สิงคโปร์ เป็นประเทศตัวอย่างในเรื่องของการวางแผนกลยุทธ์ และลงมือทำจริงจนเห็นผล
แผนยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการห้องสมุดสิงคโปร์ สู่ปี พ.ศ. 2564 หรือ NLB’s Strategic Plan into 2020 ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2011 กำหนดวิสัยทัศน์ไว้อย่างชัดเจนว่า “นักอ่านเพื่อชีวิต ชุมชนแห่งการเรียนรู้ และประเทศชาติที่เต็มไปด้วยองค์ความรู้” โดยระบุว่าการอ่านเป็นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการแสวงหาความรู้ การเรียนรู้และห้องสมุดเป็นเครื่องมือยกระดับการอ่านเพื่อชีวิตขึ้นมาสู่วาระแห่งชาติ ชุมชนแห่งการเรียนรู้สร้างขึ้นได้ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ในระดับห้องสมุดที่ซึ่งแต่ละคนสามารถเชื่อมต่อกับชุมชนของตนเองไปพร้อมๆ กับการสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของและแบ่งปันคุณค่าในสังคมพหุวัฒนธรรม
ในทศวรรษหน้า (หมายถึงภายในปี 2020) สิงคโปร์จะเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยองค์ความรู้ และห้องสมุดมีบทบาทสำคัญในการสร้างให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตในหมู่ประชาชนและชุมชน ความร่วมมือระหว่างห้องสมุดและสถาบันอื่นๆ จะทำให้การเข้าถึงแหล่งความรู้ของประเทศเป็นไปได้กว้างขวางขึ้น
ส่วนหนึ่งของกลยุทธ์เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์นี้ คือการปรับปรุงห้องสมุด 24 แห่ง (ณ ขณะนั้น) ทั่วเกาะสิงคโปร์ให้มีบทบาทเป็นศูนย์เรียนรู้ ศูนย์วัฒนธรรม และศูนย์ชุมชน รวมทั้งพัฒนาห้องสมุดดิจิทัลให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและเชื่อมต่อได้อย่างสะดวกง่ายดาย
ในห้วงเวลาที่เหลื่อมซ้อนกัน มีการปรับโครงสร้าง NLB และหน่วยงานระดับกระทรวง คณะกรรมการห้องสมุดแห่งชาติสิงคโปร์จึงได้จัดทำแผนแม่บทห้องสมุดแห่งอนาคต (The Libraries of the Future) ระยะ 15 ปี (ค.ศ. 2015-2030) เพื่อวางกรอบแนวทางการสร้างสรรค์นวัตกรรมการให้บริการสำหรับห้องสมุดที่ปรับปรุงใหม่ ซึ่งเพียงแค่เฟสแรกของแผน อันเป็นปีที่บรรจบกับปีสุดท้ายของแผนยุทธศาสตร์เดิมพอดี ก็ได้สร้างผลลัพธ์เชิงรูปธรรมที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้เกี่ยวข้องในวงการห้องสมุดทั่วโลก
ตัวอย่างเช่น ตู้ยืมหนังสืออัตโนมัติ (Book Dispenser) ของห้องสมุดเชาชูกัง เป็นห้องสมุดแห่งแรกที่เปิดตัวให้บริการตู้ยืมหนังสืออัตโนมัติซึ่งติดตั้งไว้ที่ชั้นล่างของห้างสรรพสินค้า (เนื่องจากห้องสมุดอยู่ระหว่างปรับปรุงและจะเปิดให้บริการกลางปี 2021) สามารถบรรจุหนังสือได้ 352 เล่ม และมีช่องสำหรับทรัพยากรที่ถูกจอง 88 ช่อง ตู้นี้มีหน้าจอทัชสกรีนสำหรับสืบค้น ยืม และจองหนังสือรวมทั้งอีบุ๊ก ออดิโอบุ๊ก โดยใช้งานร่วมกับโทรศัพท์มือถือและคิวอาร์โค้ดที่เป็นเสมือนบัตรห้องสมุดของแต่ละคน (ดูลักษณะตู้และวิธีการใช้งานที่แสนจะสะดวกง่ายดาย จากคลิปวิดีโอข้างล่างนี้)
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ NLB Mobile App เวอร์ชันใหม่ล่าสุด เป็นอีกนวัตกรรมที่ช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงสารสนเทศและบริการต่างๆ โดยไม่ถูกจำกัดไว้ด้วยเวลาเปิดปิดทำการห้องสมุด ภายใต้แนวคิด ‘ห้องสมุดในกระเป๋าของคุณ’ ใช้งานง่าย สร้างโปรไฟล์ที่เป็นส่วนตัวได้ สามารถลงทะเบียนเพื่ออ่านหนังสือ หนังสือพิมพ์ หนังสือเสียง เรียนรู้ผ่านกิจกรรม สืบค้นและจองหนังสือ (ดูแอปพลิเคชันที่ออกแบบจัดวาง interface แบ่งเมนูเนื้อหาบนหน้าจออย่างเรียบง่าย ครอบคลุมทุกทรัพยากรและความต้องการ จากคลิปวิดีโอข้างล่างนี้)
เมื่อคิดวางแผนแล้วลงมือทำจริง ‘แผน’ จึงไม่ ‘นิ่ง’ แต่ถูกเปลี่ยนจากความคิดให้กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้
การวางเป้าหมายให้ผู้คนเข้าถึงความรู้ ส่งเสริมการอ่านและชุมชนแห่งการเรียนรู้ ให้สอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เพื่อมุ่งสู่ประเทศชาติที่อุดมด้วยองค์ความรู้ หรือ Knowledgeable Nation คือแรงผลักดันที่นำมาสู่การพลิกโฉมห้องสมุดด้วยนวัตกรรมการบริการ เพื่อตอบโจทย์ตามเป้าหมายดังกล่าว
จึงไม่น่าแปลกใจที่ใครต่อใครอยากจะเลียนแบบ “สิงคโปร์”
รายละเอียดอื่นๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับโฉมใหม่ของห้องสมุดสิงคโปร์ ติดตามอ่านได้ที่ “เปิดแผนยุทธศาสตร์ 15 ปี ภารกิจพลิกโฉมห้องสมุดทั่วเกาะสิงคโปร์”
ที่มา
บทความ “The Remaking of Singapore’s Public Libraries” จาก librariesconnected.org.uk (Online)