น.นพรัตน์: มังกรคู่ในนามอันโดดเดี่ยว

1472 views
7 mins
July 23, 2024

          อำนวย ภิรมย์อนุกูล หรือ น.นพรัตน์ เริ่มต้นวันด้วยการรินน้ำลงบนโต๊ะเขียนหนังสือก่อนจะพับผ้าเป็นทบสี่เหลี่ยม บรรจงเช็ดทั่วโต๊ะทำงานเหมือนด็อกเตอร์ชิวาโก

          “ผมเข้าใจว่าตัวเองเป็นคนหัวโบราณและคร่ำครึ สมัยก่อนผมดูภาพยนตร์เรื่อง ด็อกเตอร์ชิวาโก ฉากหนึ่งในหนัง ด็อกเตอร์ชิวาโกพบกับความผิดหวังหรือยังไงก็จำไม่แน่ชัด แกหยิบผ้าเช็ดโต๊ะมาเช็ดโต๊ะทำงาน ผมก็เลยติดนิสัยมาจากด็อกเตอร์ชิวาโก เวลาจะทำงานต้องเทน้ำลงโต๊ะทำงานแล้วเอาผ้าเช็ดโต๊ะ กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังติดนิสัยเดิมที่เคยทำมาตลอด” น.นพรัตน์ บอก

          ตารางทำงานของนักแปลวรรณกรรมจีนผู้นี้เคร่งครัดและมีวินัยเหมือนจอมยุทธ์หนุ่มฝึกหัดวิทยายุทธ เขาเริ่มงานในเวลา 9.00 น. หยุดพักกินข้าวตอน 12.00 น. เริ่มงานช่วงบ่ายก่อนจะตอกบัตรออกจากงานในเวลา 17.00 น.

          “โดยปกติจะไม่มีวันหยุด แต่ระยะหลังเริ่มจะหยุดบ้าง เพราะต้องพาหลานไปเที่ยว แต่สมัยก่อนไม่มีวันหยุด ทำงานตลอด ยกเว้นวันตรุษจีน” น.นพรัตน์ บอก

          เป็นเวลากว่า 56 ปีที่ชายวัย 72 ยังคงทำงานแปลอย่างต่อเนื่อง เขาทำงานเหมือนหายใจ

          “ทุกวันนี้ ผมพยายามแปลให้ได้เดือนละ 2 เล่ม ประมาณ 560 หน้ากระดาษฟุลสแก๊ป ถ้าเจอเล่มง่ายๆ เดือนละ 3 เล่มก็ยังทำไหว อย่างเล่ม หาญท้าชะตาฟ้า ปริศนายุทธจักร เป็นเล่มที่ผมชอบมาก สำนักพิมพ์ก็ยุให้ผมทำ 3 เล่มต่อเดือน ผมก็ทำจนคนอ่านบ่นว่าซื้อไม่ทันแล้ว” เขาหัวเราะ

          น.นพรัตน์ ยังคงใช้ปากกาหมึกซึมเขียนด้วยลายมือลงในกระดาษฟุลสแก๊ป เหมือนเมื่อวันแรกที่แปลนวนิยายจีนเล่มแรกคู่กับ อานนท์ พี่ชายผู้วายชนม์ของเขา

น.นพรัตน์: มังกรคู่ในนามอันโดดเดี่ยว

          ปี 2508 ทั้งสองเริ่มต้นงานแปลด้วยกันในนาม ‘อ.ภิรมย์’ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น น.นพรัตน์ ในปีถัดมา พร้อมกับออกท่องยุทธภพแปลวรรณกรรมจีนเต็มเวลา วิธีการทำงานของสองพี่น้อง เริ่มจาก
น้องชายอ่านต้นฉบับภาษาจีนและแปลให้พี่ชายเขียนลงบนกระดาษฟุลสแก๊ป

          “ผมจะเป็นคนดูต้นฉบับภาษาจีน พี่ชายจะเป็นคนเขียนลงกระดาษฟุลสแก๊ป ระหว่างนั้นก็ปรับปรุงสำนวน ขัดเกลาไปในตอนนั้นเลย พอตกกลางคืนก็ตรวจทานอีกครั้งค่อยนำส่งโรงพิมพ์”

          ระหว่างการทำงาน ย่อมมีบ้างที่สองพี่น้องเห็นต่างกัน แต่ทุกอย่างจะยุติ เมื่อปรากฏสำนวนแปล
บนกระดาษฟุลสแก๊ป

          “ถกเถียงกัน ผมแปลออกมา เขาไม่ชอบสำนวน ก็แก้ไข ข้อสรุปจะจบเมื่อพี่ชายของผมเขียนลงกระดาษ ก็เป็นอันยุติ พอตกกลางคืนก็มาขัดเกลาต้นฉบับกันอีกทีหนึ่ง ก็ทำแบบนั้นเรื่อยมาจนปี 2543 พี่ชายเสีย ผมเลยต้องทำคนเดียว”

          จอมยุทธ์ที่แท้ไม่เคยหยุดฝึกฝน คนคนหนึ่งทำสิ่งเดิมซ้ำๆ มา 5 ทศวรรษ แต่สิ่งซ้ำเดิมไม่ใช่เรื่องเดียวกับความหยุดนิ่งไม่แปรเปลี่ยน ในชีวิตการทำงานแปลของ น.นพรัตน์ ผ่านความเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในมาโดยตลอด

          “ผมเริ่มทำงานในยุคสมัยที่ทองบาทละ 400 ปีนั้นเป็นปี 2508 งานในยุคนั้นผมใช้คำจำกัดความว่า ‘วรรณกรรมเร่งรีบ’ ในตอนนั้นตลาดหนังสือนิยายจีนมีพวกเรากับพี่ ว. ณ เมืองลุง ต่างคนต่างออกหนังสือวันละเล่ม สมัยนั้นคือเล่มละ 96 หน้า ขนาด 16 หน้ายก พี่ ว. ใช้พิมพ์ดีด ต้นฉบับก็ตกประมาณเล่มละ 30 หน้า ผมใช้กระดาษฟุลสแก๊ป ต้นฉบับมีประมาณ 40 หน้า” น.นพรัตน์ บอกเล่าช่วงเวลาที่แปลนิยายวันละเล่ม

          นิยายหลายเรื่อง นักแปลยังอ่านไม่จบก็ต้องลงมือแปลแล้ว เพราะหากชักช้า กระบี่ของ
จอมยุทธ์ต่างสำนักก็ออกจากฝักก่อนแล้ว

          “บางเรื่องเราอ่านไม่จบก็ต้องแปลแล้ว เนื่องจากเร่งรีบ ถ้าไม่แปล พี่ ว. ณ เมืองลุง ก็อาจจะเอาไปแปลก่อน เราแปลซ้ำกันหลายเรื่อง” เขาบอก

น.นพรัตน์: มังกรคู่ในนามอันโดดเดี่ยว

          ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2510 ร้านเช่าหนังสือเติบโตและเป็นทางเลือกสำคัญของนักอ่าน ซึ่งเป็นโอกาสของหนังสือนิยายจีน

          “หนังสือในช่วงนั้นจะพิมพ์ประมาณ 3,000 เล่ม ร้านเช่าเอาไปแล้ว 1,000 เล่ม ก็ทำให้เราเท่าทุนแล้ว ร้านหนังสือให้เช่าเยอะมาก ร้านที่มีชื่อเสียงคือร้านบุศยพรรณ” เขาเล่าถึงช่วงเวลาที่ล่วงพ้นไปแล้ว

          อานนท์กับอำนวยเริ่มสร้างผลงานออกสู่ยุทธภพสิ่งพิมพ์ ในยุคตลาดหนังสือเล่มบูม สองพี่น้องฝากผลงานแปลไว้กับ สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ สำนักพิมพ์บันดาลสาส์น และสำนักพิมพ์บรรณกิจ แต่ยามที่ตลาดหนังสือซบเซา ทั้งสองต้องออกเดินทางเพื่อควานหาเจ้าสำนักต่างๆ ในการเผยแพร่ผลงาน

          “ช่วงนั้นเราแปลเรื่อง ประกาศิตบุปผา ลงในหนังสือพิมพ์ ไทยเดลี่ พอเรื่องจบค่อยรวมเล่มเป็นพ็อกเกตบุ๊ก ประมาณ 35 เล่มจบ ตอนนั้นเงินไม่มีหรอกครับ แต่มีความสุข เพราะได้ทำงานคู่กัน ตอนนั้นต่างฝ่ายต่างยังไม่มีครอบครัว” อำนวยปรากฏในแววตาของ น.นพรัตน์ เขาเล่าฉากนี้ด้วยความคิดถึงอีกครึ่งของนามปากกาที่จากไปแล้ว

          ปี 2520 ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ น.นพรัตน์ เมื่อ สมิต มานัสฤดี หัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ขณะนั้น เห็นตลาดเช่าหนังสือนิยายจีนได้รับความนิยมมาก จึงดำริให้นำนิยายจีนมาลงในไทยรัฐ

          สองพี่น้องแห่งนาม น.นพรัตน์ แปล อินทรีผงาดฟ้า ของ โกวเล้ง ลงหน้า 6 ของหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ปรากฏว่า ‘เต็งพ้อ’ สร้างปรากฏการณ์เพิ่มยอดขายให้หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ จาก 400,000 ฉบับเป็น 600,000 ฉบับต่อวัน ทำให้ กำพล วัชรพล เรียกตัว น.นพรัตน์ เข้าพบ เพื่อตบรางวัลให้นักแปลมือทองไปเที่ยวฮ่องกง

          “ฮ่องกงถือเป็นการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกของพวกผม” น.นพรัตน์ เล่าถึงช่วงรุ่งเรืองของนิยายกำลังภายใน

          ตั้งแต่ปี 2519-2524 เป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลง ส่งผลต่อการทำงานแปล แต่ความเปลี่ยนแปลงก่อให้เกิดสิ่งใหม่เสมอ

          ในช่วงที่รัฐใช้อำนาจในการควบคุมหนังสือพิมพ์ กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ได้แก้ปัญหาด้วยการนำบทภาพยนตร์ของหนังจีนชุด ซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากผู้ชมทางโทรทัศน์ แปลเป็นตอนๆ ลงหนังสือพิมพ์รายวัน ซึ่งเป็นการบุกเบิกวัฒนธรรมการอ่านบทละครโทรทัศน์ในหนังสือพิมพ์รายวัน กระทั่งวัฒนธรรมการอ่านเช่นนี้ยังคงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

          หนึ่งในผู้บุกเบิกก็คือสองพี่น้อง น.นพรัตน์

          “ปี 2524 เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร หนังสือพิมพ์ถูกเซนเซอร์ นักข่าวและคอลัมนิสต์เขียนอะไรมากไม่ได้ หัวหน้าข่าวก็พยายามหานิยายจีนมาลง ในช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่หนังจีนชุดช่อง 3 ได้รับความนิยม ท่านก็ถามว่าผมแปลได้ไหม ถ้าจะลองทำดูก็ได้ เลยไปขอบทภาพยนตร์เรื่อง ศึกสายเลือด จากช่อง 3 มาแปลลงหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ให้คนอ่านเรื่องก่อนที่หนังจะออนแอร์”

น.นพรัตน์: มังกรคู่ในนามอันโดดเดี่ยว

          การแก้ปัญหาในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวันทำให้เกิดวัฒนธรรมการอ่านแบบใหม่ แต่หลังจากนั้นประมาณ 3 ปี หนังจีนชุดเริ่มซบเซา ประกอบกับนโยบายส่งเสริมสินค้าวัฒนธรรมไทยของรัฐบาล หนังสือพิมพ์จึงนำโมเดลนี้ไปทำกับบทโทรทัศน์ละครไทย

          “ตอนนั้นรัฐบาลก็มีนโยบายว่า ไม่ให้นำหนังต่างประเทศมาฉายในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ จะกันเวลานี้ให้ฉายละครไทย ช่วงนั้นเป็นปี 2525-26 หนังสือพิมพ์ก็ลงบทโทรทัศน์ละครไทย ก็ลงมาจนทุกวันนี้ ต้นแบบมาจากหนังจีนชุด ศึกสายเลือด

          เมื่อนโยบายของหนังสือพิมพ์เปลี่ยน น.นพรัตน์ จึงตกงานอีกครั้ง แต่การจบลงของสิ่งหนึ่งคือการเริ่มต้นใหม่ของอีกสิ่งเสมอ

          “ผมตกงานอีกครั้ง จะกลับไปหาสำนักพิมพ์บรรณกิจ เขาก็เลิกพิมพ์หนังสือเล่มแล้ว ก็เลยไปปรับทุกข์กับ พี่ระวิ โหลทอง แกก็ให้แปลงานมาให้ นับจากนั้น ผมก็อยู่กับพี่ระวิมาถึงวันนี้ ทำหนังสือเล่มมาต่อเนื่อง จนเราเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่อปี 2543”

          อานนท์ ภิรมย์อนุกูล เสียชีวิตในปี 2543 เขาเป็นดวงตาอีกดวง มืออีกข้าง หัวใจอีกดวง ในนามปากกา น.นพรัตน์ และเป็นทั้งหมดในชีวิตของน้องชาย

           “ใช่ครับ แต่ก่อนที่พี่อานนท์จะเสียชีวิต พวกผมได้รู้จัก คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ คุณก่อศักดิ์แนะนำหนังสือเล่มหนึ่งให้เราแปล” เจาะเวลาหาจิ๋นซี คือหนังสือเล่มดังกล่าว เป็นนวนิยายไซไฟอิงประวัติศาสตร์ของนักเขียนฮ่องกงนาม หวงอี้ ซึ่งในเวลาต่อมา หวงอี้จะมาเป็นนักเขียนคนโปรดของ น.นพรัตน์ และเป็นเพื่อนที่เขารักและผูกพัน

          “เล่มนี้เป็นเล่มแรกในจีนที่ให้ตัวละครเอกสามารถย้อนเวลากลับไปในอดีต เรื่องราวเกิดในยุคร่วมสมัยเพียงแวบเดียว เปิดเรื่องคือการทดลองยิงจรวดขึ้นไป แต่จรวดตก มีแต่พระเอกที่รอดชีวิตแล้วย้อนเวลากลับไปในสมัยราชวงศ์ฉิน พี่ระวิตั้งชื่อว่า เจาะเวลาหาจิ๋นซี ในสมัยนั้นมีหนังของฮอลลีวู้ด เรื่องเจาะเวลาหาอดีต ก็เป็นหนังดัง ส่วน เจาะเวลาหาจิ๋นซี เรื่องแรกที่ซื้อลิขสิทธิ์มาดำเนินการแปลอย่างเป็นกิจจะลักษณะ”

          เจาะเวลาหาจิ๋นซี เป็นงานเล่มสุดท้ายที่สองพี่น้องทำงานร่วมกัน และเป็นเล่มแรกที่ อำนวยต้องทำงานเพียงลำพัง ภายใต้นาม น.นพรัตน์

          “ผมแปลใส่สมุดแล้วพี่อานนท์เอากลับไปบ้าน เพราะเราเริ่มแยกกันอยู่แล้ว แกอยู่ระหว่างการรักษาตัว แกก็เอาสมุดที่ผมแปลมาเขียนลงฟุลสแก๊ป แล้วส่งโรงพิมพ์ แกเขียนอยู่ 5 เล่ม แล้วก็เสีย แต่นิยายมีทั้งหมด 8 เล่ม พี่อานนท์มีส่วนร่วม 5 เล่ม พอเล่มที่ 6 ผมแปลคนเดียว”

น.นพรัตน์: มังกรคู่ในนามอันโดดเดี่ยว

          หลังจากนั้น น.นพรัตน์ จึงกลายเป็นนามปากกาคู่ที่ อำนวย ดำเนินไปเพียงลำพัง หนังสือเล่มต่อมาคือ มังกรคู่สู้สิบทิศ ซึ่งเป็นนวนิยายของ หวงอี้ ที่เปลี่ยนชีวิต อำนวย เมื่อหนังสือกลายเป็น เบสต์เซลเลอร์

          “ผมเรียนตามตรงว่า ตั้งแต่แปลหนังสือหาเลี้ยงชีพมา อยู่แบบกินบ้างอดบ้าง แต่ หวงอี้ ช่วยให้ผมลืมตาอ้าปาก ผมเบิกเงินจนไม่อยากเบิก” เขาบอก

          ช่วงชีวิตการทำงานของ น.นพรัตน์ บอกเล่าถึงสิ่งที่ทุกคนต้องพบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง – การเปลี่ยนแปลง และทุกครั้งที่เจอความเปลี่ยนแปลง น.นพรัตน์ มักจะยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏตรงหน้า ก่อนจะหาลู่ทางปรับตัว เพื่อก่อสิ่งใหม่

          “หลังจากนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งสำหรับตลาดเรื่องจีน ในจีนแผ่นดินใหญ่ เขาจะไม่พิมพ์เป็นเล่ม แต่จะนำเรื่องลงในเว็บไซต์ ถ้าจะอ่านคุณต้องเสียเงินเพื่ออ่านในเว็บ แต่ละเรื่องจะมียอดวิวแจ้งว่าเล่มไหนได้รับความนิยม บางเล่มมีคนอ่านเป็นร้อยล้าน เราก็จับกระแสนั้น วิธีการหาเรื่องมาแปลก็เปลี่ยนตามไปด้วย เราก็ดูความนิยมของนักอ่าน เล่มไหนที่คนนิยม เราก็ไปขอซื้อลิขสิทธิ์มาแปล”

          นอกจากนิยายอิงประวัติศาสตร์ ตลาดหนังสือจีนร่วมสมัยมีหนังสือแนวอื่นๆ มากมาย เช่น นิยายเทพเซียน นิยายรัก นิยายวาย  นิยายในวัง ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องราวร่วมสมัย

          “นิยายในวังก็คือเรื่องชิงรักหักสวาท ได้รับความนิยมมาก พอเขียนออกมา ก็ถูกนำไปสร้างเป็นหนังเป็นซีรีส์ แต่ตอนนี้ทางการจีนห้ามผลิตเรื่องในวังออกมาแล้ว รวมถึงนิยายชายรักชาย ห้ามมีฉากโป๊ พระเอกเดินทางย้อนเวลาก็เขียนไม่ได้นะ”

          ฟังดูแล้วก็น่าตกใจไม่น้อยที่รัฐบาลจีนมองว่า จินตนาการในวรรณกรรมเป็นเรื่องเหลวไหล เพราะฝั่งตรงข้ามกับความจินตนาการมักคือความจริงเสมอ

          “รัฐบาลมองเป็นเรื่องเหลวไหล” เขาตอบ “ผมมีนิยายเรื่องหนึ่งแปลอยู่ในมือ เป็นเรื่องที่พระเอกเกิดในยุคนี้ ตายแล้วไปเกิดในราชวงศ์หมิง เขาสร้างเป็นซีรีส์ออกมา ป่านนี้ยังไม่ได้ฉายเลย เขาต้องแก้บท คุณเกิดยุคนี้แล้วจะไปอยู่ในยุคนั้นได้ไง มันเป็นเรื่องเหลวไหล เขาไม่ให้สร้างเลย”

          กว่า 56 ปี ในการทำงานแปล น.นพรัตน์ ขอผ่านไม่สนทนาถึงเรื่องจำนวนของผลงานที่ทำ เพราะเขามองว่าไม่ใช่สาระของการพูดคุย แต่ขวบปีที่ผันผ่านย่อมสร้างรสนิยมทางการอ่านที่ผู้แปลอาวุโสสามารถแบ่งปันแก่นักอ่านรุ่นหลัง

          “ขึ้นชื่อว่านวนิยายกำลังภายใน สิ่งที่ต้องตอบสนองคือคุณธรรมน้ำมิตร คุณธรรมประชาชาติ จิตสำนึกต่อชาติบ้านเมือง ความจงรักภักดีต่อชาติมาตุภูมิ ความกตัญญูรู้คุณ ซึ่งนักเขียนจีนแผ่นดินใหญ่รุ่นใหม่ๆ ไม่ค่อยเขียนเรื่องพวกนี้แล้ว เขาจะหันไปเขียนเรื่องที่ตัวละครฝึกฝีมือเป็นเทพเซียน คนนิยมเรื่องแนวนี้มาก แนวฝึกเป็นเทพ ฝึกวรยุทธ์กี่ขั้นๆ อันนี้คนชอบ แต่เรารับไม่ได้ เนื่องจากผมหัวโบราณ ผมยึดติดกับผลงานของ กิมย้ง เขาจะอธิบายที่มาที่ไปของตัวละคร เขาถือคุณธรรมน้ำมิตร ความกตัญญูต่อชาติบ้านเมือง”

          คุณธรรมน้ำมิตรเป็นจุดเด่นในนิยายกำลังภายใน ซึ่งค่อยๆ กลายเป็นวัตถุโบราณที่ถูกจัดแสดงไว้ในนิยายที่ถูกเขียนเมื่อวานนี้

          “ไม่มีแล้วครับ ผมมีตัวละครในนิยายที่แปลอยู่เล่มหนึ่ง ชื่อ มาเฟียบู๊ลิ้ม เรื่องนั้นพระเอกเป็นสีเทาเลย ไม่ขาวเลย เป็นการตอบโจทย์คนอ่าน นักเขียนคิดตามที่ประชาชนคิด ประชาชนส่วนมากหวังรวย โดยไม่คำนึงถึงวิธีการ เราก็ไม่รู้จะทำยังไง นอกจากว่าถ้าเราไม่ชอบ ก็ไม่ต้องไปแปลก็แล้วกัน”

          อย่างที่บอก เขาบอกว่าเป็นคนหัวโบราณและคร่ำครึ ตัวละครที่รักของ น.นพรัตน์ จึงมีคาแรกเตอร์แบบ ฉีจื่อหลิง ใน มังกรคู่สู้สิบทิศ

          “ฉีจื่อหลิง เป็น 1 ใน 2 ตัวละครเรื่อง มังกรคู่ฯ แต่ไม่ใช่ตัวเอก ตัวละครอีกตัวคือ โคว่จง โคว่จงทะเยอทะยาน แต่ ฉีจื่อหลิง เป็นคนง่ายๆ แต่ไม่ว่า โคว่จง คิดจะทำอะไร ฉีจื่อหลิง ก็พร้อมจะช่วยเสมอ โดยไม่หวังอะไร นี่คือน้ำมิตรที่แท้จริง ฉีจื่อหลิงใช้ชีวิตเรียบง่าย ไร้ลาภยศและคำสรรเสริญ ผมไปถาม หวงอี้ ผู้ประพันธ์ว่า คุณชอบตัวไหน เขาชอบ โคว่จง” เขายิ้มเมื่อพูดถึงนักเขียนที่ทำงานร่วมกันมายาวนาน

          ถาม น.นพรัตน์ – หาก อานนท์ ภิรมย์อนุกูล ยังมีชีวิต เขาจะชอบตัวละครตัวไหน

          “ฉีจื่อหลิง เขาจะชอบเหมือนผม” อำนวย ตอบทันที

          ถามเขาอีกคำถาม เป็นคำถามสุดท้าย ฝันถึง ‘พี่ชาย’ บ้างไหม

          “ผมฝันถึงเขาบ่อยมากๆ แต่ไม่เคยฝันว่าเขาตายนะ ในฝันเขายังมีชีวิต ยังใช้ชีวิตอยู่กับเรา” อำนวย ตอบ ซึ่งตลอดการสนทนาครั้งนี้ เขาเอ่ยถึงพี่ชายผู้ล่วงลับราวกับเขายังคงอยู่

          ในปีที่ 56 ของการทำงานแปล อำนวยเดินทางเพียงลำพัง แต่อีกครึ่งหนึ่งยังดำรงอยู่ใน น.นพรัตน์

น.นพรัตน์: มังกรคู่ในนามอันโดดเดี่ยว


เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Readtopia ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศการอ่านของไทย’ (2566)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก