ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์นิยมสร้างพื้นที่ให้พนักงานเข้ามาระดมสมองแลกเปลี่ยนความคิด นำไปสู่การค้นพบสินค้าหรือรูปแบบการให้บริการใหม่ๆ การก่อตั้ง Innovation Lab กลายมาเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานในหลายๆ องค์กร โดยเฉพาะบริษัทเอกชน เช่น Google หรือ Apple เพราะนั่นคือวิธีการระดมไอเดียที่จะสกัดความคิดออกมาจากสมาชิกในทีม ช่วยกันขัดเกลา ทดลองจนมองเห็นโอกาสและข้อจำกัด เพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตที่ตอบโจทย์การนำไปใช้งาน หรือเป็น Solution ที่ตอบสนอง Pain Point ของผู้ใช้งานให้มากที่สุด
ความสำเร็จของ Innovation Lab ในองค์กรใหญ่น้อยเหล่านั้นสร้างแรงกระเพื่อมขึ้นมาในกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรม หรือที่เรียกรวมกันว่า GLAM (Galleries, Libraries, Archives, Museums) ซึ่งกำลังเผชิญกับความท้าทายในยุคเปลี่ยนผ่าน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านด้านพฤติกรรมมนุษย์ หรือเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี ว่าองค์กรฟากฝั่งศิลปะเหล่านี้ก็ควรจะมีการก่อตั้ง ‘GLAM Lab’ เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์ ต่อยอด และประยุกต์ทรัพยากรทางวัฒนธรรมจำนวนมากที่อยู่ในคลัง ฐานข้อมูล หรือ พิพิธภัณฑ์
นั่นจึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง ‘International GLAM Community’ และการออกหนังสือ ‘Open a GLAM Lab’ เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานสายวัฒนธรรมลองพิจารณาดูว่า จะนำแนวคิดนี้ไปใช้สร้าง Sandbox สำหรับทดลองสร้างโปรเจกต์ หรือกิจกรรมที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานเข้าถึงข้อมูลดิจิทัลของมรดกวัฒนธรรมที่มีอยู่ได้อย่างไรบ้าง และหวังว่าแล็บเหล่านั้นจะนำพาไปสู่การสร้างนวัตกรรมในวงการมรดกทางวัฒนธรรมต่อไป
ปัจจุบันนี้มี GLAM Lab เกิดขึ้นในหลากหลายประเทศทั่วโลก แต่ GLAM Lab ที่ประสบความสำเร็จนั้นควรเป็นอย่างไร ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านได้มาแบ่งปันประสบการณ์ในหนังสือคู่มือเล่มนี้เอาไว้แล้ว
จุดเริ่มต้นของชุมชน International GLAM Labs
ปลายปี 2018 ในงาน Global Library Labs งานประชุมระดับโลกที่จัดขึ้น ณ British Library ใจกลางกรุงลอนดอน แนวคิดที่จะก่อตั้งชุมชน GLAM Lab ถูกจุดประกายขึ้นมาท่ามกลางความสนใจของเหล่าบรรณารักษ์ และภัณฑารักษ์จำนวนกว่า 70 คน จาก 43 องค์กรใน 20 ประเทศทั่วโลก ในช่วงนั้นองค์กรห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ และคลังเอกสารหลายแห่งพบกับความท้าทายของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล หลายแห่งพยายามคิดค้นโครงการใหม่ๆ เพื่อปรับรูปแบบการให้บริการให้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนไป บางองค์กรได้เริ่มก่อตั้ง ‘Innovation Lab’ เพื่อให้ผู้ใช้งานได้มาทดลอง ลงมือทำ และสร้างสรรค์นวัตกรรมจากทรัพยากรทางวัฒนธรรมในคอลเลกชันไปแล้ว บางองค์กรกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อก่อตั้งแล็บขึ้นมาบ้าง และบางแห่งยังไม่มีข้อมูล และยังต้องการเตรียมความพร้อมเพื่อก่อตั้งแล็บของตัวเองในอนาคต
หลังจากช่วงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เต็มไปด้วยสาระ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมก็กล่าวถึงการก่อตั้งแล็บอย่างจริงจัง ในที่สุดที่ประชุมจึงตกผลึกได้ว่า ควรจะมีการรวบรวมแนวคิดและองค์ความรู้ในการก่อตั้ง ‘Innovation Lab’ ขององค์กรด้านศิลปะและวัฒนธรรม แล้วถ่ายทอดออกมาในลักษณะของหนังสือ เพื่อให้หน่วยงานที่คิดก่อตั้งแล็บของตนเอง ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้ที่เคยริเริ่มบุกเบิกเส้นทางมาก่อน และเพื่อเป็นแรงกระเพื่อมให้องค์กรศิลปวัฒนธรรมหันมาให้ความสนใจกับการสร้างนวัตกรรมการบริการ ในช่วงปลายปี 2019 จึงมีการประกาศเปิดรับผู้เชี่ยวชาญที่จะมาร่วมกันเขียนหนังสือ Open a GLAM Lab ขึ้น ในลักษณะของ ‘Book Sprint’
หนังสือ ‘Open a GLAM Lab’ เป็นหนังสือที่เกิดขึ้นจากการระดมไอเดียอย่างเร่งด่วนของคนในทีมที่ได้รับการคัดเลือกให้มาแบ่งปันประสบการณ์และความคิด ร่วมกันขัดเกลา รวบรวม เรียบเรียง และกลั่นออกมาเป็นคู่มือภายใน 5 วัน เรียกได้ว่ากระบวนการเกิดขึ้นของหนังสือเล่มนี้ ก็มีหลักการที่คล้ายคลึงกับการสร้าง ‘นวัตกรรม’ ใน Innovation Lab หรือ Design Sprint นั่นคือใช้ข้อจำกัดด้านเวลามาเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้แนวคิดถูกแชร์ออกมาอย่างรวดเร็วจากผู้เชี่ยวชาญที่มาร่วมระดมสมอง
ทีมงานที่ร่วมเขียนคู่มือในครั้งนี้ มาจากหลากหลายองค์กรทั่วโลก ทั้งองค์กรห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ นวัตกรรม และองค์กรสายมนุษยศาสตร์ดิจิทัล (Digital Humanities) เพื่อมาร่วมกันร่างคู่มือที่วางแนวทาง และขั้นตอนสำหรับการก่อตั้ง ‘GLAM Innovation Lab’ ที่ช่วยให้ผู้อ่านมองเห็นภาพรวมได้ทันที
ทำไมถึงต้องมี GLAM Lab
ในยุคปัจจุบัน หอศิลป์ ห้องสมุด คลังข้อมูล และพิพิธภัณฑ์ต่างพยายามแปลงข้อมูลหรือทรัพยากรแบบแอนะล็อกที่ตนเองมีอยู่ในครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย หนังสือ หรือวัตถุ ให้อยู่ในรูปแบบที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ในขณะที่ผลงานวิจัย งานเขียน ภาพถ่าย หรือข้อมูลแบบดิจิทัลใหม่ๆ ก็เพิ่มเข้ามาในคอลเลกชันอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นแต่ละองค์กรจึงมีข้อมูลทางวัฒนธรรมแบบดิจิทัลจำนวนมหาศาลอยู่ในความดูแล ทั้งส่วนที่ถูกแปลงมาจากคอลเลกชันแบบจับต้องได้ และส่วนที่ได้มาใหม่ในทุกๆ วัน
GLAM Lab เกิดขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนถ่ายข้อมูลแบบแอนะล็อกให้เป็นดิจิทัล แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ต่อในหลากหลายรูปแบบ ผ่านการระดมสมองของศิลปิน ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ชุมชน หรือกลุ่มใดก็ตามที่ต้องการใช้ประโยชน์จากข้อมูลชุดนั้น ดังนั้น GLAM Lab คือพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างผู้เชี่ยวชาญทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และโบราณคดี เทคโนโลยี นวัตกรรม และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้ทดลองโปรเจกต์ใหม่ๆ ค้นหาวิธีนำเอาข้อมูลทางวัฒนธรรมเหล่านี้ไปใช้ในกิจกรรมที่เกิดประโยชน์กับสาธารณะ
ผู้เชี่ยวชาญได้กล่าวไว้ในหนังสือ ‘Open a GLAM Lab’ ว่าสิ่งสำคัญแรกสุดในการก่อตั้ง GLAM Lab คือ เหตุผลในการก่อตั้ง การก่อตั้งจะนำพาไปสู่อะไร และสร้างประโยชน์อะไรให้กับสังคมบ้าง คำถามนี้ควรตอบให้ได้ก่อนที่จะก่อตั้งแล็บขึ้นมา
GLAM Lab ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้มีวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งที่หลากหลาย แล็บที่ก่อตั้งขึ้นภายใต้หน่วยงานรัฐ เช่น หอสมุดแห่งชาติ หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อาจเกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมการให้บริการกับหน่วยงานที่เป็นพาร์ทเนอร์ กลุ่มนักวิจัย หรือนักวิชาการ หรือเพื่อดำเนินภารกิจตามนโยบายของภาครัฐ ในขณะที่ GLAM Lab ที่ก่อตั้งภายใต้มหาวิทยาลัยอาจจะมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการศึกษา การเรียนรู้ การพัฒนาต่อยอดงานวิจัย วิทยานิพนธ์ หรือโครงการที่เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน ในขณะที่แล็บขององค์กรอื่นๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ อาจจะมีเป้าหมายที่แตกต่างกันไป เช่น เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงมรดกวัฒนธรรมให้กับสาธารณะ หรือการส่งเสริมให้ทุกเพศ ทุกวัยเข้าถึงมรดกทางวัฒนธรรมอย่างเท่าเทียมกัน
ไม่ว่าจะก่อตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ใด สิ่งที่ผู้ก่อตั้ง GLAM Lab ต้องการจะเห็นคือ การเข้ามาใช้พื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด ทดลองต้นแบบ แล้วต่อยอดโครงการหรือกิจกรรมให้หลากหลายมากกว่าการปล่อยให้ข้อมูลทางศิลปวัฒนธรรมเหล่านั้นนอนนิ่งอยู่ในคลัง
องค์ประกอบสำคัญของ GLAM Lab
องค์กรใดก่อตั้ง GLAM Lab องค์กรนั้นๆ ย่อมมีค่านิยมที่จะเปิดรับแนวคิดนวัตกรรม นั่นคือเชื่อว่าการคิดค้นสินค้าหรือบริการต้องตอบโจทย์ผู้ใช้งาน หรือมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และกระบวนการบ่มเพาะที่ถูกต้องจะทำให้เกิดระบบนิเวศที่เอื้อต่อการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ให้ประโยชน์อย่างแท้จริง
นอกจากการเข้าใจ ‘เป้าหมาย’ ในการก่อตั้งแล็บอย่างชัดเจนแล้ว หนังสือ Open a GLAM Lab ยังได้กล่าวถึงองค์ประกอบสำคัญของการก่อตั้งแล็บที่หากขาดไปแล้ว GLAM Lab อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร องค์ประกอบเหล่านั้นได้แก่
- การสร้างวัฒนธรรมของความเป็นแล็บ กล่าวคือ ส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และความร่วมมือที่มาจากหลากหลายกลุ่ม ดำเนินการอย่างฉับไว คงลักษณะของการเป็น Innovation Lab คือไม่บ่มเพาะความคิดนานเกินไป เน้นการนำเอาไอเดียมาต่อยอด ทดลองทำจริงเพื่อค้นหาความเป็นไปได้
- มีความเป็นทีม และคัดเลือกทีมงานที่มีความถนัดที่หลากหลาย มีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของโปรเจกต์
- เข้าใจความต้องการของหน่วยงานพันธมิตร และผู้ใช้งาน (User) ตามหลักการสร้างสรรค์นวัตกรรม
- การยอมรับว่า ‘การเปลี่ยนแปลง’ (Transformation) คือหัวใจสำคัญของแล็บไม่ว่าจะวัฒนธรรมในการทำงาน หรือรูปแบบการให้บริการ
- มีกองทุน หรือการสนับสนุนในรูปแบบอื่นเพื่อให้โปรเจกต์ต่างๆ ที่เป็นต้นแบบ (Prototype) เกิดขึ้นจริง
กล่าวได้โดยสรุปคือ GLAM Lab เป็นเหมือนพื้นที่ที่ผู้ใช้งานทรัพยากรทางวัฒนธรรมสามารถมานำเสนอไอเดียเพื่อขอคำปรึกษา ถกปะทะความคิดกับสมาชิกในแล็บ ช่วยกันขัดเกลาแนวคิดให้แหลมคมขึ้น และเป็นการสร้างการทำงานแบบเป็นทีมทั้งภายใน และระหว่างองค์กร
ตัวอย่าง GLAM Lab ในองค์กรต่างๆ
ในปัจจุบันนี้ มีหน่วยงานหลายแห่งได้ก่อตั้ง GLAM Lab เพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป หลายแห่งเป็น แล็บภายในมหาวิทยาลัยที่มีทรัพยากรครบทั้งห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ และคลังเก็บเอกสารสำคัญ บางแห่งเป็นแล็บของหน่วยงานภาครัฐที่มีเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจนตามนโยบาย
The GLAMx Living Histories Digitisation Lab ที่มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ประเทศออสเตรเลีย
GLAM Lab ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ อยู่ภายใต้การดูแลของห้องสมุดประจำมหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์และศิลปศาสตร์ ทีมนวัตกรรมจากแผนกไอที The Wollotuka Institute และ Hunter Living Histories Initiative เรียกได้ว่าเป็นความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วนทั้งภาคการศึกษา และภาคประชาชน ผู้มาใช้บริการที่นี่สามารถใช้บริการเครื่องมือในการสแกนวัตถุทั้งแบบ 2D และ 3D พร้อม
- แปลงข้อมูลในรูปแบบแอนะล็อกให้เป็นแบบดิจิทัล
- ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี 3D Scanning และ VR
- เป็นพื้นที่พบปะระหว่างองค์กร GLAM ในพื้นที่ รวมถึงองค์การด้านข้อมูลและไอที เพื่อร่วมมือกันคิดค้นโครงการที่เกี่ยวข้องกับมรดกวัฒนธรรม
- ศึกษาเทคโนโลยีใหม่ เพื่อพัฒนารูปแบบการให้บริการข้อมูลข่าวสารทางวัฒนธรรม ผ่านทางแพลตฟอร์ม Living Histories @UON
GLAM Lab แห่งนี้ให้ความสำคัญกับมรดกวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองของออสเตรเลียมาก นอกจากพาร์ทเนอร์จะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านั้นแล้ว ที่นี่ยังรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโบราณวัตถุสำหรับการอนุรักษ์ ภาพดิจิทัล 3D ของโบราณวัตถุชนเผ่าพื้นเมือง และยังมีภาพเขียนสีบนผนังหิน (Rock Art) ของชนเผ่าพื้นเมืองที่จัดว่าเป็นคอลเลกชันพิเศษของคลังข้อมูลมหาวิทยาลัย (University Archive)
The GLAM Lab ที่ มหาวิทยาลัยฮ่องกง (Hong Kong University: HKU)
GLAM Lab ที่ HKU นั้น เกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ พัฒนาทรัพยากรทางวัฒนธรรมสำหรับเป็นสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ในรูปแบบ VTL (Virtual Teaching and Learning) และส่งเสริมการใช้ข้อมูลทางวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ โดยแหล่งที่มาของทรัพยากรทางวัฒนธรรมคือห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ และคลังเอกสารของมหาวิทยาลัยเอง GLAM Lab ของ HKU จึงมีทรัพยากรและข้อมูลครบทั้ง 4 ประเภท ภารกิจหลักของที่นี่คือ เป็นสถานที่เพื่อให้อาจารย์ นักเรียน รวมถึงบุคคลภายนอกที่สนใจ โดยไม่จำกัดสาขาวิชาเข้ามาใช้บริการและพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องกับ VTL เพื่อเป็นต้นแบบการเรียนรู้ให้กับโครงการอื่นๆ
หนึ่งในตัวอย่างความร่วมมือระหว่าง GLAM Lab กับ Faculty of Arts คือหลักสูตร Emerging societies: An introduction to Mesopotamian archaeology หรือคอร์สเกี่ยวกับชุมชนโบราณในเขตเมโสโปเตเมียที่เปิดให้เรียนโดยใช้เทคนิค VTL หรือเมตาเวิร์ส
นอกจากเป้าหมายด้านการเรียนการสอนแล้ว GLAM Lab ที่ HKU นั้น ยังให้บริการในหลากหลายรูปแบบ เช่น
- คอร์สที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนแบบ VTL
- ให้คำปรึกษา และสาธิตวิธีการใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ VTL
- สัมมนา และบรรยายพิเศษที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี
- นิทรรศการพิเศษ หรือการนำเสนอโปรเจกต์ที่เป็นผลผลิตจาก GLAM Lab
- โครงการแปลงข้อมูลทางวัฒนธรรมให้เป็นข้อมูลดิจิทัลเพิ่มเติมร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา และวิจัย
พื้นที่ที่ให้บริการที่ HKU นี้เรียกว่า Ingenium มาจากคำว่า Ingenious ที่แปลว่าเฉลียวฉลาด สร้างสรรค์ สอดคล้องกับบรรยากาศที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรม โดยพื้นที่แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
- ส่วนเทคโนโลยี มีทั้งส่วนที่เป็นพื้นที่ว่างให้สมาชิกมาร่วมกันสร้างไอเดีย ส่วนที่ให้บริการ AI, VR Salon และ Immersive Technology Space
- ส่วนนวัตกรรม มีทั้งจุดให้บริการปรินท์แบบ 3D ห้องตัดต่อ ห้องสตูดิโอ และพื้นที่ให้บริการในรูปแบบอื่นๆ เช่น ทำป้ายไวนิล และเครื่องแกะสลักด้วยเลเซอร์ เรียกได้ว่ามีหลากหลายบริการราวกับยกเมกเกอร์สเปซมาตั้งเอาไว้
- ส่วนห้องจัดแสดงนิทรรศการ สำหรับผลิตผลที่ได้จาก GLAM Lab และยังมีพื้นที่โล่งกว้างสำหรับกิจกรรมอื่นๆ ด้วย
DX Lab ของ ห้องสมุดแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย
DX Lab เป็น Lab ที่ส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรมด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) โดยเปิดพื้นที่ และมอบเงินทุนให้นักวิจัย นวัตกร นักวิชาการ นักเรียน นักศึกษาที่สนใจ เพื่อมาร่วมคิดค้นหาวิธีในการนำเสนอข้อมูลในคอลเลกชันในรูปแบบที่สร้างสรรค์ และดึงดูดผู้ชม เช่น
Art Index โครงการที่ใช้ AI มาช่วยประมวลผล และจัดทำ Data Visualisation สำหรับภาพที่วาดโดยจิตรกรขาวออสเตรเลียตั้งแต่ปี 1847-1900 โดยมีจำนวนถึงกว่า 18,000 ภาพ โดยฐานข้อมูลนี้ยังอยู่ในเว็บไซต์ของ DX Lab และผู้ชมยังสามารถค้นหารูปภาพได้ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นประเภทของภาพ ชื่อจิตรกร
Poetry in Motion คือ การใช้ OCR (Optical Character Recognition) เพื่อออกแบบการนำเสนอบทกวีจาก Mitchell Library Collection ในรูปแบบภาพเคลื่อนไหว
We Are What We Steal เป็นโปรเจกต์ที่นำข้อมูลจากบันทึกประจำวันของตำรวจมาค้นหาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เทคโนโลยี การคมนาคม หรือแม้แต่แฟชั่น แล้วถ่ายทอดออกมาให้อยู่ในรูปสื่อที่เข้าใจง่าย
ถึงแม้ว่า DX Lab จะปิดตัวลงไปแล้วเมื่อกลางปี 2021 หลังจากเปิดให้ผู้คนเข้ามาทดลองสร้างสรรค์ไอเดียมาเนิ่นนานหลายปี แต่ผลงานที่เกิดจากการสร้างสรรค์ยังคงอยู่ และผู้ที่สนใจการนำข้อมูลมานำเสนอในรูปแบบที่สร้างสรรค์ก็ยังสามารถเข้ารับชมตัวอย่างผลงานได้ผ่านทางเว็บไซต์
นอกจากทั้ง 3 แห่งนี้ ก็ยังมี GLAM Lab อีกมากมาย ทั้งในระดับมหาวิทยาลัย ระดับองค์กร บางแห่งเป็นถึงแล็บของหน่วยงานระดับประเทศ บางแห่งควบรวมครบทั้ง 4 หน่วยงาน บางแห่งก็เป็นแล็บเฉพาะทาง เช่น The KB LAB ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็น Library Lab ที่มีเครื่องมือ ข้อมูล และโครงการวิจัยที่ชาวแล็บพร้อมจะทำงานร่วมกับนักวิจัยรุ่นเยาว์ในทุกๆ ปี หรือในบางกรณี GLAM Lab อาจจะเป็นเพียงพื้นที่ของคนคนหนึ่ง ที่มีความสนใจทดลอง ทดสอบสมมติฐาน ค้นหาวิธีนำข้อมูลเกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรมมาใช้ หรือหาวิธีใหม่ๆ ในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ เช่น โครงการ GLAM Workbench ของ Tim Sherratt ที่นิยามตนเองว่าเป็น ‘นักประวัติศาสตร์’ และ ‘แฮกเกอร์’ ทิมเป็นคนแรกๆ ที่นำเทคโนโลยีมาทดลองใช้กับการนำเสนอมรดกวัฒนธรรมในรูปแบบใหม่ และเป็นแรงบันดาลใจให้เกิด GLAM Lab ขึ้นในหลายองค์กร
GLAM Lab อยู่ที่คน และ ‘Mindset’ ไม่ใช่เพียงสถานที่
ในช่วงเวลาที่ผ่านมามี GLAM Lab เกิดขึ้นและเติบโตงอกงามหลายแห่ง ทิ้งผลงานเอาไว้ให้เป็นตัวอย่างสำหรับองค์กรที่ต้องการข้อชี้แนะ ในขณะที่บางแห่งก็ได้ปิดตัวลงไปแล้ว การก่อตั้ง GLAM Lab และการเขียนคู่มือ ล้วนเป็นการทดลองเพื่อนำมาซึ่งวิธีการใหม่ๆ ในการบริหารจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรมแบบที่หมุนตามความต้องการของผู้ใช้งาน
บทบรรณาธิการของหนังสือ Open a GLAM Lab ซึ่งเขียนโดย Dr. Georgios Papaioannou ก็ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า การก่อตั้ง GLAM Lab นั้นเกี่ยวข้องกับ ‘คน’ ‘จิตใจ’ และ ‘ทัศนคติ’ แม้ว่า GLAM Lab อาจจะฟังดูเหมือนต้องการพื้นที่ทางกายภาพ แต่การบ่มเพาะนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นได้นั้น ต้องเปลี่ยน ‘ทัศนคติ’ ของคนในองค์กร ทำอย่างไรคนในองค์กรถึงจะยอมรับการเปลี่ยนแปลง และมองเห็นว่าแนวปฏิบัติที่นำไปสู่การเกิดนวัตกรรมคือเรื่องปกติสามัญ สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่จะทำให้การสร้างสรรค์ในองค์กรเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
อย่างน้อยในตอนนี้ก็คงจะพอกล่าวได้ว่า การที่องค์กรมรดกวัฒนธรรมเหล่านั้นให้ความสำคัญต่อการสร้างแล็บขึ้นมา ย่อมแปลว่าผู้บริหารองค์กรเชื่อในพลังแห่งการระดมความคิดสร้างสรรค์ ผ่านการบ่มเพาะ สร้างสิ่งแวดล้อม และวางกระบวนการเพื่อให้ได้ผลผลิตที่แตกต่างจากการให้บริการในรูปแบบเดิม ต่อให้ทรัพยากรที่มีอยู่ในองค์กร GLAM เหล่านั้นจะเป็นมรดกจากอดีต แต่ก็พร้อมเสมอที่จะพัฒนาและก้าวเดินเคียงข้างเทคโนโลยีที่ทันสมัยสู่อนาคตอย่างมั่นคง
ที่มา
บทความ The GLAM Workbench จาก glam-workbench.net (Online)
เว็บไซต์ GLAMx Lab จาก www.newcastle.edu.au (Online)
เว็บไซต์ HKUL: GLAM Lab จาก lib.hku.hk/glamlab/index.html (Online)
เว็บไซต์ The KB Lab จาก lab.kb.nl (Online)
หนังสือ Open a GLAM Lab จาก glamlabs.io (Online)
Photo Cover : Muriel GARGRE on Unsplash