Okayama Project สร้างทั้งเมืองให้เป็นห้องเรียนธรรมชาติสำหรับเด็ก

1,059 views
6 mins
April 4, 2023

          จังหวัดโอกายามะ ประเทศญี่ปุ่น มีประชากรราว 720,000 คน อยู่ห่างจากโตเกียวประมาณ 700 กิโลเมตร เมืองขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่แห่งนี้อยู่ในเขตภูมิอากาศอบอุ่นเหมาะต่อการอยู่อาศัย รอดพ้นจากวิกฤตภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งรุนแรงมาตลอด ไม่ว่าจะเป็น พายุไต้ฝุ่น หรือแผ่นดินไหว

          นอกจากนี้ โอกายามะยังเข้าร่วมเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ (UNESCO Learning City) และส่งเสริมการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for Sustainable Development : ESD) อย่างเข้มแข็ง ด้วยการใช้ระบบ ‘Whole City’ หรือให้ทั้งเมืองเป็นเหมือนห้องเรียนธรรมชาติของเด็กๆ มาตั้งแต่ปี 2015 จนเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบด้าน ESD ให้กับเมืองอื่นๆ ในญี่ปุ่น

          การศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในโอกายามะ เริ่มต้นตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาผ่านกิจกรรมสนุกที่เรียกว่า ‘ขุมทรัพย์มนุษย์’ ก่อนจะขยับไปสู่ระดับมัธยม มหาวิทยาลัย โดยทั้งภาครัฐ เอกชน ต่างร่วมแรงร่วมใจ ผลักดันให้โอกายามะเป็นหนึ่งในต้นแบบด้าน ESD อย่างแท้จริง

กระจายอำนาจการออกแบบการศึกษา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

          การศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ESD) มีเป้าหมายคือให้ผู้เรียนได้รับความรู้ ทักษะ ค่านิยม และทัศนคติที่จำเป็นต่อความท้าทายใหม่ๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

          ในปี 2005 เทศบาลจังหวัดโอกายามะจัดตั้งคณะกรรมาธิการด้าน ESD (Okayama ESD Promotion Commission) และริเริ่มโครงการ ‘Okayama ESD Project’ ขึ้นมา โดยเทศบาลจังหวัดทำหน้าที่เป็นเพียง ‘ผู้ส่งเสริมและสนับสนุน’ ด้านองค์ความรู้หรือด้านการเงิน  ตามหลักกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่น ในขณะที่การออกแบบรูปแบบการเรียนรู้จะขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่โดยตรง ไม่ว่าจะภาคเอกชน สถาบันการศึกษา กลุ่มประชาสังคม หรือ NGOs

          ห้องเรียนเรื่องความยั่งยืนของโอกายามะจึงกว้างขวางกินอาณาเขตทั่วทั้งเมือง เพราะเด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้จากทุ่งนา ท้องไร่ ห้างสรรพสินค้า หมู่บ้าน และจากบุคคลสำคัญในพื้นที่ โดยเนื้อหาที่แทรกไปในหลักสูตรนั้น เป็นประเด็นเฉพาะพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาชีพ ภัยธรรมชาติ หรือเศรษฐกิจชุมชน

Okayama Project เมืองญี่ปุ่นอุ่นสบาย ทุกฝ่ายผนึกกำลังสร้างห้องเรียนธรรมชาติให้เด็กๆ
Photo : Okayama ESD Promotion Commission

ห้องเรียนธรรมชาติผ่าน “ขุมทรัพย์มนุษย์”

          การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของเยาวชนระดับชั้นประถมศึกษาในจังหวัดโอกายามะเป็นไปในทิศทางที่หลากหลาย แต่ที่ได้รับรางวัลอันดับที่ 7 ในการออกแบบห้องเรียน ESD จากประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2016 คือ โรงเรียนประถมศึกษาไดซันฟูจิตะ (Daisan Fujita Elementary School) 

          การเรียนการสอนในโรงเรียนแห่งนี้ สอดแทรกแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ไปจนถึงปีที่ 6 โดยเนื้อหาการเรียนรู้ตลอด 3 ปีจะเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงอยู่ภายใต้ร่มใหญ่คันเดียวกัน แต่เนื้อหาในแต่ละระดับชั้นจะถูกออกแบบให้เหมาะสมกับช่วงวัย 

          เด็กๆ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จะเริ่มต้นด้วยกิจกรรม ‘เรามาหาขุมทรัพย์มนุษย์กันเถอะ’ เป็นกิจกรรมที่ออกแบบให้เด็กนักเรียนได้มาเรียนรู้และรู้จักกับผู้เฒ่าผู้แก่หรือปราชญ์ชาวบ้าน ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งของชุมชน เช่น การไปเยี่ยมชมคุณปู่คุณย่าที่ทำฟาร์มปลูกข้าว หรือเรียนรู้การจับปลา เป็นต้น

          ในขณะที่เด็กประถมศึกษาปีที่ 4 จะเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและโลกสีเขียวมากขึ้น เช่น วิธีการแยกขยะและการรีไซเคิลที่ถูกวิธี ภายใต้หัวข้อ ‘ขยะคืออะไร?’ 

          สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เด็กๆ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเกษตรกรรมท้องถิ่นร่วมกับสหกรณ์แห่งชาติประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ได้ทดลองปลูกข้าวด้วยตัวเองเพื่อตอบคำถามที่หลักสูตรตั้งเอาไว้ให้ค้นหาคำตอบ ‘ฟูจิตะ (ชื่อเขตในโอกายามะ) จำเป็นต้องทำการเกษตรหรือไม่?’

          และเมื่อเด็กๆ ขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก็จะถูกสอนให้มองการณ์ไกลกว่าจังหวัดโอกายามะ หรือประเทศญี่ปุ่น กล่าวคือต้องมองไปถึงระดับโลก เพื่อค้นหา ‘ความสุขที่ยั่งยืน’​ โดยพี่ๆ ป.6 จะได้เรียนรู้จากหน่วยงาน NGOs ระดับนานาชาติ อย่างองค์กร ‘Heart of Gold’ ซึ่งมีการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ และให้โอกาสนักเรียนได้สื่อสารกับเพื่อนจากต่างประเทศ

          เรียกได้ว่าเด็กๆ เรียนรู้ผ่านทรัพยากรและกิจกรรมที่หลากหลายในหลักสูตรพื้นฐาน หลังจากนั้นก็ต่อยอดด้วยการเรียนรู้นอกห้องเรียน เวียนไปตามชุมชนเพื่อสนุกกับแหล่งข้อมูลต่างๆ จากผลลัพธ์ที่ผ่านมาโครงการนี้มีแนวโน้มสูงที่จะสร้างกำลังสำคัญให้กับท้องถิ่น และที่สำคัญคือให้กับครอบครัวของพวกเขาเอง

เหล่านักเรียนชั้นประถมในโอกายามะ กำลังดำเนินกิจกรรม ESD ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ชุมชนและสังคม

จากการเรียนรู้ในห้องเรียนธรรมชาติ สู่ภาคปฏิบัติ

          การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของโรงเรียนประถมศึกษาไดซันฟูจิตะ มีเนื้อหาการเรียนการสอนที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับที่อื่นๆ แต่ถูกออกแบบให้มีรายละเอียดที่แตกต่างหลากหลาย มายูมิ อิตาคูระ (Mayumi Itakura) หนึ่งในบุคคลสำคัญที่ร่วมส่งเสริมการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในโรงเรียนตั้งแต่ปี 2009 เล่าว่าการออกแบบการเรียนการสอนไม่ได้เกิดผลแค่ในรั้วโรงเรียนเท่านั้น แต่ได้สร้างแรงกระเพื่อมในใจเด็กๆ ในจังหวัดโอกายามะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

          “เมื่อก่อนเวลาเด็กนักเรียนเดินผ่านทุ่งข้าว พวกเขาก็จะสงสัยแค่ว่าปลูกต้นอะไรตรงนี้ แต่หลังจากพวกเขาได้เรียนคลาสการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกับเรา พวกเขาเริ่มสนใจว่า ทุ่งข้าวที่เห็นคือข้าวชนิดใด โตได้อย่างไร บางคนกระตือรือร้นถึงขั้นอยากจะกลับไปเทคโอเวอร์กิจการปลูกข้าวต่อจากครอบครัว”

          คอร์สขุมทรัพย์มนุษย์ของโรงเรียนแห่งนี้ ก้าวไปไกลกว่าการเรียนรู้เรื่องเกษตรกรรม การรักษาสิ่งแวดล้อม ลดขยะ และพร้อมรับมือกับสภาวะเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เพราะหลักสูตรได้พาเด็กๆ ไปถึงแนวคิดเศรษฐศาสตร์สีเขียว อิตาคูระเล่าว่าแรงบันดาลใจในชั้นเรียน นำไปสู่การปฏิบัติที่เข้มแข็ง หลังจากที่คุณครูและนักเรียนมานั่งปรึกษากันว่า ควรทำอะไรต่อหลังจากได้เรียนรู้เรื่องเกษตรกรรมในพื้นที่ไปแล้ว เด็กๆ เสนอว่า ควรทำข้าวกล่องที่ใช้วัตถุดิบปรุงอาหารในท้องถิ่นจากเขตฟูจิตะ แล้วจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อขยายผลให้ชัดเจนขึ้น 

          นี่คือจุดเริ่มต้นของการขยายโปรเจกต์ เธอพานักเรียนไปร่วมเรียนวิชาคหกรรมศาสตร์ ที่โรงเรียนมัธยมซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างออกไป เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วิธีการทำเบนโตะ โดยใช้วัตถุดิบประกอบอาหารจากในพื้นที่ หลังจากนั้น นักเรียนยังลงมือเป็นนายแบบนางแบบ ถ่ายภาพนิ่งเพื่อทำโปสเตอร์ จนถึงวาดฝีไม้ลายมือเขียนสคริปต์และถ่ายทำคลิปโฆษณาเพื่อประชาสัมพันธ์ข้าวสายพันธุ์ที่ปลูกในท้องที่เองด้วย 

          ปัจจุบันผลงานทั้งในรูปแบบโปสเตอร์และคลิปโฆษณาได้ถูกเผยแพร่เป็นที่เรียบร้อยแล้วบนเว็บไซต์ของจังหวัดโอกายามะ 

          “เมื่อคุณสามารถทำความคิดให้กลายเป็นจริง มันจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับคุณ และเมื่อคุณได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง คุณต้องเปลี่ยนความรู้ให้กลายเป็นสิ่งที่คุณจะได้ประโยชน์” อิตาคูระทิ้งท้าย

Okayama Project เมืองญี่ปุ่นอุ่นสบาย ทุกฝ่ายผนึกกำลังสร้างห้องเรียนธรรมชาติให้เด็กๆ
Photo : Okayama ESD Promotion Commission

จากห้องเรียนธรรมชาติในเมืองอบอุ่น สู่โลกกว้าง

          การออกแบบการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในจังหวัดโอกายามะ ไม่ได้ถูกจำกัดให้อยู่แค่ในกรอบของทักษะหรือความรู้ระดับท้องถิ่นเท่านั้น แต่คณะกรรมาธิการส่งเสริมการเรียนรู้ยังให้ความสำคัญกับทักษะการเป็นพลมืองโลกควบคู่กันไปด้วย

          หนึ่งในลักษณะเฉพาะของการจัดการเรียนรู้ด้านความยั่งยืนของโอกายามะ คือการใช้ศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน (Community Learning Center – CLC) ที่ตั้งอยู่ในโรงเรียน และมีมากถึง 37 แห่ง เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ศูนย์เหล่านี้ติดต่อสื่อสาร สร้างเครือข่าย และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ หรือเทคนิคเชิงปฏิบัติกับ CLC ในต่างประเทศอยู่เสมอ นับตั้งแต่ปี 2007 ที่โอกายามะเป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องของการเรียนรู้ในชุมชนและความยั่งยืน เยาวชนจึงไม่ขาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับโลกกว้างนอกพื้นที่จังหวัดของตน

          อีกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการให้ความสำคัญกับทักษะสากลคือ โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายโอกายามะอิจิโนมิยะ (Okayama Ichinomiya High School) ร่วมมือกับ UNESCO และองค์กรหรือห้างร้านต่างๆ พาเด็กนักเรียนออกไปศึกษาวิถีชีวิต วัฒนธรรม และธุรกิจนอกพื้นที่ เพื่อให้เด็กๆ ก้าวทันโลกกว้าง

          คินาริ ยามาซากิ (Kinari Yamasaki) นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 หนึ่งในตัวแทนของโครงการดังกล่าว ได้เข้ารับการอบรมที่จัดขึ้นร่วมกันระหว่าง UNESCO และห้างสรรพสินค้า AEON สาขาในจังหวัดโอกายามะ เพื่อเรียนรู้เรื่องธุรกิจระหว่างประเทศที่ยุติธรรมและเท่าเทียมผ่านกระบวนการผลิตร่ม นอกจากนี้ยามาซากิยังได้รับโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศกัมพูชา เพื่อศึกษาวิธีการผลิตร่มด้วยตัวเอง ทริปเล็กๆ ครั้งนี้ได้กลายเป็นบทเรียนชีวิตบทใหม่ที่เปลี่ยนแนวคิดของเธอที่มีต่อโลกทั้งใบไปจากเดิม

          “ฉันได้รับแรงบันดาลใจจากการได้เห็นเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันแสดงความคิดเห็นและจุดยืนของตัวเองอย่างกระตือรือร้น ทำให้ฉันอยากหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องในญี่ปุ่นให้มากขึ้น และเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยด้วยมุมมองที่เป็นสากล” ยามาซากิกล่าว

          สิ่งที่ยามาซากิคาดหวังสามารถเกิดขึ้นได้ที่ในจังหวัดโอกายามะ เมื่อคณะกรรมาธิการฯ ของจังหวัดเริ่มส่งเสริมการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับมหาวิทยาลัยด้วย มีทั้งการฝึกอบรม หรือเวิร์กชอปแบบไม่คิดค่าใช้จ่าย และโครงการฝึกงานตามความสนใจ ซึ่งนักศึกษาจะได้ทำงานร่วมกับองค์กรท้องถิ่น ร้านค้าเอกชน และ NGOs ทั้งระดับประเทศและระหว่างประเทศ โดยมีเป้าหมายคือให้นักศึกษาทุกคนสามารถเชื่อมโยงความคิด และมีส่วนร่วมกับการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญคือการทำให้เมืองโอกายามะเป็นแบบอย่างของเมืองอื่นๆ ทั่วโลก        

          ปัจจุบัน Okayama ESD Project มีสมาชิกเข้าร่วมแล้วกว่า 350 องค์กร ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ บริษัทเอกชน NGOs สถาบันวิชาการ หรือแม้กระทั่งร้านเล็กร้านน้อย ส่งผลให้มีสมาชิกทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็กประถม วัยแรงงาน หรือผู้สูงอายุ

          “ใครคนใดคนหนึ่งไม่อาจผลักดันวิสัยทัศน์นี้ให้แพร่หลายได้ แต่เมื่อเทศบาลกระตือรือร้นที่จะสร้างความร่วมมือกับโรงเรียนหรือกับกลุ่มประชาสังคม ก็จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่” 

          ฮิโรฟุมิ อาเบะ (Hirofumi Abe) รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยโอกายามะ และประธานคณะกรรมาธิการเพื่อส่งเสริมการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวทิ้งท้าย

Okayama Project เมืองญี่ปุ่นอุ่นสบาย ทุกฝ่ายผนึกกำลังสร้างห้องเรียนธรรมชาติให้เด็กๆ
Photo : Okayama ESD Promotion Commission

ที่มา

บทความ “​Okayama City” จาก uil.unesco.org (Online)

บทความ “Okayama ESD Promotion Commission​” จาก unesco.org (Online)

บทความ “Okayama: A city united for education for sustainable development” จาก unesco.org (Online)

รายงาน “Okayama ESD Project Fundamental Plan” จาก city.okayama.jp (Online)

Cover Photo : 岡山esdプロジェクト

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก