Ookbee ปฏิวัติการอ่านด้วยเทคโนโลยี

389 views
6 mins
November 19, 2024

          ‘สื่อสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย’ ในโลกแห่งการอ่านใครหลายคนคงคุ้นชินกับวาทกรรมนี้ที่เริ่มโหมกระแสมากขึ้นเรื่อยๆ หลังโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในสังคมอย่างมากในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา

          เห็นได้จากข่าวยอดขายสื่อสิ่งพิมพ์ที่ค่อยๆ ลดลง เม็ดเงินโฆษณาที่เทไปยังโลกออนไลน์มากขึ้น กระทั่งหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารหลายฉบับต้องปิดตัวลง

          สิ่งพิมพ์กำลังจะตายจริงๆ ไหม? จึงเป็นคำถามสำคัญที่ใครหลายคนตั้งข้อสงสัยตลอดมาแม้ปัจจุบันจะยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ ทว่าสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยหายจากไปคือ ‘นิสัยรักการอ่านของผู้คน’ เพราะพฤติกรรมนี้สามารถไหลลื่น และแปรสภาพสู่สื่อต่างๆ ได้ ไม่ต่างจากความคิดเห็นของ หมู-ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้ง Ookbee แพลตฟอร์มสำหรับอ่านหนังสือในรูปแบบอีบุ๊ก ที่ถือกำเนิดมานานกว่าทศวรรษและเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ช่วยต่ออายุพฤติกรรมการอ่านให้สังคมไทย ปัจจุบันมียอดคนอ่านออนไลน์มากถึง 10 ล้านคนต่อเดือน

          นอกจากนี้ ณัฐวุฒิยังปฏิวัติโลกการอ่านด้วย Joylada แพลตฟอร์มนิยายในรูปแบบข้อความแชตที่เอาใจคนรุ่นใหม่ จนสะสมความฮอตฮิตในระดับ 3 ล้านคนต่อเดือน ด้วยเช่นกัน

          ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่า Ookbee และ Joylada สามารถสร้างแรงกระเพื่อมใหม่ๆ ให้กับโลกแห่งการอ่านได้อย่างเต็มปาก เพราะถึงแม้สื่อสิ่งพิมพ์อาจต้องตายไปจริงๆ แต่เขาเชื่อว่าการอ่านจะยังคงอยู่คู่สังคมไทยไปอีกนาน

Ookbee ปฏิวัติการอ่านด้วยเทคโนโลยี

From Kindle with Love

          ย้อนกลับไปก่อนโซเชียลมีเดียจะมาแย่งชิงความสนใจของสื่อสิ่งพิมพ์ เชื่อได้ว่านักอ่านจำนวนมากน่าจะคุ้นเคยกับชื่อ Kindle กันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบการอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ เพราะนี่คือแพลตฟอร์มที่รวมหนังสือต่างประเทศ ทั่วทุกมุมโลก อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการอ่านหนังสือผ่าน Kindle ยังมีข้อจำกัดบางอย่าง เนื่องจากการดาวน์โหลดหนังสือแต่ละเล่มมีความซับซ้อนพอสมควร อีกทั้งไม่มีหนังสือไทยให้อ่านมากนัก ทำให้ Kindle ณ เวลานั้นยังไม่ได้รับความนิยมมากและยังไม่สามารถครองใจนักอ่านชาวไทยได้

          ณัฐวุฒิเห็นช่องว่างดังกล่าวจึงปิ๊งไอเดียว่า “เราเองน่าจะทำได้เหมือนกันนะ แพลตฟอร์มการอ่านหนังสืออีบุ๊กที่เป็นของคนไทยเอง”

          เขาจึงนำความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมมาสร้างแพลตฟอร์มการอ่านอีบุ๊กไทยชื่อ Ookbee ขึ้นมา ประจวบเหมาะกับระบบนิเวศสื่อในไทยที่กำลังเปลี่ยนจากการอ่านกระดาษมาเน้นอ่านในออนไลน์มากขึ้น ทำให้การถือกำเนิดของ Ookbee กลายเป็นทางเลือกใหม่ที่โดนใจคนไทยไม่น้อย พร้อมทำให้เกิดความหวังว่า แพลตฟอร์มนี้น่าจะช่วยต่ออายุให้วงการหนังสือยืนระยะต่อไปได้

          แรกเริ่มณัฐวุฒิเข้าไปพูดคุยกับสำนักพิมพ์ต่างๆ เพื่อเสนอไอเดียว่า จะเอาหนังสือหรือนิตยสารมาจำหน่ายให้อ่านทางออนไลน์ได้อย่างไร ก่อนที่พวกเขาจะพบว่าโมเดลธุรกิจนั้นเย้ายวนใจจนแต่ละเจ้าไม่อาจปฏิเสธได้

          “Business model ของเราง่ายมากครับ คือเราทำให้ฟรีหมดทุกเจ้า ถ้าขายได้ก็แบ่งกัน 70/30 โดยสำนักพิมพ์จะได้ 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าขายไม่ได้เขาก็ไม่ต้องเสียอะไร สุดท้ายในเวลาหนึ่งปี สำนักพิมพ์เกือบทุกเจ้าก็ตกลงทำกับเราหมด”

          หนึ่งในสาเหตุที่สำนักพิมพ์จำนวนมากสนใจอีบุ๊ก เพราะตอนนั้นสถานการณ์สิ่งพิมพ์กำลังสั่นคลอน ไม่เพียงขายได้น้อย แต่พอขายได้ก็ต้องเจียดส่วนแบ่งกับส่วนงานอื่นๆ ที่อยู่ในกระบวนการจัดทำและจัดจำหน่ายหนังสือ จนแทบไม่เหลือกำไรตกมาถึงมือนักเขียนจริงๆ

          “สมมติว่ายอดขายหนังสือเล่มหนึ่งอยู่ที่ 100 บาท ผู้จัดจำหน่ายอาจจะแบ่ง 50 บาท อีก 50 บาท จ่ายไปที่สำนักพิมพ์ แต่สำนักพิมพ์เองมีค่าใช้จ่ายมากมาย ทั้งค่าขนส่ง ค่าพิมพ์ ค่าสต็อก ก่อนจะเหลือไปถึงนักเขียนเพียงแค่ 5-10 บาท แต่พอกลายเป็นอีบุ๊กที่ไม่ต้องพิมพ์กระดาษ ไม่ต้องมีสต็อก และไม่ต้องหักส่วนแบ่งมากนัก ต้นทุนก็เลยถูกกว่า”

          เมื่อพูดคุยกับสำนักพิมพ์ราบรื่นแล้ว สิ่งที่ได้ตามมาโดยอัตโนมัติคือ Ookbee ไม่ต้องโฆษณาเชิญชวนให้ผู้อ่านมาใช้งานเลย เพราะทางสำนักพิมพ์จะเป็นผู้เชิญชวนเอง

          “คนอ่านอีบุ๊กส่วนใหญ่ต้องเคยอ่านแบบเล่มกระดาษกันมาก่อน กลุ่มเป้าหมายจึงชัดอยู่แล้ว ถ้าสำนักพิมพ์ลงรายละเอียดว่า เขามีเวอร์ชันอีบุ๊กด้วยนะ คนอ่านก็พร้อมจะกดซื้อทันที”

          และนั่นคือก้าวแรกของพฤติกรรมการอ่านที่เปลี่ยนไป

Ookbee ปฏิวัติการอ่านด้วยเทคโนโลยี

‘Self-Publishing’ ทางเลือก/ทางรอดนักอยากเขียน

          การมาถึงของอีบุ๊กพลิกโฉมหน้าวงการหนังสืออย่างที่หลายคนไม่คาดคิดมาก่อน ทั้งยังค่อยๆ เปลี่ยนสถานะของหนังสือเล่มไปเป็นของสะสมแทน

          “หนังสือที่เราชอบก็จะเก็บไว้เป็นเล่มกระดาษ กลายเป็นของสะสม ส่วนอีบุ๊กมีความสะดวกกว่า อ่านง่ายกว่า หาโหลดง่ายกว่า อยากซื้ออะไรก็เสิร์ชหาเลย ส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่ที่อ่านอะไรแบบนี้เสียมากกว่า”

          สอดคล้องกับสถานการณ์ในช่วงปี 2553 เป็นต้นมา ที่โซเชียลมีเดีย นำโดย Facebook และ Twitter* เป็นที่นิยมในวงกว้าง ทำให้ผู้คนอ่านเรื่องราวต่างๆ ทั้งแบบยาวและแบบสั้นผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้มากขึ้น

          ไม่เพียงแค่นั้น อีกบทบาทที่หลายคนไม่คาดคิดคือ มันยังเปลี่ยนให้คนที่อาจไม่ได้ทำงานในแวดวงสิ่งพิมพ์ ให้กลายเป็นนักเขียน หรือนักอยากเขียนง่ายขึ้น (User Generated Content) และเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘Self-Publishing’ หรือการเขียนเอง ตีพิมพ์เองทางออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องจัดพิมพ์และจำหน่ายผลงานเป็นรูปเล่ม ทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยมีพื้นที่สามารถแจ้งเกิดและเติบโตได้มากขึ้น

          ที่สำคัญ Self-Publishing ยังไม่จำเป็นต้องมีบรรณาธิการทำหน้าที่คัดกรองเนื้อหา นำมาซึ่งความหลากหลายของคอนเทนต์ให้ผู้อ่านได้เลือกเสพ แต่มันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียในเวลาเดียวกัน

          “ข้อดีคือ เนื้อหาจะหลากหลายและเผยแพร่เร็วมาก แต่ข้อเสียคือ คุณภาพจะผสมปนเปกันหมด อะไรดีไม่ดีก็ปะปนกันไปครับ”

Ookbee ปฏิวัติการอ่านด้วยเทคโนโลยี

อ่าน-เขียนยังไงให้คน Joy

          Ookbee นับเป็นโดมิโนตัวแรกๆ ที่ทำให้วงการเขียน-อ่านในภาพรวมเปลี่ยนไป ต่อมา Fictionlog แพลตฟอร์มการเขียนและอ่านนวนิยายออนไลน์ก็เข้ามาร่วมพาร์ตเนอร์กับ Ookbee ในปี 2559 เปิดโอกาสให้คนตัวเล็กตัวน้อยเป็นนักเขียนชื่อดังได้ ก่อนที่ณัฐวุฒิจะเปิดแพลตฟอร์มใหม่ที่ใช้ประโยชน์จากการ Self-Publishing สูงสุดอย่าง Joylada

          ความพิเศษของ Joylada อยู่ที่การเปิดประตูให้นักเขียนแต่ละคนได้เขียนนิยายขนาดสั้นๆ เป็นตอนที่ไม่จำเป็นต้องยาวมาก เขียนเสร็จก็สามารถเผยแพร่ผลงานทันที ผลลัพธ์ก็คือสามารถครองใจกลุ่มผู้อ่านรุ่นใหม่ได้เป็นจำนวนมาก ทั้งยังเป็นพื้นที่แจ้งเกิดให้นักเขียนนวนิยายแชตชื่อดังจำนวนมาก ซึ่งณัฐวุฒิบอกว่า นักเขียนตัวท็อปๆ ใน Joylada หลายคน สร้างรายได้มากระดับหลักแสนหรือหลักล้านบาทต่อเดือนเลยทีเดียว รวมแล้วทั้งแพลตฟอร์มมีนักเขียนมากกว่า 700,000 คน และมีรายได้รวมกันมากกว่า 50 ล้านบาท

          ณัฐวุฒิไม่คาดคิดว่าผู้คนจะตอบรับ Joylada ขนาดนี้ แต่ความสำเร็จดังกล่าว มาจากการที่เขาศึกษาพฤติกรรมทั้งนักอ่านและนักเขียนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป ว่าไม่จำเป็นต้องใช้พลังมหาศาลเพื่อสร้างวรรณกรรมเป็นเล่มๆ ตามปกติอีกต่อไป

          “การเขียนหนังสือทั้งเล่มได้ต้องใช้เวลาครับ นั่งเขียนทีละนิดๆ จนออกมาเป็นเล่ม ซึ่งอาจจะเขียนจบบ้างไม่จบบ้าง แต่การเขียนในแพลตฟอร์มของเราคือ เขียนเสร็จแล้วได้ฟีดแบ็กจากคนอ่านทันที เวลาเห็นคนมาคอมเมนต์ว่าเขียนสนุก เขาก็มีกำลังใจอยากเขียนต่อ”

          สำหรับคนที่อ่าน Joylada แล้วคันไม้คันมืออยากเขียนเก่งๆ บ้าง ณัฐวุฒิให้คำแนะนำว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องอ่านเยอะๆ ก่อน

          “ถ้าฟังเพลงอะไรบ่อยๆ เพลงที่แต่งก็จะออกมาตามเพลงที่ฟังนั่นแหละ คุณอยากจะทำอาหาร fine dining คุณก็ต้องกิน fine dining อยากทำ street food คุณก็ต้องไปกิน street food หลายๆ ที่ แล้วเปรียบเทียบว่าแต่ละที่ดีอย่างไร คุณถึงจะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของตัวเองออกมา

          “ทุกวันนี้โลกเปิดโอกาสให้เราสามารถเจอของดีได้จากทั่วโลก ทุกแนว ทุกตลาด ทำให้เราหาไอเดียสร้างสไตล์ของเราเองได้ และเราก็ต้องรู้จักคิดด้วยว่าตลาดต้องการอะไร เทรนด์เป็นยังไง แล้วเอาตัวเองไปอยู่ตรงนั้นให้ได้”

          เมื่อความแตกต่างสร้างความโดดเด่น มันจึงเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ เราจะเสพ อ่าน และทดสอบอะไรก็ได้ แต่ว่าข้อเสียคือ เราก็จะเป็นหนึ่งในทะเลแห่งการแข่งขันนั้น ทุกคนทำเหมือนเราได้หมด ฉะนั้นนักเขียนต้องหาสไตล์ของตัวเองให้เจอ

Ookbee ปฏิวัติการอ่านด้วยเทคโนโลยี

ไม่หยุดเรียนรู้ กล้าล้ม ต้องกล้าลุก

          ตลอดเวลากว่าสิบปี แม้ทั้ง Ookbee และ Joylada จะประสบความสำเร็จเกินเป้าไปไกล แต่ไม่ใช่ว่าณัฐวุฒิจะไม่เคยเจออุปสรรคหรือความล้มเหลว เขาพยายามคิดค้นนวัตกรรมมาให้ผู้คนได้ใช้เสมอ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็มีทั้งรุ่งและร่วง

          “อย่างฟีเจอร์พวกไลฟ์สตรีม Ookbee ก็เคยลองทำครับ เคยทำแม้กระทั่ง E-Commerce ด้วย เราคิดว่าเรารู้พฤติกรรมคนแล้ว เขาอ่านหนังสือรถแสดงว่าชอบรถ เขาอ่านหนังสือสัตว์ก็คงชอบสัตว์เลี้ยง ถ้าเราเปิด E-Commerce ขายของก็น่าจะดี แต่ในความเป็นจริง E-Commerce มันทำยาก เพราะมันไม่ได้เป็นเรื่องการรู้แค่พฤติกรรม ต่อให้เรารู้แล้ว แต่เราไม่สามารถขายถูกกว่าคนอื่นก็ยากครับ หรือพวกแอปพลิเคชันที่เป็นฟีเจอร์ต่างๆ จะมีแอปที่เราทดลองแล้วก็ปิดไป เช่น โปรแกรมอ่านข่าว เราเคยลองแล้วมันไม่ค่อยเวิร์กเท่าไร”

          สิ่งที่ลองแล้วผิดจะมีเยอะไม่เป็นไร ขอเพียงลองแล้วเจอสิ่งที่ถูกต้องก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว

          “บางฟีเจอร์ที่มีประโยชน์ในวันหลัง เช่น Joylada กลายเป็นไลฟ์สตรีม มีเด็กๆ มาเปิดห้องเหมือนเป็น Clubhouse วันละเกือบหมื่นห้อง เป็นบริบทการเล่าเรื่องแบบ real-time ถ้าเขาขี้เกียจพิมพ์ ก็กดเปิดห้องคุยกันได้เลย เวลาเข้าไปก็จะเป็นตัวตนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเราจริงๆ เป็นตัวการ์ตูนคุยกันอะไรอย่างนี้ คล้ายๆ กลายเป็น Metaverse ไปโดยปริยาย (หัวเราะ) เหมือนเราไปหา new frontier และขยับจากการอ่านออกไปเรื่อยๆ”

          หนึ่งในบทเรียนสำคัญที่ณัฐวุฒิค้นพบจากการอยู่ในตลาดการอ่านและการทำงานกับเทคโนโลยี ก็คือ ยิ่งปรับตัวเข้าหาโลก เข้าหาพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปได้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งเอื้อต่อการอยู่รอดในโลกธุรกิจได้มากเท่านั้น

          “เราเป็นบริษัทเทคโนโลยี ใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนจากกระดาษมาเป็นอีบุ๊ก เราต้องเปลี่ยนตัวเองไปตามพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ ต้องไม่ยึดติดอยู่กับสิ่งเดิมๆ ที่เราคิดว่ามันจะเป็นแบบนั้นไปเรื่อยๆ ทั้งที่จริงแล้วคนมันเปลี่ยนไปเสมอ และพอพฤติกรรมคนเปลี่ยนไปแล้ว มันจะไม่ย้อนกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีก ถามว่าเราเป็นคนดิสรัปต์ไหม ผมว่าดิสรัปต์ในแง่การเป็นคนแรกในตลาดมากกว่าครับ”

Ookbee ปฏิวัติการอ่านด้วยเทคโนโลยี

ปรับตัวเพื่อแย่งชิงเวลา หนทางแห่งการเอาตัวรอด

          เมื่อถามว่าอะไรคือคู่แข่งสำคัญของ Ookbee และ Joylada ณัฐวุฒิตอบทันทีว่า “เวลา” เพราะเวลาคือทรัพยากรที่ทุกคนมีเท่ากัน และเมื่อหมดสิ้นไปก็ไม่สามารถเอากลับคืนมาได้

          “ปัญหาของแพลตฟอร์มเราคือ เวลามีจำกัด คนมีเวลาจำกัด คนเราทำงานวันหนึ่งก็หมดไปแปดชั่วโมงแล้ว เวลาว่างที่เหลือมาใช้กับการอ่าน ก็มีตัวเลือกอีกมากมาย ถ้าเขาไปติดทีวีซีรีส์ ติด Netflix เขาก็ไม่ได้อ่าน Ookbee ถ้าเขาไปเล่น TikTok ก็ไม่ได้อ่าน Ookbee เพราะฉะนั้นคู่แข่งเราไม่ใช่แค่การอ่านนะ มันคือพฤติกรรมที่คนใช้อยู่บนโลกดิจิทัล ดังนั้นเราต้องออกผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจเพื่อแย่งชิงเวลาจากเขา”

          ณัฐวุฒิเผยสถิติที่น่าสนใจจากแพลตฟอร์มของเขาว่า Joylada มีคนเปิดเข้าแอปเฉลี่ยวันละ 15 ครั้ง และใช้เวลารวมกันทั้งวันประมาณ 90 นาที แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมผู้ใช้งานหากมีเวลาว่างแม้เพียงสั้นๆ คนอ่านรุ่นใหม่ก็จะเปิดจอยขึ้นมาอ่าน แล้วพอมีธุระก็ปิด จากนั้นทำธุระเสร็จก็กลับมาเปิดอ่านต่ออย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่แตกต่างจากการอ่านอีบุ๊ก

          “ถ้าเรายืนรอรถเมล์ 5 นาที เราคงไม่เปิดอีบุ๊กขึ้นมาอ่าน คงจะต้องเป็นตอนอยู่บ้านหรือว่าอยู่ริมทะเล มีเวลาติดกันสัก 30-40 นาที แล้วจึงจะอ่านหนังสือ พฤติกรรมต่างกัน แพลตฟอร์มต่างกัน คนใช้ก็แตกต่างกัน

          “ถ้าเราอยากดู TikTok เราก็คงเปิด TikTok มันเปิดได้ทุกวัน วันละนิดวันละหน่อย แต่เวลาเราจะดูซีรีส์ก็ต้องรอตอนกลางคืน ต้องใช้เวลาสักชั่วโมงสองชั่วโมง หรือจะดูหนังฮอลลีวูดที่โรงหนังก็ต้องเตรียมมาเลย 2-3 ชั่วโมงเพื่อเดินทางไปดู เพราะงั้นพฤติกรรมมันก็จะแตกต่างกัน อีบุ๊กแม้จะชนะกระดาษมาได้ แต่มันก็อาจจะสู้กับพวกนี้ไม่ได้ในอนาคต”

          เมื่อโลกการอ่านเปลี่ยนไปแบบนี้ สิ่งที่เขาเน้นย้ำคือ วงการหนังสือหรือสิ่งพิมพ์ที่เป็นรูปเล่มจำเป็นต้องปรับตัวอย่างจริงจัง โดยอาจยึดรูปแบบของค่ายเพลงในทุกวันนี้ก็ได้

          “ต้องดูว่าคุณเป็นสำนักพิมพ์ประเภทไหน ถ้าเป็นสำนักพิมพ์เรื่องธุรกิจบุคคล มันคือการไปเป็นพาร์ตเนอร์กับตัวศิลปิน เหมือนวงการเพลงที่แกรมมี่ ศิลปินเขามี Instagram มีช่องทาง Direct Message รับงานได้เอง เราจึงจะเห็นข่าวตลอดว่าค่ายเพลงทะเลาะกับศิลปิน เพราะว่าเขารับงานตรงได้ มันคือพฤติกรรมเดียวกันกับที่นักเขียนสามารถ self-publish ผลงานเอง รับงานเองได้ จนมีสถานะแทบไม่ต่างจากการเป็นศิลปินเองแล้ว

          “สำนักพิมพ์อาจต้องทำตัวเหมือนค่ายเพลง คุณต้องปั้นนักเขียนมาตั้งแต่แรก ต้องให้ส่วนแบ่งที่เหมาะสมด้วย คุณโฟกัสแค่เรื่องพิมพ์ได้ แต่คนปัจจุบันไม่ได้เกิดมาแค่เพื่อพิมพ์หนังสือ เพราะว่าตัวเขาเองก็ต้องโพสต์ในโซเชียลมีเดีย ใครๆ ก็มีแอ็กเคานต์ของตัวเองทั้งนั้น แปลว่ายังไงตัวเขาก็ต้องอยู่บนทุกๆ แพลตฟอร์มอยู่แล้ว

          “เราต้องขยับเป็นตัวแทนหรือเอเจนซี และช่วยเขาทุกเรื่อง สำนักพิมพ์ก็อาจจะกลายเป็นเหมือนผู้จัดการดารา ดูแลให้หมดไม่ว่าจะเรื่องอะไร รวมถึงข้อกฎหมาย คุณก็อาจจะไปต่อรองกับเขาว่าคุณช่วยอะไรเขาได้บ้างเหมือนเป็นผู้จัดการดารา เดี๋ยวเจรจาให้กับแพลตฟอร์มนะ เดี๋ยวเราดูแลเรื่องสัญญา คุณไม่ต้องยุ่ง มาสนใจเรื่องอะไรพวกนี้เลย เดี๋ยวเราจัดการให้ อารมณ์แบบนั้น”

Live Read Forever

          ความท้าทายของการทำ Ookbee กับ Joylada มีหลายประการ แต่ในฐานะผู้ก่อตั้ง สิ่งที่ณัฐวุฒิคาดหวังก็คือ บริษัทจะต้องโตตามธรรมชาติ และหวังว่าโลกภายภาคหน้าจะยังมีช่องให้พฤติกรรมการอ่านสามารถพัฒนาไปได้อีกไกล

          “ถ้าผมทำตลาดการอ่านแล้วมันไม่โต ผมก็ต้องขยับ แต่ท้ายที่สุดเรากำลังพูดถึงเรื่องของเวลา กลับมาพื้นฐานเลยว่ามันคือ ทรัพยากรที่ทุกคนมีอยู่จำกัด เวลาที่มีอยู่ คนจะเลือกใช้ไปกับอะไร

          “ถ้าเราไม่ยึดติดว่าการอ่านมันต้องอ่านเป็นเล่ม เราต้องเข้าใจก่อนว่ามันมีที่มีทางของมัน โลกมันพัฒนาไป ตอนที่ยังไม่มีทางเลือก มีม้าก็ต้องขี่ม้า มีรถก็ต้องขับรถ เดินทางไปต่างประเทศ คนก็ต้องใช้เครื่องบิน เพราะขับรถไปไม่ได้ แต่เราไม่ต้องยึดติดว่ามันคงจะต้องขี่ม้ากันไปตลอด

          “เพราะฉะนั้นการอ่านที่เป็นเล่มหนังสือกับการอ่านแบบอีบุ๊ก มันก็คือเรื่องเดียวกัน ถ้าเราลองเปิดใจว่ามันไม่ได้เป็นแค่กระดาษ เป็นหนังสือ มันก็จะทำให้เราสามารถรับมือกับอะไรก็ได้”

          แต่วิวัฒนาการเพื่อการอ่านจะถอยหลังกลับไปนิยมหนังสือเล่มอีกหรือไม่นั้น ณัฐวุฒิกล่าวว่า “ถ้าบอกว่าเพื่ออนุรักษ์การอ่าน มันก็อาจใช่ แต่คนก็คงไปอ่านสิ่งอื่นแทน แต่บางเรื่อง เช่น ตำราการศึกษา ก็อาจยังอยู่ในฟอร์แมตเดิม มันเป็นเรื่องอุปสงค์-อุปทานครับ”

          ในสภาวะที่ทุกคนตั้งคำถามว่าสื่อสิ่งพิมพ์กำลังจะตายไหม กลับกัน เราสงสัยว่าแล้วอีบุ๊กล่ะมีสิทธิ์ที่จะตายบ้างหรือเปล่า? ณัฐวุฒิเชื่อว่าคงไม่ตายง่ายๆ ในเร็ววันนี้

          “อาจจะอีกร้อยปีก็ได้ ผมไม่รู้ มันเหมือนเราถามว่า หนังฮอลลีวูดจะตายไหม โรงหนังจะตายไหม แต่มันก็ไม่ตาย พอผ่านโควิด-19 มาได้ หนังก็ยังมีที่ทางของมันอยู่ แต่ถามว่า Netflix เติบโตไหม YouTube เติบโตไหม มันเติบโต แถมมีช่องเล็กๆ เกิดขึ้นตลอด เพราะฉะนั้นมันคงไม่ตายจริงๆ หรอก แต่จะกลายเป็น niche market มากขึ้นเรื่อยๆ แทน”

          ท้ายที่สุดผู้ก่อตั้ง Ookbee ย้ำคำพูดที่บอกว่า ‘คนไทยไม่อ่านหนังสือ’ ไม่ใช่ความจริง

           “เราเปิดมือถือเล่น Facebook Twitter หรือ Instagram เราอ่านแคปชันเพื่อน นั่นคือพฤติกรรมการอ่านนะ การอ่านยังมีที่มีทางของมัน ในอนาคตพฤติกรรมนี้ไม่หายไปไหนหรอกครับ ถ้าทุกคนเข้าใจพฤติกรรมการอ่านการเขียนของคนไทย แล้วเลือกใช้ในทุกสื่อที่ไม่ใช่แค่กระดาษ มันมีความเป็นไปได้ใหม่ๆ หมดเลย อะไรที่ดีกว่า เร็วกว่า สะดวกกว่า คนก็จะค่อยๆ เคลื่อนที่ไปหาสิ่งนั้นเองครับ”

Ookbee ปฏิวัติการอ่านด้วยเทคโนโลยี


* แม้ในปี 2566 Twitter ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น X แต่บทความนี้ยังคงใช้คำว่า Twitter เพื่อให้สอดคล้องกับผู้ให้สัมภาษณ์


เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Readtopia 2 ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศการอ่านของไทย’ (2567)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก