บ้านเชียง แหนมเนือง และเป็ดเหลืองขนาดยักษ์ คงเป็นสิ่งที่พอจะนึกออกหากพูดถึงจังหวัดอุดรธานี
แต่กับพื้นที่ศิลปะ หลายคนคงจะนึกไม่ออก
จนกระทั่ง Noir Row Art Space ตัดสินใจบุกเบิกเล่าเรื่องศิลปะหลากหลายกระบวนท่า ตั้งแต่ลองไปจับมือทำนิทรรศการเครื่องปั้นดินเผาที่บ้านเชียง โดยหยิบเอาประวัติศาสตร์มาเล่าผ่านนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย หรือการเปลี่ยนค่ายทหารรามสูร มาเป็นที่จัดนิทรรศการ Parallel: The Ramasun Station Art Trail (2019) ในพื้นที่ประวัติศาสตร์สงครามเย็น ที่พาตั้งคำถามหรือแสดงความเห็นถึงสงครามโดยใช้ศิลปะเป็นตัวสื่อสาร ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่พาศิลปะมาเชื่อมโยงกับท้องถิ่น
นอกจากออกไปสร้างนิทรรศการศิลปะในพื้นที่ชุมชน ก็ยังมีเศษเสี้ยวชิ้นส่วนที่นำมาเล่าต่อในตึกแถวขนาด 1 คูหาแสนเล็กที่อัดแน่นไปด้วยศิลปะที่ผสานเข้ากับประวัติศาสตร์อุดรธานีจากข้าวของที่หลงเหลือจากอดีต ทั้งที่คนในท้องถิ่นมอบให้ หรือออกไปตามหาจนได้มา รวมไปถึงการสร้างวงสนทนาเกี่ยวกับศิลปะด้วยการเชิญคนทั้งในและนอกวงการศิลปะมาพูดคุยในบรรยากาศสบายๆ ซึ่งจัดมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีเวิร์กชอปเติมทักษะศิลปะหลากหลายรูปแบบที่ไม่ตายตัวอยู่กับการวาดรูป เพนต์สี หรือสิ่งที่เราคุ้นเคยตอนเรียนวิชาศิลปะ
นี่คือสิ่งที่ อุ้ย – ปณชัย ชัยจิรรัตน์ ตั้งใจสร้างชุมชนศิลปะในบ้านเกิด ผ่านการรวมตัวกันกับเพื่อนๆ ที่สนใจมาลองออกแบบพื้นที่ร่วมกัน ก่อนที่ ส้ม – ปุญญิศา ศิลปรัศมี จะตามมาสมทบหลังจากได้ลองมาออกแบบนิทรรศการที่บ้านเชียง และเห็นถึงเสน่ห์รวมทั้งทรัพยากรความรู้ที่มีมากมายในอุดรธานี แต่ไม่เคยถูกบอกเล่า
Noir Row Art Space เดินทางมาถึงทุกวันนี้ พร้อมกับการสร้างการเรียนรู้และทำให้ศิลปะอยู่รายล้อมทุกคนผ่านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เกี่ยวโยงกันได้อย่างดีงาม

‘อาจจะ Art’ วงคุยที่บอกว่าอะไรๆ ก็เป็นศิลปะได้นะ
เวลาที่บอกว่าศิลปะเป็นเรื่องไกลตัว หลายที่ก็มีกระบวนท่าในการพาศิลปะเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนแตกต่างกันไป ที่ Noir Row Art Space เองก็มีวิธีการน่าสนใจ แบบทำได้ง่ายๆ ไม่ต้องใช้อะไรเยอะ
วิธีการนั้นคือการตั้งวงคุย ‘อาจจะ Art’ ซึ่งชวนแขกรับเชิญที่ทำงานในแวดวงศิลปะ ไปจนถึงคนที่ไม่เคยเกี่ยวข้องกับศิลปะเลย มาเลือกงานศิลปะ ที่ไม่ว่าจะไปหาเองหรือมีอยู่ในพื้นที่ มาตั้งวงคุยกันว่าทำไมสนใจผลงานชิ้นนี้ เช่น คนทำงานฝ่ายมาร์เก็ตติ้งหยิบเอางานศิลปะ โคลด โมเนต์ (Cluad Monet) มาพูดคุยว่าทำไมศิลปะแบบอิมเพรสชันนิสม์ (impressionism) ถึงจัดเป็นยุคสมัยสำคัญ และผลงานเหล่านี้ฉีกขนบงานศิลปะในตอนนั้นอย่างไร หรือสถาปนิกที่พาชวนคุยถึงผลงานของ เจมส์ เทอร์เรล (James Turrell) ที่มองว่า ‘แสง’ ก็เป็นงานศิลปะได้
พื้นที่แห่งนี้ไม่มีการตัดสินว่าอะไรถูกผิด อะไรเป็นศิลปะ อะไรไม่ใช่ แถมยังสื่อสารกันด้วยภาษาทั่วไป ทำให้ทุกคนที่มาร่วมพูดคุยไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนนอกของวงการศิลปะ แต่อยากคุยอะไรกันก็ได้ บางทีก็ยกวงคุยนี้ไปอยู่ในพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ที่ไม่ใช่ในแกลเลอรี เพื่อให้เกิดความรู้สึกสบายๆ มากยิ่งขึ้นด้วย

พื้นที่ศิลปะรสนัว ที่ชวนคนอุดรฯ มาเวิร์กชอปแบบไม่จำกัดชนิด
จากความเชื่อที่ว่าศิลปะเป็นเครื่องมือสื่อสารอันทรงพลัง เพราะสามารถบอกเล่าเรื่องราวที่พูดตรงๆ ได้ยาก ให้กลายเป็นสิ่งที่แทนความในใจได้ง่ายขึ้น ประกอบกับประวัติศาสตร์ของอุดรธานีที่ยังมีอะไรให้บอกเล่าอีกมากมาย ตั้งแต่วัฒนธรรมสมัยก่อนอย่าง ประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียง ประวัติศาสตร์ยุคสงครามเย็นที่ทหารจีไอครองเมือง หรือกระทั่งเรื่องราวร่วมสมัย ทำให้อุ้ยและส้มมองเห็นความเป็นไปได้ในพื้นที่นี้ ที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าและการเรียนรู้
แต่จะเล่าแบบไหนให้คนอิน คือโจทย์ใหญ่ที่ทั้งสองคนต่างทดลองในหลากหลายรูปแบบ ก่อนจะค้นพบว่ามีสิ่งหนึ่งที่เข้าหาผู้คนได้ง่ายและทำให้พวกเขารู้สึกมีส่วนร่วมไปพร้อมกัน คือการทำเวิร์กชอป
เวิร์กชอปที่ Noir Row Art Space ไม่ได้จำกัดแค่งานศิลปะแบบที่ต้องมานั่งวาดรูปเพนต์สีกัน แต่เป็นศิลปะในความหมายของการมองหาความงามผ่านสิ่งต่างๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นการทดลองทำเครื่องปั้นดินเผา ลองพับกระดาษหรือโอริกามิ แม้แต่ของกิน อุ้ยและส้มก็เห็นว่านี่คือศิลปะ ในครั้งหนึ่ง ที่นี่จึงชักชวน befor.tart แบรนด์ที่ออกแบบตกแต่งหน้าขนมทาร์ตจากเรื่องเล่า มาเวิร์กชอปออกแบบหน้าทาร์ตแสนอร่อยจากโจทย์ต่างๆ เช่นสร้างหน้าขนมทาร์ตจากนิยามความเป็นอุดรธานี ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงที่ Noir Row Art Space ครบรอบสองขวบ
พื้นที่เวิร์กชอปที่ไม่ปิดกั้นการเรียนศิลปะกลายเป็นจุดแข็งของพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งความหลากหลายก็นำไปสู่การเรียกให้ผู้คนหลายหลากแวะเวียนมาพบเจอ ทำความรู้จักกัน ซึ่งแม้จะไม่ได้จัดตลอดเวลา แต่ถ้ามีโอกาสหรืออีเวนต์พิเศษ ก็พร้อมเป็นพื้นที่ให้ทุกคนมาเรียนรู้
Noir Row Art Space จึงกลายเป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์ให้ความสร้างสรรค์เติบโตไปตามความชอบของแต่ละคน

สะสมประวัติศาสตร์อุดรธานีบนกำแพงแกลเลอรี
หากใครได้ไปเยือนที่ Noir Row Art Space สิ่งหนึ่งที่สะดุดตาแน่ๆ คือกำแพงที่เต็มไปด้วยข้าวของทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับอุดรธานี ทั้งเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงที่ชุมชนมอบให้ รวมไปถึงก้อนอิฐจากซากตึก หรือสิ่งของที่หลงเหลือจากยุคสงครามเย็น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์อุดรธานีที่ไม่ค่อยมีใครบอกเล่ามากนัก
อุ้ยและส้มมองว่ากำแพงนี้เป็นส่วนสำคัญที่สุดของพื้นที่ เพราะมันคือการเล่าเรื่องของอุดรธานีได้ดีที่สุด ผ่านสิ่งของที่พวกเขาสะสมจากการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ รอบจังหวัด ซึ่งนอกจากจะมองว่าเป็นชิ้นส่วนทางประวัติศาตร์ สิ่งของเหล่านี้ยังเป็นเรื่องราวของศิลปวัฒนธรรมในภูมิภาค ที่วันหนึ่งอาจเลือนหายไปหากไม่มีใครเก็บมาเล่าเรื่องต่อ
กำแพงที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์นี้จึงชวนคนที่ผ่านไปผ่านมาได้ตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์ที่ถูกลบเลือนไป และสร้างบทสนทนาต่อยอดเรื่องราว บริบท สังคม วัฒนธรรม ของอุดรธานีได้มากกว่าแค่ตำราเรียน

ยังคงทดลองต่อไป สิ่งที่ อุ้ย และส้ม ได้เรียนรู้จาก Noir Row Art Space
“ความชอบใครความชอบมันเป็นสิ่งที่เราเรียนรู้ ซึ่งพอรู้ตรงนี้แล้วมันทำให้เราไม่เหนื่อยไม่คาดหวังมากเกินไป”
ในช่วงเวลา 3-4 ปีที่ Noir Row Art Space ปรากฏตัวต่อทุกคน ทั้งอุ้ยและส้มก็ยังคงมองว่ามีอะไรให้ทดลองอีกมากมาย ลองใส่ความชอบของตัวเองไปในบางงาน ใส่ความชอบของคนอื่นไปในบางงาน เพื่อให้เจอรสชาติตรงกลางที่นัวเข้าด้วยกัน เพราะทรัพยากรในพื้นที่ยังมีอีกเยอะมากให้ลงไปค้นหา สำรวจ และเรียนรู้
ซึ่งในโลกศิลปะที่กว้างใหญ่ การทดลองของพวกก็จะดำเนินต่อไปเพื่อให้ศิลปะที่ใช่ได้เจอกับคนที่ชอบจริงๆ



Facebook Post Click
Tiny Space, Big Learning โดย ili.U คอนเทนต์ซีรีส์จากเพจที่สนใจ Conscious Lifestyle ชวนไปสำรวจพื้นที่การเรียนรู้ขนาดเล็กที่เกิดจากคนตัวเล็กๆ ทั่วประเทศ ใส่ใจเรื่องการศึกษาในแบบฉบับของตัวเอง และพยายามขยายขอบเขตการเรียนรู้ไปจากห้องเรียนที่เคยชิน พื้นที่เหล่านี้มีอะไรให้เรียนรู้ แล้วคนทำได้บทเรียนก้อนใหญ่อะไรจากการสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียน พบกันได้ทุกวันพฤหัสที่ 2 และ 4 ของเดือน