นับตั้งแต่ย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 (พ.ศ. 2544 – 2563) ห้องสมุดในหลายประเทศต่างล้มหายตายจากไปนับพันแห่ง เฉพาะในอังกฤษประเทศเดียวมีห้องสมุดปิดตัวไปเกือบ 800 แห่งในช่วง 10 ปี (พ.ศ. 2553 – 2562) แต่ในห้วงเวลาเดียวกันนี้ก็ได้ให้กำเนิดห้องสมุดยุคใหม่ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ที่มีแนวคิดแหวกแนว รูปลักษณ์และการออกแบบเพื่อใช้งานหลากหลาย จำนวนนับร้อยแห่งทั่วโลก
ห้องสมุดเป็นสถาบันทางสังคมที่ดำรงอยู่มายาวนานหลายศตวรรษ และมีการปรับตัวตลอดมา การเปลี่ยนแปลงที่มีลักษณะพลิกโฉม (Transformation) ดังที่กำลังปรากฏเด่นชัดขึ้นทุกขณะในเวลานี้ เป็นผลมาจากความพยายามต่อสู้ดิ้นรนเพื่อการดำรงอยู่ เนื่องเพราะอิทธิพลของเครื่องมือสืบค้น (search engine) และพลังของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตซึ่งช่วยให้ผู้คนทั่วโลกสามารถค้นหาข้อมูลสารสนเทศที่ต้องการได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว ทำให้พฤติกรรมการแสวงหาข้อมูลความรู้จากห้องสมุดเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
โดยหลักการแล้ว ห้องสมุดประชาชนนั้นเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้อยู่แล้วในตัวของมันเอง ไม่นับห้องสมุดโรงเรียนและห้องสมุดมหาวิทยาลัยหรือห้องสมุดเพื่อการวิจัย ก็มีความเป็นสาธารณะอยู่ระดับหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่ห้องสมุดนั้นๆ รองรับ และขึ้นอยู่กับนโยบายของห้องสมุดแต่ละแห่งที่จะเปิดให้บริการแก่ชุมชนในระดับที่มากน้อยแตกต่างกันไป
แต่อันที่จริงแล้วความเป็นพื้นที่สาธารณะของห้องสมุดนั้นก็เพิ่งเกิดขึ้นมาเพียงไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา (เมื่อเทียบกับกำเนิดของห้องสมุดที่ปรากฏตัวขึ้นมาเมื่อกว่าสองพันปี) ซึ่งผลของการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นทำให้ความรู้และวิทยาการในห้องสมุดที่เคยจำกัดหรือผูกขาดอยู่กับอภิสิทธิชนกลายมาเป็นพื้นที่แสวงหาความรู้ซึ่งสาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาแล้วครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ห้องสมุด
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลก
สำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่นี้ เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงแนวคิดการออกแบบและใช้งานพื้นที่ (Space Management/Utilization) ที่มีผลให้ภาพลักษณ์ห้องสมุดแตกต่างออกไปแทบไม่เหมือนเดิม
กล่าวคือ พื้นที่ใช้ประโยชน์ซึ่งเคยถูกยึดครองด้วยหนังสือและชั้นวางหนังสือ เน้นการใช้พื้นที่เพื่อการอ่าน และรูปแบบการให้บริการหลักคือการสืบค้นสารสนเทศและการยืมคืนหนังสือ กลายมาเป็นพื้นที่โปร่งโล่ง การจัดวางเฟอร์นิเจอร์แบบยืดหยุ่น สามารถปรับใช้งานได้ตามความต้องการหรือกิจกรรมที่แตกต่างหลากหลาย ออกแบบพื้นที่เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ และการค้นพบความรู้ใหม่จากกิจกรรมสร้างสรรค์ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง บรรยากาศผ่อนคลาย มีสีสันมากขึ้น
การให้บริการที่มีขยายขอบเขตมากกว่าการสืบค้นและยืมคืนหนังสือ กลายเป็นพื้นที่สนับสนุนการเข้าถึงความรู้และสารสนเทศ ตลอดจนกิจกรรมเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็นการจัดแสดงทางวัฒนธรรม จัดนิทรรศการศิลปะหรือความรู้ จัดอบรมพัฒนาทักษะใหม่ สอนภาษา เปิดพื้นที่สำหรับนัดเจรจาทางธุรกิจหรือตลาดงาน ประกวดแข่งขันสร้างสิ่งประดิษฐ์ อภิปรายพูดคุยเรื่องการเมือง ฯลฯ
ความหมายของพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้ของห้องสมุดประชาชนจึงแตกต่างไปจากเดิม และถูกเรียกขานด้วยชื่อที่หลากหลายเพื่อสะท้อนบริบทหรือตัวตนของการเป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้ อาทิ “ห้องนั่งเล่นของเมือง” “ออฟฟิศสาธารณะประจำเมือง” “พื้นที่แห่งประชาธิปไตย” “ศาลาประชาคมของชุมชน” “พระราชวังของสามัญชน”
สามปัจจัย
ปัจจัยที่เป็นแรงผลักดัน 3 ประการ ซึ่งทำให้ห้องสมุดเกิดการเปลี่ยนแปลงและกลายเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้ ได้แก่ 1. กระบวนการกลายเป็นดิจิทัล (Digitalization) 2. การพัฒนาและขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) และ 3. การเคลื่อนตัวสู่สังคมความรู้ (Knowledge Society)
กล่าวโดยรวบรัด กระบวนการกลายเป็นดิจิทัล (Digitalization) คือสาเหตุหลักที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงมาสู่ห้องสมุดยุคใหม่ ความรู้และสนเทศในรูปแบบดิจิทัลเข้ามาแทนที่หนังสือกระดาษในปริมาณและความเร็วแบบทวีคูณ เมื่อผนวกเข้ากับการที่ผู้คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น ช่องทางในการแสวงหาความรู้จึงเปิดกว้างอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ความจำเป็นในการพึ่งพาห้องสมุดจึงน้อยลง ห้องสมุดหลายแห่งมีจำนวนผู้ใช้บริการลดลงอย่างต่อเนื่อง พฤติกรรมผู้ใช้ห้องสมุดเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม หากห้องสมุดไม่ปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ที่หลากหลายและมีความเฉพาะมากขึ้น ก็ย่อมหนีไม่พ้นที่จะถูกปรับลดงบประมาณหรือบังคับให้ปิดตัวไปในที่สุด
ภายใต้คลื่นโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่ก่อตัวและถาโถมเข้าสู่สังคมไทยมาตั้งแต่ทศวรรษ 2530 สิ่งที่เกิดขึ้นคู่ขนานไปกับกระบวนการกลายเป็นดิจิทัล คือการพัฒนาและขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) และการเคลื่อนตัวสู่สังคมความรู้ (Knowledge Society)
โครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนจากภาคเกษตรกรรมเป็นหลักมาเป็นภาคอุตสาหกรรมและการค้าการบริการในสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ของที่ดินและรูปแบบการทำงานและที่พักอาศัย
ปัจจุบันทั่วโลกมีคนอาศัยอยู่ในเขตเมืองมากกว่าชนบท และเมืองยังคงมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ที่ดินในเขตเมืองถูกใช้เพื่อการพาณิชยกรรม การค้าการลงทุน จนทำให้ราคาที่ดินมีมูลค่าสูง และการนำมาสร้างพื้นที่สาธารณะกลายเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาความคุ้มค่า การเข้าถึงพื้นที่เพื่อการเรียนรู้กลายเป็นเรื่องที่มีต้นทุนหรือราคาเข้ามาเกี่ยวข้อง พื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้แบบไม่มีค่าใช้จ่ายหรือเข้าถึงง่าย จึงเป็นสิ่งหาได้ยากยิ่งในเขตเมืองซึ่งเน้นผลตอบแทนหรือประโยชน์เชิงธุรกิจเป็นหลัก
มองในแง่นี้ โอกาสของห้องสมุดประชาชนในฐานะบริการของภาครัฐ ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่ดีของเมือง คือการปรับตัวสู่ห้องสมุดยุคใหม่ เพื่อทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการทักษะความรู้ใหม่ที่จำเป็นสำหรับอนาคต ตอบโจทย์การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านกระบวนการเรียนรู้ในบรรยากาศที่สร้างสรรค์ เป็นการเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปของความเป็นเมือง แก้ปัญหาความขาดแคลนพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้ให้กับประชาชน
บทบาทห้องสมุดยุคใหม่ในเขตเมืองมีความเป็นไปได้มากมาย และสามารถทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นในรูปแบบหุ้นส่วน (partner) อาทิ บริการให้คำปรึกษาด้านการหางาน การบ่มเพาะสตาร์ทอัป บริการสืบค้นข้อมูลท้องถิ่นเชิงลึกหรือเป็นศูนย์กลางสารสนเทศเฉพาะด้านของของชุมชน การเป็นพื้นที่กลางสำหรับชุมชนในการพบปะหรือจัดกิจกรรม การจัดนิทรรศการความรู้และการอภิปราย การเป็นประชาคมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการอภิปรายและหาทางออกให้กับปัญหาต่างๆ ของเมือง
โลกาภิวัตน์เชื่อมต่อโลกให้เล็กลงผ่านเทคโนโลยีการสื่อสาร พร้อมกับการไหลบ่าท่วมท้นของข้อมูลข่าวสารและสารสนเทศจำนวนมหาศาล หนึ่งในแนวคิดใหม่ถูกพัดพาเข้ามาคือความเชื่อว่าผู้ที่ยึดกุมข้อมูลสารสนเทศและสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้ก่อนคือผู้ที่อยู่รอด สามารถมองเห็นโอกาสจากความรู้ใหม่ จนมีคำกล่าวว่า ความรู้คืออำนาจ ผู้คนจำนวนไม่น้อยเห็นตรงกันว่าโลกได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคใหม่ จากสังคมเกษตรกรรม ผ่านมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม เข้าสู่สังคมความรู้ หรือ Knowledge Society (บ้างก็เรียก สังคมฐานความรู้ หรือ Knowledge-based Society)
แรงผลักดันอันเนื่องมาจากสังคมความรู้นี้เองที่ทำให้ห้องสมุดยิ่งต้องแสดงบทบาทให้ชัดเจนยิ่งกว่าอดีตในฐานะพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้ เพราะความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ในขณะที่ความรู้เดิมก็หมดอายุอย่างรวดเร็วเช่นกัน ห้องสมุดจึงเสมือนสะพานเชื่อมความรู้ที่ทันสมัยและเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างทันการณ์
สองแนวโน้ม
จากแรงผลักทั้งสามด้านดังกล่าว ส่งผลให้ห้องสมุดประชาชนมีแนวโน้มขยับตัวไปใน 2 ทิศทางหลัก ซึ่งบางแห่งอาจเชื่อมทิศทางทั้งสองเข้ามารวมกัน บางแห่งอาจเลือกให้น้ำหนักกับแนวทางใดแนวทางหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1. เปลี่ยน Business Model หันมาเน้นจุดแข็งของพื้นที่กายภาพ
เมื่อพฤติกรรมการแสวงหาข้อมูลสารสนเทศไปอยู่บนโลกออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ นอกจากห้องสมุดจำเป็นจะต้องจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์หรือเทคโนโลยีเพื่อการสืบค้นทางอินเทอร์เน็ตแล้ว ก็หาใช่ว่าบทบาทความสำคัญของพื้นที่กายภาพ (physical space) ของห้องสมุดจะหมดไปหรือไม่มีความหมาย
หากมองในมุมกลับ ห้องสมุดส่วนใหญ่ต่างก็มีจุดแข็งอยู่ที่พื้นที่กายภาพ ที่ตั้งของห้องสมุดโดยทั่วไปมักอยู่ในเส้นทางการคมนาคมที่เดินทางสะดวกและเข้าถึงง่าย เป็นโลเกชั่นที่สามารถประยุกต์ให้เป็นศูนย์กลางการพบปะหรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้หลากหลายรูปแบบ เช่น พื้นที่ทำงานร่วมกัน (Co-working space) การประชุมพูดคุยหารือ เมกเกอร์สเปซ (Maker space) อบรมฝึกฝนทักษะอนาคต หรือแม้แต่จัดกิจกรรมสันทนาการงานอดิเรกต่างๆ ดังเช่นห้องสมุดหลายประเทศในแถบสแกนดิเนเวียที่ได้กลายเป็นสถานที่ยอดนิยมของผู้คน
ในต่างประเทศ การเปลี่ยนบทบาทห้องสมุดให้เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนยุคใหม่ สนับสนุนการเรียนรู้และค้นพบความรู้ใหม่ๆ ผ่านพื้นที่กายภาพโดยเชื่อมโยงกับโลกดิจิทัลเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิด ได้ทำให้ห้องสมุดหลายแห่งกลับมาเป็นที่นิยมและมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น ทั้งในแง่ปริมาณการยืมคืนหนังสือ สื่อทรัพยากร และการเข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นในห้องสมุด รวมไปถึงการเยี่ยมชมของนักท่องเที่ยวและกลุ่มศึกษาดูงาน
โมเดลธุรกิจเดิมของห้องสมุดอันได้แก่การให้บริการยืมคืนหนังสือและการอ่านหนังสือในห้องสมุดจะลดความสำคัญลง พื้นที่ให้บริการจะถูกใช้เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือถ่ายทอดความรู้แบบลงมือทำมากขึ้น
สัดส่วนพื้นที่ของหนังสือและชั้นวางจะลดลง แต่พื้นที่เพื่อการเรียนรู้ การแสดงออก และทดลองปฏิบัติจะเพิ่มขึ้น ดังปรากฏให้เห็นในห้องสมุดทั้งที่ก่อตั้งมายาวนานก่อนศตวรรษที่ 21 รวมถึงห้องสมุดแห่งใหม่ๆ ที่เพิ่งเกิด มีการปรับปรุงและจัดสรรพื้นที่เพื่อการเรียนรู้เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สำหรับการประดิษฐ์ การใช้ความคิดสร้างสรรค์ การทดลองสร้างนวัตกรรม การพบปะอภิปรายพูดคุย ซึ่งอาจเรียกขานพื้นที่เหล่านี้แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น Fab Lab, Maker Space, Learning Commons
ดังมีตัวอย่างปรากฏให้เห็นแล้วในห้องสมุดหลายแห่ง อาทิ การผ่อนคลายใช้งานพื้นที่ในห้องสมุดกลางโตรอนโต (Toronto Central Library) ประเทศแคนาดา การจัดสรรพื้นที่บริการในห้องสมุดเมืองเบอร์มิงแฮม (Library of Birmingham) สหราชอาณาจักร Thinkspot ในห้องสมุดประชาชนเมซ่า (Mesa Public Library) สหรัฐอเมริกา The Edge ในห้องสมุดแห่งรัฐควีนส์แลนด์ (State Library of Queensland) ออสเตรเลีย Idea Lab ในห้องสมุดประชาชนซานดิเอโก (San Diego Public Library) สหรัฐอเมริกา MakerSpace Creative Hub ในห้องสมุดแบรมป์ตัน (Brampton Library) แคนาดา Idea Box ในห้องสมุดชาร์ลอตเม็กเคลนเบิร์ก (Charlotte Mecklenburg Library) สหรัฐอเมริกา Taylor Family Digital Library ในมหาวิทยาลัยคัลการี แคนาดา FabLab ในห้องสมุดประชาชนฟาแยตต์วิลล์ (Fayetteville Free Library) สหรัฐอเมริกา The Hive ที่เมืองวอร์เชสเตอร์ สหราชอาณาจักร และ Idea Exchange Old Post Office ห้องสมุดไร้หนังสือ ที่เมืองเคมบริดจ์ มลรัฐออนแทริโอ แคนาดา เป็นต้น
ส่วนในประเทศไทย ยังไม่เห็นกรณีตัวอย่างที่โน้มเอียงมาในทิศทางนี้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนนัก อาจมีห้องสมุดประชาชนบางแห่งเริ่มทดลองปรับเปลี่ยนการใช้งานพื้นที่กายภาพ แต่ก็ยังไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยน Business Model รูปแบบเดิม ยกเว้นแหล่งเรียนรู้ที่สร้างขึ้นใหม่และไม่ได้ผูกติดภาพลักษณ์ความเป็นห้องสมุด ดังเช่น Knowledge Exchange (KX) ถนนกรุงธนบุรี และ C.A.M.P ในศูนย์การค้าเมญ่า จังหวัดเชียงใหม่
2. ผนวกห้องสมุดหรือแหล่งเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การพัฒนาเมือง
ห้องสมุดยุคใหม่มีศักยภาพสูงขึ้นในฐานะกลไกสร้างความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ จากเดิมที่ถูกมองเป็นเพียงสถาบันทางสังคมที่ส่งเสริมความรู้และการศึกษา ห้องสมุดกำลังโดดเด่นขึ้นในฐานะแหล่งเรียนรู้ทักษะศตวรรษที่ 21 เป็นพื้นที่สร้างปฏิสัมพันธ์ทางความคิด สร้างความเข้าอกเข้าใจและความกลมกลืนระหว่างผู้คนอันหลากหลายในสังคมพหุวัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็นแหล่งก่อกำเนิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม
เหล่านี้คือรากฐานสำคัญของการก่อกำเนิดเศรษฐกิจใหม่ (new economy)
ดังนั้น ผู้บริหารเมืองที่มีวิสัยทัศน์จะเลือกวางบทบาทห้องสมุดหรือแหล่งเรียนรู้ ให้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการพัฒนาเศรษฐกิจของเมือง โดยเฉพาะการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ นักสร้างสรรค์ และผู้คิดค้นนวัตกรรม นอกเหนือไปจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิชาชีพที่มีอยู่แล้ว พื้นที่ห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้จะกลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นที่มาของไอเดียใหม่และนวัตกรรม
ตัวอย่างกรณีต่างประเทศที่วางบทบาทให้ห้องสมุดเป็นกลยุทธ์เชื่อมโยงกับทิศทางการพัฒนาเมือง เช่น DOKK1 ในเดนมาร์ก ห้องสมุดเมืองเบอร์มิงแฮม ในสหราชอาณาจักร Oodi ในฟินแลนด์ นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายเมืองที่นำเอาบริการภาครัฐอื่นๆ เข้ามารวมไว้ในห้องสมุดเพื่อให้เป็นจุดบริการเบ็ดเสร็จ (one stop service) ประชาชนจึงได้รับความสะดวกสบายในการเข้าถึงบริการที่จำเป็นจากภาครัฐ ในขณะเดียวกันก็ได้รับความรู้ใหม่ๆ โดยไม่คาดคิดจากการเข้ามาใช้บริการ
ในประเทศไทย กรณีที่ใกล้เคียงแนวโน้มนี้มากที่สุดคือเทศบาลนครยะลา ซึ่งดูแลรับผิดชอบอุทยานการเรียนรู้ยะลา ถึงแม้ว่าจะยังไม่ใช่การเชื่อมโยงห้องสมุดหรือแหล่งเรียนรู้เข้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจโดยตรง แต่ก็ชัดเจนว่าอุทยานการเรียนรู้ยะลาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการศึกษา งานความมั่นคง และการส่งเสริมพหุวัฒนธรรม ในขณะที่ท้องถิ่นหรือจังหวัดอื่นยังไม่มีภาพความเชื่อมโยงระหว่างแหล่งเรียนรู้กับกลยุทธ์การพัฒนาเมืองที่ชัดเจนเท่าไรนัก
ที่มา
The Chartered Institute of Public Finance and Accountancy’s (Cipfa)
Public Libraries as Place and Space – New Services, New Visibility จากเว็บไซต์ http://library.ifla.org/
https://ourworldindata.org/urbanization
อ่าน-อ่าน-อ่าน แบบฟินแลนด์ จากเว็บไซต์ https://www.tkpark.or.th
Cover Photo : Erik Thallaug