‘(ไม่)จบที่รุ่นเรา’ เรื่องจริงที่น่าเศร้า – เสาวนีย์ สังขาระ กับความหวังสังคมเท่าเทียมกัน การศึกษาเท่าทันโลก

1,890 views
8 mins
December 14, 2022

          ในวันที่ท้องฟ้าสดใส สายลมโชยอ่อน แสงแดดยามเช้าส่องลอดผ่านแมกไม้สีเขียวของ ‘สวนศิลป์บินสิ’ ซึ่งเป็นทั้งฟิล์มโปรดักชันเฮาส์ ฟาร์ม และพื้นที่เรียนรู้ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มาแลกเปลี่ยนทักษะระหว่างกัน อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการเรียนรู้นอกกระแสที่ไม่ต้องพึ่งตำรา แต่มาจากประสบการณ์จริงที่หาที่ไหนไม่ได้

          เนาว์-เสาวนีย์ สังขาระ นักผลิตรายการสารคดีอิสระ และผู้ก่อตั้งพื้นที่เรียนรู้แห่งนี้ได้ส่งยิ้มให้เรา เธอคือผู้มีความฝันอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคม และมีความหวังว่าในสักวันระบบการศึกษาจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยตัวเธอเองก็เป็นหนึ่งในจิกซอว์ที่ทำหน้าที่นำเสนอทางเลือกในการเรียนรู้อย่างแข็งขัน

          เมื่อเร็วๆ นี้ เนาว์ ออกโบยบินอีกครั้งไปยังต่างประเทศเพื่อทำสารคดีพร้อมกับโจทย์ใหม่ในใจ เธอใช้เวลาฝังตัวอยู่ในครอบครัวแถบสแกนดิเนเวีย เพื่อทำความเข้าใจระบบการศึกษาและระบบสนับสนุนต่างๆ ของประเทศเหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง และกลับมาพร้อมประสบการณ์และบทเรียนที่มีคุณค่า เนาว์บอกว่าการเดินทางครั้งนี้ช่วยให้เธอมองโลกมุมใหม่ และหันกลับมาทบทวนเป้าหมายและทิศทางของตัวเองด้วย

อะไรคือโจทย์หรือแรงผลักดันที่ทำให้คุณออกเดินทางในครั้งนี้

          จากซีซันแรกที่เคยทำรายการ ‘บินสิ’ ซึ่งนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับโรงเรียนทางเลือก เราเห็นคอมเมนต์จากคนดูรายการและจากคนที่เราพบเจอ ซึ่งมักจะพูดกันว่าโรงเรียนทางเลือกเป็นโรงเรียนของชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูง แต่เรารู้สึกว่าไม่ใช่เสียทีเดียว โรงเรียนทางเลือกที่ไปดูมาในอินเดีย เกาหลีใต้ และออสเตรีย มีทั้งโรงเรียนสำหรับจัณฑาล เด็กข้างถนน ผู้หญิง คนแก่ คือหลากหลายไปหมด แต่ว่าในกรณีของประเทศไทยมันอาจดูเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็เลยคิดต่อว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ควรจะต้องมีอะไรที่ทำให้เกิด ‘ความเท่าเทียม’ กว่านี้ ให้คนกลุ่มใหญ่เข้าถึงได้มากกว่านี้สิ

          เราเลยเริ่มมองเรื่องรัฐสวัสดิการ การจัดการศึกษาโดยรัฐให้เท่าเทียม แล้วพอพูดเรื่องนี้ปุ๊บ ก็ต้องมองไปที่สแกนดิเนเวีย พื้นที่ที่เขาว่ากันว่ามีระบบการศึกษาดีที่สุด มีรัฐสวัสดิการที่มีคุณภาพ อีกสิ่งหนึ่งที่อยากไปเห็นคือเรื่องของบ้าน เพราะคิดว่าแค่โรงเรียนมันไม่พอ ก่อนที่จะส่งเด็กไปโรงเรียน ฐานของครอบครัวหรือพ่อแม่สำคัญมาก เด็กโตมาอย่างไรก่อนเขาจะเข้าโรงเรียน หรือว่าเด็กกลับมาบ้านแล้ว บ้านเป็นอย่างไร ดังนั้นจึงกลายมาเป็นโจทย์ว่า บ้าน โรงเรียน รัฐสวัสดิการ สามสิ่งนี้ต้องไปด้วยกัน ไม่ใช่แค่เรื่องของโรงเรียนแล้ว

          วิธีการทำสารคดีของเราก็คือการออกไปเรียนรู้ข้างนอก ไปฝังตัว ทั้งทริปแทบจะไม่พักโรงแรมเลย มีพักโรงแรมแค่ 2 คืน นอกนั้นจะไปพักบ้านคน เพราะเราจะได้เห็นชีวิตของเขาจริงๆ ว่าเขาตื่นนอน กินยังไง ไปโรงเรียนยังไง สอนลูกยังไง ถ้าเราไม่ได้เข้าไปอยู่ในชีวิต มันก็จะเหมือนเป็น Outside In คือมองลงไปแบบนักท่องเที่ยว ไปถึงปุ๊บเอาไมค์จ่อ แบบมาขอสัมภาษณ์ทำสารคดีค่ะ เราก็จะไม่ได้ข้อมูลที่ตรงกับโจทย์ที่อยากรู้

สังคมที่คุณได้ไปเห็น เป็นเหมือนที่คิดไว้ไหม

          จากสิ่งที่เราเคยอ่านเคยจินตนาการไว้แล้ว พอได้ไปอยู่กับเขา ได้เห็นของจริงว่าการศึกษาและคุณภาพชีวิตของคนที่เท่าเทียมจริงๆ คือแบบนี้ เนาว์ร้องไห้เลยนะ ร้องไห้โฮ เพราะพอมองกลับมาที่ประเทศไทยแล้วมันจะสามารถเป็นแบบนี้ในรุ่นของเราได้หรือเปล่า

          ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เราพยายามทำอยู่ พื้นที่เล็กๆ อย่าง ‘สวนศิลป์บินสิ’ หรือว่าองค์กร ชุมชน คนที่พยายามสร้างห้องสมุดหรือชุมชนการเรียนรู้ในพื้นที่ต่างๆ มันเล็กมากเลย กว่าจะต่อจิกซอว์ได้แต่ละคนต้องพยายามมากที่จะทำสิ่งเหล่านั้น แต่ที่นู่นพอเป็นการทำโดยรัฐ ทำโดยระบบ ทุกอย่างจึงถูกครอบไว้ทั้งหมด

เสาวนีย์ สังขาระ

อยากให้ยกตัวอย่างนโยบายของรัฐที่คุณมองว่าช่วยส่งเสริมคุณภาพการศึกษา

          รัฐเขาลงทุนกับเด็กๆ มาก ไม่ใช่แค่ที่โรงเรียนนะ แต่เริ่มตั้งแต่ในครรภ์ เขาส่งหมอไปดูที่บ้าน แล้วเราก็เห็นภาพผู้ชายวัยทำงานเข็นรถเข็นลูกขึ้นรถสาธารณะเยอะมาก ผู้ชายมีสิทธิลาเลี้ยงลูกได้เหมือนกัน สวีเดนให้สิทธิพ่อและแม่ลาคลอดได้ 480 วัน และลาหยุดได้จนลูกอายุ 8 ขวบ เพราะไม่ใช่แค่ผู้หญิงที่มีหน้าที่เลี้ยงลูก ถ้าบอกว่าผู้ชายต้องออกไปทำงานข้างนอก ผู้หญิงต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูก ยังไงก็ไม่มีทางเท่ากัน ต้องมาเลี้ยงด้วยกันนี่แหละ ซึ่งดีกับลูกและช่วยสร้างวัฒนธรรมใหม่ในสังคมได้จริงๆ

          พอเด็กเข้าโรงเรียนสิ่งแรกที่เด็กจะได้คือ ตั๋วรถเมล์สำหรับเดินทางฟรีทั้งปี ตอนแรกเราก็งงนะ ให้เพื่ออะไร เด็กจะขึ้นรถเมล์ไปโรงเรียนได้จริงเหรอ แต่ว่ามันได้จริงๆ อย่างเด็กที่เราไปทำสารคดี เขาขึ้นรถเมล์ไป 3 ป้ายลงแล้ว เพราะโรงเรียนใกล้บ้าน โรงเรียนของเขาคุณภาพเหมือนกันหมดทั้งในเมืองนอกเมือง เมืองเขาปลอดภัย และมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะกับเด็ก

          สิ่งที่เด็กเรียนในโรงเรียนก็ไม่ใช่การท่องจำ แต่เป็นการให้โจทย์มาแล้วเด็กอภิปราย ถกเถียงกัน เช่น สงครามดีหรือไม่ดียังไง ความเท่าเทียมทางเพศคืออะไร ทำไมผู้หญิงต้องเลี้ยงลูก ผู้ชายเลี้ยงลูกได้ไหม อะไรแบบนี้ เด็กเขาเรียนในโรงเรียนแค่ช่วงเช้า เราก็ตามไปดูว่าแล้วช่วงบ่ายทำอะไร เพราะพ่อแม่ก็ยังทำงานอยู่ โอ้โห! ในเมืองมีพิพิธภัณฑ์ มีห้องสมุด มีแหล่งเรียนรู้ที่ปลอดภัย เด็กๆ สามารถใช้เวลาครึ่งวันที่เหลือมาทำกิจกรรมต่างๆ ได้  สวนสาธารณะก็ไม่ใช่แค่ที่ปลูกต้นไม้สวยๆ แต่ในสวนมีกิจกรรมให้ทำ มีกีฬาให้เล่น

          ห้องสมุดก็มีหนังสือดีและใหม่เทียบเท่ากับร้านหนังสือ เด็กเข้าไปแล้วเขาเป็นเจ้าของ เช่น ถ้าเขาอยากได้หนังสือบางเล่มที่เป็นหนังสือใหม่ก็ไม่ต้องไปซื้อเอง มาบอกให้บรรณารักษ์จัดหาให้ ในห้องสมุดมีมุมหนังสือเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ และในมุมนั้นจะมีหนังสือ LGBTQ+ ซึ่งมีสัญลักษณ์สีรุ้งที่สันปก เพราะเด็กวัยนี้เป็นช่วงที่เริ่มสนใจเรื่องเพศ ดังนั้นเขาควรได้เรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศด้วย

จากวัยเด็กเมื่อก้าวสู่วัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ รัฐดูแลความเป็นอยู่ของผู้คนอย่างไรบ้าง

          พอเริ่มทำงาน สมมติว่างานที่คุณทำตอนนี้เป็นสิ่งที่ยังไม่ใช่ ไม่ตอบโจทย์ เช่น ฉันเรียน Filmmaker มาแต่ฉันไม่ชอบแล้ว คุณหยุดได้เลยปีหนึ่ง ให้คุณไปหา Passion ใหม่ๆ เช่น ฉันอยากจะเป็นช่างเสริมสวย เป็นอันนู้นอันนี้ คุณก็ไปลงเรียน ได้เงินเดือนด้วย ได้ค่าเรียนด้วย อะไรจะดีขนาดนี้ (หัวเราะ)

          พอแก่ไปก็ไม่ต้องพูดถึง คนของเขาจะรู้เลยว่าตัวเองมีเงินเก็บเท่าไหร่ตอนแก่ และรัฐจะมีบ้าน มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เตรียมไว้ให้ ในสังคมบ้านเราอาจมองว่าการส่งพ่อแม่ไปอยู่บ้านพักคนชราเป็นเรื่องที่ไม่ดี แต่ว่าพอไปเห็นของเขา บ้านพักคนชราดีมากเหมือนโรงแรม มีหมอพยาบาลคอยดูแล คนสูงวัยได้มีเพื่อนเป็นชุมชนของเขาเอง มีกิจกรรมต่างๆ ให้ทำ ที่นั่นคนแก่จัดปาร์ตี้กันได้เลยนะ

แล้วสำหรับกลุ่มคนที่ต้องการความดูแลเป็นพิเศษ รัฐมีนโยบายส่งเสริมความเท่าเทียมอย่างไร

          เราไปเจอเคสหนึ่งที่แม่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ รัฐเขาไม่ได้ดูแลแค่ลูก แต่เขาดูแลแม่ด้วย เขามองว่าการที่จะเลี้ยงเด็กพิเศษให้ดีได้แม่ต้องดีก่อน เพราะคนเป็นแม่เครียดมากนะ ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจและการที่ต้องดูแลลูกที่เป็นแบบนี้ อย่างครอบครัวที่เราไปสัมภาษณ์ น้องเป็นดาวน์ซินโดรมแต่เขาก็สามารถใช้ชีวิตได้ ทำงาน เลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ รัฐมีการวางแผนและเข้ามารับผิดชอบ เด็กมีห้องของเขาเองและรัฐการันตีว่าเด็กคนนี้จะมีงานทำจนถึงอายุ 65 ปี แม่ก็มีเวลาของตัวเอง ได้ไปชอปปิง ไปดูหนัง เขาดูแลแม่ขนาดนี้

          ตอนแรกเราก็แปลกใจว่าเมืองเขามีคนพิการ คนแก่ หรือว่าเด็กพิเศษเยอะเหรอ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ แต่สังคมเขาไม่ได้เก็บคนเหล่านี้ไว้แค่ที่บ้านไง พวกเขาสามารถออกมาข้างนอกได้ปกติเพราะสาธารณูปโภคต่างๆ เอื้อต่อการใช้ชีวิต จะขึ้นรถลงรถ เดินฟุตบาท เข้าห้าง มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับทุกคน ทุกอย่างมันสอดคล้องกันไปทั้งเมือง

          เราเห็นเรื่องความเท่าเทียม เราไม่ได้เห็นแค่ครอบครัวของผู้ชาย-ผู้หญิง แต่เห็นผู้ชาย-ผู้ชาย หรือผู้หญิง-ผู้หญิง อุ้มลูก คือมันเป็นเรื่องปกติธรรมดามากในสังคม จนเรารู้สึกว่า กูอยู่เมืองอะไรวะเนี่ย เมืองเนรมิตรึเปล่า (หัวเราะ)

เสาวนีย์ สังขาระ กับความหวังที่อยากเห็นสังคมเท่าเทียมและการศึกษาไทยเปลี่ยนแปลง

ถ้าแบบนั้นก็สรุปได้ว่า รัฐสวัสดิการคือจุดแข็งที่ทำให้คนเข้มแข็งไปด้วย

          ใช่ สังคมเขาทุกอย่างได้รับการดูแลโดยอ้อมกอดของรัฐและสังคม ไม่ใช่ดูแลแบบ Individual แค่คนคนหนึ่ง และทุกอย่างคือสิทธิในความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนควรจะได้รับ ไม่ว่าคุณจะเพศอะไร อายุเท่าไหร่ เป็นใคร ตั้งแต่คลอดออกมาจนถึงตาย ทุกคนเท่ากัน โดยที่มันไม่ใช่การสงเคราะห์

          การสนับสนุนของรัฐทำให้คนของเขามีเวลาที่จะเปล่งปลั่ง มีคุณภาพ สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ แล้วในบ้านเรารัฐมีอะไรเป็นพื้นฐานให้เราบ้าง เนี่ยแหละคนของเราถึงได้เครียด คือถ้าท้องยังหิวอยู่เราไม่มีทางขึ้นไปถึงข้างบนตรงนั้นได้เลย บอกว่าอยากให้คนอ่านหนังสือ ทำไมคนไม่อ่านหนังสือ ทำไมเด็กติดมือถือ แต่ถ้าเด็กไม่เล่นโทรศัพท์แล้วให้เขาทำอะไร พ่อแม่เขาก็ต้องทำมาหากิน ให้เขาไปห้องสมุด ที่ไหนมีล่ะ ดังนั้นระบบต้องเอื้อด้วย

ถ้าอย่างนั้นต้องเริ่มต้นที่รัฐใช่ไหม จึงจะส่งผลให้ครอบครัวดี พอครอบครัวดี การศึกษาก็ดี หรือว่ามันต้องไปด้วยกัน

          ไม่รู้สิ ว่าอะไรต้องเกิดก่อนกัน การศึกษาดีทำให้สังคมดี หรือว่าสังคมดีทำให้การศึกษาดี หรือว่าจะเริ่มต้นจากคน เราคิดว่ามันต้องไปด้วยกันทั้งหมด การศึกษาที่ดีไปสร้างสังคมการเมืองที่ดี และสังคมที่ดีจะมาสร้างการศึกษาที่ดี

          บ้านเราอาจจะมีทุน มีรัฐ มีทหาร มีสถาบันใดๆ ที่ครอบครอง ถ่ายโอน และกำหนดว่าประเทศนี้มันต้องเป็นแบบนี้ ถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์ยุโรปว่าเขาได้รัฐสวัสดิการมายังไง เขาก็ต้องต่อสู้ เขาได้คุย ถกเถียง และร่วมกันสร้างระบบที่คิดถึงผู้คน ทุกอย่างเลยเป็นสิทธิของประชาชน แต่ของเราไม่ใช่

เหมือนว่าคนของเราไม่แข็งแรงพอที่จะสู้แบบเขารึเปล่า

          ใช่ เราไม่แข็งแรงพอ เพราะเราไม่ถูกสร้างมาให้เป็นอย่างนั้นไง การศึกษาบ้านเรามันไม่ไปไหนจริงๆ สังคมไม่เข้มแข็งพอที่จะเปลี่ยนระบบการศึกษา การศึกษาเองก็เลยไม่แข็งแรงพอที่จะออกมาเปลี่ยนข้างนอก มันก็ต้องเอื้อกันด้วย ถ้าบ้านเรามีการศึกษาแบบนี้และหวังให้คนออกมาเปลี่ยนสังคม มันเปลี่ยนไม่ได้

หากคนรุ่นต่อไปอยากเปลี่ยนแปลงหรือทำให้เกิดภาพเหล่านั้นขึ้นจริงๆ เขาควรจะทำอย่างไร

          โห มันยากมากเลย ด้วยอะไรหลายๆ อย่าง แต่อย่างน้อย เราคิดว่าต้องมีพื้นที่ที่ไม่ให้คนต้องโบยเฆี่ยนตัวเอง ไม่ให้เขาต้องรู้สึกผิด เพราะว่าเด็กท้อแท้หมดหวังเยอะมาก ไม่ใช่แค่เด็กนะ ผู้ใหญ่ด้วย เพราะตอนนี้สังคมมีแต่ความโกรธ เด็กรุ่นต่อไปเป็น Angry Generation โกรธไปหมด โกรธรัฐบาล โกรธการเมือง โกรธสังคม แล้วยังไง คุณจะปลดปล่อยความโกรธนี้ยังไง

          ดังนั้นจึงควรมีพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจความโกรธนั้นด้วยว่ามีที่มายังไง และไม่ใช่แค่พื้นที่ปลอบโยน แต่ต้องให้ความรู้ด้วย ให้ทุกคนเรียนรู้ว่าไม่ใช่ความผิดของเขา มันเป็นเรื่องของสังคม เป็นทั้งระบบที่มันกดทับเขา เพราะฉะนั้นเขาก็จะได้เข้าใจตัวเอง เข้าใจโครงสร้างตรงนี้และมีที่ปลดปล่อย เพราะสังคมเราขาดการให้ความรู้ และไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยความรู้กับปัญญา

การเดินทางครั้งนี้ให้อะไรกับตัวคุณเองบ้าง ทำให้เปลี่ยนแปลงเป้าหมายหรือเข็มทิศในใจไหม

          สุดท้ายเราอาจจะต้องมองว่าเราทำได้แค่ไหนจริงๆ เพราะว่าที่ผ่านมาเราซึมเศร้านะ กลับมาอาทิตย์แรกเราไม่จับฟุตเทจเลย ไม่ดูอะไรที่ถ่ายมาเลย เพราะพอเราไปเห็นที่นั่นทำให้เรามีความหวังไง สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นในโลกได้จริงๆ ซึ่งเราก็อยู่บนโลกใบนี้เหมือนกันใช่ไหม

          แต่พอกลับมาที่บ้านเรา ทำไมมองไปทางไหนก็มืดมนไปหมดเลย ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนดี เรารู้สึกว่าตัวเองเล็กมาก เลยเครียดกับมันว่าจะเล่าสิ่งที่ไปเห็นมายังไง คนอื่นเห็นแล้วมันจะมีประโยชน์อะไร ทำไปแล้วจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้หรือเปล่า ถ้าแค่ตัวเองเรารอดแหละ แต่พอหันกลับมาดูสังคม ภาพที่เห็นคือเราเป็นเรือที่ลอยอยู่ แต่รอบๆ คือน้ำเน่า พอคิดแบบนี้มันก็พาป่วย

คุณคาดหวังว่าสารคดีของคุณจะทำให้คนดูตั้งคำถามที่นำไปสู่อะไรใหม่ๆ ได้มากน้อยแค่ไหน

          เราเคยคิดว่าหลายๆ คนที่เขามองไม่เห็นทางแก้ปัญหาเพราะเขาอยู่กับที่ เราจึงอยากพาคนอื่นไปเห็นความเป็นไปได้ ความหวัง หรือแรงบันดาลใจใหม่ๆ ซึ่งเขาอาจจะเอาไปทำอะไรต่ออีกได้

          แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับความจริงให้มากขึ้นว่า เราอาจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ในรุ่นของเรา ซึ่งเศร้ามากเลยเนอะ ตอนนี้แค่คิดว่า อย่างน้อยได้ทำในสิ่งที่รู้สึกว่าโคตรทัช โคตรอิน ทำในสิ่งที่เราทำได้ แล้วถ้าการเปลี่ยนแปลงมันจะเกิด มันก็เกิดเอง แต่เราต้องไม่หยุดทำและไม่หยุดหวัง เท่านั้นแหละ ถ้าหมดหวังแล้วหยุดทำมันจะยิ่งดิ่งเข้าไปใหญ่ เรือเราอาจจะจมได้ ตอนนี้เลยพยายามให้เรือของเราลอย หรืออาจจะสร้างเรือที่ใหญ่ขึ้น เพื่อพาคนขึ้นเรือได้มากขึ้น แต่ก็ไม่รู้จะออกจากปากอ่าวได้หรือเปล่านะ (หัวเราะ)

เนาว เสาวนีย์ สังขาระ

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก