หากนับตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ยุคมิลเลนเนียล (ปี 2543) ปีที่ นิวัต พุทธประสาท ก่อตั้งสำนักพิมพ์เล็กๆ ชื่อ ‘เม่นวรรณกรรม’ ถึงวันนี้ก็ถือได้ว่ายืนยาวข้ามมาถึงทศวรรษที่สองแล้ว ผ่านการล้มหายตายจากของเพื่อนร่วมทางหลายสำนักพิมพ์ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงมากมายในโลกหนังสือ ปัจจุบันเม่นวรรณกรรมยังคงทำงานหนักเพื่อเฟ้นหาต้นฉบับวรรณกรรมสดใหม่ชั้นดีมาจัดพิมพ์สู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง
และหากไล่เลียงจากปี 2535 ที่ผลงานเรื่องสั้นชิ้นแรกของเขาปรากฏในวงวรรณกรรมไทย ก็คำนวณได้ว่าเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้วที่ชายผู้นี้เดินอยู่บนเส้นทางนักเขียน ผลิตผลงานออกมาต่อเนื่อง นับจาก รวมเรื่องสั้น วิสัยทัศน์แห่งปรารถนาและความตาย นิยายสร้างชื่ออย่าง ใบหน้าอื่น, รวมเรื่องสั้นว่าด้วยอาหาร ลมหายใจอุบัติซ้ำ, นิยายสั้นการเมือง รัตติกาลของพรุ่งนี้ และ กายวิภาคของความเศร้า นวนิยายที่เล่าถึงความสัมพันธ์อันเปราะบางสะท้านอารมณ์ รวมเล่มอื่นๆ อีกนับสิบเล่ม
จากวันนั้นยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เขาประกอบสร้างไว้ตลอดเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นชุมชนวรรณกรรมออนไลน์แห่งแรกของไทย วารสารรวมเรื่องสั้น บูทหนังสืออินดี้ในงานสัปดาห์หนังสือที่เปิดพื้นที่ให้คนทำหนังสืออิสระมีที่ทางปล่อยของ ไปจนถึงการเป็นกรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือ
ทั้งหมดเป็นการลงแรงขยับขยายพื้นที่ทางวรรณกรรมของประเทศนี้ที่บางช่วงก็ดูอาจจะหดแคบซึมเซาลงไปบ้าง แต่ชายผู้นี้ก็ยังไม่หยุดยั้งในการสร้างที่ทางให้วงการหนังสือ ด้วยความเชื่อว่าวรรณกรรมจะเดินหน้าไปได้ ต้องมีพื้นที่ใหม่ๆ ให้ทั้งผู้อ่านและผู้เขียนได้ร่วมเติบโตไปด้วยกัน
‘Thaiwriter’ ชุมชนวรรณกรรมที่เปรียบดั่งสนามหญ้าให้นักเขียนนักอ่านเข้ามาล้อมวงพูดคุย
การจากลาไปช่วงระหว่างทศวรรษ 2540 ของ ช่อการะเกด วารสารรวมเล่มเรื่องสั้นอันเป็นฐานที่มั่นสำคัญทางวรรณกรรม แม้จะยังพอมีเวทีอื่นๆ ตามนิตยสารต่างๆ ที่เปิดรับผลงานเรื่องสั้นไปตีพิมพ์อยู่บ้าง แต่ก็ไม่สามารถทดแทนช่อการะเกดอันเป็นเวทีใหญ่สุดที่คอย ‘ประดับช่อ’ สร้างนักเขียนมากมายให้ ‘ผ่านเกิด’ เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
นิวัตเป็นหนึ่งในนั้นจากเรื่องสั้น ‘ความเหลวไหล’ ว่าด้วยความเหงาเศร้าของผู้คนสังคมเมือง ผลงานนี้ได้รับรางวัลช่อการะเกด ในปี 2539 นิวัตย้อนเล่าถึงงานแนวทางตัวเองไว้ว่า
“ถ้าจะให้นิยาม คงเป็นนักเขียนวรรณกรรมแนว Creative Writer มุ่งเขียนสะท้อนปัญหาสังคมการเมืองแต่ว่ายังแฝงไว้ด้วยความโรแมนติก เพราะรู้สึกว่างานที่จะทำให้คนอ่านชุ่มชื่นหัวใจหรือว่าติดตามตัวละคร น่าจะเป็นงานแนวโรแมนติกซึ่งเราก็ชอบอยู่ด้วย ถ้าในเนื้องานมันมีความเข้มข้นทางสังคมแล้วมีความโรแมนติกผสมเข้ามา มันจะช่วยดึงคนอ่าน”
ตั้งแต่ปี 2535 นิวัตเขียนเรื่องสั้นส่งลงนิตยสารบางปี ลงไป 20-30 เรื่องแทบไม่มีผลอะไร แต่มามีคนรู้จักเพราะได้ลงช่อการะเกด สนามเรื่องสั้นที่ผ่านยาก แต่สามารถทำให้นักเขียนคนนั้นๆ แจ้งเกิดได้
เป็นช่วงเดียวกับที่อินเทอร์เน็ตกำลังเริ่มที่เป็นรู้จัก เว็บไซต์ที่เป็นภาษาไทยยังมีน้อย ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของเว็บบอร์ดอย่างพันทิป ตอนนั้นนิวัตตัดสินใจก่อตั้ง Thaiwriter.net เว็บไซต์วรรณกรรม ที่รวบรวมความเคลื่อนไหวทุกเรื่องในแวดวงวรรณกรรมไทย แม้การทำงานหลังบ้านจะทุลักทุเล องค์ความรู้ และเครื่องมือเกี่ยวกับโลกไซเบอร์ของไทยยังมีไม่มากนัก แต่ด้วยความที่ชอบอะไรทันสมัยอยู่ตลอด นิวัตจึงมองเห็นว่าพื้นที่ในโลกออนไลน์จะช่วยผลักดันวรรณกรรมไทยได้
Thaiwriter เริ่มต้นในปี 2542 กลายเป็นชุมชนออนไลน์ที่คึกคักไปด้วยนักอ่านและนักเขียน แห่เข้ามารวมตัวกันถกเถียงประเด็นในโลกหนังสือ ในห้องเว็บบอร์ดมีการแบ่งหมวดหมู่ไว้ อย่างเช่น ห้องวรรณกรรม ห้องเรื่องสั้น ห้องกวี เป็นเว็บไซต์แรกที่เกี่ยวกับวรรณกรรมโดยตรง และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเวทีทางวรรณกรรมแห่งใหม่ ในชื่อ ‘ประกวดเรื่องสั้นไทยไรเตอร์’ นับเป็นการประกวดเรื่องสั้นบนพื้นที่ออนไลน์ครั้งแรก
“เราไม่คิดว่าจะต้องมีสนามใหญ่เท่าช่อการะเกด แต่ขอเป็นเวทีหนึ่งในการสร้างนักเขียนขึ้นมาในช่วงเวลานั้น ซึ่งทุกวันนี้หลายคนก็ยังโลดแล่นอยู่ในแวดวงวรรณกรรม”
ถึงแม้เวทีประกวดเรื่องสั้นไทยไรเตอร์จะไม่มีเงินรางวัลสำหรับผู้ได้รับคัดเลือก แต่ก็ยังมีผู้สนใจส่งต้นฉบับเรื่องสั้นเข้ามาให้พิจารณาอย่างล้นหลาม บางปีมีมากถึง 300-400 เรื่อง นิวัตต้องคัดเลือกให้เหลือเพียง 12 เรื่องสั้นที่ดีที่สุดเพื่อให้ทันช่วงปลายปี ก่อนจะมีการมอบเกียรติบัตรเพื่อรับรองความสามารถ พร้อมทั้งจัดงานเสวนาให้นักเขียนได้มาเจอกัน
สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับนิวัตคือหลายคนที่ผ่านเข้ามาในเวทีนี้ ยังคงทำงานอยู่ในแวดวงวรรณกรรม ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน บรรณาธิการ คนผลิตคอนเทนต์ แม้อาจพูดได้ไม่เต็มปากว่าคนเหล่านั้นแจ้งเกิดจากเวทีนี้ เพราะหลายคนมีความโดดเด่นติดตัวมาอยู่ก่อนแล้ว แต่ Thaiwriter ก็ถือเป็นพื้นที่ให้หลายคนได้เข้ามาทดลองสิ่งใหม่ๆ ในโลกออนไลน์ และอาจต่อยอดไปตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มของตัวเองในอนาคต เช่นเดียวกับสิ่งที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี สร้างช่อการะเกดเอาไว้
ไม่กี่ปีถัดมา นิวัตกับเพื่อนนักเขียนอย่าง พิสิฐ ภูศรี, ชาคริต โภชะเรือง, จารี จันทราภา ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นศิษย์เก่าที่ผ่านเกิดมาจากช่อการะเกดด้วยกัน และเข้ากันได้ในทางความคิด จึงสุมหัวคิดทำหนังสือตีพิมพ์ออกมาสักเล่ม จนกลายเป็น สนามหญ้า นิตยสารรวมเรื่องสั้นรายปี โดยนิวัตรับบทเป็นบรรณาธิการ ทั้งที่ในเวลานั้นพวกเขายังทำหนังสือเล่มกันไม่เป็นด้วยซ้ำ
“มันล้อมาจากสนามหลวง เราตั้งชื่อให้เหมือนเป็นพื้นที่ของการเริ่มต้น สนามหญ้ามันก็เหมือนสนามเด็กเล่น เหมือนการลงสนามแบบรุ่นเยาว์ เราเรียนรู้วิธีการทำงานหนังสือไปพร้อมๆ กัน เดินสายคุยกับเจ้าของสำนักพิมพ์ ขอคำแนะนำจากบรรณาธิการทั้งหลายทั่วประเทศ เพราะเราไม่เคยทำมาก่อน”
ตลอดการยืนระยะอย่างยาวนาน ถ้าจะให้ยกตัวอย่างปรากฏการณ์ที่เป็นแรงผลักดันให้กับตัวนิวัตเอง คงเป็นการได้ทำสนามหญ้าเล่มที่ 2 – เรื่องรักธรรมดา ซึ่งสำหรับเขาถือเป็นรวมเรื่องสั้นที่เหมาะสมในทุกแง่มุม มีการผสมรวมองค์ประกอบต่างๆ จากผู้คนที่หลากหลาย ทั้งนักแสดง สถาปนิก นักวาดภาพประกอบ ช่างภาพ อยู่ภายในหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ได้อย่างลงตัว หนังสือขายได้กว่า 1,000 เล่มในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ในแง่ความนิยมยังถูกพูดถึงในวงกว้างอย่างที่คนทำไม่คิดฝันมาก่อน
นิวัตฉายความทรงจำในขณะนั้นว่า “หนังสือบูมมากจนไม่น่าเชื่อ ก็กลับมานั่งคิดว่าวงการหนังสือมันไม่ตายหรอก จะทำหนังสือวรรณกรรมหรือการเมือง อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น แค่ต้องหาที่ทางให้ถูก ความสำเร็จครั้งนั้นมันกลายเป็นความหวังที่ทำให้เราต้องการทำหนังสือต่อ ถ้ามันเจ๊งก็คงไม่ได้ทำหนังสือมาจนถึงทุกวันนี้”
เปรียบเสมือนสองช่องทางที่วิ่งสอดขนานกันไประหว่าง Thaiwriter ในโลกออนไลน์ กับ สนามหญ้า ในพื้นที่หน้ากระดาษ ทั้งสองพื้นที่ต่างมีกลุ่มของตัวเอง ทั้งแตกต่างและทับซ้อนไปพร้อมกัน จึงเป็นทั้งการนำวรรณกรรมเคลื่อนเข้าไปสู่โลกอินเทอร์เน็ต ขณะเดียวกันก็ดึงคนจากโลกออนไลน์ให้มาสู่หน้าหนังสือ เพราะการทำเว็บไซต์สามารถสื่อสารกับคนจำนวนมากได้ง่ายและรวดเร็ว เป็นเครื่องมือที่ดีอย่างหนึ่งในการทำให้หนังสือเข้าถึงผู้คน
Thaiwriter จึงเป็นพื้นที่หนึ่งที่ทำให้คนรู้จักสนามหญ้ามากขึ้น รวมไปถึง สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม ในเวลาต่อมา สนามหญ้า ออกมาทั้งหมด 6 เล่ม (มีเล่มพิเศษด้วยในบางโอกาส) ส่วน Thaiwriter มีอายุราว 10 ปี
เม่นขนแหลม ผู้เคลื่อนตัวหาที่ทางในโลกวรรณกรรมอยู่เสมอ
“เม่นมันมีขนแหลมๆ เปรียบได้ดั่งความรู้ที่ใช้ต่อสู้กับความไม่รู้ คิดว่าคอนเซปต์นี้คงใช้ได้ในการอธิบายเวลามีคนถาม จริงๆ แค่อยากใช้ชื่อสัตว์ตัวหนึ่งเหมือนสำนักพิมพ์เพนกวินหรือสำนักพิมพ์ฟลามิงโกก็เท่านั้นเอง” นิวัตเล่าที่มาที่ไปของสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม
เม่นวรรณกรรม ถือกำเนิดขึ้นในช่วงที่นิวัตใช้คำว่า ‘วงการวรรณกรรมโกลาหล’ เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่ฟื้นตัวดีจากพิษเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 แวดวงการพิมพ์ในไทยหดตัว แม้จะมีสัญญาณดีขึ้นมาบ้าง แต่สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ก็ยังไม่กล้าเสี่ยงพิมพ์หนังสือปกใหม่ๆ ออกมา ผลงานเล่มแรกของเม่นวรรณกรรม คือ นิยายชื่อ ไปสู่ชะตากรรม ของนิวัตเอง เพราะไม่สามารถหาสำนักพิมพ์อื่นได้ในขณะนั้น
ช่วงนั้นเป็นเวลาไล่เลี่ยกันกับที่นิวัตกำลังทำสนามหญ้าอยู่แล้ว จึงมีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมเพียงพอจะทำสำนักพิมพ์ของตัวเอง และเครื่องมือที่ว่านั้นก็คือคอมพิวเตอร์ ที่สามารถทำงานได้หลากหลาย เช่น การใช้โปรแกรมจัดหน้าได้ง่ายและเร็วกว่ารูปแบบเดิมที่เป็นแอนะล็อก รวมถึงที่ตัวเขาเองที่พอจะมีความรู้เรื่องการจัดพิมพ์มาบ้าง จึงทำให้หนังสือออกมาเป็นรูปเล่มได้
“ถ้าไม่มีคอมพิวเตอร์เราคงไม่ทำสำนักพิมพ์แน่ๆ เริ่มจากตรงนั้นด้วยคอมพีซีตั้งโต๊ะธรรมดาเครื่องเดียว ใช้โปรแกรม Pagemaker ของ Adobe จนสร้างเป็นสำนักพิมพ์มาได้”
ผลงานสร้างชื่อลำดับถัดมาเป็นของ คมสัน นันทจิต ในชื่อยาวเหยียด รวมเรื่องสั้นไม่ตลก เพราะพูดถึงเรื่องของโลกอีกใบที่หมุนช้าช้า เอื่อยเอื่อย
นิวัตย้อนจำได้ว่าตอนนั้นพิมพ์มาออกมา 800 เล่ม และขายหมดอย่างรวดเร็วที่งานสัปดาห์หนังสือในปีนั้น เพราะตัวนักเขียนมีกลุ่มฐานแฟนอยู่ก่อนแล้ว แต่กระนั้นกลับไม่ได้กำไร เพราะดันไปตั้งราคาผิด ขายแค่ 45 บาท แทนที่จะมากกว่านั้นเป็นเท่าตัว ด้วยความไม่รู้เรื่องการทำสำนักพิมพ์ดีพอ ‘โกลาหล’ จึงเป็นคำนิยามของเขาสำหรับการบริหารจัดการสำนักพิมพ์ในเวลานั้น
ทินกร หุตางกูร เป็นรายนามต่อมาที่นิวัตชักชวนเข้ามาร่วมชายคา เพราะชอบในลีลาการเขียนที่หาไม่ได้ง่ายในประเทศไทย ใช้ความแฟนตาซีผสมเข้ามาในการเล่าเรื่อง รวมถึงบทเพลงที่แทรกซึมอยู่ในเรื่องเล่า จึงขอต้นฉบับมาพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ คนไต่ลวดบนดาวสีฟ้า เล่มที่สองคือ โลกของจอม ที่ถือว่าเป็นงานที่น่าตื่นเต้น นิยายเล่มนี้ใช้วิธีเล่าทั้งเชิงวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศิลปะ ผสมผสานกัน นิวัตเล่าถึงทินกรที่ต่อมากลายเป็นนักเขียนขาประจำของสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม
“งานของทินกรมีผลตอบรับดีมาก อย่าง โลกของจอม พิมพ์ครั้งแรก 2,000 เล่ม ปรากฏว่าต้องพิมพ์ครั้งที่สอง แล้วยังเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปี 2546 ด้วย เนื้อเรื่องก็แปลกใหม่ ฉะนั้นคนอ่านก็เลยเรียกร้องที่จะอ่านเนื้อหาใหม่ๆ มีความแฟนตาซี มีความโรแมนติก มีเพลง มีเด็กสาวมัธยม ทำให้คนอ่านรู้สึกว่าตัวละครของเขาดูแล้วสดชื่น แฝงด้วยเนื้อเรื่องที่กำลังเข้มข้นด้วยปัญหาสังคม”
มากกว่านั้น ด้วยเติบโตมาจากช่อการะเกด นิวัตอยากจะปลุกปั้นคนวรรณกรรมรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมา
“เพื่อจะได้งานที่มีแนวทางแปลกใหม่ในแต่ละยุคสมัย เราจะไม่ย่ำอยู่กับงานเขียนแบบเก่าๆ คิดว่าคนอ่านเองก็หางานเขียนที่มีเนื้อหาแปลกใหม่อยู่ตลอดเหมือนกัน”
เฉกเช่น วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา จาก ยูโทเปียชำรุด และ อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ จาก อีกไม่นานเราจะสูญหาย เป็นสองรายนามที่นิวัตยกมาเป็นตัวอย่างนักเขียนที่สร้างงานแนวทางใหม่เฉพาะตัวขึ้นมา แม้จะนิยามตัวเองว่าเป็นนักเขียน และการเขียนเป็นสิ่งที่เขาถนัดมากที่สุด แต่การได้เห็นผลงานของนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ประเด็นใหม่ๆ ทำให้รู้สึกชุ่มชื่นหัวใจ เป็นแรงผลักดันให้นิวัตมีกำลังใจในการทำสำนักพิมพ์ตลอดมา
“ช่วงหลังเม่นวรรณกรรมเริ่มพิมพ์เรื่อง LGBTQ+ เรื่อง gender สิ่งที่เรากำลังนำเสนอ คนอ่านจำนวนหนึ่งก็รู้สึกว่าเขาไม่ได้โดดเดี่ยวกับสิ่งที่เขาเป็นอยู่ บางครั้งถ้าเกิดเจอเรื่องแบบนี้ในครอบครัวที่เคร่งครัด ก็จะหาทางออกไม่ได้ แต่ถ้าเกิดเขาได้อ่านหนังสือแบบนี้ ตัวละครมีอิสระพอที่จะพูดให้คนได้ยินหรือต่อสู้กับเรื่องเหล่านี้ เรามองว่าหนังสือคือหนึ่งในเพื่อนเขา และเป็นจุดยืนของเราอยู่แล้วที่ทำหนังสือที่พูดประเด็นสังคมด้วย”
Alternative Writers บูทหนังสือทางเลือกเพื่อคนทำหนังสือทางเลือก
อาจเพราะทั้งสนามหญ้าและเม่นวรรณกรรมเริ่มต้นบ่มเพาะขึ้นมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน จึงเป็นโจทย์ท้าทายของนิวัตและผองเพื่อน ในการหาวิธีให้ผลผลิตที่สุกงอมได้ออกสู่ตลาด ลำพังแค่เพียงวางขายตามร้านหนังสือหรือฝากตามสายส่งนั้นยังไม่เพียงพอ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เมื่อปลายปี 2543 จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เขาเริ่มมองหาบูทขายหนังสือของตัวเอง
“ก่อนงานสัปดาห์หนังสือจะเริ่ม ตอนนั้นเม่นวรรณกรรมมีแค่ 3 ปกคือ นิตยสาร สนามหญ้า, ไปสู่ชะตากรรม และรวมเรื่องสั้นของ คมสัน นันทจิต การมีหนังสือแค่ 3 ปกมันไม่คุ้มที่จะเช่าบูทขายเอง ช่วงแรกเลยใช้วิธีเอาหนังสือไปฝากวางกับบูทของคนรู้จัก 2-3 เจ้า ส่วนบูทอื่นๆ ที่เราไม่รู้จักก็มักจะถูกปฏิเสธกลับมา”
บูทที่จะจัดแสดงในงานหนังสือส่วนใหญ่ จะมาจากสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีกำลังมากพอจะเช่าบูทขายหนังสือตัวเอง หากเป็นคนทำหนังสือรายย่อยแล้วมาเปิดบูทเองก็ยากที่จะคุ้มทุน กระทั่งงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปี 2543 นิวัตเริ่มด้วยการแชร์ค่าเช่าบูทร่วมกับสำนักพิมพ์อิสระอื่นๆ แล้วเปิดให้คนทั่วไปเอาหนังสือมาฝากขาย
“คิดถึงตอนเอาหนังสือไปฝากขายแล้วเขาไม่รับ รู้สึกเสียใจนะ รุ่มร้อนในใจว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ แต่ละปกก็แค่ 5 เล่ม 10 เล่มเอง ก็รู้สึกว่าอยากเปิดเองบ้าง แล้วเราจะรับฝากของนักเขียนทุกคนทุกสำนักพิมพ์เลย แล้วในที่สุดก็เป็นแบบนั้นจริงๆ”
บรรดาหนังสือที่มาฝากวางขายล้วนมาจากสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่เพิ่งเปิดตัว รวมถึงหนังสือทำมือจากนักเขียนหน้าใหม่ๆ ทั่วประเทศ กลายเป็นบูทที่มีหนังสือแปลกๆ มากที่สุดในงาน หลายเล่มไม่สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาด จนกลายเป็น ‘Alternative Writers’ บูทขาประจำงานสัปดาห์หนังสือ ที่เป็นพื้นที่เล็กๆ ให้คนทำหนังสือรายย่อยได้เข้ามาบ่มเพาะเติบโต ไม่ว่าจะเป็นนิตยสารอย่าง Bioscope, a day หรือ สำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น ของ ปราบดา หยุ่น ก็เคยมาฝากวางขาย กระทั่งพัฒนาจนมีบูทของตัวเองในเวลาต่อมา
อาจตอบไม่ได้ว่า Alternative Writers มีส่วนในการส่งเสริมนิเวศหนังสือมากแค่ไหน เพราะเริ่มต้นจากการอยากแก้ปัญหา และส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของธุรกิจ แต่นิวัตก็พูดอย่างภาคภูมิใจว่า
“โดยที่เราไม่รู้ตัว พอมันหลายปีเข้า เห็นว่าสำนักพิมพ์นี้เคยฝากพิมพ์กับเราครั้งนี้เติบโตมีบูทของตัวเอง เป็นสำนักพิมพ์ระดับกลางไปแล้ว เราก็รู้สึกดีใจมากๆ ก็เหมือนเราได้ส่งต่ออะไรบางอย่างออกไป”
ในความ ‘อินดี้’ มองหาสิ่งที่เป็นไปข้างหน้าเสมอ
ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายฤดู นิวัตแบ่งช่วงซบเซาของอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ออกเป็น 2 ครั้ง คือ หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 เป็นช่วงเวลาสองสามปีที่สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ไม่พิมพ์หนังสือใหม่
อีกครั้งคือการเข้ามาดิสรัปต์ของโซเชียลมีเดียในอีก 20 ปีถัดมา ทำให้สิ่งพิมพ์ลดความนิยมลง โดยเฉพาะแมกกาซีน กับหนังสือพิมพ์ที่ถูกโซเชียลมีเดียแย่งชิงความเร็วในการนำเสนอไป เป็นสิ่งที่สั่นคลอนอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์อย่างหนัก แม้ในต่างประเทศเริ่มปรับตัวกลับมาได้ แตกต่างกับในไทยที่วัฒนธรรมสิ่งพิมพ์ไม่ได้มีอายุยืนยาวและเข้มแข็งเท่าต่างประเทศ นิวัตมองว่า
“ในไทย แบรนด์สินค้ามองหนังสือเป็นแค่โฆษณา ไม่ได้มองว่าเป็น culture ถ้าเขามองว่าเป็น culture มันก็จะยังอยู่ได้ อย่างการได้ลงโฆษณาใน The New York Times มันป่าวประกาศไปชั่วลูกชั่วหลานได้ว่าแบรนด์เราได้ลงนะ แต่เมืองไทยรู้สึกว่าการลงใน มติชน ใน แพรว มันไม่เห็นผลแบบนั้น ทำให้สปอนเซอร์หันไปหาช่องทางอื่นๆ ซึ่งอุตสาหกรรมการพิมพ์นั้นพึ่งพาการโฆษณาจากแหล่งทุนเพียงไม่กี่เจ้า”
อีกหนึ่งการขยับของนิวัตในแวดวงสิ่งพิมพ์ คือการได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ปี 2560-2562 ทำให้มีโอกาสได้เห็นอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ ในมุมที่กว้างขึ้นมากกว่าเดิม จากเคยจำกัดอยู่แค่แวดวงวรรณกรรม ก็ได้มารู้จักคนทำหนังสือประเภทอื่นอีกมากมาย จนมองเห็นว่าการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต้องร่วมกันผลักดันไปพร้อมกันทั้งหมด รวมไปถึงนักอ่าน และรัฐบาลด้วย
นิวัตบอกว่าสิ่งที่รัฐบาลทำได้อย่างเป็นรูปธรรมหากต้องการกระตุ้นอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ คือเพิ่มงบประมาณเกี่ยวกับห้องสมุด ให้ห้องสมุดสามารถซื้อหนังสือได้จำนวนมากและมีความหลากหลายขึ้น ซึ่งจะถือเป็นการอุดหนุนวงการหนังสือ ทั้งยังช่วยให้คนที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงหนังสือได้ด้วย แต่อยู่บนเงื่อนไขที่ว่าห้องสมุดของรัฐจะต้องใส่ใจในการเลือกสั่งซื้อให้กระจายเป็นวงกว้าง ไม่เพียงแต่เลือกตามที่มีเซลส์มาเสนอขายเท่านั้น
“บรรณารักษ์บางคนก็ทำงานสบายไปหน่อย มีเซลส์เข้าไปขายก็ซื้อแล้ว ไม่มีการคัดสรรอะไร การขายแบบเซลส์มันเป็นเพียงเส้นเลือดใหญ่ให้สำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ ทำให้สำนักพิมพ์เล็กๆหนังสือที่ไม่มีชื่อเสียงโด่งดังที่บรรณารักษ์ไม่รู้จัก ก็ไม่ได้รับคัดเลือกให้ไปอยู่ในห้องสมุด ดังนั้นการสนับสนุนจากรัฐจึงเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องการผู้มีอำนาจที่มีวิสัยทัศน์เข้ามาผลักดัน”
ถึงเม่นตัวนี้จะอยู่บนเส้นทางวรรณกรรมมาเป็นปีที่ 22 แล้ว แต่จากมุมของคนนอกที่มองเข้ามา เม่นตัวนี้ยังคงเป็นเม่นที่ตัวไม่ใหญ่แม้วันเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม
“ทุกคนก็ยังมองว่าเราเป็นสำนักพิมพ์อินดี้เล็กๆ ซึ่งก็ดีที่คนมองแบบนั้น ตำแหน่งเราเป็นเหมือนกับเพื่อนของคนอ่าน อาจไม่ถึงกับนำหน้าคนอ่านไปไกลหรือว่าเดินตามหลังคนอ่าน เราคิดว่าเดินไปด้วยกันดีกว่า”
เขาย้ำอีกว่า เป้าหมายสำคัญของสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมที่เปรียบได้ดั่งสัญญาใจกับคนอ่าน คือการพยายามหาสิ่งที่น่าสนใจมานำเสนออยู่ตลอด
ในปัจจุบันที่ไม่มีสูตรสำเร็จมาวิเคราะห์ได้ว่าอะไรคือปัจจัยทำให้คนเลือกซื้อเลือกอ่านวรรณกรรมแต่ละเล่ม การเลือกหนังสือขายดีจากต่างประเทศมาแปลก็ไม่ใช่ว่าจะขายดีในไทยเสมอไป นิวัตจึงให้ความสำคัญกับแพสชันในการทำหนังสือแต่ละเล่มให้ออกมาโดดเด่น ทุ่มเทเวลากับการคัดสรรต้นฉบับ จนสามารถตอบได้ว่าทำไมต้องเลือกเล่มนี้มากกว่าเล่มอื่น ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจเงื่อนไขทางธุรกิจไปพร้อมกันด้วย
“อยู่ที่ว่าเราทุ่มเทให้หนังสือมากแค่ไหน เราต้องรู้เนื้อหาความต้องการที่จะนำเสนอ คือต้องเข้าใจหนังสือแต่ละเล่ม เราคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมาก ในความเป็นอินดี้ของเรามักมองหาสิ่งที่เป็นไปข้างหน้าอยู่เสมอ แต่เราก็ไม่ได้ต่อต้านนักเขียนเก่าๆ เราเติบโตมากับการอ่านตั้งแต่ยุคศรีบูรพา อ่านเพราะอยากเป็นนักเขียน นักเขียนยุคเก่าๆ ช่วยเราได้เยอะมาก เหมือนครูที่คอยแนะนำ เขาไม่ได้มาสอนเราเป็นในเชิงศาสตร์ แต่สอนให้เราเห็นว่าต้องทำยังไงถึงจะทำให้หนังสือคงอยู่ต่อไป”
เจ้าสำนักเม่นวรรณกรรมหล่นวาทะทิ้งท้าย