โควิดเป็นเหตุ
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ในประเทศไทย ทำให้ทุกคนต้องปรับตัว เช่นเดียวกับห้องสมุดคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ต้องปิดพื้นที่ให้บริการ ผู้เขียนจึงออกแบบบริการที่ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงสิ่งพิมพ์ทางวิชาการและฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่มีให้บริการในห้องสมุดได้ โดยใช้ชื่อว่า ‘NS Reference Delivery’
แรงบันดาลใจในการพัฒนาบริการนี้ เกิดจากความประทับใจที่ผู้เขียนเคยไปฟังการนำเสนอผลงานของห้องสมุดแห่งหนึ่งในภาคเหนือ ในที่ประชุมทางวิชาการระดับชาติ PULINET 2560 ซึ่งได้เล่าถึงการพัฒนาการบริการเชิงรุกจากห้องสมุดสู่ห้องเรียน โดยเริ่มจากการประสานงานกับอาจารย์ผู้สอน เพื่อขอข้อมูลหัวข้อที่อาจารย์สอนนักศึกษาในแต่ละคาบเรียนล่วงหน้า และนำหัวข้อนั้นมาสืบค้นข้อมูลหนังสือ วารสาร และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Books) ที่มีให้บริการในห้องสมุด รวมทั้งข้อมูลทางวิชาการที่เผยแพร่ในระบบอินเตอร์เน็ต
เมื่อถึงชั่วโมงเรียนดังกล่าว เจ้าหน้าที่ห้องสมุดจะนำสิ่งพิมพ์วางบนรถเข็น รวมทั้งเตรียมไฟล์ที่รวบรวมข้อมูลเฉพาะเรื่องที่สอนในคาบวิชานั้นไปให้บริการถึงในห้องเรียน พบว่า ทั้งนักศึกษาและอาจารย์มีความพึงพอใจมากต่อรูปแบบการให้บริการนี้
ผู้เขียนจึงมีแนวคิดที่จะทำบรรณานุกรมประกอบการเรียนการสอนให้กับรายวิชาของหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นงานที่บุคลากรห้องสมุดสามารถทำจากที่บ้านได้ (Work From Home) และพัฒนาบริการเสริมคือ ‘Home Delivery’ เป็นบริการที่อำนวยความสะดวกให้นักศึกษาและอาจารย์สามารถแจ้งความต้องการขอยืมหนังสือผ่านระบบออนไลน์ โดยตรวจสอบข้อมูลหนังสือที่ต้องการยืมจากเว็บไซต์ห้องสมุด เมื่อเจ้าหน้าที่ห้องสมุดได้รับรายการขอยืมหนังสือ จะเป็นผู้ค้นหาหนังสือจากชั้น ทำยืมและส่งหนังสือไปให้ทางไปรษณีย์ โดยให้บริการฟรีสำหรับนักศึกษาสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล
เดือนมีนาคม 2563 ผู้เขียนได้ทำโครงการและนำเสนอรองคณบดีฝ่ายการศึกษา เพื่อเตรียมออกแบบบริการให้สอดคล้องกับความต้องการมากที่สุด ซึ่งได้รับคำแนะนำว่า บรรณานุกรมที่ทำนั้นควรสอดคล้องกับหัวข้อในคำอธิบายรายวิชา เมื่อทำบรรณานุกรมแล้ว ขอให้สามารถนำข้อมูลไปใช้อ้างอิงได้ตามรูปแบบของการเขียนบรรณานุกรมแบบ APA โดยที่ปีพิมพ์ไม่ควรเกิน 10 ปีย้อนหลัง นอกจากข้อมูลสิ่งพิมพ์แล้ว ควรมีข้อมูลหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Books) และวารสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Journals) ที่เชื่อมโยงข้อมูล URL Link ให้ผู้ใช้บริการสามารถ download ข้อมูลฉบับเต็ม (Full text) ได้ด้วย
ที่มาของชื่อ
บริการ ‘NS Reference Delivery’ นั้นมีความหมายดังนี้
‘NS’ คือ ตัวอักษรย่อของ Nurse Siriraj หมายถึง คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
‘Reference’ หมายถึงข้อมูลทางบรรณานุกรมของหนังสือภาษาไทย หนังสือภาษาอังกฤษ หนังสือและวารสารอิเล็กทรอนิกส์ประกอบการเรียนการสอนเฉพาะรายวิชา
‘Delivery’ คือการส่งข้อมูลบรรณานุกรมให้แก่อาจารย์ผู้สอนและนักศึกษาในแต่ละรายวิชาโดยตรง และถ่ายโอนข้อมูลให้บริการบนเว็บไซต์ห้องสมุด นอกจากนี้ยังมีการทำ URL Link ให้นักศึกษาและอาจารย์สามารถแจ้งขอยืมหนังสือผ่านระบบออนไลน์ โดยเจ้าหน้าที่ห้องสมุดจะเป็นผู้ค้นหนังสือและทำยืมให้แก่ผู้แจ้งขอรับบริการและส่งหนังสือให้ทางไปรษณีย์
ทีมที่เข้มแข็ง นำไปสู่ความสำเร็จ
การพัฒนาบริการ Nursing Reference Delivery นี้ เริ่มจากการรวมทีมจำนวน 3* คน ซึ่งเป็นบรรณารักษ์และนักเอกสารสนเทศ ต่อมามีการออกแบบการนำเสนอข้อมูลบรรณานุกรมโดยใช้โปรแกรม Excel กำหนดหัวข้อเพื่อบันทึกข้อมูลลงในแบบฟอร์มร่วมกัน กำหนดชื่อแผ่นงาน (Sheet) ในโปรแกรมตามประเภทของข้อมูลบรรณานุกรม หลังจากนั้นวิเคราะห์เนื้อหาโดยศึกษาคำอธิบายรายวิชาเพื่อกำหนดคำสำคัญสำหรับนำไปสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลทรัพยากรสารสนเทศห้องสมุดในระบบออนไลน์ รวบรวมข้อมูลบรรณานุกรมของหนังสือภาษาไทย หนังสือภาษาอังกฤษ ปีพิมพ์ไม่เกิน 10 ปีย้อนหลังที่มีให้บริการในห้องสมุดทุกแห่งของมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมระบุรหัสของห้องสมุด
ในช่วงเริ่มต้น ทีมงานได้วางแผนทำบรรณานุกรมสำหรับรายวิชาจำนวน 1 วิชา โดยเลือกวิชาทักษะพื้นฐานทางการพยาบาล เนื่องจากเป็นวิชาแรกที่นักศึกษาพยาบาลเริ่มเรียนในชั้นปีที่ 2 หากนักศึกษาได้รับความสะดวกในการค้นคว้าข้อมูล น่าจะทำให้เกิดความประทับใจและมีกำลังใจในการศึกษารายวิชาอื่นต่อไป
สำหรับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ จะคัดลอก URL Link และภาพปกของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สามารถใช้เม้าส์คลิกที่ภาพปกหนังสืออิเล็กทรอนิกส์แล้วเชื่อมโยงไปยังข้อมูลฉบับเต็ม (Full Text) สำหรับวารสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Journals) จะคัดลอกชื่อวารสารพร้อม URL Link เพื่อให้เข้าถึงวารสารอิเล็กทรอนิกส์ฉบับนั้นๆ ได้
ในการคัดเลือกรายการบรรณานุกรมจากฐานข้อมูลห้องสมุด มีการทำงานเชื่อมโยงกับโปรแกรม EndNote เพื่อจัดการรายการทางบรรณานุกรมให้เป็นรูปแบบ APA หลังจากนั้นรวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลตามประเภทของรายการบรรณานุกรมและตามลำดับตัวอักษร ดังตัวอย่าง
เผยแพร่ ฟังเสียงลูกค้า
ผู้เขียนได้จัดกิจกรรมแนะนำและฝึกปฏิบัติวิธีการค้นข้อมูลบริการ NS Reference Delivery ให้แก่นักศึกษาทุกหลักสูตร รวมทั้งประชาสัมพันธ์ทางสื่อสังคมออนไลน์ทุกช่องทาง
สำหรับการแนะนำบริการแก่อาจารย์นั้น ได้จัดกิจกรรมในวันประชุมภาควิชาในแต่ละเดือน โดยแนะนำให้อาจารย์ใช้สมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ตในการทดลองค้นข้อมูล ปรากฏว่าอาจารย์มีความพึงพอใจและได้ผลตอบรับที่ดีมาก ผลประเมินความพึงพอใจบริการนี้โดยภาพรวม พบว่า นักศึกษาและอาจารย์ จำนวน 117 คน มีความพึงพอใจในระดับมากขึ้นไป ร้อยละ 97.40
จากการฟังเสียงของผู้ใช้บริการ พบว่าผู้ใช้บริการมีความพึงพอใจบริการนี้ โดยเฉพาะในด้านความสะดวก การใช้งานง่าย ค้นข้อมูลสิ่งพิมพ์ได้ตามชื่อรายวิชา มีบริการส่งหนังสือให้ถึงที่บ้าน ไม่ต้องเดินทางไปใช้บริการที่ห้องสมุด สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) สามารถอ่านข้อมูลฉบับเต็ม (Full Text) ของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ( E-Books) และวารสารอิเล็กทรอนิกส์ ( E-Journals) ได้ทันที
ผู้ใช้บริการมีข้อเสนอแนะให้ทำสื่อแนะนำวิธีการใช้บริการนี้อย่างละเอียด เพื่อให้ศึกษาได้ตลอดเวลา และควรมีการปรับปรุงข้อมูลบรรณานุกรมอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
พัฒนา ต่อเนื่อง
ทีมงานได้จัดทำบรรณานุกรมสำหรับรายวิชาอื่นๆ ในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต และอัปโหลดข้อมูลให้บริการบนเว็บไซต์ห้องสมุดอย่างต่อเนื่อง
จากประสบการณ์การพัฒนาบริการ NS Reference Delivery ทำให้เกิดการเรียนรู้คือ เมื่อทำบรรณานุกรมแต่ละรายวิชาเสร็จแล้ว ควรตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด ก่อนส่งไฟล์ข้อมูลไปให้อาจารย์หัวหน้ารายวิชาเป็นผู้พิจารณาความสอดคล้องและความเหมาะสมของบรรณานุกรมที่สนับสนุนการเรียนการสอนของแต่ละรายวิชา หลังจากนั้นทีมงานควรปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำ เนื่องจากผู้ร่วมพัฒนาบริการนี้มีหลายคน หัวหน้าทีมต้องมีความละเอียดรอบคอบ ทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลบรรณานุกรมทุกรายวิชา และความถูกต้องของการอ้างอิงแบบ APA โดยเฉพาะการเชื่อมโยง URL Link กับภาพปกหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Books) และชื่อวารสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Journals) จะต้องใช้ Permalink ซึ่งเป็น URL Link ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลฉบับเต็ม (Full text) ได้ทุกครั้งที่ค้นข้อมูล
นอกจากนี้ ควรตรวจสอบการเชื่อมโยงข้อมูลฉบับเต็มเป็นระยะ เพราะ URL Link อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ และควรทำแผนกำหนดระยะเวลาในการปรับปรุงข้อมูลบรรณานุกรม (Update) ทั้งในด้านการเพิ่มเติมข้อมูลบรรณานุกรมที่มีการจัดซื้อใหม่เป็นระยะ และด้านปีพิมพ์ของบรรณานุกรม เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี ควรตัดทอนรายการบรรณานุกรมปีพิมพ์เก่าบางรายการ
ผลงานเป็นที่ประจักษ์
เดือนมิถุนายน 2563 งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหิดล ได้เชิญชวนหน่วยงานในคณะพยาบาลศาสตร์ ส่งผลงานร่วมประกวดตามโครงการแนวปฏิบัติที่ดีสู่การพัฒนาคุณภาพงานสำหรับหน่วยงานสนับสนุน ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2563 โดยกำหนดให้นำเสนอผลงานในรูปแบบของคลิปวิดีโอ ผู้เขียนจึงได้ส่งโครงการบริการ NS Reference Delivery นี้เข้าร่วมประกวด ผลปรากฏว่าได้รับโล่รางวัล Show Case Best Practice และประกาศนียบัตรจากท่านคณบดี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหิดล ในวันที่ 8 กันยายน 2563
นอกจากการจัดกิจกรรมแนะนำบริการภายในหน่วยงานแล้ว ผู้เขียนได้ประชาสัมพันธ์บริการนี้ในระดับมหาวิทยาลัย ในที่ประชุมคณะกรรมการประจำหอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้รับคำชมเชยว่าเป็นตัวอย่างของบริการเชิงรุกที่ดี โดยผู้เขียนได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษาให้แก่กลุ่มชุมชนนักปฏิบัติ ‘Library to Classroom’ ของหอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ตามโครงการจัดทำบรรณานุกรมให้กับรายวิชาที่เปิดสอนในคณะ/สถาบันต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ถึงปัจจุบัน รวมทั้งได้นำเสนอผลงานนี้ ในการประชุมออนไลน์หัวหน้าห้องสมุดสังกัดสถาบันการศึกษาทางการพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ จำนวน 32 แห่ง เพื่อเป็นตัวอย่างการพัฒนาบริการพิเศษของห้องสมุดเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนในระบบออนไลน์
บทสรุป
บริการ NS Reference Delivery จากห้องสมุดสู่ห้องเรียน ทำให้ผู้รับบริการเข้าถึงห้องสมุดได้ทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา และทุกสถานการณ์ จากจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจในการพัฒนางาน สู่ความสำเร็จของผลงานและเสียงตอบรับจากลูกค้าที่มีความพึงพอใจต่อบริการนี้ เป็นกำลังใจที่ทำให้ทีมงานอยากพัฒนาผลงานให้มีคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
น.ส. สุรางค์ ศิโรโรตม์สกุล หัวหน้างานห้องสมุดคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
น.ส. ยุพิน ยังสวัสดิ์ บรรณารักษ์ห้องสมุดคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
น.ส. นิภาพร เดชะ นักเอกสารสนเทศห้องสมุดคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล