เส้นทางชีวิตของ ศาสตราจารย์ ดร.นภดล ร่มโพธิ์ ก่อนมาเป็นอาจารย์สาขาวิชาบริหารการปฏิบัติการ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยผ่านประสบการณ์ทำงานเป็นวิศวกรทั้งในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนขนาดใหญ่ แต่หลังจากเรียน MBA ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และค้นพบความชอบด้านธุรกิจที่จุดประกายให้อยากเปลี่ยนวิชาชีพ จึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร จากนั้นจึงได้รับการชักชวนมาเป็นอาจารย์และสอนหนังสือมากว่า 20 ปีแล้ว
ตลอดระยะเวลาที่ทุ่มเทให้กับการสอนและการทำวิจัย จนได้รับรางวัลงานวิจัยดีเด่น อาจารย์ผู้สอนดีเด่นของคณะ และครูดีเด่นแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์นภดลยังมีบทบาทเป็นนักเขียนหนังสือขายดีหลายเล่ม รวมถึงทำเพจ Nopadol’s Story ที่มีผู้ติดตามกว่า 100,000 คน ทั้งยังมีรายการพอดแคสต์เผยแพร่ความรู้อีกช่องทางหนึ่งด้วย เขายืนระยะอยู่กับการเขียนหนังสือมานานถึง 10 ปี โดยมีผลงานพ็อกเก็ตบุ๊กวางขาย 17 เล่ม และได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแนวคิด OKRs (Objectives and Key Results) ที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง
ในวัย 51 ปีอาจารย์นภดลยังคงสอนหนังสือ เขียนหนังสือ และจัดรายการพอดแคสต์อย่างต่อเนื่อง เคล็ดลับความสำเร็จของเขาเรียบง่ายและมุ่งเน้นเพียงสองสิ่งคือ ‘ตั้งเป้าหมาย’ และ ‘ลองลงมือทำ’
จุดเริ่มต้นของการเขียนที่นำมาสู่การออกหนังสือมากถึง 17 เล่ม
ผมชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก เรื่องนี้ต้องให้เครดิตคุณพ่อ เพราะคุณพ่อเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ตอนเด็กๆ เราปิดเทอมไม่มีอินเทอร์เน็ตไม่มีเกมให้เล่น ที่บ้านมีแต่หนังสือก็หยิบมาอ่านจนติด พอมาเป็นอาจารย์ต้องขอตำแหน่งทางวิชาการ ทำให้ต้องเขียนบทความ งานวิจัย ตำรา แล้วเราเริ่มรู้สึกว่า การเขียนสิ่งที่เป็นวิชาการมากๆ มันเข้าถึงคนได้น้อย มีแค่นักศึกษาที่ซื้อเพื่ออ่านสอบเทอมละไม่กี่คน ความรู้ที่เราถ่ายทอดน่าจะเป็นประโยชน์กับสังคมในวงกว้างได้มากกว่านั้น เลยเกิดไอเดียในการนำข้อมูลจากตำรามาเขียนใหม่เป็นพ็อกเก็ตบุ๊กที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย
เล่มแรก ‘ความลับของการวัดผล’ ผมไม่ได้ออกกับสำนักพิมพ์ เพราะคิดว่าเขาคงไม่ออกให้เราหรอก หรือเขาอาจจะตัดทอนเนื้อหาบางส่วนออก ใจผมไม่อยากให้เป็นแบบนั้นเลยลองทำเองดู ตอนนั้นเราโทรหาซีเอ็ดว่า ผมมีหนังสือจะวางจำหน่ายได้ไหม พอส่งไปให้เขาประเมินทางซีเอ็ดก็ใจดีให้โอกาสมาวางขายได้ เล่มนั้นกลายเป็นเซอร์ไพรส์ว่าคนสนใจอ่านเยอะขนาดนี้เลยเหรอ เพราะดันติดอันดับหนังสือขายดี Top 10 ทำให้เรามีกำลังใจ หลังจากนั้นเขียนแหลกเลย
แต่ก่อนจะออกมาเป็นหนังสือผมเริ่มจากการเปิดเพจ เพื่อเอาเนื้อหาจากตำรามาเขียนย่อยลงเพจ กลายเป็นว่ามีคนติดตามหลายหมื่น ซึ่งเราไม่คิดว่าจะมีคนสนใจเยอะขนาดนี้ พอเขียนติดๆ กันจนเนื้อหาในตำราหมด เราก็รู้สึกว่ามันน่าจะรวมเป็นเล่มได้ เขียนเสร็จก็จ้างคนออกแบบรูปเล่ม พอพิมพ์เองได้ก็รู้สึกว่าทางนี้มันเวิร์ก เล่มถัดมาเลยไม่ได้นึกถึงการส่งต้นฉบับให้สำนักพิมพ์ จนกระทั่งทำหนังสือเองเกินเล่มที่สิบแล้วถึงเริ่มมีสำนักพิมพ์มาชวน
ผมมองการเขียนเป็นงานอดิเรกครับ ถ้าคิดว่าเป็นงานประจำคงเขียนไม่ได้หรอกเพราะมันเหนื่อย แต่ก่อนผมเป็นคนตื่นเช้ามาก ตั้งแต่ตี 4-5 เขียนคอนเทนต์ลงเพจช่วงเช้าเสร็จแล้วก็เอามารวมเล่ม แต่ระยะหลังไม่ได้ตื่นเช้าขนาดนั้นและไม่ค่อยมีเวลา ก็จะเขียนตอนเย็นมากกว่า
หนังสือเล่มไหนของอาจารย์ที่ได้รับการตอบรับดีที่สุด
หนังสือที่ผมเขียนเกี่ยวกับ OKRs (Objectives and Key Results) เล่มแรก ‘พัฒนาองค์กรและชีวิตด้วยแนวคิด OKRs’ เป็นเล่มที่ได้รับกระแสตอบรับดีที่สุด เพราะตอนนั้นประเทศไทยยังไม่ค่อยมีคนพูดถึง OKRs มากนัก ตอนตีพิมพ์ยังไม่มีคนรู้จักเรื่อง OKRs เท่าไหร่ แต่ผมรู้สึกว่าเป็นแนวคิดที่เจ๋งแล้วกระแสมันมาพอดี โดยที่ผมไม่ได้เป็นคนจุดกระแสใดๆ พอบูมขึ้นมาแล้วเขาหาหนังสืออ่านกัน มันก็มีแต่หนังสือของผมที่วางขายอยู่ในตลาด
ปีนั้นมีหนังสือภาษาอังกฤษเล่มหนึ่งดังมากคือ Measure What Matters ของจอห์น ดัวร์ ซึ่งเขาเป็นเจ้าพ่อ OKRs ที่กูเกิล หนังสือของผมออกมาก่อนแล้วผมก็ไม่รู้ว่าเขาจะออกปีนั้น แต่คนไทยไม่ค่อยอ่านเล่มภาษาอังกฤษเท่าไหร่ ใช้เวลาเกือบปีกว่าจะมีฉบับแปลภาษาไทย ตอนนั้นมีหลายองค์กรที่อ่านหนังสือของจอห์น ดัวร์ แล้วเอาแนวคิดมาเผยแพร่ต่อในวงกว้าง ทำให้คนหันมาสนใจศึกษาเรื่องนี้มากขึ้น
ผมสอนหัวข้อ OKRs ที่คณะในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่แล้ว ผมติดตามและทำวิจัยเรื่อง OKRs มาตลอด ที่ได้ตำแหน่งศาสตราจารย์ก็มาจากเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการวัดผล ผมรู้สึกว่า OKRs สามารถอุดช่องว่างหลายๆ เรื่องที่องค์กรมีปัญหาอยู่ แนวคิดนี้ไม่เลวทีเดียวยิ่งอ่านยิ่งอิน พออินก็เลยอยากถ่ายทอดออกมาให้คนรู้จักว่ามีเครื่องมือนี้อยู่นะ
ตอนที่แนวคิด OKRs แพร่หลายแรกๆ คนส่วนใหญ่จะคิดว่าต้องเอาไปใช้กับองค์กรธุรกิจหรือสตาร์ทอัปเท่านั้น แต่ถ้าใครศึกษาเรื่อง OKRs จะรู้ว่าแนวคิดนี้ปรับใช้ได้กับองค์กรทุกประเภท ทั้งองค์กรไม่แสวงหากำไร หน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย และเครื่องมือนี้ก็ยังเอามาใช้พัฒนาตัวเองได้อีกด้วย ผมมองว่าเครื่องมืออะไรที่ทำให้องค์กรเติบโตได้ ก็ต้องทำให้ชีวิตเราเติบโตได้ ชีวิตเราคือองค์กรที่มีพนักงานคนเดียว เราเป็นซีอีโอของชีวิตตัวเอง
OKRs ก็เช่นกัน ถ้าเครื่องมือด้านการจัดการนี้ทำให้กูเกิลและบริษัทต่างๆ เติบโตได้ ก็ต้องทำให้ชีวิตเราเติบโตได้ แต่ก่อนที่จะไปบอกชาวบ้านเราต้องลองทำก่อน ผมก็เริ่มเขียนหนังสือเงียบๆ คนเดียว ผมไม่ได้เป็นเจ้าของบริษัทใดๆ แต่ลองเอามาใช้กับชีวิตแล้วมันเวิร์ก OKRs ทำให้เราจัดลำดับสิ่งสำคัญในชีวิตได้ดีขึ้น บางช่วงเวลาที่สับสนว่าควรทำสิ่งนี้หรือไม่ทำดี พอใช้ OKRs เราจะมองเห็นทิศทางในการตัดเรื่องไม่จำเป็นออกจากชีวิต ทำให้เราเติบโตได้เร็วขึ้น
จากการเขียนสู่การทำพอดแคสต์ สองสิ่งนี้ใช้ทักษะต่างกันมากไหม
ส่วนตัวชอบทั้งเขียนและพูด ผมเริ่มจากงานเขียนก่อน ส่วนพอดแคสต์เริ่มทำเมื่อประมาณห้าปีที่แล้ว จริงๆ ไม่เคยรู้ว่าตัวเองชอบพูด ผมสอนหนังสือได้ แฮปปี้กับการสอน แต่นึกภาพตัวเองมานั่งอัดพอดแคสต์ไม่ออก แต่เป็นคนชอบลองถ้าไม่ลองจะไม่รู้ ก็เริ่มต้นทำโดยไม่ได้คิดว่าจะมีคนฟังอะไรนักหนา เห็นเขาทำกันเลยทำบ้าง ช่วงแรกทำออกมาแล้วมีคนฟังไม่เยอะหรอก แต่เริ่มรู้สึกว่าการพูดก็ง่ายดี อย่างเวลาอ่านหนังสือจบแล้วให้เขียนสรุปจะรู้สึกเหนื่อยกับการปั้นคำ แต่พูดคือการเล่าให้ฟังมันง่ายกว่า ก็เลยพูดมันทุกวันเลยครับ พอพูดทุกวันก็มีคนฟังเพิ่มขึ้น เรายิ่งรู้สึกดี
ผมขอบคุณคนฟังทุกครั้งเลย ตอนทำแรกๆ ไม่ได้คิดอะไรมากมายหรอก แค่ชอบพูดก็พูดไป จำนวนคนฟังก็ทำให้รู้สึกดีที่ทำอะไรแล้วมีคนติดตาม แต่สิ่งที่ดีกว่านั้นมากคือคอมเมนต์ที่บอกเราว่า พอดแคสต์นี้ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นยังไง บางทีเราไม่รู้หรอกครับว่าคำๆ เดียวที่เราพูดมันพลิกชีวิตคนได้เลย แต่คนฟังเขาเขียนมาบอกเรา อาจารย์รู้ไหมแต่ก่อนผมเป็นคนเละเทะมาก ไม่อยากเรียนหนังสือ มาฟังอาจารย์แล้วเจอคำพูดประโยคนี้ ทำให้ได้ข้อคิดที่เปลี่ยนชีวิต ผมลุกขึ้นไปเรียนเลย ตอนนี้ผมมีงานทำแล้ว โอ้โห เราเปลี่ยนชีวิตคนได้แบบนั้นเลยเหรอ นี่คือสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะทำได้ แค่เราอ่านหนังสือเจอเรื่องดีๆ แล้วเอามาบอกต่อ มันสามารถปลดล็อกชีวิตคนอื่นได้ ซึ่งจะมีคนฟังมาเล่าเรื่องราวแบบนี้เกือบทุกวัน ทำให้เรามีกำลังใจและรู้สึกว่าสิ่งที่ทำมีความหมาย
ทำไมเราถึงต้องให้ความสำคัญกับการมีเป้าหมายชีวิต และเป้าหมายชีวิตที่ดีควรเป็นอย่างไร
ชีวิตคนเราเหมือนกับการเดินทาง ถ้าไม่คิดอะไรมากเราเดินทางไปแบบไม่มีเป้าหมายก็ได้ เหมือนเวลาไปเที่ยวจะมีคนสองแบบ แบบแรกคือมีเป้าหมายว่าจะไปเชียงใหม่และวางแผนเดินทางไปให้ถึง ส่วนคนอีกแบบคือไม่รู้จะไปไหนแต่ขับรถเที่ยวไปเรื่อยๆ ต้องถามตัวก่อนว่าเราอยากมีชีวิตแบบไหน ซึ่งผมมองว่าคนทั้งสองกลุ่มนี้ไม่มีใครถูกใครผิดแต่ผมเลือกแบบแรก ไม่มีใครคอนโทรลชีวิตได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ผมอยากมีเป้าหมายในชีวิต
ขอยกตัวอย่างชีวิตจริงของตัวเอง ผมอยากเป็นศาสตราจารย์ตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว ถ้าไม่มีเป้าหมายชีวิตผมอาจจะสอนไปวันๆ ไม่ได้คิดถึงเรื่องตำแหน่ง แต่การมีเป้าหมายทำให้เรารู้ว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ ถ้ามีใครมาชวนไปเป็นที่ปรึกษาองค์กรผมจะปฏิเสธหมด เพราะมัน Distract ผมจากตำแหน่งศาสตราจารย์ สิ่งที่ผมต้องทำคืองานวิจัย แล้วผมไม่สามารถทำทุกอย่างพร้อมกันได้ ดังนั้น ผมจะให้ความสำคัญกับการทำวิจัยก่อน เรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นโอกาสชีวิตที่ดีได้ค่าตอบแทนสูงมันยังไม่ใช่ ณ ตอนนี้ พอเราชัดเจนสุดท้ายชีวิตก็ไปถึงจุดที่เป็นศาสตราจารย์ได้ คนที่ไม่ได้ตำแหน่งศาสตราจารย์ไม่ใช่ว่าเขาไม่เก่ง เพียงแต่มันอาจจะไม่ใช่เป้าหมายของเขา
ทีนี้ถ้าถามว่าเป้าหมายที่ดีคืออะไร ถ้าเลือกได้อย่างเดียวผมขอให้นิยามสั้นๆ ว่า ‘เป้าหมายที่ดีต้องเป็นตัวตนเรา’ เราไม่ควรก๊อปปี้เป้าหมายใคร ถ้าไปก๊อปปี้เป้าหมายคนอื่นมาเป็นเป้าหมายชีวิตเรา ต่อให้ทำได้สำเร็จเราก็ไม่มีความสุข เพราะมันไม่ใช่ตัวเรา ต้องคิดดีๆ ว่าอะไรที่คุณอยากได้จริงๆ เพราะมันคือชีวิตทั้งชีวิต ขนาดไปเที่ยวเรายังวางแผนเลย แล้วการใช้ชีวิตเราจะไม่วางแผนเลยเหรอ
แล้วเราจะค้นพบสิ่งที่เป็นตัวตนหรือความชอบที่แท้จริงได้อย่างไร
ผมมักจะบอกกับเด็กรุ่นใหม่เสมอว่าคุณลองทำเลย เพราะคุณอยู่ในช่วงวัยที่มีความเสี่ยงน้อยมาก อย่าเพิ่งปักหลักว่าฉันจะเป็นอย่างนี้ตลอดชีวิต ยกเว้นว่าคุณรู้แล้วจริงๆ ว่าอยากทำอะไรก็ลุยให้สุดทาง แต่ทุกวันนี้เด็กรุ่นใหม่มักไม่ค่อยค้นพบตัวตน ดังนั้น ต้องเริ่มต้นด้วยการสำรวจและลองทำดู ถ้าลองทำงานบางอย่างแล้วไม่ใช่ก็แค่เปลี่ยนงาน คุณไม่ต้องกลัว คุณไม่จำเป็นต้องเป็นวิศวกรไปจนถึงอายุ 60 อยากทำสตาร์ทอัป ทำเลย ทำแล้วไม่สนุกค่อยเลิก อยากลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์ก็ลองเลย
ทักษะที่จำเป็นสำหรับเด็กยุคใหม่คือการทดลองครับ แต่ต้องเป็นการลองที่ผิดพลาดแล้วไม่ทำให้เราเจ๊งหรือทำให้ตัวเองและคนอื่นเดือดร้อน ไม่ใช่ว่าไปกู้เงิน 10 ล้านมาลอง หรือไปลองในสิ่งที่ผิดกฎหมายอันนี้ไม่แนะนำ ชีวิตช่วงแรกถ้าลองแล้วล้มเหลวมันไม่ค่อยเจ็บหรอก อาจจะค้นพบตัวเองช้าหรือเร็ว แต่ถ้าได้ลองแล้วคุณจะเจอ ถ้ามัวแต่นั่งคิดว่าแพสชันคืออะไร มันไม่เจอหรอก คนที่เจอแพสชันคือคนที่ลองทำก่อนทั้งนั้น
ถ้าอยากประสบความสำเร็จและใช้ชีวิตให้มีความสุขในยุคสมัยนี้ อะไรคือทักษะสำคัญที่จำเป็นต้องมี
ทักษะที่สำคัญมากแต่ยากมากคือการปล่อยวาง ยุคปัจจุบันคนมีแต่ความคิดอยากทำนู่นทำนี่ ฉันต้องทำให้ได้ ฉันต้อง Productive ฉันต้องสุดยอด ผมว่าเราเยอะเกินไปแล้ว ปล่อยวางไม่ได้แปลว่าขี้เกียจหรือไม่ทำ แต่หมายถึงทำเท่าที่เราจะทำได้ มีคนบอกคำนี้แล้วผมชอบ “เต็มที่กับกระบวนการ ปล่อยวางกับผลลัพธ์” ถ้าเราทำเต็มที่แล้วจะเกิดอะไรขึ้นก็ต้องยอมรับสิ่งที่มันเกิด จะแพ้จะพังก็ต้องปล่อย ถึงไม่ปล่อยเราก็แพ้อยู่ดี ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปเครียดกับสิ่งนั้น วันที่ปล่อยวางได้คือวันที่เรามีความสุข
การเดินทางมาถึงช่วงวัย 51 ได้พบเจออะไรที่เป็นบทเรียนสำคัญของชีวิตบ้าง
ผมรู้สึกเหมือนเพิ่งผ่านพายุมา เคยได้ยินคำว่า Midlife Crisis ใช่ไหมครับ ถ้าตามสถิติจะอยู่ในช่วงอายุประมาณ 40-50 ปี ซึ่งเป็นแบบนั้นจริงๆ เพราะช่วงนั้นชีวิตเราจะวุ่นวายมาก หนึ่งคืองานเยอะ สองคือเรากำลังเป็นแซนด์วิชต้องแบกรับภาระหลายทางไม่ใช่แค่ตัวเราเอง ทางแรกคือคุณพ่อคุณแม่อายุเยอะแล้ว ต้องพาไปโรงพยาบาล เดี๋ยวมีเรื่องให้ผ่าตัด เราจะมีความเครียดเรื่องคุณพ่อคุณแม่เยอะมาก อีกทางคือลูกๆ ที่กำลังเติบโต แถมงานก็วิ่งเข้ามาใส่เราเต็มที่ โอกาสในชีวิตและตำแหน่งต่างๆ มากันเต็มไปหมดในช่วงอายุ 40 กว่า เป็นช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายที่เราไม่เคยมีประสบการณ์ในการเจออะไรแบบนั้นมาก่อน บางวันแทบไม่ได้นอน แทบไม่ได้กินข้าวเที่ยง ไม่ได้ออกกำลังกาย น้ำหนักมากกว่าตอนนี้สิบกว่ากิโล ตรวจสุขภาพผลก็ออกมาแย่ ต้องไปผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี
แต่ถ้าถามผม ณ ตอนนี้ พอก้าวเข้าสู่วัย 50 ผมรู้สึกว่าพายุเริ่มสงบเหมือนเป็นฟ้าหลังฝน แล้วเราก็ได้บทเรียนมาเยอะแยะเลย บางทีเราต้องรู้จักหยุดบ้าง ใช้ชีวิตให้ช้าลงบ้าง ไม่ต้องทำทุกอย่างที่อยากทำ ไม่ต้องกังวลในบางเรื่องที่มันไม่ได้มีความหมาย จริงๆ แล้วเราไปคิดเยอะเอง ลองทำอะไรสบายๆ ไม่ต้องคิดมาก ปล่อยวางให้เยอะขึ้น ทุกคนต้องผ่านสเตจที่เป็นพายุ ซึ่งทำให้เราได้เรียนรู้การเอาชีวิตรอด เวลาเจอรุ่นน้องที่ชีวิตกำลังแกว่งผมจะให้กำลังใจว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไป ผมก็เคยอยู่ในพายุนี้ แต่ไม่มีพายุฝนลูกไหนที่อยู่ตลอดกาล เดี๋ยวฟ้าก็จะสดใสเอง
หลังจากผ่านพายุมาแล้ว เป้าหมายที่อาจารย์มองไปข้างหน้าในช่วงวัยนี้คืออะไร
อาจจะฟังดูแปลกนะ แต่กลายเป็นว่าเป้าหมายไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับเราเสียแล้ว ชีวิตกลายเป็นการเดินทางมากกว่า จากที่เคยอยากเป็นนู่นเป็นนี่ ความคิดมันเริ่มไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว ถ้าให้ยกตัวอย่างก็เหมือนกับการปีนเขา ตอนอายุ 20-30 ปีเราอยากไปถึงยอดเขา ถ้ายังไปไม่ถึงยอดเขาก็มีความทุกข์ ตอนนี้ผมก็มีเป้าหมายที่อยากไปให้ถึงตั้งไว้บนยอดเขา แต่ไปไม่ถึงไม่เป็นไร เราอยากเอนจอยชีวิตทุกวันในระหว่างที่กำลังเดินขึ้นเขามากกว่า ชีวิตในวัย 50 มันเป็นแบบนั้นเลยครับ ได้ใช้เวลากับคนที่เรารัก ได้ทำงานที่มีความหมาย ได้ช่วยเหลือผู้คน ได้เขียนหนังสือ ได้เล่นกับสุนัข ถ้าทำได้แบบนี้ทุกวันผมก็ถือว่าชีวิตประสบความสำเร็จแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นซีอีโอหรือคนเด่นดังอะไรของสังคม
มันอาจเป็นเพราะชีวิตเราไปถึงจุดที่ต้องการแล้ว ถ้ายังไม่ได้เป็นศาสตราจารย์ ตอนนี้เป้าหมายของเราอาจจะมีคำว่าศาสตราจารย์แปะอยู่ก็ได้ แต่ทุกวันนี้เพียงพอแล้วไม่รู้จะเอาอะไรอีก