ชลิพา ดุลยากร : insKru แพลตฟอร์มการศึกษาที่มุ่งเปลี่ยนความเชื่อของครู

649 views
5 mins
April 14, 2023

          ว่ากันว่าการผสมกันของสองศาสตร์จะทำให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ใครจะไปคิดว่าการผสมผสานความรู้ด้านการออกแบบจากสาขาสถาปัตยกรรมเข้ากับความรู้ด้านศึกษาศาสตร์จะทำให้เกิดรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ๆ หรือยิ่งไปกว่านั้นคือแปรเปลี่ยนวัฒนธรรมอำนาจนิยมเดิมๆ ที่เริ่มต้นจากห้องเรียน

          นะโม – ชลิพา ดุลยากร ผู้ร่วมก่อตั้ง insKru ไม่ได้เรียนจบมาทางด้านศึกษาศาสตร์หรือครุศาสตร์ แม้การเป็นครูจะเคยเป็นความฝันในวัยเด็ก แต่ ‘ภาพจำ’ บางอย่างก็ทำให้เธอตัดสินใจเบนเข็มไปเรียนด้านสถาปัตยกรรมอุตสาหการที่หัวใจแท้จริงคือเรื่องของการ ‘ออกแบบ’ ไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์ อาคารบ้านเรือน แต่รวมทั้งชีวิต หรือแม้กระทั่งห้องเรียน ระบบการศึกษา และวัฒนธรรม

          “การออกแบบเปลี่ยนสังคม เปลี่ยนโลกได้เลยนะ”

          คำพูดของอาจารย์ในวันที่นะโมเกือบเปลี่ยนใจย้ายคณะจากสถาปัตยกรรมอุตสาหการ ไปคณะจิตวิทยาตามความสนใจของเธอ เพราะมองว่าการออกแบบที่เห็นโดยทั่วไปเป็นวิธีการสร้างสิ่งมัวเมาให้คนหลงอยู่แต่ความสวยงาม แต่หากคิดให้ลึกลงไปถึงแก่นแล้ว วิชาสถาปัตยกรรมนั้นคือการสอนกระบวนการออกแบบ และเมื่อเข้าใจศาสตร์และศิลป์ของสถาปัตยกรรมในแง่นี้แล้ว เราจะออกแบบเพื่อสร้างสรรค์หรือแก้ปัญหาสิ่งใดก็ย่อมได้

          รวมทั้ง ‘ชีวิต’ ของเธอเอง และ ‘การศึกษา’ ที่เป็นความสนใจในชีวิตเธอ

          ในท้ายที่สุด นะโมเรียนจบปริญญาตรีสาขาสถาปัตยกรรมอุตสาหการ จากนั้นเธอก็มุ่งมั่นผลักดันตัวเองเข้าสู่แวดวงการศึกษาตามตั้งใจ โดยเริ่มต้นที่ Teach For Thailand (T4T) องค์กรที่มีเครือข่ายอยู่ในหลายประเทศ ทำหน้าที่บ่มเพาะครูดีมีคุณภาพให้กระจายไปอยู่ตามโรงเรียนต่างๆ โดยนะโมได้เข้าทำงานแรกในฐานะครูประจำโรงเรียนรัฐแห่งหนึ่งของโครงการนี้ และเป็นจุดเริ่มต้นให้คนที่มีความสนใจด้านการศึกษาแต่ไม่ได้จบครุศาสตร์ดังเช่นเธอและอีกหลายคนได้เข้ามาขลุกอยู่กับการศึกษาอย่างเต็มตัว ได้รับประสบการณ์การสอนจริงๆ และเริ่มรู้จักกับผู้คนที่สนใจเรื่องการศึกษาเช่นกัน

          แม้เธอจะสนุกกับช่วงเวลาการเป็นครูมาก แต่นะโมก็ตัดสินใจเดินออกมาจากโรงเรียน ด้วยเหตุผลว่าในบทบาทของครูนั้น เธอสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้มากนัก หนำซ้ำยังอาจทำให้ครูทำงานยากขึ้น เมื่อเด็กนักเรียนหลายคนไม่อยากเรียนกับครูที่สอนด้วยวิธีการเดิมๆ อีกต่อไป สิ่งที่เธอค้นพบในวันที่ก้าวออกมาทำให้เธอมองว่าเธอจะต้องทำงานร่วมกับครู และจะต้องหาทางทำให้ครูสามารถสร้างห้องเรียนที่มีความสุขให้ได้ เพราะถึงอย่างไรสุดท้ายครูก็ต้องอยู่กับนักเรียนอยู่ดี

          insKru จึงเกิดขึ้นจากความคิดตอนนั้น ว่าเธออยากหาหนทางให้ครูสร้างห้องเรียนที่มีความสุขได้ เพื่อที่ทั้งครูเองจะมีความสุขในการสอน และนักเรียนเองก็ได้เรียนรู้อย่างสนุก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้อีกด้วย

          นะโมเริ่มนำกระบวนการออกแบบมาประยุกต์ใช้ในการสร้างพื้นที่อย่างแพลตฟอร์ม insKru ด้วยความที่การออกแบบให้ความสำคัญกับเรื่อง User Experience (UX) หรือประสบการณ์ผู้ใช้งานเป็นหลักอยู่แล้ว มีลำดับขั้นตอนพื้นฐานที่ประยุกต์ใช้ได้ไม่ว่าจะเป็นการทำนิทรรศการ อีเวนต์ หรือแม้กระทั่งห้องเรียน เช่น เราจะเริ่มสร้างความสนใจตั้งแต่เดินเข้าห้องเรียนอย่างไร ระหว่างการสอนต้องสัมพันธ์กับนักเรียนอย่างไร และตอนท้ายจะทำอย่างไรให้นักเรียนจดจำ ทั้งหมดนี้กระบวนการออกแบบแนะแนวทางมาเป็นลำดับขั้นตอน สามารถนำไปใช้กับการออกแบบการเรียนการสอนได้เลย

          “insKru ย่อมาจาก inspire Kru ถามว่าใครเป็นคนอินสไปร์ หรือสร้างแรงบันดาลใจให้ครู… ก็ครูกันเองนี่แหละอินสไปร์กันเอง เราแค่เปิดพื้นที่ให้เขามาเจอกันเท่านั้น”

          นะโมเล่าถึงที่มาของชื่อที่เธอบอกว่าเธอไม่อาจหาญจะเป็นผู้ออกแบบการเรียนการสอนให้ใครได้ ไม่ใช่แค่เพราะว่าเธอไม่ได้จบมาทางด้านนี้โดยตรง แต่เป็นเพราะเธอเชื่อว่าครูทุกคนมีประสบการณ์น่าสนใจเป็นของตัวเอง และสิ่งที่เป็นเป้าหมายของ insKru แท้จริงแล้วไม่ใช่บันทึกหลักสูตรการเรียนการสอน แต่คือการสร้างคอมมูนิตี้เพื่อทำให้การแลกเปลี่ยนเป็นเทรนด์ และสามารถเปลี่ยนวัฒนธรรมที่เคยเป็นมา จากที่เชื่อว่าวิธีการเรียนการสอนมีรูปแบบเดียวให้กลายเป็นวัฒนธรรมการจัดการเรียนการสอนที่มีหลากหลายรูปแบบในท้ายที่สุด

ชลิพา ดุลยากร : insKru แพลตฟอร์มการศึกษาที่มุ่งเปลี่ยนความเชื่อของครู
Photo : insKru

          วิธีการของ insKru นั้นแสนจะเรียบง่าย นั่นคือการเปิดพื้นที่ให้คนมาต่อยอดไอเดียของกันและกัน เหมือนที่เธอเองก็มักได้ไอเดียใหม่ๆ จากแพลตฟอร์มอื่นๆ ในการสร้างสรรค์งานออกแบบ เธอเชื่อว่าไอเดียดีๆ ไม่ต้องรอ แต่เราสามารถเชื่อมต่อกับคนอื่นเพื่อให้เกิดไอเดียที่ดียิ่งขึ้นได้

          “คนเราแชร์ประสบการณ์กันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่โดยทั่วไปเราจะเห็นกันในรูปแบบเสียงบ่นมากกว่า ครูบ่นกันว่าไม่ไหวแล้ว เครียด มันก็ไม่เฮลตี้เท่าไร แต่พอเราแค่ออกแบบพื้นที่นี้ว่าให้มาแชร์วิธีการที่ใช้ได้ผลกัน มันก็กลายเป็นไกด์ไลน์คร่าวๆ ว่าเราจะคุยอะไรกันในพื้นที่นี้ ตอนนี้แทบไม่มีเสียงบ่น มีแต่คนช่วยกันคิด ช่วยกันแชร์ว่าทำยังไงให้ดีขึ้นได้บ้าง พื้นที่นี้ทำให้เราเห็นว่าท่ามกลางความยาก เรามีครูเจ๋งๆ เยอะมาก เป็นแสงสว่าง เป็นความหวัง…

          “ถ้าเราแชร์เรื่องลบ มันจะไม่เกิดผลอะไรเลย แต่พอเราแชร์เรื่องบวก มันเบนเข็มเป้าหมายของการพูดคุยใหม่ อันนึงพูดถึงปัญหา อีกอันมุ่งหาทางออก”

          นะโมเล่าต่อว่าเมื่อออกแบบพื้นที่ง่ายๆ เป็นธรรมชาติที่สุด สุดท้ายผู้คนจะเข้ามาสัมพันธ์กันเอง จะแชร์กันเอง และยิ่งเขาแชร์เรื่องดี มีประโยชน์มากเท่าไร ก็ได้ฟีดแบ็กดีเท่านั้น เขาก็จะยิ่งภูมิใจ มีตัวตนในพื้นที่นี้ โดยที่เธอและทีมงานแทบไม่ต้อง ‘กำกับ’ หรือ ‘ควบคุม’ อะไรเลย สมาชิกใน insKru ต่างช่วยกันทำหน้าที่รีพอร์ตเนื้อหาที่ไม่ใช่กันเอง เพราะถ้าเธอถือไม้บรรทัดคอยคุม สุดท้ายแล้วคนที่อยู่ในแพลตฟอร์มนี้ก็จะไม่รู้สึกว่านี่คือที่ของเขา ไม่รู้สึกถึงความเป็นอิสระในการคิดและการแลกเปลี่ยน – ไม่ต่างจากห้องเรียน

          แม้ทุกวันนี้ชื่อ insKru จะเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัปด้านการศึกษาที่ถูกจับตามองมากที่สุด ได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุนหลายแห่ง เช่น โครงการ “ดีแทคพลิกไทย” ที่ทำให้ insKru สามารถจัดเวิร์กชอปร่วมกับครูและเปิดให้ครูได้มาเจอกันจริงๆ มาแล้วหลายครั้ง อีกทั้งยังได้รับเลือกให้เป็น EdTech Startup รุ่นแรกของ StormBreaker Venture โครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัปด้านการศึกษาโดยบริษัทร่วมลงทุนหรือเวนเจอร์แคปิตอลหลายแห่ง ซึ่งนะโมบอกว่ามีส่วนช่วยผลักดันให้ insKru เติบโตทางธุรกิจมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจได้ว่าพื้นที่แห่งนี้จะอยู่ด้วยตนเองได้ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม insKru ก็ยังเผชิญกับความท้าทาย โดยเฉพาะในเรื่องการประเมินผลกระทบ (Impact Assessment) ว่าจะพิสูจน์อย่างไรให้เห็นว่าแพลตฟอร์มนี้สร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยแค่ไหน

          “ในมวลความรู้สึกเรามันยิ่งใหญ่มากๆ เลยนะ แต่เราไม่รู้จะตีค่ามันออกมายังไง”

          การประเมินผลกระทบเชิงบวกน่าจะเป็นความท้าทายของนักสร้างการเปลี่ยนแปลงหลายคนหลายองค์กร ในกรณีของ insKru ข้อมูลตัวเลขที่พอจะแสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ เช่น จำนวนการดาวน์โหลดไอเดียวิธีการเรียนการสอนเกือบ 8 พันไอเดีย จำนวนห้องเรียนที่นำไปใช้มากกว่า 1 แสนห้องเรียน สมาชิกเพจเฟซบุ๊กที่มีมากกว่า 2 แสนคน และสมาชิกกลุ่มเฟซบุ๊ก (ครูปล่อยของ) กว่า 1 แสนคน อาจบ่งบอกถึงความสำเร็จในเชิงปริมาณได้ แต่ไม่สามารถบอกถึงมวลพลังงาน และแรงกระเพื่อมที่เกิดจากกำลังใจที่ครูส่งต่อให้กันได้ หรือแม้กระทั่งการสร้างเทรนด์ใหม่ที่อาจต้องใช้เวลาหลายสิบปีในการพิสูจน์

          ถึงแม้จะเป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ว่า insKru จะเป็นผู้สร้างเทรนด์และเปลี่ยนวัฒนธรรมหรือความเชื่อของครูได้จริงตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ แต่สิ่งที่สามารถยืนยันได้ชัดจากปากคำครูหลายคน ก็คือ ถ้าหากไม่มีพื้นที่อย่าง insKru คงเป็นเรื่องยากมากที่จะได้เห็นแนวคิดและวิธีจัดการเรียนการสอนใหม่ๆ หรือเทรนด์ใหม่ๆ ของการศึกษา เพราะตั้งแต่ insKru เริ่มปรากฏตัวในแวดวงการศึกษา ได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นแล้ว ซึ่งแตกต่างไปจากที่เคยเป็นมา

          ในขณะที่ insKru เปิดพื้นที่ให้ครูได้มาแลกเปลี่ยนไอเดียการสอน ในทางกลับกัน insKru เองก็ได้เรียนรู้จากพื้นที่ที่เปิดให้นักการศึกษามาเจอกันอย่าง TEP Forum หรือก่อการครู ทำให้ได้พบกับเพื่อนพ้องผู้คนที่สนใจประเด็นการศึกษา อย่างเช่นกลุ่ม TED Club, Deschooling, A-chieve, Blackbox ซึ่งกลายเป็นมิตรภาพอันเหนียวแน่นระหว่างนักสร้างการเปลี่ยนแปลง คอยแลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายทอดกำลังใจให้กันและกัน

          “สิ่งที่เราอยากทำมันยาก มันท้าทาย การมีเพื่อนร่วมคิดร่วมคุยมันช่วยได้มาก มันทำให้เห็นทั้งความหวังและเติมพลังให้กันด้วย”

          สำหรับนะโม การทำแพลตฟอร์มอย่าง insKru นั้นยังไม่ยากเท่ากับการ “สู้กับวัฒนธรรมเก่า” ในความหมายที่ว่าสิ่งใดดีอยู่ก็เก็บไว้ แต่หากวัฒนธรรมหรือการปฏิบัติแบบไหนที่ไม่สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ก็ควรจะต้องปรับเปลี่ยน

          นะโมมองว่าเป็นเรื่องปกติที่จะมีคนที่ยังเชื่อในแนวทางการเรียนการสอนแบบเดิม ซึ่งจัดการได้ง่ายเพราะเคยทำเคยปฏิบัติกันมาจนคุ้นชิน แต่การได้ทำ insKru มาหลายปีทำให้เธอพบว่ามีครูอีกจำนวนมากที่เชื่อว่าการเรียนรู้คือเรื่องของความสัมพันธ์ เชื่อว่าเด็กมีศักยภาพที่จะเรียนรู้ด้วยตัวพวกเขาเองได้ และครูกลุ่มนี้นี่แหละเป็นคอมมูนิตี้ที่เธอตั้งใจจะเข้าไปช่วยขับเคลื่อน เพื่อร่วมขยับเขยื้อนก้อนหินเก่าที่ขัดขวางการเรียนรู้อย่างเป็นอิสระของผู้คนไปด้วยกัน


บทความนี้ปรับปรุงจากการสัมภาษณ์ในรายการ Coming to Talk เผยแพร่ครั้งแรกทาง TK Podcast เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2562 ฟังบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่ https://www.thekommon.co/comingtotalk-ep37/

ที่มา

Cover Photo : insKru

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก