ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน วิทยาศาสตร์ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน

2,048 views
9 mins
May 28, 2021

          ช่วงไม่กี่เดือนมานี้ แฮชแท็ก #ย้ายประเทศ คือหนึ่งในกระแสที่ถูกพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลาย ความน่าเสียดายคือกลุ่มคนที่มีส่วนสำคัญในความเคลื่อนไหวครั้งนี้ คือกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของประเทศ

          สิ่งที่น่าสนใจคือ มูลเหตุอะไรบ้างที่ผลักไสให้พวกเขารู้สึกสิ้นหวัง กระทั่งอยากย้ายตัวเองไปอยู่ในประเทศอื่น สังคมแบบไหนที่บีบให้ประชาชนของตัวเองไร้ที่ยืน

          ท่ามกลางสารพัดข้อถกเถียง คงดีไม่น้อยหากเราได้ฟังเสียงจากตัวแทนคนรุ่นใหม่ ใครสักคนที่สามารถบอกกล่าวความในใจได้อย่างตรงไปตรงมา ขณะเดียวกันก็มีความรู้และวุฒิภาวะมากพอที่ทุกคนจะรับฟัง

          เติ้ล-ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน คือคนหนุ่มวัย 23 ปีที่มีคุณสมบัติดังกล่าว

          เขาคือคนรุ่นใหม่ที่หลงใหลในวิทยาศาสตร์แบบสุดตัว เป็นผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ spaceth.co ที่รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในแบบที่เข้าใจง่าย สนุก และแฝงไว้ด้วยความซุกซน

          เขาคือเยาวชนที่ออกไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ภาพที่เขายืนประจันหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐขณะสลายการชุมนุมบริเวณแยกปทุมวัน พร้อมยื่นโบว์ขาวให้เจ้าหน้าที่นายหนึ่ง ก่อนจะถูกควบคุมตัว ถูกเผยแพร่ตามหน้าสื่อนับไม่ถ้วน

          เขาคือเด็กไทยไม่กี่คนที่มีโอกาสได้ไปเยือน MIT Media Lab ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พบปะแลกเปลี่ยนกับนักวิทยาศาสตร์ระดับหัวกะทิมากมาย มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและยกระดับองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย

          เขามองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร อยากย้ายประเทศหรือไม่ ระบบการศึกษาที่ดีและองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่หลากหลายจะช่วยยกระดับสังคมได้อย่างไร คือประเด็นใหญ่ๆ ที่เราชวนเขามาอภิปราย

หลายเดือนที่ผ่านมา มีกระแส #ย้ายประเทศ จากกลุ่มคนรุ่นใหม่ อยากทราบว่าคุณมองปรากฏการณ์นี้ยังไง

          กระแสเรื่องย้ายประเทศ จริงๆ เป็นที่ถกเถียงกันในกลุ่มคนรุ่นใหม่เหมือนกัน คือมีทั้งฝั่งที่บอกว่าย้ายเถอะ เพราะประเทศนี้คงพัฒนาไปมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว ส่วนอีกฝั่งก็บอกว่า แต่เราก็สู้กันมาขนาดนี้แล้วนะ สิ่งที่ทำกันมา ไม่ว่าการไปม็อบ การพูดถึงสถาบันกษัตริย์ หรือการเรียกร้องในหลายๆ ประเด็นต่างซึ่งเป็นเรื่องใหม่มากในสังคม ฉะนั้นเราต้องอยู่รอความสำเร็จ รอเคลมความสำเร็จดีกว่า

          ผมรู้สึกว่าการให้เหตุผลของทั้งสองฝั่งมัน valid ทั้งคู่ ไม่ได้รู้สึกว่ามีฝั่งไหนถูกหรือผิด หากคุณรู้สึกว่าการย้ายประเทศ จะทำให้คุณสร้างสรรค์บางอย่างแก่โลกได้ ไม่ว่าจะเป็นการไปเรียนต่อ ทำงาน หรือตั้งถิ่นฐานอย่างจริงจัง ก็เป็นเหตุผลที่เหมาะสม ขณะเดียวกันคนที่ไม่ย้าย หรือยังไม่มีโอกาสย้าย ก็ไม่ได้แปลว่าเขาแพ้ เขาก็สามารถสร้างคุณค่าให้โลกใบนี้ได้ในแบบของเขา

          แต่สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นคือ คนรุ่นใหม่ คนเจเนอเรชั่นนี้ หรือกระทั่งคนที่ทำงานอยู่ในสายงานใหม่ๆ ที่ระบบการศึกษาไทยไม่ได้สอน จะมีมุมมองว่าเราเป็น global citizen เป็นประชากรของโลก คนกลุ่มนี้จะมีความรู้สึกว่า อยู่ที่ไหนก็สามารถสร้างหรือทำประโยชน์ให้สังคมได้เหมือนกัน แต่ในทางกลับกัน ถ้าเรายังอยู่ในประเทศไทย โอกาสที่จะได้ contribute อะไรให้สังคมอาจยากกว่า ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้นะ ทำได้ แต่จะมีแรงเสียดทานเยอะ

แล้วตัวคุณเองอยู่ฝั่งไหน ย้ายหรือไม่ย้าย

          ถ้าถามผม ผมรู้สึกว่าผมอยู่ที่ไหนก็ได้ ส่วนเรื่องย้ายหรือไม่ย้าย ขึ้นอยู่กับแรงเสียดทานที่เจอมากกว่า ซึ่งคนที่ทำงานในแต่ละสาย จะเจอแรงเสียดทานที่ต่างกัน

          สายที่ผมทำคือสายวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่ใช่วิทยาศาสตร์แบบปกติด้วย แต่เราพยายามกระจายศูนย์อำนาจ (decentralize) วิทยาศาสตร์ ให้ไม่ต้องกระจุกอยู่กับหน่วยงานรัฐอีกต่อไป ก็ถือเป็นโจทย์ที่ยาก เทียบกับต่างประเทศที่มันถูก decentralize ไปแล้ว ในต่างประเทศคนไม่ได้มองว่าการทำงานด้านวิทยาศาสตร์ หรือการสื่อสารเรื่องวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องของหน่วยงานรัฐ แต่มองว่าเป็นเรื่องของประชาชน ถ้าเราไปดูในอเมริกา มียูทูบเบอร์ที่ทำเรื่องวิทยาศาสตร์เต็มไปหมดเลย โดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐ

          เรื่องนี้มองได้สองมุม มุมแรก สมมติเราย้ายไปจริงๆ เราอาจกลายเป็นแค่คนทั่วไปที่ทำงานตามที่เราต้องการ ไม่ได้มีความพิเศษอะไรมากมาย นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงยังไม่ย้าย หรือต่อให้มีโอกาสเข้ามา ก็อาจไม่ได้รู้สึกว่าต้องคว้าไว้ทันที อาจมีโมเมนต์ที่ขอคิดก่อน ไม่ใช่คิดเพราะลังเลนะ แต่คิดในแง่ที่ว่า โอกาสที่เข้ามา มันจะมาในรูปแบบใดได้บ้าง

          ยกตัวอย่างคนในทีม spaceth.co มีน้องคนนึงได้ทุนไปเรียนต่อที่ฮ่องกง ผมก็คิดแล้วว่า การที่น้องได้ไปเรียนและไปอยู่ที่ฮ่องกง มันมีโอกาสอะไรที่จะช่วยให้เราพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ได้บ้าง เราเลยคุยกันว่า ไปชวนเด็กฮ่องกงมาทำงานวิทยาศาสตร์กันดีกว่า ลองเอาแนวคิดเรื่องการ decentralize วิทยาศาสตร์ไปแชร์กับเขา เพราะในแง่การเมือง เราต่างก็เจอปัญหาคล้ายๆ กัน แนวคิดที่ว่าอำนาจในการทำงานวิทยาศาสตร์ ไม่ควรเป็นอำนาจที่ผูกติดกับรัฐ ผมว่าเป็นแนวคิดที่ไม่ว่าเอาไปโยนที่ไหน ก็น่าจะได้ประโยชน์ทั้งนั้น

          การที่เราเอาวิทยาศาสตร์หรือองค์ความรู้ต่างๆ มาโยนให้คนเห็น แล้วบอกเขาว่า คุณมีสิทธิ์เข้าถึงสิ่งนี้นะ คือเรื่องเดียวกันกับการบอกว่า คุณมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงประชาธิปไตย เข้าถึงสิทธิมนุษยชน เข้าถึงไฟฟ้า ประปา ทั้งหมดนี้ผมว่าเป็นเรื่องเดียวกัน

ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน

ในฐานะที่คุณทำงานสื่อสารเรื่องราวเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์มาหลายปี อะไรคืออุปสรรคสำคัญที่สุด

          การผูกขาดอำนาจในการเข้าถึงองค์ความรู้โดยรัฐ นี่เป็นเรื่องที่เห็นชัดมาก แล้วตัวผมเอง จะใช้คำว่าต่อสู้กับเรื่องนี้มาโดยตลอดก็ได้

          ผมเห็นว่ารัฐค่อนข้างจะเป็นผู้ผูกขาดองค์ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงที่ทำหน้าที่ออกแบบเนื้อหาหรือหลักสูตร ผมรู้สึกว่าจริงๆ แล้วเนื้อหาหรือหลักสูตรไม่ควรมาจากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง สิ่งที่รัฐควรทำคือการอนุญาตให้เกิดความหลากหลายมากที่สุด จากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

          ผมเข้าใจว่าแนวคิดการสร้างหลักสูตรแกนกลางการศึกษาของชาติ มีรากมาจากแนวคิดชาตินิยมอีกทีว่าเราจะปลูกฝังอะไรให้เด็ก ถ้าเราสอนให้เด็กคิดมากเกินไป หรือรู้เรื่องต่างๆ มากเกินไป อำนาจบางอย่างที่รัฐพยายามกุมไว้ก็อาจสั่นคลอน หรือส่งผลไม่ดีต่อกลุ่มคนบางกลุ่ม ในทางกลับกัน มันยิ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าประเทศนี้ไม่ได้ขับเคลื่อนโดยประชาชน แต่ขับเคลื่อนโดยคนบางกลุ่มเท่านั้น นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเสรีภาพทางวิชาการ หรือกระทั่งการ decentralize วิทยาศาสตร์จึงสำคัญมาก

          นอกจากเรื่องวิทยาศาสตร์ องค์ความรู้อีกหลายอย่าง เช่น นาฏศิลป์ ก็ถูกผูกขาดโดยอำนาจบางอย่างอยู่ดี สิ่งที่เราสอนๆ กันอยู่ ไม่ใช่การสอนให้คิด แต่คือการสอนให้จำ แล้วก็ทำซ้ำไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่ได้ทำเพื่อตอบสนองทุนนิยมหรือระบบอุตสาหกรรมด้วยนะ แต่ทำเพื่อตอบสนองประเทศนี้ ประเทศที่ไม่ได้หมายถึงคนทุกคน แต่เป็นประเทศของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น นี่คือสิ่งที่น่าเศร้ามาก และเป็นแรงเสียดทานของคนทำงานหลายคนที่หวังจะสร้างองค์ความรู้บางอย่างให้ประเทศนี้

          เวลาผมไปคุยกับคนที่คิดหรือทำอะไรเจ๋งๆ ผมพบว่าแรงเสียดทานที่ทุกคนเจอเป็นแรงเสียดทานเดียวกัน คือการที่รัฐบอกว่า โน ไม่ให้ทำ นี่คือข้อจำกัดอันยิ่งใหญ่ในการจะทำอะไรที่เจ๋งๆ คูลๆ ในประเทศนี้

แล้วตัวคุณเอง เคยเจอสถานการณ์แบบนี้กับตัวเองบ้างไหม

          เจอครับ แต่จะเป็นในแง่ความเชื่อมากกว่า คือรัฐไม่เชื่อว่าเอกชนจะสามารถทำงานบางอย่างได้ เช่น งานที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ หรืออวกาศ

          ตัวอย่างที่ชัดๆ คือการจัดสรรงบในการทำงานต่างๆ ของประเทศนี้ รัฐชอบทำเหมือนว่าตัวเองรู้ทุกอย่าง คิดว่าถ้าฉันจัดสรรงบไปให้ภาคส่วนนี้ หรืออุตสาหกรรมนี้ แล้วมันจะเวิร์ค โดยที่ไม่ถามความเห็นเราสักคำ หรืออาจถามพอเป็นพิธี ต่อให้เราตอบหรือเสนออะไรไปก็ไม่มีประโยชน์ นี่คือปัญหา พอรัฐคิดว่าตัวเองรู้ทุกอย่าง มันก็นำไปสู่การปิดกั้นข้อมูลความรู้จากคนที่ทำหรือคลุกลคลีกับเรื่องนั้นจริงๆ สุดท้ายอะไรที่อยากทำ ก็ไม่ได้ทำ งบที่ควรเอามาใช้ประโยชน์ได้ ก็ไม่ได้ใช้

          ผมทำเว็บไซต์ speceth.co พูดได้เลยว่าตั้งแต่เปิดมาจนถึงทุกวันนี้ เราสามารถสร้างอิมแพค สร้างแรงบันดาลใจ ทำให้เกิดมูฟเมนต์ต่างๆ ในแวดวงวิทยาศาสตร์ขึ้นมา โดยใช้เงินไม่ถึง 1 ล้านบาทด้วยซ้ำ นับรวมทุกอย่างเลยนะ ค่าข้าว ค่าอุปกรณ์ กล้องที่ซื้อมาแพงๆ รวมแล้วไม่ถึง 1 ล้านบาท

          ทีนี้เราลองไปเทียบการใช้งบ 1 ล้านบาทของรัฐ มันคือเงินจำนวนนิดเดียว ซื้อรถให้รัฐมนตรีคันเดียวก็เกินล้านแล้ว นี่เทียบกันแบบง่ายๆ จะเห็นว่าถ้าทรัพยากรมันไปอยู่ผิดมือ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมันคนละเรื่องกันเลย ปัญหาคือที่ผ่านมาเราใช้ทรัพยากรอย่างผิดฝาผิดตัว ผิดรูปผิดร่างไปหมด 

ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน

ในแง่หนึ่ง การที่รัฐพยายามผูกขาดอำนาจ ทั้งในแง่ข้อมูลความรู้ หรือสิทธิเสรีภาพต่างๆ อาจสะท้อนถึงความกลัวและเปราะบางของรัฐเองด้วยหรือเปล่า

          เวลาที่คนรุ่นใหม่ออกมาเรียกร้องกัน จะมีประโยคที่ว่า ‘ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ’ ผมว่าประโยคนี้มีความหมายเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เพิ่งพูดไป มันสะท้อนว่าคนมีความกังวลเรื่องการผูกขาดอำนาจโดยรัฐ ถามว่าทำไมรัฐต้องผูกขาด ก็เพราะว่ามีคนกลุ่มหนึ่งในโครงสร้างสังคมแบบนี้ที่ได้ประโยชน์ แล้วเขาต้องการรักษาโครงสร้างนี้ไว้ คำว่าศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ คือความพยายามที่จะทลายลำดับชั้นในสังคม เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงองค์ความรู้ เข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียมกัน นี่คือสาระสำคัญว่าทำไมถึงเกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุคปัจจุบัน

อยากให้เล่าย้อนให้ฟังหน่อยว่า ทำไมคุณถึงสนใจงานด้านวิทยาศาสตร์

          เป็นความชอบส่วนตัวล้วนๆ เลย ไม่ได้เกี่ยวกับอุดมการณ์อะไรด้วยซ้ำ มันเริ่มจากเรื่องที่เราชอบ เราอินกับมัน แล้วเราจะนำเรื่องนั้นมาทำให้เกิดประโยชน์กับสังคมได้ยังไง คนแต่ละอาชีพย่อมมีชุดคุณค่าที่ต่างกันไป เช่น แพทย์ ก็จะมีชุดความคิดว่าเขาได้ช่วยเหลือคน แต่สำหรับผม มันมาจากการที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถทำได้โดยใครคนใดหนึ่ง

          ทุกวันนี้ที่เรามีความรู้ทางวิทยาศาสตร์กันได้ ไม่ใช่เพราะไอนสไตน์ หรือนิวตัน หรือฮอว์กิง คนใดคนหนึ่ง แต่มันสืบทอดกันมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ ตั้งแต่ที่โสคราตีสตั้งคำถามว่าทำไมโลกถึงเป็นแบบนี้ ทำไมชีวิตถึงเป็นแบบนี้ ไล่มาถึงช่วงยุคกลางที่วิทยาศาสตร์ถูกทำลายเพราะไปท้าทายศาสนา กาลิเลโอออกมาตั้งคำถามต่อศาสนจักร ไล่มาถึงยุคที่นิวตันค้นพบแรงโน้มถ่วง ไล่มาถึงไอนสไตน์ พูดง่ายๆ คือมันมีการสืบทอดความรู้ต่อกันมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน

          การที่เราพยายาม decentralize วิทยาศาสตร์ ทำให้ทุกคนเข้าถึงวิทยาศาสตร์ได้ จะยิ่งเป็นผลดีต่อโลกใบนี้ เพราะมันจะทำให้เกิดชุดความคิดใหม่ๆ ขึ้นมา กระบวนทางวิทยาศาสตร์มันช่วยให้เครื่องจักรนี้ยังทำงานอยู่ได้ แต่ขณะเดียวกันมันก็ต้องการข้อมูลมหาศาล แล้วข้อมูลมหาศาลนั้นจะมาจากไหน ก็ต้องมาจากทุกคนที่มาช่วยกันสังเกต เอาข้อมูลที่พบเจอในชีวิตประจำวันมาโยนรวมกันไว้ แล้วก็ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ค้นคว้าต่อไปเรื่อยๆ ถ้าเราสามารถทำได้ สุดท้ายแล้วเราจะมีเรื่องที่ส่งต่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานเราได้มากเกินกว่าที่บรรพบุรุษเคยทำได้เสียอีก

          ผมจึงรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์มันยั่งยืนมาก อาจยั่งยืนกว่าศาสนา ยั่งยืนกว่าชุดความคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองบางอย่างด้วยซ้ำ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงอินกับวิทยาศาสตร์มาก

ปัญหาของการสอนวิทยาศาสตร์ในไทยคืออะไร ช่วยขยายความหน่อย

          ผมมีเพื่อนคนนึงเรียนอยู่ที่ MIT (Massachusetts Institute of Technology) ชื่อพัทน์ ภัทรนุธาพร เขาบอกว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่เด็กไทยเรียนกัน มันคือขี้ของวิทยาศาสตร์ คือผลของสิ่งที่ชาวบ้านเขาทำกันมาแล้ว แล้วเอามาให้เราเรียน เช่นการสอนว่าน้ำไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ หรืออากาศร้อนจะลอยตัวขึ้นสูง อากาศเย็นจะเข้ามาแทนที่ ทำให้เกิดพายุฝน แต่วิทยาศาสตร์มันไม่ใช่แค่นั้น มันคือกระบวนการคิด

          ถ้าคุณอยากรู้ว่า ลมมาจากไหน คุณก็ต้องหาทางนิยามว่าลมคืออะไร อ๋อ ลมมันคือการเคลื่อนที่ของอากาศจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง แล้วอะไรที่ทำให้อากาศเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งได้ มันต้องมีมวลบางอย่างหายไปในบริเวณนั้น แล้วมีมวลอีกอย่างเข้ามาแทนที่ แล้วมวลที่หายไปมันเคลื่อนไปไหน อ๋อ พอเอากล้องอินฟราเรดไปส่องดู จะเห็นว่ามันเคลื่อนที่ไปด้านบน แล้วทำไมมันถึงเคลื่อนไปด้านบน อ๋อ เพราะเมื่ออากาศเจอความร้อน มันจะขยายตัว พอมันขยายตัว มวลมันก็น้อยลง พอมวลน้อยลง ความหนาแน่นก็น้อยลงด้วย แล้วทำไมการที่ความหนาแน่นน้อยลง ถึงทำให้มันถูกดันขึ้นไปด้านบนได้ อ๋อ ก็เพราะแรงโน้มถ่วงไง เหมือนเราชงกาแฟแล้วตั้งทิ้งไว้ ส่วนที่มีมวลมากกว่าจะลงไปกองอยู่ด้านล่าง อะไรที่เบาๆ ก็ลอยขึ้นมาด้านบน เหมือนเรือที่ลอยอยู่บนน้ำได้ อ๋อ นี่มันหลักการเดียวกันนี่นา ถ้างั้นก็หมายความว่า ในอวกาศที่ไม่มีแรงโน้มถ่วง ต่อให้อากาศขยายตัว แต่มันจะไม่ลอยตัวขึ้นสูงใช่หรือไม่

          นี่คือวิทยาศาสตร์ในแบบที่เราควรสอนกัน แต่ถ้าเราเริ่มสอนจากสมการ หรือพูดถึงหลักการก่อนเลย เด็กอาจยังคิดไปถึงจุดนั้นไม่ได้ หาความเชื่อมโยงไม่เจอ

          ตอนเรียนมัธยม มีเพื่อนถามผมว่า ทำไมในวิชาเคมีถึงมีสมการฟิสิกส์โผล่มาด้วย แปลว่าในโลกหรือจักรวาลที่คุณอาศัยอยู่ มันไม่ได้ใช้กฎเกณฑ์เดียวกันในการอธิบายเหรอ นี่คือสิ่งที่น่าเศร้ามาก มันสะท้อนว่าการศึกษาบ้านเราไม่ได้สอนว่าทุกศาสตร์เชื่อมโยงถึงกัน

          ไม่รู้ว่าสมัยนี้เปลี่ยนหรือยัง แต่สมัยที่ผมเรียน สัก 3-4 ปีก่อน เขาจะบอกว่าต้องมีการ ‘บูรณาการ’ เป็นคำที่ฮิตกันมาก แต่การบูรณาการที่ว่า มันไม่ใช่การสอนให้เด็กเน้นความเชื่อมโยง แต่คือสอนวิทยาศาสตร์โดยใช้ภาษาอังกฤษ แค่นี้เขาก็ถือว่าบูรณาการแล้ว (หัวเราะ)

แล้วการเชื่อมโยงข้ามศาสตร์แบบที่ควรเป็น มันเป็นยังไง

          ต้องเป็นการเชื่อมโยงว่าองค์ความรู้นั้นมันเกิดขึ้นมาได้ยังไง แล้วพอเราเข้าถึงองค์ความรู้นั้น ในแง่ของกระบวนการหรือวิธีแล้ว เราเห็นอะไรบ้าง นี่คือการคิดแบบข้ามศาสตร์จริงๆ ซึ่งตอนหลังผมก็เพิ่งมารู้ว่า ในโลกสากลเขาเรียกว่า multi-disciplinary หรือถ้าจะให้ล้ำไปกว่านั้น ก็คือ anti-disciplinary ไปสู่จุดที่ไม่มี disciplinary เลย ทุกอย่างเป็นแค่องค์ความรู้ ไม่ต้องไปนิยามว่ามันเป็นฟิสิกส์ เป็นคณิตศาสตร์ หรือเป็นอะไร เพราะสุดท้ายแล้ว เมื่อคุณลงลึกศึกษาในศาสตร์ไหนก็ตาม คุณจะไปเจอคำตอบเดียวกันหมด

          คุณศึกษาเคมีลึกไปเรื่อยๆ คุณจะเจอฟิสิกส์ คุณศึกษาฟิสิกส์ไปเรื่อยๆ จะเจอคณิตศาสตร์ ถ้าคุณไม่เข้าใจคณิตศาสตร์ คุณก็อาจไม่เข้าใจปรัชญา ไม่เข้าใจว่าตรรกะคืออะไร การให้เหตุผลคืออะไร นี่คือความสวยงามของโลกที่เชื่อมโยงกันด้วยศาสตร์ต่างๆ นี่คือสิ่งที่โรงเรียนเราแทบไม่ได้สอน ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้ามาก

แล้วตัวคุณเอง หลุดออกมาจากระบบการศึกษาแบบนั้นได้ยังไง

          ถ้าให้ลองทบทวนตัวเอง ผมคิดว่ามันคือการรักษาความสงสัยในวัยเด็กเอาไว้

          ผมเป็นลูกคนเดียว ตอนเด็กๆ เวลาอยู่บ้านจะมีเวลาอยู่กับตัวเองเยอะ แล้วเราจะชอบตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว เช่น เราทำน้ำหก แล้วมันไหลไปตามร่องกระเบื้อง เราเห็นว่าน้ำมันไหลไปถึงจุดๆ หนึ่ง แล้วก็หยุดอยู่เท่านั้น ทั้งๆ ที่มันน่าจะไหลต่อไปได้ เพราะว่าน้ำที่ทำหกก็เยอะมาก แต่อะไรที่ทำให้น้ำมันหยุดอยู่ที่จุดนั้น เราก็เก็บความสงสัยไว้ เพราะได้มาเรียนวิชานี้ในชั้นประถม ได้รู้จักเรื่องแรงตึงผิว ทำให้เข้าใจว่า อ๋อ สิ่งที่เราสงสัยตอนนั้น มันคือเรื่องนี้นี่หว่า การที่น้ำไม่ไหลนองไปทั่วห้อง เพราะมันมีสิ่งที่เรียกวาแรงตึงผิว ช่วยดึงให้น้ำรักษารูปของมันไว้ เหมือนน้ำที่กลิ้งบนใบบัว

          อีกเรื่องที่นึกได้คือ ตอนเด็กๆ ผมเคยไปยืนจ้องลิฟต์แก้วที่เซ็นทรัลเวิลด์ รู้สึกว่ามันน่าทึ่งมาก อยากรู้ว่ามันทำงานยังไง กลับบ้านมาเราก็หากล่องมาทำเป็นลิฟต์จำลอง เอาเชือกมาผูก ทำเป็นรอก แล้วลองดึงดู มันก็เลื่อนขึ้นลงได้ ตอนนั้นเรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าลิฟต์ทำงานยังไง รู้แค่ว่ามันเป็นกล่องที่เคลื่อนที่ขึ้นๆ ลงๆ ได้ เอ๊ะ แล้วถ้าไฟดับ ลิฟต์มันจะไม่ตกเหรอ เพราะมันต้องใช้แรงเยอะมากเลยนะ มอเตอร์ที่ใช้ขับเคลื่อนลิฟต์มันไม่ต้องใช้ไฟเหรอ ผมก็ลองเอาวัตถุอีกอันที่มวลเท่ากัน มาผูกไว้ที่ปลายอีกด้านของเชือก แล้วก็พบว่า อ๋อ นี่ไง ถ้าไฟดับลิฟต์จะไม่ตกลงมา เพราะมีก้อนมวลอีกก้อนที่ถ่วงไว้อยู่ ทีนี้เวลาที่เราอยากทำให้ลิฟต์ขยับขึ้นหรือลง เราก็แค่บิดแกนกระดาษที่ใช้หมุน อีกฝั่งก็จะเคลื่อนที่ขึ้นลงได้แล้ว กลายเป็นว่าเราค้นพบหลักการทำงานของลิฟต์โดยบังเอิญ

          นี่คือความสงสัยที่เรามีมาตั้งแต่วัยเด็ก แล้วมันยังอยู่ในตัวเรามาเรื่อยๆ ซึ่งผมพบว่าแต่ละเรื่องที่เราสงสัย และพยายามหาคำตอบ มันอธิบายได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์หมดเลย ส่วนหนึ่งที่ผมหลุดจากกรอบของระบบการศึกษาได้ เพราะตอนเด็กเราชอบตั้งคำถาม เราช่างสังเกต การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้เกิดจากการที่คุณนั่งเรียนในห้อง 8-9 ชั่วโมง แต่เกิดจากการที่คุณมองเห็นและสังเกตโลกรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นตอนกินข้าว ตอนไปเที่ยว หรือตอนนั่งรถกลับบ้าน

          ผมคิดว่ามีเด็กไม่มากนัก ที่เก็บความสงสัยมาจนถึงตอนโต จนได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เป็นข้อมูลแล้วเกิดความเชื่อมโยงจนพบคำตอบของสิ่งที่เคยสงสัย

          เอาเข้าจริงแล้ว การค้นพบอะไรต่างๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่อย่างเรื่องแรงโน้มถ่วง หรือดาวดวงใหม่ แต่อาจเป็นแค่การค้นพบแพทเทิร์นบางอย่างในชีวิตประจำวัน มันคือการตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว ทำไมน้ำที่เราทำหกถึงไหลไปไม่สุดห้อง ทำไมดวงจันทร์ถึงวิ่งตามรถเรา ทำไมเวลากินชานมไข่มุกแล้วน้ำชานมถึงหมดก่อน นี่คือการรักษาความสงสัยเอาไว้ ซึ่งความสงสัยที่ว่านี้ไม่จำเป็นเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆ ในสังคมด้วย

          ถามว่าทำไมเด็กๆ ที่โตขึ้นมาในรัฐบาลประยุทธ์ที่พยายามกรอกหูพวกเขาด้วยค่านิยม 12 ประการ ถึงออกมาตั้งคำถาม ออกมาชูสามนิ้ว จนเกิดเป็นมูฟเมนต์ทางการเมืองในปี 2020 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ผมว่าเป็นเพราะเขามีข้อมูลเยอะ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากรัฐที่บังคับให้ท่องค่านิยม 12 ประการ ข้อมูลจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียต่างๆ แต่สิ่งสำคัญที่เขามี ก็คือวิธีการตั้งคำถาม การใช้ตรรกะต่างๆ พอเขามีอินเทอร์เน็ต ได้รับข้อมูลมหาศาล มันสอนให้เขาต้องคิด แทนที่เขาจะเชื่อหรือคล้อยตาม เขาจะตั้งคำถามกับมัน

แสดงว่า คุณเห็นต่างกับผู้ใหญ่บางคนที่บอกว่า เด็กสมัยนี้โดนล้างสมอง หรือถูกชักจูงง่าย

          ถ้ามีคนพูดแบบนี้กับผม ผมก็จะตอบง่ายๆ เลยว่า แล้วคุณคิดว่าตัวเองไม่ถูกชักจูงเหรอ คุณก็ถูกชักจูงเหมือนกัน ความแตกต่างคือคุณถูกชักจูงด้วยข้อมูล แต่เราถูกชักจูงด้วยวิธีคิดและกระบวนการคิดที่เป็นสากล ผมสังเกตว่ากลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมา เขาสามารถระบุต้นตอปัญหาได้ชัดเจนมาก คือเรื่องของระบบศักดินาในประเทศนี้ที่ยังไม่หมดไปสักที

          ผมรู้สึกมีความหวังมาก เวลาเห็นเพื่อนในเจเนอเรชันเดียวกันหรือน้องๆ ออกมาพูดถึงประเด็นที่มีความซับช้อน เช่น ความเท่าเทียมทางเพศ ประชาธิปไตย หรือสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ซึ่งเอาเข้าจริง มันไม่ใช่ประเด็นใหม่ในโลกสากลแล้วด้วยซ้ำ อย่างปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ก็มีมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว แต่กลายเป็นว่าเรายังต้องมาพูดเรื่องเหล่านี้ซ้ำๆ ทั้งที่เราควรเถียงกันจบไปหลายสิบปีแล้ว มองแง่นี้ก็น่าเสียดายโอกาสเหมือนกัน

ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน

จากที่คุณได้ไปสัมผัสพื้นที่การเรียนรู้เจ๋งๆ ในต่างประเทศ เช่น  MIT Media Lab ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อมองกลับมาที่ไทย คุณเห็นความแตกต่างอย่างไรบ้าง

          ผมว่าเราอาจต้องเริ่มจากแนวคิดของรัฐก่อน ว่ารัฐต้องการให้คนเข้าถึงทรัพยากรความรู้มากน้อยแค่ไหน แล้วเครื่องมือมันจะตามมาเอง การเอาพื้นที่ต่างๆ มาใช้สร้างประโยชน์จะตามมาเอง แต่ผมเข้าใจว่ารัฐไม่ได้คิดแบบนี้ ไม่ได้มองว่าพื้นที่การเรียนรู้จะเกิดขึ้นจากนโยบายกลางได้อย่างไร

          สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พอเราไปเห็นว่าต่างประเทศเขามีพิพิธภัณฑ์ เราก็ต้องมีบ้าง เขามีห้องสมุด เราก็ต้องมีบ้าง เอาโมเดลต่างๆ มาใช้โดยไม่เข้าใจบริบทการเกิดขึ้นของมันจริงๆ ทุกวันนี้ผมเลยรู้สึกว่า แหล่งเรียนรู้ในไทยไม่ได้น่าสนใจขนาดนั้น ถามว่ามีแล้วมันเกิดประโยชน์มั้ย ก็เกิดประโยชน์ตามฟังก์ชันที่มันควรจะให้ได้ แต่ถามว่ามันตอบโจทย์ภายใหญ่ในการพัฒนาประเทศมั้ย ผมคิดว่าไม่ เพราะรัฐไม่ได้ตั้งใจพัฒนาประชากรอย่างจริงจัง ดังนั้นสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมา จึงเป็นอะไรที่ผิวเผิน เป็น facility ที่ไม่ได้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หรือกระทั่งมหาวิทยาลัย

          ถามว่าแล้วมันควรเป็นยังไง ผมคิดว่ารัฐบาลควรมีนโยบายในการบริหารองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นโดยภาคประชาชนมากกว่านี้ โดยเฉพาะการกระจายองค์ความรู้ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งหลายแห่งมีศักยภาพ แต่ยังทำอะไรได้ไม่มาก มหาวิทยาลัยยังเป็นแค่แหล่งให้ปริญญา เพลงเถื่อนแห่งสถาบันเคยร้องกันมายังไง ทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่ ยังไม่ค่อยมีความเชื่อมโยงกับชุมชนหรือสังคมเท่าที่ควร

          ส่วนเรื่องห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หรือแหล่งเรียนรู้ทั้งหลาย ผมคิดว่าอาจมีความสำคัญลำดับรองลงมา ไม่ใช่สิ่งที่รัฐต้องทำอย่างเร่งด่วนขนาดนั้น แต่สิ่งสำคัญลำดับแรกคือการทำโครงสร้างพื้นฐานให้ดีก่อน เช่น การคมนาคม ผังเมือง หรือระบบการศึกษาที่เป็นปัญหาอยู่ตอนนี้

          ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติผมอยากจะสร้างนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลก แต่ผมต้องเริ่มต้นด้วยการออกจากบ้าน แล้วนั่งรถเมล์เน่าๆ ที่วิ่งมาตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อไปทำงาน แบบนั้นก็ไม่ไหวเหมือนกัน (หัวเราะ) อย่างน้อยๆ การดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานมันควรจะง่ายกว่านี้

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก