โรงเรียนของหนูอยู่ในพิพิธภัณฑ์ เมื่อสองแหล่งเรียนรู้มาบรรจบกันท่ามกลางวิกฤติ

934 views
8 mins
December 13, 2021

          หลายปีที่ผ่านมา การเรียนรู้เชิงศิลปะวัฒนธรรมเป็นมิติหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงมากขึ้น ในฐานะส่วนหนึ่งของการสร้างประสบการณ์เรียนรู้ที่หลากหลาย รายงานการศึกษาวัฒนธรรมในอังกฤษ เรียกร้องให้ผู้ปฏิบัติงานด้านศิลปะเข้าถึงและเชื่อมโยงกับโรงเรียนต่างๆ มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้เด็กทุกคนได้ออกไปยังแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เพื่อซึมซับประสบการณ์ด้านศิลปะวัฒนธรรม ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มความมั่นใจและความนับถือตนเองของเด็ก

          อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา หนึ่งในผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแวดวงการศึกษา คือการที่สถานศึกษารวมถึงพื้นที่การเรียนรู้ต่างๆ ต้องปิดให้บริการ พื้นที่ที่ต้องอาศัยปฏิสัมพันธ์เชิงกายภาพอย่างพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด แกลลอรี รวมถึงการเรียนรู้ในห้องเรียน จำเป็นต้องเปลี่ยนไปสู่โหมดออนไลน์มากขึ้น ข้อดีคือทำให้ขอบเขตการเรียนรู้ไม่ถูกจำกัดด้วยสถานที่และเวลา แต่อีกด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเรียนรู้บางประเภทแม้จะสามารถทำได้ผ่านระบบออนไลน์ แต่ประสิทธิผลที่ได้รับ นับว่ายังไม่ทัดเทียมกับการได้ไปสัมผัสเรียนรู้จากสถานที่จริง

          หนึ่งในแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจที่อาจช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ คือการผนวกรวมแหล่งเรียนรู้สองประเภท คือโรงเรียน และพิพิธภัณฑ์ เข้าไว้ด้วยกัน ตั้งต้นจากปัญหาการขาดแคลนสถานที่เรียนของเด็กด้อยโอกาสในหลายพื้นที่ ประกอบกับความท้าทายในการดึงดูดและเพิ่มฐานผู้ใช้บริการของพิพิธภัณฑ์ในชุมชน การนำสองสิ่งนี้มาควบรวมกันภายใต้การออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสม จึงอาจเป็นคำตอบที่คนในแวดวงการศึกษาทั่วโลกกำลังมองหา

          สำรวจเบื้องหลังแนวคิด ‘โรงเรียนในพิพิธภัณฑ์’ พร้อมกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ ทั้งในอังกฤษ อินเดีย และสหรัฐอเมริกา

โรงเรียนประถมของฉันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์

           โรงเรียนประถมของฉันอยู่ในพิพิธภัณฑ์ (My Primary School is at the Museum: MPSM) เป็นโครงการเพื่อทดสอบสมมุติฐานว่าสภาพแวดล้อมมีผลต่อการเรียนรู้ รวมถึงการเรียนรู้ด้านสังคมและวัฒนธรรมจะเป็นประโยชน์สำหรับเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาและครอบครัว ตลอดจนอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับพิพิธภัณฑ์ในแง่การเพิ่มฐานลูกค้าและแหล่งเงินทุน โดยทดลองให้เด็กๆ ได้รับการศึกษาเต็มเวลาในพิพิธภัณฑ์

          แนวคิดนี้เกิดขึ้นโดยสถาปนิก Wendy James ร่วมกับ Department of Education & Professional Studies และ Cultural Institute at King’s College London โดยย้อนไปเมื่อปี 2006-2007 ขณะที่เวนดี้กำลังทำงานในชนบทใกล้กับอาสนวิหารเก่าแก่แห่งหนึ่ง เธอพบว่าในพื้นที่แห่งนี้ บรรดาผู้ปกครองต่างมีความกังวลเกี่ยวกับความขาดแคลนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์กีฬาในร่ม แต่เวนดี้กลับมองต่างจากนั้น

          “พวกคุณมีทุกอย่างทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ที่สวยงามที่สุดเท่าที่จะจินตนาการได้ ท่ามกลางพื้นที่กลางแจ้งสุดลูกหูลูกตา”

          เวนดี้เป็นคุณแม่ลูกสามที่สนใจวิธีสร้างการเรียนรู้ในเด็ก เช่น กลยุทธ์การคิดด้วยภาพ (Visual Thinking Strategies) คือ การใช้ภาพเข้ามาช่วยในกระบวนการออกแบบความคิดด้วยมุมมองใหม่ๆ เธอเริ่มฝันถึงการสร้างโรงเรียนในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างหลากหลาย ควบคู่ไปกับการทำงานในฐานะสถาปนิกที่เชี่ยวชาญในการทำโครงการด้านวัฒนธรรม

          ทั้งนี้ ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร คือการขาดแคลนโรงเรียนประถมศึกษาในบางพื้นที่ ร่วมกับปัญหาการขาดทุนของพิพิธภัณฑ์ จนหลายแห่งจนต้องปิดตัวลง เวนดี้จึงเริ่มคิดถึงแนวทางที่อาจเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ คือการใช้พิพิธภัณฑ์ที่เต็มไปด้วยสมบัติล้ำค่าของสาธารณะ มาดัดแปลงโรงเรียนประถมขนาดเล็ก โดยหวังว่าทั้งสองสิ่งนี้อาจช่วยเติมเต็มกันและกันได้ ข้อดีของพิพิธภัณฑ์คือมีอาคารที่ก่อสร้างอย่างมั่นคงแข็งแรง หลายแห่งสามารถปรับปรุงหรือขยายเพิ่มเติมได้โดยสะดวก รวมถึงมีบุคลากรที่ช่วยบริหารจัดการได้

          ความตั้งใจของเธอเป็นรูปเป็นร่างมากยิ่งขึ้น ผ่านการสนับสนุนของ Cultural Institute at King’s College London มีการพัฒนาแนวคิดและแผนการดำเนินการเพื่อออกแบบแผนงานนำร่องอย่างละเอียด ร่วมกับเจ้าหน้าที่วิจัยจากกรมสามัญศึกษาและการศึกษาวิชาชีพ โดยมีโรงเรียนประถมศึกษาสองแห่ง และสถานรับเลี้ยงเด็กจาก Tyne & Wear, Swansea และ Liverpool ที่เข้าร่วมโครงการทดลอง จัดให้มีการเรียนเต็มเวลาที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหนึ่งภาคการศึกษา เพื่อให้เด็กได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากการไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เป็นครั้งคราว

บรรยากาศการเรียนภายใน National Waterfront Museum Swansea
Photo : http://www.garbersjames.com/
บรรยากาศการเรียนภายใน National Waterfront Museum Swansea
Photo : http://www.garbersjames.com/

          Katherine Bond ผู้อำนวยการ Cultural Institute at King’s College London กล่าวว่า โครงการนี้เป็นเหมือนการสำรวจไปในตัวด้วยว่า พิพิธภัณฑ์ควรทำหน้าที่เป็นห้องเรียนสำหรับเด็กมากขึ้นหรือไม่ ขณะที่ Scott Brown หัวหน้าโรงเรียนประถม Hadrian ซึ่งย้ายชั้นเรียนของนักเรียนอายุ 9 และ 10 ขวบ 29 คนไปเรียนยังพิพิธภัณฑ์ Arbeia Roman Fort กล่าวว่า “ผมคิดว่าโครงการนี้มีผลอย่างมากต่อเด็กๆ ในการช่วยเปิดหูเปิดตาของพวกเขาว่าประวัติศาสตร์สามารถให้อะไรได้บ้าง ไม่เพียงแต่ในด้านการศึกษา แต่ยังรวมถึงสิ่งเร้าใจและความบันเทิงอื่นๆ ด้วย”

          นอกจากนี้ เด็กๆ อายุ 4-5 ขวบ จำนวน 50 คนจากโรงเรียนประถมเซนต์โทมัส ได้ทดลองใช้พิพิธภัณฑ์ริมน้ำแห่งชาติของเมืองเป็นห้องเรียนในลักษณะเดียวกัน Laura Luxton ครูของพวกเขากล่าวว่า “เด็กๆ ได้ประโยชน์มากมายจากการทดลองนี้ ทักษะทางสังคมและการพูดของพวกเขาพัฒนาขึ้นในเวลาอันสั้น” ส่วนเด็กเล็กจากศูนย์เด็กเคนซิงตันในลิเวอร์พูล ใช้หอศิลป์เทต ลิเวอร์พูล เป็นสถานที่เรียน และสนุกกับการเยี่ยมชมแกลเลอรีเพื่อหาแรงบันดาลใจสำหรับงานศิลปะของพวกเขาเอง

          ข้อมูลจากรายงานการศึกษาของโครงการ สรุปข้อดีของของแนวทางดังกล่าวไว้ว่า สำหรับเด็กๆ การเรียนที่พิพิธภัณฑ์ช่วยเพิ่มความมั่นใจ ตลอดจนทักษะทางสังคมและการสื่อสารที่ดีขึ้น ช่วยสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมและ ‘ความเป็นเจ้าของ’ ของพื้นที่และสถานที่ทางวัฒนธรรมในท้องถิ่น ขณะที่ตัวพิพิธภัณฑ์เอง แนวทางนี้ช่วยสร้างฐานข้อมูลเพื่อปรับปรุงการนำเสนอให้ดีขึ้นต่อผู้ชมที่มีอายุน้อย ส่วนโรงเรียนและครู วิธีการดังกล่าวคือตัวอย่างที่สร้างสรรค์ในการนำเสนอหลักสูตรใหม่ๆ และช่วยเพิ่มความมั่นใจในการใช้พื้นที่นอกห้องเรียน

          ในเวลาต่อมา โครงการนำร่องดังกล่าว ได้รับการพัฒนาต่อยอดเป็นโครงการใหม่อีกหลายโครงการ มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับพิพิธภัณฑ์ สถาบันฝึกอบรมด้านวิชาการ รวมถึงเครือข่ายนักการศึกษาและคุณครูในอีกหลายพื้นที่

คลิปแนะนำโครงการ My Primary School is at the Museum

ปาวาริช : โรงเรียนในพิพิธภัณฑ์

          นอกจากตัวอย่างของโครงการเปลี่ยนพิพิธภัณฑ์ให้เป็นห้องเรียนของเด็กๆ ที่เกิดขึ้นในอังกฤษ ในอินเดียก็มีการนำแนวทางดังกล่าวมาปรับใช้เช่นเดียวกัน เด็กด้อยโอกาสส่วนใหญ่ในอินเดีย ประสบปัญหาการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เพราะแม้ว่าเด็กทุกคนในประเทศจะมีสิทธิเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่คุณภาพการศึกษายังคงแตกต่างกันอย่างมาก ระหว่างเด็กยากจนและเด็กมีฐานะ นำไปสู่ความไม่เท่าเทียมกันของโอกาสในชีวิต ทางเลือก และวงจรความยากจนที่ไม่สิ้นสุด

          จากปัญหาดังกล่าว มีความพยามยามส่งเสริมความเท่าเทียมทางการศึกษาให้เกิดขึ้น โดย OASiS: A Social Innovations Lab ในรัฐมัธยประเทศ ร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์ 5 แห่งในเมืองโภปาล และวิทยาลัยที่ดำเนินการหลักสูตรปริญญาตรีด้านครุศาสตร์ เพื่อจัดหานักศึกษาฝึกสอนมาเป็นอาสาสมัครในโครงการ

          ในเบื้องต้น กลุ่มอาสาสมัครจะทำการศึกษาแผนที่การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์อย่างละเอียด และระบุว่าจะนำไปใช้อย่างไรเพื่อตอบสนองความต้องการของหลักสูตร ขั้นต่อมา เด็กด้อยโอกาสจากแต่ละชุมชนจะถูกรับโดยรถโรงเรียน และพาไปที่พิพิธภัณฑ์ทุกวัน นักศึกษาฝึกสอนจะใช้นิทรรศการเป็นเครื่องมือช่วยสอนในแต่ละหัวข้อสำหรับชั้นเรียนต่างๆ นอกจากนี้ยังมีประชาชนและอาสาสมัครจำนวนมากที่เข้ามาช่วยสนับสนุนการสอน เด็กๆ จะมีส่วนร่วมในเรื่องราวและกิจกรรมต่างๆ ซึ่งนำไปสู่หัวข้อการเรียนรู้สำหรับแต่ละวัน หลักสูตรของโรงเรียนพิพิธภัณฑ์ มีเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่ความรู้ทางวิชาการ ทักษะชีวิต ทักษะการแสดงออกและการโต้วาที ทักษะศิลปะการแสดง และทักษะด้านอาชีวศึกษา เช่นเดียวกับเด็กที่มีฐานะทางสังคมส่วนใหญ่

          “เราพาเด็กที่ไม่เคยไปโรงเรียนหรือลาออกจากโรงเรียนมาเข้าหลักสูตรนี้ โดยไม่ได้บอกว่าจะพาพวกเขาไปเรียน แต่บอกแค่ว่าจะพาไปพิพิธภัณฑ์… พวกเขาไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำว่านี่คือการเรียนในโรงเรียน” คือคำกล่าวของ Pradeep Ghosh ผู้ก่อตั้งและประธานของ OASiS

PARVARISH - THE MUSEUM SCHOOL
บรรยากาศการเรียนในพิพิธภัณฑ์
Photo: Parvarish – The Museum School

          จากจุดเริ่มต้นในปี 2005 จนถึงปัจจุบัน โรงเรียนพิพิธภัณฑ์ หรือที่เรียกว่า ‘ปาวาริช’ (Pavarish) ได้จัดการเรียนการสอนแก่นักเรียนที่ด้อยโอกาสกว่า 3,000 คน บางคนมีโอกาสเรียนต่อในมหาวิทยาลัย บางคนได้เริ่มต้นธุรกิจของตนเอง และบางคนได้กลับมาที่โรงเรียนในฐานะครู

          นอกจากนี้ โรงเรียนยังคัดเลือกเด็กผู้หญิงที่มีการศึกษาจากชุมชนแออัด ให้เป็นครูสอนหนังสือนอกเวลา และร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ เพื่อฝึกอบรมพวกเธอในการสอนหนังสือ เนื่องจากครูเหล่านี้มาจากชุมชนเดียวกันกับเด็ก ชุมชนจึงรู้สึกสบายใจและปลอดภัยในการส่งบุตรหลานไปเรียน วิธีการดังกล่าวยังช่วยเด็กหญิงเหล่านี้รู้สึกมีคุณค่า ได้รับพลังและปลาบปลื้มใจในฐานะครูของชุมชน “ฉันต้องการใช้ความรู้และทักษะของฉันทำสิ่งที่มีความหมาย แทนที่จะสอนเด็กทั่วไปที่มีครูเพียงพอ ฉันคิดว่าฉันอยากอุทิศชีวิตเพื่อสอนเด็กด้อยโอกาสมากกว่า” Shibani Ghos ผู้ประสานงานโครงการปาวาริชกล่าว

Shibani Ghos ผู้ประสานงานโครงการปาวาริช ขณะร่วมเฉลิมฉลองในเทศกาลโฮลีกับเด็กๆ ในชุมชน
Photo: The Optimist Citizen

          โรงเรียนพิพิธภัณฑ์ที่เริ่มต้นจากการทดลองเล็กๆ โดยมีคนไม่กี่คน ได้เติบโตขึ้นเป็นโครงการของทุกคน โดยได้รับเงินอุดหนุนจากประชาชน และมีเยาวชนของในชุมชนอาสาเข้ามาช่วยสอนด้วย ทั้งนี้ คณะทำงานคาดหวังว่ารัฐบาลจะเล็งเห็นว่า คนจนสามารถได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเช่นเดียวกับคนรวยในเมือง โดยการใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ (พิพิธภัณฑ์และวิทยาลัยครู) ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีประสิทธิภาพ โดยมีค่าใช้จ่ายเท่าเดิมหรืออาจน้อยกว่าที่รัฐบาลในปัจจุบันต้องเสียไปกับการจัดการศึกษาในเมือง

          ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากโรงเรียนพิพิธภัณฑ์ในเมืองโภบาล ทำให้โครงการดังกล่าวได้รับรางวัลด้านการศึกษามากมาย รวมถึง ‘The Wenhui Award for Educational Innovation in Asia and the Pacific 2016’ ของ UNESCO ที่สำคัญคือโครงการนี้ยังได้เข้าร่วมโครงการ โรงเรียนประถมของฉันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ ซึ่งพัฒนาโดย Cultural Institute at King’s College London ด้วย

          สำหรับก้าวต่อไปของโครงการ คือการแก้ปัญหาการศึกษาในพื้นที่ชนบทห่างไกลที่ไม่มีพิพิธภัณฑ์เลย ผ่านโปรเจกต์ที่ชื่อว่า Virtual Museum School (ViMS) โดยใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือนเข้ามาช่วย เพื่อให้นักเรียนในโรงเรียนในชนบทได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพในระดับเดียวกัน

โรงเรียนพิพิธภัณฑ์สาธารณะแกรนด์ แรพิดส์ (The Grand Rapids Public Museum School)

          โรงเรียนพิพิธภัณฑ์สาธารณะแกรนด์ แรพิดส์ สหรัฐอเมริกา แตกต่างจากโรงเรียนอื่นๆ เพราะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เพียงแค่พานักเรียนไปเรียนยังพิพิธภัณฑ์เท่านั้น แต่โรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่ในอาคารประวัติศาสตร์ใจกลางเมือง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นพิพิธภัณฑ์ และปัจจุบันมีพื้นที่เชื่อมต่อกับหอจดหมายเหตุของพิพิธภัณฑ์สาธารณะแกรนด์ แรพิดส์ ทำให้นักเรียนสามารถใช้และสำรวจสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์มากกว่า 250,000 ชิ้น

          โรงเรียนมีการใช้เทคนิคการคิดเชิงออกแบบ (design thinking) ในการออกแบบการเรียนรู้ภายใต้สภาพแวดล้อมที่สมจริง ซึ่งจุดประกายความอยากรู้ ปลูกฝังการคิดเชิงวิพากษ์ และบ่มเพาะการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ นักเรียนสามารถเข้าถึงทรัพยากรในพิพิธภัณฑ์เพื่อประกอบการเรียนรู้ ใช้การสังเกตและการวิเคราะห์โดยละเอียดเพื่อทำความเข้าใจความสำคัญของแหล่งข้อมูลขั้นปฐมภูมิ ซึ่งมีส่วนช่วยในการสำรวจว่าเรื่องราวและหลักฐานจากอดีต บ่งบอกหรือสะท้อนถึงสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างไร

Museum School students working on their letter box
บรรยากาศการเรียนในห้องเรียน
Photo : Jeen Na/Kendall College of Art and Design of Ferris State University

          ตัวอย่างการเรียนรู้ที่น่าสนใจ คือโครงงานวิจัยที่นักเรียนต้องระบุสิ่งประดิษฐ์ในเอกสารสำคัญที่ยังไม่มีอยู่ในฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ นักเรียนคนหนึ่งพบชุดอวกาศจากภารกิจ Apollo ขณะที่อีกคนพบชุดกระโปรงจากช่วงทศวรรษที่ 1920 พวกเขาต้องค้นคว้าข้อมูลของสิ่งของดังกล่าว และป้อนข้อมูลลงในฐานข้อมูลของพิพิธภัณฑ์ จากนั้นจึงบันทึกการสัมภาษณ์เกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์และนำเสนอออกมาในรูปแบบพอดแคสต์

          โรงเรียนแห่งนี้คือตัวอย่างหนึ่งของการใช้ชุมชนเป็นห้องเรียน โดยมีพิพิธภัณฑ์เป็นหนึ่งในแหล่งทรัพยากรที่สำคัญ แต่นอกเหนือจากนั้น นักเรียนยังใช้เวลาทำงานร่วมกับพันธมิตรในชุมชน ตั้งแต่มหาวิทยาลัย กลุ่มที่ไม่แสวงหาผลกำไร ไปจนถึงนักวิทยาศาสตร์ ศิลปิน และนักธุรกิจในท้องถิ่น

          “การไปโรงเรียนพิพิธภัณฑ์ ไม่ใช่วิธีการเรียนรู้ปกติ คุณได้รับกฎเกณฑ์หนึ่งชุด แต่คุณมีอิสระที่จะปล่อยให้ความคิดของคุณไหลเวียนอย่างอิสระ การมีโครงการประเภทนี้ช่วยให้ฉันได้รับทักษะใหม่ๆ เช่น การสร้างเครือข่าย เนื่องจากโรงเรียนของฉันอยู่ในตัวเมืองแกรนด์ แรพิดส์ โครงการหลักจำนวนมากของเราจึงเน้นที่โครงการชุมชน เช่น โครงการในละแวกบ้านที่เราทำงานร่วมกับที่พักพิงคนไร้บ้าน เป็นเรื่องที่เยี่ยมมากที่ได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกัน แม้ว่าฉันจะไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนก็ตาม” หนึ่งในนักเรียนเกรด 11 ของโรงเรียนกล่าว

          โรงเรียนแกรนด์ แรพิดส์ เปิดสอนนักเรียนตั้งแต่เกรด 6 ไปจนถึงเกรด 12 และใช้ระบบคัดเลือกเข้าเรียนผ่านระบบลอตเตอรีที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์ เป็นโรงเรียนชุมชนที่เปิดโอกาสให้กับทุกคน โดยไม่จำกัดคุณสมบัติผู้สมัครตามความรู้ทางวิชาการเหมือนกับการสอบเข้าของโรงเรียนอื่นๆ

          ในปี 2016 โรงเรียนแห่งนี้ได้รับรางวัล ‘US Super School’ มีรางวัลเป็นเงินทุนมูลค่า 10 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมอบแก่การสร้างสรรค์โรงเรียนมัธยมศึกษารูปแบบใหม่ๆ

บรรยากาศการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์แกรนด์ แรพิดส์
บรรยากาศการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์แกรนด์ แรพิดส์
Photo : Grand Rapids Public Museum

โรงเรียนพิพิธภัณฑ์ ทางเลือกในสภาวะที่ต้องเผชิญโรคระบาด

          ในช่วงการระบาดของโควิด-19 หนึ่งในความท้าทายที่ชุมชนทั่วโลกต้องเผชิญ คือการจัดหาพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กๆ สามารถศึกษาต่อได้ตามปกติ มีความพยายามจากหลายฝ่ายเพื่อเสนอทางออกของปัญหานี้ ยกตัวอย่างเช่น Keir Starmer หัวหน้าพรรคแรงงานในสหราชอาณาจักร เรียกร้องให้รัฐบาลใช้พิพิธภัณฑ์และพื้นที่ทางวัฒนธรรมอื่นๆ เป็นห้องเรียน เพื่อให้เด็กๆ สามารถกลับไปศึกษาต่อได้

          แนวทางการปรับพื้นที่สาธารณะทางวัฒนธรรมให้เป็นห้องเรียนสำหรับเด็กๆ การปรับพิพิธภัณฑ์ให้เป็นโรงเรียน ถูกนำไปทดลองใช้แก้ปัญหาสถานที่เรียนในสภาวะที่โลกต้องเผชิญความยากลำบาก ย้อนไปในเดือนสิงหาคม 2019 พิพิธภัณฑ์เด็กหลุยเซียน่า เปิดทำการอาคารใหม่ขนาดกว่า 34,000 ตารางเมตร กลางสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากการรณรงค์ 47.5 ล้านดอลลาร์ ทว่าในเดือนมีนาคม 2020 พิพิธภัณฑ์ต้องปิดทำการชั่วคราวจากสถานการณ์โควิด-19 และกำลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก

          ซีอีโอและเจ้าหน้าพิพิธภัณฑ์ ได้ทำการศึกษาแนวทางการรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น กระทั่งไปพบบทความหนึ่งใน New York Times ที่นำเสนอวิธีที่โรงเรียนย้ายชั้นเรียนมาอยู่กลางแจ้ง เพื่อรับมือกับการระบาดของวัณโรคเมื่อ 100 ปีก่อน เรื่องราวดังกล่าวจุดประกายให้พวกเขานึกถึงบทบาทของพิพิธภัณฑ์ ที่อาจตอบโจทย์กับสถานการณ์ปัจจุบัน และได้ทดลองสร้างแนวทางดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้พิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่รองรับหลังเลิกเรียน พื้นที่เพื่อการสอนแบบกลุ่ม ศูนย์การเรียนรู้ปฐมวัย ศูนย์กวดวิชา จนนำมาสู่แนวคิดการเชิญโรงเรียนต่างๆ ให้มาใช้พิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่ทดลองสำหรับการเรียนรู้เต็มเวลา

          ในอีกด้านหนึ่ง โรงเรียนเองก็เผชิญความท้าทายในปรับตัวสู่การเรียนในพิพิธภัณฑ์เช่นกัน ทั้งในแง่การคมนาคม การจัดการเรื่องอาหาร จนถึงการช่วยให้นักเรียนปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของพิพิธภัณฑ์ แต่หลังจากดำเนินการไปได้สักระยะ เด็กๆ สามารถเข้าถึงสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ใหม่ได้เป็นอย่างดี โดยใช้ประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย

          ทั้งนี้ คณะดำเนินการของพิพิธภัณฑ์คาดหวังว่าแนวทางนี้ จะสามารถนำไปสู่การถอดบทเรียนต่อไปว่าการจัดการเรียนการสอนในลักษณะนี้ อาจเปลี่ยนจากระดับ ‘ดี’ เป็น ‘จำเป็น’ ได้หรือไม่ และพิพิธภัณฑ์สามารถมีบทบาทอย่างไรในการส่งเสริมเรียนรู้ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

          จากตัวอย่างทั้งหลายที่ไล่เรียงมา จะเห็นได้ว่าแนวทางการผนวกโรงเรียนเข้ากับพิพิธภัณฑ์ เป็นตัวอย่างหนึ่งของความพยายามแก้ปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ด้านหนึ่งคือการส่งเสริมให้แหล่งเรียนรู้ที่อาจถูกหลงลืมอย่างพิพิธภัณฑ์ในท้องถิ่นได้กลับมามีชีวิต และถูกใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพอีกครั้ง ขณะเดียวกันก็เป็นการทลายกรอบความคิดเกี่ยวกับการศึกษาในระบบ ว่าการเรียนการสอนไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเฉพาะที่โรงเรียนเท่านั้น

          เหนืออื่นใดคือขอบเขตการเรียนรู้ไม่ควรจำกัดอยู่เฉพาะในแง่วิชาการ แต่ควรมอบประสบการณ์การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น หลากหลาย และพร้อมปรับเปลี่ยนไปกับความผันผวนของโลก


ที่มา

My Primary School is at the Museum: Inspiring schools and museums across the UK to build museum-school partnerships [online]

My Primary School is at the Museum…During the Pandemic [online]

My Primary School is at the Museum: Action Research Project [online]

My Primary School is at the Museum: Can this model help museums and schools to recover from Covid-19? [online]

Makeshift schools to beat coronavirus crunch: Keir Starmer calls for theatres, museums, libraries and leisure centres to be used as classrooms to stop millions missing out on their education [online]

Schools move lessons to local museums for learning experiment [online]

Preparing the Slumdog billionaires – Story of Parvarish : The Museum School (A Museum based School for Slum Children) [online]

The Museum School [online]

When Your School Is a Museum [online]

Changing Expectations, A School in a Museum [online]

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก