ถอดบทเรียน ‘อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกันเชียงราย’ นวัตกรรมส่งเสริมการอ่านของโลกในบริบทแบบไทย

614 views
8 mins
December 30, 2021

          โครงการ One Book One City (บางแห่งเรียกว่า One City One Book) เป็นโครงการระดับนานาชาติที่อาจเรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมด้านการส่งเสริมการอ่าน ริเริ่มโดย แนนซี เพิร์ล (Nancy Pearl) บรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนซีแอตเทิล เมื่อปี 2541 กิจกรรมสำคัญคือการคัดเลือกหนังสือ 1 เรื่อง แล้วชักชวนให้คนทั้งเมืองร่วมกันอ่านและพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้น

          ในเวลาต่อมา สมาคมห้องสมุดอเมริกัน (American Library Association หรือ ALA) ได้นำแนวคิดนี้ไปขยายผลกับห้องสมุดอีกหลายแห่ง รวมทั้งจัดทำคู่มืออธิบายขั้นตอนการจัดกิจกรรมในพื้นที่และวิธีการคัดเลือกหนังสือ ทำให้กิจกรรมลักษณะนี้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น เช่นโครงการ One Book One Chicago ของเมืองชิคาโก จัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการอ่านจากหนังสือเรื่องเดียวกัน ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2544 ในแต่ละปีบรรดาโรงเรียนและห้องสมุดต่างๆ ในเมือง จะร่วมกันจัดกิจกรรมให้สอดรับกับการรณรงค์ ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศแห่งการอ่านที่มีชีวิตชีวา

          One Book One City ข้ามฝั่งไปยังทวีปยุโรปเป็นแห่งแรกที่เมืองเอดินบะระ สก็อตแลนด์ ในปี 2549 เนื่องจากเมืองได้รับเลือกให้เป็นเมืองแห่งวรรณกรรม ต่อมากิจกรรมลักษณะเดียวกันนี้ก็ผุดขึ้นที่ดับลิน (ไอร์แลนด์) ออสเวสทรี (อังกฤษ) และเมืองต่างๆ ทั่วภาคพื้นยุโรป ถือได้ว่า One Book One City เป็นกิจกรรมการอ่านที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในต่างประเทศ เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิดในวงกว้าง ทั้งยังได้รับการต่อยอดเป็นกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ต่างๆ เช่น การฉายภาพยนตร์ งานเสวนา เป็นต้น

อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน ‘อ่านดอยสุเทพ’

          ในประเทศไทย ตัวอย่างของการนำแนวคิด One Book One City มาปรับใช้ คือโครงการ ‘อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน’ เริ่มต้นจากโครงการ ‘อ่านดอยสุเทพ’ โดยเครือข่ายเชียงใหม่อ่าน ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของบุคคลและองค์กรที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชน งานพัฒนาสื่อ หนังสือและการอ่าน ในจังหวัดเชียงใหม่

          ในปี 2561 เครือข่ายเชียงใหม่อ่าน เล็งเห็นว่าการสื่อสารรณรงค์กระตุ้นให้เกิดการอ่าน สามารถทำได้โดยผ่านการสร้างประเด็นหรือเนื้อหาการอ่านร่วมกันในเรื่องเดียวกัน จึงเกิดโครงการอ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกันขึ้น ภายใต้แนวคิด ‘อ่านดอยสุเทพ’ นำเอาสัญลักษณ์ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเชียงใหม่มาเป็นกรอบเนื้อหาหลัก

          กิจกรรมสำคัญของโครงการ คือการผลิตหนังสือนิทานดอยสุเทพสำหรับเด็กปฐมวัยจำนวน 3 เรื่อง ด้วยความเชื่อว่าการปลูกฝังวัฒนธรรมการอ่านให้ลงลึก จะต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก ควบคู่ไปกับการสร้างสิ่งแวดล้อมการอ่านให้เกิดขึ้นในครอบครัว โดยนิทานทั้งสามเรื่องได้แจกจ่ายให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 633 แห่ง พร้อมจัดอบรมครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็กเล็ก ครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ให้มีความรู้ความเข้าใจในการวิเคราะห์นิทาน การเล่านิทาน การผลิตสื่อหนังสือนิทานสำหรับเด็กปฐมวัย หรือหนังสือป๊อปอัพ (pop-up book) เพื่อนำไปต่อยอดในการทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน

            ขั้นตอนต่อมา คือการขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้น โดยนำหนังสือชุดอ่านดอยสุเทพไปใช้เป็นสื่อในการจัดอบรมให้กับครู บรรณารักษ์ และอาสาสมัครการอ่านทั่วทุกอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้มีทักษะในการนำหนังสือชุดนี้ไปจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในพื้นที่ของตัวเอง รวมทั้งสื่อสารไปยังกลุ่มเยาวชนให้เกิดความสนใจ เพื่อให้เกิดการ ‘อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน’ อย่างแท้จริง

          ปฏิบัติการ ‘อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน : อ่านดอยสุเทพ’ ขยายตัวไปสู่การส่งเสริมแกนนำและนักสื่อสารส่งเสริมการอ่านเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน การพัฒนาพื้นที่การอ่านของชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่ มีการผลักดัน เผยแพร่ และนำไปปฏิบัติอย่างกว้างขวาง ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การผลิตคลิปส่งเสริมการอ่าน การประกวดหนังสือทำมือ การพัฒนาคู่มือการเรียนรู้ การจัดนิทรรศการ การจัดงานมหกรรมนิทานสร้างเมือง เป็นต้น

          โครงการดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการประยุกต์แนวคิด One Book One City ที่แตกต่างจากต้นฉบับ โดยปรับให้เข้ากับบริบทท้องถิ่น กล่าวคือไม่ใช่การคัดเลือกหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง แต่เป็นการคัดเลือกหัวข้อที่มาจากความเห็นพ้องร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แล้วจึงออกแบบสื่อหรือกิจกรรมที่ทำให้ทุกๆ คนสามารถอ่าน ‘เรื่องเดียวกัน’ ตามหัวข้อนั้นๆ ได้ โดยเน้นไปที่กลุ่มเด็กเล็กเป็นหลัก

          ที่สำคัญคือกิจกรรมนี้ไม่ใช่กิจกรรมที่จัดแล้วจบไป แต่มีลักษณะเป็นโครงการรณรงค์ที่ส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อกลุ่มคนทำงานในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการปรับกรอบความคิด การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และการสร้างสรรค์กิจกรรมต่อยอด เป็นโครงการเชิงกระบวนการที่เสมือนการโยนก้อนหินลงไปในสระ แล้วเกิดเป็นวงน้ำที่แผ่กว้างออกไป

มหกรรมนิทานสร้างเมือง บนความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อสร้างการรับรู้ สื่อสาร และกระตุ้นให้เกิดความสนใจด้านการอ่านและการเรียนรู้ สร้างเป็นปรากฏการณ์ ‘อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน’ ภายใต้แนวคิด ‘อ่านดอยสุเทพ’
มหกรรมนิทานสร้างเมือง บนความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อสร้างการรับรู้ สื่อสาร และกระตุ้นให้เกิดความสนใจด้านการอ่านและการเรียนรู้ สร้างเป็นปรากฏการณ์ ‘อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน’ ภายใต้แนวคิด ‘อ่านดอยสุเทพ’
Photo : เชียงใหม่อ่าน

อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกันเชียงราย

          หนึ่งในโครงการที่แตกหน่อต่อยอดออกมา คือโครงการ ‘อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกันเชียงราย’ จากความร่วมมือระหว่างสถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) และกลุ่มเชียงใหม่อ่าน เมื่อปี 2563 โดยนำแนวคิดและวิธีการดำเนินงานมาจากกิจกรรมรณรงค์ของเครือข่ายเชียงใหม่อ่าน ซึ่งมีการทดลองทำและถอดบทเรียนมาแล้วจากจังหวัดเชียงใหม่

          การขยายผลมายังต่างพื้นที่นั้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อพิสูจน์ผลลัพธ์และปรับแก้จุดบกพร่องของกระบวนการเดิม โดยมีเทศบาลนครเชียงรายเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่อย่างเข้มข้นทุกขั้นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระดมบุคลากรจากองค์กรต่างๆ ในจังหวัด มาร่วมกันคิดค้นประเด็นเนื้อหาที่เด็กเชียงรายควรอ่าน เพื่อนำไปใช้ผลิตสื่อนิทานสำหรับเด็กปฐมวัย

          เป้าหมายของโครงการนี้ คือการใช้การอ่านเป็นเครื่องมือในการสร้างการเรียนรู้ของคนในเมือง กลุ่มเป้าหมายครอบคลุมตั้งแต่กลุ่มเยาวชน คนทำงานในเครือข่ายการเรียนรู้ และประชาชนทั่วไป ออกแบบโครงการเป็น 4 ขั้นตอน แบ่งเป็น 10 กิจกรรมย่อย[1] ใช้ระยะเวลาดำเนินงาน 10 เดือน โดยมีขั้นตอน ได้แก่

ขั้นที่ 1 : ระดมความคิดและประสานงานเครือข่าย

          การประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อระดมความคิดในการสร้างการเรียนรู้ของเมืองเชียงราย ด้วยเปิดโอกาสให้กลุ่มคนทำงานทั้งในภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วม จนสามารถสรุปประเด็นในนิยามของคำว่า ‘วัฒนธรรมและความหลากหลาย’ ที่มีในจังหวัดเชียงราย ผ่านนิทานภาพสำหรับเด็ก รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ เพื่อให้เกิดการอ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกันอย่างแท้จริง

          นอกจากนี้ยังมีการรับสมัครคณะทำงานที่มีบทบาทในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักการศึกษาเทศบาลนครเชียงราย วัฒนธรรมจังหวัด สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พิพิธภัณฑ์ กลุ่มคนทำงานเพื่อสังคม และร่วมกันหาวิธีการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโครงการ คือ กลุ่มเด็กปฐมวัย และเด็กวัยเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา      

ขั้นที่ 2 : ปฏิบัติงานเชิงลึกโดยคณะทำงาน

          เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการระดมสมอง ต่อเนื่องจากขั้นที่ 1 ซึ่งมีข้อสรุปว่าจะจัดทำนิทาน 2 เรื่อง ได้แก่นิทานเรื่อง ‘ทรายน้ำกก’ เล่าเรื่องประเพณีการขนทรายเข้าวัดในวันปีใหม่ นำเสนอวัฒนธรรมของเชียงรายที่ผูกพันกับพุทธศาสนาและธรรมชาติ และนิทานเรื่อง ‘มาลีแอ่วดอย’ ว่าด้วยการเรียนรู้ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ผ่านการละเล่นและเครื่องแต่งกาย โดยผู้เขียนเรื่องและผู้วาดภาพประกอบเป็นชาวเชียงราย และมีทีมงานจากเชียงใหม่ทำหน้าที่ช่วยเหลือในฐานะกองบรรณาธิการ

          โครงการนี้ยังจัดให้มีการประกวดหนังสือทำมือ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมายโครงการที่เป็นกลุ่มเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภายใต้กรอบแนวคิด ‘เล่าเรื่องเมืองเจียงฮาย’

ขั้นที่ 3 : อบรม และเผยแพร่ความรู้

          จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อเรียนรู้แนวคิดในการใช้นิทานเรื่อง ‘ทรายน้ำกก’ และ ‘มาลีแอ่วดอย’ ที่จัดพิมพ์แล้ว ให้แก่ครูปฐมวัย ครูอนุบาล ผู้ดูแลเด็ก ครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยหัวข้อในการอบรมประกอบด้วย กิจกรรมการวิเคราะห์หนังสือ ตัวอย่างการใช้นิทาน และร่วมกันออกแบบการใช้นิทาน พร้อมทั้งติดตามการเล่านิทานเพื่อการเรียนรู้ และการเผยแพร่นิทานให้เข้าถึงทุกคนมากที่สุด

บรรยากาศกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อเรียนรู้แนวคิดในการใช้นิทาน
บรรยากาศกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อเรียนรู้แนวคิดในการใช้นิทาน

ขั้นที่ 4 : สร้างการรับรู้ ต่อยอดทางความคิด

          จัดงานมหกรรม ‘เชียงราย เมืองแห่งการเรียนรู้’ ภายใต้แนวคิด ‘อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน’ เพื่อประชาสัมพันธ์นิทาน และหนังสือเล่มเล็ก (หนังสือทำมือ) โดยต่อยอดสู่กิจกรรมการเรียนรู้รูปแบบใหม่ๆ เช่น การแต่งเพลงจากนิทาน ฐานการเล่นจากนิทาน พร้อมทั้งจัดเวทีสรุปบทเรียน และหาแนวทางการดำเนินงานในกลุ่มคนทำงานที่ร่วมปฏิบัติการส่งเสริมการเรียนรู้ ‘อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกันเชียงราย’ เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างยั่งยืนต่อไป 

          ในภาพรวมของโครงการนี้ แม้เป็นการต่อยอดมาจากโครงการ ‘อ่านดอยสุเทพ’ ของเชียงใหม่ แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดให้เข้ากับบริบทของพื้นที่ใหม่ มีจุดเด่นคือเปิดพื้นที่ให้คนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนระดมความคิด สู่การอบรมให้ความรู้ และการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อต่อยอด โดยหนังสือนิทาน 2 เรื่องที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ ถือเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนว่านี่คือหนังสือเพื่อคนเชียงรายอย่างแท้จริง

          ผลผลิตรูปธรรมของโครงการ ‘อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกันเชียงราย’ คือสื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ในรูปแบบหนังสือนิทานจำนวน 2 เรื่อง ซึ่งสะท้อนถึงอัตลักษณ์ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรม อันเกิดจากการมีส่วนร่วมของชาวเชียงรายในทุกขั้นตอน คุณค่าของหนังสือนิทานเล่มบางๆ ได้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ในเขตเทศบาลนครเชียงรายและพื้นที่ใกล้เคียง มีเด็กปฐมวัยได้รับประโยชน์ถึง 5,887 คน

          นอกจากนี้ การส่งเสริมวิธีการใช้หนังสือนิทาน ด้วยวิธีการอบรมเชิงปฏิบัติการแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง นับว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ โดยผู้เข้าร่วมอบรมประมาณ 60 คน ซึ่งประกอบด้วยครูตามโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก นักการศึกษา นักกิจกรรม รวมถึงนักสื่อสารด้านการพัฒนาและส่งเสริมการอ่าน ได้กลายเป็นแกนนำในการถ่ายทอดความรู้ ส่งต่อไปยังเพื่อนครูในโรงเรียนหรือเพื่อนร่วมงานในองค์กรของตน ทำให้มีผู้ได้รับประโยชน์เฉพาะในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอีกนับร้อยคน นอกจากนี้ คณะทำงานยังได้กระจายหนังสือไปยังพื้นที่สาธารณะอีกกว่า 23 จุด อาทิ ห้องสมุด โรงพยาบาล ร้านกาแฟ เพื่อให้หนังสือเป็นที่รู้จักและเข้าถึงคนทั้งเมืองได้มากขึ้น

งานมหกรรม ‘เชียงราย เมืองแห่งการเรียนรู้’ ภายใต้แนวคิด ‘อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน’ เพื่อประชาสัมพันธ์ เผยแพร่นิทาน และหนังสือเล่มเล็ก อันเป็นผลผลิตจากการดำเนินงานของโครงการ ต่อยอดสู่การเรียนรู้ใหม่ๆ
งานมหกรรม ‘เชียงราย เมืองแห่งการเรียนรู้’ ภายใต้แนวคิด ‘อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน’ เพื่อประชาสัมพันธ์ เผยแพร่นิทาน และหนังสือเล่มเล็ก อันเป็นผลผลิตจากการดำเนินงานของโครงการ ต่อยอดสู่การเรียนรู้ใหม่ๆ

          ในกรณีของ ‘อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกันเชียงราย’ นั้น ถือว่าช่วยจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ทุกภาคส่วนในท้องถิ่น ซึ่งแต่เดิมมีความตั้งใจมุ่งมั่นในการทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน แต่อาจขาดพื้นที่และการสนับสนุนที่ดี ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนคือการปรากฏตัวของบุคคล กลุ่ม องค์กร ที่ทำงานส่งเสริมการเรียนรู้หรือพัฒนาเด็กและเยาวชน ได้เข้ามาร่วมคิดร่วมคุยและลงมือทำกิจกรรมร่วมกัน จะเดิมที่ต่างคนต่างทำ ได้เรียนรู้วิธีคิดและกระบวนการทำงานจากมุมมองที่หลากหลาย ช่วยทลายกรอบทางความคิดที่เคยเป็นอุปสรรค เกิดการประสานความร่วมมือ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ไม่จำกัดขอบเขตแค่การใช้นิทานหรือการส่งเสริมการอ่านเท่านั้น

          ยิ่งไปกว่านั้นคือ บุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย เริ่มมีการรวมตัวเป็นเครือข่ายอย่างหลวมๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การจัดตั้งเป็นกลุ่มภาคีเครือข่ายระดับจังหวัดต่อไป หากเป็นเช่นนั้นจริง โครงการนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ของผู้คนในท้องถิ่นที่มีรากฐานมาจากการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง และสามารถเป็นต้นแบบในแง่กระบวนการให้พื้นที่อื่นๆ นำไปปฏิบัติและต่อยอดได้ต่อไปในอนาคต

เด็กๆ ที่โรงเรียนเทศบาล 4 สันป่ากอ กำลังสนุกสนานไปกับนิทาน ที่มา : โรงเรียนเทศบาล 4 สันป่ากอ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
เด็กๆ ที่โรงเรียนเทศบาล 4 สันป่ากอ กำลังสนุกสนานไปกับนิทาน
Photo : โรงเรียนเทศบาล 4 สันป่ากอ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

ถอดบทเรียน อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน

          แม้ทั้งสองโครงการที่ไล่เรียงมา จะเป็นโครงการที่ได้แนวคิดมาจาก One Book One City แต่ไม่ผิดเลยหากจะกล่าวว่า ‘อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน’ ของไทย ทั้งกรณีของเชียงใหม่และเชียงราย ได้มีการประยุกต์แนวคิดและวิธีการดำเนินงานใหม่ ซึ่งแตกต่างไปจากต้นฉบับจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม

         ถ้าหาก One Book One City เป็นโครงการส่งเสริมการอ่านที่เรียกว่าเป็นนวัตกรรม เนื่องจากเป็นแนวคิดและกระบวนการที่คิดขึ้นใหม่ ถูกพัฒนาจนสามารถทำซ้ำได้ในหลายประเทศ ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่พึงปรารถนาในแนวทางใกล้เคียงกัน เช่นนี้แล้วโครงการ ‘โครงการอ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน’ ของไทย ก็สมควรเรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมส่งเสริมการอ่านได้เช่นกัน เพียงแต่เป็นนวัตกรรมที่ต่อยอดดัดแปลงจากนวัตกรรมก่อนหน้า

          สิ่งซึ่งจะบ่งบอกได้ว่าโครงการนี้มีลักษณะนวัตกรรมได้อย่างเต็มปาก คือการขยายผลทำซ้ำได้ในหลายพื้นที่ เพราะผลสำเร็จที่เกิดขึ้นเพียง 2 จังหวัดคือเชียงใหม่และเชียงราย นั้นคงยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องพิสูจน์ด้วยการดำเนินการในพื้นที่อื่นให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการดำเนินงานคู่ขนานไปพร้อมกันทั้งสองฟากฝั่ง

          ฝั่งหนึ่งคือกลุ่มคนหรือองค์กรที่ทำงานส่งเสริมการอ่านในจังหวัดอื่นๆ จะต้องลุกขึ้นมาทดลองจัดกิจกรรมต่างๆ ตามขั้นตอนจากต้นแบบด้วยตัวเอง มิใช่รอคอยองค์กรจากภายนอกพื้นที่เข้าไปรับเหมาทำแทน ขณะที่อีกฝั่งหนึ่ง คือกลุ่มคนที่ริเริ่มหรือองค์กรต้นแบบกิจกรรมที่ผ่านกระบวนการลองผิดลองถูกมาแล้ว ต้องถอดบทเรียน จัดการความรู้ และพัฒนาองค์ความรู้ให้ได้กระบวนการขั้นตอนที่รัดกุม เพื่อนำไปถ่ายทอดให้กับผู้ที่มีความต้องการ ทั้งในรูปแบบความรู้สาธารณะ การเป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษาหรือเป็นผู้นำกระบวนการ


เชิงอรรถ

[1] ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเรียนรู้ กิจกรรมที่ 2 ประสานงานเครือข่ายโรงเรียนอนุบาล/ประถม/มัธยม ในจังหวัดเชียงราย กิจกรรมที่ 3 ประชุมคณะทำงานปฏิบัติการส่งเสริมการอ่าน ‘อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน’ กิจกรรมที่ 4 การผลิตสื่อส่งเสริมการอ่าน ในรูปแบบของหนังสือนิทาน กิจกรรมที่ 5 จัดกิจกรรม ประกวดการทำหนังสือเล่มเล็กสำหรับเด็ก/เยาวชน กิจกรรมที่ 6 กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ เรียนรู้แนวคิดในการใช้นิทานอ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกันเพื่อการเรียนรู้ให้แก่ครูปฐมวัย ครูอนุบาล ผู้ดูแลเด็ก ครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กิจกรรมที่ 7 ขยายผลและติดตามการเล่านิทานอ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกันเพื่อการเรียนรู้ กิจกรรมที่ 8 กระจายหนังสือในพื้นที่สาธารณะ เพื่อการรับรู้รับทราบและเข้าถึงอย่างน้อย 10 จุด กิจกรรมที่ 9 จัดงานมหกรรม “เชียงราย เมืองแห่งการเรียนรู้” ภายใต้แนวคิด ‘อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน’ กิจกรรมที่ 10 เวทีสรุปบทเรียน และแนวทางการดำเนินงานในกลุ่มคนทำงานที่ร่วมปฏิบัติการส่งเสริมการเรียนรู้ ‘อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกันเชียงราย’ 

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก