ห้องสมุดเคลื่อนที่ซึ่งเคลื่อนย้ายไปตั้งตามที่ต่างๆ ทั้งทางเท้า สถานที่ท่องเที่ยว หรือพื้นที่ประสบภัย บางครั้งอาจเป็นงานเทศกาลอ่านกลางแจ้งในสวนหรือลานสาธารณะ รวมถึงกิจกรรมประจำปีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น
การให้บริการห้องสมุดกลางแจ้งจำเป็นต้องเลือกช่วงที่สภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวย เพราะทั้งฝน แดด และความชื้น ล้วนเป็นศัตรูตัวฉกาจของหนังสือ แม้การบริหารจัดการจะยากกว่าห้องสมุดในอาคาร แต่เมื่อมองถึงผลดีและกระแสตอบรับด้านบวกจากนักอ่านก็นับว่าคุ้มค่า
บทความชิ้นนี้นำตัวอย่างห้องสมุดกลางแจ้งมาบอกเล่าให้ฟัง ว่าพื้นที่อ่านหนังสือนอกอาคารเหล่านี้ทำให้การอ่านหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันได้อย่างไร เช่น ศาลาหนอนหนังสือ ประเทศอินเดีย ห้องสมุดป๊อบอัป จากสหรัฐอเมริกา ห้องสมุดในสวน ประเทศตุรกี ห้องสมุดหน้าศาลาว่าการกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ และห้องสมุดแห่งฤดูใบไม้ร่วง ประเทศญี่ปุ่น
ศาลาหนอนหนังสือ, เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย
พื้นที่นั่งอ่านหนังสือและชั้นวางรูปทรงแปลกตา คล้ายตัวหนอนคดเคี้ยวยาว 35 เมตร ตั้งอยู่ในสวนของพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในเมืองมุมไบ ที่นี่สร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งกำหนดให้ทุกคนสามารถอ่านออกเขียนได้ภายในปี 2030
สตูดิโอนู้ดส์ (Nudes) ผู้ออกแบบมองว่า ห้องสมุดหรือพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่มักมีบรรยากาศที่เป็นทางการ เงียบขรึม และเข้าถึงได้ยาก จึงต้องการให้พื้นที่นี้เต็มไปด้วยความสนุกสนาน เป็นมิตร และเปิดกว้างสำหรับทุกคน ศาลามีรูปทรงคล้ายอัฒจันทร์ เป็นทั้งชั้นบรรจุหนังสือประมาณ 12,000 เล่ม และเป็นที่นั่งอ่าน นั่งเล่น พูดคุย เล่านิทาน โครงสร้างทำจากไม้ 3,600 ชิ้น ซึ่งติดตั้งและถอดประกอบได้ภายใน 1 สัปดาห์ สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายไปสร้างใหม่ได้ง่าย
ภายหลังการจัดแสดงศาลาแห่งนี้ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม ปี 2019 หนังสือทั้งหมดถูกบริจาคไปยังองค์กรพัฒนาเด็กและเยาวชนที่เข้าไม่ถึงสื่อการอ่าน และทางผู้ออกแบบมีแผนการว่าเมื่อย้ายศาลาหนอนหนังสือไปตั้งที่อื่น โครงการนี้ก็จะจัดหาหนังสือชุดใหม่มาให้บริการ
ห้องสมุดป๊อบอัป, เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
ห้องสมุดประชาชนบรูคลิน ร่วมมือกับห้องสมุดประชาชนนิวยอร์ก ห้องสมุดประชาชนควีนส์แลนด์ และ Street Lab องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ให้บริการห้องอ่านหนังสือกลางแจ้งตามพื้นที่สาธารณะต่างๆ สร้าง Uni Tower ชั้นหนังสือและชุดที่นั่งแบบป๊อบอัปซึ่งเคลื่อนย้ายได้ง่าย เพื่อติดตั้งไว้ในเทศกาลหนังสือประจำปี 2013
หลังจากนั้น มีการนำห้องสมุดขนาดจิ๋วไปให้บริการตามชุมชนที่ไม่สามารถเข้าถึงหนังสือ เช่น พื้นที่ประสบภัยพิบัติจากพายุเฮอริเคนแซนดี้ เกาะกัฟเวอร์เนอร์ส (Governors) กลางอ่าวนิวยอร์กซึ่งเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจในช่วงฤดูร้อนของชาวเมือง รวมทั้ง ติดตั้งตามศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน และสำนักงานจัดหางาน
ห้องสมุดในสวน, เมืองบูร์ซา ประเทศตุรกี
ปี 2020 เทศบาลเมืองบูร์ซาเปิดตัวห้องสมุดกลางแจ้งในสวนแมริโนส (Merinos Park) บนพื้นที่กว่า 8 ไร่ ให้บริการเก้าอี้เป่าลม ชิงช้า และที่นั่งในรูปแบบต่างๆ นักอ่านสามารถเลือกหนังสือกว่า 4,000 เล่ม ใช้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายฟรี พร้อมอีบุ๊กกว่า 22,000 เล่ม นอกจากนี้ ห้องสมุดกลางแจ้งยังมีมุมกิจกรรมสำหรับเด็ก เช่น ระบายสี และเวิร์กชอปต่างๆ
นายกเทศมนตรีกล่าวว่า การอ่านหนังสือเป็นสิ่งสำคัญมากในการสร้างอนาคตที่ดี โครงการห้องสมุดในสวนมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้การอ่านเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของชาวเมือง ไม่เว้นแม้แต่ช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด ด้านผู้มาใช้บริการบอกว่า ห้องสมุดแห่งนี้สวยงาม เงียบสงบ ผ่อนคลาย และทำให้การอ่านเป็นเรื่องสนุก
ห้องสมุดหน้าศาลาว่าการกรุงโซล, กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้
ระหว่างเดือนเมษายน-ตุลาคม ในช่วงวันศุกร์ถึงวันอาทิตย์ ลานกว้างหน้าศาลาว่าการกรุงโซลถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นห้องสมุดกลางแจ้งขนาดใหญ่ ในชื่อว่า ‘Read at Seoul Plaza’ เพื่อเฉลิมฉลองวันหนังสือโลก กิจกรรมนี้จัดขึ้นในปี 2022 หลังการผ่อนคลายมาตรการจากสถานการณ์โควิดในเกาหลีใต้ ตัวแทนของกรุงโซลแถลงว่า “งานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนมีพื้นที่กลางแจ้งสำหรับพักผ่อนและเข้าถึงหนังสือได้มากขึ้น และเราจะปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านโครงการทางวัฒนธรรมต่างๆ ต่อไป”
ห้องสมุดกลางแจ้งแห่งนี้มีหนังสือให้บริการเกือบ 5,000 เล่ม ตั้งแต่หนังสือภาพสำหรับเด็ก นวนิยาย ไปจนถึงบทความต่างๆ มีมุมอิเล็กทรอนิกส์แยกเป็นสัดส่วนซึ่งผู้เข้าร่วมงานสามารถยืมแท็บเล็ตไปอ่านอีบุ๊กได้ด้วย ทางกรุงโซลได้จัดเตรียมบีนแบ็กสีสันสดใส เสื่อ และร่มสนามกันแดดไว้ให้บริการ นอกจากนี้ภายในงานยังมีโซนสำหรับเด็กโดยเฉพาะ บริเวณนั้นมีบ้านเป่าลม กระดานวาดภาพ และของเล่นไว้ให้เด็กๆ ยืมใช้ในงานได้
โครงการดังกล่าวได้รับเสียงตอบรับที่ดี หนึ่งในคุณครูซึ่งพานักเรียนมาทัศนศึกษาบอกว่า เธอพาเด็กๆ มาที่นี่เพราะนอกจากพวกเขาจะได้ความรู้จากหนังสือแล้วยังได้เคลื่อนไหวร่างกายด้วย ส่วนกลุ่มพนักงานบริษัทบอกว่า พวกเขาชอบมาที่นี่เพื่อผ่อนคลายหลังมื้ออาหารกลางวัน
ห้องสมุดแห่งฤดูใบไม้ร่วง, เมืองคารุอิซาวะ ประเทศญี่ปุ่น
ในฤดูใบไม้ร่วงของปี สนามหญ้ากลางรีสอร์ทคารุอิซาวะ โฮชิโนะ (Karuizawa Hoshino) ถูกปรับเปลี่ยนเป็นห้องสมุดกลางแจ้ง ระหว่างวันหยุดสุดสัปดาห์มีการเปิดร้านจำหน่ายหนังสือ รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน เช่น การเล่าเรื่องจากหนังสือภาพ ชั้นหนังสือของห้องสมุดกลางแจ้งผลิตจากวัสดุและชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์เหลือใช้ บรรจุหนังสือไว้ประมาณ 400 เล่ม ชั้นนี้ทำหน้าที่เป็นม้านั่งไปด้วยในตัว ภายในบริเวณเดียวกันยังมีคาเฟ่ที่พร้อมเสิร์ฟเครื่องดื่มและขนมสูตรพิเศษประจำฤดูกาล พร้อมทั้งมีเปลญวน ม้านั่ง และเสื่อปิกนิก ไว้คอยให้บริการ
หนังสือทั้งหมดที่ห้องสมุดแห่งนี้มาจากความร่วมมือกับ Value Books ร้านหนังสือมือสองรายใหญ่ในญี่ปุ่น ซึ่งมุ่งมั่นในการเชื่อมร้อยผู้คนผ่านหนังสือและการอ่าน เสน่ห์ของสนามหญ้าสีเขียวท่ามกลางต้นไม้เปลี่ยนสีและใบเมเปิลสีแดงช่วยสร้างบรรยากาศการอ่านแสนอบอุ่น ที่นี่จึงเป็นหนึ่งในหมุดหมายที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วสารทิศให้มาเยี่ยมเยือน
ห้องสมุดกลางแจ้งดังกล่าวจัดขึ้นครั้งล่าสุดในปี 2020 ทั้งนี้ รีสอร์ทจะพิจารณาความเหมาะสมถึงการจัดกิจกรรมดังกล่าวในแต่ละปี
ที่มา
บทความ “Koyo Toshokan : อีเว้นท์หนังสือต้อนรับฤดูใบไม้ร่วงในห้องสมุดที่มีผืนฟ้าเป็นเพดาน ณ เมืองคารุอิซาวะ (สิ้นสุดแล้ว)” จาก kiji.life (Online)
บทความ “【軽井沢星野エリア】秋空の下で読書と共に紅葉を満喫する「紅葉図書館」が開館 開催|期間:2019年9月9日〜11月10日” จาก hoshinoresorts.com (Online)
บทความ “【軽井沢星野エリア】紅葉と本とカフェ時間を楽しむイベント「紅葉図書館」開催|期間:2020年10月1日〜11月3日” จาก iflalbes.wordpress.com (Online)
บทความ “Turning over new leaves: Can outdoor spaces help libraries grow?” จาก cilip.org.uk (Online)
บทความ “BookWorm Pavilion in Mumbai by Nudes is a Prefabricated, Modular, Outdoor Library” จาก livinspaces.net (Online)
บทความ “NUDES fosters love for reading with the sustainable Bookworm pavilion in Mumbai” จาก stirworld.com (Online)
บทความ “Good Things Are Popping Up: Brooklyn Public Library’s Mobile Outreach Services” จาก ideas.demco.com (Online)
บทความ “THE UNI PROJECT” จาก pps.org (Online)
บทความ “Reading a walk in the park at outdoor library in Turkey’s Bursa” จาก dailysabah.com (Online)
บทความ “Bursa’da kitap kurtlarını açık havada buluşturan kütüphane” จาก bursadabugun.com (Online)
บทความ “Have a ‘booknic’ in the middle of Seoul” จาก koreaherald.com (Online)
บทความ “Read at Seoul Plaza” จาก pressenza.com (Online)
เฟซบุ๊ก Street Lab (Online)