“เราไม่ได้อยู่เฉยๆ ก็มีนิสัยรักการอ่าน หรือว่างเมื่อไรก็หยิบหนังสือขึ้นมา ทุกอย่างที่เป็นเราในวันนี้ ล้วนมาจากเราในวัยเด็กทั้งนั้น”
คำพูดของลูกสาวร้านหนังสือ อย่าง เจน จงสถิตย์วัฒนา ทายาทรุ่นที่ 2 นานมีบุ๊คส์ ถ่ายทอดความเป็น นานมีบุ๊คส์ สำนักพิมพ์เพื่อการเรียนรู้ได้อย่างชัดเจน คงไม่เกินจริงสักนิดหากจะพูดว่า นานมีบุ๊คส์เป็นสำนักพิมพ์แรกที่นึกถึง เมื่อเอ่ยถึงหนังสือเด็ก นิทาน หรือวรรณกรรมเยาวชน
นานมีบุ๊คส์ก่อตั้งขึ้นในปี 2535 โดย สุวดี จงสถิตย์วัฒนา ผู้เป็นแม่ ซึ่งต่อยอดมาจาก บริษัท นานมี จำกัด ธุรกิจขายหนังสือจีนและเครื่องเขียนจากอากง ด้วยแนวคิดอยากพัฒนายกระดับการศึกษาของเด็กและเยาวชนไทย สู่องค์กรส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ตลอดชีวิต
“นานมีบุ๊คส์เริ่มจากการคุยกันว่าเราต้องการหนังสืออะไร ด้วยความที่เราต้องการพัฒนาเรื่องการศึกษา จึงเริ่มจากหนังสือเด็กและเยาวชน เพราะส่วนใหญ่โรงเรียนเต็มไปด้วยตำรับตำรา แต่ยังขาดหนังสือส่งเสริมความรู้ที่เรียนควบคู่ไปกับแบบเรียน เราจึงทำหนังสือแนวความรู้ เริ่มจากวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์”
หนังสือของนานมีบุ๊คส์เริ่มตั้งแต่เด็กแรกเกิด ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ อาจเรียกได้ว่าเป็นอาณาจักรหนังสือสำหรับทุกคนในครอบครัว ด้วยความเชื่อมั่นในพลังการอ่านและการให้ความสำคัญต่อแนวคิด lifelong learning ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าอายุเท่าไรก็สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้
“Active citizens คือตัวตนที่นานมีบุ๊คส์อยากส่งเสริม นั่นคือการรับผิดชอบต่อตัวเอง รับผิดชอบต่อสังคม มีจิตสำนึกพลเมืองที่ดี ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และมีความคิดสร้างสรรค์ อยากให้ตรงนี้เป็นพื้นฐานตัวตนของเด็กทุกคน ส่วนเด็กจะเติบโตไปเป็นแบบไหน อยากทำอะไรในชีวิตก็แล้วแต่เขา”
นานมีบุ๊คส์มีหนังสือสำหรับเด็กหลากหลายประเภทตั้งแต่แบบฝึกหัด นิทานก่อนนอน นิทานเสริมความรู้ นิทานแบบ Executive Function หนังสือที่พัฒนาทักษะสมองให้เด็กสามารถบริหารจัดการดูแลตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นความจำ การฝึกให้รู้จัการรอคอย รู้จักกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกับผู้อื่น หรือหนังสือนิทานเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต เช่น ชุด ไปสวนกับคุณย่า เป็นการเรียนรู้สร้างสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างรุ่นปู่ย่าตายายและหลาน
นอกจากนี้หนังสือทุกเล่มของนานมีบุ๊คส์ มีคำแนะนำเสมอว่าเล่มนี้สอนอะไรบ้าง ก่อนเริ่มอ่านต้องคุยกับลูกหลานอย่างไร หนังสือเล่มนี้เหมาะกับคนวัยไหน และนิทานบางเล่มมีมากกว่า 1 ภาษา ทั้งไทย จีน และอังกฤษ

“หากถามว่าหนังสือบนโลกนี้มีกี่เล่ม ก็คล้ายกับการไถ่ถามว่าบนท้องฟ้ามีดาวทั้งหมดกี่ดวง หนังสือจำนวนมหาศาลขนาดนี้คุณใช้เกณฑ์อะไรคัดเลือกว่าคนไทยต้องอ่านหนังสือแบบไหน” เราถาม
“คิดแค่ว่าสังคมไทยควรมีหนังสือประเภทไหนบ้าง มองทั้งในแง่ความบันเทิง วิชาการ ความรู้ เช่นเรื่อง sex education ในตลาดหาหนังสือแนวนี้ยากมาก พ่อแม่ก็รู้สึกเหนียมอายเมื่อคุยกับลูก รวมไปถึงคุณครูก็ไม่รู้จะคุยอย่างไร
ยกตัวอย่างหนังสือชื่อ ร่างกายของฉัน ฉันดูแลได้! ของ ซินดี้ สิรินยา เป็นหนังสือที่พูดคุยเรื่องสิทธิร่างกายของเด็ก เพื่อให้เด็กรู้จักร่างกายตัวเอง รู้วิธีดูแลสุขภาพ และการยินยอมเป็นแบบไหน
“ดังนั้นการเลือกหนังสือจึงเป็นความรู้สึกที่เราต้องการสะท้อนหรือขับเคลื่อนสังคมในแง่ไหน เช่น ในแง่สังคมจะเป็นหนังสือวรรณกรรมที่ได้รับรางวัลโนเบล เราคิดว่ามันเป็นการเข้าใจสังคมในแต่ละวัฒนธรรม มีการใช้ภาษาที่สวยงาม แต่บอกตรงๆ ว่าขายไม่ค่อยดี แต่ก็ยอมเสี่ยงเพื่อให้คนไทยได้อ่านหนังสือดีๆ”
นอกจากหนังสือเด็กและเยาวชน สิ่งที่นานมีบุ๊คส์ให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือเรื่อง ‘Empowered Women’ เช่น หนังสือ 100 เรื่องเล่าของผู้หญิงเปลี่ยนโลก (Good Night Stories for Rebel Girls) เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กผู้หญิง แม้จะเป็นคนเล็กๆ แต่สามารถเป็นอะไรในแบบที่อยากเป็นได้ เช่น เจน ออสเตน (Jane Austen) นักเขียน โครา โคราลีนา (Cora Coralina) กวีและคนอบขนม หรือ เจสสิกา วัตสัน (Jessica Watson) กะลาสีผู้หญิงคนแรก
“พอเราเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น คนอ่านน้อยลงเพราะยุ่งกับการเรียนบ้าง มีสังคมของตัวเองบ้าง พอกลับมาอ่านอีกทีก็เป็นหนังสือสำหรับผู้ใหญ่แล้ว เลยมาคิดกันว่าจะสร้างสะพานตรงนี้อย่างไร จึงนำไปสู่การวิจัยว่าคนวัยนี้ชอบหนังสือแบบไหน พร้อมกลับมาถามตัวเองว่าตอนวัยรุ่นเราเป็นอย่างไร มันเป็นช่วงค้นหาตัวเองว่าชีวิตนี้เกิดมาเพื่ออะไร หรือคนที่ทำงานมาเหนื่อยๆ ทั้งเรื่องความรัก เรื่องชีวิต ก็สามารถอ่านได้ เช่น หนังสือ พักให้ไหว ค่อยไปต่อ เราคิดว่ามันเหมาะกับบริบทของคนสมัยนี้ เพราะเราอยู่กับตัวเองมากขึ้นและต้องการกำลังใจ”
ปี 2563 Bloom สำนักพิมพ์น้องใหม่ จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นเพื่อนร่วมทางในช่วงชีวิตที่กำลังจะเบ่งบาน การเปิดตัวครั้งนี้นับเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ของนานมีบุ๊คส์ เพราะหนังสือส่วนใหญ่คือหนังสือเด็กและเยาวชนเป็นหลัก
ถัดจากสำนักพิมพ์น้องใหม่อย่าง Bloom แล้ว นานมีบุ๊คส์ได้เปิดตัวสำนักพิมพ์น้องรักชื่อ AMICO มาติดๆ เพราะต้องการขยายกลุ่มคนอ่านการ์ตูน หนังสืออ่านง่าย ด้วยเป้าหมายอยากขับเคลื่อนให้ทุกเพศทุกวัยอ่านหนังสือ ไม่ว่าจะการ์ตูนหรือหนังสืออะไรก็ได้พร้อมขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายทางเพศ เช่น หยุดหัวใจไว้ที่นาย (Heartstopper) เป็นหนังสือการ์ตูนบอยเลิฟ ที่ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหนก็สามารถมีความรักที่สวยงามได้
“เด็กไม่ได้อ่านหนังสือน้อยลง แต่พวกเขาเข้าถึงหนังสือไม่ได้ต่างหาก เรามองว่านิสัยรักการอ่าน ครอบครัวและโรงเรียนมีส่วนสำคัญมาก เพราะวัยเด็กส่วนใหญ่เราอยู่แค่สองสถานที่นี้ ดังนั้นจึงต้องส่งเสริมการอ่านตั้งแต่รั้วโรงเรียน และเด็กจะหาอ่านหนังสือจากไหน ถ้าไม่ใช่ห้องสมุด
“ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถซื้อหนังสือเป็นสิบๆ เล่มต่อปีได้ บางคนต้องพึ่งพาการยืมหนังสือที่ห้องสมุด เพราะฉะนั้นเราจึงหวังให้ทางโรงเรียนหรือทางรัฐบาลมีงบประมาณซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด ด้านครอบครัวเรามองว่าพ่อแม่สมัยนี้ให้ความสำคัญกับการอ่านมากขึ้น แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำในสังคม ครอบครัวที่มีเงินก็สามารถซื้อได้ ขณะที่บางครอบครัวไม่มีเงินซื้อ
“นับตั้งแต่เราเปิดบริษัทก็ให้ความสำคัญกับเรื่องหนังสือในโรงเรียนมาตลอด มีการให้คำแนะนำว่าควรซื้อหนังสือแนวไหน มีการจัดอบรมครูเพื่อนำหนังสือไปใช้กับนักเรียน และอบรมพ่อแม่ว่าควรอ่านหนังสือให้ลูกฟังอย่างไร”

‘Nanmeebooks Reading Club’ จึงเกิดขึ้นควบคู่การส่งเสริมการอ่าน เพื่อเป็นกลไกให้เด็กอ่านหนังสือ เพราะหลายครั้งโรงเรียนไม่ซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดเพราะคิดว่าไม่มีใครหยิบอ่าน จึงกลายเป็นวงจรดังกล่าว หากนักเรียนคนไหนสามารถอ่านหนังสือครบ 10-12 เล่มภายในระยะเวลา 1 เทอม ก็จะได้รางวัลนักอ่าน ส่วนโรงเรียนที่ส่งเสริมจะได้รับรางวัลเช่นกัน ตอนนี้มีผู้เข้าร่วมแล้วกว่า 19 ล้านคน
จากเดิมเป็นบันทึกการอ่าน ปรับเปลี่ยนสู่การเป็น ‘BookTuber’ ให้เด็กและเยาวชน ถ่ายคลิปลง Facebook YouTube อัดพอดแคสต์เล่าเรื่องเกี่ยวกับหนังสือที่อ่าน นอกจากนี้ ยังเชิญวิทยากรมาอบรมการเขียนคอนเทนต์ให้เด็กและเยาวชนอีกด้วย
“เรามองว่าการอ่านสำหรับเด็กสำคัญมาก เราโตมากับการอ่านแต่ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ชอบการอ่าน หรือหยิบหนังสือมาอ่านมันเริ่มจากที่คุณแม่อ่านหนังสือให้ฟังก่อนนอน แต่ละคืนก็อ่านวันละบทสองบท ตอนนั้นอายุประมาณ 8-9 ขวบ อ่าน บันทึกลับของแอนน์ แฟร้งค์ พอคุณแม่อ่านจบ เราก็มีความรู้สึกว่า อยากรู้จังพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น จึงทำให้มีนิสัยรักการอ่าน
“ยิ่งอ่านแต่เด็กยิ่งดี การที่เราโฟกัสการอ่านหน้าต่อหน้าช่วยเรื่องสมาธิ อีกเรื่องคือการคิดวิเคราะห์ อย่างโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ Programme for International Student Assessment (PISA)
“ทักษะการอ่านเป็นหนึ่งในข้อสอบ เด็กไทยสอบเกือบได้ที่โหล่ โดยเฉพาะเรื่องการอ่าน literacy ซึ่งเชื่อมโยงกับ digital literacy การอ่านออนไลน์ เขาบอกว่าถ้าเราอ่านหนังสือเยอะเท่าไรก็จะทำให้ digital literacy ดีขึ้น คือรู้ว่าต้องหาข้อมูลต่อที่ไหนอย่างไร รู้ว่าอันไหนข้อมูลจริง ข้อมูลปลอม เพราะฉะนั้นถ้าจะฝึกทักษะเหล่านี้ ต้องฝึกอ่านให้เก่งก่อน
“เรามองว่าทักษะการอ่านเป็นทักษะของชีวิตเลย วัยเด็กเป็นวัยที่กำลังเติบโตพัฒนา นิสัยหลายๆ อย่างที่เราเป็นทุกวันนี้เริ่มจากตอนเด็ก หากอยากจะสร้างเสริมนิสัยอะไรก็ตาม ควรทำในวัยเด็กจะดีที่สุดเพราะเป็นช่วงที่กำลังเรียนรู้”
ไม่ใช่แค่พิมพ์หนังสือ ไม่ใช่แค่ทำงานร่วมกับโรงเรียนและองค์กรนานาชาติ แต่นานมีบุ๊คส์ยังให้การสนับสนุน สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อหนังสือบริจาคผ่านโครงการ ‘มอบอนาคต มอบหนังสือ’ โครงการที่สมทบทุนให้อีกเท่าจากยอดบริจาค เช่น มีงบประมาณหนึ่งพันบาทแล้วอยากบริจาคหนังสือ นานมีบุ๊คส์จะสมทบให้อีกหนึ่งพันบาทร่วมบริจาคและจัดส่งหนังสือไปยังปลายทางให้ หากไม่รู้จะบริจาคให้โรงเรียนไหน นานมีบุ๊คส์ก็อาสาเป็นธุระพร้อมประสานงานเสร็จสรรพ
นอกจากส่งเสริมการอ่านแล้ว นานมีบุ๊คส์ยังสนับสนุนส่งเสริมงานเขียนคนไทย ผ่านรางวัล ‘แว่นแก้ว’ ที่ค้นหานักเขียนรุ่นใหม่มาเขียนหนังสือและตีพิมพ์ผ่านสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์อีกด้วย
สามสิบกว่าปีผ่านไป จากสำนักพิมพ์เล็กๆ สู่อาณาจักรหนังสือครอบครัว ที่คนส่วนใหญ่มักรู้จักและจดจำ นานมีบุ๊คส์ ฐานะผู้แปลและถือลิขสิทธิ์ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาษาไทย และเป็นผู้บุกเบิกการ์ตูนเสริมความรู้จนกลายเป็นหนังสือคู่ชั้นในห้องสมุดโรงเรียนไปโดยปริยาย มาวันนี้นานมีบุ๊คส์ก็ไม่หยุดที่จะเรียนรู้และปรับตัว ยังคงเดินหน้าส่งเสริมการอ่านและเสริมสร้างการเรียนรู้ไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่แค่หน้าหนังสืออีกต่อไป

‘Rain Tree Residence’ โรงแรมวรรณกรรมจึงถือกำเนิดขึ้น
“เราผันตัวเองจากสำนักพิมพ์สู่บริษัทที่ส่งเสริมการเรียนรู้ จริงๆ โรงแรม Rain Tree Residence เปิดมาสิบกว่าปีแล้ว โดยเป็นศูนย์การเรียนรู้ เพราะเราเชื่อในการเรียนรู้นอกห้องเรียน ตั้งแต่สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์เกิดขึ้นเราก็มีค่าย ‘Go Genius Learning Center’ จัดอบรม จัดสัมมนามาตลอดจนมีลูกค้าถามว่าทำไมไม่เปิดเป็นโรงแรมไปเลย เพราะบางครั้งไม่อยากเดินทางไปพักที่อื่น จึงเปิดเป็นโรงแรมเต็มรูปแบบ โดยคงคอนเซ็ปต์เดิมคือเป็นศูนย์การเรียนรู้
“เรานำตัวตนของนานมีบุ๊คส์มาเป็นตัวตนของ Rain Tree Residence ทุกห้องจะมีหนังสือให้อ่าน ตกแต่งด้วยธีมหนังสือและธีมนักเขียน เช่น ห้องเปาโล โคเอลโญ (Paulo Coelho) ห้องสุมาลี บำรุงสุข นักแปล แฮร์รี่ พอตเตอร์ นอกจากนี้ ยังมีห้องสมุดในโรงแรมที่เปิดให้คนเข้าพักหยิบยืมอ่าน และมีสเตชันให้เด็กๆ เรียนรู้นอกห้องเรียนอีกด้วย เช่น เกลียวอาร์คิมีดีส (Archimedes’ screw)
“การที่ครอบครัวได้ใช้ชีวิตร่วมกัน เป็นการสร้างจิตใจที่ดีของเด็ก เยาวชน รวมไปถึงพ่อแม่ เราจัดกิจกรรมให้เขาได้ใช้เวลาร่วมกัน อ่านหนังสือด้วยกัน ส่งเสริมการอ่าน ลูกค้าบางคนที่มาเขาบอกเราว่าไม่ได้หยิบหนังสือมาอ่าน 5 ปีแล้ว จนมาเห็นหนังสือที่ห้องเลยเปิดอ่าน กลายเป็นว่าตอนนี้วางไม่ลง”
หลายคนอาจมองว่านานมีบุ๊คส์หันไปทำธุรกิจโรงแรม แต่เธอยืนยันหนักแน่นกับเราว่า ด้านหนึ่งการทำโรงแรมก็เป็นธุรกิจการศึกษาซึ่งปลายทางเป้าหมายต้องการเสริมสร้างการอ่านและ active citizens
“แวดวงหนังสือตอนนี้ เราไม่รู้ว่ามันเป็น sunset หรือ sunrise เพราะสำนักพิมพ์เปิดใหม่เยอะมาก แต่ละคนมีแนวทางของตัวเอง ทำให้บรรยากาศการอ่านมันกลับมาครึกครื้นอีกครั้ง หนังสือในตลาดก็หลากหลายขึ้น เรารู้สึกดีใจที่มีเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วยกันเยอะขึ้น อยากให้ทุกคนเชื่อมั่นและส่งเสริมการอ่านไปด้วยกัน เราเชื่อว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นหนึ่งในหนังสือที่พลิกวงการหนังสือไทย และแสดงให้เห็นว่าถ้ามีหนังสือที่สนุก คนก็จะกลับมาอ่าน เลยอยากให้ประเทศนี้มีหนังสือที่ดี เพื่อให้คนไทยกลับมารักการอ่านอีกครั้ง”
