‘Reading Room’ ห้องสมุดอิสระ พื้นที่สาธารณะที่เพียงมีอยู่ก็มีคุณค่า

1372 views
4 mins
December 30, 2024

          The Reading Room ห้องสมุดอิสระที่แทบจะกลายเป็นนามสกุลของ เกี๊ยว-นราวัลลภ์ ปฐมวัฒน พื้นที่ชั้นสี่บนถนนสีลม สตูดิโอกลางย่านราคาแพงที่เธอแปลงเป็น ‘ห้องสมุดอิสระ’ ตั้งแต่ปี 2552 ไม่นานหลังเดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา ด้วยเจตนาหวังสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมด้วย ‘ทุน’ ที่เธอพอมี ด้วยคลังหนังสือสะสมของเธอเอง

          นราวัลลภ์นั่งอยู่อีกมุมของโต๊ะยาวเต็มไปด้วยหนังสือวางซ้อนกันเรียงแถว หลายแถว อันที่จริงแล้วหันไปทางไหนก็มีหนังสือวางเรียงรายไปหมด บนพื้น บนตู้หนังสือที่อัดแน่นไปด้วยหนังสืออีกที

          เราใช้พื้นที่เล็กๆ ที่พอว่างอยู่ของเก้าอี้ยาวข้างโต๊ะคุยกันถึงการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมาของพื้นที่แห่งนี้

          ถ้าหนังสือมีชีวิต มันคงเป็นชีวิตที่เงียบเหงา

          ชีวิตที่เวลาส่วนใหญ่ซ่อนตัวอยู่เงียบเชียบในซอกชั้น เฝ้ารอคนพรมนิ้วไปบนสัน มือส่วนมากนั้นลูบผ่านไปมา นานที นานทีเดียวกว่าจะถูกหยิบขึ้นมา ใส่กระเป๋า เป็นเพื่อนเดินทาง วางไว้หัวเตียง ถูกขีดเขียนด้านในบ้าง ก่อนจะถูกเก็บเข้าชั้นต่อไป หลับใหลอีกยาวนาน จนกระทั่งนักอ่านหยิบขึ้นมาอีกที

          หากไม่เช่นนั้น หนังสือเล่มนั้นมีชีวิตสั้นๆ ชีวิตเดียว

          หากหนังสือมีชีวิตเมื่อถูกอ่าน ทำอย่างไรให้หนังสือเล่มหนึ่งที่อัดแน่นไปด้วยการงานสร้างสรรค์ของคนเขียน บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ ฯลฯ มีชีวิตยาวนานสมความพยายามที่ทำให้หนังสือเล่มหนึ่งถือกำเนิดขึ้นมา

          นักอ่านหลายคนอาจเคยคิดเช่นนั้น อยากแบ่งปันหนังสือให้ผู้อื่นอ่านเช่นกัน 

          เกี๊ยว-นราวัลลภ์ ปฐมวัฒน คิด…ต่างเพียงเธอทำ

‘Reading Room’ ห้องสมุดอิสระ พื้นที่สาธารณะที่เพียงมีอยู่ก็มีคุณค่า

          “สังคมเปลี่ยน ผู้คนเปลี่ยนหน้า เราเองยังเปลี่ยนไป พื้นที่นี้ก็เปลี่ยนตาม ทุกอย่างมันส่งผลต่อกันไปหมด”

          นอกจากหนังสือแล้ว พื้นที่แห่งนี้ยังเป็นที่จัดกิจกรรม ฉายหนัง วงเสวนาว่าด้วยศิลปะ วัฒนธรรม วรรณกรรม การเคลื่อนไหวทางสังคม นั่งทำงาน รวมทั้งพื้นที่หลบมาพักผ่อนของใครหลายคนบนถนนที่พื้นที่สาธารณะแทบไม่มี

          เราไม่ได้จำกัดว่าต้องเข้ามาอ่านหนังสือเท่านั้น สำหรับเราห้องสมุดเป็นมากกว่าพื้นที่เก็บหนังสือ มายืม มาคืน แต่หลักการเดียวที่ไม่เปลี่ยนเลยคือคำว่า อิสระ

          นราวัลลภ์มองไปโดยรอบ โซฟามุมห้อง โต๊ะทำงานยาวตรงกลาง ตู้รายล้อม หนังสือตั้งวางเรียงราย บรรยายถึงความลื่นไหลของพื้นที่และเจตนาแรกเริ่มเดิมทีที่นอกจากการแบ่งปันหนังสือ เธอยังตั้งใจจะให้พื้นที่นี้เป็นประโยชน์ต่อผู้คน เป็นพื้นที่สาธารณะ พื้นที่อิสระที่ไม่ถูกควบคุม จำกัดว่าต้องทำ หรือห้ามทำอะไร

          “เราไม่ได้มีวิธีการจัดการอะไร พื้นที่มีแค่นี้ ช่วงหนึ่งเคยมีสตาฟฟ์คอยดูแล แต่ตั้งแต่โควิด เราก็กลับมาดูแลเอง คนชอบถามว่าทำไปทำไม เงินก็ไม่ได้ เราไม่ได้จะหาเงินจากมันแต่แรกไง แค่ตอนที่กลับมาจากต่างประเทศแล้วไฟแรงมาก อยากทำอะไรที่มีประโยชน์บ้าง ไม่รู้เลยว่าต้องทำยังไง รู้แค่ว่าสังคมเราไม่ค่อยมีพื้นที่อิสระแบบนี้ เราเห็นเพื่อนหลายคนที่อยากจัดกิจกรรมแต่ไม่มีทุน ไปจัดที่อื่นไม่ได้ หรือโดนยกเลิกนาทีสุดท้าย ความต้องการพื้นที่อิสระมันเยอะมาก ก็หันมาดูสิ่งที่เรามี มีพื้นที่ มีหนังสือ ก็รู้สึกว่าเป็นความต้องการที่เราช่วยเติมได้”

‘Reading Room’ ห้องสมุดอิสระ พื้นที่สาธารณะที่เพียงมีอยู่ก็มีคุณค่า

          The Reading Room ในช่วงเวลาหนึ่งจึงไม่ใช่ห้องสมุดแบบที่เราคุ้นเคยกัน ไม่ใช่ห้องสมุดเงียบงัน ผู้คนต่างมาต่างไป หากในพื้นที่แห่งนี้ เราเห็นผู้คนล้อมวงพูดคุยกันในวันที่มีกิจกรรม

          “แต่ก่อนจัดกิจกรรมเยอะมาก เพิ่งมาเปลี่ยนไปหลังจากโควิด แต่สิ่งที่ทำให้พื้นที่นี้และตัวเราเองเปลี่ยนตลอดคือ เหตุบ้านการเมืองมากกว่า สามสี่เดือนแรกของรัฐประหารนี่ไม่รู้เลยว่าจะโดนเรียกเมื่อไร ทำอะไรก็เสี่ยงไปหมด จัดวงคุยเรื่องหนังสือทฤษฎีเสรีนิยมในต่างประเทศยังถูกเพ่งเล็งเลย การทำอะไรที่ต้องระวัง ต้องเลี่ยงตลอดมันเหนื่อยนะ”

          ท่ามกลางเสียงชื่นชมจากผู้คนว่าสามารถเปิดพื้นที่อิสระมาได้นานขนาดนี้ โดยไม่มีรายได้ นราวัลลภ์กลับส่ายหัวพลางยิ้มว่า ชีวิตจริงของการเปิดห้องสมุดมันไม่ง่าย ไม่ได้สวยงามขนาดนั้น แต่ในขณะเดียวกัน เธอก็รู้ดีว่าเธอไม่ได้ทำเพราะว่ามันง่าย หากเพื่อความหมายบางอย่างที่เธอเองก็ค่อยๆ ค้นพบตลอดทาง

          “ตอนแรกเรามีอุดมการณ์มากเลยนะ อยากสร้างการเปลี่ยนแปลง จัดกิจกรรมมากมายไปหมด ตอนนี้ไม่ทำด้วยความหวังแล้ว ฟังดูเศร้า แต่เราไม่เศร้านะ เราแค่กลับมาสู่ความจริงตรงหน้า แค่มาเปิด-ปิดพื้นที่ตามเวลาให้ได้ทุกวัน ทำทุกอย่างให้สม่ำเสมอ เวลาเห็นคนเดินทางไกลๆ มายืมหนังสือบางเล่ม เห็นนักเรียน นักศึกษามีที่นั่งอ่านหนังสือ นั่งทำงานก็พอใจแล้ว ถ้ามองแบบอุดมคติ นี่อาจเป็นวัฒนธรรมใหม่ๆ ทำให้เห็นว่ามันมีที่ มีวิธีการที่ไม่ต้องใช้เงินทองแลกไปเพื่อได้มา เวลาคนแปลกใจว่าไม่เก็บเงินเลยเหรอ มันก็อาจจุดประกายความเป็นไปได้บางอย่างก็ได้ หรือถ้าไม่ ก็ไม่เป็นไรเลย อย่างน้อยเขาก็ได้อ่านหนังสือ มีพื้นที่เข้าถึงได้ฟรี”

          ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ The Reading Room ไม่เคยเก็บค่าบริการ ไม่มีการจ่ายค่าปรับ เธออาศัยความเชื่อใจ และการสนับสนุนจากสำนักพิมพ์ องค์กร และผู้คนที่คอยส่งหนังสือประเภทต่างๆ ทั้งที่เป็นสมัยนิยม หนังสือออกใหม่ หรือหนังสือที่หายไปในช่วงหลังเท่านั้น 

          “ก็ฟังดูอุดมคติอยู่นะ แต่เราไม่อยากได้สังคมในอุดมคติกันเหรอ เรื่องวิจารณ์ ตั้งคำถาม หรือเรียกร้องก็ทำไป แต่เราไม่อยากรอ ทำอะไรได้ก็ทำ ถ้ารัฐไม่ทำแล้วเราจะทำอยู่ดีไหม ถ้าตอบตัวเองได้ว่าใครทำไม่ทำไม่เป็นไร เราอยากทำอยู่ดี ก็ทำเลย”

‘Reading Room’ ห้องสมุดอิสระ พื้นที่สาธารณะที่เพียงมีอยู่ก็มีคุณค่า

          หนังสือส่วนใหญ่ใน The Reading Room เป็นหนังสือศิลปะ ปรัชญา สังคม การเมือง หลายเรื่องว่าด้วยความคิด การตั้งคำถาม การวิจารณ์ หากในการลงมือทำงานแล้วเธอกลับย้ำคำว่า “ทำเลย อย่าคิดเยอะ” อยู่บ่อยๆ

          “ถ้าเป็นประเทศที่เจริญแล้วเราอาจไม่ต้องการห้องสมุดอิสระก็ได้นะ ห้องสมุดรัฐ พื้นที่สาธารณะมันพอ ไหนจะห้องสมุดของสถาบัน ของภาคเอกชนต่างๆ ถ้าจะมีห้องสมุดอิสระบ้างก็คงเป็นอะไรที่เฉพาะเจาะจง มากๆ แต่ในสังคมเราความต้องการนี้มันมีอยู่ ถ้าใครสนใจก็อาจสำรวจดูความสนใจตัวเอง เริ่มจากสิ่งที่ตัวเองมี ให้ที่ทางของเราหาทางของมันเจอเอง”

          เธอเล่าว่ามีคนมาขอคำปรึกษามากมายว่า จะเริ่มทำห้องสมุดอิสระได้อย่างไร มีคนมาพูดคุยถึงการจัดการ การวางแผนธุรกิจ ทว่าสิ่งสำคัญดูจะตรงไปตรงมากว่าที่คิด นั่นคือห้องสมุดคือการเปิดพื้นที่เพื่อผู้คน สิ่งที่ต้องทำคือ ‘อยู่ตรงนั้น’ เปิดพื้นที่ตามวันเวลาที่ตกลงไว้ทุกวันเพื่อผู้คน และปล่อยให้พลวัตที่เหลือทำงานด้วยตัวเอง

          “สิบกว่าปีที่ผ่านมามันเบิร์นเอาต์จนไม่มีอะไรมาเบิร์นแล้ว ยิ่งแต่ก่อนเราอยู่ในหลายวงการ ศิลปะ วัฒนธรรม หนังสือ วิชาการ การเมือง พอบ้านเมืองเจอรัฐประหารก็ยิ่งบอกตัวเองว่าต้องทำมากขึ้น มันทนอยู่เฉยไม่ไหวในสถานการณ์แบบนั้น มันเหมือนคนวิ่งบนสายพานที่ไม่มีปุ่มหยุด หยุดก็ล้ม เราวิ่งจนเป็นปกติ แต่โควิดมันกระชากให้เราหยุด ทำอะไรไม่ได้ จัดกิจกรรมไม่ได้ เจอคนไม่ได้ กลายเป็นว่าไม่เจอก็ได้นี่ งานไม่จัดก็ไม่เป็นไร โควิดทำให้เราตัดเรื่องรุงรังไป ค่อยๆ กลับมาสู่จุดเริ่มต้นของมันว่า ที่นี่เป็นห้องสมุดอย่างเดียวก็ได้นะ”

          จากสัดส่วนผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่อผู้มาใช้บริการห้องสมุดประเมินคร่าวๆ ได้อยู่ที่ 70/30 ปัจจุบันนราวัลลภ์เล่าว่า สัดส่วนผู้ใช้บริการห้องสมุดเริ่มขยับเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ว่าคนใช้งานมากขึ้นแค่เพียงเธอจัดกิจกรรมน้อยลง และเน้นความเป็นห้องสมุดมากขึ้น เว้นแต่จะมีการจัดกิจกรรม เมื่อมีผู้ต้องการใช้พื้นที่ ดูเหมือนห้องสมุดในขวบปีที่สิบกว่าเริ่มจะกลับมาเป็นอย่างที่พื้นที่นี้ตั้งใจจะเป็น

          “การได้พักทำให้เราได้หาคำตอบว่า ทำไมเราถึงอยากหนีจากที่ที่เราสร้างขึ้นมา เราพบว่าสิ่งที่เราอยากหนีไม่ใช่ห้องสมุด แต่คือความรู้สึกว่าเราต้องจัดกิจกรรมตลอดเวลา คิดว่าถ้าไม่จัดแล้วพื้นที่นี้จะไม่มีค่า แต่สุดท้ายแล้วเราพบว่าเราไม่ต้อง justify คุณค่าของสิ่งนี้กับใคร หนังสือ พื้นที่ ผู้คนมันมีคุณค่าในตัวเองอยู่แล้ว หนังสือแค่ถูกรวบรวมเป็นเล่ม ผ่านมือใครหลายคน จนมาอยู่ในพื้นที่นี้ได้ก็มีค่าแล้ว”

          หากห้องสมุดเทียบได้กับชีวิต สิบกว่าปีที่ผ่านมาคงเทียบได้กับการบ่มเพาะความมั่นคงพื้นฐาน ให้พร้อมกับการเติบโตต่อไป อีกไม่กี่ปี The Reading Room จะมีอายุครบ 2 ทศวรรษ หากห้องสมุดมีชีวิตก็นับว่ากำลังเข้าสู่วัยรุ่น วัยที่ใครหลายคนบอกว่า คนเราจะมีชีวิตของเราเองอย่างแท้จริง ไม่มีใครรู้ว่า The Reading Room จะวิวัฒนาการไปทางไหน แต่นักอ่านทั้งหลายต่างรู้ว่าเมื่อใดที่ข้อความประทับลงในใจของเราแล้ว ไม่มีวันที่มันจะสูญหาย เช่นเดียวกับหนังสือ และความพยายามสร้างวัฒนธรรมใหม่ของ The Reading Room เช่นกัน

‘Reading Room’ ห้องสมุดอิสระ พื้นที่สาธารณะที่เพียงมีอยู่ก็มีคุณค่า
‘Reading Room’ ห้องสมุดอิสระ พื้นที่สาธารณะที่เพียงมีอยู่ก็มีคุณค่า
‘Reading Room’ ห้องสมุดอิสระ พื้นที่สาธารณะที่เพียงมีอยู่ก็มีคุณค่า


เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Readtopia 2 ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศการอ่านของไทย’ (2567)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก