ลองกินดินกันมั้ย? ถ้ามีใครเอ่ยปากชักชวนมาแบบนี้ เชื่อว่าหัวคิ้วของคนฟังคงเลื่อนมาชนกันอย่างไม่ได้ตั้งใจ
แต่หากย้อนกลับไปในอดีตกาล หลักฐานทางโบราณคดีพบว่าบรรพบุรุษของเรากินวัตถุที่ห่อหุ้มผิวโลกหรือดิน (Geophagy) กันมาก่อน เพราะสรรพคุณมากประโยชน์ของดินบางประเภทที่ชาวท้องถิ่นต่างรู้ว่าดินนั้นกินได้กินดี เนื่องจากดินเกิดจากการสลายตัวตามธรรมชาติของหินและแร่ธาตุรวมกับน้ำและอากาศก่อนแยกตัวเป็นชั้นๆ ตามพื้นผิวโลก การกินดินจึงเป็นภูมิปัญญาของโลกยุคโบราณที่สื่อต่อกันมาและยังไม่ได้หายไปไหน ขณะที่โลกยุคใหม่และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ต้องออกมาแย้งว่า ไม่มีใครควรกินดิน
อย่างไรก็ตาม ‘Geophagy’ หรือการกินดิน ก็ยังเป็นหัวข้อที่มีการถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งหากข้ามซีกโลกไป มีโปรเจกต์น่าสนใจคือ Museum of Edible Earth โปรเจกต์ที่ชวนทุกคนมาลองกินดิน และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอาหารทั่วโลก
เริ่มต้นจากความสนใจส่วนตัวของ มาชารู (masharu) ชาวรัสเซีย (แต่อาศัยอยู่ในอัสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์) ที่ได้ชิมดินเหนียว ทราย และชอล์กเป็นครั้งแรกๆ จากห้องเรียนและสนามเด็กเล่นของโรงเรียน หลังจากนั้นก็กินเรื่อยมาทุกวัน โดยกินเป็นชิ้นเล็กๆ พอให้ลิ้นรับรสชาติ คล้ายกับการแพริ่งชีสกับไวน์ มาชารูเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “เหมือนการดื่มไวน์สักแก้ว เป็นเรื่องของรสชาติ ไม่ใช่โภชนาการ หรือเหตุผลอื่น”
และเรื่องเกี่ยวกับดินก็เป็นความสนใจใคร่รู้ของมาชารูตั้งแต่นั้นมา ด้วยความที่จบปริญญาเอกด้านคณิตศาสตร์ และเรียนการถ่ายภาพมาด้วย ทำให้ความสนใจเข้าขั้นหลงใหลในวัตถุผิวโลกพาให้มาชารูออกเดินทางไปเก็บรวบรวมดินกว่า 400 ชนิด จากทั่วโลก เพื่อศึกษาและจัดตั้งโปรเจกต์โลกกินได้ขึ้นมา
โปรเจกต์ของมาชารู ได้รับการพัฒนามาตั้งแต่ ค.ศ.2017 ก่อนเริ่มจัดแสดงเป็นรูปเป็นร่างในปีถัดมา และออกเดินทางไปจัดแสดงในที่ต่างๆ ทั่วโลก จากความร่วมมือของหลากหลายหน่วยงาน ทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ร่วมกับได้รับการสนับสนุนจากนักสร้างสรรค์หลายแขนง ตั้งแต่ศิลปิน นักออกแบบ ไปจนถึงคอมมูนิตี้ทางวัฒนธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Mondriaan Fund, Prins Bernhard Cultuurfonds, Niemeijer Fonds, Creative Industries Fund NL และ Prix Ars Electronica เรียกได้ว่านี่คือโปรเจกต์ที่ทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างโลกวิทยาศาสตร์และศิลปะ แถมยังเป็นที่พูดถึงในสารพัดแวดวง ทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักมนุษยวิทยา นักประวัติศาสตร์ นักสังคมวิทยา นักเคมี นักชีววิทยา รวมถึงนักจิตวิทยาด้วย
ก่อนจะกลายมาเป็น Museum of Edible Earth ที่เรากำลังพูดถึง
โปรเจกต์นี้ทำหน้าที่เก็บรวบรวมดินกินได้จากประเทศต่างๆ เช่น เบลารุส คองโก คิวบา ฝรั่งเศส เยอรมนี กัวเตมาลา อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน อิรัก คาซัคสถานคีร์กีซสถาน ลิทัวเนีย เม็กซิโก โมร็อกโก เนเธอร์แลนด์ ไนจีเรีย รัสเซีย สหรัฐอเมริกา อุซเบกิสถาน รวมถึงประเทศไทย ซึ่งชัดเจนว่าแต่ละประเทศเจ้าของผิวดินมีความแตกต่างกันทั้งทางภูมิศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และอาหารการกิน เราเลยได้เห็นดินกว่า 400 ชนิด ประกอบไปด้วยดินเหนียว ดินขาว เบนโทไนท์ ชอล์ก หินปูน หินภูเขาไฟ ดินเบา และดินชั้นบน ที่มีต้นกำเนิดจากกว่า 35 ประเทศทั่วโลก มารวมไว้ในคอลเลกชัน
สำหรับดินตัวอย่างจากไทย เป็นดินที่เรารู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี นั่นก็คือ ดินสอพอง โดย ปัณณ์ วานิชเจริญธรรม ศิลปินและนักออกแบบจากกรุงเทพฯ ได้ลองหาข้อมูลเกี่ยวกับการกินดินสอพองของคนไทยในอดีต จนไปเจอหลักฐานบันทึกไว้ใน ตำราโอสถนารายณ์ ระบุไว้ว่าดินสอพองถูกใช้ผสมกับสมุนไพรต่างๆ เช่น ชานอ้อย กำยาน แก่นปูน นำมาต้มในหม้อเพื่อปรุงกินเป็นยาแก้ร้อน แก้กระหาย ในสมัยโบราณ เขาจึงส่งดินสอพองเข้าไว้ในคอลเลกชั่นของมาชารู ด้วย
หากถามว่าทำไปทำไม มาชารูก็คงตั้งคำถามไม่ต่างไปจากเรา เพราะพิพิธภัณฑ์ผิวโลกกินได้ มีจุดมุ่งหมายคือการชักชวนผู้คนให้หันมามาเรียนรู้เรื่องดิน ผ่านการตั้งคำถามต่างๆ เหล่านี้ – อะไรอยู่เบื้องหลังวัฒนธรรมการกินดิน? แล้วการลองหยิบเหล่าวัตถุดิบดินบนโลกมากินเริ่มจากไหน? ประโยชน์และโทษของการกินดินคืออะไร? หรือลงลึกไปถึงว่าส่วนผสมไหนที่ทำให้สัมผัสและรสชาติของดินแตกต่างกัน?
นอกจากคอลเลกชั่นดิน Museum of Edible Earth ยังรวบรวมงานศิลปะอีกหลายแขนงไว้ด้วยกัน ทั้งการออกแบบกราฟิก ภาพถ่าย วิดีโอ ไปจนถึงข้อมูลเกี่ยวกับดินกินได้บนเว็บไซต์ https://museumofedible.earth/ ซึ่งต้องชื่นชมว่าการนำเสนอนั้นเฟรนด์ลี่มากๆ เหมือนเรากำลังชอปปิ้งออนไลน์อย่างไรอย่างนั้น ด้วยข้อมูลอ่านง่ายๆ และหน้าตาสีสันของดินแต่ละชนิดก็สามารถดึงดูดให้กดเข้าไปอ่าน โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องสนใจเรื่องนี้มาก่อนด้วยซ้ำ
ท้ายที่สุดแล้วนี่อาจเป็นการเรียนรู้แบบเฉพาะทางที่ทำให้เราเชื่อมโยงกับโลกและธรรมชาติมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว
ที่มา
เว็บไซต์ MUSEUM OF EDIBLE EARTH (Online)
บทความ “Museum of edible earth” จาก futuref.org (Online)
บทความ “the Museum of Edible Earth” จาก youfab.info (Online)
บทความ “รู้ไหม ดิน คือ “ของกิน” ของคนจนมาแต่โบราณกาล” จาก brandthink.me (Online)
บทความ “The Forgotten Knowledge of Din-Sor-Pong” จาก museumofedible.earth (Online)