‘โมงยามแห่งความ(หวังที่ยังไม่)สิ้นยินดี’ ของสองนักร่วมเขียนเจ้าของรางวัลหนังสือสารคดีดีเด่น

1,075 views
7 mins
May 23, 2023

          เราอาจคิดว่าช่วงเวลาหนักหนาของความเป็นมนุษย์คือโมงยามแห่งความเศร้าโศก ทุกข์ตรม หากใครเลยนอกจากผู้เคยผ่านพบ ‘โมงยามแห่งความสิ้นยินดี’ จะรู้ดีว่าการไร้ซึ่งความรู้สึกรู้สาก็หนักหนาเอาการไม่แพ้กัน

          เคยมีคำกล่าวว่า “ขั้วตรงข้ามของความรักหาใช่ความเกลียดหากคือความไม่แยแส” (The opposite of love isn’t hate but indifference.) แล้วในแง่ของความสัมพันธ์ต่อตัวเราเองล่ะ ความไม่ยินดียินร้าย หมดสิ้นแล้วซึ่งความสนใจส่งผลต่อสภาวะจิตใจของเราอย่างไร? ขั้วตรงข้ามของความสุขหาใช่ความทุกข์หากคือความไม่แยแสหรือไม่? 

          เบส-กิตติศักดิ์ คงคา และบีน-ณภัทร สัตยุตม์ คือผู้เขียนหนังสือ โมงยามแห่งความสิ้นยินดี หนังสือรางวัลดีเด่นประเภทหนังสือสารคดีสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปี 2566 หนังสือบอกเล่าเรื่องราวของคุณเบสที่บันทึกความรู้สึกรุมเร้าจากการงาน ความรัก ครอบครัวและบาดแผลเก่าอย่างโรคซึมเศร้า สลับกับข้อมูลเชิงวิชาการที่อ่านง่ายผ่านสายตาของนักจิตบำบัดสาย Cognitive Behavioral Therapy (CBT) ที่คอยรับฟังและให้คำปรึกษา

          หนังสือที่ตั้งใจจะเป็นเพื่อนให้เราพกพาติดตัวไปได้ หนังสือที่อยากทำหน้าที่เป็นเพื่อนข้างกายให้เราแปรเปลี่ยนความเศร้าเป็นความหมาย และเป็นคู่มือคอยแง้มบอกกับเราในวันที่เศร้าหรือสิ้นยินดีว่าจะอยู่กับความรู้สึก และไม่รู้สึก ในโมงยามนี้ และผ่านไปได้อย่างไร 

โมงยามแห่งความเศร้าสู่จุดเริ่มต้นของเรา 

          เบส: เรื่องมันเริ่มมาจากผมเป็นโรคซึมเศร้าเลยได้เขียนหนังสือเล่มแรกคือ มนุษย์ซึมเศร้ากับเรื่องเล่าสีขาวดำ พอหนังสือตีพิมพ์ออกไป ก็มีนักอ่านเข้ามาปรึกษาทั้งคนที่รู้จักและไม่รู้จัก มาถามวิธีการรักษาดูแลตัวเองนอกเหนือจากการหาหมอ เพราะผมเคยเขียนในหนังสือเล่มนั้นไปบ้างว่ามีการทำจิตบำบัด คนก็จะถามว่าการทำจิตบำบัดคืออะไร ทำได้ที่ไหน ทำแล้วดีจริงไหม

          ผมรู้สึกว่าการตอบแต่ละครั้งมันมีน้ำหนักไม่หนักแน่นพอที่จะทำให้คนเชื่อว่าเราได้ประโยชน์จากสิ่งนี้จริงๆ เลยคิดว่าอยากทำหนังสือสักเล่มออกมา เป็นหนังสือที่มีกรณีศึกษา ผ่านเหตุการณ์ที่ตัวเองเจอ ประกอบกับการทำจิตบำบัดกับบีนเพราะผมทำกับเขามาตลอด และนำสิ่งที่บีนเคยบอกมาใช้ในหนังสือเล่มนี้ทำไปทำมา ก็นึกขึ้นได้ว่าบีนเคยเขียนหนังสือชีวประวัติส่วนตัวมาก่อน ในเมื่อบีนก็เขียนหนังสือได้ ทำไมเราต้องมาสรุปในมุมมองของคนอื่นด้วย ผมอยากให้คนที่มีความรู้จริงๆ มาเขียนก็เลยชวนบีนมาลองทำหนังสือเล่มนี้ด้วยกันครับ

          บีน: จริงๆ แล้วเรื่องจิตบำบัดคนยังไม่ค่อยเห็นภาพหรือเข้าใจมากนัก ก็ได้ความสามารถของคุณเบส มาช่วยเสริมในการเล่าเป็นเรื่องราวที่มันอ่านง่ายออกมา 

          เบส: เขินนะ (หัวเราะ)

          บีน: เพราะถ้าผมเขียนก็จะเป็นเหมือนตำราวิชาการไปเลย พอเขามาชวนก็ทำให้รู้สึกว่าเขียนร่วมกันน่าจะเป็นประโยชน์ให้กับคนในมุมกว้างมากกว่า แต่ถ้าให้เล่าจุดเริ่มต้นแบบโรแมนติกหน่อย (หัวเราะ) มันเริ่มจาก 3-4 ปีที่แล้ว ในทริปการท่องเที่ยว เบสเขาไปฝรั่งเศส ผมเรียนอยู่ที่นั่นพอดี ดังนั้นเรื่องราวในชีวิตของเขามันเลยถูกเล่าพูดคุยตลอดเวลาที่โดยสารบนรถไฟ

‘โมงยามแห่งความ(หวังที่ยังไม่)สิ้นยินดี’ ของสองนักร่วมเขียนเจ้าของรางวัลหนังสือสารคดีดีเด่น
Photo : อนุวัฒน์ เดชธำรงวัฒน์

โมงยามแห่งการทำงานร่วมกัน 

          บีน: แต่ละคนมีสไตล์เป็นของตัวเองมีเรื่องเล่าเป็นของตัวเอง  พอมันต้องอยู่เล่มเดียวกันต้องทำอย่างไรให้ออกมาเป็นชิ้นงานที่ชื่อว่า โมงยามแห่งความสิ้นยินดี เลยต้องปรับเข้าหากันมากหน่อยโชคดีที่เรามีบรรณาธิการเป็นคนกลางมาช่วยมองและปรับจูน ผมคิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การเขียนหนังสือสองคนมันไปด้วยกันได้

          เบส: ของผมจะยากในเชิงความคาดหวังเพราะเวลาเราทำงานหลายคน ความคาดหวังต่อในตัวเล่มก็จะสูงขึ้น หรือบางทีก็คาดหวังว่าต้องเป็นสไตล์ที่เราชอบ พอมาทำด้วยกันเลยต้องปรับจูนกันเยอะ เช่น บทแรกเป็นบทที่เขียนยากที่สุด เพราะผมจะเห็นภาพอีกอย่างหนึ่ง บีนจะเห็นเป็นอีกแบบ ต้องปรับกันบ่อย แต่บทที่สองเป็นต้นไปมันเริ่มเข้าที่เข้าทาง โชคดีที่เราได้บรรณาธิการที่ดี การทำงานเลยไม่เป็นแบบ ผมไปแก้ไขบีนหรือบีนมาแก้ไขผม แต่จะมีบรรณาธิการคอยอยู่ตรงกลาง คอยมองงานของทั้งสองคน เล่มนี้บรรณาธิการสำคัญมากๆ  มันทำให้การทำงานของเรารู้สึกปลอดภัยมากขึ้น

          เบส: ผมมองว่าวิธีการเล่าเรื่องที่ดีที่สุดคือการมีตัวอย่างประกอบ ผมไม่อยากให้คนอ่านรู้สึกว่ามันเป็นเพียงตัวอย่างที่หนึ่ง ผมอยากให้คนรู้สึกว่านี่คือมนุษย์คนหนึ่ง มามอง มาฟังเรื่องราวของมนุษย์คนนี้ว่าเขาต้องเจอ ต้องประสบอะไรบ้าง ดังนั้นมันต้องให้พื้นที่พาคนเข้าไปในเรื่องเล่า สมมติถ้าเป็นเนื้อหาวิชาการสัก 10 หน้า มีเคสแทรกมา 1-2 หน้าจะทำให้คนอ่านรู้สึกว่าเป็นเคสแห้งๆ แต่หากเราใส่ความเป็นคนเข้าไป ให้คนเข้าใจว่าตอนสูญเสียคนสำคัญเป็นอย่างไร เช่น การผมสูญเสียพ่อส่งผลมันสำคัญต่อชีวิตของผมแค่ขนาดไหน คนคนหนึ่งคนมีภาวะทางอารมณ์แบบไหนบ้าง ก่อนไปเจองานเขียนเชิงวิชาการในบทถัดไป

          บีน: ทุกบทที่เราเขียนออกมามันเหมือนผมกำลังนั่งทำเคส ได้นั่งคุยกับคนไข้จริงๆ เพราะเคสที่เข้ามาจะไม่คลีน ไม่ได้มีเรื่องเดียว เหมือนตอนเราอ่านตำรา แต่มีจะมาด้วยความซับซ้อนหลายเรื่อง ในมุมนักจิตบำบัดและนักเขียน เราต้องเลือกว่าในทุกความเรียงของพี่เบส เราจะเอาเรื่องไหนอะไรมาขยาย อะไรเข้าใจง่ายและนำไปใช้ได้ ผมคิดว่าการเขียนในลักษณะที่พี่เบสเริ่มต้นด้วยเรื่องเล่า เรื่องราวที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ส่วนผมคอยเติมเต็มเรื่องจิตบำบัดน่าจะเป็นอะไรที่ย่อยง่ายและใช้ประโยชน์ได้

          เบส:  ผมชอบหนังสือเล่มนี้นะ ในแง่หนึ่งมันมีหลักการอธิบายได้ ผมคิดว่าทุกคนบนโลกน่าจะเคยอกหัก แต่การอกหักมันมีแต่การทำใจ ไม่มีใครบอกว่าเราต้องเริ่มตรงไหน ไปต่ออย่างไร ทุกคนมองมันเป็น Common pain แต่ผมถูกบีนสอนตอนทำจิตบำบัดมาว่า จริงๆ มันมีวิธีการทำความเข้าใจความเสียใจของตัวเอง เราคิดว่ามีประโยชน์จัง ผมพูดกับบีนตอนทำจิตบำบัดเมื่อหลายปีก่อน ว่าต้องได้หนังสือสักเล่มนะ มีประโยชน์แบบนี้ มันมีหนังสือที่พูดถึงจิตบำบัด CBT (หนึ่งในรูปแบบของจิตบำบัดเพื่อรักษาโรคซึมเศร้าและสภาวะความเศร้าซึมอื่นๆ โดยเน้นการเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมที่ส่งผลต่อสภาวะจิตใจ) อยู่มากมายแต่ส่วนใหญ่เป็นเชิงวิชาการ ดังนั้นโจทย์ของเราคือจะทำอย่างไรให้หนังสือสามารถเข้าถึงง่ายที่สุด คนอ่านเข้าใจง่ายที่สุด 

          เบส: วิธีการทำงานของเรามันเริ่มจากการคุยกันว่า หากมีเวลาในการเขียนงาน 10 บท ในแต่ละบทจะเล่าเกี่ยวกับจิตบำบัดอะไรบ้าง มีอาการไหนที่คนควรรู้ เราก็ลิสต์กัน เช่น ซึมเศร้า นอนไม่หลับ วิตกกังวล เปลี่ยนงาน และความรัก ผมก็โอเคปัญหาชีวิตเรามีเยอะ (ขำ) ก็ไล่มาเลยอันไหนใกล้เคียงก็จูนกัน โชคดีที่ผมทำจิตบำบัดกับบีนมาตลอดไม่ต้องเล่าอะไรละเอียดเพราะเขาเข้าใจอยู่แล้ว เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่เราคุยนั่งคุยกันหลายเป็นชั่วโมงๆ มาก่อน บีนจะรู้ว่าเรื่องแบบนี้ สภาวะอารมณ์แบบนี้จะไปต่ออย่างไร 

          บีน: หลังจากคุยกันตอนเปิดเล่มที่ลิสต์หัวข้อออกมา ก็มาคุยกันว่าต้องการเวลาแค่ไหน ต้องการเสร็จเมื่อไร ก็อัพเดทกันมาตลอด ตอนแรกผมมองว่าอาจจะเขียนสัปดาห์ละ 1 ตอน ดังนั้นก็แบ่งเวลาได้วันละ 2 ชั่วโมง เพื่อมาอ่านงานวิชาการและมาเขียน มันเป็นการแบ่งเวลาในแต่ละวันจริงๆ ปกติผมทำเคสอยู่แล้ว แต่ในช่วงสามเดือนที่เขียนหนังสือก็จะลดการรับเคส และมานั่งเขียนงาน ซึ่งก็เหมือนกับการทำเคสเคสหนึ่งเหมือนกัน

          บีน: ถ้าเป็นได้ก็อยากทำอะไรร่วมกันอีกนะ  แต่ขึ้นอยู่กับว่าโจทย์ที่เข้ามาเป็นอะไรมีประโยชน์ต่อคนอ่านไหม ถ้ามีประโยชน์ก็อยากทำ

โมงยามแห่งความยินดีจากรางวัลหนังสือสารคดีดีเด่น

          บีน: ถึงแม้ว่าหนังสือเราจะส่งประกวดและได้รับรางวัล แต่ผมก็คิดเสมอว่าคนอ่านจะเข้าใจไหม นำไปใช้ได้หรือเปล่า แค่มีคนอ่านหนังสือเล่มนี้และหยิบจับบางเรื่องไปใช้ต่อและมีประโยชน์กับเขา นี่แหละคือความคาดหวังของผม

          เบส: สำหรับผมต้องมองในหลายส่วน ในฐานะเจ้าของสำนักพิมพ์มันมีความหวังในแง่ธุรกิจ ไม่อยากขาดทุน จะขายได้ไหม ส่วนในมุมของนักเขียนก็อยากให้เรื่องนี้ไปสู่คนอ่านได้มากที่สุด อย่างที่บอกเรื่องนี้มันเริ่มจากการทำจิตบำบัด ถ้าจะเขียนหนังสือแค่เรื่องซึมเศร้า คิดบวกไม่จำเป็นต้องดึงบีนมาเขียนก็ได้ แต่โจทย์มันมาตั้งแต่วันแรกคือ ทำอย่างไรให้จิตบำบัดเข้าถึงทุกคนโดยไม่ยัดเยียด ไม่ตัดสิน ทำให้ทุกคนรู้สึกปลอดภัยสบายใจที่จะเข้าถึงมัน

          ส่วนการประกวดเป็นวิธีการหนึ่ง เพราะการที่ชนะการประกวดหนังสือเล่มนี้จะถูกคัดเลือกเข้าห้องสมุดทุกปี เรารู้สึกว่ามันเป็น common pain ที่เยาวชนต้องเจอ เราจะเห็นเลยว่าการรับมือกับความเจ็บปวดในช่วงอายุ 20, 30, 40 ปี ต่างกันมาก ยิ่งเป็นเด็กเราไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจโลกเลย เลยรู้สึกว่าหนังสือแบบนี้มันสำคัญ ผมหวังว่ามันจะกลายเป็นหนังสือนอกเวลาเรียน หนังสือในสิสต์ หรืออะไรก็ได้ที่ไปได้ไกล ก็มีทั้งความคาดหวังเชิงการขาย ความนิยม ส่วนพวกเราก็พยายามทำหนังสือออกมาให้ดีที่สุด 

‘โมงยามแห่งความ(หวังที่ยังไม่)สิ้นยินดี’ ของสองนักร่วมเขียนเจ้าของรางวัลหนังสือสารคดีดีเด่น
Photo : อนุวัฒน์ เดชธำรงวัฒน์

โมงยามแห่งความสิ้นยินดี ชื่อนี้มีความหมาย

          เบส: ในมุมมองของโรคซึมเศร้า มันมีอาการหนึ่งที่เป็นอาการหลักเป็นหัวใจของโรคซึมเศร้าคือ Loss of interest ไม่มีความสนใจ หรือไม่มีความสุข ซึ่งผมใช้ทับศัพท์เป็นคำว่าสิ้นยินดี คือมันไม่ทุกข์ มันไม่สุข แต่มันไม่รู้สึกอะไรเลย เป็นความรู้สึกที่ประหลาดมาก ต้องเป็นคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามาระยะหนึ่งจึงจะเข้าใจว่าอาการที่ไม่รู้สึกรู้สากับโลกมันเป็นแบบไหน มันเป็นเรื่องของสารเคมีในสมอง พอสมองผ่านการเป็นโรคซึมเศร้ามาระยะหนึ่ง สมองจะค่อยๆ ฝ่อลง สารสื่อประสาทจะมีอาการซึมลง ความรู้สึกต่อโลกจะน้อยลงและจะมีภาวะสิ้นยินดี

          ผมอยากพาคนอ่านไปเข้าใจโรคซึมเศร้า แต่ไม่ได้พูดถึงแค่เรื่องซึมเศร้าเราพูดถึงความสิ้นยินดีว่ามันมีภาวะนี้อยู่จริงๆ และมีคนจำนวนมากพูดคุยกับเราว่า เฮ้ย ชื่อหนังสือเล่มนี้คือสิ่งที่เขาเป็นอยู่  ตอนแรกเขาก็ไม่รู้จะอธิบายความรู้สึกนี้อย่างไรดี 

          บีน: ในทางจิตวิทยา Anhedonia หรือภาวะสิ้นยินดีมันคือจุดหนึ่ง เมื่อก่อนเราจะคิดว่า แค่เศร้ามันก็ทุกข์แล้วแต่คนที่เป็นโรคซึมเศร้าเขาไปลึกมากกว่านั้น สิ่งที่เรียกว่าเศร้ามากกว่าความเศร้าคือการที่ไม่รู้สึกอะไรเลย เพราะจริงๆ อารมณ์มันทำให้เรามีพลัง เช่น เศร้าก็จะให้เวลาทบทวนกับมันเยอะหน่อย โกรธก็มีพลังที่จะแอคชัน กังวลก็ต้องเตรียมแผนรับมือ การมีอารมณ์คือเรื่องปกติของมนุษย์ แต่พอไปแตะถึงจุดที่ไม่รู้สึกอะไรเลย มันเลยกลายเป็นความเย็นวาบ ถ้าใครไม่เคยเป็นจะอธิบายไม่ได้เลยชีวิตเหมือนจะเป็นสีเทาไปหมด

          เพราะฉะนั้นเลยเป็นคีย์เวิร์ดคำว่าสิ้นยินดี ส่วนคำว่าโมงยามผมตีความภายหลังว่าคือ Moment คือช่วงเวลาหนึ่งที่ทุกคนสามารถไปแตะจุดนี้ได้ แต่ไม่ใช่ Permanent หรือความถาวร มันเป็นชั่วคราวที่เกิดขึ้น โมงยามแห่งความสิ้นยินดี มันเลยหมายความว่าอาจจะมีแหละที่ชีวิตเราไปแตะความยาก ความแย่ แต่เดี๋ยวมันก็ผ่านไปได้ แต่ต้องยอมรับนะ ว่านี่คือชีวิตมนุษย์ เกิดมามีทุกข์แต่มันเป็นชั่วคราว มันจะหายไปถ้าเรารับมือและเดินหน้าต่อไป

โมงยามแห่งการยอมรับสู่การรักษา

          บีน: ถ้าเราสิ้นยินดีจริงๆ เราจะคิดอะไรไม่ออกเลย เพราะฉะนั้นการขอความช่วยเหลือไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะความคิดอันหนึ่งที่จะฝังอยู่ในใจลึกๆ ของคนเป็นโรคซึมเศร้าคือ ความรู้สึกว่าฉันเป็นภาระดังนั้นพฤติกรรมที่แสดงออกจะกลายเป็นไม่อยากคุยกับใคร ไม่อยากพึ่งใคร ใครมาถามก็ไม่กล้าเล่า กลัวจะเป็นภาระ ดังนั้นจุดที่ต้องเริ่มต้นคือการยอมรับว่า เมื่อรู้สึกสิ้นยินดีเราสามารถขอความช่วยเหลือได้ สิ่งเหล่านี้แหละ ที่จะช่วยประคับประคองพากันออกจากโมงยามแห่งความสิ้นยินดี

          เบส: เราต้องรู้ตั้งแต่ตอนเริ่มเป็น มีอาการไม่เยอะ หรือยังไม่เป็น ถ้าเราเป็น อย่างแรกต้องยอมรับ อันนี้สำคัญที่สุดเพราะหากไม่ได้คิดไว้แต่แรกมันจะยอมรับไม่ได้ ดังนั้นความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ถ้าคุณเข้าใจเรื่องนี้ตั้งแต่ยังไม่เป็นอะไรเลย วันหนึ่งถ้าคุณเกิดเป็นโรคซึมเศร้าขึ้นมา แม้ว่าคุณแก้ไขปัญหาไม่ได้ แต่คุณจะรู้ว่าสามารถเดินไปหานักจิตบำบัด ไปหาคนคนที่ช่วยเหลือได้

          เบส: ผมโชคดีที่พอรู้ว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าปุ๊บก็รักษา รู้ว่าคนสามารถเป็นกันได้ตั้งแต่วันที่ยังไม่เป็นโรคซึมเศร้า ดังนั้นผมจึงไม่มีอคติใดๆ ในสมอง ป่วยก็ไปหาหมอแต่เวลาเราเจอเคสที่เข้ามาปรึกษาส่วนใหญ่ จะไม่มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคซึมเศร้ามาก่อน ทำให้เขาไม่เข้าใจ และจะยากขึ้นไปอีกถ้าเขาต้องพยายามเข้าใจในวันที่เขาไม่ไหวแล้ว

          ผมจะพูดเสมอว่า ต้องยอมรับว่าโรคนี้คือโรคหนึ่ง ดังนั้นมันก็เหมือนการเป็นหวัด เจ็บขา กระดูกแตก สิ่งที่ต้องทำคือยอมรับว่าเป็นและไปหาหมอ หมอให้ทำอะไรก็ทำ ให้กินยาอะไรก็กิน เราไม่จำเป็นต้องมาจัดการทุกอย่างด้วยตัวเอง เพราะมันคือโรคและหมอจะวินิจฉัยเองว่าต้องหลีกเลี่ยงสิ่งไหนต้องรับมืออย่างไร  

          บางคนทำใจยากมากในการเข้าใจและรับมือ โดยเฉพาะช่วงแรกของการกินยาเนื่องจากมีผลข้างเคียงเยอะ จะเริ่มสับสนไม่เข้าใจ ต่อต้าน แต่ถ้าคุณผ่านสองอาทิตย์แรกมาได้คุณจะดีขึ้น คุณจะเริ่มเข้าใจ อารมณ์จะเริ่มนิ่ง สุดท้ายพอเราเดินหน้าไปเรื่อยๆ จะเข้าใจว่ามันเป็นเพียงโรคใดโรคหนึ่ง ถ้ามันหายก็หาย และไม่ต้องไปตีโพยตีพายถ้าจะกลับไปเป็นอีก เวลาคนเป็นหวัดยังไม่มีใครตั้งคำถามเลยว่ารักษาหายแล้ว จะกลับไปเป็นหวัดอีกหรือเปล่า แต่พอเป็นโรคซึมเศร้าทำไมทุกคนต่างคาดหวังว่าตัวเองหายแล้วจะไม่กลับไปป่วยอีกต้องหายตลอดไป ถ้าเรามองมันเป็นโรคโรคหนึ่งทุกอย่างมันจะเข้าใจมากขึ้น

          บีน: ผมจะจับคีย์เวิร์ดก่อนครับ อย่างแรกเราต้องรับรู้ว่าอาการหน้าตาเป็นอย่างไร 2.จัดวางหรือจัดการ ถ้ามันเกินที่จะรับไหวต้องรีบจัดการให้อยู่ในระดับที่เราโอเค เช่น ไปหาหมอ รับคำปรึกษา แต่ถ้ามันเป็นอะไรที่เราพอจะจัดวางมันได้ก็วางมันไว้ตรงนี้แหละ เพราะเป็นธรรมดาที่เราจะรู้สึก ต่อมาก็เรียบเรียงว่าชีวิตมีเรื่องอื่นอีกหลายๆ เรื่องที่ต้องทำ และเดินต่อไปยังเป้าหมายที่อยากทำ ทำในสิ่งที่ต้องทำในเวลานั้น

‘โมงยามแห่งความ(หวังที่ยังไม่)สิ้นยินดี’ ของสองนักร่วมเขียนเจ้าของรางวัลหนังสือสารคดีดีเด่น
Photo : อนุวัฒน์ เดชธำรงวัฒน์

โมงยามแห่งการ ‘อยู่กับ’ ความสิ้นยินดีให้ได้ รับมือให้เป็น 

          บีน: แต่ละช่วงวัยจะมีวิธีการรับมือแตกต่างกัน สำหรับช่วงนี้มีสองอย่างใหญ่ๆ คือ 1. ต้องยอมรับว่าเราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ในหนังสือเล่มนี้จะพูดว่ามันคือการโอบรับตัวเองแบบเต็มคนแบบเต็มใจ พอเรายอมรับรับว่าเราเป็นมนุษย์เราจะรู้เลยว่ามันผิดพลาดได้ เวลาเรามีจำกัดนะทำทุกอย่างที่อยากทำ ทุกอย่างที่คนสั่งไม่ได้ทั้งหมดหรอกเราต้องเลือก 2.เราควบคุมทุกอย่างไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าผมยอมรับว่าตัวเองเป็นมนุษย์ในวันที่รู้สึกแย่ ก็มาดูว่าเพราะอะไร รับมือแก้ไขอย่างไร บางอันเราอยากควบคุม แต่ธรรมดาของโลกมันควบคุมไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องยอมรับในปัจจัยเหล่านี้ให้ได้

          อีกวิธีของผมคือ เรายอมรับตัวเองได้นะ กอดตัวเองได้ เฮ้ยบีนเรารักบีนได้นะ เพราะหลายๆ คนเขาจะมีเงื่อนไขว่าฉันจะรักบีนก็ต่อเมื่อบีนประสบความสำเร็จ ฉันจะรักบีนต่อเมื่อบีนแข็งแรงได้รางวัล ดังนั้นเรายอมรับตัวเองว่าเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เรารักตัวเองได้แม้จะมีบาดแผลหรือมีจุดที่ไม่สมบูรณ์ 

          เบส: ส่วนผมเป็นคนที่โวยวายหน่อย เจอปัญหาก็จะโวยวายและหาคนซัปพอร์ต ผมถือคติว่าถ้าเราเจอปัญหาครั้งแรกและพังยอมรับได้ แต่เราจะไม่เจ็บแบบนี้เป็นครั้งที่สองอย่างน้อยก็ได้ทำความเข้าใจว่า ถ้าเจอแบบนี้ต้องทำอย่างไร ผมค่อนข้างมี Manual ในการใช้ชีวิต สมมติหากผมผิดหวังจากการเขียนหนังสือเล่มนี้ต้องทำอย่างไร ทะเลาะกับแม่ต้องรับมืออย่างไรก็จะมีขั้นตอน 1 2 3 4 ถ้าเคยเกิดเหตุการณ์นี้มาแล้วก็ประยุกต์ใช้ แต่ถ้าไม่เคยเจอมาก่อนบีนจะเป็นคนแรก เราก็ยกหูหาเขาถามว่าต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้อย่างไร บอกหน่อยสิ่งที่คิดมีตรรกะอยู่ไหม หรือกลายเป็นอารมณ์ไปแล้ว 

          พอมีคนรับฟังพูดคุยมันสามารถทำให้เราเข้าใจเรื่องรอบตัวได้ง่ายขึ้น ซึ่งผมพูดเสมอว่าทุกคนควรมีซัปพอร์ตเป็นของตัวเองบางคนอาจเป็นครอบครัว เป็นคนรัก เป็นเพื่อน เป็นหมาแมว หรือซีรีส์ดีๆ สักเรื่อง แต่ในวันที่แย่คุณต้องรู้ว่าคุณจะทำอะไร โทรหาใคร ดูเรื่องไหน เพราะในวันที่แย่มันคิดไม่ออกหรอก ทุกคนว่าควรมีคู่มือการใช้ชีวิตของตัวเอง ผมมีแม้กระทั่งว่าเจอปัญหาต้องโทรหาใคร ออกจากบ้านไปกินข้าวร้านไหนในวันที่รู้สึกแย่แล้วจะไม่ผิดหวัง ถ้าเราไม่เตรียมตัวรับมือไว้เลยมันจะยาก

โมงยามแห่งยุคสมัยแห่งความซึมเศร้า

          เบส: ผมคิดว่าเราอยู่กับความซึมเศร้ามาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ถ้าย้อนกลับไปมองกวีเอกระดับโลกก็ฆ่าตัวตายมาตั้งแต่ไหนแต่ไร มันเป็นความเข้าใจในกลไก Mechanism ของโรคซึมเศร้ามากกว่า ทุกเจเนอเรชันมีปัญหาของตัวเอง เราไม่รู้ว่าเจเนอเรชันนี้กดดันกว่าเจเนอเรชันอื่นหรือไม่ ตอบยากแต่สิ่งสำคัญคือเราเข้าใจมันมากขึ้นคนยอมรับปัญหามากขึ้น 

          บีน: ผมคิดว่านี่เป็นยุคสมัยที่เราตื่นตัวและพยายามทำความเข้าใจโรคนี้มากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเราไปดูที่ผลเลขผู้ป่วยมันอาจจะดูสูงขึ้น แต่ถ้าไปดูที่เหตุมันจะเห็นเลย ว่าเป็นการพาตัวเองเข้าไปรับการวินิจฉัยมากกว่า คือเรารู้สึกว่าไม่ปกติเราก็ปรึกษาแพทย์ หรือหาที่ซัปพอร์ต คนสมัยนี้มี Stigma หรือตราบาปในการพบจิตแพทย์ นักจิตบำบัดน้อยลง เวลาเขามีปัญหาเขาก็เดินไปหาหมอ เหมือนเราเดินไปหาหมอทางกาย ผมมองว่านี่คือยุคสมัยที่เราตื่นตัวและทำความเข้าใจกับโรคนี้มากขึ้นเลยทำให้เห็นคนเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น

โมงยามแห่งการจัดการตนเอง

          เบส: ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่น ครอบครัว toxic เราหลีกหนีไม่ได้ หรือมีปัญหาทางการเงินติดหนี้สิบล้านบาท ผมแนะนำให้ไปหาหมอครับ ไปกินยาให้วิทยาศาสตร์ช่วยเรา อย่างเรื่องครอบครัวเป็นสิ่งที่หลีกหนีไม่ได้ ผมมองว่าไม่คนใดคนหนึ่งต้องกินยา หรือไม่ก็ต้องกินทั้งคู่ ถ้าเขาไม่ยอมกินเราก็ต้องกินเพื่อรักษาตัวเอง หลายคนอาจมองว่าต้องกินยาไปเรื่อยๆ แต่ยาไม่อันตรายนะ ปลอดภัยมาก คำถามคือทำไมเราต้องไม่กิน

          บางคนมองยาเป็นตราบาป การกินยาเท่ากับการแพ้ หรือบางคนปัญหาอยู่ที่งานแต่ยังย้ายงานไม่ได้เพราะมีภาระหนี้สินก็ต้องทำใจอยู่กับสิ่งนี้ กินยาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะย้ายงานได้ สุดท้ายเราต้องยอมรับว่าชีวิตคือปัญหา แต่เราจะรับมือกับมันด้วยวิธีการแบบไหนอยู่กับมันอย่างไรต่างหาก

          บีน: เวลาเราทำจิตบำบัดถึงแม้จะทำเรื่องอารมณ์ หรือทักษะการแก้ปัญหา แต่ถ้าตัวปัญหาไม่หายไปก็จะมีตัวกระตุ้นอยู่เสมอ ปัญหาอาจจะหายไปในระยะสั้นหรือระยะยาวขึ้นอยู่แต่ละเรื่อง เช่น เรื่องในครอบครัวอันนี้อาจจะดาร์กหน่อย คือวันหนึ่งเขาก็ต้องจากไปอยู่แล้ว มันมีวันที่ปัญหาจะหายหรือการเป็นหนี้ก้อนใหญ่ถ้าเราค่อยๆ แก้มันมีวันที่จะหายแต่จะยาวนานหน่อย จนเรารู้สึกทรมานเพราะฉะนั้นยาจะมาช่วยตรงนี้ ช่วยให้เราโอเคให้เราอดทนรับมือและใช้ชีวิตต่อไปได้

โมงยามแห่ง Hall of Fame เตรียมไว้เติมเต็มในวันอ่อนแรง 

          เบส: หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ได้รางวัลดีเด่นเล่มแรกของผม ในแง่หนึ่งเป็นการพิสูจน์ตัวเองเหมือนกันว่า เฮ้ยเราเป็นนักเขียนมีรางวัลมาเติมเต็มในชีวิต เติมความเชื่อมั่นให้ตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเองสิ่งนี้จะอยู่ในตัวผมตลอดไปมันไม่ใช่ช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง 

          มันเหมือนเวลาเป็นโรคซึมเศร้าที่มีช่วงเวลาแห่งความผิดหวัง หนังสือขายไม่ได้ ขาดทุน ไม่ได้รางวัล แต่พอย้อนลับมาดูเราก็เคยได้รับรางวัลนี่นา และมันจะถูกตั้งใน Hall of fame ว่าครั้งหนึ่งเราเคยได้รับรางวัลนี้มา 

          ในวันที่แย่ที่สุดผมเคยเล่ากับบีนบ่อยครั้งว่า ที่บ้านผมจะมี Hall of fame ตู้กระจกสำหรับเก็บรางวัลในวันที่เรารู้สึกว่าห่วยจังวะ ทำอะไรไม่ได้เรื่องเลยก็จะเดินมาดู และจะเห็นว่าชีวิตเราก็ไม่ได้ห่วยขนาดนั้น ยังมีเรื่องราวดีๆ เราผ่านอะไรมาเยอะมากมาย และหนังสือเล่มนี้จะกลายเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่ถูกวางไว้ใน Hall of fame ต่อไป

          บีน: สำหรับผมคือขอบคุณตัวเองที่ ณ วันนั้นไม่ท้อถอย ไม่ยอมแพ้ อย่างที่บอกว่าเล่มนี้มันถูกเขียนในเวลาจำกัดมากๆ ผมต้องอ่านอะไรเยอะมากและมานั่งเขียน ตอนนั้นก็ป่วยเป็นโควิด-19 ด้วย (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นขอบคุณที่ตัวเองที่วันนั้นเราไม่หยุดมันไป มันจึงเกิดผลลัพธ์ที่งอกงามออกมามีประโยชน์กับผู้คนในวันนี้

‘โมงยามแห่งความ(หวังที่ยังไม่)สิ้นยินดี’ ของสองนักร่วมเขียนเจ้าของรางวัลหนังสือสารคดีดีเด่น
Photo : อนุวัฒน์ เดชธำรงวัฒน์

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก