เศรษฐศาสตร์ความสุข มองเรื่องหัวใจในมิติตัวเลข กับ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี

2,984 views
5 mins
April 24, 2023

          เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก มีสมมติฐานว่ามนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจ (Homo Economicus) ที่มีเหตุผลมากพอในการเลือกว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร และสามารถจัดการทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ ขณะที่เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics) และเศรษฐศาสตร์ความสุข (Happiness Economics) เป็นเศรษฐศาสตร์กระแสรองที่นำทฤษฎีในสาขาอื่น เช่น จิตวิทยา และพฤติกรรมศาสตร์ มาเป็นปัจจัยในการวิเคราะห์ร่วมด้วย แนวทางเหล่านี้มองว่ามนุษย์ไม่ได้สมบูรณ์แบบและตัดสินใจทุกอย่างด้วยเหตุและผลเสมอไป แต่มีความอ่อนไหวตามธรรมชาติ

          เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เริ่มได้รับความสนใจและเป็นที่รู้จักของสังคมมากยิ่งขึ้น เมื่อ ริชาร์ด เทย์เลอร์ (Richard Thaler) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2017 จาก ‘ทฤษฎีผลักดัน’ (Nudge Theory) เขาใช้แนวคิดเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาอธิบายว่า เราสามารถออกแบบทางเลือกหรือสร้างสถานการณ์เพื่อโน้มน้าวให้คนทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้อย่างไร ทฤษฎีดังกล่าวถูกนำไปปรับใช้กับแผนการตลาดเพื่อส่งเสริมการขาย ช่วยลดปัญหาทางสังคม ไปจนถึงการออกกฎระเบียบและนโยบายต่างๆ ของภาครัฐ

          เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม และเศรษฐศาสตร์ความสุขคืออะไร มีประโยชน์ในชีวิตของคนทั่วไปแค่ไหน และต่อยอดไปสู่นโยบายได้อย่างไรบ้าง หาคำตอบเหล่านี้ได้จากการพูดคุยกับ ศาสตราจารย์ ดร. ณัฐวุฒิ เผ่าทวี จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ประเทศสิงคโปร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ความสุข เจ้าของผลงานหนังสือเรื่อง The Happiness Equation: The Surprising Economics of Our Most Valuable Asset ซึ่งมีวางจำหน่ายทั่วโลก และเขายังมีผลงานหนังสือภาษาไทยที่นำความรู้จากงานวิจัยมาย่อยให้อ่านง่ายอีกหลายเล่ม

          ตบท้ายการสนทนาด้วยมุมมองต่อแวดวงการศึกษาและวิชาการไทย ซึ่งตอกย้ำว่าความสุขหรือการมีแรงจูงใจในการทำงานเป็นเรื่องสำคัญก็จริง แต่หากขาดความรับผิดรับชอบ ระบบตรวจสอบ และบทลงโทษที่เหมาะสม ก็อาจเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงกับสังคม

เศรษฐศาสตร์ความสุข มองเรื่องหัวใจในมิติตัวเลข กับ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
Photo : เมธิชัย เตียวนะ / The101.world

ขอบข่ายของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม สามารถใช้อธิบายเรื่องอะไรเกี่ยวกับคนและสังคมได้บ้าง

          เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมไม่ใช่แค่เรื่องของเศรษฐศาสตร์ แต่มีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมศาสตร์ จิตวิทยา และอะไรต่างๆ เต็มไปหมด ถ้าเรื่องเหล่านั้นเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม ทั้งในระดับจุลภาค และระดับมหภาค เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมก็เข้ามาเกี่ยวข้องได้

          ยกตัวอย่างเช่น เศรษฐศาสตร์กระแสหลักอาจตั้งสมมติฐานไว้ว่า คนสูบบุหรี่เขาคิดตรึกตรองและมีเหตุผลอย่างดีแล้ว โดยยอมแลกระหว่างสุขภาพกับความสุข แต่เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจะตั้งข้อสังเกตว่า จริงๆ คนสูบบุหรี่บางคนเขาก็อยากเลิกบุหรี่แต่เลิกไม่ได้ เพราะมีระบบคิด กลไก หรืออคติที่ทำให้ไม่สามารถควบคุมตนเอง ดังนั้นเราต้องหาวิธีอย่างรอบด้านให้เขาเลิกบุหรี่ได้ เป็นต้น

ความสุขของคนเราสามารถวัดได้จริงไหม

          วัดได้จริง ไม่งั้นผมคงตกงาน (หัวเราะ) คือมันอาจจะเป็นการวัดผ่านการทำแบบสอบถาม เช่น ‘ถ้าคุณทบทวนชีวิตตัวเอง คุณมีความพึงพอใจมากน้อยขนาดไหน’ ให้คะแนน 1-7 คะแนน 1 คือพึงพอใจมากที่สุด 7 คือน้อยที่สุด แล้วเก็บข้อมูลจากคนเป็นหมื่นๆ คน อย่างเช่นที่สหรัฐอเมริกา หรือสหราชอาณาจักรมีการเก็บข้อมูลเหล่านี้ทุกปี จากนั้นก็เอาข้อมูลมาดูว่ามีตัวแปรอะไรบ้างทำให้คนมีความสุข เช่น การแต่งงาน รายได้ สุขภาพ ปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ผลจากการวิเคราะห์สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือร่างนโยบายเพื่อเพิ่มความสุขให้ประชาชน เช่น การทดลองเปลี่ยนจากการทำงาน 5 วัน เป็น 4 วันต่อสัปดาห์

ในประเทศไทยมีการนำเศรษฐศาสตร์ความสุขมาใช้บ้างหรือไม่

          ถ้าเศรษฐศาสตร์ความสุขเท่าที่ผมทราบยังไม่มีนะ แต่เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเริ่มมีมากขึ้นแล้ว ผมเองก็เป็นหนึ่งในที่ปรึกษาของ Nudge Thailand กลุ่มนักพฤติกรรมศาสตร์ ซึ่งพยายามจะให้ความรู้ และช่วยเปลี่ยนความคิดของคน รวมทั้งสร้างการรับรู้เรื่องดังกล่าวในประเทศไทย เมื่อไม่นานมานี้พวกเขามีโอกาสไปคุยกับผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ เรื่องจะสร้าง Nudge Unit โดยช่วยคิดค้นนโยบายต่างๆ เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมคนในเมือง

เรามักได้ยินคนพูดว่า ไม่มีความสุขในชีวิตการทำงานเลย เศรษฐศาสตร์ความสุขมองเรื่องนี้อย่างไร

          อันนี้เป็นคำถามที่ค่อนข้างใหญ่ แต่ถ้าให้พูดโดยสรุปก็คือ ถ้าเรารู้ ‘ความหมาย’ ของงานที่เราทำ สิ่งนั้นจะเป็นแรงจูงใจ (Motivation) ดีกว่าตัวเงิน ถ้าคนทำงานมีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม (Ownership) มีคนยอมรับและเห็นคุณค่าในงานที่ทำ ก็จะส่งผลต่อความมุมานะหรือความสุขในการทำงาน

          บางองค์กรอาจเก็บข้อมูลว่า อะไรส่งผลต่อความสุขของพนักงานบ้าง เพื่อหาปัจจัยที่ทำให้คนมี Productive มากขึ้น หรือถ้าองค์กรไม่ทำ พนักงานอาจจะลองไปนำเสนอก็ได้ เจ้าขององค์กรบางแห่งอาจสนใจ Productivity โดยไม่สนใจเรื่องความสุขของพนักงาน แต่มีงานวิจัยสนับสนุนว่าความสุขมีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อประสิทธิผลในการทำงาน

ถ้าเด็กวัยเรียนมีปัญหาความเครียดสะสม หรือไม่มีความสุขในการเรียน เศรษฐศาสตร์ความสุขหรือเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจะช่วยเรื่องนี้อย่างไร

          ขอพูดในเชิงเศรษฐศาสตร์ความสุขก่อน เราอาจวัดความสุขหรือสุขภาพจิตของเด็กในโรงเรียน เพื่อดูว่ามีตัวแปรอะไรบ้างส่งผลต่อความสุขของพวกเขา เช่น มีการแข่งขันในการเรียนมากน้อยขนาดไหน เด็กถูกคาดหวังจากผู้ปกครองมากน้อยแค่ไหน จากนั้นนำปัจจัยเหล่านี้มาวินิจฉัยว่า เราจะสามารถออกแบบนโยบายอะไรได้บ้าง เช่น ระบบตัดเกรดแบบอิงกลุ่มอาจสร้างความกดดันให้เด็ก เพราะถึงคุณเรียนเก่งแต่ในห้องมีคนเก่งกว่า มันก็สร้างการเปรียบเทียบ ส่วนระบบตัดเกรดแบบอิงเกณฑ์ ใครทำคะแนนถึงก็ได้ A วิธีนี้อาจเปลี่ยนความคิดให้เด็กๆ อยากช่วยเพื่อนเรียนและมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มากขึ้น และตอบสนองต่อความสุขของเขา

          ส่วนในเชิงของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ถ้าเด็กไม่ตั้งใจเรียน เราจะจูงใจอย่างไรให้เด็กตั้งใจเรียนมากขึ้น มีตัวอย่างโรงเรียนในสหรัฐอเมริกาเคยใช้วิธีให้เงินเด็ก คือถ้ามาเข้าเรียนนักเรียนจะได้เงินก้อนนี้ไป แต่ถ้าพวกเขามาเรียนไม่ครบเทอม หรือไม่มาสอบ โรงเรียนจะขอเอาเงินที่ให้ไปคืน คนส่วนใหญ่เกลียดการสูญเสียสิ่งที่ได้มาแล้ว ดังนั้นพอเด็กได้เงินพวกเขาก็มาเรียน ตั้งใจเรียนเพราะไม่อยากเสียเงิน

เศรษฐศาสตร์ความสุข มองเรื่องหัวใจในมิติตัวเลข กับ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
Photo : เมธิชัย เตียวนะ / The101.world

ในแต่ละวันคนเรามีเรื่องให้ตัดสินใจมากมาย จะมีหลักอย่างไรให้ชีวิตมีความสุขมากที่สุด

          คนเรามักกลัวว่า ถ้าเลือกอะไรไปแล้วผิดพลาด เราจะเสียใจกับสิ่งนั้น เช่น สมมติว่าคุณตัดสินใจจะแต่งงาน แต่ปรากฏว่าวันนั้นเจ้าบ่าวของคุณไม่มา เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี มีเพื่อนมาถามคุณว่า วันนั้นเป็นวันที่ดีหรือแย่ที่สุดในชีวิตของคุณ คนส่วนใหญ่จะตอบว่า ‘ดีที่สุด’ เพราะเรามักจะหาเหตุผลต่างๆ มาสนับสนุนเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น

          ส่วนบางคนกลัวว่า ถ้าเกิดทำเรื่องโง่ๆ (Foolish Action) แล้วจะเสียใจ เช่น ชอบใครคนหนึ่งแต่ไม่กล้าบอก เพราะกลัวว่าบอกไปแล้วเขาจะไม่ชอบเรา แต่ในชีวิตจริงเรามักเสียใจกับสิ่งที่เราไม่ได้ทำมากกว่า งานวิจัยเกี่ยวกับความสุขสอนให้รู้ว่า ถ้าอยากทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ทำดีกว่าไม่ทำ เพราะถึงแม้ผลจะออกมาแย่ อย่างน้อยเราก็สามารถหาเหตุผลมาอธิบายการตัดสินใจของเรา เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นได้ แต่ถ้าเลือกไม่ทำอะไรเลย การหาเหตุผลมาอธิบายมันยากกว่าเยอะ เพราะเป็นสิ่งที่มันไม่เคยเกิดขึ้น

เมื่อไม่นานมานี้ แวดวงวิชาการไทยมีประเด็นอื้อฉาวเรื่องนักวิชาการซื้อผลงานวิจัย คุณมองเรื่องนี้ในมุมของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมหรือเศรษฐศาสตร์ความสุขอย่างไร

          จริงๆ แล้วประเด็นนี้เกิดขึ้นมานานแล้วที่เมืองไทย ผมมองว่าปัญหามาจากทั้งระบบและคน เราไม่มีระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ คือเหมือนมีแต่แครอทไว้ล่อว่าถ้าคุณทำได้ตามนี้เราจะให้เงินรางวัล (สำนวน Carrot and Stick – ผู้เรียบเรียง) แต่ไม่มีคนมาตรวจสอบว่า เขาเป็นเจ้าของผลงานจริงหรือเปล่า ไม่มีผู้เชี่ยวชาญมาดูว่ามีการโกงมากน้อยขนาดไหน

          ในสิงคโปร์แทบไม่มีปัญหาแบบนี้เลย เพราะมีสิ่งจูงใจ (Incentive) สูงเพื่อให้คนทำงานออกมาได้ดี แต่ก็มีบทลงโทษ (Punishments) สูงเช่นกัน ถ้าคุณโกงหรือทำผิดคุณโดนให้ออกทันที และมีมาตรการจัดการต่างๆ เลยไม่มีใครมีแรงจูงใจที่จะโกง แต่เมืองไทยเราไม่มีตรงนี้

          และเราก็ยังมีปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของข้อมูล คนนอกวงการจะไม่รู้เลยว่าผลงานชิ้นนี้ดีหรือไม่ดี นักวิชาการคนนี้เก่งหรือไม่เก่ง เราอาจรู้แค่ว่าเขาออกทีวีบ่อยไหม มีผลงานตีพิมพ์กี่ชิ้น ถ้ามีเยอะและได้ยินชื่อบ่อยๆ ก็แสดงว่าเขาต้องเก่ง จริงๆ แล้วคนในวงการเท่านั้นที่จะรู้ว่าเขาโกงหรือเปล่า ผลงานมีความน่าเชื่อถือมากน้อยขนาดไหน ตรงนี้เลยเป็นส่วนหนึ่งซึ่งทำให้คนโกงอยู่ได้นาน

          เพราะฉะนั้น การมีแรงจูงใจเป็นสิ่งที่ดี แต่มันต้องมีการตรวจสอบและการลงโทษ ตอนนี้เราก็เริ่มเห็นความเคลื่อนไหวในประเทศไทย มีการเรียกร้องให้ผู้ผลิตมีความรับผิดรับชอบต่อผลงาน (Accountability) ผมก็คิดว่าน่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในวงการวิชาการไทย

คุณคิดว่าสิ่งแวดล้อมในการเรียนและการทำงานด้านการศึกษาในไทยและต่างประเทศ แตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

          ถ้าการเรียนในไทย ผมเองก็จำไม่ค่อยได้ เพราะผ่านมานานมากๆ แล้ว (หัวเราะ) แต่เท่าที่จำได้คือระบบไม่ค่อยให้โอกาสเด็กได้คิดสร้างสรรค์ ไม่มีระบบสนับสนุนให้เด็กกล้าแสดงความคิดเห็นซึ่งอาจไม่ตรงกับครู คุณลองคิดดูว่า จะมีคนเรียนดีหรือจบสูงๆ สักกี่คนอยากกลับไปเป็นอาจารย์หรือครูในไทย บ้านเราอาจไม่มีครูที่มีคุณภาพมากพอสำหรับการส่งเสริมเด็ก ยกเว้นโรงเรียนอินเตอร์ซึ่งค่าเล่าเรียนแพงและพร้อมจ้างครูดีๆ มีความสามารถมาสอน เราไม่มีระบบตรงนี้ ไม่เหมือนต่างประเทศที่ครูอาจารย์เป็นอาชีพรายได้ดี และคนเรียนจบสูงๆ อยากเข้ามาทำ

          ผมขอยกตัวอย่างในมหาวิทยาลัยที่ผมทำงาน เราเพิ่งเปิดรับผู้ช่วยศาสตราจารย์ 2 ตำแหน่ง มีคนสมัคร 250 คน ส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกา มีคนจบจาก MIT ฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยระดับ Ivy League ของยุโรป มันเป็นการแข่งขันที่สูงมาก ผู้ผ่านการคัดเลือกมีประวัติการตีพิมพ์งานวิชาการและผลการเรียนดีมาก

          ที่สิงคโปร์มีความคาดหวังต่ออาจารย์สูง คุณต้องเก่ง สอนดี ประวัติดี ครบทุกอย่าง แต่ว่าเขาก็ให้เงินเดือนและสวัสดิการที่ดี อาจารย์มีสถานะในสังคม แต่งานอาจารย์ในไทยไม่มีแรงจูงใจ ไม่มีอุปสงค์ (Demand) ของคนที่จะมาทำ ตรงนี้คือข้อแตกต่างอย่างชัดเจน

ทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างแรงดึงดูดให้คนเก่งๆ อยากทำงานในแวดวงวิชาการไทย

          อาจจะต้องดูก่อนว่ามหาวิทยาลัยไทยมีความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) และขีดความสามารถ (Capacity) ระดับไหน ยังมีอีกหลายอย่างเลยที่ต้องดู ทั้งระบบการจ้างงาน การเลื่อนตำแหน่ง  และงบประมาณจ้างคนโปรไฟล์ดีๆ มาสอนหรือทำวิจัย

          มหาวิทยาลัยในไทยนอกจากไม่มีแรงจูงใจในการจ้างคนแล้ว ยังไม่มีระบบที่เอื้อให้คนทำงานได้อย่างเต็มความสามารถของเขาจริงๆ ทำอย่างไรจะลดงานแอดมินของอาจารย์ ให้อาจารย์สอนกับทำวิจัยอย่างเดียว จากที่เคยฟังเพื่อนอาจารย์ในไทย เขาต้องไปคุมกีฬาสี ไปทำอะไรต่างๆ ที่ไม่ใช่งานของอาจารย์

          มันมีปัจจัยหลายอย่างมาก ถ้าพูดตามตรงก็อาจเป็นไปได้ยากมากที่จะเปลี่ยน อาจจะฟังดูท้อนะ (หัวเราะ) แต่ผมว่ามันก็ไม่ถึงกับหมดหวัง มีอีกหลายคนไม่สนใจเรื่องรายได้ แต่เขาสนใจว่าเข้าไปในระบบแล้วจะได้ทำวิจัยไหม โดยไม่ต้องมีเรื่องไม่เป็นเรื่องมากดดันเขาในแต่ละวัน ผมรู้จักอาจารย์รุ่นใหม่หลายคนที่เขาอยากทำวิจัยดีๆ และยังมีความหวังว่า ระบบการศึกษาของไทยในอนาคตจะถูกปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น

เศรษฐศาสตร์ความสุข มองเรื่องหัวใจในมิติตัวเลข กับ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
Photo : เมธิชัย เตียวนะ / The101.world

ที่มา

Cover Photo : เมธิชัย เตียวนะ / The101.world

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก